ทำไมทำโครงการ Big Data หรือมีข้อมูลต่างๆแล้วไม่มีใครใช้ เป็นปัญหาปกติที่หลายๆองค์กรมักจะเจอ เช่นทำ Dashboard เสร็จมีข้อมูลต่างๆมากมาย แต่ไม่มีใครใส่ใจ ผู้บริหารเองก็ไม่สนใจจะเอามาใช้ในการตัดสินใจ
ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เรามักจะตัดสินใจจากประสบการณ์ จากความเชื่อมั่นของคนทำงาน เราไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ผมพบว่าคนที่ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลส่วนใหญ่เพราะถูกฝึกมาตั้งแต่เล็ก ให้ดูตัวเลข เห็นข้อมูลต่างๆ เชื่อมั่นในสถิติเข้าใจกราฟข้อมูลต่างๆ มากกว่าที่จะแค่ใช้ความเชื่อ ความสัมพันธ์ส่วนตัว ประสบการณ์มาตัดสินใจ องค์กรที่จะก้าวไปสู่การเป็น Data-driven organisation จำเป็นต้องสร้างทักษะให้บุคลากรทุกระดับมีทักษะในด้านข้อมูลเสียก่อน
มันมีความแตกต่างระหว่าง Data Informed organisation และ Data Driven organisation องค์กรที่เป็น data inform ก็จะให้ทีมงานเตรียมตัวเลข Dashboard มาให้กับผู้บริหาร มีการกำหนด KPI ต่างๆที่เป็นตัวเลขในการชี้วัด ทุกเดือนทุกไตรมาส ก็จะมีการนำตัวเลขเหล่านั้นมารายงาน แต่องค์กรที่เป็น Data driven จะมีการใช้ข้อมูลก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง มีการใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลมากำหนดทิศทางและอนาคตขององค์กรจากข้อมูล อาจตัดสินใจทำเรื่องใหม่ๆ อาจปรับเปลี่ยนนโยบายจากการพยากรณ์ที่ได้จากข้อมูล
การจะก้าวสู่ Data driven organisation ได้ เราจะต้องมีความเชื่อในเรื่องการใช้ข้อมูล ต้องเชื่อมั่นในสถิติและการพยากรณ์อนาคตโดยข้อมูล ตามหลักของวิทยาศาสตร์ข้อมูล วันก่อนผมได้ดูหนัง Moneyball ที่นำแสดงโดย Brad Pitt ที่สร้างจากเรื่องจริงและรับบทเป็นผู้จัดการทีมเบสบอล Oakland Athletics ที่กำลังประสบปัญหามีนักกีฬาเด่นๆย้ายออกไปจากทีม และต้องเตรียมสำหรับฤดูกาลใหม่ในปี 2002 ด้วยงบประมาณที่จำกัด พระเอกไปเจอกับ Peter Brand เด็กหนุ่มอายุเพียง 25 ปีที่จบสาขาเศรษฐศาสตร์จาก Yale ไม่ใช่นักเบสบอล ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเบสบอลในสนาม แต่เขาใช้หลักสถิติมาวิเคราะห์ข้อมูลนักเบสบอลและเลือกที่จะแนะนำให้ พระเอกไปเลือกซื้อนักเบสบอลที่ไม่มีขื่อเสียงนัก โดยพยากรณ์ว่าการรวบรวมคนเหล่านี้มาจะสามารถสร้างทีมที่เก่งได้ จากการนำความเก่งเฉพาะด้านของแต่ละคนที่คำนวณจากสถิติมาใช้งาน

เพื่อนร่วมงานของพระเอกหลายๆคนไม่ยอมเชื่อเรื่องข้อมูลและต่อต้านความคิดนี้ เพราะเชื่อในประสบการณ์การทำทีมเบสบอลมากกว่าสถิติหรือตัวเลขต่างๆ ทำให้พระเอกต้องปลดคนหลายๆคนออกจากทีมไป รวมถึงนักเบสบอลเก่งๆบางคน ช่วงแรกๆทีมยังไม้ประสบความสำเร็จมากนัก ซึ่งทาง Peter Brand พยายามอธิบายว่ามีตัวอย่างข้อมูลน้อยไป แต่สุดท้ายเขาก็ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้สถิติข้อมูลเขานี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องและทำให้ Oakland Athletics สร้างสถิติใหม่ชนะ 20 นัดติดต่อกัน แม้ทีมเขาจะไม่ได้แชมป์ แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นเรื่องของการใช้ข้อมูล ซึ่งหลังจากนั้นทีมต่างๆก็ต้องมาเลียนแบบใช้วิธีการเดียวกันในปัจจุบัน โดยใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อการกีฬา
ผมอยากแนะนำให้ เราดูหนังเรื่องนี้กันและให้คนในองค์กรดู การจะผลักดันให้เกิด Data driven organisation ได้ ที่สำคัญสุดคือการสร้างวัฒนธรรมในองค์กร และต้อง Believe in data
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute