Screenshot 2015-01-24 22.30.12

ในรอบปี 2557 มีเหตุการณ์หลายอย่างที่สำคัญต่อวงการไอทีของประเทศไทย ผมคงไม่สามารถจะเขียนสรุปจัดอันดับเหตุการณ์สำคัญในฐานะตัวแทนคนไอทีได้ แต่ผมอยากจะสรุปเรื่องราวต่างๆที่ทางผมและสถาบันไอเอ็มซีได้เจอมาและเห็นว่ามีความสำคัญต่อวงการไอทีในรอบปี 2557 ดังนี้

1) การประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ทันทีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศว่าจะเน้นนโยบายเรื่อง Digital Economy เพื่อใช้ไอซีทีมาเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้รับผิดชอบผลักดันในเรื่องนี้พร้อมกับมีทีมที่ปรึกษาที่เป็นกูรูในวงการไอซีทีที่เป็นคนที่วงการไอทีรู้จักดีเข้ามาช่วย นโยบายนี้ก็ได้สร้างความหวังให้กับคนในอุตสาหกรรมไอซีทีเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลที่ผ่านๆมาไม่เคยให้ความสำคัญกับด้านนี้มาก่อน จึงเป็นโอกาสอันดีของวงการไอทีที่จะนำเสนอเรื่องต่างๆ ทั้งทางด้านธุรกิจและกฎหมาย ข้อสำคัญเราก็เห็นความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลนี้ในการทำ Digital Economy ที่ต่างกับรัฐบาลนักการเมืองส่วนใหญ่ที่มักออกนโยบายสวยหรูทแต่ไม่เคยปฎิบัติจริง โดยล่าสุดรัฐบาลก็ผ่านความเห็นชอบร่างพรบเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำเสนอสภานิติบัญญติแห่งชาติ พร้อมทั้งยังมีนโยบายและโครงการอื่นๆอีกมาก จนมีบางท่านบอกว่าโอกาสดีๆอย่างนี้มีไม่บ่อยนักคนไอซีทีอยากจะเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติควรรีบทำ เพราะการรัฐประหารไม่ได้มีบ่อยนัก 

ETDA2

2) การรวมตัวของคนไอทีในกิจกรรมการเมือง ปกติคนไอทีมักจะไม่ค่อยยุ่งกับเรื่องทางการเมืองมากนัก แต่ในปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มกปปส.ที่ออกมาสนับสนุนให้มีการปฎิรูปก่อนเลือกตั้งโดยมีการชุมนุมต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนและมีกิจกรรมต่างๆมากมาย คนวงการไอทีจำนวนมากก็เข้ามาร่วมในกิจกรรมดังกล่าว หลายๆครั้งจะเห็นคนไอทีมากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาร่วมกิจกรรม มีตั้งแต่ระดับคนทำงานไปจนถึงเจ้าของบริษัทโดยไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจภาครัฐ ซึ่งก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไอทีส่วนใหญ่ไม่ได้แค่สนใจแต่เรื่องเทคโนโลยี แต่ถ้าเป็นเรื่องของบ้านเมืองเรื่องความถูกต้องคนไอทีส่วนมากก็ยินดีจะเข้ามาร่วมเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ กิจกรรมที่สำคัญอันหนี่งที่คนไอทีทำคือการจัดรวมตัวกันของกลุ่มวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และไอซีที ที่จัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มกราคม และมีคนวงการไอทีมาร่วมหลายพันคน

1499623_801929639836621_764316460_n

3) ภาคเอกชนร่วมกันนำเสนอกลยุทธ์ Digital Economy เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบาย Digital Economy  คนในภาคเอกชนที่ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมต่างๆก็จัดระดมความเห็นเพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นของภาคเอกชนโดยจัดให้มี Workshop 6-7 ครั้ง และเริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม จนสุดท้ายได้เป็นข้อเสนอ 4 ด้านของสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (TFIT)  ยื่นต่อภาครัฐบาลและได้แถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบเมื่อต้นเดือนธันวาคม

10361985_398007750346571_3482526127724671760_n

10847902_424636234350389_3483319182901888954_n

4) Start-up ของไทยยังแรงอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นอีกปีที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยที่เป็นกลุ่มบริษัทเกิดใหม่  (Start-up Company) ได้รับความสนใจมากมายจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตามกระแสของกลุ่ม Start-up ทั่วโลก ในปีนี้ยังมีกิจกรรมประกวด Start-up Software จากหลายๆหน่วยงานทั้งจาก  DTAC, AIS, True และ  Samart และยังมีบริษัทไทยหลายๆบริษัทที่ได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุนทั่วโลกอาทิเช่นเช่น Page 365, Computerlogy, ถามครู (Taamkru), OokBee, Wongnai และ  ClaimDi เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอีกมากมายสำหรับกลุ่ม  Start-up ดังที่ทาง Thumpsup สรุปไว้ในรูป

Screenshot 2014-12-29 17.04.51

5) การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารไอทีภาครัฐ ภายหลังการรัฐประหารก็มีคำสั่งของคสช.เปลี่ยนปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศจากคุณสุรชัย ศรีสารคามที่ข้ามมาจากผู้ว่าราชการในกระทรวงมหาดไทยมาเป็นคุณเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการของกระทรวงที่ทำงานอยู่กับกระทรวงมายาวนานและเป็นผู้หนึ่งที่มีความเข้าใจและใก้ลชิดกับวงการไอทีดี นอกจากยังมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาต และผู้อำนวยการ NECTEC ก็หมดวาระลง พร้อมทั้งได้ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เป็นนักวิจัยอย่าง ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นอกจากนี้คนในวงการไอทีหลายท่านก็ยังได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่สำคัญในทางการเมืองอาทิเช่น ดร.โกศล  เพ็ชร์สุวรรณ์ (อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตนายกสมาคมโทรคมนาคม) และ คุณสุรางคณา วายุภาพ (ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)) ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.)

6) กระแส Big Data กำลังมาแรง ในปีนี้หน่วยงานหลายๆแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของ Big Data  มีการจัดสัมมนากันหลายครั้งโดยหน่วยงานต่างๆทั้งจากVendor ภาครัฐและภาคเอกชน ในแง่ของภาครัฐบาลโดยการนำของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ก็เริ่มมีการพูดถึงเรื่องของ Open Data ทาง IMC Institute ก็มีจากอบรมหลักสูตรทางด้าน Big Data สำหรับทั้งกลุ่มผู้บริหารและหลักสูตรด้านเทคนิคอย่าง Hadoop Technology โดยมีผู้ผ่านการอบรมร่วม 300 คน

1510488_375876575893022_4906313227950881334_n

7) สมาคมไอทีไทยยังแข็งแกร่งและคุณบุญรักษ์ สรัคคานนท์ขึ้นเป็นประธาน ASOCIO ปีนี้สมาคมคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆอย่างสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ครบรอบ 25 ปี และได้มีการจัดงานฉลองการครบรอบดังกล่าวมีผู้คนร่วมจำนวนมากทำให้เห็นถึงความสามัคคีและแข็งแกร่งของกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีไทย แมัจะมีสมาคมไอทีเกิดใหม่อย่างสม่ำเสมออาทิเช่นล่าสุดในปีนี้มีการจัดตั้งสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) แต่ก็จะเห็นได้ทุกสมาคมต่างก็มีจุดมุ่งหมายทีดีเพื่ออุตสาหกรรม และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องรวมตัวกันก็สามารถช่วยงานกันได้เป็นอย่างดี ล่าสุดก็มีการผลักดันจะจัดตั้งสภาไอซีทีโดยมีสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (TFIT) ที่รวมกันถึง 14  สมาคมเป็นผู้เริ่มขับเคลื่อน นอกจากนี้ในปียังมีข่าวดีในวงการอุตสาหกรรมไอทีไทยเมื่อคุณบุญรักษ์ สรัคคานนท์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายก ASOCIO  (Asian-Oceanian Computing Industry Organization) นับเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับตำแหน่งสำคัญนี้

10670001_387788211368525_6092266115346062879_n

8) สามบริษัทไทยชนะเลิศรางวัล APICTA 2014 Asia Pacific ICT Awards (APICTA) เป็นงานประกวดผลิตภัณฑ์ทางด้านซอฟต์แวร์ของประเทศในกลุ่ม Asia Pacific โดยมีประเทศสมาชิก 16 ประเทศ ในปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียมีบริษัทไทย 3  บริษัทที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ บริษัท Siam Square Technology จากประเภท Finacial Industry Application; บริษัท EcartStudio จากประเภท Application and Tool Platform และบริษัท Mobility(Stamp) จากประเภท Start-up นอกจากนี้ยังมีทีมที่ได้รางวัล Merit อีกสี่รางวัลคือ Success Strategy Solution Co.Ltd. จากประเภท Retails & Logistic Supply Chain; จากประเภทนักศึกษา 2 รางวัลที่มาจาก ม.มหิดล และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าบางมด และประเภทนักเรียน 1 รางวัลจากโรงเรียนเซ็นต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์

aptica_thumbnails

9) ตลาด Cloud Computing ในประเทศไทยเริ่มเป็นที่นิยมขึ้น จากที่เราเคยถกเถียงกันว่า  Cloud Computing  จะมาหรือไม่มา ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าคนไอทีเริ่มเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนี้มากขึ้น ปีนี้เริ่มเห็นว่าหน่วยงานต่างๆในประเทศมีการนำเทคโนโลยี Cloud Computing มาใช้มากขึ้น มีทั้งการทำ Private Cloud และการใช้ Public Cloud หลายๆหน่วยงานรวมถึงหน่วยงานใหญ่ๆทั้งภาครัฐและเอกชนจัดหาซอฟต์แวร์ที่เป็น SaaS มากขึ้นเช่น Google Apps, Office 365  และ Salesforce ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่ม Start-up ก็ต่างหันมาใช้ Public IaaS หรือ PaaS แทนการจัดหาเครื่อง Server เอง ยิ่ง Vendor หลายใหญ่ๆอย่าง Microsoft นำซอฟต์แวร์ Office ขึ้น Cloud แล้วก็ยิ่งชัดเจนว่าคนไทยต้องมาใช้ Cloud มากขึ้น

10) ปัญหาการขาดบุคลากรด้านซอฟต์แวร์รุนแรงกว่าเดิม สุดท้ายปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีก็ยังคงอยู่ และดูเหมือนว่าจะหนักกว่าเดิมเพราะเด็กรุ่นใหม่ๆเริ่มไม่สนใจที่จะเข้าเรียนทางด้านไอทีเหมือนแต่ก่อน จำนวนมากไม่อยากเรียนเขียนโปรแกรม เด็กรุ่นใหม่ที่จบมาและพร้อมที่จะทำงานเลยก็มีไม่มากนัก จำนวนหนึ่งก็สนใจจะเป็น Freelance หรือทำ Start-up ของตัวเอง ทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆขาดแคลนโปรแกรมเมอร์และต้องแย่งตัวคนทำงานกัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาทางสถาบันการศึกษาต่างๆก็เริ่มถกกันว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้คงต้องดูกันต่อว่าแต่ละฝ่ายจะช่วยกันอย่างไร

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s