เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให่ไปบรรยายที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “Shaping Thailand and AEC with ICT – Master Plan” โดยบรรยายร่วมกับ คุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผอ.สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งชาติ และ ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ASEAN จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คำถามหนึ่งที่ถูกถามจากผอ.ไตรรัตน์และทางผมกับดร.การดีตอบเหมือนๆกันคือ หากจัดอันดับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยเมื่อเที่ยบกับประเทศอื่นๆใน ASEAN แล้วประเทศเราอยู่ตรงไหน

ผมกับดร.การดีจะมองว่าในอาเซียน ประเทศสิงคโปร์เขานำหน้าไปไกล ซึ่งทางดร.การดีจัดว่าเป็นดิวิชั่นหนึ่ง ส่วนที่เป็นอันดับสองและสามจะคิดคล้ายกันคือมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งทางดร.การดีจัดให้ประเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไทยจัดอยู่ในดิวิชั่นสอง ส่วนอินโดนีเซียและเวียดนามจัดอยู่ในดิวิชั่นสามด้านไอซีที ส่วน พม่า เขมร ลาว และ บรูไน ก็จัดว่าเป็นอีกดิวิชั่น ในแง่ของบรูไนแม้จะมีอัตราการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สูง แต่เนื่องจากจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย และไม่ได้เน้นการแข่งขันด้านนี้มากนัก จึงทำให้ยังไม่สามารถที่จะสู้กับประเทศอื่นๆในอาเซียนได้

เพื่อให้เราเข้าใจถึงขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านไอซีทีของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งที่สำคัญผมเลยทำภาพกราฟฟิกง่ายๆมาเปรียบเทียบให้ดูในด้านต่่างๆดังนี้

Screen Shot 2556-01-24 at 11.42.27 PM

ด้าน IT Industry Competitiveness

ทาง Economic Intelligence Unit (EIU) ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมไอทีเมื่อปี 2011 โดยพิจารณาจาก้านต่างๆและมีคะแนนในหกกลุ่มคือ ด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที  ด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านงานวิจัยไอที ด้านกฎหมายไอที และด้านการสนับสนุนของภาครัฐบาล ปรากฎว่าประเทศที่ได้รับคะแนนสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยฟินแลนด์ และสิงคโปร์อยู่อันดับสาม (คะแนน 69.8) ซึ่งขึ้นมา 6 อันดับจากการสำรวจเมื่อปี 2009

สำหรับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน มาเลเซียอยู่อันดับ 31  (คะแนน 44.1; ขึ้นจากปี 2009 ซึ่งอยู่ที่ 42) ประเทศไทยอยู่อันดับ 50  (คะแนน 30.5; ตกจากปี 2009 ซึ่งอยู่ที่  49) ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 52  (คะแนน 27.9; ตกจากปี 2009 ซึ่งอยู่ที่  51) เวียดนามอยู่อันดับ 53  (คะแนน 27.1; ขึ้นจากปี 2009 ซึ่งอยู่ที่  56) และอินโดนีเซียอยู่อันดับ 57  (คะแนน 24.8; ขึ้นจากปี 2009 ซึ่งอยู่ที่ 59) ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆที่สำคัญในอาเซียน ผมอาจพอที่ให้ Like  ในการประเมินด้านนี้แต่ก็ยังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง

ข้อมูลการวิเคราะห์ทั้งหมด สามารถเข้าไปดูได้ที่ The IT Industry Competitiveness Index

The IT Industry Competitiveness Index

ด้าน E-Government Readiness

ทาง  United Nations Public Administration Network (UNPAN) จะมีการจัดอันดับ E-Government Readiness ออกมาทุกสองปี โดยจะมองในด้านต่างๆที่แบ่งเป็นสามกลุ่มคือ ด้านการบริการออนไลน์ ด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีที และด้านบุคลากร โดยล่าสุดในปี 2012  ได้จัดให้สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก  (คะแนน 0.8474 ขึ้นมาจากอันดับที่ 11 เมื่อปี 2010) โดยประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในการสำรวจนี้คือเกาหลีใต้ ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเดนมาร์ก

สำหรับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน มาเลเซียอยู่อันดับ 40  (คะแนน 0.6703 ตกมาจากอันดับที่ 32 เมื่อปี 2010)  บรูไนอยู่อันดับ 54  (คะแนน 0.6250 ขึ้นมาจากอันดับที่ 68 เมื่อปี 2010) เวียดนามอยู่อันดับ 83  (คะแนน 0.5217 ขึ้นมาจากอันดับที่ 90 เมื่อปี 2010)  ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 88  (คะแนน 0.5130 ขึ้นมาจากอันดับที่ 78 เมื่อปี 2010) ประเทศไทยอยู่อันดับ 92  (คะแนน 0.5093 ตกมาจากอันดับที่ 76 เมื่อปี 2010) และอินโดนีเซียอยู่อันดับ 97  (คะแนน 0.4949 ขึ้นมาจากอันดับที่ 109 เมื่อปี 2010) เห็นคะแนนด้านนี้แล้วน่าตกใจเมื่อเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในอาเซียน และก็คงต้องคะแนน Unlike

Screen Shot 2556-01-26 at 11.57.20 AM

รายงานการสำรวจฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ที่ E-Government Survey 2012

ด้าน  Cloud Computing Readiness

Cloud Computing เป็นเทคโนโลยีทีกำลังมาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและการใช้ไอซีทีอย่างมาก Asia Cloud Computing Association  ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักและสำรวจข้อมูลการใช้  Cloud Computing  ในเอเซีย จะจัดทำผลสำรวจความพร้อมด้าน  Cloud Computing ของประเทศต่างๆในเอเซีย  14 ประเทศทุกปี โดยเริ่มสำรวจตั้งแต่ปี 2011 โดยจะดูข้อมูลต่างๆทั้งในแง่ของ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ความเสี่ยงของดาต้าเซ็นเตอร์ ความปลอดภัยของข้อมูล ความพร้อมเรื่องระบบไฟฟ้า การสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งสองปีติดกันคือญี่ปุ่น และในปี 2012 ทางเกาหลีใต้เป็นอันดับสอง ตามด้วยฮ่องกง และสิงคโปร์

สำหรับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน มาเลเซียอยู่อันดับ 8  (คะแนน 63.0 ตกมาจากอันดับที่ 7 เมื่อปี 2011) อินโดนีเซียอยู่อันดับ 11  (คะแนน 47.1 เป็นอันดับเดิมเมื่อปี 2011) ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 12  (คะแนน 46.0 ขึ้นมาจากอันดับที่ 13 เมื่อปี 2011) ประเทศไทยอยู่อันดับ 13  ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายร่วมกับเวียดนาม  (คะแนน 44.9 โดยไทยตกมาจากอันดับที่ 10 ส่วนเวียดนามตกมาจากอันดับ 12 เมื่อปี 2011) ซึ่งเมื่อดูคะแนนจากผลการสำรวจด้านนี้ ก็คงต้องให้คะแนน  Unlike กับประเทศไทยอย่างแน่นอน

Screen Shot 2556-01-26 at 1.04.14 PM

สำหรับรายงานฉบับเต็มสามารถดูได้ที่ CLOUD READINESS INDEX 2012

ด้าน Internet Penetration

ข้อมูลอัตราส่วนการใช้อินเตอร์เน็ตต่อประชาการอาจจะมีหลายแหล่ง แหล่งหนึ่งที่นิยมมาใช้ในการอ้างอิงคือ Internet World Stats ที่ออกรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2012 เปรียบเทียบข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนจะพบว่าประเทศที่มีอัตราส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตต่อประชากรสูงสุดคือ บรูไน 78% ตามด้วย สิงคโปร์ 75%  มาเลเซีย 60.7%  เวียดนาม 33.9% ฟิลิปปินส์ 32.4% ประเทศไทย 30.0% และอินโดนีเซีย 22.1% ซึ่งเมื่อดูข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของเราเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในกลุ่มอาเซียนแล้วคงต้องขอกด Unlike อีกครั้ง

Screen Shot 2556-01-26 at 1.11.37 PM

สำหรับข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกสามารถดูได้ที่ Internet World Stats

ด้านความเร็วของอินเตอร์เน็ตสำหรับเครื่อง Desktop

เมื่อเดือนเมษายน 2012 ทาง Google ได้วัดความเร็วในการโหลดเว็บจากอินเตอร์เน็ตของประเทศต่างๆทั่วโลก 50 ประเทศ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าประเทศที่มีความเร็วสูงสุดคือ Slovak ใช้เวลา 3.3  วินาที ตามด้วยเกาหลีใต้  3.5  วินาที สาธารณรัฐเช็ค เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยความเร็วอยู่ที่ 9.6 วินาที ซึ่งอาจช้ากว่าเวียดนามที่มีความเร็ว 6.6 วินาที แต่ก็ยังเร็วกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน อย่าง มาเลเซีย 14.3 วินาที ฟิลิปปินส์ 15.2 วินาที และ อินโดนีเซีย 20.8  วินาที ดังนั้นเมื่อดูคะแนนความเร็วอินเตอร์เน็ตบนเครื่อง Desktop  แล้ว ก็คงพอกด Like ให้กับประเทศไทยได้

ด้านความเร็วของอินเตอร์เน็ตสำหรับ Mobile

การสำรวจอีกอันที่ทาง Google ทำควบคู่กันไปคือการวัดความเร็วในการโหลดเว็บจากอินเตอร์เน็ตผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าประเทศที่มีความเร็วสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ใช้เวลา 4.8  วินาที ตามด้วยเดนมาร์ก  5.2  วินาที ฮ่องกง นอร์เวย์ และสวีเดน สำหรับประเทศไทยเนื่องจากเรายังไม่มีระบบ 3G ความเร็วจึงอยู่เพียง 16.3 วินาที และอาจช้ากว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน อย่าง เวียดนาม 11.6 วินาที อินโดนีเซีย 12.4 วินาที มาเลเซีย 13.2 วินาที แต่อาจใก้ลเคียงกับฟิลิปปินส์ ดังนั้นเมื่อดูคะแนนด้านนี้แล้ว ก็คงต้องกด Unlike ให้กับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ผลการสำรวจของ Google สามารถดูได้ที่ Google Analytics

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s