ในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 มีการกล่าวกันว่ามหาอำนาจโลกเปลี่ยนจากการแข่งขันไปอวกาศ (Space Race) เป็นการพัฒนา AI แข่งกัน ประเทศใดที่ทำเรื่องของ AI ได้ดีกว่าประเทศนั้นมีโอกาสสร้างความได้เปรียบในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะสามารถ เพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศดีกว่า โดยอาจจะเห็นหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ในบางด้าน และประเทศใดที่ไม่สามารถแข่งขันหรือพัฒนา AI ได้ก็จะล้าหลังและไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรม 4.0 ได้

คำถามที่น่าสนใจคือว่า ในปัจจุบันชาติใดเป็นผู้ที่ได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 มีผลการศึกษาเรื่อง Who is winning the AI race: China, the EU or the United States? ของ Center for Data Innovation ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบศักยภาพการพัฒนา AI ของประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปใน 6 ด้านคือ ด้านทักษะบุคลากร ด้านงานวิจัย ด้านการพัฒนา ด้านการประยุกต์ใช้งาน ด้านข้อมูล และด้านฮาร์ดแวร์

ซึ่งภาพรวมจากการวิจัยพบว่า สหรัฐอเมริกายังนำจีนและสหภาพยุโรปอยู่ใน 4 ด้านคือ ด้านผู้เชี่ยวชาญ ด้านงานวิจัย ด้านการพัฒนา และด้านฮาร์ดแวร์ แต่จีนเองก็นำในด้านข้อมูล และด้านการประยุกต์ใช้งาน โดยภาพรวมจากคะแนนเต็ม 100 สหรัฐอเมริกามีคะแนนนำที่ 44.2 คะแนน จีนได้  32.3 คะแนน และสหภาพยุโรปได้ 23.5 คะแนน ซึ่งผู้นำในแต่ละด้านสรุปได้ดังตารางที่ 1 และผลการศึกษาในแต่ละด้านสามารถสรุปได้ ดังนี้

ตารางที่ 1 ผลการจัดอันดับ AI ในด้านต่างๆ

ด้านจีนสหภาพยุโรปสหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญ321
งานวิจัย321
การพัฒนา321
การประยุกต์ใช้งาน123
ข้อมูล132
ฮาร์ดแวร์231
ผลรวม231

 1 ด้านผู้เชี่ยวชาญ

ทีมงานศึกษาได้วัดจากจำนวนนักวิจัยทางด้าน AI โดยพบว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวนมากถึง 28,536 คน ขณะที่สหภาพยุโรปมีกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ รวม 43,064 คน โดยมีมากสุดในประเทศเยอรมัน 9,441 คน และสหราชอาณาจักร 7,998 คน ส่วนจีนมีอยู่ 18,232 คน อย่างไรก็ตามข้อมูลการศึกษาระบุว่า แม้สหภาพยุโรปจะมีผู้มีทักษะด้าน AI มากสุด แต่ปรากฏว่าจำนวนพนักงานทางด้านนี้ในบริษัทใหญ่ๆ กลับมีน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีเงินทุนสนับสนุนน้อยกว่า และบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก็ยังสามารถที่จะดึงดูดคนเก่งทางด้าน AI ไปทำงานได้ดีกว่าที่อื่นๆ

แต่ทั้งสามกลุ่มประเทศต่างก็มีนโยบายในการที่จะดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI เข้ามาทำงาน และศึกษาต่อระดับปริญญาโท/เอก โดยการให้ทุนการศึกษา และมีงบประมาณการตั้งหน่วยงานวิจัยทางด้าน AI จำนวนมาก เช่น ประเทศจีนมีแผนที่จะตั้งศูนย์วิจัย AI ถึง 50 แห่ง และมีการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ทางด้านนี้ รวมทั้งมีแผน 5 ปี ที่เน้นในการสร้างบุคลากรทางด้าน AI 

2 ด้านงานวิจัย

การวัดขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านงานวิจัย เป็นการเปรียบเทียบจากจำนวนบทความด้าน AI ที่ตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการและวารสารต่างๆ รวมถึงจำนวนแหล่งเงินทุนวิจัย ซึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนบทความด้าน AI เฉพาะปี 2017 จีนมีบทความเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งถึง 15,199 บทความ ตามด้วยสหภาพยุโรป 14,776 บทความ และสหรัฐอเมริกา 10,287 บทความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อดูจำนวนบทความย้อนหลังตั้งแต่ปี 1998 สหภาพยุโรปมีมากสุดถึง 164,000 บทความ ตามด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 135,000 บทความ และจีน 107,000 บทความ

ในด้านทุนวิจัยจีนมีแผนงานที่จะสนับสนุนเงินปีละ 950 ล้านดอลลาร์ ถึงปี 2025 ส่วนสหภาพยุโรปตั้งเป้าที่จะสนับสนุนงานวิจัยด้าน AI ช่วงปี 2018-2020 จำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์ และกำลังทำแผนนำเสนอขอเงินสนับสนุนอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2021-2027 ส่วนสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนงบประมาณวิจัยด้าน AI ตั้งแต่ปี 2015 จำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดเมื่อกันยายน ปี 2018 ก็ประกาศเพิ่มงบประมาณอีก 2,000 ล้านดอลลาร์สำหรับอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้การสำรวจการลงทุนงบวิจัยและพัฒนาของบริษัทขนาดใหญ่ด้านไอทีในแต่ละประเทศที่ติดอันดับ 2,500 บริษัทแรกของโลกพบว่า สหรัฐมีการลงทุนงานวิจัยสูงสุดที่ 77.4 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยจีน 11.8 พันล้านเหรียญ และสหภาพยุโรป 10.5 พันล้านดอลลาร์ 

ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพรวมในด้านนี้สหรัฐอเมริกามีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยสหภาพยุโรปและจีน แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพด้านงานวิจัยของจีนกำลังเร่งขึ้นมาและในอนาคตน่าจะสามารถที่แซงสหภาพยุโรปได้

3. ด้านการพัฒนา

การศึกษาทางด้านนี้คือ การวิเคราะห์ในมุมของจำนวนบริษัททางด้าน AI จำนวนสิทธิบัตร จำนวนบริษัท Startup ด้าน AI ตลอดจนเงินลงทุนของ Venture Capital (VC) ซึ่งพบว่า สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำทางด้านนี้ โดยมีบริษัทด้าน AI ถึง 1,727 บริษัท มีจำนวน Startup 1,393 บริษัท เงินลงทุนจาก VC และหุ้นนอกตลาด (Private Equity) จำนวน 16.9 พันล้านดอลลาร์ และมีสิทธิบัตรที่มีการอ้างอิงด้าน AI จำนวน 28,031 ฉบับ ส่วนสหภาพยุโรปตามมาเป็นอันดับสอง โดยมีบริษัทด้าน AI จำนวน 762 บริษัท มีจำนวน Startup 726 บริษัท เงินลงทุนจาก VC และหุ้นนอกตลาดจำนวน 2.8 พันล้านดอลลาร์ และมีสิทธิบัตรที่มีการอ้างอิงด้าน AI จำนวน 2,985 ฉบับ  

ส่วนจีนแม้จะอยู่อันดับสุดท้ายโดยมีบริษัทด้าน AI จำนวน 224 บริษัท มีจำนวน Startup 383 บริษัท และมีสิทธิบัตรที่มีการอ้างอิงด้าน AI จำนวนเพียง 691 ฉบับ แต่เงินลงทุนจาก VC และหุ้นนอกตลาด (Private Equity) มีจำนวนถึง 13.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ในอนาคตมีโอกาสที่จะแซงสหภาพยุโรปที่มีเงินสนับสนุน Startup น้อยกว่า

4. ด้านการประยุกต์ใช้งาน

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 เทคโนโลยี AI จะสร้าง GDP ของโลกเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญและต่างนำ AI มาประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ เพื่อที่จะสร้างศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า จีนนำหน้าสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ในด้านการนำมาประยุกต์ใช้ โดยข้อมูลในปี 2018 พบว่า บริษัทในจีน 32% ได้ประยุกต์ใช้ AI แล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกามี 22% และ สหภาพยุโรปมีเพียง 18% นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทในจีนถึง 53% ที่กำลังมีการทดลองใช้ AI ขณะที่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีเพียง 29% และ 26% ตามลำดับ

ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าประชากรจีนเห็นผลกระทบของเทคโนโลยี AI มากถึง 76% ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากร 58% ที่เห็นผลกระทบของ AI ส่วนในสหภาพยุโรปเมื่อพิจารณาในเรื่องนี้บางประเทศพบว่า ประชากรเห็นความสำคัญ ดังนี้ ฝรั่งเศส 52% เยอรมัน 57% สหราชอาณาจักร 51% และสเปน 55% ทำให้จีนเป็นผู้นำทางด้านการประยุกต์ใช้งาน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

5. ด้านข้อมูล

เทคโนโลยี AI จำเป็นจะต้องมีข้อมูลจำนวนมากมาสร้างโมเดลในการพยากรณ์ ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้โมเดลมีความแม่นยำมากขึ้น แต่อาจยังไม่มีวิธีการวัดปริมาณข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ทางด้าน AI โดยตรง ดังนั้นการศึกษาของทีมงานนี้จึงใช้ข้อมูลในปี 2018 จากปริมาณการใช้ Broadband การชำระเงินผ่านมือถือ การสร้างข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ข้อมูลใหม่อื่นๆ ที่สร้างขึ้น ข้อมูลด้านการแพทย์ ข้อมูลพันธุกรรม และข้อมูลแผนที่ที่มีความละเอียดสูง โดยสามารถสรุปปริมาณข้อมูลของแต่ละประเทศได้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ปริมาณข้อมูลของประเทศต่างๆ

ประเภทจีนสหภาพยุโรปสหรัฐอเมริกา
จำนวนการใช้ Fixed Broadband (ล้าน)394.2175.7109.8
จำนวนการชำระเงินผ่านมือถือ (ล้าน)525.144.755.0
จำนวนข้อมูลใหม่ด้าน IoT (TB)1525369
ข้อมูลใหม่อื่นๆ (TB)684583966
ข้อมูลด้านการแพทย์ (อันดับ)321
ข้อมูลพันธุกรรม (อันดับ)231
ข้อมูลแผนที่ที่มีความละเอียดสูง (อันดับ)321

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปริมาณข้อมูลโดยรวมแล้ว จีนมีมากกว่าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงกฎระเบียบในการใช้ข้อมูลจะพบว่า สหภาพยุโรปมีกฎระเบียบ GDPR ที่เข้มงวดอย่างมาก การนำข้อมูลบุคคลต่างๆ มาใช้งานจึงเป็นอุปสรรค ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายเฉพาะในบางด้าน เช่น ทางการแพทย์ หรือกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูล ส่วนจีนไม่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้มากนัก ทำให้บริษัทต่างๆ ในจีนสามารถเก็บและใช้ข้อมูลได้ง่ายกว่า

 6. ด้านฮาร์ดแวร์

เทคโนโลยี AI ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ ซึ่งมีการพัฒนาระบบประมวลกราฟิก (GPU) ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อสร้างโมเดลด้าน AI หรือมีการพัฒนา AI Chip เพื่อใช้ประมวลผลเฉพาะด้าน เช่น การทำ Face Recognition หรือการใช้ในโทรศัพท์มือถือ และก็มีการพัฒนา Supercomputer ในการประมวลผลขนาดใหญ่ ซึ่งจากการศึกษาของทีมงานนี้พบว่า สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำทางด้านฮาร์ดแวร์สำหรับ AI โดยมีบริษัทชั้นนำที่ทำทางด้าน Semiconductor ที่ติดอันดับ Top 15 ของโลกจำนวนถึง 6 บริษัท และมีบริษัททำ AI Chip 55 บริษัท และมีจำนวน Supercomputer ที่ติดอันดับ Top 500 ของโลกจำนวน 92 เครื่อง ส่วนจีนตามมาเป็นอันดับสอง มีบริษัท Semiconductor เพียงบริษัทเดียว แต่มีบริษัทที่ทำ AI Chip 26 บริษัท และมีจำนวน Supercomputer มากกว่าประเทศอื่นคือ มีถึง 219 เครื่อง ส่วนสหภาพยุโรปมีบริษัท Semiconductor สองแห่ง มีบริษัทที่ทำ AI Chip 12 บริษัท และมีจำนวน Supercomputer 116 เครื่อง   

จากผลการศึกษาพบว่าสหรัฐอเมริกายังแข่งขันกับจีนอยู่ในเรื่องของการพัฒนา  Supercomputer โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลที่เร็วที่สุดในโลกสองอันดับแรกคือ Summit และ Sierra ก็อยู่ที่กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาและมีจำนวน Supercomputer ที่ติด Top 10 ถึง 6 แห่งที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และอุปกรณ์ Semiconductor ที่อยู่ในเครื่อง Supercomputer ทั่วโลก 98% มาจากบริษัท Nvidia และ Intel แต่ชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจีนก็เริ่มมีการพัฒนา Supercomputer ได้ดีขึ้น โดยในอดีตเมื่อปี 2010 สหรัฐอเมริกาเคยมีจำนวน Supercomputer ติด Top 500 ถึง 282 เครื่อง ก่อนจะถูกจีนแซงหน้าในปัจจุบัน  

จากผลการศึกษาโดยรวมแม้สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำทางด้าน AI แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลจีนที่มุ่งเน้นในด้านนี้ ประกอบกับจำนวนงบประมาณมหาศาล พร้อมกับเริ่มมีการใช้งานแล้วจำนวนมาก ทำให้จีนดูน่ากลัวและอาจสามารถแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นอันดับหนึ่งในอนาคต

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s