ผมได้มีโอกาสได้ดูร่าง พระราชบัญญติการพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และกำลังนำเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาในเร็วนี้ๆ พรบ.นี้เป็นหนึ่งในหลายๆพรบ.ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้าน Digital Economy ซึ่งกำลังพิจารณาออกมาจากรัฐบาลและสนช.
พรบ.การพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมมีสาระสำคัญคือการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม การตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม และการตั้งสำนักงานส่งเสริมดิจิทัล ซึ่งเมื่อดูจากร่างพรบ.คิดว่าทางรัฐบาลมีความตั้งใจที่ดีในการที่จะพัฒนา Digital Economy แต่ก็มีข้อสังเกตบางประการที่คิดว่า ควรมีการปรับปรุงร่างพรบ.ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. เพื่อให้งานด้าน Digital Economy ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
ข้อสังเกตทั่วไปและโครงสร้างคณะกรรมการ
พรบ.ในมาตราที่ 3 มีการให้คำนิยามของศัพท์ใหม่เช่น ดิจิทัล หรือ ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่อ่านแล้วอาจแปลกๆและดูไม่เหมาะสมเช่นระบุว่า “ดิจิทัลเป็นสัญลักษณ์ศูนย์และหนึ่งหรือสัญลักษณ์อื่นแทนค่าสิ่งทั้งปวง” หรือแม้แต่นิยามคำว่า ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตาม มาตรา 3 วรรค 2 ใตามที่ระบุไว้ก็ดูไม่เหมาะสม เพราะวันนี้ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช้เทคโนโลยีข้อมูลอีกแล้ว
ในแง่ของเป้าหมายและนโยบายตามมาตราที่ 6 ก็ดูเหมือนว่าจะเน้นฝั่งด้าน Demand มากกว่าฝั่งด้าน Supply และมีโครงสร้างคณะกรรมการย่อยหลายๆชุดในมาตราที่ 14 ที่มาจากฝั่ง Demand เสียส่วนใหญ่
นอกจากนี้โครงสร้างคณะกรรมการที่กำหนดไว้ 5 ชุดก็น่าจะมีเพิ่มคณะกรรมการหนึ่งชุด ที่จะปรับพันธกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นผู้พัฒนาและรับผิดชอบความสามารถและผลงานของการใช้เทคโนโลยีทางด้านข้อมูลให้แก่ทุกกระทรวง เพื่อเพิ่มผลงานและลดงบประมาณของทุกกระทรวง ที่ต้องรวมกันเป็นประสิทธิภาพและศักยภาพของรัฐทั้งหมด
ข้อสังเกตเรื่องกองทุนพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม
การจัดกองทุนฯในหมวดที่ 4 ของพรบ.นี้ มีความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้เงินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการให้อำนาจกับผู้บริหารประเทศมากเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งผมเคยได้เคยบทความท้วงติงไว้ในเรื่อง กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: อย่าออกพรบ.ตีเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจ และ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ก็เขียนออกมาแสดงความเห็นว่า กองทุนฯนี้ไม่มีความจำเป็น เปิดช่องทางหากิน และสร้างบรรทัดฐานที่ผิด มันเปรียบเสมือนการจัดตั้งงบกลางของกระทรวงฯที่จะไม่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา ทั้งๆที่สามารถจะตั้งงบประมาณปกติในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้โดยตรง ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนและมีประโยชน์มากกว่า การนำเงินมาไว้ที่กองทุน โดยยังไม่ทราบว่าจะเอาไปทำอะไร เป็นการให้อำนาจกับผู้บริหารในอนาคตที่อาจเป็นนักการเมืองมาตัดสินใจโดยขาดความโปร่งใส
แต่หากมีความจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนนี้ ก็ควรจะมีการทบทวนในประเด็นต่างๆดังนี้
- มาตรา 21 กำหนดขอบเขตการใช้เงินกองทุนที่กว้างเกินไป จะให้เงินเปล่าแก่หน่วยงานเอกชนใด บุคคลใดก็ได้ ซึ่งการทำแบบนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคต
- มาตรา 22 ที่มาของเงินกองทุนมาจากหลายๆแหล่งทั้งงบประมาณประจำปี และเงินรายได้ของกสทช. ที่เป็นเงินของผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม ซึ่งควรนำไปใช้ในด้านนั้น และทำให้เกิดการลดความเหลื่อมล่ำด้านดิจิทัลเช่น โครงการการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) การนำเงินของผู้บริโภคโทรคมนาคมมาใช้ด้านไอทีด้วยจึงอาจทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมสูงเกินไป
ข้อสำคัญเงินกองทุนนี้ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยไม่มีการกำหนดวงเงินสูงสุดที่เก็บได้ เราอาจจะเจอกรณีเดียวกับของกสทช.ที่มีเงินเก็บในกองทุนถึง 34,000 ล้านบาทโดยไม่ได้นำไปใช้อะไร ทั้งๆที่ประเทศยังต้องการเงินพัฒนาประเทศอีกมากในด้านอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการตั้งบรรทัดฐานผิดๆให้กับทุกกระทรวงที่จะตั้งกองทุนมาใช้เงินโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา
- มาตรา 25 คณะกรรมการบริหารกองทุนจะมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมืองซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งพวกพ้องมาบริหาร และเมื่อดูการตรวจสอบการใช้เงินแล้ว ไม่มีขั้นตอนใดใน หมวดที่ 4 ส่วนที่ 2 (มาตรา 25-30) ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบต่อรัฐสภา แม้แต่การเสนอผลการใช้เงินกองทุนประจำปี
ข้อสังเกตเรื่องการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
พรบ.ในหมวดที่ 5 จะมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA เดิม ตามที่หลายๆคนเข้าใจผิด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็มีบางประเด็นที่สมควรแก้ไขอาทิเช่น
- แม้ในบทเฉพาะกาลจะมีมาตรา 58 ยุบ SIPA ทิ้งแลัวโอนหนี้สิ้นทรัพย์สินไปยังหน่วยงานใหม่ แต่ก็ยังมีมาตรา 59 ที่ให้โอนพนักงาน SIPA ไปเป็นการชั่วควารแล้วสำนักงานใหม่จะดำเนินการคัดพนักงานใหม่ภายในเวลา 270 วันซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ไม่ใช่พนักงาน SIPA ที่ทำงานอยู่เป็นการชั่วควาร การพิจารณาเช่นนี้ทำให้เสียเวลาของการทำงานเปล่า เราควรท่ีจะให้มีการคัดพนักงานตั้งแต่เรื่มจัดตั้งองค์กร และคัดเลือกบุคคลที่มีคุณภาพและมีความสามารถเข้าทำงาน งานจะได้เกิดความรวดเร็ว ไม่ใช่นำวัฒนธรรมของบุคลากรองค์กรเก่าๆอย่าง SIPA ทั้งหมดเข้ามา แล้วค่อยมาคัดกรองภายหลัง ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 59 วรรค 4 ก็ระบุดีแล้วว่า ควรจ่ายเงินชดเชยตามสัญญาจ้างให้กับพนักงาน SIPA ทั้งหมดที่ไม่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งควรทำโดยทันทีทันใดไม่ใช่รอ 270 วัน
- นอกจากนี้ควรมีการเพิ่มข้อความในบทเฉพาะกาลที่จะให้สำนักงานใหม่ สามารถที่จะยืมตัวบุคลากรที่มีความสามารถจากหน่วยงานใดๆมาทำงานในระยะเริ่มต้นภายใน 270 วัน เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ธนชาติ นุ่มนนท์