91618641_1684893861657947_6150479015678312448_n

ในตอนที่แล้วผมเขียนไว้ว่า โลกยุคหลังโควิด (Post-COVID era) จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ดังนั้นธุรกิจและผู้คนในวันนี้จะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จะมาคิดเพียงว่า รอให้หลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 ก่อน แล้วค่อยว่ากัน จะคิดแค่ว่าวันนี้แค่ประคองทำธุรกิจและการทำงานแบบเดิมเอาตัวให้รอดก่อนคงไม่พอแล้ว หรือจะคิดเพียงว่าวันนี้การพักผ่อนไม่มีงานทำอยู่บ้านก็ดป็นการช่วยชาติแล้วก็อาจไม่ได้แล้ว เพราะถ้าวิกฤตินี้ลากยาวไปเราคงเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เราต้องเริ่มปรับตัวในวันนี้ี โดยถ้ามองในแง่ของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบมาจากด้านเทคโนโลยีจะพอเห็นประเด็นที่สำคัญดังนี้

ออฟฟิศที่ทำงานจะไม่เหมือนเดิม

ในอดีตองค์กรต่างๆจะเน้นการทำงานแบบ Physical office ที่ทำงานมีพื้นที่ใหญ่โต ต้องเช่าตึก เช่าห้องทำงาน ห้องผู้บริหารกว้างขวาง ต้องมีสถานที่ให้ผู้คนมาติดต่อ แต่เมื่อเราเขาสู่ยุคโควิดจะเห็นได้ชัดว่า ที่ทำงานของทุกคนเปลี่ยนไปกลายเป็น Virtual office เราไม่ต้องการที่ทำงานใหญ่โต แต่ทุกคนทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยเฉพาะจากที่บ้าน คนจะเข้ามาติดต่อออฟฟิศก็น้อยลง เราไม่ต้องการห้องประชุมแต่เราสามารถใช้ซอฟต์แวร์ในการประชุมออนไลน์เห็นหน้ากัน เราไม่จำเป็นจะต้องมีการใช้เอกสารมากมายแบบเดิม เราไม่สามารถที่จะส่งกระดาษกันได้ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัล  ซึ่งการทำงานในยุคโควิดจะทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการทำงานในรูปแบบนี้

หลังจากยุคโควิดเราอาจเริ่มเห็นหน่วยงานต่างๆลดขนาดออฟฟิศลง ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากเท่าเดิม ผู้บริหารไม่จำเป็นจะต้องมีห้องทำงานใหญ่โต คนในที่ทำงานสามารถประชุมและติดต่อกับลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ได้โดยง่าย การเดินทางก็จะน้อยลง พนักงานบริษัทก็จะมีเวลาในการทำงานมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเช่าออฟฟิศ การเดินทางของพนักงาน การทำเอกสาร ก็จะเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าระบบซอฟต์แวร์ ระบบคลาวด์ต่างๆทั้งการเก็บข้อมูล เช่าระบบการประชุมออนไลน์ การจะจัดสัมมนาหรือจัดประชุมใหญ่ก็ไม่จำเป็นต้องไปเช่าห้องประชุมหรือโรงแรม แต่ก็สามารถจัดผ่านระบบออนไลน์

คนทำงานจะต้องมีทักษะและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป

ในอดีตคนทำงานจะเน้นเลือกทำงานในหน่วยงานที่มีความมั่นคง และอาจทำงานให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไปตลอดชีวิตของการทำงาน โลกของการทำงานหลังจากยุคโควิดจะกลายเป็นว่า ผู้คนจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ เพื่อนร่วมงานอาจจะอยู่ที่ใดก็ได้ในโลก และหน่วยงานอาจไม่ได้สนใจว่าเขาทำงานในลักษณะใดตราบใดที่ยังสามารถทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ องค์กรต่างๆก็อาจจะจ้างคนเป็นการชั่วคราวขึ้นอยู่กับความต้องการในช่วงนั้น

คนทำงานเองก็สามารถทำงานให้กับหลายองค์กรได้ในช่วงเวลาพร้อมกันตราบใดที่สามารถส่งงานให้กับผู้ว่าจ้างได้ตามเป้าหมาย โดยคนทำงานต้องมีทักษะในการด้านดิจิทัลที่ดี มีความสามารถในการทำงานออนไลน์ สามารถทำงานออนไลน์ร่วมกันกับผู้ร่วมงานได้ มีทักษะการค้นข้อมูล และการสื่อสารออนไลน์ที่ดี ตลอดจนมีความสามารถเฉพาะในบางด้าน แม้แต่การสัมภาษณ์เข้าทำงานในอนาคตก็อาจเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำ Video conference  และไม่แน่ว่าต่อไปลูกจ้างกับนายจ้างบางบริษัทอาจไม่เคยเจอหน้ากันจริงๆเลยตลอดระยะเวลาที่ทำงานร่วมกัน

Screenshot 2020-04-05 15.29.38

(รูปภาพจาก https://allwork.space/)

อาชีพบางอย่างอาจจะหายไป

วิกฤติโควิดเป็นตัวเร่งทำให้เกิด Digital disruption ทำให้ผู้คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ต้องสร้างระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทำให้ธุรกิจหลายอย่างที่ดำเนินอยู่ต้องหยุดชะงักในเวลานี้ ยิ่งสิ่งที่ไม่จำเป็นและสามารถทดแทนด้วยระบบดิจิทัลก็อาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในยุคหลังโควิด ตัวอย่างเช่นธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็จะมีผลทำให้อาชีพบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ลดหายไปด้วยเช่น แผงขายหนังสือพิมพ์ คนส่งหนังสือพิมพ์

ยังมีอีกหลายๆอาชีพที่อาจส่งผลกระทบ เช่นธุรกิจจากการท่องเที่ยวที่คนชะลอการเดินทาง และเมื่อพ้นวิกฤติคนก็อาจจะคุ้นเคยกับการจองตั๋วหรือที่พักเอง อาชีพไกด์ เอเจนท์บางด้านก็อาจจะลดลงไป งานด้านเอกสารก็เช่นกัน งานถ่ายเอกสาร งานพิมพ์เอกสารต่างๆก็จะลดลงไป โดยเฉพาะอาชีพใดก็ตามที่ให้คนต้องมาเจอกันสัมผัสกันก็อาจหายไป ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะรวมถึงอาชีพของคนขายล็อตเตอรี่ไหมถ้าเกิดระบบล็อตเตอรี่ออนไลน์ขึ้นมาเนื่องด้วยผู้คนไม่อยากจับกระดาษ ตลอดจนอาชีพบริการอีกหลายๆอย่างที่อาจสูญหายไป

การเรียนการสัมมนาจะมุ่งสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น

ภาคการศึกษาจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูก Disrupt ไปมากที่สุดจากวิกฤติของโควิด ผู้คนจะคุ้นเคยกับการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนอาจไม่จำเป็นจะต้องพึ่งสถานศึกษาหรือผู้สอนแบบเดิมๆ แต่สามารถจะเรียนกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ตราบใดที่ผู้เรียนมีความรู้จริงๆ การวัดผลก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจะเป็นการสอบออนไลน์ที่อาจต้องเน้นวิธีวัดผลอย่างต่อเนื่องที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้อสอบปรนัยแบบง่ายๆเพียงแค่ครั้งหรือสองครั้ง และเมื่อวิธีการทำงานในอนาคตเปลี่ยนไป องค์กรต่างๆก็อาจไม่คาดหวังในปริญญาบัตรจากผู้สมัครเข้าทำงานในรูปแบบเดิมๆ แต่อาจสนใจที่จะแสวงหาคนทำงานที่มีสามารถจริงเข้ามาทำงานเป็นครั้งคราวโดยคนนั้นอาจเรียนผ่านระบบออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ ที่องค์กรมีความมั่นใจ

แม้แต่การจัดสัมมนาหรือการจัดงานต่างๆที่เคยต้องหาสถานที่ใหญ่โตในการจัด ต้องมีพิธีเปิดปิดก็อาจเปลี่ยนมาสู่การจัดออนไลน์ มีการทำ Webinar แทนและผู้คนสามารถร่วมงานได้หลายพันคน รวมถึงอาจมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง AR/VR เข้ามาช่วยในการสัมมนาและการเรียนการสอนมากขึ้น คนทำงานเองก็สามารถที่จะเพิ่มทักษะตัวเองได้ตลอดเวลาผ่านการเรียนระบบออนไลน์

ระบบการชำระเงินออนไลน์จะกลายเป็น New normal

ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามผลักดันให้มีการใช้ระบบการชำระเงินออนไลน์ในรูปแบบทั้ง PromtPay, Mobile banking, Internet banking หรือ Mobile payment แต่การใช้งานก็ยังอยู่ในวงจำกัดกันแค่คนบางกลุ่มหรือคนรุ่นใหม่ แต่การเกิดวิกฤติโควิดครั้งนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไม่อยากที่จะสัมผัสเงินสด ยิ่งมีการให้คนจำนวนมากมาลงทะเบียบรับเงินเยียวยาและจ่ายเงินผ่านระบบ PromptPay ของภาครัฐ ก็ยิ่งจะทำให้การทำธุรกรรมชำระเงินออนไลน์กลายเป็น New normalในสังคมไทย

ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านดิจิทัลจะเติบโตขึ้น

วิกฤติโควิดทำให้ผู้คนไม่อยากออกจากบ้าน ผู้คนหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้นทั้งในด้าน Food delivery, Online shopping หรือ Content streaming ซึ่งผู้คนก็จะคุ้นเคยกับการใช้งานบริการต่างๆเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลทำให้คนที่ประกอบอาชีพทางด้านนี้มีโอกาสที่ดีขึ้น รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้องเช่น พนักงานส่งสินค้า คนทำระบบไอที คนทำ Content

นอกจากนี้จะมีความต้องการใช้เทคโนโลยีไอทีมากขึ้น ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ ระบบเครือข่าย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่าง 5G ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจทางด้านนี้มีการเจริญเติบโตขึ้นในอนาคต

การใช้เทคโนโลยีเอไอจะมีความแพร่หลายมากขึ้น

วิกฤติโควิดทำให้ผู้คนในอนาคตตระหนักเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาด และ Social distancing ซึ่งจะทำให้มีการใช้ระบบเอไอเข้ามามากขึ้น ทั้งในการทำ Big data เพื่อคาดการณ์การแพร่ระบาด การติดตามการเดินทางของผู้คน การใช้ระบบ Facial recognition เพื่อลดการสัมผัส ทั้งในเรื่องของการเข้าสถานที่ต่างๆ หรือเพื่อการทำธุรกรรมต่างๆ ตลอดจนใช้ในการใช้เอไอเพื่อตัดสินใจการทำงานหลายด้านๆเช่น ด้าน HR หรือการมาใช้ในงาน Workflow ต่างๆเช่นระบบ RPA (Robot Process Automation) ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบออฟฟิศการทำงานไม่เหมือนเดิม จึงทำให้ต้องมีระบบออโตเมชั่นต่างๆมาช่วยในการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหารออฟฟิศในรูปแบบเดิมๆก็จะถูกย้ายโอนสู่การลงทุนเทคโนโลยีมากขึ้น

ผู้คนจะยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเราจะเห็นว่าในประเทศจีนมีระบบการติดตามข้อมูลการเดินทางและข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรจำนวนมากได้อย่างถูกต้องทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี แม้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจะพยายามเน้นการใช้บังคับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล แต่ด้วยวิกฤติของโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคตก็อาจจำเป็นที่จะต้องได้ข้อมูลของประชาชนเข้ามาในแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนส่วนใหญ่ จึงอาจทำให้แนวคิดเดิมๆในด้านนี้ต้องเปลี่ยนไป

จากที่กล่าวมาทังหมดนี้จะเห็นได้ว่า วันนี้แล้วถึงเวลาที่ทุกธุรกิจและผู้คนจะต้องเริืยนรู้และปรับตัวเข้าสู่ยุคโควิดและต้องเข้าใจว่าเมื่อหลังจากนี้ไปโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

  1. สุดท้ายเราจะเห็นคำว่าโลก ‘ยุคก่อนโควิด’ และ’ยุคหลังโควิด’
  2. โลกยุคหลังโควิด กับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

 

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s