ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 เรามักจะพูดกันเสมอว่ามหาวิทยาลัยจะถูก Disrupt จากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถ้าเราแปลคำว่า Disruption ง่ายๅก็อาจหมายถึงการหยุดชะงักหรือการถูกทำลายออกไป นอกจากนั้นก็มีผลมาจากการที่จำนวนนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อมีจำนวนลดลง ประกอบกับสถาบันการศึกษามีจำนวนมากเกินไปและหลายหลักสูตรไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
ในนปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ หลายๆมหาวิทยาลัยได้เห็นตัวเลขของการรับนักศึกษาตามระบบ TCAS ทั้งสองรอบแล้ว ก็เริ่มมีความเป็นห่วงต่อจำนวนตัวเลขนักศึกษาที่สมัครและตอบรับเข้ามาที่ชัดเจนว่ามีจำนวนลดลงอย่างมาก ซึ่งมีผลกระทบในหลายๆด้าน อาทิเช่น
- บางมหาวิทยาลัยหลายคณะหรือสาขาวิชามีผู้สมัครจำนวนน้อยกว่าปีก่อนๆมากจนไม่มั่นใจว่าจะมีจำนวนที่เหมาะสมกับการสอนไหม
- คณะหลายคณะในมหาวิทยาลัยบางแห่งมีรายได้หลักมาจากเงินรายได้ และไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งก็อาจมีผลต่อเงินเดือนและค่าใช้จ่ายของบุคลากร
มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการประชุมกันเพื่อหาแนวทางอยู่รอดในระยะยาว มีการปรับหลักสูตร การเตรียมความพร้อมสู่ระบบออนไลน์ การสอนสำหรับผู้เรียนในวัยทำงาน แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงหรือ Digital Transformation ในช่วงก่อน COVID-19 ยังไม่มีพลังพอ การขับเคลื่อนก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะบุคลากรจำนวนหนึ่งยังอยู่ใน Comfort Zone และยังคิดว่าอีกนานหลายปีกว่า Digital disruption จะมาถึง
ทันทีที่มหาวิทยาลัยต้องปิดเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 และหลายแห่งเริ่มเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงการทดแทนการสอนในรูปแบบเดิมๆเพียงชั่วคราว แต่จริงๆแล้วถ้าคิดกันว่าวิกฤตินี้กำลังทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล และ COVID กำลังกลายเป็นตัวเร่งทำให้ทุกองค์กรต้องทำ Digital Transformation ภาคบังคับและกำลังทำให้โลกหลังยุคโควิด ซึ่งอาจเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปหลายๆอย่างอาทิเช่น
- ออฟฟิศที่ทำงานจะไม่เหมือนเดิม
- คนทำงานจะต้องมีทักษะและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป
- อาชีพบางอย่างอาจจะหายไป
- การเรียนการสัมมนาจะมุ่งสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น
- ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านดิจิทัลจะเติบโตขึ้น
- การใช้เทคโนโลยีเอไอจะแพร่หลายมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนี้จะยิ่งมีผลกระทบอย่างมากถ้าวิกฤติ COVID-19 ลากยาวไปอีกหลายเดือน ยิ่งถ้าเรายังไม่สามารถหาวัคซีนมารักษาและเรื่อง Social distancing ยังมีความสำคัญ คนยังต้องใช้ชีวิตออนไลน์ การเรียนการสอนยังอยู่ในรูปออนไลน์ ทุกคนก็จะมีคามคุ้นเคยกับชีวิตออนไลน์และจะทำให้สุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อน COVID-19 กำลังเป็นตัวเร่งทำให้มหาวิทยาลัยถูก Disrupt เและเราอาจเห็นหลายๆมหาวิทยาลัยหรือหลายสาขาจะต้องปิดตัวเร็วๆนี้
หลังยุค COVID ออฟฟิศและรูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนเดิม ความต้องการคนในการทำงานจะมีน้อยลง คนทำงานจะต้องมีทักษะเชิงดิจิทัล มีความสามารถเฉพาะบางด้าน อาชีพหลายอาชีพจะเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญสุดคือสำหรับหลายๆบริษัทใบปริญญาของคนทำงานจะเริ่มไม่มีความหมาย แต่ต้องการคนทำงานได้จริง สามารถเข้าใจรูปแบบการทำงานแบบใหม่ จะเรียนจากที่ไหนก็ได้ และต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาซึ่งอาจเป็นการเรียนก็อาจต้องเรียนออนไลน์
ผู้เรียนเองที่ต้องมาเรียนออนไลน์ในมหาวิทยาลัยก็จะเริ่มมีคำถามว่า ทำไมต้องมาเรียนออนไลน์กับมหาวิทยาลัยนี้ ในเมื่อโลกออนไลน์สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ หลักสูตรไหนก็ได้ หรือเรียนกับผู้สอนคนไหนก็ได้ ในเมื่อสอนออนไลน์เหมือนกันลดการเดินทาง ผู้เรียนย่อมเลือกเรียนในสถาบันซึ่งสอนออนไลน์ได้ดีที่สุด และเผลอๆอาจเรียนหลายๆหลักสูตรพร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องจบจากมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ยิ่งผู้ประกอบการมีความต้องการคนทำงานที่มีทักษะจริงมีความรู้จริง ผู้เรียนก็ยิ่งต้องขวนขวายหาความรู้อย่างจริงจัง อาจต้องการประกาศนียบัตร (Certification) จากสถาบันขั้นนำมากกว่าการเรียนเพื่อเอาเกรดแบบเดิมๆ
สาขาที่จะอยู่รอดได้ก็คือสาขาที่ยังมีความต้องการสูงหรือสาขาที่สามารถรองรับการทำงานในอาชีพใหม่ๆหลังยุค COVID ได้ รวมถึงสาขาที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนออนไลน์ได้เนื่องจากมีวิชาปฎิบัติการ เช่นสาขาทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์เกษตรศาสตร์หรือด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องการลงมือปฎิบัติจริง
ส่วนสาขาที่สามารถสอนออนไลน์ได้จะมีการแข่งขันสูง มหาวิทยาลัยจะแข่งขันแบบไร้พรมแดน ต้องสู้กับหลักสูตรออนไลน์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาทั่วโลก มหาวิทยาลัยใดมีรูปแบบการสอนออนไลน์ได้ดีกว่า มีชื่อเสียงที่ดีกว่า มีผู้สอนที่มีความโดดเด่นย่อมจะได้เปรียบ
รายได้ของมหาวิทยาลัยก็จะน้อยลงเนื่องจากหลายหลักสูตรจะเป็นการสอนออนไลน์ ไม่สามารถจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่าเดิมได้ รูปแบบการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยจะไม่เป็นเช่นเดิม บุคลากรสายสนับสนุนจำนวนมากก็อาจมีภาระงานที่น้อยลงและต้องการทักษะดิจิทัลมากขึ้น อาจารย์ที่อยู่ในสาขาที่ต้องสอนออนไลน์แล้วไม่สามารถพัฒนารูปแบบการสอนหรือเพิ่มความรู้ใหม่ๆได้ก็อาจประสบปัญหาในการสอน
การเข้าสู่ยุค COVID ทำให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ในช่วงนี้มหาวิทยาลัยอาจต้องปรับตัวเองเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และอาจต้องพัฒนาการเรียนการสอนแบบบริษัท Start-up ด้วยรูปแบบการทำหลักสูตรหรือการสอนแบบ MVP (minimum viable product) กล่าวคือไม่จำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีหรือเนื้อหาหลักสูตรทุกอย่างที่สมบูรณ์ตั้งแต่ตอนเริ่มการสอนเลย แต่ปรับตัวไปเรื่อยๆทั้งเนื้อหาเทคโนโลยีที่ใช้ และรูปแบบการสอน อะไรที่ผิดพลาดก็ปรับเปลี่ยน อะไรที่ดีก็ต้องทำต่อ ให้หลักการ Fail fast learn fast กล่าวคือหากผิดพลาดก็ให้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว
ในระยะยาวมหาวิทยาลัยต้องคิดที่จะปรับเปลี่ยน ทำองค์กรให้เล็กลงให้มีความคล่องตัว ปรับกฎระเบียบ ต้องคิดทุกอย่างโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก่อน (Digital First) เว้นแต่ไม่สามารถใช้ดิจิทัลได้ค่อยกลับมาสู่รูปแบบเดิม
วันนี้ไม่ใช่วันแห่งการรอคอยว่าเมื่อไรรูปแบบเดิมจะกลับมา เพราะไม่น่าจะมีอีกแล้ว วันนี้คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ องค์กรต่างๆต้องคิดและวางแผนโดยทันที เราคงรอไม่ได้จึงต้องเริ่มหา Product และ Services ใหม่ๆเพื่อรองรับยุค Post-COVID ที่ได่เริ่มแล้ว
ผมเชื่อครับสหลายๆมหาวิทยาลัยคงปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายก็จะเจอปัญหาเรื่องกระแสเงินสดจากการที่นักศึกษาน้อยลง มหาวิทยาลัยรัฐเองหลายแห่งก็จะถูกตัดงบประมาณไปใช้ในเรื่องที่จำเป็นมากกว่า งบประมาณที่มีจำกัดในอนาคตคงต้องใช้เพื่อให้เป็นการสร้างบุคลากรของชาติที่ตรงกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป สุดท้ายคงจะไม่แปลกใจละครับว่าวิกฤติ COVID-19 คงจะทำให้มหาวิทยาลัยหรือคณะหลายแห่งต้องปิดตัวเองไปในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยของรัฐ
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute