แนวโน้มเทคโนโลยีไอที 2017 สำหรับประเทศไทย

ตามที่เคยเขียนบทความเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยี 2017 ของ Gartner เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีหลายอย่างอาจแตกต่างกับบ้านเราค่อนข้างมาก และคงเป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างในบ้านเราต้องเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังก้าวเข้ามา แต่ถ้าเรามามองถึงแนวโน้มเทคโนโลยีสารสนเทศ 2017 ในบ้านเรา เราจะเห็นว่าหลายๆเรื่องแม้เป็นกระแสหลักในต่างประเทศเมื่อ 3-5 ปีก่อน แต่ก็ยังเป็นแนวโน้มในปีหน้าของบ้านเราที่กำลังเข้ามาเนื่องจากสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรต่างๆ นโยบายของภาครัฐ และความสามารถของบุคลากรไอทีในบ้านเราโดยสามารถที่จะสรุปเทคโนโลยีเด่น 10 อย่างในปี 2017 ของบ้านเราได้ดังนี้

1 ) Cloud Computing

ในปัจจุบันข้อมูลต่างๆ และแนวโน้มของอุตสาหกรรมไอทีได้บ่งชี้ให้เห็นแล้วว่า Cloud Computing กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมจริงๆ โดยเฉพาะแนวโน้มของตลาดโลกที่น่าจะต้องมีผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมไอทีไทย โดยตลาด Tradition IT ด้าน IT Infrastructure จะลดลงไปเรื่อยๆ และตลาด Public Cloud จะโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดย IDC คาดการณ์ว่าตลาด Tradition IT จะเหลือเพียงแค่ 55% ในปี 2019 นอกจากนี้ ตลาด Cloud Computing ทำให้ผู้เล่นในตลาดเปลี่ยนไป อาทิเช่น ผู้นำตลาด IaaS กลับเป็นบริษัทที่ไม่เคยเป็นผู้ผลิต Hardware มาก่อนเช่น Amazon Web Services หรือ Microsoft

ในปัจจุบันบริษัทต่างๆในประเทศไทยก็หันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็น SaaS มากขึ้น แม้แต่หน่วยงานภาคการเงินการธนาคารหลายแห่งมีการใช้ซอฟต์แวร์ต่างประเทศอย่าง Salesforce, Google Apps และ Microsoft Office 365 นอกจากนี้ยังมีบริษัทซอฟต์แวร์รวมถึงกลุ่ม Tech- Start up จำนวนมากที่มาใช้ IaaS หรือ PaaS อย่าง Amazon Web Services หรือ Microsoft Azure ทั้งนี้ก็เริ่มมีชุมชนด้านนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศต่างๆที่ให้ความสำคัญกับการใช้ Cloud Platform อาทิเช่น AWS User Group ที่มีการจัดสัมมนาอย่างต่อเนือง หรือกลุ่มของ Microsoft Azure หรือ IBM Bluemix ที่มีการจัดกิจกรรมด้านนี้อย่างต่อเนื่อง กระแสการใช้ Cloud Computing ในอนาคตจะยิ่งมีมากขึ้นกว่าเดิม และก็อาจกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ทุกคนมาใช้งาน มากกว่ารูปแบบไอที On-Premise แบบเดิม

2) Big Data Analytics

กระแสของ Big Data ในประเทศไทยได้เริ่มพูดกันอย่างจริงจังในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและสถาบันการเงิน เริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนี้มากขึ้น มีการจัดหาเทคโนโลยี Hadoop เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลที่เป็น Semi-structure/Unstructure ได้มากขึ้น และเริ่มมีการคิดที่จะนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการทำธุรกิจใหม่ ให้ได้ข้อมูลการตลาดและลูกค้ามากขึ้น ตลอดจนภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Open Data และมีนโยบายในการที่จะพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ในภาครัฐ ซึ่งก็มีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) ที่ได้ทำงานในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง มีการจัดกิจกรรมและความร่วมมือต่างๆ ในกลุ่มนักพัฒนาและสถาบันการศึกษาต่างๆก็เริ่มให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) มากขึ้น มีการเปิดหลักสูตรใหม่ๆทางด้านนี้อาทืเช่นหลักสูตรปริญญาตรีด้าน Data Science ของสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือการจัดสัมมนาของ Data Science User Group

ในปีหน้าคาดว่าความตื่นตัวทางด้านนี้จะมีมากยิ่งขึ้น องค์กรจะเริ่มให้ความสนใจกับการนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปวิเคราะห์ โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคาร การตลาด โทรคมนาคม และค้าปลีก การแข่งขันทางด้านนี้จะมีมากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆก็จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น และก็เริ่มจะหาเครื่องมือที่สามารถจะวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆทั้งจาก RDBMS, Data Warehouse, NoSQL และ Hadoop มากขึ้น หน่วยงานจะเน้นความสำคัญกับการทำ Data Visualisation มากขึ้น และก็จะเริ่มมีการทำ Predictive Analytics มากขึ้น พร้อมทั้งจะมีความต้องการหานักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมากขึ้น

3) Internet of Things

IoT (Internet of Things) เป็นหนึ่งในแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก และมีผลต่อเรื่องของอุตสาหกรรม 4.0 อย่างมากเพราะต่อไปเราจะเห็นอุปกรณ์ต่างๆเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่างมากมายและธุรกิจต่างๆจำเป็นต้องจะนำอุปกรณ์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเกิดมูลค่าเพิ่ม บ้านเรากำลังเน้นคำว่า Thailand 4.0 (โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย) ซึ่งก็หนีไม่พ้นกับเรื่องของอุตสาหกรรม 4.0และก็กำลังเน้นเรื่องของ Digital Economy มีการวางแผนเรื่องของ Smart City ซึ่งจะต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคงหนีไม่พ้นที่ต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT
ชุมชนนักพัฒนาบ้านเราก็ให้ความสนใจกับด้าน IoT อย่างมากมีการตั้ง Maker Club หลายแห่ง มีการจัดตั้งกลุ่ม Thailand IoT Consortium และมีกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเราเห็นคนไทยเข้าไปเป็นประธาน South East Asia Makerspace Network หน่วยงานภาครัฐอย่าง NECTEC ก็มีการส่งเสริม IoT Platform อย่าง NETPIE และมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่เริ่มทำเรื่อง IoT ร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อผลักดันออกไปสู่ระดับโลกอย่าง บอร์ด Nano32 ซึ่งคนไทยเป็นผู้พัฒนาเป็นบอร์ด ESP32 บอร์ดเดียวในโลกที่มีจำหน่าย

4) Webscale IT

การใช้อินเตอร์เน็ตในบ้านเราเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลซึ่งหมายถึงมีการใช้บริการออนไลน์ต่างๆมากขึ้นเช่นการใช้ดูข้อมูล รับบริการต่างๆ รวมถึงการใช้ E-Commerce ที่เพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้การออกแบบระบบบริการออนไลน์จำเป็นต้องรองรับผู้ใช้จำนวนมากที่เข้ามาทำงานพร้อมกันให้ได้ ซึ่งหมายถึงการเตรียมสถาปัตยกรรมไอทีใหม่ การเตรียมเครื่อง Server จำนวนมาก การออกแบบซอฟต์แวร์โดยใช้ Framework ใหม่ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เราคงเห็นองค์กรต่างๆจะต้องปรับเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบล่มอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวอย่าง ระบบการจองตั๋วหรือระบบลงทะเบียนต่างๆ

5) FinTech

Financial Technology เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินบ้านเรากล่าวถึงกันอย่างมาก ธนาคารในบ้านเราหลายๆแห่งมีการตั้งหน่วย FinTech เพื่อพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆที่จะเข้ามาแทนที่รูปแบบการเงินแบบเดิมๆ และก็มีผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและกลุ่ม Start-up ที่สนใจเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานด้านธุรกรรมการเงิน จนเริ่มมีการพูดกันว่าในอนาคตผู้คนจะใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นและอาจทำให้จำนวนสาขาแบงค์น้อยลง ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าในปัจจุปันเรามีบัญชี Mobile Banking มากกว่า 10 ล้านบัญชี และ Internet Banking มากกว่า 12 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้เรายังมีนวัตกรรมด้านการเงินใหม่ๆอีกมากที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้อย่างเช่นการลงทุนที่นำเทคโนโลยีไอทีมาใช้ในการวิเคราะห์ตลาดหุ้น หรือกองทุนรวมอย่าง Jitta, WealthMagik หรือ Finnomena การเปรียบเทียบบริการด้านการเงินอย่าง Gobear, Rabbit Finance ตลอดจนช่องทางการชำระเงินแบบใหม่ๆอย่าง 2C2P, Omise, Paysbuy เป็นต้น สถาบันการเงินเองก็การแข่งขันกันหานวัตกรรมใหม่ๆจากผู้เล่นที่เป็น Start-up โดยการเข้าไปลงทุนหรือจัดประกวดต่างๆ รวมถึงการศึกษาและหาช่องทางในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง Blockchain เข้ามาใช้งาน และล่าสุดมีการจัดตั้ง Thailand FinTech Club ที่จะผลักดันในเรื่องนี้โดยมีคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

6) PromptPay

“พร้อมเพย์” (AnyID) คือเรื่องที่กล่าวขานกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนวัตกรรมการเงินของประเทศ จะเป็นการลดการทำธุรกรรมการเงินโดยการใช้เงินสด แล้วหันไปใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ แทนเลขที่บัญชีธนาคาร ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง โมบายแบงก์กิ้ง เครื่องเอทีเอ็ม แม้โครงการจะถูกเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสแรกในปีหน้า แต่ด้วยการผลักดันของรัฐบาลและกลุ่มธนาคารต่างๆก็คงยังจะทำให้พร้อมเพย์เป็นเเรื่องที่น่าสนใจและจะมีการลงทุนกันอย่างมากในเรื่องนี้ ทั้งในการปรับโครงสร้างด้านไอทีของกลุ่มธนาคาร การรองรับการชำระเงินแบบใหม่ของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการคำนึงถึงระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง

7) IT Security

แนวโน้มของการใช้ไอทีมากขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆจำเป็นต้องมีความตื่นตัวด้านความปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ในปีนี่เราจะเห็นได้ว่ามีข่าวเรื่องของการโจรกรรมข้อมูล การโจมตีเว็บ การปล่อยมัลแวร์ หรือล่าสุดจะเห็นข่าวการโจรกรรมเงินในตู้เอทีเอ็มของธนาคารในประเทศ ตลอดจนความต้องการการใช้บริการออนไลน์มากขึ้นทำให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการลงทุนและสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ใช้งานมากขึ้น ด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง IoT จะทำให้องค์กรต่างๆต้องพิจารณาปรับปรุงระบบความปลอดภัยไอทีให้มีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

8) Digital Transformation

การเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างมาก เกิดธุรกิจใหม่ๆมากมายเช่น Airbnb, Uber หรือ Agoda การเข้ามาของธุรกิจเหล่านี้ทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจเดิมๆที่เคยทำอาทิเช่น eBook มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์ หรือ Streaming Content อย่าง NetFlix, Hollywood HD ก็มีผลกระทบต่อธุรกิจด้านทีวีในบ้านเรา องค์กรต่างๆก็เริ่มที่จะต้องปรับตัวเองมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ทั้งในการบริหารงาน การบริการลูกค้า หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เรื่องของ Digital Transformation ก็จะเป็นหัวข้อหนึ่งที่มีการพูดกันอย่างมากในช่วงสองสามปีข้างหน้า

9) Mobility

แม้ตัวเลขการใช้เทคโนโลยี Smartphone, Tablet หรือ 4G ในบ้านเราจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่การใช้งานส่วนใหญ่ยังมุ่งไปเพื่อความบันเทิงมากกว่าการใช้เพื่อทำงานหรือสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงธุรกิจ แต่เนื่องจากพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมีความเป็น Mobile มากขึ้นคือการทำงานในทุกที่ ทุกอุปกรณ์ ประกอบกับปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ต่างๆของบ้านเรา จะทำให้หน่วยงานจะต้องเตรียมปรับเทคโนโลยี และรูปแบบการทำงานให้รองรับ Mobility มากขึ้น เช่นการประชุมออนไลน์ การทำงานแบบร่วมกัน การแชร์ข้อมูลผ่าน Share Drive หรือ การทำเอกสารแบบออนไลน์โดยใช้เครื่องมืออย่าง Google Docs หรือ Office 365 หน่วยงานในบ้านเราจะมีการปรับวัฒนธรรมในองค์กรให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นครั้งใหญ่

10) Business Value Dashboard

แม้เรื่อง Big Data จะเป็นแนวโน้มเทคโนโลยีด้านหนี่งมี่สำคัญในปีหน้า แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานบ้านเราจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องของข้อมูลการรวบรวมข้อมูล การทำ Data Visualization จากข้อมูลพื้นฐานในองค์กร หน่วยงานจำนวนมากก็ยังจัดทำเรื่องของ Data Warehouse และ Business Intelligence เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในการทำงานได้ ดังนั้นเรื่องของการทำ Business Dashboard ก็ยังเป็นแนวโน้มเทคโนโลยีที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งสำหรับองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลในองค์กรให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้บริหารตัดสินใจได้ เราจะเห็นการลงทุนของหน่วยงานต่างๆที่จะซื้อเครื่องมือเหล่านี้ในการประมวลผล และมีการจัดทำโครงการต่างๆด้าน Business Intelliegence ที่มากขึ้น

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

screenshot-2016-10-24-11-52-46

Top 10 Strategic Technology Trends for 2017

ทุกๆสิ้นปี Gartner จะประกาศแนวโน้มของเทคโนโลยีในปีหน้าออกมา ซึ่งในปีนี้ก็เช่นกัน Gartner ได้ประกาศ  10 เทคโนโลยีเด่นที่จะมีผลต่อปี 2017 ออกมาเมื่อกลางเดือนตุลาคมนี้ โดย Gartner เล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังหล่อหลอมโลกเสมือนดิจิทัลกับโลกที่แท้จริง  (Physical World) เข้าด้วยกันซึ่งกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการตัดสินใจเชิงธุรกิจ การตลาด และการทำงานในองค์กรต่างๆ ในอนาคตเทคโนโลยีจะถูกฝังเข้าไปในทุกสิ่งของโลกธุรกิจ ทำให้เกิดบริการดิจิทัล (Digital Service) ที่มีระบบอัจฉริยะที่อยู่เบื้องหลัง ระบบโครงข่าย (Mesh) ที่เชื่อมโยง คน อุปกรณ์ เนื้อหา และบริการต่างๆเข้าด้วยกันนี้จะถูกเรียกว่า Intelligent digital mesh ผู้บริหารองค์กรจำเป็นจะศึกษาและทำความเข้าใจกับระบบ Intelligent digital mesh นี้เพื่อปรับองค์กรให้สามารถรองรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับในปีนี้ Gartner ได้แบ่ง 10 เทคโนโลยีเด่นออกเป็นสามกลุ่มดังรูปที่ 1

  • Intelligent คือการเข้ามาของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) กำลังทำให้การพัฒนาโปรแกรมยุคใหม่ก้าวสู่ระบบ Artificial Intelligence (AI) และ Advanced Machine Learning และมีการสร้างอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่ใช้หลักการพัฒนาโปรแกรมแบบให้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตลอดแทนรูปแบบเดิมที่พัฒนาโปรแกรมที่มีรูปแบบการทำงานตายตัวตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
  • Digital ที่จะเน้นการผสมผสานระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกที่แท้จริงเพื่อจะสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่น่าดึงดูดและใหญ่ขึ้น  ซึ่งหมายถึงการมีบริการดิจิทลที่มากขึ้น การมีระบบ Interface ที่เชื่อมโยงโลกทั้งสองอย่าง VR/AR และการผลักดันให้เกิดธุรกิจดิจทัลในยุคใหม่
  • Mesh หมายถึงการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้คน ธุรกิจ อุปกรณ์ เนื้อหา และบริการต่างๆเพื่อจะใด้ให้เกิดผลลัพธ์ในทางธุรกิจดิจิทัล Mesh ต้องการส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (Interface) ใหม่ๆ (เช่น ผ่านระบบการสนทนา (Conversational System) ), ระบบความปลอดภัยแบบใหม่, เทคโนโลยีแพลตฟอร์มใหม่ และแนวทางการออกแบบโซลูชั่นแบบใหม่

screenshot-2016-10-20-11-49-17

รูปที่ 1 Top 10 Strategic Technology Trends for 2017

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 1: Artificial Intelligence and Advanced Machine Learning

AI และ Machine Learning ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีและเทคนิคต่างจำนวนมากเช่น Deep learning, neural networks และ Natural-language processing [NLP] ได้เริ่มจะมีการนำเทคนิคที่ก้าวหน้าขึ้นเพื่อมาสร้างระบบที่สามารถจะ เข้าใจ เรียนรู้ พยากรณ์ ปรับเปลี่ยนแก้ไข และมีศักยภาพในการที่จะทำงานได้เองโดยมีการป้อนข้อมูลจากมนุษย์เพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีการป้อนข้อมูลเลย AI และ Machine Learning เลยทำให้ Smart Machine มีความเป็น “intelligent”  ซึ่ง AI และ Machine Learning ไม่ใช่แค่ทำให้ Smart Machine เข้าใจหลักการของสภาพแวดล้อมแต่ยังสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตัวเองได้

หลักการของ  Machine Learning ทำให้ Smart Machine สามารถที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในอนาคต ตัวอย่างเช่นการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ก็อาจทำให้ระบบการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือการใช้เทคโนโลยีติดตามสายตา (eye-gazing) ในห้างร้านและ Sensor จาก Smartphone ก็อาจสามารถทำให้วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคได้ โดยองค์กรต่างๆจะค้นหานวัตกรรมธุรกิจที่ประยุทธ์ใช้  AI และ Machine Learning ที่สามารถสร้างผลกระทบอย่างมากให้กับองค์กร

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 2: Intelligent Apps

องค์กรต่างๆจะประยุกต์ใช้ AI และ Machine Learning เพื่อสร้าง App ใหม่เช่น virtual personal assistants (VPAs) และปรับปรุง  App เดิมเช่น ระบบการขายและการตลาด ซึ่งจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างการทำงานขององค์กรจากเดิมโดยจะมีการทำงานที่ง่ายขึ้นและพนักงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในระยะแรกก็ยังมีความท้าทายจากการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเนื่องจากการนำเทคโนโลยีก่อกำเนิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ในช่วง 10 ปีข้างนี้ เราจะเริ่มเห็น App และบริการต่างๆมีการนำระบบ AI เข้ามาใช้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ Gartner เชื่อว่าภายในปี 2018, บริษัทใหญ่สุดในโลก  200 บริษัทต่างก็จะมีการนำ Intelligent Apps มาเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงคุณภาพการบริการและการหาลูกค้า

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 3: Intelligent Things

Intelligent Things หมายถึงอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆจะมีการประยุกต์ใช้ AI และ Machine Learning  ซึ่งก็จะทำให้อุปกรณ์สามารถมีพฤติกรรมที่โต้ตอบกับสภาพแวดล้อมและผู้คนได้ ซึ่ง Intelligent Things จะแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่คือ หุ่นยนต์, โดรน และยานพาหนะอิสระ (Autonomous vehicles)   ซึ่งในอนาคต Intelligent Things จะเปลี่ยนรูปแบบจาก Stand-alone  เป็นแบบ Collaboration ที่จะเห็นอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานร่วมกัน  แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานในปัจจุบันก็ยังมีอุปสรรคจากเรื่องอื่นๆเช่น ความรับผิดชอบทางกฎหมาย, เรื่องสิทธิส่วนบุคคล และการพัฒนา Intelligent Things ที่มีความสามารถเฉพาะงานบางด้านยังเป็นเรื่องยากเลยทำให้การนำระบบนี้มาใช้งานใน อุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆยังไปได้ไม่มากนัก

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 4:Virtual Reality and Augmented Reality

เทคโนโลยี VR และ AR ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ผู้คนโต้ตอบกับผู้อื่นหรือระบบซอฟต์แวร์อื่นๆ เช่น Head-mounted displays (HMDs) ซึ่งเป็นเครื่องแสดงผลหรือเทคโนโลยี  projection  ที่อาจถูกรวมเข้าไปในอุปกรณ์สวมใส่เช่นแว่นตาหรือหมวกกันน็อก ทำให้เราสามารถเห็นภาพเสมือนจาก Digital mesh App และจะทำให้เกิดผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ๆและพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น  VR สามารถใช้มาช่วยในการเรียนการสอนเพื่อเชื่อมโยงโลกจริงกับโลกเสมือนให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น หรือธุรกิจก็สามารถที่จะสร้างภาพกราฟฟิกลงอุปกรณ์ต่างๆได้เช่นการแสดงสายไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในผนัง

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 5:Digital Twins

Digital Twin คือ replication ของสินค้า ที่อยู่ในรูปข้อมูลเสมือน (Virtual Asset) โดยข้อมูลจาก Sensor ที่ติดอยู่กับผลิตภัณท์ที่ส่งข้อมูลกลับมา เพื่อให้ผู้เชียวชาญด้านต่างๆ เข้าใจสถานะของผลิตภัณท์ สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงการทำงาน และเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณท์ ซึ่ง Gartner คาดว่าในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ 21,000 ล้านชิ้นที่เชื่อมต่อกับ Sensor และจะต้อง มี Digital Twin เพื่อรองรับผลิตภัณท์เหล่านี้  โดยจะถูกนำไปใช้เพื่อการซ่อมแซมผลิตภัณท์การวางแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ การพยากรณ์การทำงานของผลิตภัณท์หรือช่วยในการพัฒนาการทำงานผลิตภัณท์ให้ดีขึ้น Digital Twin จะเป็นการผสมผสานส่วนต่างๆคือ Metadata (เช่นส่วนประกอบ โครงสร้างของผลิตภัณท์), Condition or state (เช่น ตำแหน่งหรืออุณหภูมิ), Event data (เช่น ลำดับเวลา) และ Analytics (เช่นอัลกอริทึม) ซึ่งการพัฒนา Digital Twin จำเป็นจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษาผลิตภัณท์กับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientists) และนักวิชาชีพไอที

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 6:Blockchains and Distributed Ledgers

Distributed Ledger ซึ่งก็คือ รายการข้อมูลการทำ transaction ต่างๆที่เข้ารหัสและเก็บไว้อย่างถาวรซึ่งแชร์กันระหว่างผู้เกี่ยวข้องในเครือข่าย ข้อมูลแต่ละชุดก็จะเก็บเวลาอ้างอิงและการเชื่อมโยงกับ transaction  ก่อนหน้านี้ Distributed Ledger ทำให้ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลสามารถตรวจสอบ transaction ต่างๆได้ง่ายขึ้น Blockchain เป็นประเภทหนึ่งของ Distributed Ledger ซึ่งเป็น transaction ในการแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีมูลค่าเช่น bitcoin แล้วถูกจัดกลุ่มเป็น Block โดยที่แต่ละ Block ถูกโยงกัน (chain) กับ Block ก่อนหน้านี้ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการนำ Blockchain มาใช้ในงานทั่วไปมากขึ้น

Blockchain และ Distributed ledger เริ่มเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ถูกคาดหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงโมเดลอุตสาหกรรมต่างๆอย่างมากมาย ถึงแม้ยังมีกรณีการใช้งานจริงไม่มากนักนอกจากกรณีของ Bitcoin แต่จากการสำรวจของ Gartner ก็พบว่าผู้ตอบแบบสอบสำรวจกว่า 52% เชื่อว่า Blockchain จะมีผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งนอกเหนือจากธุรกิจด้านการเงินแล้ว Blockchain เองก็อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอื่นๆเช่น การจำหน่ายเนื้อหาดิจิทัลเช่นเพลง การใช้ระบุตัวตน การกระจายสินค้า การออกใบรับรองการศึกษา หรือแม้แต่การใช้ในข้อสัญญาต่างๆ

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 7:Conversational Systems

ระบบติดต่อกับผู้ใช้แบบการสนทนา (Conversational UI) จะทำให้คนและอุปกรณ์โต้ตอบกับด้วยการพูดหรือการเขียนด้วยภาษาทั่วๆไป (ไม่ต้องใช้คำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์) โดยเป็นลักษณะการการสนทนาแบบโต้ตอบกันซึ่งอาจเป็นคำสั่งหรือคำถามง่ายๆ(เช่น”Stop!” หรือ “What time is it?”) ขณะเดียวกันการสนทนาก็อาจมีความซับซ้อนได้เช่นการเก็บการสอบปากคำพยานในเหตุการณ์แล้วก็อาจทำให้อุปกรณ์สามารถแสดงผลลัพธ์ยากๆได้เช่นภาพของผู้ต้องสงสัย ระบบ  Conversational UI จะเป็นส่วนติดต่อกับผู้ใช้หลักในหลายๆอุปกรณ์ในอนาคตโดยจะเป็นการติดต่อผ่านโครงข่ายอุปกรณ์ต่างๆเช่น Sensor, เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือระบบ IoT ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีรายๆบริษัทได้นำระบบเหล่านี้เข้ามาใช้งานเช่น Apple (Siri), Google (Google Now), Amazon (Alexa) และ Microsoft (Cortana)

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 8:Mesh App and Service Architecture

Intelligent digital mesh จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถาปัตกรรมไอที เทคโนโลยี และเครื่องมือที่จะใช้ในการออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ Mesh App และ Service Architecture(MASA) เป็นสถาปัตยกรรมแบบโซลูชั่นหลายช่องทางที่จะสนับสนุนผู้ใช้จำนวนมากที่มีบทบาท (Role) ที่หลากหลายโดยอาจใช้อุปกรณ์ต่างๆมาติดต่อกันผ่านเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งสถาปัตยกรรมนี้จะมีเซอร์วิสต่างๆทั้งที่เป็น Miniservices และ microservice และ  APIs ต่างๆที่หน่วยงานต่างๆพัฒนาขึ้นมา ดังนั้นองค์กรก็จะสามารถพัฒนาบริการดิจิทัลใหม่ๆได้โดยสร้างโซลูชั่นจาก MASA

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 9:Digital Technology Platforms

Digital technology platforms เป็นบล็อกที่รวบรวมความสามารถและองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะกำหนดรูปแบบการทำงานร่วมกันในการที่จะสร้าง Apps  และ Services โดยจะประกอบด้วยแพลตฟอร์ม 5 ส่วนคือ Information system platform, Customer experience platform, Analytics and intelligence platform, IoT platform และ Business ecosystem platform องค์กรต่างๆจะวางแผนและพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อรองรับกับความท้าทายของธุรกิจดิจิทัล

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ 10:Adaptive Security Architecture

การเข้ามาของ Intelligent digital mesh, digital technology platforms และ สถาปัตยกรรมแอปพลิเคชั่นจะทำให้ระบบความปลอดภัยไอแทีซับซ้อนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันภัยคุกคามไซเปอร์หรือ “hacker industry” ก็มีการพัฒนาไปอย่างมากและมีการใช้เครื่องมือที่ซ้บซ้อนและเทคนิคที่เก่งขึ้น โดยเฉพาะความปลอดภัยที่อาจเกิดจากการใช้ระบบ IoT ดังนั้นทีมด้านความปลอดภัยไอทีจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกีบทีม Application, Solution และ Enterprise Architect เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยในกระบวนการ DevOps เพื่อสร้างโมเดล DevSecOps

จากแนวโน้มของเทคโนโลยีทั้งสิบจะเห็นว่าหลายเรื่องก้าวหน้าไปกว่าทางประเทศเรามาก ในอดีตเมื่อ Gartner ระบุถึง Top 10 Strategic Technology Trends ในแต่ละปีจะเห็นว่าบางเรื่องเราก็ยังพอเข้าใจและอุตสาหกรรมในบ้านเรายังตามทันแต่หัวข้อต่างๆในปีนี้ก็น่ากังวลว่าเราจะตามทันเทคโนโลยีในอนาคตได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของสถาปัตยกรรมไอที ข้อแนะนำที่เราควรจะต้องทำอาจมีดังนี้

  • วางแผนระยะยาวสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปี 2020-2025 ที่เราจะเห็นระบบที่ติดต่อกับผู้ใช้ทั้งพนักงานหรือลูกค้าเปลี่ยนไปโดยมีการนำระบบต่างๆเช่น conversational systems, AR /VR  เข้ามา
  • ควรศึกษาและหาโอกาสในการนำระบบไอทีใหม่ๆที่มีการใช้ AI และ machine learning เช่นระบบ virtual personal assistants หรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในองค์กร
  • พัฒนาระบบนำร่องที่ใช้ AR/VR หรือการพัฒนา Digital Twin สำหรับอุปกรณ์ IoT หรือการใช้ blockchains และ distributed ledgers ในช่วงสามปีข้างหน้า
  • ควรจะต้องวางแผนด้าน MASA และ Digital Technology Platforms รวมถึงการคำนึงถึงระบบความปลอดภัยที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคต

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

14469622_719928498154493_3803789530570232777_n

องค์กรต้องมี Digital Culture ก่อนเราถึงจะเป็น Thailand 4.0 ได้สำเร็จ

nmculture

ผมไม่ได้เขียนอะไรบล็อกนานหลายเดือน ทั้งๆที่ไอซีทีในประเทศมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงมากมาย เราเพิ่งได้กระทรวงในชื่อใหม่ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เรามีการจัดงานหลายงานทั้ง Start-up Thailand หรือ  Digital Thailand  รัฐบาลเองก็เริ่มพยายามเน้นคำว่า Thailand 4.0  เพื่อพยายามจะบอกว่าประเทศเราต้องก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงก็เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล

รัฐบาลเองก็ได้อนุมติแผนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมที่ได้กล่าวถึงหลายๆยุทธศาสตร์ที่จะมาปรับประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล เตรียมงบลงทุนไว้ถึง 20,000 ล้านบาทเพื่อที่วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งการขยาย  Broadband  ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆในประเทศ การลงทุนด้าน Gateway ออกสู่ต่างประเทศ และมีแผนต่างๆอีกมากมาย

จริงๆแล้วคนไทยจำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ในยุค 4G  ที่เรามีการใช้  Smartphone กันอย่างมากมาย คนไทยเล่นไอทีเพื่อความบันเทิงไม่น้อยหน้าชาติอื่นในโลก เรามีจำนวนคนที่อยู่ในโลก Social Media ไม่น้อยกว่าชาติอื่น แต่พอมาถึงคำว่า  Thailand 4.0 ผมว่ามันมีคำมากกว่า “เข้าถึงและใช้เป็น”  ใช่ครับคนไทยเราใช้ไอทีเป็นแต่เราใช้โดยไม่ได้มี  Digital Mindset ในการทำงาน การจะเปลี่ยนแปลงสู่ Thailand 4.0 ไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าเราไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรโดยเฉพาะภาคราชการ และกลุ่ม SME หรือแม้แต่หน่วยงานเอกชนรายใหญ่ๆ

เรายังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลายๆอย่างเรายังทำงานเหมือนเดิมแต่เราใช้เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือบางอย่างแต่เรายังมีวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม เรายังเดินทางไปร่วมประชุมกัน น้อยรายที่จะใช้ Confererence Call หรือ NetMeeting ภาคราชการก็จะต้องจัดประชุมโดยเรียกข้าราชการมานั่งรับฟังนโยบายแทนที่จะ  Broadcast ผ่าน Internet  เรายังทำเอกสารโดยใช้ Word, Excel แบบส่งกันไปมาโดยไม่รู้จักการใช้งานแบบ Collaboration เรายังใช้ Thump Drive ในการส่งไฟล์ไปมากแทนทีจะใช้  Share storage เรายังต้องมีเอกสารมากมายในการทำงานในการประชุม ข้อสำคัญบ่อยครั้งเราทำงานโดยขาดข้อมูลที่ควรอยู่บนโลกออนไลน์ที่ควรค้นได้ง่าย

ผมยังมองไม่ออกเลยครับว่าเราจะก้าวสู่  Thailand 4.0 ได้อย่างไรถ้าองค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่มี Digital Culture ซึ่งมันมีคงความหมายมากกว่าการใช้ไอทีเป็น แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงการทำงานขององค์กร ต้องเข้าใจวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในโลกดิจิท้ล องค์กรที่จะมีวัฒนธรรมดิจิทัลต้องมีองค์ประกอบหลายๆเรื่อง ผมขอลองยกมาให้ดูบางประเด็น แล้วจะตอบได้ว่าประเทศเราพร้อมเข้าสู่  Thailand 4.0 มากน้อยแค่ไหน

  1. Transparency (ความโปร่งใส) โลกดิจิทัลทำให้หลายอย่างสามารถเปิดเผยออกมาได้ ทุกคนจะต้องแชร์ข้อมูล คนทำงานต้องกรอกข้อมูล ต้องทำงานแบบออนไลน์ทันทีทันใด ข้อมูลหลายอย่างจะเชื่อมโยงกัน องค์กรที่จะอยู่ในโลกดิจิทัลต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ประเทศที่มีปัญหาการคอรัปชั่นที่สูง ย่อมยากต่อการก้าวสู่ Digital Transformation
  2. การแบ่งปัน  (Sharing) วัฒนธรรมดิจิทัลที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการ Sharing  บุคลากรในองค์กรต้องพร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลต่างๆทางออนไลน์ คนจะต้องมีวัฒนธรรมในการแบ่งปันในเรื่องต่างๆ การให้ข้อมูล การแบ่งปันทรัพยากร มันถึงจะลดการใช้เอกสารต่างๆได้
  3. การทำงานร่วมกัน (Collaboration) องค์กรที่มีวัฒนธรรมดิจิทัลต้องมีการทำงานแบบร่วมกัน ในโลกไอทีก็อาจหมายถึง การทำเอกสารร่วมกัน การประชุมออนไลน์ การใช่ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งลักษณะแบบนี้องค์กรจะค่อนข้าง Flat ไม่มีขั้นตอนการสั่งงานมากมาย
  4. การใช้ข้อมูลขับเคลื่อน (Data Driven)  องค์กรจะต้องตัดสินใจการทำงานต่างๆโดยใช้ข้อมูล มากกว่าความรู้สึก นั้นก็หมายความว่าวัฒนธรรมองค์กรจะต้องทำให้บุคลากรทุกระดับรู้จักใช้ข้อมูล มีการป้อนข้อมูล เก็บข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ
  5. มีความคล่องตัว (Agility) องค์กรต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะในโลกดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จากที่กล่าวมาเป็นแค่ตัวอย่าง เราลองมาคิดดูว่าประเทศไทยเราพร้อมถึงจุดนั้นหรือยัง เราจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ถึงจุดนั้นไหม หรือสุดท้ายคำว่า Thailand 4.0 จะเป็นแค่คำพูดการตลาดที่สวยหรูอีกครั้ง

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute