Screenshot 2015-06-29 10.29.09

ทุกครั้งที่ผมเห็นระบบไอทีต่างๆของภาครัฐหลายๆแห่งแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด ตั้งแต่เว็บไซต์ที่เห็นที่ส่วนมากจะออกแบบมาสำหรับเครื่องพีซี ไม่เหมาะกับการใช้อุปกรณ์อื่นๆดู  อีเมลที่ส่งมาก็มักจะเป็น  @gmail, @yahoo หรือถ้าเป็นอีเมลของหน่วยงานก็จะมีข้อจำกัดในขนาดของไฟล์ เอกสารก็ส่งมาให้เป็น  Word, Excel ที่ไม่มีการใช้ Office Document ซึ่งเป็น Collloboration Tools ราชการหลายๆหน่วยงานก็ยังถ่ายเอกสารไปมา มาขอให้ผมส่ง FAX ถ้าพูดถึงเครื่อง Server หรือ  Data Center ก็จะไม่มีระบบอะไรที่เป็นมาตรฐาน บางแห่งก็วางเครื่องไว้อย่างไม่ใส่ใจ ขาดระบบสำรองข้อมูล หรือการทำแผนการทำงานต่อเนื่อง

พอถามว่าทำไมยังมีระบบแบบนี้ คำตอบที่มักจะได้รับคือไม่มีงบประมาณ หรือไม่ก็ระเบียบไม่ให้ แต่ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากที่มีงบประมาณเพียงน้อยนิด สามารถนำระบบไอทีมาใช้งานในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ต่างๆที่มีราคาถูกเข้ามาใช้งาน และยิ่งเมื่อผมไปเจอหน่วยงานราชการบางแห่งอย่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ใช้งบประมาณไอทีไม่มากนัก เลือกใช้ซอฟต์แวร์ Open Source ราคาถูก ระบบบน Cloud ที่มีอยู่มาทำระบบไอทีในการบริหารงานแล้ว ทำให้ผมเริ่มคิดแล้วครับว่าปัญหาของระบบไอทีภาครัฐที่ไม่ทันสมัย ล่าช้า ไม่ได้อยู่ที่งบประมาณหรอกครับ แต่น่าจะอยู่ที่ MindSet อยู่ที่ความกล้าที่จะเปลี่ยน

ถ้าเราจะเข้าสู่ Digital Government ผมคิดว่าเราจะต้องไม่ฝากความหวังไว้เพียงกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเช่นกระทรวงไอซีทีว่า จะต้องทำ  National Data Center ทำระบบอีเมลกลาง หรือทำระบบซอฟต์แวร์กลาง แต่สิ่งที่ควรเป็นคือเราต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆเหมือนอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำระบบจากไหนก็ได้ที่มีความเสถียร มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้มาพัฒนาระบบ อย่าหวังพึ่งเพียงหน่วยงานกลางใดๆมาทำ อย่าต้องรอให้เกิด National Data Center  หรือระบบซอฟต์แวร์กลางมีความพร้อมเสียก่อน แล้วค่อยทำระบบไอทีในหน่วยงาน ผมว่าตอนนั้นจะสายเกินไป

การทำระบบไอทีภาครัฐให้รวดเร็ว จะต้องคิดใหม่และเปิดทางเลือกในการพัฒนา โดยปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จน่าจะมีเรื่องต่างๆดังนี้

1)  ผู้นำสูงสุดองค์กรต้องเป็นแบบอย่าง ใช่ครับผู้นำในองค์กรจะต้องนำในการใช้ไอที อย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านอธิการบดีลงมาเล่นเองทำเอกสารโดยใช้ Google Docs ให้ผู้บริหารในระดับต่างๆใช้งานตาม ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ในการใช้ไอทีในการบริหารงาน ไม่ใช่แค่เล่น Line, Facebook หรือ YouTube อย่าวัดความสำเร็จการใช้ไอทีของหน่วยงานเพียงแค่การกรอกผลประเมินตาม KPI  ที่สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะทำให้ผ่าน KPI ที่ไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง

2) ราชการต้องเปลี่ยนความคิดว่าข้อมูลหรือเอกสารของหน่วยงานว่าเป็นความลับสุดยอด เรากำลังปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเป็น Sharing Economy แต่บ่อยครั้งที่เราจะเห็นหน่วยงานรัฐมักคิดว่าข้อมูลของหน่วยงานตัวเองเป็นความลับ เอกสาร อีเมลของหน่วยงานสำคัญ ต้องทำเอง ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่ดูแลระบบไอทีอาจไม่ได้มีความสามารถพอที่จะป้องกันข้อมูลได้ดีเท่ากับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญจากภายนอก ทุกๆองค์กรมีลำดับชั้นความสำคัญของข้อมูล บางเรื่องอาจลับมาก บางเรื่องอาจเปิดเผยได้ เราต้องจัดลำดับชั้นความลับ แล้วจัดระบบไอทีให้สอดคล้องกัน หน่วยงานรัฐในต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย ก็ให้เอกชนมาบริหารไอที บางระบบก็ฝากไว้กับ  Amazon, Google  หรือ Microsoft  แล้วทำไมเอกสารบ้านเรามันลับมากกว่าเขาหรือครับถึงเอาไปฝากไว้ระบบอื่นๆไม่ได้ ทั้งๆที่โดยความจริงทุกวันนี้ผมก็เห็นผู้บริหารรัฐจำนวนมากส่งอีเมลโดยใช้ public mail หรือบางครั้งก็เจอถุงกระดาษที่ใช้เอกสารราชการมาทำ

3) ราชการต้องปรับระเบียบ โลกไอทีได้เปลี่ยนแปลงไป แต่วิธีจัดซื้อจัดจ้างในระบบราชการยังเหมือนเดิม เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระเบียบต่างๆจำนวนมาก อาทิเช่นมติที่ห้ามใช้ Public Mail ที่ขัดกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน การเปลี่ยนระเบียบการจัดทำระบบที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆสามารถทำซอฟต์แวร์ให้ภาครัฐได้ โดยประเมินจากความสามารถ ระบบงานที่สามารถทำงานได้ มากกว่าการตรวจรับตามเอกสารแบบเดิมๆ หรือการปรับระเบียบเพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดหาระบบซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์มีอยู่บน Cloud ได้ การปรับระเบียบเพื่อให้นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้งานได้

4) ต้องเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานมีทางเลือกในการพัฒนาระบบ อย่าให้ทุกอย่างต้องรวมศูนย์อยู่ที่ใดที่หนึ่งเช่นการใช้ National Data Center หรือ National E-Mail  แต่เราควรจะมีหน่วยงานกลางกำหนดมาตรฐานและเปิดโอกาสให้หน่วยงานสามารถใช้ระบบจากที่ใดก็ได้เช่น อาจใช้ระบบอีเมลบน Cloud ของ Google หรือ Microsoft  การใช้ Cloud Server จากบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่อยากใช้  YouTube ในการทำระบบ Video ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม อย่าว่าคิดทุกอย่างรัฐต้องทำเอง

ใช่ครับถึงเวลาที่ต้องทำ ไม่ต้องรออะไรหรอกครับ มันทำได้เลย ไม่ต้องรอ Data Center หรือระบบอะไร ในโลกไอทีมีอะไรมากมาย  Just Do It แล้วก็เริ่มทำเลย มันอยู่ที่ความกล้าและ Mindset ของผู้บริหารสูงสุดขององค์กร

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

นายกสมาคมอุตสาหกรรมสารสนเทศไทย

Screenshot 2015-06-29 10.24.10

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s