Screenshot 2019-09-29 14.55.10

สองสัปดาห์นี้ผมได้เดินทางไปประเทศจีนสองครั้ง สัปดาห์ก่อนผมไปเมืองเซินเจิ้นและฮ่องกงกับทีมงานของสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และสัปดาห์นี้ก็ไปเมืองกวางโจวและเซินเจิ้นกับผู้เข้าอบรมของสถาบันไอเอ็มซี ทั้งสองทริปที่เดินทางไปก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีไอทีและการไปดูงานนิทรรศการและบริษัทด้านไอทีในเมืองเซินเจิ้น สองปีที่ผ่านมาผมเดินทางมาเมืองเซินเจิ้น 5 ครั้งและมีโอกาสได้ไปดูงานนิทรรศการไอทีเขาแทบทุกครั้ง อย่างสัปดาห์นี้ผมก็ไปดูงาน China Informatiion Technology Expo ซึ่งเขาจัดเป็นครั้งที่ 7 ทุกครั้งที่ไปดูงานของเขาก็จะเห็นความก้าวหน้าของบริษัทของเขาที่มาออกบูธเป็นพันๆบริษัทเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ งานครั้งนี้เขาก็จัดทั้งหมด 9 Hall และที่มาออกงานเกือบ 100% เป็นบริษัทในจีนที่ส่วนมากมาจากเมืองเซินเจิ้น งานนี้เราจะเห็นแทบทุกค่ายเอาเรื่องของ Smart devices,Robot,  IoT และ AI มาแสดง เห็นสินค้าของเขาแล้วไม่แปลกใจที่จะบอกได้เต็มที่ว่าเขา Hardware Silicon Valley ได้อย่างแท้จริง คนที่นี่เขาบอกผมว่าถ้าต้องการจัดซื้อส่วนประกอบอุปกรณ์ Smartphone จากผู้ผลิตรายต่างๆ 400 ชิ้นในเมืองเซินเจิ้นอาจใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันในการหาเทียบกับเวลา 60 วันในการหาที่ Silicon Valley ในอเมริกา และถ้าเราต้องการผลิต Smartphone เพื่อทำเป็นสินค้าซักยี่ห้อหนึ่งก็จะใช้เวลาเพียง 90 วันเมื่อเทียบกับ 240 วันใน Silicon Valley

รูปที่  1 งาน CITE 2019

อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือคนทำงานรวมถึงคนที่มาเดินดูนิทรรศการส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาว ผมเข้าไปดูงานบางบริษัทรู้สึกเลยได้ว่าเราเองอายุมากกว่าพวกเขามาก เมืองเซินเจิ้นมีความเจริญมากและเมืองที่มี GDP สูงสุดเมืองหนึ่งของจีน โดยมีรายได้หลักมาจากด้านไอที ซึ่งก็มีบริษัทใหญ่ๆที่อยู่ในเมืองนี้มากมายอย่าง Huawei, ZTE, Tencent, DJI หรือ BYD เขามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆในจีนทำให้มีบุคลากรรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายทำให้เมืองเซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็เลยยิ่งทำให้เขาเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ทุกครั้งที่เดินทางไปก็จะให้ตึกใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายและสร้างขึ้นด้วยความรวดเร็ว ที่น่าสนใจเขาเองก็ Industrial park จำนวนมากที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาทิเช่น Shenzhen Hi-Tech Industrial Park (SHIP) ที่มีคนวัยหนุ่มสาวมาทำงาน คนที่นี่บอกผมว่าคนไอทีของเขาทำงานแบบ 996 คือเริ่มงาน 9 โมงเช้า เลิก 9 โมงเย็น และทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน ซึ่งนอกจากเห็นความขยันขันแข็งของคนทำงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือการใส่ใจในเรื่องการศึกษาการส่งเสริมให้บุคลากรเขาได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่อย่างด้าน AI อย่างจริงจัง

รูปที่  2 การดูงานที่บริษัท Royole

รูปที่  3 การดูงานบริษัท UBTech

ทั้งสองทริปนี้ผมมีโอกาสได้ไปดูบริษัทที่เป็น Top 10 Unicorn ของจีนสองบริษัท บริษัทแรกคือ Royole ซึ่งเป็นผู้ผลิตจอพับได้ให้กับบริษัทมือถือต่างๆ และบริษัท UBTech ที่ทำทางด้านหุ่นยนต์และ AI ทั้งสองบริษัทมีนวัตกรรมจำนวนมากที่จดเป็นสิทธิบัตรนับพันรายการ และยังมีพนักงานเป็นหมื่นคน มีการทำ R&D อยู่ในหลายประเทศและมีการขายสินค้าออกไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งมาเพียงแค่สิบปีจะเติบโตได้รวดเร็วขนาดนี้ ส่วนหนึ่งนอกจากการมีนวัตกรรมที่ดีมีคนที่มีความสามารถจำนวน ก็ต้องยอมรับว่าเขาได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐด้วย นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสได้เยี่ยมชม F518 ซึ่งเป็น industrial park ด้าน Creative Design และไอที ซึ่งรัฐบาลเขาได้จัดตั้งขึ้นโดยการแปลงโรงงานเก่าๆให้เป็นที่ตั้งของบริษัท ซึ่งก็สามารถบริษัททางด้าน Industrial Design และไอทีออกไปได้หลายร้อยบริษัท

รูปที่ 4  การดูงาน F518

ทริปหลังนี้ผมยังมีโอกาสแวะไปกวางโจวไปเห็นตลาดค้าส่งไอทีของเขา เขามีร้านค้าจำนวนมากเป็นหลายพันร้านที่นำสินค้าไอทีที่ผลิดในจีนมาขายส่งออกไปต่างประเทศ ผู้ซื้อมาจากหลายประเทศและสามารถที่จะซื้อสินค้าหลาหลายชนิดที่มีนวัตกรรมกรรมใหม่ๆมากมายและมีราคาถูกกลับไปขายที่ประเทศตัวเองได้ เห็นสินค้าที่มาแสดงแล้วตั้งแต่คอมพิวเตอร์ มือถือ IOT หุ่นยนต์ อุปกรณ์ accessory ต่างๆอุปกรณ์ไอทีจำนวนมากแล้ว ไม่แปลกใจว่าทำไมชาติตะวันตกถึงกลัวจีน วันนี้จีนได้กลายเป็นชาติที่เน้นการทำนวัตกรรม ไม่ใช่แหล่งสินค้าก็อปปี้แบบเดิม และหลายๆอย่างที่เขาคิด ไปไกลมากๆจนบางครั้งเราก็งงว่าเขาคิดได้อย่างไร เพราะเราคาดไม่ถึงในนวัตกรรมของเขา

รูปที่ 5 ตลาดค้าส่งไอทีในเมืองกวางโจว

ทุกทริปที่มาจีนเห็นการเปลี่ยนแปลงตลอดและต้องยอมรับกันเลยว่า ความสำเร็จของเขาไม่ได้มาได้เพียงไม่กี่ปีอันสั้น แต่เป็นเพราะเขาพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจึงมาถึงจุดนี้ได้ ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศคือคุณภาพของคนไม่ว่าจะปกครองด้วยระบบอะไรก็ตาม

ดูบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s