ตัวอย่างการใช้ Cloud Computing จริงๆ

วันนี้ผมได้รับเชิญจากงาน Thailand Online Expo เพื่อไปบรรยายเรื่อง Cloud Computing ในหัวข้อเรื่อง “Cloud เทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้แข่งขันได้จริงหรือ?” ซึ่งก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมมาบรรยายให้กับกลุ่มผู้ใช้ไอทีในเรื่อง  Cloud Computing ซึ่งผมมีโอกาสบรรยายให้หลายๆครั้งกับกลุ่มของ  SME ที่อาจโดย สสว. SIPA และ  Software Park   สำหรับ Slide  บรรยายของผมสามารถดูได้จาก Slideshare ที่ => การประยุกต์ใช้  Cloud Computing สำหรับองค์กร

หลายๆคนชอบมาถามผมว่า Cloud Computing มันใช้ได้จริงหรอ มันคุ้มหรอ มันไม่เสี่ยงหรอ สารพัดคำถามที่เจอด้วยความไม่แน่ใจ ผมก็มักจะตอบกลับไปว่าคุณก็ใช้อยู่ทุกวัน ถ้าคุณใช้ Facebook, Gmail, Dropbox หรือ Google Calendar  พวกนั้นก็คือแอปพลิเคชั่นบน  Cloud  ที่ทำให้คุณสามารถเข้าถึงข้อมูล ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ เพียงแต่  Public Cloud ที่คุณใช้อยู่เป็น Free Cloud  ที่คุณใช้แบบเริ่มต้น และสิ่งที่ผู้ใช้คิดคล้ายๆกันแล้วทำให้เลือกใช้ก็คือ Application  เหล่านี้ทำให้ข้อมูลตามคุณไปไม่ได้ยึดติดอยู่กับอุปกรณ์ และระบบมีความเสถียร เพียงแต่ว่า Free Cloud  เหล่านี้อาจมีข้อจำกัดในการใช้งานเช่น Dropbox อาจให้พื้นที่คุณเพียง  2-5 Gb แต่ถ้าคุณต้องการพื้นที่มากกว่านั้นคุณก็ต้องจ่ายตามการใช้งาน

ผมก็เป็นผู้ใช้  Cloud Computing  ทั้งสามแบบครับ คือทั้ง IaaS, PaaS และ SaaS มีทั้งส่วนที่เป็น Free Cloud   และ  Commercial Cloud และมีการนำมาใช้ใน IMC Institute นับตั้งแต่่วันแรกที่เราเริ่มทำงาน โดยเรามีการนำ Cloud Computing  มาใช้งานหลายๆส่วนดังนี้

การทำเว็บไซต์

เมื่อต้องทำเว็บไซต์ขององค์กร (www.imcinstitute.com) เราก็มีคำถามว่าเราจะทำเองหรือ Outsource แต่เนื่องจากเราต้องการที่จะอัพเดทเว็บไซต์บ่อยๆเราจึงเลือกที่จะทำเองโดยใช้ Joomla แต่ปัญหาก็คือว่าเราจะหาเครื่อง  Server จากไหน จะติดตั้งเองหรือไม่ สุดท้ายเรามาคิดกันว่าน่าที่จะใช้บริการ Web Hosting ที่เป็น Cloud ที่ให้บริการแบบ PaaS เราก็เลยเลือกใช้  Hostmonster  ที่มีเว็บไซต์โอสต์อยู่เป็นล้านไซต์ และก็ใช้ Cloud Infrastructure ที่มีความเสถียร และสามารถจะเลือก install โมดูลต่างๆได้รวดเร็ว แต่บางครั้งเราอาจจะยังแยกยากระหว่าง  Web Hosting  กับ Cloud Infrastructure ทำให้หลายๆคนเข้าใจไปว่า Web Hosting ทุกแห่งคือ  Cloud Service

Image

ระบบอีเมล์

ในแง่ของอีเมล์ค่อนข้างจะตัดสินใจง่าย เพราะยังไงเสียระบบอีเมล์ในปัจจุบันก็ต้องใช้ Cloud SaaS ซึ่งทางเราเลือกใช้บริการ  Google Apps for Business ที่มีทั้งระบบเมล์ Calendar การทำเอกสารร่วมกันผ่าน Google Docs ทำให้สะดวกต่อการทำงานแบบร่วมกัน และสามารถเข้าถึงระบบได้ตลอดเวลา จากทุกที่ และทุกอุปกรณ์ โดยมีค่าใช้จ่ายตามจำนวนผู้ใช้งาน และองค์กรก็ไม่ต้องเสียเวลามาบริหารระบบไอทีเอง

Image

ระบบบริหารงานลูกค้า

เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนา Application ระบบ  CRM  ของลูกค้า โดยเฉพาะระบบบริหารงานการฝึกอบรม ในตอนแรกก็ลังเลว่าจะใช้  Salesforce ที่เป็น  SaaS Cloud  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ  $25/ผู้ใช้/เดือน  หรือไม่ แต่เมื่อมาดูระบบ CRM ของ Salesforce แล้วคิดว่าเหมาะกับงานขายทั่วไปมากกว่า เราจึงเลือกใช้ Force.com ซึ่งเป็น PaaS Cloud  ที่เป็น Salesforce Engine มาพัฒนาโปรแกรมเอง โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนใก้ลเคียง แต่เราสามารถที่จะปรับปรุง  Application  ขององค์กรได้ ซึ่งเราใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ในการพัฒนาระบบ CRM ใหม่ขึ้นมาเนื่องจาก Force.com มีโมดูลต่างๆที่ดีอยู่แล้ว ทำให้เราได้  Application ที่สามารถบริหารการฝึกอบรมได้อย่างรวดเร็ว โดยเรามีฐานข้อมูลของลูกค้าหลายหมื่นราย

Image

การแชร์ไฟล์ภายใน

องค์กรจำเป็นต้องมีแชร์  storage ที่สามารถจะ  sync ได้ทุกอุปกรณ์ ในที่นี้องค์กรเลือกที่จะใช้  Dropbox  ที่เป็น SaaS Cloud ในการแชร์เอกสารต่างๆ และพยายามลดการส่ง ไฟล์ขนาดใหญ่ทางอีเมล์ Dropbox ที่เป็น Free Edition จะมีข้อจำกัดอยู่ที่การให้พื้นที่เพียง  2 Gb หน่วยงานที่ต้องการพื้นที่มากๆอาจต้องพิจารณาเลือกใช้ Dropbox Pro หรือ Dropbox for Business ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอสมควร

Image

การแชร์เอกสารภายนอก

IMC Institute  มีเอกสารที่เป็น  slide และเอกสารทั่วไปที่จะแชร์ให้กับบุคคลภายนอก ในกรณีนี้ทางเราเลือกที่จะใช้ Slideshare โดยในปัจจุบันเราจะ Upload เอกสารต่างๆขึ้น Slideshare ที่จัดว่าเป็น SaaS แบบหนึ่ง โดยทางเราเลือกใช้เวอร์ชั่น Pro เพื่อที่จะทราบข้อมูลของผู้ที่ download  slide เราไปด้วย นอกจากนี้ก็การแชร์เอกสารผ่าน  Google Docs โดยเฉพาะเอกสารการฝึกอบรมต่างๆ

Image

การพัฒนา Applications

ทาง IMC Institute  มีการพัฒนา Application เพื่อวิเคราะห์ Big Data ที่อยู่บน Social Media เช่น Facebook Analytic  ในกรณีนี้ทางเราไม่ได้จัดหา Server  เองเพราะต้องใช้  Server  ขนาดใหญ่เราจึงเลือกใช้ IaaS และ PaaS Cloud

ในส่วนของ IaaS การพัฒนา Big Data  เราเลือกใช้  Cloud ของ Amazon  ทั้ง Amazon EC2, S3 และ Elastic Map Reduce ส่วนในกรณี  PasS ที่ใช้พัฒนา Java Application  เราเลือกใช้บริการของ Heroku

Image

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพียงให้ทุกท่านเห็นภาพว่าเราสามารถใช้  Cloud Computing ได้จริง โดยไม่ต้องลงทุนในการจัดหาระบบมากนัก และเสียค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงเป็นรายเดือน

กระแสของ Mobile Commerce / Mobile Banking/ Mobile Payment ในประเทศไทย

เราคงปฎิเสธไม้ได้ว่ากระแสของเทคโนโลยีโมบายอย่างเครืองแทปเล็ตและสมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างมากในด้านต่างๆของการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน การอ่านข่าวสาร รวมไปถึงการซื้อสินค้า รายงานเทคโนโลยี Connected World ของบริษัท Cisco ที่ออกเมื่อเร็วๆนี้ (C2012 Cisco Connected World Technology Report)  มีบทวิเคราะห์ที่สำรวจพฤติกรรมของคนใน Generation Y ที่อายุระหว่าง 18-30 ปี พบว่า 60% ของคนกลุ่มเหล่านั้นจะใช้ชีวิตออนไลน์อยู่ตลอดเวลา และหากให้เลือกใช้อุปกรณ์ชิ้นเดียว 2/3 ของคนเหล่านั้นจะเลือกใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนมากกว่าเครื่องโน็ตบุ๊ค

เรากำลังก้าวเข้ามาสู่โลกยุดหลังพีซี ที่มีอุปกรณ์โมบายเป็นตัวขับเคลื่อน ภาคธุรกิจ ภาคราชการ ภาคการศึกษา ทำให้ผู้ใหญ่ในวัยอื่นๆ รวมถึงผู้บริหารในองค์กรต่างๆจำเป็นจะต้องปรับตัวและเข้าใจบริบทที่กำลังปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้เห็นภาพของกระแสที่ปรับเปลี่ยนไปในเชิงธุรกิจผมขอยกตัวอย่างกรณีของ Mobile Commerce / Mobile Payment และ Mobile Banking มาให้ทุกท่านได้ศึกษาดังนี้

Mobile Commerce

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทาง Mastercard ได้ออกรายงานผลสำรวจการซ็อปปิ้งออนไลน์ (MasterCard Online Shopping Survey) พบว่าผู้บริโภคในเอเซียกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์จากเครื่องพีซีมาใช้สมาร์ทโฟน โดยพบว่าผู้ซื้อมากกว่าครึ่งในประเทศไทยซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน

การสำรวจทำโดยการสอบถามพฤติกรรมผู้บริโภคจำนวน 7,011 คนในภูมิภาคนี้ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2012 และพบว่าผู้คนในประเทศจีนมีคะแนนนำในเรื่องของพฤติกรรมที่ชอบ shopping online โดยมีคะแนนที่ 102 ตามด้วย นิวซีแลนด์ 87 และ ออสเตรเลีย 85 ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับ 5 ที่คะแนน 80 ซึ่งดัชนีของประเทศจีนมีคะแนนสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของ Online Shopping มากขึ้น

นอกจากนี้ทาง  Mastercard ยังพบว่าผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถามในประเทศอินโดนีเซียทำ Online Shopping ผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับหนึ่งคือร้อยละ 54.5% ตามด้วยประเทศจีน 54.1% และประเทศไทย 51% ส่วนสินค้าที่คนไทยใช้บริการผ่าน online shopping ค่อนข้างเยอะคือกลุ่มประเภทดาวน์โหลดเพลงคิดเป็นร้อยละ 45 และสินค้าแฟชั่นร้อยละ 43

Image ผลการสำรวจพฤติกรรม Online Shopping ของประเทศในกลุ่ม APAC ของ Mastercard

Mobile Banking

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (Use of Mobile Banking and Internet Banking) เมื่อเดือนธันวาคม 2012 ระบุว่ามีบัญชีธนาคารในประเทศไทย 6,645,161 บัญชีที่ใช้ Internet Banking และมียอดทำธุรกรรมโดยรวม 1,233 พันล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังเห็นจำนวนผู้ใช้บริการ  Mobile Banking เพิ่มขึ้นเป็น 864,312 บัญชี ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากจำนวน 688,178 บัญชีเมื่อเดือนมกราคม 2012  และมีจำนวนธุรกรรมต่อเดือนผ่าน Mobile Banking 3.68 ล้านครั้งต่อเดือนเป็นเงินรวม 49 พันล้านบาท

ในแง่ของ Mobile Banking Application เราเริ่มที่จะเห็นธนาคารต่างๆเริ่มที่จะพัฒนา  Mobile Application ให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้น ทั้งบน iPhone หรือ Android  อาทิเช่น K-Mobile Banking Plus ของธนาคารกสิกรไทย SCB Easy ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ KTB netbank ของธนาคารกรุงไทย นอกจากนั้นหลายๆธนาคารก็ให้บริการ Mobile Web เช่น m.scbeasy.com ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่สามารถใช้บริการผ่าน Mobile Browser ได้

Image

ตัวอย่าง  Mobile Application ของธนาคารกสิกรไทย

Mobile Payment

ในแง่ของการชำระเงินผ่านอุปกรณ์มือถือ นอกจากการให้บริการผ่าน   SMS, Mobile Web หรือ Mobile Application แล้ว อุปกรณ์สมาร์ทโฟนยังมีรูปแบบการชำระผ่านเทคโนโลยีใหม่เช่น NFC แต่จากการสำรวจของ Mastercard พบว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่ในเอเซียยังใช้ช่องทางการชำระเงินบนโมบายผ่าน mobile banking apps  ซึ่งมีผู้ที่เคยชำระเงินผ่านช่องทางนี้ถึง 45% นอกจากนี้ยังเป็น  in-social-networking-app shopping 34% ขณะที่การชำระผ่าน SMS/MMS เป็น 31% ส่วน Mobile NFC ยังมีผู้ที่เคยชำระทางช่องนี้เพียง  25% แต่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.3 สนใจที่จะชำระเงินผ่านระบบ NFC ในอนาคต

Image

Mobile Payment Readiness Index ของ  Mastercard

นอกจากนี้ทาง Mastercard ยังได้จัดทำ Mobile Payment Readiness Index 2012 ซึ่งจากรายงานพบว่าประเทศไทยมีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 20 จาก 34 ประเทศ โดยได้ 31.6 คะแนน ขณะที่สิงคโปร์มีคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง 45.6  ตามด้วย Canada สหรัฐอเมริกา และ Kenya  ทั้งนี้การวัดความพร้อมดูจากคะแนนในหลายๆด้าน อาทิเช่นความพร้อมของผู้บริโภค สภาวะแวดล้อม การบริการด้านการเงิน โครงกสร้างพื้นฐาน เครือข่ายด้าน M-Commerce และ กฎระเบียบ ที่น่าสนใจคือประเทศไทยจะโดดเด่นด้านความพร้อมของผู้บริโภคที่ต้องการเรื่อง Mobile Payment โดยเราจะอยู่ในกลุ่มนำในด้านนี้ร่วมกับประเทศอย่าง เคนย่า ไนจีเรีย จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า กระแสเรื่องของ Mobile Commerce / Mobile Banking และ Mobile Payment เริ่มเข้ามาแรงในกลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทย คงต้องถึงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องเริ่มปรับตัวรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่กำลังมาพร้อมกับกระแสของเทคโนโลยีโมบาย

ดร.ธนชาติ นุ่มมนท์

ผู้อำนวยการ IMC Institute

หมายเหตุ ทาง IMC Institute  จะเปิดอบรมหลักสูตร Planning on Mobile Strategy ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม โดยรวบรวมวิทยากรหลายท่านมาพูดถึงการวางแผนกลยุทธ์เพิื่อรองรับเทคโนโลยีโมบายขององค์กร