ผมเคยอยู่ในระบบราชการมาเกือบยี่สิบปี ทำงานตั้งแต่เป็นอาจารย์เด็กๆไปจนถึงเข้ามาทำงานบริหาร เมื่อย้ายมาภาคเอกชนก็ยังมีโอกาสไปทำงานกับหน่วยงานราชการเป็นประจำ ผมจำได้ว่าตอนรับราขการผู้ใหญ่มักจะสอนผมว่า “เราจะทำถูกหรือผิด ไม่สำคัญเท่ากับทำให้เอกสารถูกต้อง” ผมว่าราชการเสียเวลาไปมากกับเรื่องของเอกสารและกฎระเบียบ แม้กระทั่งในปัจจุบันราชการเองยังขาดการทำงานเป็นดิจิทัลทั้งวิธีคิดและกระบวนการในการทำงาน พอรัฐบาลนี้บอกว่าจะส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล  (Digital Economy) มันก็จุดประกายความฝันของผมอีกครั้งหนึ่งที่ภาคราชการกำลังจะเปลี่ยนยุค เมื่อที่ผมเคยฝันเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนรัฐบาลทักษิณจัดตั้งกระทรวงไอซีทีและพยายามผลักดันโครงการไอทีต่างๆ ร่วมทั้งโครงการอย่าง ICT City ในสามจังหวัด แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหนส่วนหนึ่งก็เพราะการขาดความเอาจริงจังของนักการเมืองที่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาให้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะความคิดที่ไม่เคยเป็นดิจิทัลของภาคราชการเอง

พอเรื่องของดิจิทัลอีโคโนมีเข้ามารอบใหม่ ภาครัฐและภาคเอกชนงวดนี้ก็ระดมความเห็นอีกครั้ง ดูเหมือนคราวนี้ภาครัฐเองจะจริงจังมากกว่าครั้งเก่า คราวนี้ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างของกระทรวง แต่ก็ยังมีแนวคิดดีๆและออกมาผลักดันอีกหลายๆเรื่องทั้งทางด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที และก็ยังเห็นข่าวๆจากหลายๆภาคส่วนว่าจะตั้งเร่งปฎิรูปภาคราชการให้เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล

แต่บังเอิญมันมีเรื่องของ Uber และก็ Co-Working Space ที่ยังคาใจผมในวิธีคิดของภาคราชการ ผมไม่ได้คัดค้านนะครับว่า Uber  ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือการที่คนต่างชาติมานั่งทำงานใน Co-Working Space มันถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันสะกิดผมให้เห็นว่าความคิดของภาคราชการที่ผมเคยทำงานมานี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไม่ว่าโลกจะหมุนเปลี่ยนไปเพียงใด ราชการยังเอากฎระเบียบมากางดูทีละข้อแล้วก็จะบอกว่าทำไม่ได้ และไม่คิดหรอกว่าจะหาแนวทางแก้ไขยังไง ทุกวันนี้เห็นราชการทำงานด้านเอกสารแล้วปวดหัว ต้องส่งหนังสือเวียนกันวุ่นวายไปหมด จะประชุมแต่ละทีก็มีเอกสารหนาเป็นบึกส่งมาให้เปลืองกระดาษ ผมประชุมบางทีเสียเวลากับการรับรองรายงานการประชุมเป็นขั่วโมง การทำงานราชการเสียเวลากับการเขียนหนังสือราชการซักเรื่องเป็นชั่วโมง คนราชการวันนี้ทำงานตามตัวอักษรจะเชิญผมมาประชุม มาบรรยายต้องส่งหนังสือที่เกษียณมาจากผู้มีอำนาจสูงสุดของหน่วยงาน ยังต้องมาถามหาเบอร์เพื่อที่จะส่ง Fax ขอบัตรประชาชนผมเพื่อไปทำเรื่องเข้าประชุมแล้วก็มา  Xerox แล้วก็ต้องให้ลงนามว่าสำเนาถูกต้อง ข้าราชการที่เก่งมีความก้าวหน้าจำนวนหนึ่งคือคนที่เก่งในการเกษียณหนังสือ รู้จักกฎระเบียบและวิธีการปฎิบัติในหน่วยงานอย่างดี แต่ไม่ใช่เรื่องของนวัตกรรมนะครับ

Digital Economy คือการพูดถีงเศรษฐกิจใหม่ จะมีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นอีกเยอะ แต่แน่นอนถ้าจะต้องปฎิบัติตามระเบียบราชการและข้อกฎหมายเราจะต้องตอบทันทีว่า การทำงานหรือทำธุรกิจตามนวัตกรรมใหม่ๆหลายอย่างทำไม่ได้ เพราะขัดระเบียบและข้อกฎหมาย ถ้าภาคราชการไม่เข้าใจและใช้วิธีการทำงานแบบเดิมๆก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะวิธีคิดแบบเดิมๆคือการทำตามระเบียบพอทำไม่ได้ก็ไม่พยายามหาทางช่วยให้เห็นช่องทางที่จะให้ทำได้

Screenshot 2014-12-28 18.12.19

ในเรื่องของ Digital Economy ผมเองก็ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยกันจัด  Workshop  กันหลายรอบจนนำไปสูjของสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศ (TFIT) ดังรายละเอียดตามเอกสารนี้ (ข้อเสนอเพื่อการพัฒนานโยบาย Digital Economy ของ TFIT )  โดยแบ่งเป็นสี่ด้านคือ 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2) ด้านธุรกิจและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 3) ด้านการพัฒนาบุคลากร และ 4) ภาครัฐบาล ซึ่งข้อเสนอบางอย่างรัฐบาลชุดนี้ก็ได้วางแผนจะทำแล้ว แต่สิ่งที่ผมห่วงสุดคิอด้านอื่นๆจะไม่ขยับได้เลยถ้า ภาคราชการยังไม่ปฎิรูป และปรับ Mindset ให้เป็นยุคดิจิทัล ถามผมว่าผมอยากเห็นอะไรกับการเปลี่ยนแปลงกับภาคราชการผมอยากเสนอข้อคิดให้เปลี่ยนแปลงดังนี้

1)   คนราชการจะต้องเลิกกลัวการใช้เทคโนโลยี บางท่านอาจเถียงผมว่าข้าราชการก็ใช้  smartphone, Tablet  เล่น Facebook, Line  หรือ YouTube  เป็นประจำ ใช่ครับเราใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงเยอะมาก แต่เราไม่ค่อยใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ภาคราชการจำนวนยังไม่กล้าที่จะใช้ e-commerce, Internet Banking  จำนวนมากไม่รู้จักการใช้  File Sharing อย่าง Dropbox, Google Drive  ไม่เคยได้ใช้โปรแกรมอย่าง  Evernote, Google Docs  หรือ Office 365 ข้อสำคัญราชการต้องอย่ากลัวว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้ข้อมูลของราชการรั่วไหล จนทำให้เราไม่สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีได้เลย

2) ภาคราชการจะต้องปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล การทำงานภาคราชการต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานมากขึ้น ต้องลดการใช้เอกสาร ระบบดิจิทัลไม่ใช่หมายความว่าแค่การใช้ Word, Excel ส่งอีเมล์หรือการใช้ Line แต่มันหมายถึงทุกขั้นตอนตั้งแต่การขออนุมัติเรื่องต่างๆที่ต้องเป็นระบบดิจิทัล มีการใช้ระบบ Digital Workflow การประชุมที่จะต้องเป็นแบบ paperless มีระบบคลังข้อมูลดิจิทัลในการค้นหาเอกสารต่างๆแทนที่จะต้องมาเก็บแฟ้มเอกสารมากมาย การประชุมก็ต้องเลิกแจกเอกสารหนาๆ ต้องเลิกส่งจดหมายเชิญต่างๆ ส่งหนังสือเวียน หรือมาถามหาเบอร์ fax

3) คนราชการต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ ข้าราชการมักจะมีความคิดว่าการทำงานราชการมีความมั่นคง มองการทำงานแบบมีเวลาการทำงานที่แน่นอนตามระบบราชการ ทั้งๆที่วันนี้ โลกกำลังเข้าสู่การไร้พรมแดน ไม่มีขอบเขตเรื่องเวลาการทำงาน เราอยู่ในยุค 24×7 การทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้ คนทำงานอาจอยู่คนที่ละที่ มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมายได้เสมอโดยที่อาจไม่อยู่ภายใต้กรอบเดิมๆ โลกมีการแข่งขันสูงขึ้น เราต้องเน้นวัดการทำงานของราชการที่ Performance Base มันหมดยุคที่จะต้องลงชื่อเข้าทำงาน เข้าประชุม และต้องลดระบบอาวุโส ต้องทำองค์กรให้แบบราบขึ้น (Flat Organization) มีสายการบังคับบัญชาที่น้อยลง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ และส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมมากขึ้นในระบบราชการ

4) ภาคราชการต้องปรับบริการประชาชนให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เราต้องยอมรับว่า e-service ของภาครัฐบ้านเรามีน้อยมาก ที่เด่นๆก็เป็นแค่ระบบการชำระภาษีของกรมสรรพากร บริการส่วนใหญ่ก็เป็นแค่การให้ข้อมูลทางเว็บไซต์ผ่านพีซี บริการที่เป็น Mobile Web หรือระบบอย่าง Government Portal ก็ยังไม่มีมากนัก ทั้งๆที่เรามีการลงทุนซื้อโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีมาก แต่ก็ติดกฎระเบียบหลายๆอย่างที่ออกมานานแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจการขอบริการต่างๆจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนธุรกิจการค้า การขอคืนภาษี การประมูลจัดซื้อจัดจ้าง การบริการกรมที่ดิน ของบ้านเราจะใช้เวลานานกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและเต็มไปด้วยการขอเอกสารที่ซ้ำซ้อนไปหมด ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ควรหมดไปหากจะก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

5) ภาคราชการต้องเปิดกว้างในเรื่องข้อมูล หน่วยราชการต้องเปิดกว้างด้านข้อมูลข่าวสาร ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ โดยเฉพาะการทำ Open Data ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆในรูปของดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ การเปิดข้อมูลนอกจากจะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ภาคประชาชนนำข้อมูลของรัฐไปสร้างบริการหรือนวัตกรรมใหม่ๆได้ เช่นข้อมูลด้านการจราจร ข้อมูลด้านธุรกิจการค้าต่างๆ ข้อสำคัญภาครัฐต้องตระหนักว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นสมบัติของประชาชนไม่ใช่ข้อมูลของหน่วยงานตัวเอง และต้องเปิดกว้างให้ทุกๆภาคส่วนนำข้อมูลที่ไม่ใช่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่เป็นความลับทางราชการนำไปใช้ได้

6) ภาคราชการต้องเน้นการทำงานแบบร่วมกัน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ระบบราชการ มันจะทำให้เกิดบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่ากรแชร์ไฟล์ การทำเอกสารร่วมกัน การส่งเอกสารแบบใหม่ผ่านระบบ Cloud  การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบใหม่นี่จะเกิดประโยชน์อย่างมากถ้าภาคราชการฝึกการทำงานแบบ  Colaboration จะทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น

สุดท้ายถ้าราชการยังคิดแบบเดิม ยังไม่ปรับตัวเองตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่แล้วผมเชื่อว่าดิจิทัลอีโคโนมีคงไปได้ไม่ถึงไหน เผลอๆคงต้องยืมคำพูดของคุณปรีดา ยังสุขสภาพร ที่เขียนบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่าระวังนะครับ ดิจิตอลอีโคโนมีของเราจะเป็นได้อย่างมากก็เพียง “มโนอีโคโนมี” เท่านั้นเอง

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Screenshot 2014-12-28 18.22.17

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s