ผมจำได้ว่าตอนเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 ก่อนผมเข้าทำงานที่ Software Park คนที่นั้นโทรมาหาผมขอให้ไปบรรยายเรื่อง SOA (Service Oriented Architecture) ในการประชุมวิชาการที่เรียกว่า ITARC ซึ่งย่อมาจาก IT Architect Regional Conference Thailand ก็เลยทำให้ทราบว่าในเมืองไทยเรามีชมรมที่เกี่ยวข้องกับ IT Architect ที่ชื่อว่า IASA Thailand ซึ่งก็เป็น Chapter ของ IASA (An Association for IT Architect) ซึ่งกลุ่มสถาปนิกไอทีที่มีสาขาต่างๆอยู่ทั่วโลกหลายที่ และก็มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้และสอบประกาศนียบัตรด้าน IT Architect
ในช่วงต้น IASA Thailand ดำเนินการโดยทีมงานของ สำนักงานส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ ( CCP ) ของ สวทช. โดยนายแพทย์สมิทธ์ สุขสมิทธ์ ท่านผู้อำนวยการสำนักในตอนนั้น และภายหลังทาง Software Park ก็นำมาช่วยดำเนินการต่อ โดยมีอดีตผอ.Software Park ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ เป็นประธาน ซึ่งกิจกรรมของชมรมส่วนใหญ่ก็คือการจัดสัมมนาและ Training ในการที่จะสร้างความตระหนักเรื่องความสำคัญของ IT Architecture ให้กับคนในกลุ่มไอที
เมื่อผมมารับตำแหน่ง ผอ. Software Park ก็มีการจัดกิจกรรมสัมมนาหลายครั้งและก็มีการประชุมกันกลุ่มตามโอกาสอันสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ประธานและสมาชิกชมรมพยายามผลักดันก็คือ การจะทำให้ชมรมนี้มีการจดทะเบียนเป็นสมาคมวิชาชีพ ทางสมาชิกชมรมก็ได้ปรึกษากันหลายๆครั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อบังคับสมาคมและได้การสนับสนุนจากพนักงานใน Software Park ในการที่จะดำเนินการจดทะเบียนสมาคม
แม้เราอาจจะใช้เวลาดำเนินงานในการจดทะเบียนค่อนข้างนาน เนื่องจากติดขัดเรื่องเอกสาร แต่สุดท้ายเมื่อปลายปี ทางกระทรวงมหาดไทยก็แจ้งเรามาว่าการจดทะเบียนสมาคมเรียบร้อยแล้วและให้เราไปชำระเงินค่าจดทะเบียน ในวันนี้เราจึงมีสมาคมวิชาชีพทางไอทีเกิดมาใหม่ที่ชื่อ “สมาคมสถาปนิกเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศไทย” (สทสท ) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand IT Architects Association” (TITAA)
สมาคมสถาปนิกเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศไทย มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดยอมรับวิชาชีพทางด้าน IT Architect ทำให้สาขาวิชาชีพนี้เป็นที่ยอมรับและมีการรับรองคุณวุฒิ และประกาศนียบัตรต่างๆเหมือนอย่างสมาคมวิชาชีพอื่นๆเช่น วิศวกร แพทย์ และนักบัญชี นอกจากจะทำหน้าที่ ส่งเสริม และให้ความรู้่ เพื่อเกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพนี้ ตลอดจนทำหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆในการส่งเสริมงานทางด้่าน IT Architect
ผู้ที่สนใจ สามารถที่จะดูรายละเอียดข้อบังคับของสมาคมได้ที่ >> Link ข้อบังคับสมาคม
ซึ่งเพื่อให้จดทะเบียนได้ เราจำเป็นต้องมีนายกสมาคมและกรรมการ ซึ่งในตอนนั้นผมก็เลยต้องใส่ชื่อตัวเอง สมาชิกชมรมบางท่าน และพนักงาน Software Park มาเป็นกรรมการชั่วควารก่อน แต่ตั้งใจว่าเมื่อตั้งเป็นสมาคมเสร็จก็จะลาออกจากกรรมการ แล้วก็ให้สมาชิกมาเลือกกันใหม่
ที่สำคัญก็คือต้องมีการระดมหาสมาชิกที่สนใจในสมาคมนี้และมาทำงานร่วมกัน ตามข้อบังคับของสมาคมจะมีสมาชิกอยู่ 4 ประเภทคือ
- สมาชิกสมทบ ก็คือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของสมาคม
- สมาชิกสามัญ ก็เหมือนกับสมาชิกสมทบแต่จะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
- สมาชิกสามัญวิชาชีพ จะต้องเป็นสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 2 ปีแล้วก็ประกอบวิชาชีพ IT Architect ผ่านการทดสอบหรือหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
- สมาชิกกิตติมศักดิ์
ซึ่งในเบื้องต้นคงจะต้องหาสมาชิกสามัญกัน โดยได้ปรึกษาหารือที่จะกำหนดเกณฑ์เบื้องต้นคือ เป็นบุคคลที่ทำงานด้านไอทีมาอย่างน้อย 4 ปี ผมจึงได้ให้ทีมงานทำแบบฟอร์มใบสมัครแก่ผู้สนใจที่จะมาร่วม โดยสามารถ Download แบบฟอร์มได้ที่ >> ใบสมัครสมาชิก
อนึ่งการสมัครสมาชิกจะมีค่าสมัคร 20 บาทและค่าบำรุงรายปีๆละ 400 บาท โดยในเบื้องต้นผมได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับที่อยู่ในการส่งเอกสารและเบอร์บัญชีชั่วควาร เพื่อจะให้ดำเนินงานต่อไปได้ โดยผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมได้ปรึกษากันแล้วเห็นว่าเราจะเปิดรับสมาชิกสามัญไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จากนั้นวันที่ 18 มีนาคม 2556 เวลา 17.00 น. เราจะมีประชุมใหญ่ของสมาชิก เพื่อแถลงวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคม
สุดท้ายผมขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมก่อตั้งสมาคม จริงๆแล้วผมมีส่วนร่วมในงานนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับท่านอื่นๆ และคงต้องขอบคุณทีมงานในซอฟต์แวร์พาร์คทุกท่านที่ช่วยกันผลักดันให้สามารถจดทะเบียนสมาคมสำเร็จ