เรื่องบ่นเกี่ยวกับ Big Data และหนทางออก

safe_image

ดร.จิรพันธ์ แดงเดช ของกลุ่ม Thailand SPIN ชวนผมไปบรรยายงาน “AI/Big Data เรื่องบ่น และหนทางออก” ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ที่อาคาร Software Park ผมก็ไม่แน่ใจว่าผู้จัดเห็นผมเป็นคนชอบบ่นมากๆหรือเปล่า เลยให้ผมขึ้นบรรยายเป็นคนแรก จริงๆแล้วผมสัมผัสกับงานทางด้าน Big Data มาหลากหลายด้านทั้งงานสอน อบรม ให้คำปรึกษา ขึ้นเวทีบรรยาย ติดตั้งระบบ และเจอลูกค้ามากมาย รวมถึงมีบทบาทในฐานะของบอร์ดและผู้บริหารของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ก็เลยมีเรื่องบ่นมากมายอย่างที่ผู้จัดเชิญผมนั้นละ แต่บ่นแล้วจะมีหนทางออกไหมนั้นก็คงต้องให้วิทยากรท่านอื่นๆและผู้ฟังทุกท่านช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ทั้งนี้ในด้านของ Big Data ผมเห็นประเด็นต่างๆที่น่าบ่นดังนี้

  • เพ้อเจ้อ: ผมขึ้นมาอย่างนี้หลายท่านอาจตกใจ แต่จริงครับเรื่องที่น่าบ่นที่สุดคือการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง Big Dataโดยเฉพาะผู้บริหารที่ต้องการทำโปรเจ็คด้านนี้ บางครั้งอยากทำเพราะตามกระแส แต่ก็ไม่ทราบว่าคืออะไร มอบหมายให้ฝ่ายไอทีไปจัดการบ้าง ลงทุนหาเครื่องมือมาทำบ้าง คิดว่าเริ่มต้นคือไปกำหนดทำ Data Catalog หรือ Data Warehouse แต่ไม่ได้มีกลยุทธ์ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาอะไรที่ชัดเจน ที่หนักกว่าคือไม่มีข้อมูลจริงๆ และบ่อยครั้งก็ชอบโม้ไปว่าหน่วยงานได้ทำ Big Data เสร็จแล้ว ซึ่งจุดนี้น่ากลัวที่สุดเพราะแทบยังไม่ได้ทำอะไรแต่คิดว่าทำเสร็จแล้ว แต่โชคดีที่หลังๆก็เริ่มเห็นหลายหน่วยงานที่ผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจมี่ดีขึ้นมากแล้ว ทำให้เห็นทิศทางที่ดีขึ้นและเริ่มมีการนำ  Big Data มาใช้ได้จริง
  • ไม่มีข้อมูล: ปัญหานี้เจอมาในหน่วยงานหลายแห่ง ที่มีข้อมูลน้อยมากระดับแสนเรคอร์ด และขาดข้อมูลที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็ไม่สามารถไปวิเคราะห์อะไรได้ โดยส่วนมากจะเจอปัญหาดังนี้
    • มีข้อมูลเพียงเล็กน้อย: นอกจากนี้อาจมีปัญหาที่ตามมาก็คือข้อมูลไม่อัพเดท เพราะข้อมูลแทบไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเลย ส่วนใหญ่ก็จะสามารถทำได้เพียงรวบรวมข้อมูลมาแสดง Dashboard อาจไม่สามารถไปทำ Prediction อะไรมากมายนัก
    • มีข้อมูลกระจัดกระจายแต่ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้: ปัญหาแบบนี้ยังพอแก้ไขได้ โดยการพยายามรวบรวมข้อมูลที่เป็น Silo เหล่านี้เข้าสู่ DataLake
    • มีข้อมูลกระจัดกระจายแต่ไม่สามารถขอมารวบรวมได้: ส่วนใหญ่เราจะเจอปัญหาของการหวงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆทั้งภายในและภายนอก ถ้าจะเปิดให้ใช้ก็อาจแค่ให้ดีงข้อมูลแบบ API เป็นรายเรคอร์ดไม่สามารถเอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ Big Data สุดท้ายก็ทำได้แค่ทำรายงานสรุป Dashboard เป็นเรื่องๆไป
  • ขาดบุคลากร: เรื่องของ Big Data มีแนวคิดที่แตกต่างจากการทำ Database หรือ Data warehouse  แบบเดิมๆ จะต้องเรืยนรู้หลักการใหม่ๆเช่นการทำ DataLake  หลักการของ ELT  แทนที่ ETL แบบเดิม การพัฒนาโปรแกรมโดยใช้ Python, R, Hadoop หรือ Spark ตลอดจนเครื่องมือรูปแบบใหม่อื่นๆ รวมถึงการทำ Data Science
  • ขาดเครื่องมือ: เมื่อพูดถึงการทำโปรเจ็ค Big Data ถ้าจะต้องลงมือทำจริงในองค์กรและมีข้อมูลขนาดใหญ่ อาจต้องติดตั้งที่ใช้งบประมาณนับสิบล้านบาท  ยกเว้นจะใช้ Public Cloud ที่ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอาจถูกกว่า แต่องค์กรส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณมากนัก และไม่อยากนำข้อมูลขึ้น Public cloud ทำให้ไม่สามารถทำโครงการได้อย่างแท้จริง
  • ไม่มีการนำมาใช้งานจริง: เมื่อมีการทำ Dashboard หรือการวิเคราะห์ต่างๆแล้ว บ่อยครั้งจะพบว่า ผู้ใช้ก็ยังเป็นทีมไอทีที่ทำโปรเจ็ค องค์กรไม่ได้มีวัฒนธรรมในการใช้ข้อมูลในทุกภาคส่วน ซึ่งอันนี้ก็อาจเป็นเพราะคนในบ้านเราไม่ได้คุ้นเคยกับการใช้ข้อมูลมากนัก เราไม่ค่อยใช้ตัวเลขในการตัดสินใจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ใช้ข้อมูลมาในการตัดสินใจ มิฉะนั้นแล้วสิ่งที่ทำมาก็ไม่ได้เกิดการใช้งานจริง

จากที่เล่ามาทั้งหมดนี่ คือตัวอย่างที่จะบ่นให้ฟังในงานวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ถ้าท่านใดสนใจจะฟังผมบ่นเพิ่มหรือฟังวิทยากรท่านอื่นๆบ่น ก็สามารถลงทะเบียนได้ที่  >> Eventbrite  โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

บทนำ จากหนังสือรวมบทความปี 2562 ของผม

73251706_1522920721188596_4970794027956830208_n

ผมจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จบมาในยุคที่ยังเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ภาษา Fortran ด้วยการเจาะบัตรที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม เรียนจนปีสุดท้ายถึงจะเริ่มเห็นเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามา แล้วก็เริ่มหัดมาเขียนภาษาปาสคาล โปรล็อก และ ภาษาซี บนเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ ตอนไปเรียนปริญญาโทและเอกสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยโอ็กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ก็ได้เรียนเกี่ยวข้องกับวิชาคอมพิวเตอร์มากขึ้นหน่อยเพราะทำวิจัยทางด้าน Image Progrocessing และ Machine Leaning Algorithm และเมื่อใกล้ๆจะเรียนจบก็เริ่มมีระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาใช้ ทำให้สามารถเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนขึ้นและก็สามารถส่งโปรแกรมไปรันผ่านเครืองคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงข้ามประเทศได้ แต่ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และความเร็วของอินเตอร์เน็ตสมัยนั้นยังห่างชั้นกับปัจจุบันอย่างมากมาย

เมื่อจบปริญญาเอกกลับมาสอนหนังสือ และเขียนโปรแกรมต่างๆ ตลอดจนพัฒนาการเรียนรู้ตัวเองจนเป็น Certified Java Programmer ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักไอที มองว่าเราคือโปรแกรมเมอร์และอาจารย์ ที่อาจจะแปลกแยกกับโลกของธุรกิจหรือสังคมส่วนใหญ่ ไอทีในยุคนั้นยังเป็นเพียงแค่งานสนับสนุนให้องค์กรหรือธุรกิจทำงานไปได้ดีขึ้น แม้จะมีมือถือรุ่นใหม่ๆอย่างที่สามารถพัฒนาโปรแกรมภาษาจาวาอย่าง Nokia 7650 และตัวผมเองก็มีโอกาสไปสอนคนตามที่ต่างๆให้ใช้มืือถือรุ่นใหม่ ให้พัฒนาโปรแกรมบนมือถือ แต่ก็ยังเป็นโลกไอทีที่ยังไม่สอดคล้องกับธุรกิจมากนัก แม้จะมีการใช้อินเตอร์เน็ตแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการเชื่อมต่อโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่าทางมือถือ และความเร็วของการใช้อินเตอร์เน็ตก็ยังช้าอยู่

เมื่อเริ่มเข้ามาทำงานในภาคเอกชนกับบริษัท Sun Microsystems  ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของการใช้ไอทีมากขึ้น ตอนนั้นก็อยู่ในยุคอุตสาหกรรม 3.0 ที่เป็นยุคของไอที และกำลังเข้าสู่ช่วงของ Mobile First มีการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook การใช้มือถือเพื่อการสื่อสารก็เปลี่ยนจากการส่ง SMS หรือ MMS มาสู่การใช้มือถือเพื่อเล่นเว็บ เล่นโมบายแอปพลิเคชั่นต่างๆ โลกการพัฒนาโปรแกรมก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการเชื่อมต่อระบบต่างๆเข้าหากันผ่าน Service Oriented Platform (SOA) หลักการพัฒนาโปรแกรมก็เปลี่ยนไปมากขึ้น และก็เริ่มเข้าสู่ยุคแรกๆของ Cloud Computing เริ่มเห็นการเข้ามาของ Cloud Virtual Server หรือ  Cloud Storage

หลังจากนั้นผมเองก็มีโอกาสเข้าไปทำงานที่เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย และมาทำงานกับสถาบันไอเอ็มซี ซึ่งกำลังเข้ามาสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไปอย่างมาก มีเรื่องของ  Big Data, AI, IoT หรือ Blockchain เข้ามา ผู้คนหันมาใช้ไอทีและกลายเป็นเรื่องปกติ ไอทีกับองค์กรและสังคมเริ่มเป็นเรื่องเดียวกัน พฤติกรรมของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและเริ่มเห็นกระแสของ Digital Disruption ที่กำลังทำให้อุตสาหกรรมหรือธุรกิจแบบเดิมล้มหายตายจากไป เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค จากที่ไอทีเคยเป็นเพียงงานหลังบ้านสนับสนุนให้ธุรกิจทำงานได้ดีขึ้น กลายเป็นว่าไอทีเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ และองค์กรส่วนใหญ่ก็จะเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่ิอง Digital Transformation มีการพูดถึงกลยุทธ์ในด้านดิจิทัล การพัฒนากำลังคน การปรับเปลี่ยนองค์กรให้รองรับกระแสดิจิทัล และมีการผลักดันเป็นนโยบายประเทศอย่าง Thailand 4.0

ภาพของความเป็นคนไอทีที่แต่ก่อนเป็นเรื่องที่เคยดูแตกต่างจากกลยุทธ์ธุรกิจและเกี่ยวข้องกับสังคมไม่มากนัก ก็กลายเป็นว่าองค์กรและคนนอกวงการไอทีให้ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ตัวผมเองเลยต้องมีส่วนไปช่วยให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆเรื่องแนวโน้มของเทคโนโลยี การวางกลยุทธ์องค์กร การทำ Digital Transformation หรือแม้แต่ให้เข้าไปช่วยในการพัฒนาระบบ Big Data  และก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นบอร์ดและกรรมการอิสระในองคกร์ต่างทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ยิ่งทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและสังคมดีขึ้น

หนังสือเล่มนี้เลยได้รวมรวมบทความและข้อเขียนต่างๆที่ผมลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและ Business Today รวมถึงในบล็อกส่วนตัว thanachart.org ในรอบปีที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เข้าใจกระแสของ Digital Disruption และการทำ  Digital Transformation แนวโน้มของเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงาน ซึ่งก็หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านในการที่จะเข้ากระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีขึ้น

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute