cloudmgmt

ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนที่ผ่านมาทางทีมวิจัยของ IMC Institute ได้ทำโครงการวิจัยเชิงสำรวจในหัวข้อ การสำรวจความพร้อมด้าน Cloud Computing ของหน่วยงานในประเทศไทย หรือ Cloud Computing in Thailand Readiness Survey 2014 ขึ้น ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ (Benchmarking) ความพร้อมของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทั้งนี้การสำรวจจะทำการสำรวจทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งที่เป็นขนาดใหญ่และขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเพื่อเป็นแนวทางและข้อมูลในการเตรียมความพร้อมบุคลากรและองค์กรในประเทศไทยต่อไป

บทความนี้จึงขอนำผลการสำรวจบางส่วนมาเผยแพร่ สำหรับผู้ต้องการอ่านผลการสำรวจฉบับเต็มสามารถรอหาอ่านได้จากยนิตยสาร e-Leader  ฉบับเดือนพฤศจิกายน การสำรวจนี้ทีมวิจัยได้จำนวนตัวอย่าง 177 ราย โดยจำแนกตามขนาดองค์กรเป็น หน่วยงาน/บริษัทขนาดใหญ่ (Large Enterprises) ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 61 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ของกลุ่มตัวอย่าง และองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีพนักงานน้อยกว่า 1,000 คน จำนวน 116 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66 ของกลุ่มตัวอย่าง

โดยมีผลการสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

  • การสำรวจข้อมูลการใช้ IT และแผนงานการใช้บริการด้าน Private Cloud
  • การสำรวจแผนงานและการใช้บริการด้าน Public Cloud
  • การสำรวจความพึงพอใจในภาพรวม เหตุผลและปัญหาอุปสรรคในการใช้บริการ Cloud Computing

โดยสามารถแจกแจงรายละเอียดผลการสำรวจได้ดังต่อไปนี้

ผลการสำรวจแผนงานด้าน Private Cloud ของหน่วยงานในประเทศไทย

จากการสำรวจเกี่ยวกับแผนด้านการใช้งาน Private Cloud ในภาพรวมจากกลุ่มตัวอย่าง 167 ราย ที่ตอบว่ามี Servers ใช้งานในองค์กรนั้น พบว่าจำนวน 47 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 28 มีการใช้งาน Private Cloud อยู่แล้วในปัจจุบัน จำนวน 48 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 29 มีแผนการใช้ติดตั้งในอนาคต แต่ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 43 หรือ 72 ราย ยังไม่มีแผนงานด้าน Private Cloud แต่อย่างใด

Screenshot 2014-10-08 07.51.16

รูปที่ 1 แผนงานด้าน Private Cloud

ผลการสำรวจแผนงานด้าน Public Cloud ของหน่วยงานในประเทศไทย

ในปัจจุบันการใช้บริการ Cloud Computing ในประเทศไทย เริ่มแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการบริการ Infrastructure as a Services (IaaS) และ Software as a Service (SaaS) ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนผู้ให้บริการ (Service Providers) ในประเทศจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนรูปแบบการบริการ Platform as a Service (PaaS) ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ให้บริการภายในประเทศ

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีหน่วยงานกว่า 81 หน่วยงาน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.76 มีแผนงานใช้บริการ Public Cloud โดยสามารถจำแนกรายละเอียดความต้องการใช้งานตามรูปแบบการให้บริการ Cloud Computing หรือ Cloud Service Models โดยสามารถสรุปผลสำรวจเกี่ยวกับความต้องการของหน่วยงานที่มีแผนการใช้บริการ Public Cloud ดังนี้

  • มีความต้องการใช้บริการรูปแบบ IaaS มากเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.67

  • มีความต้องการใช้บริการรูปแบบ SaaS มากเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.49

  • มีความต้องการใช้บริการรูปแบบ PaaS น้อยที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 39.51

Screenshot 2014-10-08 07.54.08

รูปที่ 2 แผนงานด้าน Public Cloud

เมื่อสอบถามถึงประเภทของ Software ที่ต้องการใช้บริการ SaaS Public Cloud ทีมงานวิจัยพบว่า 5 อันดับแรกของ SaaS applications ที่หน่วยงานกลุ่มตัวอย่างต้องการใช้ มีดังนี้ โดยมีรายละเอียดแสดงในรูปที่ 3

อันดับที่ 1 ระบบ E-mail มีความต้องการใช้ร้อยละ 63.39

อันดับที่ 2 Desktop/Office อาทิเช่น Office 365 มีความต้องการใช้ร้อยละ 56.06

อันดับที่ 3 Storage อาทิเช่น Dropbox มีความต้องการใช้ร้อยละ 46.94

อันดับที่ 4 CRM มีความต้องการใช้ร้อยละ 30.61

อันดับที่ 5 ERP มีความต้องการใช้ร้อยละ 24.49

Screenshot 2014-10-08 07.56.49

รูปที่ 3 ประเภท Software ที่ต้องการใช้บริการ SaaS Public Cloud

ภาพรวมความพึงพอใจ เหตุผลการเลือกใช้ และปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการใช้บริการ Cloud Computing ในประเทศไทย

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดถึงระดับความพึงพอใจในการใช้บริการ Cloud Computing ในภาพรวม โดยมีระดับความพึงพอใจตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 (1 ไม่พึงพอใจที่สุด ถึง 5 พึงพอใจมากที่สุด) พบว่าระดับความพึงพอใจเฉลี่ยในการให้บริการ Cloud Computing ของหน่วยงานใประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.72 ซึ่งถือว่าหน่วยงานส่วนใหญ่มีความพึงพอในต่อการใช้บริการ

โดยเมื่อสำรวจถึงปัจจัยในการเลือกใช้บริการ Public Cloud ของหน่วยงานต่างๆ พบว่า เหตุผลหลักในการเลือกใช้บริการ Cloud Computing ที่มีสัดส่วนสูงที่สุด คือ พิจารณาจากข้อมูลด้านเทคนิคของผู้ให้บริการ อาทิเช่น ข้อมูล Data Center และ Bandwidth เป็นต้น ทั้งนี้ราคา รวมถึงรูปแบบราคาที่ยึดหยุ่นสอดคล้องกับขนาดธุรกิจ และ การพิจารณาจาก SLA ของผู้ให้บริการ ถือเป็นเหตุผลสำคัญอันดับที่สองในสัดส่วนที่เท่ากันในการพิจารณาเลือกใช้บริการ Cloud Computing โดยปัจจัยเลือกใช้อันดับที่ 3 คือ พิจารณาจากชื่อเสียงของผู้ให้บริการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ในส่วนของการพิจารณาเลือกใช้บริการ Cloud Computing จากการมีตัวแทนของผู้ให้บริการในประเทศไทย และจากคำแนะนำของที่ปรึกษาหรือแหล่งอ้างอิงอื่น ถือว่ามีความสำคัญแต่อยู่ในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก

Screenshot 2014-10-08 07.59.07

รูปที่ 4 เหตุผลของหน่วยงานในการเลือกใช้บริการ Public Cloud

แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานหรือใช้บริการ Cloud Computing ในประเทศไทยยังคงต้องก้าวข้ามอุปสรรคที่เผชิญอยู่หลายประการด้วยกัน ซึ่งจากผลการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างในประเด็นที่เกี่ยวกับอุปสรรคในการใช้ Cloud Computing พบว่า กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 70.62 เห็นว่าการใช้งาน Cloud Computing ยังมีความเสี่ยงด้านระบบความปลอดภัยต่างๆ อาทิเช่นเรื่องข้อมูล ร้อยละ 49.15 เห็นว่าการขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Cloud Computing ที่ดีพอ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยร้อยละ 45.20 เห็นว่ากฎระเบียบของหน่วยงานและภาครัฐยังไม่เอื้อต่อการใช้งาน Cloud Computing ร้อยละ 33.90 เห็นว่ายังขาดความตระหนักและยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน ร้อยละ 31.64 ยังไม่มีงบประมาณในด้านดังกล่าว อีกทั้งร้อยละ 23.10 เห็นว่าการใช้งาน Cloud ในประเทศไทยยังขาดมาตรฐานอีกหลายๆด้าน และอีกร้อยละ 19.77 พบว่ายังไม่มีผู้ให้บริการที่สามารถให้บริการสอดคล้องกับความต้องการ

Screenshot 2014-10-08 08.01.47

รูปที่ 5 อุปสรรคของการใช้ Cloud Computing

นั้นคือบทสรุปคร่าวๆของผลสำรวจครั้งนี้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อมาได้ที่ contact@imcinstitute.com

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s