กลยุทธ์การเลือกใช้ IaaS Cloud Service Provider

วันนี้อยากมาเล่าเรื่องการใช้ Virtual Server บน Cloud Platform ของ Provider ต่างๆทั้งผู้ให้บริการภายในและต่างประเทศ จากประสบการณ์ที่ผมเคยเล่นมาหลายๆรายแล้วอยากเปรียบเทียบกันเพื่อให้เราได้พิจารณาว่าบริการเฉพาะส่วน Virtual Server แต่ละรายเป็นอย่างไร โดยจะไม่เน้นถึงบริการอื่นๆมากนัก

Amazon Web Services (AWS)

คงเป็นรายที่ผมคุ้นเคยที่สุดเพราะผมใช้ Services ต่างๆของเขาค่อนข้างเยอะ ทั้ง Storage (S3), Database (RDS), Identity management (IaM), NoSQL (Dynamo DB), Hadoop (EMR) หรือ Application container (Beanstalk) และเมื่อกล่าวถึง Virtual Server คงนึกถึงบริการที่ชื่อ  EC2 (Elastic Cloud Computing)  ซึ่งให้เราสามารถสร้าง instance  ได้ตั้งแต่ขนาดเล็กอย่าง t2.micro (1 vCPU, 1 GB Memory) ไปจนถึงขนาดใหญ่มากๆอย่าง d2.8xlarge (36 vCPU, 244 GB Memory, 24 x 2000 SSD) ซึ่งโดยปกติถ้าเราจะเลือกหา Virtual Server สำหรับทำ Database  ขนาดกลางหรือทำ Web App  เราอาจเลือกเครื่องกลุ่ม M3 ที่มีขนาดตั้งแต่ 1 vCPU ไปจนถึง 8 vCPU แต่ถ้าต้องการหาเครื่องสำหรับการทำ Development ก็อาจเลือกกลุ่ม T2

AWS จะมี  instance ให้เราเลือกได้หลายแบบและสามารถที่จะเลือก OS  ได้ทั้งที่เป็น Linux และ Windows ซึ่งราคาค่าบริการก็จะแตกต่างกันตามชนืดของ OS หรือ Location  ของ Server เช่นการใช้  Cloud Server ที่ Singapore จะมีราคาสูงกว่าที่ Oregon นอกจากนี้ AWS ยังมี marketplace ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการ Server ที่ลง Middleware มาพร้อมเช่น Oracle Database, SAP, Peoplesoft, หรือ Tomcat โดยค่าบริการก็จะรวมค่า License ของซอฟต์แวร์เหล่านี้ไปแล้ว

AWS จะมี  instance ให้เลือกสามแบบคือ instance ปกติ  ที่ราคาคิดเป็นรายชั่วโมง, reserve instance ที่เหมาะกับการใช้ระยะยาวเป็นปีที่อาจจ่ายเป็นรายเดือน และ  spot instance ที่ราคาสามารถประมูลราคาได้แต่ไม่รับประกันว่าจะได้ virtual server ตามราคาที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งหากไม่มี server ในราคาที่ต้องการก็อาจทำให้ระบบล่มลงไปได้ เพื่อให้เห็นราคาการใช้งานของ EC2  ขอยกตัวอย่างราคาเครื่องที่ Oregon ที่เป็น Linux ดังรูปที่ 1

Screenshot 2015-04-30 08.31.30

รูปที่  1 ราคาการใช้งานเครื่องของกลุ่ม T2 และ M3 ที่ Oregon

โดยปกติการทำ  Auto-scaling ของ Cloud Server จะเป็นลักษณะของ Horizontal scaling กล่าวคือเป็นการเพิ่มเครื่องขึ้นมาและต้องใช้บริการอย่าง Load Balancer และระบบ Cloud Watch ที่ช่วยตรวจสอบโหลดการใช้งานของเครื่องแล้วสามารถเพิ่มเครื่องโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าจะเปลี่ยนให้เครื่องมีขนาดใหญ่ขึ้นที่เป็น Vertical Scaling เราก็จะทำการย้าย Image ของเครื่องเก่าไปสู่ instnace ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่ง AWS  จะมี feature ต่างๆรองรับการทำงานนี้ได้เป็นอย่างดี และสามารถจะจัดการเรื่อง security policy การปิดเปิด  port ต่างๆของ virtual server ได้โดยง่าย

อนึ่งแม้ AWS  จะระบุว่ามี Free Trial  เป็นเวลาหนึ่งปี แต่ก็จะจำกัดไว้แค่เครื่องขนาดเล็กกลุ่ม T2 และไม่ได้ครอบคลุมทุกบริการ ผู้ทดลองใช้ต้องมีความระมัดระวังในการใช้งานอย่าทดลองเล่นบริการอื่นๆที่ไม่ได้อนุญาตให้ใช้ฟรี มิฉะนั้นจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

Google Cloud Platform

Google มีบริการ IaaS ที่ให้เราสามารถใช้ Infrastructure ของเขาในการสร้าง Virtual Server ได้โดยบริการนี้ชื่อว่า Google Compute Engine ภายใต้  Google Cloud Platform  โดยจะมี Feature คล้ายกับ EC2 ของ  AWS ที่ให้เราสามารถสร้าง Virtual Server ที่เป็น Linux หรือ Windows ก็ได้ และก็มีเครื่องหลายขนาดให้เรา ตาม Location ต่างๆ แต่การคิดราคาจะดีกว่าของ AWS  จะสามารถคิดการใช้งานเป็นทุกสิบนาทีแทนที่จะเป็นรายชั่วโมง โดยตัวอย่างของราคาการใช้เครื่อง Linux ที่ US จะเป็นดังรูปที่ 2

Screenshot 2015-04-30 08.49.33

รูปที่  2 ราคาการใช้งานเครื่อง  Standard ของ Google ที่ US

Google Compute Engine  จะมี Feature ในก่ารทำ Auto-scaling และสามารถที่จะเก็บ image และย้ายไปยัง instance ใหม่เพื่อทำ vertical scaling ได้เหมือน AWS  แต่ Feature ในการใช้งานอาจจะสู้ของ AWS ไม่ได้มากนัก และก็มี Marketplace อยู่จำนวนหนึ่งดังตัวอย่างในรูปที่  3 ที่อาจไม่หลากหลายเท่า AWS

Screenshot 2015-04-30 08.47.19

รูปที่ 3 ตัวอย่าง Marketplace ของ Google Compute Engine

จุดเด่นอีกด้านของการใช้ Google Cloud Platform คือมี Free Trial ให้ทดลองใช้ $300 จำนวน 60 วันที่สามารถทดลองใช้ได้เกือบทุกบริการ ซึ่งแตกต่างจาก AWS ที่จำกัดบริการในการทดลองใช้ฟรี และไม่ต้องห่วงว่าจะถูกเก็บเงินมายังบัตรเครดิต เพราะเราต้องทำการเปลี่ยนสถานะจาก Free Trial ก่อนถึงจะถูกเก็บเงินจากการใช้บริการนอกเหนือจากการทดลองใช้ฟรี

Microsoft Azure

เมื่อพูดถึง Microsoft Cloud หลายๆคนอาจคิดว่า IaaS หรือ PaaS ของ Microsoft น่าจะผูกติดกับ Windows, ASP.NET, SQL Server หรือ middleware ต่างๆของ Microsoft แต่วันนี้ Microsoft เปลี่ยนไปแล้วเมื่อเข้าสู่ยุคของ Cloud ที่ต้องใช้ระบบที่หลากหลาย เราสามารถที่จะใช้ Microsoft Azure สร้าง virtual server ที่รัน OS ต่างๆที่เป็น Linux ได้นอกเหนือจาก Windows ผมเองเคยใช้ VM ของ Azure ที่เป็น ubuntu และใช้ remote login เข้ามาใช้งานเหมือน AWS

Virtual server ของ Azure ก็มี features ในการเก็บ image หรือทำ scaling คล้ายๆกับ AWS และมี marketplace เพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์ต่างๆดังตัวอย่างในรูปที่ 4 จุดเด่นการใช้ Azure อาจไม่ได้อยู่ที่การใช้ virtual server ที่อาจมีฟังก์ชั่นไม่เด่นเท่า AWS แต่ Azure จะมีบริการเด่นๆอีกหลายที่เหมาะกับการทำ PaaS อาทิเช่น Web Service, App Services, SQL Service  หรือ HDinsight รวมถึงบริการการทำ Analytics อย่าง Machine Learning สำหรับตัวอย่างการคิดราคาของ Linux server ของ Azure ที่อยู่ใน Central-US จะเป็นดังรูปที่ 5

Screenshot 2015-04-30 10.58.46

 รูปที่ 4 ตัวอย่าง Marketplace ของ Microsoft Azure

ผู้ใช้สามารถทดลองใช้บริการฟรีของ Azure ได้มูลค่า $200 ในหนึ่งเดือน และสามารถที่ใช้บริการเกือบทุกบริการคล้ายๆกับ Google Cloud Platform

Screenshot 2015-04-30 11.03.11

รูปที่  5 ราคาการใช้งานเครื่องของ Azure ที่ US-central

Cloud Provider  ในประเทศไทย

ผมเองเคยใช้บริการเปิด Virtual Server  ของผู้ให้บริการ Cloud  ในประเทศอยู่สองรายคือของ iNET และ True IDC  จุดเด่นก็คือ Latency ที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจาก Server อยู่ในประเทศ และข้อมูลก็จะอยู่ในประเทศซึ่งก็อาจจะเหมาะกับองค์กรที่ต้องการเน้นเรื่องความเร็วและต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบที่อาจห้ามเก็บข้อมูลไว้นอกประเทศ และอีกอย่างที่น่าสนใจคือการบริการที่ค่อนข้างจะรวดเร็วและสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับ Cloud Provider ต่างประเทศที่ต้องเหมาะกับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถศึกษาด้วยตนเอง นอกจากนี้ผู้ให้บริการอย่าง True IDC ยังมี Free Trial ให้เราทดลองใช้ได้ 30 วัน โดยสามารถเข้าไปทดลองได้ที่ http://public.truecloudservice.com:18881/freetrial/

แต่การเปิดใช้บริการ Server ในประเทศค่อนข้างจะยุ่งยากต้องการเอกสารมากมาย อาจเป็นเพราะเป็นกฎระเบียบที่มาจากภาครัฐ ซึ่งแตกต่างกับ Cloud Provider ต่างประเทศรายใหญ่อย่าง AWS, Google หรือ Microsoft ที่มีเพียงบัตรเครดิตก็เปืดได้แล้ว นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนการใช้งาน Virtual Server ต่างๆยังไม่สามารถทำได้โดยง่าย เช่นการปรับ Security policy  การเปลี่ยน OS ซึ่งการทำ server provisioning ยังไม่ค่อยเป็นแบบอัตโนมัติเท่าไร คงไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Auto-scaling ที่คงไม่สามารถทำได้เองโดยง่าย และไม่มี  marketplace แบบต่างประเทศ นอกจากนี้ราคาอาจค่อนข้างสูงกว่า Cloud ของต่างประเทศพอควร อีกอย่างอาจไม่เหมาะที่จะใช่ในการตืดตั้ง Middleware บางอย่าง เคยติดต่อ Cloud Provider ในประเทศบางรายว่าจะใช้ SQL Server ปรากฎว่าผู้ใช้ต้องซื้อ License เองและคิดมารวมในค่าบริการ ซึ่งต่างกับของต่างประเทศที่เป็นการเช่าใช้ ตัวอย่างของราคา Cloud สำหรับ True IDC เป็นดังรูปที่ 6

Screenshot 2015-04-30 18.13.28

รูปที่  6 ราคาการใช้บริการ Cloud ของ True IDC

แนวทางการเลือก Cloud Virtual Server

ในมุมมองของผมตอนพัฒนาและทดสอบต่างๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือ middleware  ต่าง การต้อง provisioning หรือ de-provisioning server บ่อยๆควรจะเลือกใช้ Cloud ต่างประเทศอย่างของ AWS หรือ Azure แต่ถ้าต้องการทดลองใช้งานที่ไม่ต้องการ feature เยอะก็ค่อยมาใช้ระบบของ Google

หลักจากอยู่ในขั้น Development และ Testing แล้ว หากต้องการทำ Production Server ที่ต้องติดตั้งระยะยาว ไม่เปลี่ยนระบบบ่อยๆ ผมอาจแนะนำให้มาใช้ระบบในประเทศอย่างของ iNET หรือ True IDC เพราะตอนนั้นเราจะทราบ configuration ที่แน่นอนแล้ว และอาจต้องการเครื่องที่อยู่ประเทศซึ่งจะลดปัญหาเรื่อง Latency และเราอาจต้องการระบบ support ทีดี

แต่ถ้าคำนึงถึงเรื่องราคาหรือผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศเราก็อาจต้องขึ้น Production โดยใช้ Cloud Provider ของต่างประเทศ และถ้าต้องการระบบที่มี Auto-scaling ที่ดีอาจต้องใช้บริการของต่างประเทศที่สามารถทำได้เองโดยง่าย หรือติดต่อกับ Provider ในประเทศเพื่อช่วยจัดทำให้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Screenshot 2015-04-25 22.26.31

การอบรม Cloud Software Development และเอกสารการอบรม

ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาทาง IMC Institute ได้เริ่มจัดการอบรมหลักสูตร Cloud Software Development using Google App Engine & Amazon Web Services  โดยหลักสูตรนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรม 4 วัน และจัดผ่านไปแล้วสองรุ่นคือเมื่อวันที่ 16-19 มีนาคม และ 21-24  เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าอบรมสองรุ่นเกือบ 60 ท่าน

11058498_471718782975467_3093717067286218502_n  รูปที่  1:  ผู้เข้าอบรมหลักสูตร Cloud Software Development ในรุ่นที่  1

หลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กำลังเปลี่ยนไป โดยการใช้แพลตฟอร์มที่เป็น Cloud ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องมีทักษะในการพัฒนาโปรแกรมแบบใหม่ๆอาทิเช่นการใช้ PaaS  (Platform as a Service) และ IaaS (Infrastructure as a Service)  ซึ่งจะต้องเข้าใจการใช้แพลตฟอร์มเพื่อทำให้  Application สามารถ Scale รองรับผู้ใช้จำนวนมากได้ และต้องมีคุณสมบัติที่เป็น  Multi-tenancy ดังนั้นหลักสูตรนี้จึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud ทั้งสองแบบ

แม้การสอน  PaaS  จะเป็นการใช้  Google App Engine ของ  Google Cloud Platform  โดยใช้ภาษา Java และมีตัวอย่างของ Python แต่ก็เป็นเพียงตัวอย่างและมีความต้องการให้ผู้เรียนสามารถใช้  PaaS อื่นได้ด้วยอาทิเช่น Microsoft Azure, IBM Bluemix, Amazon Beanstalk, Openshift หรือ  Heroku ซึ่งข้อดีของการพัฒนาซอฟต์แวร์บน PaaS คือเราไม่ต้องไปจัดการทำเรื่องของ  Auto-scaling หรือ Load Balancing  เอง

ส่วนเนื้อหาในด้าน IaaS จะเป็นการสอนการทำ Auto-scaling ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าการ Migrate ซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud เป็นเพียงการย้าย Server Hosting มารันบน Cloud Server  โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการทำ Auto-scaling  หรือ Multi-tenancy ดังที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง SoSaaS (Same old Software, as a Service) บริการซอฟต์แวร์บน Cloud แบบเดิมๆ ที่เราเข้าใจผิดว่าคือ true SaaS  ซึ่งในการอบรมครั้งนี้เราได้เลือกตัวอย่างของ Amazon Web Services ซึ่งมี Services อย่าง Load-Balancer, Auto-scaling และ  Cloudwatch ที่ช่วยให้เราทำ Auto-scaling ได้ และเลือกทำแบบฝึกหัดเพื่อสร้าง Auto-scaling Web Application ดังรูป เพื่อที่จะทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจวิธีการในการ Migrate ซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud

Screenshot 2015-04-25 22.19.22รูปที่ 2:  Diagram ของ  Lab Hosting Web Application on AWS

สำหรับเอกสารการอบรมครั้งนี้สามารถ Download ดังนี้

ทาง IMC Institute  เองยังจะเปิดการอบรมหลักสูตรนี้อีก 4  รุ่น ตามวันเวลาดังนี้

  • รุ่นที่ 3) 18 – 21 พฤษภาคม 2558
  • รุ่นที่ 4) 22 – 25 มิถุนายน 2558
  • รุ่นที่ 5) 13 – 16 กรกฎาคม 2558 (รุ่น Train the trainer: เฉพาะอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา)
  • รุ่นที่ 6) 1-2, 8-9 สิงหาคม 2558 (อบรมวันเสาร์-อาทิตย์)

Screenshot 2015-04-25 22.26.31 ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.imcinstitute.com/cloudsw (ทั้งนี้การอบรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก SIPA จึงทำให้เก็บค่าอบรมเพียง 2,000 บาท)

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

งานประชุม Hadoop Summit 2015

Screenshot 2015-04-18 14.07.05

สัปดาห์นี้ผมเดินทางมาเมือง Brussels ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อร่วมงาน Hadoop Summit 2015 ซึ่งเป็นงานประจำปีของกลุ่มคนที่สนใจเทคโนโลยี Hadoop สำหรับการทำ Big Data ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี และปีนี้เป็นปีที่แปด โดยปีนี้นอกจากจัดงานที่ San Jose สหรัฐอเมริกาแล้วยังมาจัดในยุโรปที่ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นที่นี่ โดยปีที่แล้วจัดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

เจ้าภาพงาน Hadoop Summit คือบริษัท Hortonworks หนึ่งใน Hadoop Distributor รายใหญ่ ซึ่งได้รับสนับสนุนโดยบริษัท Yahoo จึงไม่แปลกใจที่เห็น Keynote รายๆหลายที่เป็นพันธมิตรกับ Hortonworks อาทิเช่น Yahoo, IBM, SAP และ Microsoft และก็มี vendor รายใหญ่ๆอีกหลายรายเข้ามาเป็น sponsor ในงานนี้ไม่ว่าจะเป็น HP, EMC, Cisco, Teradata, Cloudera, Intel, Google. pentaho, SAS หรือ BMC มีคนรวมงานมากกว่า 1,500 คน ซึ่งงานนี้มี session การบรรยายของ Hadoop Distributor เกือบทุกรายทั้ง Cloudera, Hortonworks, MapR, IBM, Pivoltal และ Teradata รวมถึง Distributor บน Cloud ที่เป็น Hadoop as a Service อย่าง Microsoft Azure HDInsight และ Google Cloud Platform ถ้าจะขาดรายใหญ่ก็คงแค่ Amazon Web Services ที่มี Hadoop Distribution บน Cloud รายใหญ่อีกรายหนึ่ง

Screenshot 2015-04-18 14.06.17

การบรรยายงานนี้น่าสนใจมาก ทำให้ได้เห็นแนวโน้มของ Hadoop ที่คงไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยีธรรมดาแล้ว แต่มันกำลังกลายเป็น Data Opearting System (Data OS) สำหรับรัน Application ต่างๅในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทุกรูปแบบทั้ง Structure และ Unstructure Data นอกจากนี้ Forrester ยังระบุอีกด้วยว่าต่อไปทุกองค์กรจะต้องใช้ Hadoop เหมือนกับที่ทุกองค์กรต้องใช้ฐานข้อมูล RDBMS ในการเก็บข้อมูลในปัจจุบัน แน่นอนครับว่า Hadoop มีอนาคตที่ชัดเจนและเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าศึกษา และเป็นอนาคตของผู้ที่กำลังศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ อาจบอกได้ว่าถ้าอยากได้งานที่ดีในอนาคตคงต้องมาศึกษาเทคโนโลยีอย่าง Hadoop และวิชาอย่าง Data Science หรือ Machine Learning

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นการประกาศที่สำคัญในงานนี้คือการรวมตัวของ Vendors รายต่างๆทั้ง Hortonworks, IBM, Yahoo, Pivotal, SAP. ในการสร้างมาตราฐาน Open Data Platform เพื่อให้เทคโนโลยีต่างๆที่มี vendor หลายรายทำอยู่ให้มีมาตราฐานเดียวกัน เพื่อสร้าง competibility โดยในเบื้องต้นเน้นอยู่ที่สองเทคโนโลยีหลักคือ Hadoop และ Ambari ที่เป็น open source สำหรับการบริหารจัดการ Hadoop Cluster

งาน Summit นี้มีหัวข้อทางด้าน Business ที่พูดถึงการนำ Hadoop มาใช้งานในหลายๆองค์กรและหลายคลัสเตอร์ทั้งกลุ่ม Bank, Telecom, Energy, Transportaion และ Retails โดยมีการพูดถึงเครื่องมือในวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำ BI มากมายทั้ง Tabular, Pentaho, SAP หรือ SAS และก็ยังเน้นการถึงเทคโนโลยีในการทำ Data Analytics อย่าง Spark หรือ Mahout งานนี้มี sesion ในการบรรยายพูดเทคโนโลยีสำหรับ Hadoop 2 อย่าง YARN, Tez, Storm, Hive, Pig, Spark, Solr, Kafka, Lambda. และอื่นๆ โดยมีหัวข้อต่างที่น่าสนใจอาทิเช่น

  • 5 Ways Hadoop Is Changing The World And 2 Ways It Will Change Yours
  • Unlocking Hadoop’s Potential
  • Hadoop in the Enterprise
  • Design Patterns for Real Time Streaming Data Analytics
  • Making the Case for Hadoop in a Large Enterprise
  • Hive Now Sparks
  • Storm as an ETL Engine to Hadoop
  • Hadoop YARN: Past, Present and Future
  • Hadoop in the Cloud – Common Architectural Patterns
  • Driving Enterprise Data Governance for Big Data systems through Apache Falcon
  • Oozie or Easy: Managing Hadoop Workflows the EASY Way

ข้อมูลในงานทั้งหมดนี้ผมจะนำมาบรรยายสรุปในงานฟรีสัมมนา Thailand Hadoop User Group ครั้งที่ 3 ที่ทาง IMC institute ตั้งใจจะจัดร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ในปลายเดือนพฤษภาคม

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

เมษายน 2558

การปรับตัวของ SME บนพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล

Screenshot 2015-04-09 20.33.52

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของบ้านเราค่อนข้างจะหยุดนิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ อีกส่วนก็เป็นผลพวงมาจากปัญหาของเศรษฐกิจโลก แต่จุดหนึ่งที่เราปฎิเสธไม่ได้ก็คือมาจากการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลายภาคส่วนของบ้านเราตามไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงทำให้บริบทของการทำงานเปลี่ยนไป การเกิดธุรกิจใหม่ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จึงไม่แปลกใจที่เราเห็นตัวเลขของรายได้ในภาคการผลิตเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรต่อหัวในหลายๆประเทศสูงกว่าเรามาก

เรายังเน้นภาคการผลิตที่เป็นแรงงานคน เน้นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ปรับค่าแรงเป็น 300 บาท (หรือที่กำลังจะขอเป็น 350 บาท/วัน) หรือเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท แต่สิ่งที่เราไม่พยายามเน้นเลยคือการสร้างผลผลิตต่อหัวให้สูงขึ้น นำเทคโนโลยีมาใช้งาน มาสร้างนวัตกรรมใหม่ ผมเชื่อว่าถ้าเรามีผลผลิตต่อหัวที่ค่อนข้างสูงอย่าง Singapore เราก็คงไม่ต้องมาห่วงหรอกครับว่าเงินเดือนขั้นต่ำจะเป็นอย่างไร เพราะสูงแค่ไหนก็จ่ายได้ถ้ามีรายได้เข้าบริษัทมากขึ้น

ปัญหาอันหนึ่งที่น่าเป็นห่วงที่อาจทำให้ภาคการผลิตเราจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านลำบาก และยากที่จะเห็นตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม คือความไม่พร้อมของ SME ในการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจใหม่ของโลกที่กำลังกลายเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) แม้รัฐบาลชุดนี้จะมีนโยบายที่ดีในการเตรียมพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและประกาศให้เรื่อง Digital Economy แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ SME ส่วนใหญ่ในบ้านเรายังคิดแบบอนาล็อก (Analog) ยังใช้วิธีการเดิมๆในการทำธุรกิจ ยังขาดความมั่นใจในการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ข้อสำคัญยังรีรอนโยบายจากภาครัฐ ทั้งๆที่โดยแท้จริงแล้วต่อให้รัฐบาลไม่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล โลกมันก็เปลี่ยนเป็นดิจิทัลอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ปรับตามเราก็จะแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้

Screenshot 2015-04-09 20.40.50

ดังนั้นถึงเวลาที่ SME จะต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล โดยมีข้อคิดที่สำคัญดังนี้

1) ผู้ประกอบการ SME ต้องติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยอาจต้องเข้าใจและเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆที่สำคัญ อาทิเช่น Cloud Computing, Mobile Internet, Social Networks, Big Data หรือ Internet of Things ศึกษาการเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้ว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร เราเห็นนวัตกรรมธุรกิจใหม่ๆที่เข้ามาในบ้านเรามากมายอาทิเช่น Grab Taxi, OokBee หรือ Hollywood HD ที่อาจสร้างผลกระทบต่อธุรกิจอย่าง Taxi, ร้านหนังสือ, ร้าน DVD, โรงหนัง หรือร้านถ่ายรูป การศึกษาเทคโนโลยีและผลกระทบจะทำให้เราเข้าใจและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนอาจเป็นการเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมธุรกิจใหม่

2) ผู้ประกอบการ SME จะต้องมี Digital Mindset หลายๆคนยังขาดจุดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลง ยังคิดแบบเดิมๆ บางคนไม่เชื่อเรื่อง Digital Banking บางคนก็ไม่มั่นใจในการซื้อของผ่านตลาด E-Commerce ทั้งๆที่ตลาดทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการหลายคนอาจมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่าง Smartphone หรือ Tablet แต่ยังเน้นเพื่อความบันเทิงมากกว่า เพื่อการทำงานหรือธุรกิจที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็อาจยังไม่ทราบว่าจะใช้ด้านธุรกิจอย่างไร บางส่วนอาจเพราะขาดความมั่นใจ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักไว้เสมอคือโลกในอนาคตคือโลกของดิจิทัล ถ้าเรายังไม่มี Digital Mindset เราก็จะตกขบวนและธุรกิจเราจะแข่งขันไม่ได้

3) ผู้ประกอบการ SME จะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การใช้เทคโนโลยีไอทีจะช่วยทำให้ธุรกิจ ลดค่าใช้ ประหยัดเวลา และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิเช่นการใช้โปรแกรม  CRM  ในการบริหารข้อมูลลูกค้า โปรแกรมบัญชี โปรแกรมคลังสินค้า โปรแกรมสำนักงาน Office Suite โปรแกรมการเก็บเอกสารบน Cloud หรือโปรแกรมในการติดต่อสื่อสารเช่น Skype ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องกล้าที่จะใช้งาน และยอมที่จะเสียค่าใช้จ่ายซึ่งการเข้ามาของซอฟต์แวร์ที่อยู่บน  Cloud ทำให้ค่าใช้จ่ายของซอฟต์แวร์ถูกลงไปมาก ผู้ประกอบการต้องมองว่าค่าใช้จ่ายไอทีต่อเดือนก็เป็นต้นทุนเหมือนค่าสาธาราณูปโภคอื่นๆ นอกจากนี้ผู้ประกอบการก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยของการใช้เทคโนโลยีไอทีด้วย

4) ผู้ประกอบการ  SME ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกัลเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการทำงานอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และลูกค้า หรือคู่ค้าเราจะมาจากที่ไหนก็ได้ คู่แข่งเราก็จะมีอยู่ได้ทุกที่ เราต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน หาลูกค้าใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การทำงานเน้นแบ่งบันมากขึ้น  พลังของการแบ่งปัน (Power of Sharing) จะเป็นโอกาสต่อธุรกิจของเรา

5) ผู้ประกอบการ  SME ต้องเน้นการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องตระหนักเสมอว่าลูกค้าเราในอนาคตมาได้จากทุกที เราจึงต้องใช้ช่องทางออนไลน์ช่วยในการประกอบธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นการทำ E-Commerce และอาจรวมไปถึงการทำ M-Commerce นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องทำช่องทางการชำระเงินออนไลน์ (Online Payment)

6) ผู้ประกอบการ SME ต้องทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเราคงต้องพูดถึงตั้งแต่การทำเว็บไซต์ การใช้  Social Media Marketing ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Instagram  หรือแม้แต่การทำประชาสัมพันธ์ผ่าน EDM (Electronic Direct Mails)

7) ผู้ประกอบการ SME ต้องเน้นการใช้  Mobile  Internet ซึ่งหมายถึงการใช้อุปกรณ์ไอทีต่างๆอาทิเช่น Notebook, Smartphone หรือ Tablet รวมไปถึงการใช้  Application ทีอยู่บน Cloud ซึ่งจะทำงานข้อมูลถูก Sync ไปทุกที่ ทุกอุปกรณ์ และทำให้สามารถทำงานแบบ Mobility ได้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Big Data บน Public Cloud

ผมไม่ได้เขียนบล็อกมาสองเดือนกว่า เพราะยุ่งอยู่กับการศึกษาเรื่อง Big Data  เตรียมการสอนและเปิดหลักสูตรใหม่ๆอาทิเช่น

  • เปิดหลักสูตร Big Data Certification จำนวน 120 ชั่วโมงที่มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า30 คน
  • เปิดหลักสูตร Introduction to Data Science เมื่อต้นเดือนเมษายน ก็เน้นสอนเรื่องของ Hadoop, R และ Mahout  ในการทำ Machine Learning รุ่นแรกมีคนเช้ามาเรียน 20 กว่าท่าน
  • ปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร Big Data using Hadoop Workshop โดยมีการนำ Cloud Virtual Server ของ AWS มาใช้ในการอบรม และเปิดอบรมรุ่นแรกของปีนี้เมื่อปลายเดือนมีนาคม มีคนอบรม 30 คน
  • ปรับปรุงเนื้อหา Big Data Programming using Hadoop for Developer  โดยมีการเน้นการใช้ Cluster ขนาดใหญ่บน  Amazon EMR มากขึ้น และเปิดอบรมไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
  • จัดฟรีสัมมนา Big Data User Group แก่บุคคลทั่วไปเพื่อให้เข้าใจเรื่อง Big Data Analytics โดยจัดไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม
  • เปิด Hadoop Big Data Challenge เพื่อคนทั่วไปสามารถมาทดลองวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่บน Hadoop Cluster  ที่รันอยู่บน AWS จำนวนกว่า 40 vCPU

จากการทำงานด้านนี้ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ทำให้ได้ประส[การณ์และข้อมูลใหม่ๆพอควร โดยเฉพาะประสบการณ์การติดตั้ง Hadoop  หรือ NoSQL บน Public Cloud ซึ่งข้อดีของการใช้ Public Cloud คือเราไม่ต้องจัดหา  Server  ขนาดใหญ่จำนวนมาก และสามารถ Provision ระบบได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายระยะยาวจะแพงกว่าการจัดหา  Server เอง และถ้ามีข้อมูลจำนวนมากที่ต้อง Transfer ไปอาจไม่เหมาะสมเพราะจะเกิดความล่าช้า นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล

แต่การใช้ Public Cloud จะเหมาะมากกับการใช้งานเพื่อเรียนรู้ หรือการทำ Development  หรือ Test Environment นอกจากนี้ยังมีบางกรณีที่การใช้ Public Cloud มาทำ Big Data Analytics อาจมีความเหมาะสมกว่าการจัดหา Server ขนาดใหญ่มาใช้งานเอง อาทิเช่น

  • กรณีที่ระบบปัจจุบันขององค์กรทำงานอยู่บน Public Cloud  อยู่แล้ว อาทิเช่นมีระบบ Web Application ที่รันอยู่บน Azure  หรือมีระบบอยู่  Salesforce.com
  • กรณีที่ข้อมูลที่ต้องการวิเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลภายนอกที่อยู่บน Cloud เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Facebook  ที่การนำข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านั้นกลับมาเก็บไว้ภายในจะทำให้เปลืองเนื้อที่และล่าช้าในการโอนย้ายข้อมูล
  • กรณีที่มีโครงการเฉพาะด้านในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพียงครั้งคราว ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจัดหาเครื่องมาใช้เอง

การใช้ Public Cloud สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้  Hadoop หรือ NoSQL มีสองรูปแบบคือ

1)  การใช้ Virtual Server  ในการติดตั้ง Middleware อาทิเช่นการใช้ EC2 ของ  AWS หรือ Compute Engine ของ Google Cloud  มาลงซอฟต์แวร์ ข้อดีของวิธีการนี้คือเราสามารถเลือกซอฟต์แวร์มาติดตั้งได้ เสมือนกับเราจัดหา Server มาเอง และสามารถควบคุมการติดตั้งได้ ที่ผ่านมาผมได้เขียนแบบฝึกหัดที่ติดตั้งระบบแบบนี้อยู่หลายแบบฝึกหัดดังนี้

2)   การใช้  PaaS ที่อาจเป็น Hadoop as a Service หรือ NoSQL as a Service  ซึ่งในปัจจุบัน Public Cloud รายใหญ่ๆทุกค่ายจะมีระบบอย่างนี้ เช่น  EMR สำหรับ Hadoop  และ Dynamo DB สำหรับ  NoSQL บน AWS หรือค่ายอย่าง  Microsoft Azure ก็มี HDInsight สำหรับ Hadoop และ DocumentDB สำหรับ NoSQL ข้อดีของระบบแบบนี้คือ เราจ่ายตามการใช้งานไม่ต้องรัน Server ไว้ตลอด, ติดตั้งง่ายเพราะผู้ให้บริการ  Cloud ลงระบบมาให้แล้ว แต่ข้อเสียก็คือเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งได้เอง อาทิเช่น Hadoop ที่อยู่บน EMR มีให้เลือกแค่ Amazon  Distribution หรือ MapR  Distribution ผมเองก็ได้เขียนแบบฝึกหัดlสำหรับการใช้ Amazon EMR ไว้ดังนี้

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาการติดตั้ง Hadoop Cluster  ผมอาจแนะนำให้ใช้ Google Cloud Platform ครับ เพราะระบบมีให้ทดลองใช้ 60 วัน โดยเราสามารถที่จะลองใช้ Compute Engine ขนาด 4 vCPU ได้ (ดูขั้นตอนการติดตั้ง Hadoop บน Google Cloud ตามนี้) และถ้าต้องการใช้ Hadooo[ as a Service ผมแนะนำให้ใช้ Amzon EMR ตามแบบฝึกหัดข้างต้น แต่ก็มีค่าใช่จ่ายในการรันแต่ละครั้ง

วันนี้ขอแค่นี้ครับและอาจเขียนออกเป็นเทคนิคมากหน่อยครับ เพราะไม่ได้เขียนบล็อกมาหลายสัปดาห์ มัวแต่ไปเขียนแบบฝึกหัดที่เป็นด้านเทคนิคให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนกัน

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

เมษายน 2558