เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสไปประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องการทำแผนเรื่อง Digital Economy ของกระทรวงเทคโนโลยีสานสนเทศและการสื่อสาร โดยเป็นการประชุมในกลุ่มที่ 4 สำหรับภาคเอกชนซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการประชุมในกลุ่มอื่นๆอาทิเช่น ภาคสังคม ภาควิชาการ และ ภาคราชการ ผมเองได้รับเชิญสองรอบคิอภาควิชาการและภาคเอกชน แต่เลือกไปในฐานะของภาคเอกชนเป็นตัวแทนสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)
ในกลุ่มย่อยของเราเห็นคล้ายกันว่า Digital Economy คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือไอซีทีไปใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกับดักเศรษฐกิจที่เราติดหล่มมาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การนำดิจิทัลเข้ามาเราอาจได้นวัตกรรมใหม่ การบริการใหม่ และทำให้เศรษฐกิจในทุกภาคส่วนเราแข่งขันได้ Digital Economy จะต้องมุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมภาคส่วนต่างๆในประเทศเจริญเติบโต ไม่ได้มีเป้าเพียงเพื่อมุ่งให้อุตสาหกรรมไอซีทีบ้านเราเจริญเติบโต
เราได้ถกกันในประเด็นเรื่อง How To เล็กน้อย โดยมองว่าสิ่งสำคัญในการทำ Digital Economy คือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเช่น High Speed Broadband ให้ทั่วถึง ควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาชนให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีระดับขั้นในการพัฒนาที่ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งใช้คำว่า 4A คือ
- Availability: จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างทั่วถึงให้ประชาขนสามารถที่จะใช้งานได้
- Access: ประชาชนจะต้องสามารถที่จะใช้งานได้ในราคาที่เหมาะสม
- Awareness: ประชาชนจะต้องตระหนักถึงประโยชน์ในการใช้งาน
- Ability: ประชาชนจะต้องมีความสามารถในการใช้งานเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน
มีประเด็นที่น่าสนใจว่า อะไรคือเป้าหมายและตัวชี้วัดของ Digital Economy สิ่งเราสรุปกันว่าน่าจะมีสามด้านคือ
- Digital Economy จะต้องทำให้ GDP ของประเทศสูงขึ้น ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ GDP ของประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละเท่าไรที่เหมาะสม เป็นไปได้ไหมที่รายได้ของประชากรต่อหัวจะโตขึ้นสองเท่าภายใน 5 ปี ซึ่งก็จะต้องมีตัวชี้วัดย่อยตามมาคือ การมี Broadband อย่างทั่วถึงภายใน 2-3 ปี ประชาชนในประเทศมีการใช้ Internet ร้อยละ 70 ภายใน 5 ปี หรือสัดส่วนของอุตสาหกรรมภาตบริการที่ควรสูงขึ้น รวมถึงการวัดโดยจำนวนและมูลค่าของนวัตกรรมใหม่ๆ
- ดัชนีความสุขของประชาชนต้องดีขึ้น Digital Economy จะต้องช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดการเดินทาง การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ การใช้งานบริการต่างๆต้องว่องไวขึ้น ประชาชนจะต้องมีโอกาสในการศึกษาที่ดีขึ้นผ่านระบบดิจิทัล และต้องช่วยลดช่องว่างทางชนชั้นของสังคม ตัวเลขเหล่านี้อาจวัดยากแต่ก็ต้องหาตัวชี้วัดที่เหมาะสม
- ดัชนีชี้วัด E-Government ของประเทศจะต้องสูงขึ้น เราถกกันว่าหน่วยงานที่เป็นดิจิทัลน้อยสุดคือภาคราชการ ธุรกรรมของราชการเป็นอุปสรรคต่อการทำ Digital Economy เรายังต้องใช้เอกสารมากมาย คนภาคราชการมี Digital Mindset ไม่มากพอ เราต้องเร่งปฎิรูประบบราชการให้เป็นดิจิทัล เพิ่ม E-Services ต่างๆ ลดการใช้เอกสาร ตัวชีวัดที่ดีคือ E-Government Index ของ UN ที่เราตกมาที่ร้อยกว่า ทำอย่างไรให้เราติด Top 20 ใน 5 ปีข้างหน้า
ทั้งหมดก็เป็นความเห็นส่วนหนึ่งของภาคเอกชนกลุ่มเล็กๆที่ได้แลdเปลี่ยนกันเมื่อวานนี้ ก็ได้แต่หวังว่าภาครัฐคงจะนำสิ่งต่างๆเหล่านี้ไปพิจารณาปฎิบัติบ้าง
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institue
นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)