แพลตฟอร์มออนไลน์กับปรากฎการณ์ Winner take all: ต้องลงทุนมีทักษะที่ถูก

การทำธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์มีความแตกต่างกับการทำธุรกิจในรูปแบบเดิมซึ่งการลงทุนในการตลาดส่วนใหญ่ก็เพื่อเน้นสร้างแบรนด์ของสินค้าโฆษณาให้คนรู้จัก รวมทั้งอาจมีการขยายสาขาเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น แต่การทำแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีวิธีการลงทุนที่ต่างกันใช้ทักษะที่แตกต่างกับการทำธุรกิจแบบเดิม ซึ่งผู้ชนะในธุรกิจออนไลน์มักจะสร้างปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Winner Take All คือรายใหญ่จะสามารถชนะรายเล็กๆได้หมด ทั้งนี้เพราะมีจำนวนผู้เข้าชมแพลตฟอร์มมากกว่า มีจำนวนลูกค้ามากกว่า และมีข้อมูลขนาดใหญ่มากกว่า

สัปดาห์นี้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อ Make disruption work : a CEO handbook for digital transformation ที่ได้พูดถึงผู้ชนะในธุรกิจออนไลน์ว่าคือผู้ที่สามารถขับเคลื่อนสมการการแปลง (Conversion equation) ได้ดีกว่า ซึ่งสมการนี้ระบุว่า กำไรสุทธิในธุรกิจออนไลน์ (Total margin) มาจาก จำนวนยอดผู้ที่เข้าชมแพลตฟอร์ม (Traffic) คูณกับ อัตราการแปลงจำนวนผู้เข้าชมเป็นยอดการสั่งซื้อ (conversion rate) คูณกับ กำไรเฉลี่ยแต่ยอดการสั่งซื้อ (Average margin) กล่าวคือ

Total margin =  Total traffic x Conversion rate x Average margin

ซึ่งการที่จะให้ได้ยอดผู้เข้าชมแพลตฟอร์มเยอะก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือบริหารจัดการ บางบริษัทก็อาจลงทุนด้วยการซื้อโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Google, Facebook หรือ Line บางบริษัทก็มีวิธีการในการทำ Data analytics เพื่อที่วิเคราะห์หรือหาผู้เข้าชมมาใหม่ ซึ่งแน่นอนก็เหมือนหลักการตลาดทั่วไปที่เงินลงทุนด้านนี้จำนวนที่เท่ากันอาจได้จำนวนคนที่เข้าชมไม่เท่ากัน บางบริษัทลงทุนโฆษณาผ่าน Keyword หรือแพลตฟอร์มต่างๆแต่ก็ไม่สามารถสร้าง Trafffic ได้มากเท่ากัยบริษัทที่มีนักการตลาดออนไลน์หรือทีมไอทีในการวิเคราะห์ข้อมูลเก่งๆได้

ทำนองเดียวกันเมื่อมีคนเข้ามาชมแพลตฟอร์มออนไลน์ บริษัทจะลงทุนอย่างไรเพื่อเปลี่ยนให้คนเหล่านั้นกลายมาเป็นลูกค้าสั่งซื้อสินค้าได้ ซึ่งแต่ละบริษัทมีความสามารถไม่เหมือนกัน บางบริษัทรู้จักใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของผู้เข้าชมได้ สามารถแนะนำสินค้าได้ผ่านระบบ Recommendation engine ที่ทำให้ผู้เข้าชมแต่ละรายเห็นข้อมูลในแพลต์ฟอร์มตามความต้องการของตนเอง บ้างการสามารถจะติดตามการเข้าชมของลูกค้าและนำเสนอสินค้าหรือส่วนลดแม้ลูกค้าออกจากแพลตฟอร์มไปแล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการลงทุนในแพลตฟอร์มออนไลน์มีความแตกต่างจากธุรกิจแบบเดิมๆ ใช้ทักษะคนที่ต่างกัน แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะเติบโตได้นั้น ในช่วงแรกอาจจะต้องยอมขาดทุนแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องเอารายได้รวมกับเงินลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นไปเป็นรายจ่ายในการที่จะมีผู้เข้าชมโตขึ้นแบบก้าวกระโดด และต้องหาวิธีการที่จะทำให้มี Conversion rate ที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ชนะในเกมส์นี้ที่บอกว่าเป็น Winner take all ก็คือธุรกิจที่สามารถอยู่รอดจากการขาดทุนในช่วงแรกจากการหายอดผู้เข้าชมและ conversion rate ส่วนธุรกิจกลุ่มเดียวกันที่ไม่มีทีมงานหรือเงินลงทุนที่มากพอก็จะล้มหายตายจากไป

การที่ธุรกิจออนไลน์แพลตฟอร์มจะขับเคลื่อนไปได้ดีจะต้องมีความสามารถ 5 ด้านดังนี้

  • ด้านการตลาดออนไลน์ จะต้องสามารถสร้างยอดการเข้าชมได้โดยใช้ การบริหารจัดการแบรนด์แบบออนไลน์, การเข้าใจประสบการณ์ลูกค้า (User experience), การทำ personalization, การจัดการ Search engine, การโฆษณาผ่าน Social media หรืออีเมล, การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM), การโฆษณารูปแบบเดิมเช่น TV หรือ billboard
  • ด้านไอที จะต้องสามารถใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้เข้าใจลูกค้าได้ดี ต้องสามารถจัดการเรื่อง การทำ Personalization ได้, สามารถนำเอไอเข้ามาในการบริหารจัดการได้ และสามารถออกแบบระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพได้ พร้อมที่จะรองรับลูกค้าจำนวนมากที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
  • ด้านการบริหารจัดการสินค้า จะต้องมีความสามารถในที่จะช่วยให้เกิด conversion rate ที่ดีได้เช่น การจัดการกลุ่มของสินค้า การนำเสนอสินค้าแบบ cross-selling หรือ up-sellimg ได้ การทำบริหารการซื้อขายสินค้าทีดี การกำหนดราคาสินค้าตามความต้องการของตลาด
  • ด้านการจัดส่งสินค้า จะต้องสามารถจัดการ supply chain mangement เพื่อให้ได้มีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการคลังสินค้า การจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า เพื่อที่จะทำให้กำไรเฉลี่ยต่อการสั่งสินค้ามีค่าที่ดี
  • ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล จะต้องมีความสามารถในการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) มาใช้ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล การทำรายงาน การพยากรณ์ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มยอดจำนวนผู้เข้าชม เพื่ม conversion rate รวมถึงการเพิ่มกำไรเฉลี่ยต่อการสั่งสินค้า

จากหลักการที่กล่าวมาจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นธุรกิจแบบเดิมๆที่เข้ามาโลกออนไลน์แล้วไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะยังมีวิธีคิดแบบเดิมๆ ขณะที่แพลตฟอร์มรายใหญ่ๆกลับโตขึ้นเรื่อยๆก็เพราะเขาเริ่มมีรายได้มากขึ้น มีเงินลงทุนเพื่อจะเพิ่มยอดจำนวนผู้เข้าชมได้มากขึ้น เข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น จนสุดท้ายเกิดปรากฎการณ์ Winner take all ที่รายอื่นๆไม่สามารถเข้ามาแข่งได้ เพราะเข้ามาแข่งขันช้าเกินไปแล้ว (Too late in the game)

ธนชาติ นุ่มนนท์

สถาบันไอเอ็มซี

ตลาดชุมชนออนไลน์ (Community E-commerce) ช่วยให้ผู้คนในสังคมยังอยู่รอด

92830119_1694949837319016_112408627100254208_n

ผมเป็นคนที่ซื้อของออนไลน์ ใช้บริการ Food delivery และบริการชำระเงินออนไลน์ผ่าน Mobile wallet มาตลอด ใช้เป็นประจำและแทบทุกแพลตฟอร์มเป็นเวลามานานแล้ว ซึ่งวิกฤติโควิด-19 ทำให้การซื้อออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะผู้บริโภคถูกบังคับให้จำเป็นต้องมาใช้บริการออนไลน์เหล่านี้ ดังนั้นพอผมต้องทำงานจากที่บ้าน และอยู่บ้านต่อเนื่องเป็นเวลานานๆก็เลยไม่ค่อยมีปัญหากับการปรับตัวใช้เทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้

นอกจากนี้วิกฤติครั้งนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะมาทำลาย (disrupt) รูปแบบธุรกิจเดิมๆหรือที่เราเรียกว่า Digital disruption มาถึงเร็วขึ้นกว่าที่คิดมาก ซึ่งจะมีผลทำใหเกิดการลดคนงานจำนวนมากและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และธุรกิจจำนวนมากจะล้มหายตายจากไป โดยอาจถูกแทนที่ด้วยธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆแบบ Grab, Alibaba หรือ Lazada

ในทฤษฎีของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง จะมีแนวคิดที่ว่า Winner take all กล่าวคือรายใหญ่จะเป็นผู้ครองตลาดเกือบหมด ด้วยความที่มีข้อมูลของลูกค้าและพาร์ทเนอร์จำนวนมาก จึงมีความสามารถในการทำ Data analytics และมีระบบเทคโนโลยีต่างๆที่อยู่เหนือคู่แข่ง ดังนั้นในธุรกิจแบบนี้เรามักจะเห็นการเข้าสู่ตลาดของแพลตฟอร์มต่างๆด้วยการทุ่มเงินมหาศาลในการซื้อลูกค้าหรือซื้อพาร์ทเนอร์ ทั้งใช้วิธีลดแลกแจกแถม ยอมขาดทุน แล้วทำให้รายเล็กอื่นๆ ตลอดจนธุรกิจในรูปแบบเดิมๆล่มสลายไป จากนั้นเมื่อตัวเองเป็นผู้ชนะแล้ว ก๋อาจจะใช้การผูกขาดทางการค้ามาเอาเปรียบพาร์ทเนอร์หรือลูกค้าได้ในอนาคต

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นบริษัทใหญ่หลายๆรายที่มีเงินทุนจำนวนมากจะเข้ามาทำธุรกิจแพลตฟอร์ม จะแสดงงบการเงินที่รายงานไปย้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เป็นตัวเลขขาดทุนอย่างต่อเนื่องกันมาหลายปี บางรายปีละเป็นพันล้านบาท การทำธุรกิจไม่ได้สร้างเงินภาษีให้กับประเทศไทย บางรายก็แทบไม่ได้สร้างงานอะไรให้กับสังคมไทย แถมยังไปเอาเปรียบรายย่อยเมื่อแพลตฟอร์มตัวเองเริ่มผูกขาด หลักการของแพลตฟอร์มต่างก็เน้นที่การผูกขาดทางการค้า คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่จะร่ำรวยขึ้นมา แต่ร้านค้าและบริษัทเล็กๆจำนวนมากก็อาจล่มสลาย และเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ดังจะเห็นได้ว่าช่วงนี้แพลตฟอร์มส่งอาหารหลายรายก็เริ่มขึ้นราคากับคู่ค้า และเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจโตขึ้น แม้ทางบริษัทยังจะบ่นว่าขาดทุนต่อ แต่คนที่น่าสงสารก็คือร้านค้าที่อาจต้องปิดไปเพราะอยู่ไม่ได้จากต้นทุนที่ถูกสูงขึ้นเพราะแพลตฟอร์มขึ้นราคาค่าบริการ และลูกจ้างอีกจำนวนมากที่อาจต้องตกงาน  รวมถึงผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อแพลตฟอร์มผูกขาดตลาดสามารถขึ้นราคาตามใจชอบได้

ผมอยู่ในอนุกรรมาธิการการพาณิชย์วุฒิสภาซึ่งได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ เรื่องการผูกขาดและการเอาเปรียบทางการค้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ใช่แค่ร้านค้าเริ่มอยู่ไม่ได้ แต่ยังมีผลมาถึงธุรกิจ logistic ในประเทศที่ถูกเอาเปรียบ จึงจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไข ซึ่งผมได้เรียนคณะกรรมาธิการว่าเราควรเริ่มศึกษาแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงนี้คือเรื่องของตลาดชุมชนออนไลน์ (Community E-commerce) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภตในอนาคต

Screenshot 2020-04-26 13.26.12

Screenshot 2020-04-26 13.25.38

เราเริ่มต้นเห็นจากศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งมาทำตลาดออนไลน์ทั้ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ด้วยการสร้างกลุ่ม Facebookให้ฝากประชาสัมพันธ์สินค้าตัวเอง  ซึ่งก็เริ่มขยายผลไปอีกหลายแห่ง ผมเองก๋ร่วมกลุ่มย่อยอย่างศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ ตลาดออนไลน์ชาวกันเกราของม.อุบลราชธานี และก็เห็นเพื่อนๆหลายคนก็ไปสั่งสินค้าเช่นมังคุดมาจากศิษย์เก่าที่ส่งมาทาง EMS จนผู้ขายสามารถขาได้หมดด้วยเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ก็ยังมี อบจ. และเทศบาลอีกหลายๆแห่งที่ทำ Facebook หรือ Line แบบง่ายๆในการซื้อขายสินค้า ซึ่งเรากำลังเริ่มเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังจะเชื่อมให้ผู้ผลิตต้นทางสามารถติดต่อได้โดยตรงกับผู้ซื้อปลายทาง โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหรือใช้แพลตฟอร์มใหญ่ๆในรูปแบบเดิมๆ

ตัวอย่างสินค้าที่ขายในตลาดออนไลน์ชุมชนในต่างจังหวัด

94841920_224351672336274_5512710731960680448_n

Line กลุ่มตลาดออนไลน์์ในหมู่บ้าน

ตัวผมเองช่วงนี้ก็เน้นใช้ Line กลุ่มของหมู่บ้านและบริเวณใกล้ๆ 3-4 กลุ่มในการสั่งอาหารและสินค้า ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีสมาชิกกันประมาณไม่เกิน 500 คนเราสามารถสั่งอาหารจากร้านในชุมชน บางทีตามบ้านก็ทำขายเป็นรายได้เสริม บางคนก็ไปสั่งสินค้าอื่นๆและผลไม้มาขาย บ้างก็รับไปซื้ออาหารอร่อยๆมาให้ทานโดยขอเพิ่มค่ารถเล็กน้อย มันคือระบบอีคอมเมิร์ซชุมชน ทำกันง่ายๆ ผู้ขายก็มาโพสต์ข้อความสั้นๆทุกวัน พวกเราในชุมชนก็มาซื้อในราคาที่ย่อมเยา ไม่ต้องไปเสียค่าบริการมากมายให้กับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ไม่ต้องมีการทำ Data analytics มากมายเพราะมันเป็นเพียงตลาดชุมชนเล็กๆของแต่ละชุมชม สุดท้ายก็กลับมาเป็นวัฒนธรรมแบบเดิมของสังคมชุมชนในที่ต่างๆ

การเกิดของตลาดชุมชนออนไลน์เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดมาจากการที่ชุมชนและสังคมต้องการจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สุดท้ายถ้าเราให้การสนับสนุนเรื่องนี้ดีพอ เราอาจเห็นตลาดชุมชนออนไลน์ต่างๆมากมายเป็นหมื่นๆเป็นแสนๆแห่ง เป็นเสมือนตลาดนัดตลาดสดแบบเดิมที่เราเคยทำแบบ Physical  แม้จะไม่ใช่แฟลตฟอร์มใหญ่โต แม้จะไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน และอาจไม่เกิดหลักการ Winner take all แต่สำคัญที่สุดทุกๆคนอยู่ได้ ธุรกิจไม่เกิดการล่มสลาย หลายๆคนยังมีงานมีรายได้ จากการเกื้อกูลกันของคนในสังคม

ใช่ครับวันนี้มาช่วยๆกันสนับสนุนตลาดชุมชนออนไลน์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ทุกคนในสังคมไทยอยู่ได้

ธนชาติ นุ่มมนท์

IMC institute

 

 

การประชุมออนไลน์กำลังกลายเป็น New Normal แต่วิธีบริหารการประชุมยังเป็นสิ่งสำคัญสุดไม่ได้อยู่ที่ซอฟต์แวร์

92830119_1694949837319016_112408627100254208_n

แม้ผมจะทำงานในหลายๆแห่งทั้งที่สถาบันไอเอ็มซีและเป็นกรรมการในหน่วยงานต่างๆหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ผมเป็นคนที่ไม่มีโต๊ะทำงานประจำและคุ้นเคยกับการทำงานที่ไหนก็ได้ ผ่านคอมพิวเตอร์หรือแทปเล็ต รวมถึงการประชุมออนไลน์บ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากเคยทำงานบริษัทต่างชาติก็เลยคุ้นเคยกับการทำ Conference Call หรือ Video Call ผ่านระบบต่างๆทั้ง WebEx, Google Hangout, Facebook หรือแม้แต่ Zoom ก็เริ่มใช้เมื่อต้องคุยกับพาร์ทเนอร์ต่างชาติมาหลายปีแล้ว

ดังนั้นเมื่อผมต้องทำงานจากที่บ้าน WFH จึงไม่ได้เป็นปัญหาและอุปสรรคอะไรเลย เพราะผมคุ้นเคยกับเครื่องมือต่างๆเหล่านี้ตลอด และข้อสำคัญเป็นคนที่ไม่ยึดติดอยู่กับกระดาษ เอกสารต่างๆนิยมที่จะเก็บไว้บนระบบคลาวด์เนื่องจากไม่มีออฟฟิศประจำจึงจำเป็นจะต้องสามารถค้นหาเอกสารจากที่ไหนก็ได้ หรือจากอุปกรณ์อะไรก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงและดีใจกับการทำงานแบบ WFH รอบนี้คือ หน่วยงานต่างๆและผู้คนก็หันมาทำงานในรูปแบบเดียวกันกับผม มีการประชุม e-Meeting เพื่อหารือแลกเปลี่ยนในเรื่องต่างๆ การทำเอกสารบนระบบคลาวด์ ทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้นและได้งานมากขึ้น

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาผมได้มีการเข้าประชุม e-Meeting กับหลายๆหน่วยงานทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีตั้งแต่การประชุมในหน่วยงานที่ผมเป็นกรรมการอยู่อาทิเช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อนุกรรมาธิการวุฒิสภา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) รวมถึงการประชุมบอร์ดบริษัทมหาชนต่างๆอาทิเช่น บริษัททุนธนชาต (TCAP) รวมถึงการประชุมในการทำโครงการต่างๆกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ของสถาบันไอเอ็มซีในการทำโปรเจ็คด้าน Big Data ซึ่งในการประชุมในแต่ละหน่วยงานก็มีการใช้เครื่องมือที่ต่างกันทั้ง Zoom, Microsoft Team และ WebEx

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ทุกคนมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น การประชุม e-Meeting เริ่มกลายเป็น New Normal จากที่เราเคยคิดว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ก็กลับพบว่าผู้ใหญ่หลายท่านมีความสามารถในการใช้เครื่องมือในการประชุมเป็นอย่างดี ทำให้การทำงานที่ต้องมีการประชุมที่สำคัญต่างๆไม่หยุดชะงัก และสามารถเปลี่ยนการประชุมจากรูปแบบเดิมมาเป็นออนไลน์ บางครั้งเป็นการประชุมบอร์ดที่ต้องมีการอนุมัติงบประมาณ การแต่งตั้งผู้บริหารหรือพนักงานต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องยึดประกาศการประชุม e-Meeting ของ คสช. เพื่อให้การประชุมมีผลถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายเลขานุการและผู้เข้าร่วมประชุมก็สามารถปฎิบัติได้เป็นอย่างดี

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกประการในแง่ของกฎหมายคือเมื่อวันที่ 19เมษายนที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุม e-Meeting ใหม่โดยยกเลิกประกาศ คสช.เดิมแลัวก็ได้ปลดล็อกข้อกำหนดบางอย่างที่เดิมเคยเป็นอุปสรรคต่อการประชุมออนไลน์อาทิเช่น องค์ประชุม 1 ใน 3 ต้องอยู่ในที่เดียวกัน หรือการที่เดิมกำหนดว่าผู้เข้าประชุมออนไลน์ต้องอยู่ในประเทศไทย จากการออกกฎหมายใหม่นี้ทำให้การประชุมเป็นทางการของหน่วยราชการ การประชุมบอร์ดบริษัทต่างๆ หรือการประชุมที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายสามารถทำได้ง่ายขึ้น ผู้เข้าประชุมทุกคนสามารถจะอยู่ที่ไหนก็ได้แล้ว และก็สามารถที่จะจัดการประชุมออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆที่สามารถบันทึกการประชุมได้โดยง่ายขึ้น

แต่กระนั้นก็ตามหลายๆคนก็ยังกังวลกับเทคโนโลยีที่จะใช้ในการประชุม ยิ่งมีข่าวว่าระบบการประชุมอย่าง Zoom ขาดตามปลอดภัยอาจถูกแฮก ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้ Facebook หรือแม้แต่ข่าวเรื่อง Zoom มี bugs ที่ทำให้ถูกขโมยรหัสผ่าน Windows ได้ และ การถูกแฮกเกอร์เข้ามาป่วนการประชุม (Zoombombing) ก็ทำให้คนกังวลในการเลือกหาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการประชุม บ้างก็พยายามเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดจะเหมาะสมกว่ากัน

93124204_10222640155580922_2967274071651254272_n

สถานการณ์โควิดทำให้เทคโนโลยี e-Meeting โดยเฉพาะ Zoom ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย ซึ่ง Zoom ออกมาเมื่อหลายปีก่อนเพื่อการประชุมแบบสาธารณะตั้งใจให้ใช้ง่าย มีการแชร์หมายเลขประชุมง่าย ซึ่ง Zoom ก็อาจจะมองข้ามไปในเรื่องความปลอดภัยจึงทำให้ระบบมีช่องว่าง การโตขึ้นอย่างกระทันหัรทำให้ช่วงแรก Zoom ปรับตัวให้ใช้กับองค์กรไม่ทัน แต่ล่าสุด Zoom ก็ได้แก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้หมดไป ทั้งการตัด Feature ด้านการปล่อยให้เข้าประชุมได้โดยง่าย การไม่ได้เข้ารหัส Encryption แบบ 100% การส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้ Facebook การมี bugs ที่ทำให้ถูกขโมยรหัสผ่าน Windows และการถูกแฮกเกอร์เข้ามาป่วนการประชุม ประกอบกับการที่ Zoom สร้างนโยบายความเป็นส่วนตัว (privacy data) ให้ชัดเจนมากขึ้น จึงทำให้ผู้ที่มีความเข้าใจด้านการใช้โปรแกรม Zoom  คลายความกังวลไปได้ และก็พบว่าซอฟต์แวร์การประชุม e-Meeting ที่มีอยู่ทั่วไปก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก

จริงๆแล้วจากประสบการณ์ผมปัจจัยที่สำคัญสุดในการประชุมออนไลน์ที่ดีคือ การบริหารการประชุม การมีวินัยและมีมารยาทของผู้ร่วมประชุม มากกว่าเรื่องของเทคโนโลยีเสียด้วยซ้ำไป เลขานุการในที่ประชุมต้องเข้าใจการบริหารการประชุมที่ดีเช่น การให้ผู้เข้าประชุมแสดงตัวตน ประธานในที่ประชุมก็ต้องควบคุมผู้เข้าประชุมพูดอยู่ในประเด็นและทำให้การประชุมเข้าประเด็นมีความกระชับไม่เนิ่นนานเกินไป ผู้เข้าประชุมก็ต้องแสดงตัวตน มีการเห็นหน้าเปิดกล้องของผู้เข้าประชุมชัดเจนตลอดเวลาประชุม มีการแสดงตัวชัดเจน มีการนำเสนอประเด็นที่ดีให้ได้ใจความ ไม่พูดออกนอกประเด็นและมีมารยาทในการประชุมทีดี

หลายๆองค์กรห่วงแต่เรื่องเทคโนโลยี ห่วงว่าจะการประชุมขาดความปลอดภัย ต้องหาซอฟต์แวร์ e-Meeting ที่เป็น End-to-end encryption มาใช้ ทั้งๆที่ซอฟต์แวร์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวที่มีอยู่ในปัจจุบันก็อาจไม่มีตัวใดที่ราคาถูก และถ้าเราจะเลือกใช้ซอฟต์แวร์อื่นๆที่มีอยู่ก็จะมีจุดอ่อนพอๆกัน สำคัญสุดอย่าใช้ประชุมเรื่องที่มีความลับแนะนำว่าถ้าลับ ก็ควรปิดห้องประชุมและ Face to face เท่านั้น (แบบนั้นบางทีก็ยังรั่วออกมา) จากประสบการณ์ที่ผมการประชุม e-Meeting ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรเป็นความลับมากหรอกครับ ยิ่งถ้าใช้การเรียนการสอนแทบไม่ต้องมีข้อกังวลใช้ได้ทุกตัวละครับทีคิดว่าเหมาะสม อุดหนุนระบบของคนไทยได้ยิ่งก็ดี

บางองค์กรถกเถียงกันใหญ่โตว่าจะใช้เครื่องมืออะไรดี แต่สุดท้ายโน๊ตบุ้คหรือมือถือพนักงานทั้งใช้เล่น Facebook, Social media หรือลงโปรแกรมอื่นๆ ท่องเว็บดูหนังฟังเพลง เล่นเกมส์ เต็มไปหมด แต่กลับมาห่วงเรื่องนี้ ทั้งๆที่องค์กรไม่เคยมีนโยบายป้องกันหรือห้ามการลงซอฟต์แวร์ใดๆในเครื่อง วันนี้สำคัญสุดคือให้งานเริ่มเดินต่อเนื่องให้ได้ก่อนครับ อะไรที่เป็นความลับมากก็ยังต้องไปประชุมร่วมกันแบบปกติ

สุดท้ายสำคัญสุดการประชุมที่ดีไม่ว่าจะประชุมแบบปกติหรือออนไลน์ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือแต่อยู่ที่คนและการบริหารจัดการประชุม มากกว่า เทคโนโลยีคือประเด็นรองลงมาก และสำคัญสุดก็คือมารยาทและวินัยของผู้ร่วมประชุม

ธนชาติ นุ่มนนท์

สถาบันไอเอ็มซี

การเสวนาหัวข้อ “ความพร้อมของมหาวิทยาลัยไทยกับการเรียนการสอนออนไลน์ ในยุควิกฤติโควิด-19”

93322987_1696217040525629_5200657121405829120_n

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ทางสถาบันไอเอ็มซีได้จัด Webinar ที่เป็นการเสวนาในหัวข้อ “ความพร้อมของมหาวิทยาลัยไทยกับการเรียนการสอนออนไลน์ ในยุควิกฤติโควิด-19″โดยได้เชิญวิทยากรมาสี่ท่านคือ

  1. ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี -รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. อาจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล – รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. ดร. วรสรวง ดวงจินดา -ผู้อำนวยการ สำนักการจัดการศึกษาออนไลน์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  4. อาจารย์เอกอนันต์ ทองแท้ -วิทยากรด้าน Big Data / Data Analytics สถาบันไอเอ็มซี

โดยมีผมเองเป็นผู้ร่วมบรรยาย และได้เกริ่นนำให้เห็นแนวโน้มว่าการศึกษากำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงไปจากกระแสของอุตสาหกรรม 4.0 และเทคโนโลยีดิจิทัล แต่วิกฤติโควิดทำให้โลกในอนาคตมาถึงเร็วขึ้น โดยสามารถดูสไลด์ประกอบการบรรยายของผมได้ที่ url >>  https://tinyurl.com/ya2kffyu

93307309_1698163793664287_8573656223566528512_o

จากนั้น ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี ได้บรรยายให้เห็นในมุมมองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า วิกฤติโควิดทำให้การเรียนการสอนออนเลน์มาเร็วกว่าที่คิด และอาจารย์ส่วนมากกระตือรือล้นที่จะปรับตัว โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการวางแผนในหลายๆเรื่องอาทิเช่น

  • ช่วงประกาศให้ปิดมหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงสอบปลายภาคที่สอง ก็ปรับให้เป็นการสอบออนไลน์ และในช่วงภาคฤดูร้อนให้เน้นเปิดวิชาออนไลน์ที่เป็นแบบบรรยาย
  • ในการเปิดภาคการศึกษาใหม่ปีการศึกษาหน้า มหาวิทยาลัยจะงดกิจกรรมรับน้้อง แต่จะแทนที่ด้วยการเสริมทักษะให้นักศึกษาใหม่ได้เรียนรู้การเรียนแบบออนไลน์ทางไกลแทน
  • มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนเทคโนโลยีในหลายๆด้านทั้งระบบ LMS เครื่องมือการประชุมออนไลน์ โดยมีการจัดหาซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ต่างๆมาช่วยบุคลากรในการจัดการเรียนการสอน
  • มหาวิทยาลัยมีระบบพี่เลี้ยงที่จะช่วยให้คำแนะนำ และพัฒนาการสอนออนไลน์ทั้งแบบสด และอัดเนื้อหาไว้
  • มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะพิจารณาลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ตลอดจนหาแนวทางจัดสรรอุปกรณ์ให้กับนักศึกษาขาดทุนทรัพย์
  • การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเป็นการใช้ Webinar ผ่าน zoom เพื่อรองรับนักศึกษาจำนวนเกือบหนึ่งหมื่นคน
  • บุคลากรมหาวิทยาลัยมีความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และทราบดีว่าหากไม่ปรับตัวต่อไปจะแข่งขันลำบาก
  • มหาวิทยาลัยกำลังพิจารณาจัดระบบการเรียนการสอนใหม่ เพราะวิชาที่มีปฎิบัติการต้องให้นักศึกษามาใช้ห้องปฎิบัติการจะต้องจัดการสอนเป็นบล็อกโมดูล อาจให้นักศึกษาผลัดกลุ่มกันเข้ามาอยู่หอ เป็นชุดๆให้เสร็จทุกวิชาภายใน 3-4 สัปดาห์
  • การจัดการเรียนการสอนออนไลน์คือการวางนโยบาย และรูปแบบการศึกษาใหม่ ไม่สามารถที่จะให้อาจารย์แต่ละคนไปจัดเองได้หมด ต้องเป็นความร่วมมือกันในระหว่างสาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัย ที่บางครั้งอาจต้องจัดตารางการศึกษาแบบใหม่
  • การสอบออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่สามารถจะใช้วิธีการสอบแบบปรนัยได้ แต่ควรจะเป็นงานให้นักศึกษาทำ

ดร. วรสรวง ดวงจินดา ในฐานะของผู้ที่เป็นหลังบ้านของมหาวิทยาลัยศรีปทุมในการผลักดันให้มีการเรียนการสอนออนไลน์มาตลอด ซึ่งแต่ก่อนอาจเป็นเรื่องยากที่จะชักชวนอาจารย์ให้มาร่วม แต่พอเกิดวิกฤติโควิดก็ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์เป็นอย่างดี โดยอาจารย์ให้ข้อคิดประเด็นต่างๆดังนี้

  • มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงเพราะอาจถูก disrupt ได้เช่นอุตสาหกรรมอื่นๆ เหมือนตัวอย่างของ  Netflix ที่มาแทนที่ Blockbuster หรือ Airbnb ที่มาแข่งกับโรงแรม
  • ทีมงานของอาจารย์ทำหน้าที่สนับสนุนให้อาจารย์มหาวิทยาลัย ทุกคณะทุกเพศ ทุกวัย ทุกวิทยาเขต ได้รู้จักการใช้เครื่องมือ เพื่อทำการสอนสดออนไลน์ การทำ Video on demand การทำกิจกรรมออนไลน์ และการวัดประเมินผลออนไลน์
  • การอบรมผู้สอนจะเป็นการอบรมออนลไน์ 1:1 โดยจะมีโค้ชเข้าไปเป็นผู่้เรียนสมมุติ โดยใช้เครื่องมือต่างๆอาทิเช่น Zoom, Microsoft Team หรือ Google meet
  • นักศึกษามีความสนใจกับการเรียนออนไลน์มากกว่าการเข้าเรียนปกติ และสามารถจะสื่อสารกับนักศึกษาได้ดีกว่าเดิม อาจารย์ได้แสดงตัวอย่าง comment ที่นักศึกษาหลายคนพึงพอใจกับรูปแบบการสอนแบบนี้
  • การสอนสดออนไลน์จะต้องทำให้ไม่น่าเบื่อควรจะต้องมีลูกเล่นโต้ตอบกับผู้เรียนตลอดเวลา โดยใช้คำว่า Fun > Engagement
  • การวัดผลนักศึกษาจะต้องเน้นให้มีการวัดผลย่อยๆบ่อยครั้ง ที่จะดีกว่าการสอบเพียงแค่Midterm หรือ Final แบบเดิม
  • สไลด์การบรรยายของอาจารย์สามารถดูได้ที่ url >> http://bit.ly/imc_covid

อาจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล ได้กล่าวในฐานะผู้สอนที่ต้้องสอนวิชา Gen-Ed ให้นักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยที่ชื่อ Innovative thinking (การคิดเชิิงนวัตกรรม) ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องเน้นในการทำกิจกรรมกลุ่ม เมื่อมาสอนออนไลน์ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างดังนี้

  • การสอนออนไลน์ สิ่งสำคัญคือระบบเสียง ทางภาควิชาจึงได้จัดหาอุปกรณ์ USB Microphone ให้กับอาจารย์ทุกคน
  • วิชาการคิดเชิิงนวัตกรรม เน้นทำวิดีโอคลิปให้ชมไม่มีการสอนสด
  • เนื้อหาวิชาต่างๆเก็บไว้ที่ระบบ LMS ของมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์ในภาควิชาได้พัฒนาขึ้น
  • เครื่องมือที่ใช้โต้ตอบกับนักศึกษามีทั้งอีเมล Line และผ่าน LMS platform (My CourseVille)
  • นักศึกษาจะเข้ามาเรียนผ่านวิดีโอที่อัดไว้ตอนไหนก็ได้ ซึ่งจากที่พบคือนักศึกษาส่วนมากชอบมาเรียนในเวลาดีกๆ
  • อาจารย์มีการสอนสดผ่าน  Zoom แต่เน้นเพียงเพื่อใช้ในการถามและตอบข้อสงสัยของนักศึกษาหลังจากได้ชมคลิปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีนักศึกษาเข้ามาเรียนในแต่ละครั้งมากนัก
  • การวัดผลอาจารย์มีการบ้าน และมีการสอบแบบปรนัยที่ข้อสอบแต่ละคนแบบสุ่มมา
  • บทบาทของอาจารย์ในอนาคตจะต้องเป็น คนสร้างเนื้อหา ผู้ดูแลให้คำแนะนำแหล่งข้อมูลต่างๆ และต้องเป็นโค้ชที่ให้คำปรึกษา
  • การแข่งขันของมหาวิทยาลัยในอนาคตจะเปลี่ยนไปเพราะต้องแข่งกันไม่ใช่แค่ภายในประเทศ แต่อาจต้องแข่งกับมหาวิทยาลัยดังๆในต่างประเทศ
  • สไลด์การบรรยายของอาจารย์สามารถดูได้ที่ >> https://tinyurl.com/yblu4fkoc

สุดท้ายอาจารย์เอกอนันต์ ทองแท้ ได้ให้มุมมองการสอนออนไลน์ ในฐานะวิทยากรด้าน Big Data / Data Analytics ของสถาบันไอเอ็มซี ที่ต้องมาสอนออนไลน์ให้กับผู้เรียนที่เป็นคนทำงาน

  • การสอนออนไลน์ถ้าเป็นการอัดวิดีโอ อรรถรสจะไม่เหมือนเดิมผู้สอนต้องปรับตัวไปอย่างมาก
  • การสอนสดออนไลน์ ผู้สอนจะต้องคงรูปแบบการสอน และอรรถรสที่เป็นวิธีการสอนที่ให้น่าติดตามไว้ ้เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนุก
  • เครื่องมือที่อาจารย์ใช้สอนออนไลน์มีทั้ง Zoom และ Anydesk เนื่องจากวิชาที่สอนมีปฎิบัติการ บางครั้งต้องเข้าไปช่วยผู้เรียนทำ Lab ซึ่งก็ต้องใช้ TA มาช่วย
  • ผู้เรียนที่ยังอยู่ในวัยทำงานจำนวนหนึ่งยังอาจชอบการสอนแบบเดิมมากกว่า
  • มหาวืทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวเพราะความต้องการบัณฑิตในอนาคตได้เปลี่ยนไปแล้ว

สำหรับวิดีโอการบรรยายย้อนหลัง สามารถตามดูได้ที่ YouTube ช่อง IMC institute

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

วิกฤติ COVID-19 สู่การเรียนออนไลน์ กลายเป็นตัวเร่งให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดตัวเร็วขึ้น

92647706_1688579801289353_3995388160258342912_n

ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 เรามักจะพูดกันเสมอว่ามหาวิทยาลัยจะถูก Disrupt จากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถ้าเราแปลคำว่า Disruption ง่ายๅก็อาจหมายถึงการหยุดชะงักหรือการถูกทำลายออกไป นอกจากนั้นก็มีผลมาจากการที่จำนวนนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อมีจำนวนลดลง ประกอบกับสถาบันการศึกษามีจำนวนมากเกินไปและหลายหลักสูตรไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ในนปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ หลายๆมหาวิทยาลัยได้เห็นตัวเลขของการรับนักศึกษาตามระบบ TCAS ทั้งสองรอบแล้ว ก็เริ่มมีความเป็นห่วงต่อจำนวนตัวเลขนักศึกษาที่สมัครและตอบรับเข้ามาที่ชัดเจนว่ามีจำนวนลดลงอย่างมาก ซึ่งมีผลกระทบในหลายๆด้าน อาทิเช่น

  • บางมหาวิทยาลัยหลายคณะหรือสาขาวิชามีผู้สมัครจำนวนน้อยกว่าปีก่อนๆมากจนไม่มั่นใจว่าจะมีจำนวนที่เหมาะสมกับการสอนไหม
  • คณะหลายคณะในมหาวิทยาลัยบางแห่งมีรายได้หลักมาจากเงินรายได้ และไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งก็อาจมีผลต่อเงินเดือนและค่าใช้จ่ายของบุคลากร

มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการประชุมกันเพื่อหาแนวทางอยู่รอดในระยะยาว มีการปรับหลักสูตร การเตรียมความพร้อมสู่ระบบออนไลน์ การสอนสำหรับผู้เรียนในวัยทำงาน แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงหรือ Digital Transformation ในช่วงก่อน COVID-19 ยังไม่มีพลังพอ การขับเคลื่อนก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะบุคลากรจำนวนหนึ่งยังอยู่ใน Comfort Zone และยังคิดว่าอีกนานหลายปีกว่า Digital disruption จะมาถึง

ทันทีที่มหาวิทยาลัยต้องปิดเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 และหลายแห่งเริ่มเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงการทดแทนการสอนในรูปแบบเดิมๆเพียงชั่วคราว แต่จริงๆแล้วถ้าคิดกันว่าวิกฤตินี้กำลังทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล และ COVID กำลังกลายเป็นตัวเร่งทำให้ทุกองค์กรต้องทำ Digital Transformation ภาคบังคับและกำลังทำให้โลกหลังยุคโควิด ซึ่งอาจเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปหลายๆอย่างอาทิเช่น

  • ออฟฟิศที่ทำงานจะไม่เหมือนเดิม
  • คนทำงานจะต้องมีทักษะและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป
  • อาชีพบางอย่างอาจจะหายไป
  • การเรียนการสัมมนาจะมุ่งสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น
  • ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านดิจิทัลจะเติบโตขึ้น
  • การใช้เทคโนโลยีเอไอจะแพร่หลายมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้จะยิ่งมีผลกระทบอย่างมากถ้าวิกฤติ COVID-19 ลากยาวไปอีกหลายเดือน ยิ่งถ้าเรายังไม่สามารถหาวัคซีนมารักษาและเรื่อง Social distancing ยังมีความสำคัญ คนยังต้องใช้ชีวิตออนไลน์ การเรียนการสอนยังอยู่ในรูปออนไลน์ ทุกคนก็จะมีคามคุ้นเคยกับชีวิตออนไลน์และจะทำให้สุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อน  COVID-19 กำลังเป็นตัวเร่งทำให้มหาวิทยาลัยถูก Disrupt เและเราอาจเห็นหลายๆมหาวิทยาลัยหรือหลายสาขาจะต้องปิดตัวเร็วๆนี้

92109976_1689653821181951_7000020471630528512_n

หลังยุค COVID ออฟฟิศและรูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนเดิม ความต้องการคนในการทำงานจะมีน้อยลง คนทำงานจะต้องมีทักษะเชิงดิจิทัล มีความสามารถเฉพาะบางด้าน อาชีพหลายอาชีพจะเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญสุดคือสำหรับหลายๆบริษัทใบปริญญาของคนทำงานจะเริ่มไม่มีความหมาย แต่ต้องการคนทำงานได้จริง สามารถเข้าใจรูปแบบการทำงานแบบใหม่ จะเรียนจากที่ไหนก็ได้ และต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาซึ่งอาจเป็นการเรียนก็อาจต้องเรียนออนไลน์

ผู้เรียนเองที่ต้องมาเรียนออนไลน์ในมหาวิทยาลัยก็จะเริ่มมีคำถามว่า ทำไมต้องมาเรียนออนไลน์กับมหาวิทยาลัยนี้ ในเมื่อโลกออนไลน์สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ หลักสูตรไหนก็ได้ หรือเรียนกับผู้สอนคนไหนก็ได้ ในเมื่อสอนออนไลน์เหมือนกันลดการเดินทาง ผู้เรียนย่อมเลือกเรียนในสถาบันซึ่งสอนออนไลน์ได้ดีที่สุด และเผลอๆอาจเรียนหลายๆหลักสูตรพร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องจบจากมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ยิ่งผู้ประกอบการมีความต้องการคนทำงานที่มีทักษะจริงมีความรู้จริง ผู้เรียนก็ยิ่งต้องขวนขวายหาความรู้อย่างจริงจัง อาจต้องการประกาศนียบัตร (Certification) จากสถาบันขั้นนำมากกว่าการเรียนเพื่อเอาเกรดแบบเดิมๆ

สาขาที่จะอยู่รอดได้ก็คือสาขาที่ยังมีความต้องการสูงหรือสาขาที่สามารถรองรับการทำงานในอาชีพใหม่ๆหลังยุค COVID ได้ รวมถึงสาขาที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนออนไลน์ได้เนื่องจากมีวิชาปฎิบัติการ เช่นสาขาทางวิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์เกษตรศาสตร์​หรือด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องการลงมือปฎิบัติจริง

ส่วนสาขาที่สามารถสอนออนไลน์ได้จะมีการแข่งขันสูง มหาวิทยาลัยจะแข่งขันแบบไร้พรมแดน ต้องสู้กับหลักสูตรออนไลน์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาทั่วโลก มหาวิทยาลัยใดมีรูปแบบการสอนออนไลน์ได้ดีกว่า มีชื่อเสียงที่ดีกว่า มีผู้สอนที่มีความโดดเด่นย่อมจะได้เปรียบ

รายได้ของมหาวิทยาลัยก็จะน้อยลงเนื่องจากหลายหลักสูตรจะเป็นการสอนออนไลน์ ไม่สามารถจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่าเดิมได้ รูปแบบการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยจะไม่เป็นเช่นเดิม บุคลากรสายสนับสนุนจำนวนมากก็อาจมีภาระงานที่น้อยลงและต้องการทักษะดิจิทัลมากขึ้น อาจารย์ที่อยู่ในสาขาที่ต้องสอนออนไลน์แล้วไม่สามารถพัฒนารูปแบบการสอนหรือเพิ่มความรู้ใหม่ๆได้ก็อาจประสบปัญหาในการสอน

การเข้าสู่ยุค COVID ทำให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ในช่วงนี้มหาวิทยาลัยอาจต้องปรับตัวเองเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และอาจต้องพัฒนาการเรียนการสอนแบบบริษัท Start-up ด้วยรูปแบบการทำหลักสูตรหรือการสอนแบบ MVP (minimum viable product) กล่าวคือไม่จำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีหรือเนื้อหาหลักสูตรทุกอย่างที่สมบูรณ์ตั้งแต่ตอนเริ่มการสอนเลย แต่ปรับตัวไปเรื่อยๆทั้งเนื้อหาเทคโนโลยีที่ใช้ และรูปแบบการสอน อะไรที่ผิดพลาดก็ปรับเปลี่ยน  อะไรที่ดีก็ต้องทำต่อ ให้หลักการ Fail fast learn fast กล่าวคือหากผิดพลาดก็ให้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว

ในระยะยาวมหาวิทยาลัยต้องคิดที่จะปรับเปลี่ยน ทำองค์กรให้เล็กลงให้มีความคล่องตัว ปรับกฎระเบียบ ต้องคิดทุกอย่างโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก่อน (Digital First) เว้นแต่ไม่สามารถใช้ดิจิทัลได้ค่อยกลับมาสู่รูปแบบเดิม

วันนี้ไม่ใช่วันแห่งการรอคอยว่าเมื่อไรรูปแบบเดิมจะกลับมา เพราะไม่น่าจะมีอีกแล้ว วันนี้คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ องค์กรต่างๆต้องคิดและวางแผนโดยทันที เราคงรอไม่ได้จึงต้องเริ่มหา Product และ Services ใหม่ๆเพื่อรองรับยุค Post-COVID ที่ได่เริ่มแล้ว

ผมเชื่อครับสหลายๆมหาวิทยาลัยคงปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายก็จะเจอปัญหาเรื่องกระแสเงินสดจากการที่นักศึกษาน้อยลง มหาวิทยาลัยรัฐเองหลายแห่งก็จะถูกตัดงบประมาณไปใช้ในเรื่องที่จำเป็นมากกว่า งบประมาณที่มีจำกัดในอนาคตคงต้องใช้เพื่อให้เป็นการสร้างบุคลากรของชาติที่ตรงกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป สุดท้ายคงจะไม่แปลกใจละครับว่าวิกฤติ COVID-19 คงจะทำให้มหาวิทยาลัยหรือคณะหลายแห่งต้องปิดตัวเองไปในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยของรัฐ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

 

สรุปการเสวนา “Planning for the Post-COVID era”

92647706_1688579801289353_3995388160258342912_n

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ทางสถาบันไอเอ็มซีร่วมกับบริษัท Optimus (Thailand) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อเรื่อง “โลกหลังยุคโควิด (Post-COVID era) จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องมีการวางแผนอย่างไร” โดยได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาหลายท่านคือ

  • คุณปฐม อินทโรดม : กรรมการ Creative Digital Economy, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  • คุณศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ : ประธานบริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด
  • คุณทินกร เหล่าเราวิโรจน์ : นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI)
  • คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ : ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทค อี-บิสิเนส เซ็นเตอร์

92240228_1690326267781373_6647085777509416960_n

และมีผมเข้าร่วมการเสวนาด้วยโดยทางสถาบันไอเอ็มซีได้ทำการบันทึกวิดีโอการเสวนาและเผยแพร่ทาง YouTube channel ของ IMC Institute ไว้ตาม Link นี้

ในการเสวนาผมได้เริ่มต้นให้เห็นภาพในอดีตตั้งแต่วิกฤติการระบาดของไข้หวัดสเปนปี 1918 วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Great depression) ปี 1929 ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกจนมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1939-1944 และเราก็เห็นได้ว่ามียุคก่อนและหลังสงคราม วิกฤติโควิดครั้งนี้เราอาจจะเจอทั้งด้านการระบาดของโลกและเศรษฐกิจตกต่ำ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล จึงจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งสำคัญทั้งในยุคก่อนและหลังโควิด

คุณปฐม อินทโรดม บอกว่าเราคงต้องเรียนรู้ที่อยู่กับโรคระบาด แล้วต้องเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำการ Transform เป็นภาคบังคับ แต่น่าเสียดายที่ว่าระเบียบและกฎระเบียบข้อบังคบบางอย่างยังไม่ได้แก้ไข ทำให้ไม่สามารถไปดิจิทัลได้เต็มร้อย การประชุมออนไลน์เต็มร้อยอย่างถูกกฎหมายไม่ได้ เรายังต้องเซ็นเอกสารเป็นกระดาษอยู่ ตอนนี้เรามีการเปลี่ยนแปลงในสามกลุ่มแล้วคือ 1) กลุ่มธุรกิจที่เป็นFull digital ตอนนี้พร้อมและมีโอกาสที่โตเต็มที่ 2) กล่มธุรกิจที่เป็น Hybrid ที่เป็น Digital Product แต่การทำงานยังเป็น Physical วันนี้ต้องปรับตัว 3) กลุ่มธุรกิจที่เป็น Physical ทั้ง Product และ Process ก็คงต้องถึงเวลาที่จะต้องปรับตัวเองเป็นแบบ Direct to customer

คุณทินกร เหล่าเราวิโรจน์ ที่ได้ร่วมเสวนาได้เขียนสรุปการบรรยายใน Facebook ส่วนตัวไว้ดังนี้ สถานการณ์ Covid ว่าเราทุกคนต้องปรับตัวยังไง?

  • เริ่มต้นคือต้อง Think the Unthinkable คิดสิ่งที่คาดคิดไม่ถึงให้ได้ อย่ามัวแต่ไปหวังว่าจะกลับไปเหมือนเดิม เพราะ “สิ่งเดิม” จะไม่กลับมาอีกแล้ว
  • ถัดไปคือเราจะแบ่งชีวิตข้างหน้าออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคโควิด และยุคหลังโควิด (ซึ่งยุคโควิดจะนาน 1-2 ปี ไม่ใช่สั้นๆแค่ 1-3 เดือน)
  • ในยุคโควิด สิ่งที่เราจะต้องเจอ คือ
    1. Fail ยอมรับเสียเถอะ กิจการจำนวนมากจะ “ไม่ได้ไปต่อ” ไม่ใช่เพราะเราไม่ดี ไม่เก่ง แต่เก่งแค่ไหนก็ไม่รอด เช่น คนในธุรกิจโรงแรม หรือคนขับแท็กซี่ คนเหล่านี้จำนวนมากจะไม่มีทางได้กลับมาทำอาชีพเดิม (อย่ารอนะครับ รีบเปลี่ยนอาชีพนะ)
    2. Fear พวกเราทุกคนจะอยู่กับความกลัว แต่จะมีพวกเราบางคนฉลาดพอที่จะรู้ว่า “โอกาส” ก็ยังคงมีในภาวะความกลัว อย่างที่จะเห็นว่า หน้ากาก, แอลกอฮอล์, ตัววัดอุณหภูมิ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และเดี๋ยวจะได้เห็นอีกหลายๆอย่างตามมา เพื่อตอบโจทย์ “ความกลัว”
    3. Fun คนไทยยังไงก็หาความสนุกได้ตลอด “เจนค่ะๆ หนูมากับ… และมากับ…” หรือเกมส์ออนไลน์ก็จะมีผู้เล่นมากมายมหาศาล เพราะคนมีเวลาอยู่บ้าน และไม่รู้จะทำอะไร

คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ ก็ได้เขียนสรุปการบรรยายใน Facebook ส่วนตัวไว้ว่า

“เราต้องสู้ให้รอด จะปรับเปลี่ยน พลิกแพลง หมุน กระโดด เหาะ ล้ม ตีลังกา เอาให้รอด ผ่านพ้นไปให้ได้ปีนี้ อย่าประมาท เหมือนที่เราประมาทมาแล้วว่า โรคระบาด จะไม่อยู่ใน -แผนบริหารความเสี่ยง- ของธุรกิจเรา”
————————————————
1.) จงอยู่กับมันและ Move on with “Your value” โดยการ “Hack โอกาสออกมา มันหายาก แต่ก็จงแงะมันให้เจอ
.
ต้องกลับมาดูว่าธุรกิจเราในระหว่างไปต่อไม่ได้นี้ ให้ไปหาช่องทางธุรกิจเสริม พอเรื่องซา ค่อยกลับมาทำต่อ ซึ่งการหาช่องทางธุรกิจเสริม ต่อยอดนั้น ต้อง X-ray ตัวเราก่อนว่าเรามีดีอะไร ทีมงานมี value add-on ร่วมกันอย่างไร จับทิศทางให้ได้ และคุณจะรอดไปด้วยกัน เช่น มีบริษัทขาย Gadgets IT online มองหาลู่ทางขายเครื่องสำอางค์ออนไลน์ เพราะตัวเองมี Core value ด้าน sourcing + e-Commerce + logistics & supply chain หรือ บริษัทขายน้ำหอม ก็มาทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือขาย แต่อย่าขายเบ็ดตกปลาตอนนี้ เพราะคนอยู่บ้าน ไม่ออกไปตกปลา จงขายในสิ่งที่ Demands มีด้วย เป็นต้น
.
2.) Go “Online” ในทุกๆธุรกิจ ทุกๆธุรกิจต้องมีคน “Digital Skill”
.
สกิลนี้ไม่ใช่สกิลใหม่อะไร แต่ใหม่มากกับ Graduate students ตอนนี้ เพราะมีไม่กี่สถาบัน/มหาวิทยาลัยที่ผลิต ซึ่งเป็นสกิลที่ผู้ประกอบการ และบริษัทองค์กรน่าจะอยากได้มากที่สุด ขอแนะนำให้ทุกคนที่ว่างตอนนี้ หาเรื่องนี้มาศึกษา เข้าใจศัพท์ Digital 101 เข้าใจ e-Commerce ลงมือซื้อ Ads ออนไลน์ “Up skill” ตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน จะคิดว่าแค่ที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้วเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะการมี Digital skill ติดตัวนี้สามารถไปประยุกต์ได้กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง Start-up ของตัวเอง ไปจนถึงการเป็น Management trainee หรือไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้จัดการ ผู้บริหารของหลายๆองค์กรได้เร็วกว่าคนที่ไม่มีสกิลนี้ค่ะ
หากสนใจติดปีกสกิล Digital แนะนำให้อ่านรายละเอียดโครงการ The Digital Work ที่ TeC ทำ Cultivation Program นี้อยู่ >> https://www.tec.work/thedigitalwork
.
3.) e-Lean business concept กลับมาฮิตอีกครั้ง
.
Lean คือการกำจัดอะไรที่ waste ในธุรกิจ พูดให้เห็นภาพง่ายๆคือการลดความอ้วน ตุ๊ต๊ะ เปลืองงบประมาณ ค่าใช้จ่ายของธุรกิจนั่นเอง หลักการ Six Sigma แม้ว่าเรียนได้ Green belt มา จะบอกว่าได้ใช้มากๆก็งานนี้ค่ะ ซึ่งประเด็นคือเราจะไม่ใช่การ Lean แบบโรงงาน หรืออุตสาหกรรม แต่เราจะ Lean แบบ e-Lean คือลดความอ้วนด้วยการ Go Online, Go Digital, Go Result-oriented (Tracking results)
.
เช่น เราต้องทำงานผ่าน Collaboration tool เช่น Teamwork, Facebook Workplace, Dingtalk, Ansana และอีกมากมาย จะเริ่มเห็นแล้วว่าใครเก่ง ใครขี้เกียจ ใครขยัน ใครอู้ Report Tasks มันฟ้องได้หมด อีกทั้งหลังจากยุคหลัง COVID-19 ตำแหน่งที่เราจะมองว่าไม่จำเป็นคือ Office Admin เราเอาหน้าที่การสั่งซื้อสินค้านี้ไปให้ Jobs function อื่นทำก็ได้ เช่น เลขา/HR/IT support หรืออื่นๆ เป็นต้น การมีคน 1 คน ที่ทำ Function เดียวเดิมๆ และไม่ Multi-tasking แบบออนไลน์สไตล์ ผู้ประกอบการหรือบริษัทฯ จะเริ่มตระหนักและตัดคนเหล่านี้ออกไป โดยเฉพาะคนที่ Not-perform นี่คือในมุมการจัดการคน แต่ในมุมของค่าใช้จ่าย Fixed cost ท่านอาจารย์ธนชาติแห่ง IMC ได้สะท้อนให้เห็นว่าอย่างออฟฟิศใหญ่ๆ ห้องทำงานดีๆ ห้องประชุมให้น่าเชื่อถือ ก็จะมีความสำคัญน้อยลง ถ้าต้องต่อสัญญาค่าเช่าในอนาคต หลายๆบริษัทมีคิดแน่ๆว่าจะลดไซส์ขนาดพื้นที่ออฟฟิศอย่างไรดี และเอาเงินตรงนั้นไปลงทุนอย่างอื่นให้เกิดกำไรหมุนเวียนแทน เป็นต้น
.
4.) Direct to Consumers (D2C) จงวิ่งเข้าหาลูกค้าในโลกดิจิทัลแบบบู๊ให้เจ๋งเหมือนวิ่งขายงานออฟไลน์
.
คุณพี่ปฐม Pathom Indarodom ย้ำเลยว่าสินค้าเกษตรไทยนี่แหละ ที่จะ D2C ได้อย่างโดดเด่นที่สุดตอนนี้ เช่น การขายมะม่วงและขายทุเรียนออนไลน์ ไม่ต้องไปผ่านห้างร้าน และตอนนี้หากเกษตรกรทำผิดทำถูก ผู้บริโภคออนไลน์ก็จะให้อภัย เพราะเข้าใจว่าอยู่ในช่วง “Learning-curved” คือการเรียนรู้การขายออนไลน์ ซึ่งเป็นสกิลที่อาจจะไม่ถนัด ผู้บริโภคพร้อมจะให้โอกาส อีกทั้งหากผู้บริโภคหรือคุณลูกค้าผู้น่ารักติดใจก็จะเป็นขาประจำกันไปเลยยังได้
.
5.) ช่วงข้าวยากหมากแพง ยุคใจเขาใจเรา ก็ต้องอย่าลืม CSR แบบออนไลน์สไตล์ด้วย ใครมีเหลือ แบ่ง ใครพอมีช่วยเสริม แบรนด์ต่างๆที่”ยิ่งให้ ก็จะยิ่งได้”ในช่วงนี้ ตลอดจนผู้บริโภคหลงรัก เป็นช่วงตีบวก เพื่อนั่งเข้าไปในหัวใจคน
.
ยกตัวอย่าง อย่าง Airasia ไปรับคนไทยฟรีจากอู่ฮั่นกลับไทย ออกในทุกสื่อ จะไม่เลิฟแบรนด์นี้ได้อย่างไร แม้ว่าตอนนี้จะบินไม่ได้ หุ้นจะตก แต่การจัดแคมเปญให้คนซื้อตั๋วล่วงหน้าก็มีอยู่ มั่นใจได้เลยว่าคนจะแห่กลับมาซื้อตั๋วตอนสถานการณ์บินได้ทั่วโลก อย่างตัว TeC เองตอนจีนเดือดร้อนหนักๆเป็นประเทศแรก เราก็ร่วมกับ สมาคมดิจิทัลไทย (Thai Digital Trade Association) และเพื่อนๆพันธมิตรบริจาคเงินส่งไปที่สหพันธ์การกุศลอู่ฮั่นเพื่อบริหารจัดการ COVID-19 และในช่วงที่ประเทศไทยเองเข้าสู่วิกฤติ ยอดผู้ป่วยพุ่ง เราก็ร่วมกับ Business Today จัดโครงการ Help for Hope “Masks for Med” เปิดรับบริจาคเงิน โดยเงินทั้ง 100% ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ) เพื่อนำไปมอบให้กับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ในสังกัดแพทยสภา เพื่อซื้อหน้ากากให้หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เป็นต้น เราไม่หวังอะไรมาก หวังให้โรคระบาดนี้จงหายไปโอมเพี้ยงค่ะ อย่าง CP และอีกหลากหลายแบรนด์ที่มีกำลังก็ออกมาช่วยคนละไม้ละมือกันอย่างมากมาย
Screenshot 2020-04-11 10.55.46
คุณศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ เริ่มต้นด้วยคำนิยามคำว่า Post-COVID จะเริ่มเมื่อไร แล้วบอกว่ามันเริ่มวันนี้เลย จบโควิดได้วันนี้  ถึงเวลาที่จะต้องอยู่กับมันไปตลอดแล้วต้องปรับตัว เพราะโรคนี้คงกับเราคงอยู่อีกนาน หลานเรื่องจะเป็น New normal  เช่น Social distancing ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป เราคงต้องปรับตัวจากการอยู่จาก Fear Zone ไปสู่ Learning Zone และ Growth Zone และวิกฤตินี้ทำให้เราเข้าสู่ Digital Economy เต็มตัว
สุดท้ายผมเองก็แชร์ให้เห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆตามบทความ โลกหลังยุคโควิด (Post-COVID era) จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
สำหรับ Slides การบรรยายงานนี้สามารถเข้าไปดูได้ที่ >> https://tinyurl.com/st22h2e
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute

โลกหลังยุคโควิด (Post-COVID era) จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

91618641_1684893861657947_6150479015678312448_n

ในตอนที่แล้วผมเขียนไว้ว่า โลกยุคหลังโควิด (Post-COVID era) จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ดังนั้นธุรกิจและผู้คนในวันนี้จะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จะมาคิดเพียงว่า รอให้หลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 ก่อน แล้วค่อยว่ากัน จะคิดแค่ว่าวันนี้แค่ประคองทำธุรกิจและการทำงานแบบเดิมเอาตัวให้รอดก่อนคงไม่พอแล้ว หรือจะคิดเพียงว่าวันนี้การพักผ่อนไม่มีงานทำอยู่บ้านก็ดป็นการช่วยชาติแล้วก็อาจไม่ได้แล้ว เพราะถ้าวิกฤตินี้ลากยาวไปเราคงเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เราต้องเริ่มปรับตัวในวันนี้ี โดยถ้ามองในแง่ของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบมาจากด้านเทคโนโลยีจะพอเห็นประเด็นที่สำคัญดังนี้

ออฟฟิศที่ทำงานจะไม่เหมือนเดิม

ในอดีตองค์กรต่างๆจะเน้นการทำงานแบบ Physical office ที่ทำงานมีพื้นที่ใหญ่โต ต้องเช่าตึก เช่าห้องทำงาน ห้องผู้บริหารกว้างขวาง ต้องมีสถานที่ให้ผู้คนมาติดต่อ แต่เมื่อเราเขาสู่ยุคโควิดจะเห็นได้ชัดว่า ที่ทำงานของทุกคนเปลี่ยนไปกลายเป็น Virtual office เราไม่ต้องการที่ทำงานใหญ่โต แต่ทุกคนทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยเฉพาะจากที่บ้าน คนจะเข้ามาติดต่อออฟฟิศก็น้อยลง เราไม่ต้องการห้องประชุมแต่เราสามารถใช้ซอฟต์แวร์ในการประชุมออนไลน์เห็นหน้ากัน เราไม่จำเป็นจะต้องมีการใช้เอกสารมากมายแบบเดิม เราไม่สามารถที่จะส่งกระดาษกันได้ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัล  ซึ่งการทำงานในยุคโควิดจะทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการทำงานในรูปแบบนี้

หลังจากยุคโควิดเราอาจเริ่มเห็นหน่วยงานต่างๆลดขนาดออฟฟิศลง ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากเท่าเดิม ผู้บริหารไม่จำเป็นจะต้องมีห้องทำงานใหญ่โต คนในที่ทำงานสามารถประชุมและติดต่อกับลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ได้โดยง่าย การเดินทางก็จะน้อยลง พนักงานบริษัทก็จะมีเวลาในการทำงานมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเช่าออฟฟิศ การเดินทางของพนักงาน การทำเอกสาร ก็จะเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าระบบซอฟต์แวร์ ระบบคลาวด์ต่างๆทั้งการเก็บข้อมูล เช่าระบบการประชุมออนไลน์ การจะจัดสัมมนาหรือจัดประชุมใหญ่ก็ไม่จำเป็นต้องไปเช่าห้องประชุมหรือโรงแรม แต่ก็สามารถจัดผ่านระบบออนไลน์

คนทำงานจะต้องมีทักษะและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป

ในอดีตคนทำงานจะเน้นเลือกทำงานในหน่วยงานที่มีความมั่นคง และอาจทำงานให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไปตลอดชีวิตของการทำงาน โลกของการทำงานหลังจากยุคโควิดจะกลายเป็นว่า ผู้คนจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ เพื่อนร่วมงานอาจจะอยู่ที่ใดก็ได้ในโลก และหน่วยงานอาจไม่ได้สนใจว่าเขาทำงานในลักษณะใดตราบใดที่ยังสามารถทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ องค์กรต่างๆก็อาจจะจ้างคนเป็นการชั่วคราวขึ้นอยู่กับความต้องการในช่วงนั้น

คนทำงานเองก็สามารถทำงานให้กับหลายองค์กรได้ในช่วงเวลาพร้อมกันตราบใดที่สามารถส่งงานให้กับผู้ว่าจ้างได้ตามเป้าหมาย โดยคนทำงานต้องมีทักษะในการด้านดิจิทัลที่ดี มีความสามารถในการทำงานออนไลน์ สามารถทำงานออนไลน์ร่วมกันกับผู้ร่วมงานได้ มีทักษะการค้นข้อมูล และการสื่อสารออนไลน์ที่ดี ตลอดจนมีความสามารถเฉพาะในบางด้าน แม้แต่การสัมภาษณ์เข้าทำงานในอนาคตก็อาจเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำ Video conference  และไม่แน่ว่าต่อไปลูกจ้างกับนายจ้างบางบริษัทอาจไม่เคยเจอหน้ากันจริงๆเลยตลอดระยะเวลาที่ทำงานร่วมกัน

Screenshot 2020-04-05 15.29.38

(รูปภาพจาก https://allwork.space/)

อาชีพบางอย่างอาจจะหายไป

วิกฤติโควิดเป็นตัวเร่งทำให้เกิด Digital disruption ทำให้ผู้คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ต้องสร้างระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทำให้ธุรกิจหลายอย่างที่ดำเนินอยู่ต้องหยุดชะงักในเวลานี้ ยิ่งสิ่งที่ไม่จำเป็นและสามารถทดแทนด้วยระบบดิจิทัลก็อาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในยุคหลังโควิด ตัวอย่างเช่นธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็จะมีผลทำให้อาชีพบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ลดหายไปด้วยเช่น แผงขายหนังสือพิมพ์ คนส่งหนังสือพิมพ์

ยังมีอีกหลายๆอาชีพที่อาจส่งผลกระทบ เช่นธุรกิจจากการท่องเที่ยวที่คนชะลอการเดินทาง และเมื่อพ้นวิกฤติคนก็อาจจะคุ้นเคยกับการจองตั๋วหรือที่พักเอง อาชีพไกด์ เอเจนท์บางด้านก็อาจจะลดลงไป งานด้านเอกสารก็เช่นกัน งานถ่ายเอกสาร งานพิมพ์เอกสารต่างๆก็จะลดลงไป โดยเฉพาะอาชีพใดก็ตามที่ให้คนต้องมาเจอกันสัมผัสกันก็อาจหายไป ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะรวมถึงอาชีพของคนขายล็อตเตอรี่ไหมถ้าเกิดระบบล็อตเตอรี่ออนไลน์ขึ้นมาเนื่องด้วยผู้คนไม่อยากจับกระดาษ ตลอดจนอาชีพบริการอีกหลายๆอย่างที่อาจสูญหายไป

การเรียนการสัมมนาจะมุ่งสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น

ภาคการศึกษาจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูก Disrupt ไปมากที่สุดจากวิกฤติของโควิด ผู้คนจะคุ้นเคยกับการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนอาจไม่จำเป็นจะต้องพึ่งสถานศึกษาหรือผู้สอนแบบเดิมๆ แต่สามารถจะเรียนกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ตราบใดที่ผู้เรียนมีความรู้จริงๆ การวัดผลก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจะเป็นการสอบออนไลน์ที่อาจต้องเน้นวิธีวัดผลอย่างต่อเนื่องที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้อสอบปรนัยแบบง่ายๆเพียงแค่ครั้งหรือสองครั้ง และเมื่อวิธีการทำงานในอนาคตเปลี่ยนไป องค์กรต่างๆก็อาจไม่คาดหวังในปริญญาบัตรจากผู้สมัครเข้าทำงานในรูปแบบเดิมๆ แต่อาจสนใจที่จะแสวงหาคนทำงานที่มีสามารถจริงเข้ามาทำงานเป็นครั้งคราวโดยคนนั้นอาจเรียนผ่านระบบออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ ที่องค์กรมีความมั่นใจ

แม้แต่การจัดสัมมนาหรือการจัดงานต่างๆที่เคยต้องหาสถานที่ใหญ่โตในการจัด ต้องมีพิธีเปิดปิดก็อาจเปลี่ยนมาสู่การจัดออนไลน์ มีการทำ Webinar แทนและผู้คนสามารถร่วมงานได้หลายพันคน รวมถึงอาจมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง AR/VR เข้ามาช่วยในการสัมมนาและการเรียนการสอนมากขึ้น คนทำงานเองก็สามารถที่จะเพิ่มทักษะตัวเองได้ตลอดเวลาผ่านการเรียนระบบออนไลน์

ระบบการชำระเงินออนไลน์จะกลายเป็น New normal

ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามผลักดันให้มีการใช้ระบบการชำระเงินออนไลน์ในรูปแบบทั้ง PromtPay, Mobile banking, Internet banking หรือ Mobile payment แต่การใช้งานก็ยังอยู่ในวงจำกัดกันแค่คนบางกลุ่มหรือคนรุ่นใหม่ แต่การเกิดวิกฤติโควิดครั้งนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไม่อยากที่จะสัมผัสเงินสด ยิ่งมีการให้คนจำนวนมากมาลงทะเบียบรับเงินเยียวยาและจ่ายเงินผ่านระบบ PromptPay ของภาครัฐ ก็ยิ่งจะทำให้การทำธุรกรรมชำระเงินออนไลน์กลายเป็น New normalในสังคมไทย

ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านดิจิทัลจะเติบโตขึ้น

วิกฤติโควิดทำให้ผู้คนไม่อยากออกจากบ้าน ผู้คนหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้นทั้งในด้าน Food delivery, Online shopping หรือ Content streaming ซึ่งผู้คนก็จะคุ้นเคยกับการใช้งานบริการต่างๆเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลทำให้คนที่ประกอบอาชีพทางด้านนี้มีโอกาสที่ดีขึ้น รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้องเช่น พนักงานส่งสินค้า คนทำระบบไอที คนทำ Content

นอกจากนี้จะมีความต้องการใช้เทคโนโลยีไอทีมากขึ้น ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ ระบบเครือข่าย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่าง 5G ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจทางด้านนี้มีการเจริญเติบโตขึ้นในอนาคต

การใช้เทคโนโลยีเอไอจะมีความแพร่หลายมากขึ้น

วิกฤติโควิดทำให้ผู้คนในอนาคตตระหนักเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาด และ Social distancing ซึ่งจะทำให้มีการใช้ระบบเอไอเข้ามามากขึ้น ทั้งในการทำ Big data เพื่อคาดการณ์การแพร่ระบาด การติดตามการเดินทางของผู้คน การใช้ระบบ Facial recognition เพื่อลดการสัมผัส ทั้งในเรื่องของการเข้าสถานที่ต่างๆ หรือเพื่อการทำธุรกรรมต่างๆ ตลอดจนใช้ในการใช้เอไอเพื่อตัดสินใจการทำงานหลายด้านๆเช่น ด้าน HR หรือการมาใช้ในงาน Workflow ต่างๆเช่นระบบ RPA (Robot Process Automation) ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบออฟฟิศการทำงานไม่เหมือนเดิม จึงทำให้ต้องมีระบบออโตเมชั่นต่างๆมาช่วยในการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหารออฟฟิศในรูปแบบเดิมๆก็จะถูกย้ายโอนสู่การลงทุนเทคโนโลยีมากขึ้น

ผู้คนจะยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเราจะเห็นว่าในประเทศจีนมีระบบการติดตามข้อมูลการเดินทางและข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรจำนวนมากได้อย่างถูกต้องทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี แม้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจะพยายามเน้นการใช้บังคับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล แต่ด้วยวิกฤติของโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคตก็อาจจำเป็นที่จะต้องได้ข้อมูลของประชาชนเข้ามาในแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนส่วนใหญ่ จึงอาจทำให้แนวคิดเดิมๆในด้านนี้ต้องเปลี่ยนไป

จากที่กล่าวมาทังหมดนี้จะเห็นได้ว่า วันนี้แล้วถึงเวลาที่ทุกธุรกิจและผู้คนจะต้องเริืยนรู้และปรับตัวเข้าสู่ยุคโควิดและต้องเข้าใจว่าเมื่อหลังจากนี้ไปโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

  1. สุดท้ายเราจะเห็นคำว่าโลก ‘ยุคก่อนโควิด’ และ’ยุคหลังโควิด’
  2. โลกยุคหลังโควิด กับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

 

 

โลกยุคหลังโควิด กับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

91618641_1684893861657947_6150479015678312448_n

สัปดาห์ก่อนผมเขียนบทความว่าต่อไป โลกจะแบ่งเป็นยุคก่อนโควิด (Pre-COVID era) และยุคหลังโควิด (Post-COVID era) ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (อ่านบทความ สุดท้ายเราจะเห็นคำว่าโลก ‘ยุคก่อนโควิด’ และ’ยุคหลังโควิด’) เพราะคาดการณ์ว่าวิกฤติโควิดนี้จะอยู่กับเราเป็นเวลานาน ทำให้ต่อไปสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างมาก

หลายคนอาจเคยดูหนังและสารคดีที่เล่าเรื่องชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โลกยุคก่อนสงครามเป็นแบบหนึ่ง แต่เมื่อก้าวเข้าสู่สงครามในระยะต้นผู้คนก็ยังคาดหวังว่าสงครามจะสิ้นสุดโดยเร็ว คาดหวังว่าเมื่อสงครามสิ้นสุดลงตัวเองจะกลับไปทำอะไร บางคนคาดหวังจะไปประกอบอาชีพบางอย่าง บางคนอยากไปแต่งงาน ไปใช้ชีวิตกับครอบครัว แต่สงครามโลกครั้งที่สองใช้เวลายาวนานถึงสี่ปี มีความสูญเสียจำนวนมากทั้งชีวิตผู้คนและบ้านเมือง เมื่อสิ้นสุดสงครามก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย สังคมไม่เหมือนเดิม บางคนสูญเสียคนละครอบครัว ไม่มีบ้านจะอยู่ อาชีพการงานก็ไม่เป็นเช่นเดิม หลายประเทศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ชีวิตผู้คนก็เปลี่ยนไป

37342743_2344874038863830_2015538013534158848_o

ย้อนนึกไปถึงหนังเรื่อง Demolition man ที่ผมเคยดูเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นหนังวิทยาศาสตร์แอคชั่น (Sci-fi action) ที่พระเอกของเรื่องที่นำแสดงโดย Sylvester Stallone ถูกจองจำแบบแช่แข็งและได้ออกมาใช้ชีวิตในปี 2032 ที่เขาพบว่าบ้านเมืองเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้คนที่อยู่อาศัยจะถูกตรวจสอบการใช้ชีวิตทุกอย่าง บ้านเมืองมีกล้อง CCTV ติดไปทั่ว ผู้คนไม่มีความเป็นส่วนตัว มีระบบการตรวจสอบเหมือนที่ประเทศจีนในปัจจุบัน ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่การเดินทาง และการสนทนา ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในสังคม

ในหนังยังมีการกล่าวถึงการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งใหญ่ก่อนปี 2032 ที่ทำให้การใช้ชีวิตผู้คนในปี 2032 เปลี่ยนไป ทุกคนจะไม่มีการสัมผัสกัน ไม่มีการจับมือกันแบบเดิม การทักทายด้วยการ shake hand จะไม่มีการสัมผัสมือกัน ผู้คนจำนวนมากจะสวมถุงมือ ไม่มีการกอดจูบหรือมีเพศสัมัพนธ์กัน การแต่งกายก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายคล้ายๆกันไปหมด ที่น่าสนใจก็คือสังคมในหนังจะไม่มีการใช้จ่ายเงินสดทุกอย่างจ่ายผ่านระบบดิจิทัลที่มีการฝั่งชิบในร่างกาย และอุปกรณ์หลายๆอย่างในหนังก็จะเป็นการสั่งงานด้วยเสียง รวมถึงมีรถยนต์ไร้คนขับที่สั่งงานด้วยเสียง แม้หนังจะสร้างเมื่อปี 1993 แต่ก็สามารถคาดการณ์เทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอในปัจจุบันได้หลายอย่างทั้งระบบ Voice control, Video call  และ Digtial payment

จากหนังเรื่องนั้นทำให้ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าโรคระบาดนี้มีความรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานานสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างในหนังหรือไม่ และเช่นกันทำให้นึกถึงระยะต้นของสงครามโลกครั้งที่สองที่ทุกคนยังคิดว่าสงครามจะจบโดยเร็ว เหมือนตอนนี้ที่เป็นระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่ผู้คนยังมีความหวังในตอนต้นว่ามันจะจบโดยเร็ว ที่ตอนแรกเราคิดว่าเดือนหนึ่งน่าจะเสร็จ แต่ตอนนี้เราเริ่มคุยกันว่าถึงครึ่งปีนี้ บ้างก็เริ่มบอกแล้วว่าอาจข้ามไปถึงปีหน้า ซึ่งถ้ามันยาวนานขนาดนั้นมันก็คงเปลี่ยนแปลงสังคมของเราไปอย่างมาก

หลายๆคนตั้งคำถามว่าหลังโควิดแล้วเราจะเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างโดยเฉพาะด้านธุรกิจแล้วจะต้องทำอย่างไร เจ้าของธุรกิจบางคนก็จะบอกว่าตอนนี้ยังไม่อยากคิดอะไร เอาธุรกิจตัวเองให้รอดในช่วงโควิดนี้ก่อนหลังจากนั้นแล้วค่อยว่ากัน จริงๆแล้วถ้าวิกฤตินี้ลากยาวนานเราอาจจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะคิดไปว่าวันนี้เราจะอยู่รอดอย่างไรในวิถีเดิม เพราวิถีชีวิตผู้คนจะเปลี่ยนไป วิธีการทำงานของผู้คนจะเปลี่ยนไป อาชีพบางอย่างหายสูญหายไป ธุรกิจบางอย่างอาจเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นวันนี้เราคงต้องเริ่มคิดรูปแบบการทำงานและธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ธุรกิจเราอาจไม่ใช่รูปแบบเดิมๆ ต้องเริ่มคิดโดยต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจทัลเข้ามาช่วย ลูกค้าเราอาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปทำให้สิ่งที่เคยมีความจำเป็นในวันนี้ก็อาจเริ่มไม่ใช่แล้ว

ซึ่งบทความตอนต่อไป ผมจะมาคาดการณ์ว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC institute

บริษัทเทคโนโลยีมีการดักฟังข้อมูลการสนทนาเราหรือไม่

84015187_1620190491461618_2111547772598484992_o

ผมเคยสนทนากันในบ้านว่าสนใจสินค้ายี่ห้อหนึ่ง หลังจากนั้นอีกวันหนึ่งก็พบเห็นโฆษณาของสินค้านั้นในโซเชียลมีเดียที่ใช้อยู่เป็นประจำ ทั้งๆ ที่ผมเองไม่เคยค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับสินค้านั้นเลย เคยได้พูดคุยกับเพื่อนบางคนก็บอกว่าเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน และเมื่อค้นบทความต่างๆ ก็จะพบหลายๆ เรื่องที่เขียนออกมาในทำนองนี้แล้วตั้งคำถามว่า โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ในบ้านของเราแอบดักฟังเราเพื่อการโฆษณาจริงหรือไม่

ในโลกยุคปัจจุบันมีการนำระบบเอไอมาทำการโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่การที่ระบบเอไอ จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละบุคคลได้จำเป็นต้องมีการสะสมข้อมูลพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น ข้อมูลการเล่นอินเทอร์เน็ต ข้อมูลการเลือกสินค้า ข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งจะไม่แปลกใจหากข้อมูลเหล่านั้นได้มาจากการที่คนๆ นั้นใช้อินเทอร์เน็ตโดยตรง แต่หากเป็นการสนทนากันเองหรือการพูดคุยโทรศัพท์ก็อาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ปัจจุบันอุปกรณ์ส่วนบุคคลจำนวนมากเชื่อมต่ออยู่กับอินเทอร์เน็ตและสามารถส่งข้อมูลไปเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่อาจอยู่ต่างประเทศ ดังเช่น

  • Wearable Device หรือนาฬิกาอัจฉริยะ อาจส่งข้อมูลการออกกำลังกาย การเต้นของชีพจร การหลับนอนของเรา
  • กล้องอัจฉริยะ อาจส่งข้อมูลภาพต่างๆ ที่ตรวจจับอยู่
  • อุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน อาจส่งข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์ เช่น การเปิดการปิดประตูบ้าน หรือความเคลื่อนไหวต่างๆ ในบ้าน

ซึ่งบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะมีข้อมูลเหล่านั้นจำนวนมากเก็บอยู่ และหากไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีพอบริษัทเหล่านั้นก็สามารถจะนำข้อมูลของเราไปวิเคราะห์เพื่อประโยชน์อื่นๆ ได้

และยิ่งเมื่อมาพิจารณาถึงอุปกรณ์ IoT ใหม่ๆ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ อย่าง Google Home หรือ Amazon Echo ที่เราสามารถสั่งงานด้วยเสียงได้ ก็จะรู้สึกเสมือนว่าอุปกรณ์เหล่านี้รอฟังคำสั่งเราที่เป็น Trigger Voice เช่น OK Google หรือ Hey Alexa ตลอดเวลา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าบริษัทเหล่านี้เก็บข้อมูลมหาศาลไว้เพื่อวิเคราะห์หรือไม่ เช่นกันกับทีวีอัจฉริยะหรือกล้องอัจฉริยะที่อาจเก็บภาพเคลื่อนไหวของเราตลอดเวลา และสามารถนำไปวิเคราะห์ได้ หรือแม้แต่ App ที่ติดตั้งลงในมือถือก็สามารถที่จะแอบเก็บข้อมูลการสนทนาเราไปวิเคราะห์ได้เช่นกัน

are-you-being-listened-to-0001-alt-416x416

แม้บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Facebook หรือ Google ต่างออกมายืนยันว่า ไม่เคยใช้วิธีการฟังเสียงจากโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นแล้วนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้วิเคราะห์เพื่อการโฆษณาก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏจากโฆษณาเกิดจากการใช้อัลกอริทึมที่นำข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของเรา เช่น การโพสต์ การค้นหาข้อมูล ตำแหน่งของเรา รูปภาพ ตลอดจนข้อมูลเพื่อนๆ ของเรามาวิเคราะห์พฤติกรรม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทเหล่านี้ติดตามข้อมูลของเราตลอดเวลาจนทำให้มีข้อมูลจำนวนมาก

ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า เราถูกติดตามมากขึ้น และความเป็นส่วนตัวหายไป บริษัทผู้ให้บริการเริ่มทราบว่า เราอยู่ที่ใด เคลื่อนไหวอย่างไร พักผ่อนมากหรือไม่ ที่บ้านมีใครอยู่หรือไม่ ตลอดจนอาจทราบว่ามีการสนทนาเรื่องใด ดังนั้นการใช้อุปกรณ์เหล่านี้แม้จะสร้างความสะดวกสบาย สร้างบ้านอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ อาจได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวที่สูญหายไป 

ดังนั้นแนวโน้มเทคโนโลยีเรื่องอุปกรณ์อัจฉริยะที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็เริ่มมีการกล่าวถึงการนำข้อมูลมาประมวลผลโดยตรงที่อุปกรณ์โดยไม่ต้องส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ เช่น อุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถจดจำใบหน้าจะเก็บข้อมูลใบหน้าผู้คนต่างๆ ไว้ที่อุปกรณ์โดยตรง หรือลำโพงอัจฉริยะไม่ควรมีการส่งเสียงสนทนากลับไป ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

 ในปัจจุบันเรื่องการใช้ข้อมูลกำลังเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการที่องค์กรต่างๆ นำข้อมูลของลูกค้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้ทุกคนมีความกังวลต่อความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการถูกใช้ข้อมูลเหล่านี้ จึงต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นโดยต้องมีความโปร่งใสในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และต้องมีจริยธรรมดิจิทัล (Digital Ethics) 

นอกจากนี้ก็ยังมีความกังวลในเรื่องการพัฒนาระบบเอไอที่ต้องสามารถอธิบายได้ โดยจะต้องบอกได้ว่านำข้อมูลใดมาใช้ มีการพัฒนาและสอนระบบเอไออย่างไร ระบบเอไอที่ได้มาต้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้ว่ามีการใช้งานอย่างไร ซึ่งหากเรายังไม่สามารถอธิบายเรื่องความโปร่งใสของการใช้ข้อมูลหรือการทำระบบเอไอดีพอ สุดท้ายทุกคนคงอาจหนีออกจากการใช้ระบบอัจฉริยะต่างๆ เหล่านี้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

(บทความนี้ปรับปรุงจากคอลัมน์ประจำทุกวันศุกร์ที่ผมเขียนในกรุงเทพธุรกิจhttps://tinyurl.com/bkk-biznews)

มอง 10 เทคโนโลยีเด่นปีหน้า และแนวทางที่องค์กรต่างๆต้องปรับตัว

Screenshot 2019-12-31 14.38.39

ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นองค์กรต่างๆให้ความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น มีการพูดถึง Digital Disruption และการทำ Digital Transformation ในแง่ของเทคโนโลยีถ้าดูผิวเผินก็อาจไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เทคโนโลยีหลักๆก็ยังพูดถึงเรื่องของ Cloud, Mobile, Big Data, AI หรือ IoT แต่จริงๆแล้วเราเริ่มให้การเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจากความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งในแง่ของคว่ามรวดเร็วในการประมวลผล ความปลอดภัยในการใช้งาน และความง่ายต่อการใช้งาน ทำให้มีมุมมองในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีปี 2020 ผมได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆและกล่าวบรรยายในงานสัมมนา Digital Trends 2020 ว่าเราจะเห็นเรื่องหลักๆอยู่ 10 ด้าน และสำหรับในปีหน้าองค์กรควรจะต้องตระหนักถึงเรื่องต่างเหล่านี้ และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ดังนี้

1. การเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีชุดใหม่ DARQ

โลกในปัจจุบันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงจากยุคดิจิทัล (Digital Era) ไปสู่ยุคหลังดิจิทัล (Post-Digital Era) โดยยุคดิจิทัลองค์กรที่จะแข่งขันได้ ต้องลงทุนเน้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เรียกว่า SMAC กล่าวคือ โซเชียล โมบาย อนาไลติกส์ และคลาวด์ เพื่อสร้างความแตกต่าง ขณะที่ยุคหลังดิจิทัลกลุ่มของเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และช่วยผลักดันให้องค์กรเกิดขีดความสามารถใหม่ๆ ในการแข่งขันจะกลายเป็นกลุ่มที่เรียกว่า DARQ ซึ่งย่อมาจากเทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้

  • Distributed ledger technology เทคโนโลยีบัญชีบันทึกข้อมูลอย่าง Blockchain ที่จะช่วยให้องค์กรหรือบุคคลต่างๆ ทำธุรกรรมและเชื่อมโยงกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง
  • Artificial Intelligence (AI) การนำปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาจากข้อมูลมหาศาลมาใช้ในกระบวนการทำงานต่างๆ
  • Extended Reality เทคโนโลยีจำลองภาพบรรยากาศจริง อย่าง Virtual Reality หรือ Augmented Reality
  • Quantum Computing ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ที่จะสามารถเพิ่มความเร็วในการประมวลผลได้มหาศาล

ดังนั้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าสถานการณ์จะไม่เป็นเช่นเดิม องค์กรจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีกลุ่ม DARQ ต้องตระหนักถึงความพร้อมขององค์กร ประเมินศักยภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่ิอรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว และวางแนวทางในการนำเทคโนโลยี DARQ มาใช้เพื่อปรับโฉมอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป

2. 5G Network

เทคโนโลยี 5G ไม่เพียงแต่จะทำให้ความเร็วของการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่ยังจะทำให้มีจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อได้มากขึ้นและจะช่วยลด Latency ในการส่งข้อมูล การเข้ามาของ 5G จะทำให้ธุรกิจต่างๆมีช่องทางการให้บริการที่แตกต่างจากเดิมได้มากขึ้น และจะเปิดโอกาสให้มีการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่นสมัย 4G เข้ามา ก็สามารถสร้างบริการใหม่ๆอย่าง Mobile banking, Mobile commerce หรือ Food delivery ได้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมด้านต่างๆจะเติบโตขึ้น แต่อาจไม่ใช่รูปแบบเดิมๆเช่น สื่อทีวีก็อาจกลายเป็น Streaming TV หรือ ค้าปลีกก็อาจเป็น M-Commerce

ในปัจจุบันมี Telecom Operator กว่า 102 รายทั่วโลกที่ให้บริการ 5G ใน 6,619 เมือง และต้นปีหน้าเราจะเห็นการประมูลสัมปทานคลื่นความถี่ 5G และอาจเรื่มมีการให้บริการ 5G ในบ้านเรา ดังนั้นองค์กรต่างๆควรจะต้องศึกษาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากความเร็วอินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้น หรือการที่จะมีอุปกรณ์อย่าง IoT  ที่มาเชื่อมต่อเครือข่าย 5G ได้มากขึ้น เพื่อหารูปแบบธุรกิจและบริการใหม่ๆเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไป

3. The Empowered Edge

Edge ในที่นี้หมายถึงเทคโนโลยีอย่าง IoT ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีอุปกรณ์แบบนี้จำนวนเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า การทำงานของ IoT Platform จะมีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 4 ส่วนคือ

  • IoT Devices: ตัวอุปกรณ์เชื่อมต่อ
  • Connectivity: ระบบสัญญาณการเชื่อมต่อเช่น WiFi, 5G
  • Data processing: ระบบการประมวลผลข้อมูล
  • User interface: ส่วนของการใช้งานของผู้ใช้ เช่น App ต่างๆ

ปัจจุบันการทำงานของ IoT จะต้องส่งข้อมูลไปประมวลผลบนระบบคลาวด์  ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องความล่าช้า ในการส่งข้อมูลและเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ที่บางครั้งเป็นการส่งข้อมูลส่วนตัวไปเก็บไว้บน Server ของผู้ให้บริการ IoT Platform

Empowered Edge ก็คือ การใช้เทคโนโลยีที่สามารถดึงข้อมูลเข้ามาเก็บไว้ภายในอุปกรณ์ และประมวลผลที่ปลายทางหรือที่อุปกรณ์์เลย เช่น ระบบลำโพงอัจฉริยะสามารถประมวลผลบางส่วนได้ที่ตัวอุปกรณ์ หรือการพัฒนาระบบอย่างเช่น หุ่นยนต์ หรือโดรน ให้มีทรัพยากรในการประมวลผลและเก็บข้อมูลได้มากขึ้นเพื่อที่จะได้เข้าสู่ Edge Computing

ดังนั้นองค์กรต่างๆควรจะต้องเริ่มวางแผนและศึกษาในเรื่องของอุปกรณ์ IoT ที่จะนำมาประยุกต์ใช้และพิจารณาเรื่องของ Edge Computing ซึ่งจะตรงใจกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่นระบบ Smart Home ที่เก็บข้อมูลและประมวลผลอยู่ภายในอุปกรณ์

4. Distributed Cloud

แนวโน้มของ Cloud Computing คือเน้นการใช้บริการใหม่ๆที่ทำให้องค์กรต่างๆสามารถสร้างสินค้า บริการ และนวัตกรรมได้รวดเร็วขึ้น ผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่ๆในยุคปัจจุบันกำลังแข่งขันกันพัฒนาบริการใหม่ๆอย่าง Serverless Computing, Kubernetes, AI / Machine Learning services หรือ
Big data services แต่การใช้บริการ Public cloud ยังมีปัญหาเรื่องของ Latency จากการส่งข้อมูลไปยัง Server ไกลๆ เช่น การส่งข้อมูล IoT เป็นต้น และบางครั้งติดที่กฎระเบียบที่ต้องการให้เก็บข้อมูลอยู่ในประเทศ

Distributed Cloud คือบริการของ Public cloud ที่จะเปลี่ยนระบบคลาวด์จากการรวมศูนย์ข้อมูลอยู่ที่เซิฟเวอร์ภายนอกแต่จะกระจายไปยัง Data Center หลายๆ แห่งเพื่อตอบโจทย์เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องการให้ข้อมูลและการประมวลผลอยู่ในบริเวณที่ต้องการ และจะช่วยทำให้องค์กรต่างๆสามารถพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลอาทิเช่น AI หรือ Big Data ได้รวดเร็วขึ้น

องค์กรต่างๆจะแข่งขันได้จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมอย่างเร็วผ่านบริการ Public Cloud แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงกฎระเบียบต่างๆ ดังนั้นควรจะต้องศึกษาและหาแนวทางพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ผ่าน Distributed Cloud

5. AI Products 

ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ AI ต่างๆที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวันและธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นอาทิเช่น Google Map, Home Assistant, Smart Home, Translator, Chatbot หรือ Product Recommendation ทำให้เริ่มเห็นว่าอุปกรณ์ AI กลายเป็นเรื่องปกติเสียแล้ว

นอกจากนี้อุปกรณ์เอไอก็เริ่มเปลี่ยนจากการทำงานแบบเดี่ยวๆ (Stand alone) มาเป็นการทำงานร่วมกันเช่น อุปกรณ์ Smart Home ก็สามารถสั่งงานผ่านอุปกรณ์ Home Assistant ได้ หรืออุปกรณ์หนึ่งสามารถควบคุมอีกอุปกรณ์หนึ่งได้ หรือเราอาจเคยเห็นตัวอย่างของ Drone Swarms ที่สั่งงานอุปกรณ์ Drone พร้อมกันนับเป็นพันตัว

องค์กรต่างๆจำเป็นจะต้องเร่งศึกษาและนำอุปกรณ์เอไอต่างๆเหล่านี้เข้ามาใช้ในการทำงาน และหาช่องทางในการใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการลูกค้า และสร้างศักยภาพในการแข่งขัน

Screenshot 2019-12-31 14.58.20

6. Hyperautomation

ข้อมูลจาก PwC ระบุว่าในปี 2030 ระบบงาน Automation ต่างๆรวมทั้งหุ่นยนต์และเอไอจะสร้างมูลค่า GDP ของโลกถึง 15 ล้านล้านเหรียญ และงานกว่า 44% ในปัจจุบันจะมีความเสี่ยงที่ถูกแทนที่ด้วยระบบ Automation

การทำ Hyperautomation จะเป็นการผสมผสานกันระหว่าง Machine Learning, Packaged Software และ Automation Tools เพื่อทำให้เกิดระบบงานอัตโนมัติ โดยในปีหน้าจะเห็นเรื่องสำคัญสองด้านคือ

  • การทำระบบอัตโนมัติของงานต่างๆจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • จะมีการทำ AI-based Process Automation โดยจะมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายทั้ง Robot Process Automation (RPA) และเครื่องมืออื่นๆ ผสมกัน

องค์กรต่างๆควรที่จะต้องเริ่มวางแผนการทำ Automation สำหรับงานต่างๆในองค์กรและมีการผสมผสานกับการประบุกต์ใช้ AI มากขึ้น

7. Multi-experience

Multi-experience เป็นหนึ่งในแนวโน้มเทคโนโลยี 2020 ของ Gartner ซึ่งระบุว่าในปัจจุบันเราสามารถใช้ระบบดิจิทัลด้วยอุปกรณ์ใดๆก็ได้ หรือโลกก็คือคอมพิวเตอร์ (The World is your computer) ดังนั้นการที่คนจะโต้ตอบ รับรู้ ควบคุมโลกดิจิทัลและแอปพลิเคชันต่างๆ จึงเปลี่ยนจาก Technology-literate People มาเป็น People-literate Technology กล่าวคือ กำลังเปลี่ยนจากการที่ผู้คนจะโต้ตอบคอมพิวเตอร์ที่จุดสัมผัสบริการจุดใดจุดหนึ่ง (Single Touchpoint) กลายเป็นว่าโลกก็คือคอมพิวเตอร์ที่ผู้คนจะมีจุดสัมผัสบริการที่หลากหลาย (Multi Touchpoint) ที่ระบบอินเตอร์เฟสอาจเป็นทั้งระบบเสียง, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) หรือมีรูปแบบใหม่ๆ

ตัวอย่างเช่น Domino Pizza ได้พัฒนา Customer Experience ที่ใช้แอปในการสั่งอาหาร การสั่งงานด้วยเสียงผ่านลำโพงอัจฉริยะ ระบบติดตามพิซซ่า ระบบ ChatBot รถยนต์ไร้คนขับหรือโดรนในการส่งพิซซ่า ดังนั้นองค์กรต่างๆจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบดิจิทัลให้กับผู้ใช้ในทุกๆช่องทางโดยการสร้าง Multi Touchpoint เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่จะใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่หลากหลาย

8. Democratization of Technology

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานในเรื่องยากๆได้จากระบบอัตโนมัติโดยแทบไม่ต้องเรียนรู้วิธีใช้งานหรือทฤษฎีมากนัก อาทิเช่น คนทั่วไปสามารถเป็นนักลงทุนได้โดยใช้โปรแกรมการลงทุนอัตโนมัติอย่าง RoboTrading  หรือ คนทั่วไปอาจใช้เครื่องมือที่มีระบบ AIในการวิเคราะห์หรือสร้างโมเดลข้อมูล (Data Model) โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมหรือมีทักษะทางด้าน Data Science ซึ่งเรียกว่า Citizen Data Scientist

หลักการของ Democratization of Technology จะช่วยทำให้เกิด Citizen Access คือใครๆก็สามารถจะใช้เทคโนโลยีได้ โดยแบ่งเป็น 4 ด้านคือ

  • การพัฒนาซอฟต์แวร์ได้โดยอัตโนมัติ
  • การวิเคราะห์ข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ
  • การออกแบบได้โดยอัตโนมัติ  
  • การเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยอัตโนมัติ  

ตัวอย่างของแอปพลิเคชั่นแบบ Democratization ตัวหนึ่งที่ผมใช้เมื่อต้นปีนี้คือ Google AutoML Table ที่ช่วยให้ผมสามารถทำ Data Science โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมแม้แต่บรรทัดเดียว ซึ่งเครื่องมือแบบนี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นองค์กรต่างๆอาจต้องศึกษาเรียนรู้การใช้โปรแกรมเหล่านี้ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในอนาคต

9. Human Augmentation

การเชื่อมต่อกับผู้ใช้ในโลกดิจิทัลกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เราเคยเน้นการใช้แค่ Mouse หรือ keyboard กำลังจะกลายเป็นการติตต่อจากร่างกายเราหรือแม้กระทั่งคลื่นสมองไปยังระบบดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Human Augmentation ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เริ่มเห็นอุปกรณ์อย่าง Augmented Reality ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเห็นระบบเสมือนจริงแล้ว

นอกจากนี้ก็เริ่มมีอุปกรณ์์ต่างที่มาเชื่อมโยงรับข้อมูลทางกายภาพ (Physical Experience) ของคนเช่น Wearable Device ที่มาวัดการออกกำลังกาย การพักผ่อนของผู้คน หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่เป็น Cognitive Augmentation ที่มาใช้วัดคลื่นสมองเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive)และความนึกคิดของผู้คน

ดังนั้นองค์กรต่างๆอาจต้องเริ่มใช้ประโยชน์จากทำ Human Augmentation  เพื่อเชื่อมโยงและทำความเข้าใจกับผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น

10. Transparency and Traceability

ในปัจจุบันหลายองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ AI และมีการใช้ข้อมูลทั้งขององค์กรและลูกค้ามาเพื่อพัฒนาระบบและวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ซึ่งการใช้ข้อมูลกำลังเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) และวิธีการที่องค์กรต่างๆ นำข้อมูลของลูกค้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้ทุกคนมีความกังวลต่อความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการถูกใช้ข้อมูลเหล่านี้ จึงต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นโดยต้องมีความโปร่งใสในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และต้องมีจริยธรรมดิจิทัล (Digital Ethics) ที่ดี นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อการพัฒนาระบบ AI ที่ต้องสามารถอธิบายได้ โดยจะต้องบอกได้ว่านำข้อมูลใดมาใช้ มีการพัฒนาและสอน AI อย่างไร ระบบ AI ที่ได้มาต้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้ว่ามีการใช้งานอย่างไร

สำหรับในบ้าน พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลใช้บังคับในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ดังนั้นองค์กรต่างๆควรจะต้องมีการเตรียมการในเรื่องนี้

สุดท้ายผมได้แนบ Slides การบรรยายมาไว้ในบทความนี้ ซึ่งจะมีทั้งบทสรุปสั้นๆในเรื่องเทคโนโลยีเด่นต่างๆ และวิดีโอประกอบที่น่าสนใจ

ธนชาติ นุ่มนนท์

สถาบันไอเอ็มซี