ผมมักจะได้ยินผู้บริหารหน่วยงานต่างๆภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก บอกว่าเราจะกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล กำลังเข้าสู่ยุค Industrial 4.0 เราต้องมีการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้เพื่อพัฒนาองค์กร บ้างก็บอกว่ากำลังทำ Big Data บ้างก็มอบหมายให้ฝ่ายไอทีไปทำโครงการ Big Data บางหน่วยงานก็เริ่มไปได้ดีเพราะมีผู้ที่เข้าใจเรื่อง Big Data และการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ บางหน่วยงานก็ไปไม่ถูกทาง ฝ่ายไอที ฝ่ายการตลาดก็เร่งจัดหาซื้อเครื่องมือ ฐานข้อมูล ทำ Data warehouse บ้าง หาเครื่องมื่อมาทำ Business Intelligence บ้าง เพื่อจะสร้างรายงานต่างๆให้กับผู้บริหาร ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเคยไปเจอบางหน่วยงานฝ่ายไอทีบอกว่าเรายังไม่พร้อมทำ Big Data เพราะเรายังไม่ต้องการเอาข้อมูล Social Media มาวิเคราะห์
พื้นฐานความเข้าใจเรื่อง Big Data ในแต่ละหน่วยงานอาจแตกต่างกัน แต่ถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจและวางกลยุทธ์ให้ถูกต้อง ผมคิดว่าเราก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในการปรับองค์กรให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลหรือการทำ Digital Transformation โดยใช้ Big Data ผมเคยเขียนบทความลงในบล็อกนี้เรื่อง โครงการ Big Data กับความจำเป็นต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยี และได้บอกไว้ว่า โครงการ Big Data ที่ดีควรเริ่มที่ฝั่งธุรกิจ ควรจะต้องพิจารณาก่อนว่าต้องการทำอะไร โดย Big Data มีองค์ประกอบที่สำคัญสามอย่าง
- Data Source
- Technology
- Analytics
องค์ประกอบแรก Data Source นั้นสำคัญที่สุด ในชีวิตประจำวันของเราทุกอย่างล้วนสร้างข้อมูลใหม่ขึ้นมา หน่วยงานทุกหน่วยงานก็ย่อมมีข้อมูลเกิดขึ้นจากการทำงาน Big Data ก็คือข้อมูลเหล่านั้นที่เก็บอยู่ในรูปแบบต่างๆทั้ง Structure และ Unstructure การปรับองค์กรสู่ดิจิทัลแล้วเราจะละเลยข้อมูลต่างๆไปย่อมเป็นไปไม่ได้โดยเฉพาะการจะมุ่งเก็บแต่ข้อมูล Structure แบบเดิมย่อมเป็นเรื่องที่ผิดพลาด องค์กรที่พร้อมในการทำ Big Data เราจะต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น Data-Driven นำข้อมูลมาใช้ รู้จักการทำงานร่วมกันผ่านการแชร์ข้อมูล มีวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความโปร่งใส และข้อสำคัญข้อมูลที่จะแชร์ออกมาใช้อนาคตควรอยู่ในรูปของ API-based ปัญหานี้เป็นเรื่องยากในบ้านเราเพราะ วัฒนธรรมของคนบ้านเราจำนวนมากที่จะรู้สึกหรือคิดว่าข้อมูลเป็นของตนเองและไม่ค่อยยอมจะแป่งปันข้อมูล และอีกประการเราเองจะไม่ค่อยชอบนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ เราจะเอาความรู้สึกมาตัดสินใจมากกว่าดูจากข้อมูล ดังนั้นการปรับองค์กรสู่ Big Data ประการที่สำคัญสุดคือ การปรับวัฒนธรรมองค์กร
องค์ประกอบที่สอง Technology หลักการสำคัญของ Big Data คือการหาเครื่องมือมาเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล แต่เนื่องจากข้อมูลใหญ่และซับซ้อนขึ้นเกินกว่าเทคโนโลยีแบบเดิมจะจัดการได้ ดังนั้นองค์กรที่จะทำ Big Data จะต้องจัดหาเครื่องมือใหม่ๆเช่น Hadoop หรือ Cloud Technology ต่างๆมาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ผมได้กล่าวไว้ในหลายๆครั้งแล้วจึงไม่อยากกล่าวซ้ำอีก
องค์ประกอบสุดท้าย Analytics หัวใจสำคัญของ Big Data คือการทำ Big Data Analytics ที่ต้องการใช้ หลักการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อทำการคาดการณ์อนาคตจากข้อมูลขนาดใหญ่ งานลักษณะนี้แตกต่างจากการทำ BI เพราะใช้ทักษะที่ต่างกัน ต้องการคนที่มีความรู้ทางด้าน Machine Learning หรือกลุ่มที่จะเป็น Data Scientist ซึ่งต้องมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดี และโดยมากมักจะเป็นคนที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี หรือเรียนวิชาด้านนี้มาโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ที่จะมาทำด้านนี้ควรมีองค์ประกอบสามด้านคือ Hacking คือความสามารถในการพัฒนาโปรแกรม STATS คือความเข้าใจด้านสถิติและ Machine Learning และ Critical Thinking คือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในธุรกิจนั้นๆ

หลายๆองค์กรจะมีปัญหาเรื่องการหาทีมงานด้าน Data Science บ้างก็จะไป Outsource จ้างหน่วยงานอื่น บ้างก็ไปตั้งเป็น Virtual Team บ้างก็ไปฝากงานไว้กับทีมงาน BI หรือทีม Data Warehouse ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ต่อเนื่องโดยเฉพาะงาน Big Data ที่จะต้องมีข้อมูลหรือเรื่องใหม่ๆให้มาวิเคราะห์ตลอดต้องไม่ใช่ Project Base ทำงานช่วงครั้งชั่วควาร วิธีที่ดีสุดถ้าเราคิดว่าเราต้องทำ Digital Transformation ในองค์กรคือต้องตั้งทีมใหม่ขึ้นมา ลงทุนจ้างคนมาครับ หาคนที่เข้าใจเรื่อง Data Science มาทำงานร่วมกับคนในองค์กรที่จะอยู่ร่วมทีม และต้องพัฒนาคน ข้อสำคัญอย่าไปคิดนะครับว่าจะจ้างคนต่างประเทศหรือ Data Scientist ที่ทำงานในต่างประเทศมาแล้วจะทำงานได้เลย คงต้องฝึกและทำงานร่วมกันครับ เพราะวัฒนธรรมเรื่องข้อมูลและการทำงานของเรายังต่างกันาก ดีทีสุดคือเร่งพัฒนาคนในนี่ละครับ จ้างเด็กใหม่ที่จบโทเอกด้านนี้ครับ ต้องลงทุน
คงเป็นข้อคิดสั้นๆแค่นี้ละครับ สำหรับผู้บริหารที่อยากปรับองค์กรสู่ Digital Transformation ด้วย Big Data
ธนชาติ นุ่มมนท์
IMC Institute
เมษายน 2560