ผลการสำรวจการใช้ Cloud Computing ทั่วโลกปี 2019

Screenshot 2019-09-14 12.11.57

ผมตามผลการสำรวจ Cloud Computing ของบริษัท RightScale ทุกปี เพื่อจะได้ทราบแนวโน้มการใช้ Cloud Computing ในด้านต่างๆของผู้ใช้ในองค์กรรูปแบบต่างๆทั่วโลก สำหรับในปีนี้ทาง RightScale ได้ออกรายงาน State of the cloud 2019 from Flexera™ มาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 786 ราย โดยเป็นองค์กรขนาดใหญ่ 456 รายและ SME 330 ราย โดย 59% มาจากทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป 16% และเป็นเอเซียแปซิฟิก 19% โดยกลุ่มตัวอย่างมาจากอุตสาหกรรมต่างๆดังรูปที่ 1

Screenshot 2019-03-14 10.04.45

รูปที่ 1 กลุ่มตัวอย่างแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม

ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายๆด้านที่ผมอยากสรุปมาสั้นๆดังนี้

  • 94% ของผู้ตอบแบบสอบถาม กำลังใช้ Cloud โดย 69% ใช้  Hybrid Cloud, 22% ใช้ Public cloud อย่างเดียว และ 3% ใช้ Private cloud อย่างเดียว
  • 84% ใช้ Cloud อยู่หลายราย  (Multi-cloud)
  • ค่าใช้จ่าย Public Cloud ขององค์กรต่างๆขนาดใหญ่จะสูงกว่า 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณเดือนละ 200,000 เหรียญ แต่ถ้าเป็น SME มากกว่า 50% จะมีรายจ่ายต่ำกว่า 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณเดือนละ 10,000 เหรียญ ดังแสดงในรูปที่ 2
  • การใช้ Public cloud  โตขึ้นอย่างมากถึง 24%  ขนาดที่ Private cloud โตเพียง 8%
  • ความท้าทายของการ Cloud ที่องค์กรให้ความสำคัญสามเรื่องคือ Governance, ขาดความเชี่ยวชาญและ การควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การใช้ ดังแสดงในรูปที่ 3
  • AWS ยังเป็น Public cloud ที่มีผู้ใช้มากที่สุด และ Azure มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก (โดยปีที่แล้วมีผู้ใช้ 45% แต่โตขึ้นเป็น 52% ส่วน AWS ลดลงจาก 64% เหลือ 61%) ดังแสดงในรูปที่ 4
  • ผู้ใช้บริการ PaaS ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ Relational Database as a Service และ Push notification ขนาดที่การใช้บริการ Serverless , Stream processing และ Machine learning  เติบโตขึ้นมากกว่า 45% ดังแสดงในรูปที่ 5
  • VMware sphere ยังเป็น Private Cloud ที่นิยมมากที่สุดตามด้วย OpenStack ดังแสดงในรูปที่ 6
  • Docker ยังเป็น Container ที่คนใช้มากที่สุด แต่ Kubernate โตขึ้นอย่างมาก ดังแสดงในรูปที่ 7

ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ของ RightScale >> https://www.rightscale.com/blog/cloud-industry-insights/cloud-computing-trends-2019-state-cloud-survey

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

 

Screenshot 2019-03-14 10.16.42

รูปที่ 2 ค่าใช้จ่าย Public Cloud ต่อปีขององค์กรต่างๆ

Screenshot 2019-03-14 10.22.11

รูปที่ 3 ความท้าทายของการใช้ Cloud แบ่งแยกตามระดับประสบการณ์การใช้

Screenshot 2019-03-14 10.27.33

รูปที่ 4 ส้ดส่วนการใช้ Public Cloud ของผู้ให้บริการต่างๆ

Screenshot 2019-03-14 10.30.58

รูปที่ 5  PaaS Public Cloud แบ่งตามประเภทการให้บริการ

Screenshot 2019-03-14 10.36.41

รูปที่ 6 สัดส่วนการใช้ Private Cloud

Screenshot 2019-03-14 10.39.29

รูปที่ 7 สัดส่วนการใช้ Container

 

การใช้ IaaS/PaaS Cloud Computing เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับองค์กร

25182135_982595078554499_4976486232400632025_o (1)

เวลาพูดถึงเรื่อง Cloud Computing โดยเฉพาะบริการด้าน IaaS (Infrastructure as a Service) หรือ PaaS (Platform as a Service) หลายคนก็ยังเข้าใจเน้นไปที่การจัดหา Virtual Server มาแทนที่ระบบ on-Premise ในปัจจุบัน แล้วก็ไปเปรียบเทียบกับการที่จะต้องบำรุงรักษาระบบเอง และก็เข้าใจไปว่าระบบ IaaS Cloud Computing เน้นที่บริการ Compute Engine ที่บริการ OS อย่าง Linux หรือ  Windows ก็เลยเป็นที่มาทำให้บางคนไปคิดว่า IaaS คือการจัดหา Server โดยให้ Cloud Service Provider เป็นผู้ดูแล แล้วคิดค่าใช้จ่ายแบบการเช่ารายวันรายเดือน นอกจากนี้หลายๆคนก็ไม่เข้าใจบริการอย่าง PaaS ที่จะเป็นประโยชน์กับองค์กรมากมายกว่าการหา Virtual Server ที่มีแต่ OS เปล่าๆแล้วให้ผู้ใช้บริการมาติดตั้งระบบ Middleware แล้วสร้าง Application อื่นๆกันเอง

คุณค่าของการใช้บริการ Cloud Computing ไม่ได้อยู่ที่การลดค่าใช้จ่าย ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้บริการ Cloud Computing มากที่สุดคือเรื่องของ ความคล่องตัว  นวัตกรรม และ Time to market บริการ Cloud computing ทำให้องค์กรสามารถพัฒนาระบบไอทีในองค์กรให้แข่งขันได้อย่างเร็วโดยการเลือกบริการที่เหมาะสมโดยเฉพาะในกลุ่ม IaaS/PaaS ของ Cloud Service Provider มาใช้ ในปัจจุบัน Cloud Service Providers ใหญ่ๆทุกรายในต่างประเทศที่เราสามารถเรียกใช้บริการจากในประเทศได้จะมีบริการดีๆมากกว่าการให้บริการเช่า Virtual Server โดยเราอาจแบ่งกลุ่มของบริการต่างได้ดังนี้

  • Compute  อาทิเช่น Virtual Server, App Development/ Deployment,  Container Registration Service
  • Storage อาทิเช่น Object storage, Relational database, NoSQL, Data warehouse
  • Migration Services อาทิเช่น Large scale data transfer, Database Migration Services
  • Big Data & Advanced Analytics อาทิเช่น Big Data Query as a Service, Hadoop as a Service, Business Intelligence & Data Visualization
  • Artificial Intelligence อาทิเช่น Machine Learning, Language Processing AI, Image Recognition AI
  • Mobile Services อาทิเช่น Mobile App Development Services,  Mobile App Analytics
  • Application Services อาทิเช่น  API Management Service, Email Services
  • Internet of Things อาทิเช่น IoT Platform, IoT Development Solutions
  • Software MarketPlace
  • Developer Tools 
  • Game Development 
  • Development & Testing
  • Networking & Content Delivery
  • Management Tools
  • Security & Identity, Compliance Identity & Access

สิ่งที่สำคัญคือหน่วยงานจะต้องมีบุคลากรไอทีที่มีความเข้าใจบริการต่างๆเหล่านี้ มี Cloud Architect ที่จะรู้จักเลือกใช้ Cloud services ต่างๆ สามารถเปรียบเทียบและรู้จักบริการต่างๆเหล่านี้ของผู้ให้บริการ Cloud ต่างๆ [ผู้ที่สนใจจะรู้จักบริการ Cloud ของผู้บริการรายใหญ่อย่าง Amazon Web Services, Microsoft Azure, Google Cloud Platform, IBM Cloud, Oracle Cloud และ Alibaba Cloud สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ilyas-it83.github.io/CloudComparer/#]

Screenshot 2017-11-27 08.39.56

เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการใช้บริการ  Cloud Computing เหล่านี้ ผมขอยกตัวอย่างการใช้งานที่สำคัญมาสามเรื่องจากประสบการณ์ที่ทางทีมงาน IMC Institute ได้ทำมา ซึ่งเป็นอะไรที่มากกว่าการใช้ Virtual Server และได้ประโยชน์อย่างมาก

กรณีที่ 1) การพัฒนา Application โดยใช้บริการ App Development/ Deployment

การพัฒนา Web/Enterprise Application โดยการใช้ Server มักจะประสบปัญหาเรื่องของการติดตั้ง Middleware เรื่องของ Scaling เมื่อมีผู้ใช้จำนวนมาก และอาจเจอปัญหาเรื่อง Dev/Op การจัดหา Virtual Server มาแล้วต้องมาลง Middleware ต่างๆเองไม่ตอบโจทย์ต่างๆเหล่านั้น แต่ Cloud Provider จะมีบริการอย่าง AWS BeansTalk  หรือ Google App Engine ที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถที่จะมุ่งเน้นแค่การเขียนโปรแกรมอย่าง Java, Python, PHP หรือ C#.Net แล้วสามารถเอา code เหล่านั้นไป Deploy ใช้งาน Server ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาติดตั้ง Middleware ใดๆ และสามารถเลือกโหมดที่เป็น auto-scaling ได้ โดยไม่ต้องทำการติดตั้ง server เพิ่มเติม การเลือกใช้บริการเหล่านี้ทำให้ทีมงานสามารถพัฒนา Application ได้อย่างรวดเร็ว

กรณีที่ 2) การทำ Big Data โดยใช้  Object storage, Hadoop as a service  และ Big Query

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง Big Data as a Serviceไปแล้วว่าทำให้เราสามารถทำโครงการ Big Data ได้อย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ทีมงานของ IMC Institute ได้ไปทำโครงการและให้คำปรึกษาองค์กรหลายๆแห่งให้ใช้  Cloud Computing ในการทำ Big Data เพราะนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการติดตั้งระบบ Big Data Platform เองแล้ว ยังทำให้เราสามารถเริ่มต้นโครงการได้อย่างรวดเร็ว หลักการก็คือการใช้บริการ Object storage อย่าง  AWS S3 หรือ  Google Cloud storage มาเก็บข้อมูล Archieve ขององค์กรที่เป็น Warm/Cold data  แทนที่การใช้ Hadoop HDFS แบบ On-premise แล้วใช้บริการ Hadoop as a Service อย่าง Google Dataproc หรือ Data Warehouse Tool อย่าง Google Big Query ในการทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในรูปของการทำ BI หรือ Data Science

[ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ Big Data as a Service แนวทางการทำโครงการ Big Data ที่ไม่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ การทำโครงการ Big Data อย่างรวดเร็ว ควรเริ่มอย่างไร]

กรณีที่ 3) การใช้บริการ Artificial Intelligence as a Service

หลายๆองค์กรต้องการทำเรื่องของปัญญาประดิษฐ์เช่นการแปลภาษา การวิเคราะห์ภาพหรือเสียง การทำ Machine Learning หรือการใช้ Deep Learning แต่พบว่าการจะเริ่มต้นโดยการจัดหาเครื่องขนาดใหญ่จำนวนมากมาทำ Machine Learning หรือสร้าง  Model อาจไม่ใช่เรื่องง่ายและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทีมงานของ IMC Institute ได้พัฒนาระบบพวกนี้ผ่าน AI as a Service ของ Google Cloud โดยใช้ Translation API และ Language API รวมถึงการทำ  Deep Learning  โดยใช้  Machine Learning as a Service ของ Google ทำให้สามารถพัฒนาระบบได้อย่างรวดเร็ว

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจประโยชน์ของ Cloud Computing ในแง่ของการสร้างนวัตกรรมและสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับองค์กร ถึงเวลาที่เราคงต้องพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้เข้าใจเรื่องต่างๆเหล่านี้ เพื่อที่จะใช้บริการ Cloud Computing ให้เราสามารถแข่งขันได้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

 

ก็เพราะว่าผมใช้ Cloud Computing เลยทำให้ผมทำโครงการต่างๆได้ง่ายขึ้น

22221771_938806159600058_2163465171428810350_n

ผมเริ่มใช้ IaaS/PaaS cloud computing มามากกว่า 10 ปี การที่ผมใช้ cloud computing เริ่มแรกอาจจะมองที่ว่ามันประหยัดค่าใช้จ่ายมันทำให้ผมสร้าง server ได้เร็วขึ้น พัฒนา Web Application ได้สะดวกขึ้นและสามารถทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่เอาเข้าจริงๆแล้วสิ่งที่ผมได้ประโยชน์จากการใช้ cloud computing มันมีมากกว่าการประหยัดค่าใช้จ่าย มันช่วยทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆได้รวดเร็วขึ้น อาทิเช่นในยุคที่มี big data เริ่มต้นผมก็ใช้ cloud computing ในการสร้าง server ทดลองติดตั้ง big data Hadoop เวอร์ชั่นต่างๆ ทำให้ผทเรียนรู้ big data ได้รวดเร็วกว่าคนอื่น มี Machine Learning/Deep Learning เข้ามาผมก็ใช้ Cloud computing ทำการทดลอง กล่าวคือ Cloud Computing ทำให้สร้างนวัตกรรมและสร้างความคล่องตัวในการทำงาน

หลายๆคนเคยถามคำถามผมว่าทำไมไม่ใช้ Cloud Comuting ในประเทศ ซึ่งถ้ามองแค่การสร้าง virtual server แน่นอนหรอกครับเราอาจจะพิจารณาการใช้ cloud computing ที่มีอยู่ในประเทศ แต่สิ่งที่ผมทำ มันมีความต้องการใช้ Service ต่างๆมากกว่าแค่ virtual server ผมใช้ทั้ง Database as a service, Storage as a service, Hadoop as a service หรือแม้แต่ Machine learning as a service

บ่อยครั้งที่ทาง IMC Institute จัดอบรมหลักสูตรต่างๆแล้วเอา cloud computing เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน เราให้ผู้เรียนสามารถสร้าง virtual server ใช้ service ต่างๆบน cloud จนบางครั้งเราเปิดเครื่อง Server มากถึงเกือบ 100 เครื่อง นอกจากนี้เรายังนำคลาวด์คอมพิวติ้งเข้ามาใช้ในการทำงานทำวิจัยทั้งการพัฒนาระบบ big data ต่างๆเพราะหากต้องรอจัดหาโครงสร้างพื้นฐานเช่นการหาซื้อเครื่อง server การหาซอฟต์แวร์มันคงต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

ผมเริ่มเล่นคลาวด์คอมพิวติ้งในช่วงแรกๆโดยใช้ Google App Engine ในการสร้าง Application และก็นำมาสอนให้คนอื่นๆใช้ ต่อมาก็ใช้ Amazon web services ตอนเริ่มต้นเหมือนหลายๆคนก็อาจจะเล่นแค่ EC2 เอามาสร้าง virtual server และการใช้บริการอย่างอย่าง S3 ที่เป็น Cloud Storage จากนั้นก็ขยับมาใช้ RDS, EMR, BeansTalk และ Service อื่นๆจำนวนมาก และนำมาเป็น Cloud Computing หลักในการสอน แต่พบว่าค่าใช้จ่ายค่อยข้างสูงและไม่สะดวกกับผู้เข้าอบรมที่จะต้องนำไปเรียนรู้ต่อ

ผมเองก็ใช้ Microsoft Azure ในการทำงานและการสอนต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ HDInsight ที่เป็น Big Data Service และการใช้เครืองมืออย่าง Machine Learning as a Service ที่สะดวกและทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่อง Machine Learning ได้ง่าย จุดเด่นของ Azure อีกอย่างคือมีการทดลองให้ใช้ฟรีทุกบริการวงเงิน $200 ซึ่งมากพอให้คนเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมต่างๆได้

ทุกวันนี้ Google Cloud Platform (GCP) คือบริการ Cloud Computing หลักๆที่ผมใช้ โดยเฉพาะในการทำโครงการ Big Data ใช้ในการสอนหลักสูตรต่างๆรวมทั้งหลักสูตรด้าน Big Data เพราะ GCP มีราคาค่อนข้างถูก และผมใช้ สร้าง Services ได้รวดเร็วกว่า และมีวงเงินฟรีเริ่มต้น $300 ทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดได้ง่าย ผมใช้บริการบน GCP หลากหลายอาทิเช่น Compute Engine, Cloud Storage, Cloud SQL, DataProc, Big Query, Machine Learning และ Data Studio ด้วยบริการบน Cloud ทำให้ผมสามารถทำ Machine Learning กับข้อมูลมหาศาลหลายร้อยล้านเรคอร์ด การทำ Big Data กับข้อมูลเป็น TeraByte ได้อย่างรวดเร็ว

Screen Shot 2015-04-15 at 6.33.15 PM

Cloud Computing เป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร มันทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงระบบได้อย่างรวดเร็ว มันสามารถทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานข้อสำคัญสุด มันสร้าง time to Market ไห้กับองค์กรได้อย่างรวดเร็วสามารถแข่งกับคู่แข่งได้

แม้ผมจะสอนคนใช้ Cloud Computing แบบลงมือปฎิบัติมาเป็นพันคนเกือบสิบปีแล้ว รวมถึงสอนอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายร้อยคน หลายๆคนเคยเรียนหลักสูตรต่างๆกับผม แล้วผมพาทำ Lab โดยใช้ Cloud Computing แต่ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ เมื่อไปบรรยายตามที่ต่างๆแล้วยังพบว่าคนไอทีไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยสัมผัสหรือเล่น Cloud Computing เหล่านี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเราจะแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างไร เพราะเวลาไปคุยกับต่างประเทศเขาคุ้นเคยกับการใช้บริการเหล่านี้จนเป็นเรื่องปกติ เพราะวันนี้การจะทำนวัตกรรมให้ได้รวดเร็วมันต้องพึ่งบริการ Cloud Computing ดังนั้นหากเราจะมุ่งไปสู่ Thailand 4.0 จริงเราคงต้องเร่งส่งเสริมให้คนไอทีเข้ามาสู่ระบบ Cloud Computing กันมากกว่านี้ มิฉะนั้นเราคงจะแข่งกับเขาลำบาก

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

 

การตัดสินใจเลือก IaaS Cloud Service Provider

11709430_522234144590597_5709026408869460786_n

การพิจารณาเลือกใช้ IaaS  (Infrastructure as a Service) จากผู้ให้บริการ Cloud รายต่างๆทั้งในและต่างประเทศ มีความแตกต่างจากการจัดหาระบบฮาร์ดแวร์มาเอง ต่างกับการเลือกหา Sever Hosting ไม่ใช่แค่การพิจารณาเรื่องราคา เพราะระบบ  Cloud  ไม่ใช่การทำ Hosting หรือการหา Co-location บน Data Center จุดเด่นของ Cloud ไม่ใช่อยู่ที่จะเรื่องงบประมาณแต่อยู่ที่ความยืดหยุ่น ความคล่องตัวของการใช้บริการ และ การขยายระบบขนาดใหญ่ได้

ผมเคยเขียนบทความลงในบล็อกนี้ครั้งหนึ่งเรื่อง ปัจจัยในการเลือกใช้ Cloud Computing สำหรับองค์กร มาในวันนี้อยากจะมาขยายความสำหรับปัจจัยที่สำคัญในการเลือกใช้บริการ IaaS โดยมีข้อแนะนำดังนี้

  • ผู้ให้บริการต้องมี Service Catalog ทีดี: การใช้ IaaS/PaaS Cloud จะมีบริการที่หลากหลาย ไม่ใข่แค่การใช้ Virtaul Server อาจมีทั้ง Storage, Database, Load Balancer หรือระบบอื่นๆ ผู้ให้บริการต้องมี Catalog ที่จะระบุประเภทของการบริการ ราคาในรูปแบบต่างๆ
  • ผู้ให้บริการควรมี Market Place:  การใช้บริการ Cloud อาจต้องมีการติดตั้ง  Middleware หรือ Software อื่นๆลงบน Server  ผู้ให้บริการ Cloud ที่ดีจะต้องมี Marketplace ที่ให้ลูกค้าเลือกซอฟต์แวร์ในการติดตั้งมาพร้อมกับค่าใช้งานที่เป็นลักษณะ pay per use คล้ายๆกับการซื้อซอฟต์แวร์จาก Apple App Store คังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 1 ซึ่งเป็นตัวอย่างการเลือกใช้ SAP HANA จาก AWS Marketplace

Screenshot 2015-07-27 13.49.58

รูปที่ 1  ตัวอย่างของ Cloud Marketplace

  • ความสามารถในการทำ Self Provision: จุดเด่นของระบบ Cloud คือความยิดหยุ่น ผู้ให้บริการต้องให้ผู้ใช้สามารถจะเพิ่มหรือลดจำนวนบริการต่างๆอาทิเช่น Virtual Server ได้ด้วยความรวดเร็ว ผมเองในบางวันทำการอบรมให้กับ  IMC Institute ต้องเพิ่ม Server ขึ้นมาถึง 40-90 เครื่อง และต้องปิดการใช้บริการในตอนเย็นด้วยความรวดเร็ว

Screenshot 2015-07-27 13.47.53

รูปที่ 2  ตัวอย่างของการ Provision Server  จำนวนมากภายในเวลารวดเร็ว

  • ความสามารถในการรองรับการขยายตัวของลูกค้า: ระบบ Cloud Computing จะมีความต้องการที่ยืดหยุ่นเหมือนการใช้ไฟฟ้าหรือน้ำประปา ผู้ให้บริการจะต้องมีการทำ Capacity Planning ที่ดีและอาจต้องมีเครื่อง Server นับพันหรือหมื่นเครื่อง (บางทีอาจหลายแสนเครื่อง) ที่รองรับการใช้งานของผู้ใช้จำนวนมากได้ หากวางแผนไม่ดีผู้ใช้ก็ไม่สามารถจะเพิ่มเครื่อง Virtual Server หรือบริการต่างๆเมื่อมีความจำเป็นได้
  • ความสามารถในการทำ Auto-scaling หรือ  Vertical Scaling: จุดเด่นของระบบ Cloud คือสามารถที่จะมีระบบรองรับเมื่อเกิด Peak Load หรือที่เรียกว่า Cloud Burst ได้ ผู้ให้บริการต้องมีระบบที่ให้ลูกค้าสามารถทำ Migration ที่สามารถเปลี่ยนขนาดของเครื่องด้วยความรวดเร็ว (Vertical Scaling) หรือสามารถทำ Auto Scaling ที่จะเพิ่มเครื่องได้อัตโนมัติ
  • ข้อตกลงการใช้บริการ: พิจารณาเรื่อง SLA  ด้านต่างๆเช่นการประกันเรื่อง Uptime,  Reliability/Uptime, มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย และข้อตกลงด้านอื่นๆ
  • ข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการ:  อาทิเช่นตำแหน่งของ Data Center,  ข้อมูลด้าน Internet Bandwidth, จำนวน Server หรือจำนวนผู้ใช้ในปัจจุบัน อันจะมีผลต่อประสิทธิภาพของการให้บริการ รวมถึงเรื่องของ Latency
  • จำนวนลูกค้าและความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ: จำนวนลูกค้าและความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการก็มีความสำคัญ เพราะการให้บริการ Cloud คือการบริการระยะยาวที่ผู้ให้บริการต้องลงทุนค่อนข้างสูงและผลตอบแทนจะไม่ได้มาโดยเร็ว

ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาจะมีผลสำคัญยิ่งต่อการเลือกผู้ให้บริการ Cloud ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัจจัยเรื่องราคาไม่ใช่เรื่องสำคัญสุด แต่ผู้ใช้ควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

การบริหารจัดการ Cloud Computing Services

11709430_522234144590597_5709026408869460786_n

Cloud Computing เป็นการเปลี่ยนโมเดลของการทำงานไอทีสู่งานบริการ แต่หลายๆครั้งก็ยังพบว่าทั้งผู้ให้บริการ Cloud (ผู้ติดตั้ง private/public cloud) หรือผู้ใช้บริการ Cloud ก็ยังทำงานในรูปแบบเดิมๆเสมือนการจัดหาระบบไอทีที่เป็นแบบ On-premise อาทิเช่น

  • หน่วยงานไอทีวางแผนติดตั้ง Private Cloud โดยคิดว่าเป็นการทำ Virtual Server ให้กับหน่วยงานอื่น โดยไม่มีการวางแผนทำ Capacity Mangement โดยคิดว่าคือการจัดซื้อระบบมาแทน Server
  • ผู้ให้บริการ Cloud  ไม่สามารถตรวจสอบและตัดสินใจได้ว่า Virtual Server ที่จัดสรรไปมีการใช้งานจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้คำนึงว่าจะมี Service Lifecycle
  • การบริการ Cloud ขาด Service Catalog และไม่มีระบบการทำ Provisioning เพราะคิดว่า Cloud Service ก็คือการจัดหาระบบมาแทน Server แบบเดิมๆที่ไม่น่าจะมีบริการที่หลากหลาย
  • ผู้ใช้บริการ Cloud  ขอใช้ระบบเกินความจำเป็น อาทิเช่น ขอ Virtual Server ที่มีขนาดใหญ่สุด หน่วยความจำมากเกินความจำเป็น เพราะผู้ใช้คิดเสมือนว่าซื้อ Hardware แบบเดิมๆ
  • ผู้ใช้บริการ Cloud ไม่สามารถบริหารความต้องการการใช้งานได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น เพราะไม้เข้าใขการจัดการ User Demand

Screenshot 2015-07-26 20.25.45

แท้ที่จริงแล้วการบริหารจัดการ Cloud Computing คือการบริหารงานบริการที่ต้องใช้หลักการของ ITSM (Information Technology Service Management) และอาจใช้แนวทางอย่าง ITIL (Information Technology Infrastructure Library) มาช่วยในการจัดการ โดยเราอาจพิจารณาขั้นตอนต่างๆดังนี้

1) Service Strategy คือขั้นตอนในการวางแผนเพื่อที่จะใช้หรือให้บริการ Cloud Service ทั้งทางด้านนโยบาย ความต้องการ และ Governance ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น

  • Demand Management  คือการวางแผนเพื่อที่จะให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้ไม่ได้ขอใช้บริการเกินความจำเป็นและสร้างปัญหาต่างๆในอนาคต
  • Service Portfolio Management คือการทำ Service Portfolio เพื่อจัด Cloud Serviceให้สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจ
  • Financial Management คือการวางแผนบริหารจัดการการเงิน ทั้งงบประมาณที่จะต้อง รูปแบบของคิดค่าบริการต่างๆ

2)  Service Design คือขั้นตอนการทำ Capacity Management ซึ่งเป็นการออกแบบ Cloud Service ให้เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น

  • Service Catalog Management คือการจัดการข้อมูลของ Cloud Services ต่างๆที่มีให้บริการ ซึ่งโดยมากผู้ให้บริการมักจะมีหลากหลาย Service และราคาที่หลากหลาย อาทิเช่นบริการ Virtual Server, Storage หรือ Database
  • Service Level Management คือการบริหารและต่อรองข้อตกลงการให้บริการ (SLA: Service Level Agreement)
  • Supplier Management คือการบริหารจัดการ supplier ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ Cloud อาทิเช่น Supplier ด้าน  Software Licensing
  • Capacity Management คิอการบริหารความสามารถในการให้บริการเพื่อให้มั่นใจว่า จะมี Cloud Service ที่มีการให้บริการเพียงพอกับความต้องการ อาทิเช่นสามารถสร้าง Virtual Server ได้มากพอ หรือไม่มีจำนวน Server มากเกินความจำเป็น
  • Information Security Management คือการบริหารทางด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของการให้บริการ Cloud

3)  Service Opeartion คือขั้นตอนการทำการทำงานประจำวันของการให้บริการ Cloud Service ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น

  • Request Fulfillment คือขั้นตอนในการขอใช้บริการว่าจะจะต้องมีการบริหารจัดอย่างไร และจะเป็นรูปแบบ Self-service เพียงใด
  • Incident Management คือขั้นตอนบริหารจัดการเมื่อเกิด  incident ในการใช้บริการ Cloud
  • Access Management คือขั้นตอนการกำหนดสิทธิ์ให้ผู้ใช้บริการ สามารถที่จะใช้บริการใดบ้าง ตามนโยบายที่กำหนดไว้

4)  Service Transition คือขั้นตอนบริหารการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น

  • Change Management คือขั้นตอนที่ให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนของ  Cloud Service สามารถที่จะควบคุมได้
  • Service Asset and Configuration Management คือการบริหารจัดการ Configuration และทรัพยากรที่อยู่ภายใต้ระบบ  Cloud ซึ่งเป็นการทำ CMDB (Configuration Management DataBase)
  • Knowledge Management คือกระบวนการที่จะรวบรวมองค์ความรู้ใหม่ๆที่เกี่ยวกับ Cloud Computing Services

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการ  Cloud Computing ไม่ใช่คือการวางแผนเพื่อจะจัดซื้อระบบ Hardware/Software มา แต่เป็นเรื่องของการบริหาร Service Lifecysle ที่ต้องวางแผนและบริหารจัดการในระยะยาว

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

SoSaaS (Same old Software, as a Service) บริการซอฟต์แวร์บน Cloud แบบเดิมๆ ที่เราเข้าใจผิดว่าคือ true SaaS

10830574_418142598333086_2678415922263012096_o

ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในปัจจุบันจำนวนมากต่างก็พยายามบอกว่า ซอฟต์แวร์ของตัวเองเป็น Cloud และให้บริการบน Cloud แล้ว พอถามไปถามมาบางทีก็เป็นเพียงแค่ Web Application รันอยู่บน Server ของบริษัท บางรายก็แค่เปลี่ยนรูปแบบการคิดราคาซอฟต์แวร์จากการขาย License เป็นการเช่าแบบ  Subscription ที่จ่ายเป็นรายปี แต่รูปแบบ Architecture ของซอฟต์แวร์ยังเป็นแบบเดิม ซึ่งจากที่พบมาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่ซอฟต์แวร์บน Cloud ที่เป็น SaaS อย่างแท้จริง

image

SaaS (Software as a Service) คือหนึ่งในสามรูปแบบของการให้บริการบน Cloud (อีกสองบริการคือ IaaS และ PaaS) หลักการของ Cloud ส่วนหนึ่งคือ On-Demand และ Resource Pooling ซึ่งซอฟต์แวร์แบบเดิมที่เป็น Client/Servcer Architecture หรือ Web Architecture มักจะไม่ได้ออกแบบมาในลักษณะแบบนี้ การทำซอฟต์แวร์แบบ SaaS ที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือการมีคุณสมบัติ Multi-Tenant ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการทำ Demand Poolingโดย SaaS ที่แท้จริง (true-SaaS) จะต้องให้ผู้ใช้สามารถทำ configuration สำหรับใช้ซอฟต์แวร์ที่ต่างกันได้ แต่ฟังก์ชั่นของซอฟต์แวร์จะต้องเหมือนกันสำหรับผู้ใช้ทุกคน แต่ผู้ใช้แต่ละรายมีที่เก็บข้อมูลที่ต่างกัน การมี configuration  ที่แตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้แต่ละรายจะสามารถปรับซอฟต์แวร์  (customization) ให้มีฟังก์ชั่นต่างกัน ข้อสำคัญอีกอย่าง true-SaaS จะทำงานอยู่บนกลุ่มของ  Instance ชุดเดียวกัน ไม่ใช่แยก Instance ในแต่ละผู้ใช้ ซึ่งการมีสถาปัตยกรรมแบบ Multi-Tenant on same instance group จะทำให้ง่ายต่อการขยายระบบ (scalability) และทำให้เกิด Economy of Scale

ดังนั้นการพัฒนาซอฟต์แวร์เดิมขึ้น Cloud จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโปรแกรมเดิมหรือเรียกว่า Re-engineering เพื่อให้รองรับการทำ Multi-tenant ซึ่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์จำนวนมากก็จะเลือกที่จะใช้ PaaS (Platform as a Sevice) อย่างบริการของ Microsoft Azure, IBM Bluemix, Google App Engine, Heroku หรือ Openshift  เพราะ PaaS จะช่วยทำให้การพัฒนา SaaS เป็นไปได้โดยง่าย เมื่อเทียบกับการใช้  IaaS (Infastructure as a Sevice) หรือการใช้ Private Cloud ของตัวเองที่จะต้องไปหาวิธีจัดการซอฟต์แวร์ให้รองรับ  Multi-tenant

แต่เนื่องจากการปรับซอฟต์แวร์เป็นเรื่องยากบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีซอฟต์แวร์แบบ Client/Server  หรือ Web Architecture จึงเลือกที่จะย้ายซอฟต์แวร์ตัวเองไปรันบน IaaS ทีมีผู้ให้บริการอย่าง  Amazon Web Services, Window Azure, IBM SoftLayer หริอ  Digital Ocean ที่คิดค่าบริการแบบ Pay-as-you-go  ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้มักจะมีบริการพร้อมที่จะรองรับการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่มีสถาปัตยกรรมเป็น  Client/Server  และสามารถทำงานแบบ Auto-scale ได้ แต่ลักษณะการติดตั้งของบริษัทจะเป็นในรูปแบบที่ลูกค้าที่จะใช้ซอฟต์แวร์แต่ละรายจะมี  instance ที่ต่างกันถ้าบางรายใช้งานเยอะก็อาจจะมีหลาย Instance  ระบบแบบนี้จะเป็น Multi-instance  มากกว่าที่จะเป็น Multi-tenant ทำให้การขยายซอฟต์แวร์เป็นไปได้ยาก และบริษัทซอฟต์แวร์จะต้องใช้บริการของผู้ให้บริการ  IaaS รายใหญ่ๆเท่านั้นเพราะจะต้องสามารถรองรับ Instance  จำนวนมากที่แปรผันตามจำนวนผู้ใช้ได้ เราเรียกการบริการแบบนี้ว่า  SoSaaS (Same old Software, as a Service) ซึ่งแน่นอนราคาของ SoSaaS ถึงได้สูงกว่า  true SaaS  เพราะบริษัทซอฟต์แวร์ต้องมีต้นทุนการเช่า instance ที่สูงกว่า  (ระบบ Multi-tenant อาจมีผู้ใช้ 1,000 รายที่รันบน  100  instance  แต่ระบบ SoSaaS  จะต้องมีอย่างน้อย 1,000 instance สำหรับผู้ใช้ 1,000 ราย)

SoSaaS ก็มีข้อดีในการที่ทำให้ซอฟต์แวร์แบบเก่าสามารถขึ้นมาให้บริการบน  Cloud ได้ ซึ่งถ้าพิจารณากันจริงๆแล้ว ระบบนี้เป็นแบบ Managed Hosting  มากกว่า SaaS  แต่ก็มีข้อดีรายประการเช่น

  • ผู้ใช้สามารถที่จะใช้ Application เดิมได้โดยไม่ต้องมาเรียนรู้ Application ใหม่
  • บริษัทซอฟต์แวร์สามารถที่จะย้ายซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud ได้โดยไม่ต้องเรียนรู้ทักษะการพัฒนาโปรแกรมใหม่ เป็นเพียงการติดตั้ง Middleware และ Software เดิมบน IaaS
  • ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะให้ผู้ให้บริการปรับซอฟต์แวร์ (customization) ตามความต้องการได้
  • ระบบเสมือนเป็นแบบ  on-premise ที่ผู้ให้บริการสามารถที่จะบริหารจัดการเสมือนติดตั้ง server บนระบบ DataCenter ของตัวเองได้
  • ผู้ใช้สามารถจะวางแผนการ Upgrade ซอฟต์แวร์เองได้ ซึ่งต่างกับการ upgrade ซอฟต์แวร์ SaaS ที่ผู้ให้บริการจะต้อง Upgrade ให้ผู้ใช้ทุกคนพร้อมๆกันเพราะเป็นระบบแบบ  Multi-tenant
  • การบริหารระบบความปลอดภัยจะดีกว่าแบบ  SaaS  ที่ผู้ใช้รายจะใช้กลุ่มของ Instance ชุดเดียวกัน

แต่ SoSaaS  ก็มีข้อด้อยหลายประการเมื่อเทียบกับ  true SaaS  อาทิเช่น

  • ต้นทุนของผู้ให้บริการจะสูงกว่ามาก
  • การขยายระบบเป็นไปได้ยาก เพราะต้องขยายให้กับลูกค้าแต่ละราย ยกเว้นจะมีระบบ Auto-Scaling แต่ก็จะเพียงการเพิ่มหรือลด instance ตามที่ผู้ใช้กำหนด ซึ่งยังไม่ยิดหยุ่นแบบ true SaaS  ที่ผู้ใช้รายๆหลายอาจใช้ instance แต่ละตัวร้วมกัน
  • การบำรุงรักษายากกว่ามากเพราะบริษัทซอฟต์แวร์จะต้องมาดูแยกดูแลลูกค้าแต่ละรายแยกตาม instance)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดผู้ที่จะใช้บริการ SaaS  คงต้องตรวจสอบให้ดีว่าให้ว่า SaaS  ที่จะเรียกใช้เป็นซอฟต์แวร์แบบใด true-SaaS  หรือ SoSaaS ถ้าเป็น  SoSaaS ก็คงต้องถามต่อว่าแล้ว Server ใช้บริการของ IaaS ที่ใด ถ้าบอกว่าติดตั้งเอง ฟันธงนะตรงนี้ได้เลยครับว่าระบบแบบนั้นขยายไม่ได้ ไม่สามารถรองรับลูกค้าจำนวนมากได้ เว้นเสียแต่ว่าบริษัทจะต้องลงทุนค่า Infrastructure มหาศาล

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ตำแหน่งงานด้านไอทีที่มีผลกระทบจากการเข้ามาของ Cloud Computing

เช้านี้ผมจะเดินทางไปสนามบิน ผมก็เลยต้องใช้โปรแกรม GrabTaxi เพื่อเรียก Taxi ซึ่งเป็นโปรแกรมบนมือถือที่ผมสามารถติดต่อกับคนขับได้โดยตรง และเมื่อถึงสนามบินก็มีอีเมล์ส่งใบเสร็จค่าโดยสารมาให้ผม ซึ่งระหว่างที่นั่งรถออกไปตอนเช้ามืด ผมเห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งหนังสือพิมพ์ ผมตั้งคำถามอยู่ในใจว่า อาชีพเหล่านี้เริ่มมีคนทำน้อยลง จำนวนผู้รับก็ไม่ได้มากเหมือนเดิม แล้วก็มานั่งคิดถึงตัวเองว่า นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้ไปธนาคารเพราะทุกวันนี้ทำธุรกรรมส่วนใหญ่ผ่านอินเตอร์เน็ต ตัวเองเลิกซื้อหนังสือพิมพ์ที่เป็นเล่มมา 4-5 ปีแล้ว จำไม่ได้ว่าซื้อหนังสือพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อไร เพราะเดี๋ยวนี้ซื้อผ่าน Tablet และทุกเช้าต้องโหลดหนังสือพิมพ์มาอ่าน 4-5 ฉบับ ไม่ต้องพูดถึงร้านถ่ายรูป หรือ Travel Agent ว่าไม่ได้ไปนานแค่ไหน

อาชีพหลายๆอาชีพกำลังเปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยี การเข้ามาของ smart phone, Internet และ IT Technology ทำให้อาชีพหลายๆอย่างน่าจะลำบากขึ้นในอนาคต Financial Online ระบุว่าตำแหน่งงาน 10 อย่างที่อาจจะหายไปใน 10 ปีข้างหน้าคือ

  • พนักงานเก็บเงิน (Retail Cashier)
  • Telemarketer
  • Freight/Stock
  • คนส่งหนังสือพิมพ์
  • Travel Agent
  • บุรุษไบรษณีย์
  • เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการเรียก Taxi (Taxi Dispatcher)
  • พนักงานพิมพ์เอกสาร (Wordprocessor/Typist)
  • บรรณารักษ์
  • ผู้จัดการด้าน Social Media

พอมาถึงตรงนี้คนไอทีก็อาจจะรู้สึกมั่นคงในอาชีพตัวเองเพราะ เทคโนโลยีไอทีเป็นเรื่องจำเป็นทุกอาชีพก็จะต้องนำไอทีเข้ามาใช้งาน ดังนั้นงานด้านไอทีก็ควรจะเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจ และในปัจจุบันหลายๆหน่วยงานก็ยังต้องการบุคลากรด้านนี้อยู่มาก แต่ข้อเท็จจริงแล้วงานด้านไอทีก็มีผลกระทบอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่องของ Cloud Computing ซึ่งผมเองก็เคยเขียนบทความเรื่อง คนไอทีต้องใส่ใจ Cloud ก่อนที่ฝั่งธุรกิจจะไม่ใส่ใจคนไอที ดังนั้นก็ไม่แน่เหมือนกันว่าตำแหน่งงานไอทีที่ทำอยู่ในองค์กรปัจจุบัน จะหายไปใน 10 ปีข้างหน้าหรือไม่

คราวนี้ลองมาดูซิว่างานไอทีด้านใดจะมีผลกระทบและมีความต้องการน้อยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสู่ยุค Cloud Computing แต่ขณะเดียวกัน IDC ก็ระบุว่าเทคโนโลยี Cloud Computing ก็จะทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆถึง 14 ล้านตำแหน่งในระหว่างปี 2012-2015 แนวโน้มของตำแหน่งงานต่างๆด้านไอทีสามารถสรุปได้ดังนี้

  • System Administrator ตำแหน่งผู้ดูแลระบบที่เคยมีหน้าที่ดูแลเครื่อง Server หรือระบบไอทีในองค์กร จะมีความจำเป็นน้อยลง เพราะองค์กรต่างๆก็จะย้ายระบบจำนวนมากขึ้น Cloud แต่ตำแหน่งงานด้านนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการของ Cloud Service Provider
  • Database Administrator เหตุผลเช่นเดียวกับ System Administrator เพราะต่อไประบบและซอฟต์แวร์จำนวนมากจะอยู่บน Cloud ความต้องการระบบ Database ในองค์กรก็จะน้อยลง
  • IT Support / HelpDesk งานทางด้านนี้ในองค์กรก็จะย้ายไปอยู่กับ Cloud Provider แม้จะมีตำแหน่งด้านนี้อยู่บ้างแต่ก็จะน้อยลงไปมาก เพราะระบบส่วนใหญ่จะไปอยู่ Cloud การติดตั้งและการใช้งานของผู้ใช้ก็จะง่ายขึ้น
  • Programmer หน่วยงานอาจจะมีความจำเป็นน้อยลงที่จะต้องมีนักพัฒนาโปรแกรมเอง เพราะองค์กรจะไปใช้งานซอฟต์แวร์แบบ SaaS มากขึ้น แต่ตำแหน่งงานนี้จะยังมีอยู่ในบริษัทซอฟต์แวร์ที่จะผลิตซอฟต์แวร์ที่เป็น SaaS หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่จะต้องมี in-House Application แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็จะต้องมีทักษะในการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud
  • Business analysts นักวิเคราะห์ระบบธุรกิจยังมีความจำเป็นอยู่มาก เพราะแม้จะมีระบบ Cloud อย่าง SaaS แต่องค์กรก็ยังต้องเก็บ User Requirement ต้องทำการเลือกผู้ให้บริการ Cloud ที่สอดคล้องกับความต้องการ และ Application ก็ยังต้องเชื่อมโยงกับ Business Process ขององค์กร
  • Cloud Architect ตำแหน่งงานใหม่นี้ก็เหมือนกับคนที่เป็น Enterprise Architect ขององค์กร แต่จะต้องมีความเข้าใจเรื่อง Cloud Computing มีความรู้เรื่องของ SOA (Service Oriented Architecture) รวมถึง Enterprise Architecture
  • Cloud Technologist คือนักไอที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Cloud ในการที่จะพัฒนา Cloud คือผู้ที่ต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี Cloud, Virtualization ต่างๆ ซึ่งตำแหน่งงานด้านนี้จะเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับหน่วยงานที่ต้องการพัฒนา   Cloud เช่น องค์กรใหญ่ๆที่ต้องทำ Private Cloud หรือ Cloud Service Provider
  • DevOps ตำแหน่งงานใหม่นี้จะเป็นที่ต้องการอย่างมาก ซึ่งจะหมายถึงบทบาทหน้าที่ในการที่จะทำงานร่วมกันระหว่าง Developer กับเจ้าหน้าที่ Operations ซึ่งงานนี้ต้องมีความเข้าใจใน Tools ใหม่ๆและการพัฒนาซอฟต์แวร์/บริหารระบบบน Cloud
  • Security Specialist การเข้ามาของ Cloud ทำให้องค์กรต้องคำนึงถึงระบบความปลอดภัยมากขึ้น องค์กรจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้าน IT Security ที่จะเข้าใจขั้นตอนการใช้งาน Cloud อย่างปลอดภัย
  • Financial Engineering การใช้ระบบ Cloud จะต้องมีการประมาณการและควบคุมค่าใช้จ่าย การพิจารณา SLA จากผู้ให้บริการ Cloud องค์กรจะต้องมีตำแหน่งงานด้านสำหรับคนด้านไอทีที่มีความรู้ด้าน Cloud เพื่อทำงานร่วมกับคนในองค์กร และ Cloud Service Provider เพื่อบริหารจัดการเรื่องการใช้ Cloud  ที่จะเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายตามการใช้งาน

จะเห็นได้ว่างานไอทีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คงถึงเวลาที่คนไอทีก็ต้องปรับตัวเช่นกันพร้อมๆกับคนในอาชีพต่างๆที่จะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

  • มีความรู้ทางด้านนี้เพื่อทำงานร่วมกับคนในองค์กร และ Cloud Service Provider

จะเห็นได้ว่างานไอทีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คงถึงเวลาที่คนไอทีก็ต้องปรับตัวเช่นกันพร้อมๆกับคนในอาชีพต่างๆที่จะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

คนไอทีต้องใส่ใจ Cloud ก่อนที่ฝั่งธุรกิจจะไม่ใส่ใจคนไอที

11709430_522234144590597_5709026408869460786_n

ผมจำได้ว่าสมัยก่อนทำงานในมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เราต้องมีหน่วยงานอย่าง งานโทรศัพท์ งานประปา งานไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานเหล่านั้นนอกจากทำหน้าที่บำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ บางครั้งก็ต้องเป็นผู้ผลิตเอง เช่นต้องติดตั้งดูแลตู้ชุมสายโทรศัพท์เอง มีระบบผลิตน้ำประปาเอง หรืออาจมีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าเอง แต่พอระบบการบริการโทรศัพท์ ไฟฟ้า น้ำประปาดีขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานหรือบุคลากรเหล่านี้ก็น้อยลง เพราะเราสามารถที่จะใช้บริการจากหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญกว่าได

ทุกวันนี้หน่วยงานส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่ต้องผลิตน้ำประปาเอง สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกิจในองค์กร แต่ก็อดมีคำถามไม่ได้ว่าแล้วทำไมเราต้องมีหน่วยงานไอทีในหน่วยงาน ทำไมเราต้องผลิตไอทีมาใช้เองละ ทำไมไม่ใช้บริการจากผู้ให้บริการ เหมือนอย่างที่เราใช้น้ำจากการประปานครหลวง ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า หรือใช้โทรศัพท์จาก TOT หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

ในอดีตบทบาทของแผนกไอทีในองค์กรก็จะมาช่วยบริหารไอทีในองคกร  ไล่มาตั้งแต่ด้าน Front end แผนกไอทีจะทำหน้าที่เป็น Help Desk ให้กับบุคลากรในหน่วยงาน จัดหาคอมพิวเตอร์ให้ใช้ ติดตั้งโปรแกรม ทำการซ่อมบำรุงเครื่องหรือแก้ปัญาด้านโปรแกรมที่ติดตั้งบนเครื่อง แต่พอพูดถึงเทคโนโลยียุคปัจจุบัน Smartphone Tablet เริ่มเข้ามา องค์กรก็เริ่มจะมีการเน้นการทำ BYOD มากขึ้น โปรแกรมก็ติดตั้งง่ายขึ้น มี Application Store ที่ผู้ใช้จะทำการติดตั้ง ลบ หรือ update โดยง่าย มีโปรแกรมที่อยู่บน Cloud ทำให้การติดตั้งโปรแกรมทำได้ง่ายขึ้น เครื่องก็เสียน้อยลง ความจำเป็นที่ต้องการ help desk สำหรับงานในองค์กรก็เริ่มน้อยลง เว้นเสียแต่เป็นองค์กรใหญ่มากหรือหน่วยงานเราเน้นระบบความปลอดภัยด้านไอทีอย่างมาก

แล้วแผนกไอทีต้องทำอะไรอีกละ ในอดีตอาจเป็นคนดูเครื่อง Server ดูแล Data Center แล้วถ้า Application ส่วนใหญ่มาใช้ Public Cloud ละ ความจำเป็นที่จะต้องมี Server ในองค์กรก็จะน้อยลง และถ้าองค์กรมาใช้ Virtual Server บน IaaS Cloud ก็จะยิ่งทำให้ความจำเป็นของแผนกไอทีในการดูแล Data Center ยิ่งน้อยลง

บางท่านอาจจะนึกได้ว่าแผนกไอทีก็เป็นคนพัฒนาระบบ Application ให้กับฝั่งธุรกิจใช้นี่ แผนกไอทีเคยเป็นคนติดตั้งระบบ E-mail โดยการจัดหา Server ติดตั้งซอฟต์แวร์และดูแลระบบอีเมล์ให้ แต่พอวันนี้มีระบบ SaaS Cloud ฝ่ายธุรกิจสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการ Cloud โดยตรง และสามารถจัดหาระบบอีเมล์มาใช้ได้โดยง่าย โดยไม่ต้องผ่านแผนกไอที เช่นเดียวกันสมัยก่อนแผนกไอทีอาจเป็นคนพัฒนา Application หรือจัดหาซอฟต์แวร์และติดตั้งซอฟต์แวร์บนเครื่อง Server  ให้กับฝั่งธุรกิจ แต่พอวันนี้มีหลาย Application สามารถใช้งานจาก Public SaaS ฝั่งธุรกิจก็สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการโดยตรง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ดูเหมือนว่าแผนไอทีขององค์กรจะมีความสำคัญน้อยลงในยุคของ Cloud Computing หรือว่าแผนกไอทีกำลังจะหายออกไปจากองค์กรที่ไม่ใช่ธุรกิจไอที จริงๆคำกล่าวนี้อาจจะเป็นจริงสำหรับองค์กรขนาดเล็กอย่างกลุ่ม SME เพราะการลงทุนที่จะต้องมาจัดหาไอทีเอง จัดตั้งแผนกไอที หาคนมาทำงานด้านไอที ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการใช้ไอทีจากผู้ให้บริการ Cloud ขององค์กรแบบนี้จะช่วยทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวขึ้น และจะได้มุ่งเน้นงานในธุรกิจของตัวเองและปล่อยให้งานไอทีเป็นของผู้ให้บริการทีืมีคุณภาพซึ่งอยู่นอกองค์กร แต่คำกล่าวนี้อาจจะไม่เป็นจริงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบไอทีอยู่มาก แต่แผนกไอทีต้องไม่ได้ละเลยกับเทคโนโลยี Cloud Computing และเราอาจเห็นระบบ Hybrid Cloud ในองค์กรที่การทำงานแผนกไอทีที่อาจเป็นการพัฒนาระบบ On-Premise หรือ Private Cloud ไปควบคู่กับการใช้ Public Cloud. ภายนอก

n4g_cloud-computing

แผนกไอทีจะต้องให้ความสนใจกับเทคโนโลยี Cloud Computing ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างฝั่งธุรกิจและผู้ให้บริการ Cloud เป็นคนที่จะช่วยในการคัดเลือกผู้ให้บริการ Cloud เป็นผู้ที่จะประมาณการค่าใช้จ่าย Cloud ช่วยในการต่อรองเรื่อง Service Level Agremment (SLA) และอาจช่วยเป็น Monitor และดูแลการใช้ Cloud. ของฝั่งธุรกิจ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าแม้บริการ Public Cloud จะเข้ามาแทนที่งานของแผนกไอทีเดิมเป็นจำนวนมาก แต่บทบาทความสำคัญของคนไอทียังไม่หายไปจากองค์กร ถ้าคนไอทีมีความเข้าใจเรื่อง Cloud และมีทักษะใหม่ๆในการบริหารและใช้งาน Cloud

แต่ในทางตรงข้ามถ้าคนไอทีไม่ใส่ใจและละเลยกับเทคโนโลยี Cloud computing ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ฝั่งธุรกิจก็จะละเลยแผนกไอทีแล้วก็จะไปติดต่อใช้งานกับผู้ให้บริการ Cloud โดยตรง ซึ่งผมก็เห็นตัวอย่างมาในบางองค์กรที่ฝั่งธุรกิจจัดหาซอฟต์แวร์บน Cloud อย่างระบบอีเมล์ ระบบบริหารงานลูกค้า หรือแม้แต่ระบบ Business Inteligence มาใช้งานโดยผ่านผู้ให้บริการ Cloud โดยตรง และไม่ปรึกษาแผนกไอที ก็ด้วยเหตุผลว่าไม่เห็นคุณค่าของแผนกไอทีในเรื่องนี้ และคิดว่าแผนกไอทีล่าช้าไม่สามารถพัฒนา Application ที่ตรงใจเหมือนกับ Application ของผู้ให้บริการ Cloud

ครับวันนี้คนไอทีต้องใส่ใจ Cloud ก่อนที่ฝั่งธุรกิจจะไม่ใส่ใจคนไอที

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Cloud Computing Trends 2015

วันก่อนผมต้องไปบรรยายให้กับ Inet และ I am Consulting เรื่องของ Cloud Computing Trends ในตอนแรกผมก็พยายามจะดูว่ามีสำนักวิจัยค่ายไหนบ้างที่พูดถึง Trends ในปีหน้า แต่หลังจากค้นไปค้นมาเลยมานั่งคิดว่า ตัวเองก็ศึกษาและดูแนวโน้มเรื่อง Cloud Computing พอควร ก็ควรที่จะเป็นคนหนึ่งที่บอกแนวโน้มได้ เลยทำ Slide กำหนด 10 Trends เองเลยดังนี้

1) ตลาด Cloud Computing ของทั่วโลกกำลังโตขึ้น (Global cloud computing
is growing)

ตลาดด้านไอทีกำลังเปลี่ยนจากภาคฮาร์ดแวร์สู่ภาคบริการ (Service) ซึ่งก็สอดคล้องกับเทคโนโลยี Cloud Computing ซึ่งทาง Gartner คาดว่าตลาดจะโตถึง 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 ทั้งนี้ถ้ามองเฉพาะตลาดหลักอย่างบริการ IaaS, SaaS และ PaaS โดยไม่รวมบริการอย่าง Consulting หรือ  Cloud Advertising  ทาง IDC คาดว่าตลาดจะโตถึง 107,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 โดยตลาดส่วนใหญ่จะเป็น  SaaS ทั้งนี้ผู้ให้บริการรายใหญ่ยังเป็น Amazon Web Services ที่ยังโตต่อเนื่องโดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีรายได้สูงถึง 9,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 และสำหรับตลาดในเอเซียนิตยสาร Forbes คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 31,982 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020  โดยตลาดส่วนใหญ่เกือบ 50% อยู่ในญี่ปุ่นและเป็นมูลค่า SaaS  ถึง 16,405 ล้านเหรียญสหรัฐ

Screenshot 2014-11-13 07.35.59

รูปที่  1  มูลค่าตลาด Cloud Computing ในเอเซีย [ข้อมูลจาก http://www.forbes.com]

2) จะมีบริการใหม่ๆบน Cloud Computing ที่ทำให้การใช้งานเติบโตมาก (New services make cloud more than mature) 

การบริการของ  Cloud Computing  จะมีมากกว่าแค่ IaaS, PaaS  และ SaaS  ผู้ให้บริการจะแข่งกันออก Service  ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง และทำให้เราสามารถที่จะใช้บริการ Cloud แทนที่จะต้องมาสร้าง IT Infrastructure ขนาดใหญ่ในองค์กร อาทิเช่น Service ที่หลากหลายของ Amazon Web Services ทำให้เราสามารถที่จะสร้าง Larger Scale Web Application Architecture ได้อย่างน้อย นอกจากนี้ผู้ให้บริการแต่ละรายก็จะมีตลาด App Store ของตัวเองอาทิเช่น AWS Application Market และ Salesforce AppExchange

3)  ยังจะมีผู้ให้บริการ  Cloud ในแต่ละประเทศแต่จะเป็นขนาดเล็กกว่าหรือบริการเฉพาะ (Regional/Local cloud smaller or boutique cloud)

แม้ผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับโลกจะมีคุณภาพและราคาที่ถูกกว่า และการเป็นผู้ให้บริการ IaaS จำเป็นต้องมีการลงทุน  Data Center ที่สูงมากและเน้นมีลูกค้าจำนวนมาก แต่ความต้องการของหน่วยงานรัฐบาลหรือบริษัทหลายๆประเทศยังจะให้ความสำคัญกับตำแหน่งที่ตั้งของ Data Center ในการเก็บข้อมูล ดังนั้นก็ยังจะมีผู้ให้บริการ IaaS  ขนาดเล็กที่จะคอยให้บริการกลุ่มองค์กรเหล่านี้อยู่ และก็อาจจะมีบริการเฉพาะด้านทีี่อาจเรียกว่า Boutique cloud สำหรับรายเล็กๆที่อาจแข่งขันกับรายใหญ่ได้เช่นการพัฒนา  NoSQL as a Service หรือการทำ  SaaS เฉพาะด้านของแต่ละภูมิภาค

4)  ตลาดโมบายและ Internet of Things จะกระตุ้นตลาด Cloud (Mobile Devices & IoT
booth cloud market)

มีการคาดการณ์ว่าจะมี  smartphone ถึง 4,000 ล้านเครื่อง และจะมีอุปกรณ์ Internet of Things ถึง 50,000 ล้านเครื่องในปี 2020 จำนวนที่มากขึ้นเหล่านี้หมายถึงการที่จะมีข้อมูลมากขึ้น มีการใช้ Personal Cloud  และ Cloud Applications ที่มากขึ้น เพราะจะมีความต้องการให้ข้อมูลตามผู้ใช้ไปได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์

5) องค์กรจะมีการพัฒนา Hybrid Cloud  มากขึ้น (More hybrid cloud adoption)

การจะ Migrate ทุกอย่างขึ้นสู่  Cloud ย่อมเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นเราจะเห็นว่าองค์กรใหญ่ๆจะมีการใช้งาน Public/Private Cloud ผสมกับระบบที่เป็น  on-Premise ดังนั้น IT Architecture ก็จะถูกออกแบบให้ทำงานทั้งสองระบบร่วมกันได้ ทาง Gartner เองก็คาดการณ์ว่า 50%  ของหน่วยงานต่างๆทั่วโลกจะมี Hybrid Cloud ในปี 2017

6) SaaS จะกลายเป็นรูปแบบหลักในการซื้อ ซอฟต์แวร์ (SaaS becomes de facto for buying new applications)

ซอฟต์แวร์แบบเดิมจะขึ้น Cloud โดยมีรูปแบบของ License และการซื้อขายที่เปลี่ยนเป็น Pay per use โดยทาง IDC  คาดการณ์ว่าในปี 2016 รายได้ของบริษัทซอฟต์แวร์ทั่วโลกถึง 21.3% จะเป็น SaaS  โดยทาง PwC ก็มีรายงานที่ชี้ให้เห็นว่่าบริษัทต่างๆก็เริ่มสัดส่วนรายได้จาก SaaS ที่สูงขึ้น หลายบริษัทมีรายได้มากกว่า 80% จาก SaaS เช่น Salesforce, Google  หรือ Amazon

7) การพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆจะมุ่งสู่ Cloud (New SW development will be mainly on cloud) 

เนื่องจากจะมีผู้ใช้ซอฟต์แวร์ในอนาคตที่มากขึ้น ทำให้ซอฟต์แวร์แต่ละตัวจะต้องอยู่บน IT Infrastructure  ขนาดใหญ่ จึงทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเรียนรู้การพัฒนาซอฟต์แวร์บน PaaS หรือ IaaS ซึ่งทาง IDC คาดการณ์ว่าตลาด PaaS จะมีมูลค่าสูงถึง 14,000  ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 และ 85%  ของซอฟต์แวร์ในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาบน Cloud แล้ว นอกจากนี้ทาง Evans Data  ระบุว่า 1 ใน 4 ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกจำนวน 18 ล้านคนกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud

8) ราคาการให้บริการ  Cloud จะลดลง (Cloud pricing is decreased)

ผู้ให้บริการ Cloud ส่วนใหญ่ก็จะลดราคาการให้บริการ Cloud อย่างต่อเนื่อง โดยเราจะเห็น Amazon เป็นผู้นำในการตัดราคาลง โดยในปี 2013  Amazon ลดราคาบริการต่างๆถึง 12 รายการ ทำให้รายอื่นๆต้องลดราคาแข่งตาม ทำให้ในปัจจุบันราคา Computing Service หรือ  Storage Service มีราคาถูกลงมาก อาทิเช่นราคา Storage ของ Amazon S3 มีราคาเพียง $0.03  ต่อ GB ต่อเดือน

9) Big Data as a Service (BDaaS)

ประเด็นสำคัญหนึ่งในการประมวลผลข้อมูล Big Data คือการลงทุนจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ Server จำนวนมากเข้าใช้งาน ซึ่งต้องลงทุนสูงและอาจไม่คุ้มค่า จึงเริ่มมีการให้บริการการประมวลผลบน Cloud Service มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการใช้ Hadoop บน Cloud ที่ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายหลายอาทิเช่น Amazon EMR, Microsoft Azure HDInsight, IBM Bluemix และ Qubole นอกจากนี้ก็อาจจะมีบริการ  Analytics as a Service อย่างเช่น Jaspersoft BI หรือ Birst

10)  จะมีการยอมรับระบบความปลอดภัยบน Cloud มากขึ้น (Cloud security is more acceptable)

แม้ผู้คนจำนวนมากจะมีความกังวลเรื่องระบบความปลอดภัยบน Cloud ซึ่งข้อมูลสำรวจจาก Rightscale หรือของ IMC Institute ก็พบว่าความเห็นที่สอดคล้องกันว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังคงกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ถ้าเป็นองค์กรที่ใช้บริการ Cloud แล้วการสำรวจพบว่าจะกังวลน้อยลง และในปัจจุบันผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็มีระบบความปลอดภัยที่ดีขึ้น และมีมาตรฐานหลายด้านเกี่ยวกับ Cloud Security ที่ออกมาใหญ่

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

เมื่อ Amazon Web Services (AWS) เปลี่ยนโลกไอที

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมไปนั่งเรียนหนังสือสองหลักสูตรของ Amazon Web Services คือ AWS Essentials และ Architecturing on AWS รวมสี่วัน แต่ก็มีเข้าๆออกๆไปประชุมบ้าง ไปบรรยายบ้าง ผู้เรียนโดยมากก็เป็น System Admin จากที่ต่างๆ แถมยังมีต่างชาติมาเรียนอีก 2-3 ท่าน ดูลักษณะผมค่อนข้างจะแปลกแยกกับผู้เรียนท่านอื่นๆ เพราะบางวันต้องผูกไทร์ใส่สูทไปเรียน

Screenshot 2014-11-08 10.43.08

รูปที่ 1 การประมาณการรายได้ของบริษัท Amazon Web Services

AWS เป็นบริษัทลูกของ Amazon เป็นผู้ให้บริการ Cloud ที่เป็น Infrastructure as a Service. (IaaS) ที่มีรายได้ต่อปีหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2013 มีรายได้ประมาณ 3.800 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่าถ้ารวมมูลค่าการบริการ Cloud ให้กับภายในบริษัทแม่ (Amazon) อาจสูงถึง 19 -30 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้จะโตขึ้นเป็น 6.2พันล้านเหรียญสหรัฐดังแสดงในรูปที่  1 แต่เมื่อรายได้เทียบกับบริษัทแม่ Amazon ที่มีสูงถึง 74.4 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้วนั้น AWS ถือว่ายังเล็กกว่ามาก ถ้ากล่าวถึงการจัดอันดับผู้ให้บริการ Cloud IaaS ทาง Gartner ได้จัดให้ AWS เป็นผู้ให้บริการที่อยู่ใน Top Quadrant ดังแสดงในรูปที่ 2 นำหน้ารายอื่นๆพอสมควร เพราะมี Service ต่างๆที่หลากหลายกว่า และ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมาก

Screenshot 2014-11-08 10.50.17

รูปที่ 2 Magic Quadrant ของ Gartner ด้าน Cloud IaaS

AWS มีจำนวนเครื่อง Server จำนวนมาก ทั้งนี้เคยมีรายงานจาก United Nations เรื่อง Information Economy Report 2013  ประมาณการว่า Amazon น่าจะมี Server ประมาณ 250,000 เครื่องในปี  2012 และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีนักวิจัยจาก Accenture คาดการว่า AWS น่าจะมี Server ประมาณ 454,000 เครื่อง จากช้อมูลของ AWS ระบุว่ามี Region ที่ตั้ง Data Center อยู่ 11 แห่งทั่วโลก โดย 4 แห่งอยู่ในสหรัฐอเมริการ ทั้งนี้มีแห่งหนึ่งให้ใช้เฉพาะรัฐบาลอเมริกา มีในยุโรป 2 แห่ง โดยเมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งประกาศ Region แห่งใหม่ในประเทศเยอรมัน ในอเมริกาใต้มี 1 แห่งในบราซิล และมีอีก 4 แห่งในเอเซีย-แปซิฟิก ที่รวมทั้งในประเทศจีน ซึ่งกำหนดการใช้งานโดยรัฐบาลจีน  Region ที่ใกล้บ้านเรามากที่สุดคืออยู่ในประเทศสิงคโปร์ AWS กำหนดให้ในแต่ละ Region ต้องมี Availability Zone (AZ) อย่างน้อยสองแห่ง  ซึ่งแต่ละ AZ เป็น Cluster ของ Data Center อยู่กันคนละที่ตั้ง ใช้ Power Supply ต่างกัน การเดินสาย Network ที่ต่างกัน ดังนั้นแม้จะเกิดภัยวิบัติในAZ แห่งหนึ่ง ก็อาจจะไม่กระทบ AZ อีกแห่งหนึ่ง ทำให้ระบบของ AWS มีความเสถียรมากพอควร นอกจากนี้ AWS. ยังมี Edge Location สำหรับที่ช่วยลด  Latency และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงระบบอีก 52 แห่ง

Screenshot 2014-11-08 11.00.32

รูปที่ 3 ตำแหน่งที่ตั้ง Regionและ  Edge Location ของ AWS [ยังไม่รวมที่ประเทศเยอรมัน]

AWS ได้เปลี่ยนแปลงการทำงานของคนไอทีอย่างมากมาย และกำลังทำให้โลกของการพัฒนาระบบไอทีเปลี่ยนไป ถ้าเราแค่ว่าจะหา Server มาใช้งานซักตัว การใช้ผู้ให้บริการ Cloud อย่าง AWS กับผู้ให้บริการรายอื่นๆหรือแค่การทำ Virtualization ย่อมไม่ต่างกันมากนัก บางทีอาจแทบจะไม่ต่างกับแบบ on premise ที่จัดหา Server มาใช้งานเองด้วยซ้ำไป แต่ถ้าคำนึงถึงระบบความปลอดภัย ความเสถียรของระบบ การทำAuto-Scability หรือสถาป้ตยกรรมที่ดีสำหรับระบบ Server แล้วระบบ  Cloud IaaS ของ AWS ต่างกับผู้ให้บริการ Cloud รายเล็กอย่างมาก และยิ่งเห็นความแตกต่างเมื่อผู้ให้บริการ Cloud อย่าง AWS มีระบบ  Portal ที่เป็น self service ที่ช่วยให้เรา config ระบบต่างๆได้เอง โดยไม่ใช่เป็นเพียงผู้ให้บริการ Cloud ที่เพียงจัดหา Server ให้เราใช้แล้วต้องผ่าน Call Center ที่คอยมา config เครื่อง Server ให้เราบางเครื่อง แล้วเราไม่สามารถบริหารจัดการได้เอง

Screenshot 2014-11-08 11.13.56

รูปที่ 4 ตัวอย่างของ  Web Application Hosting Architecture โดยใช้  AWS

การเรียนหลักสูตร  Architecturing on AWS  ทำให้เราสามารถสร้างระบบ Server ที่มีสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ดังตัวอย่างของ Web Application Hosting Architecture ในรูปที่ 4 นี้ได้ ซึ่งถ้าเป็นแต่เดิมผมบอกได้เลยว่าการเรียนเพื่อที่จะสร้างระบบ Server ขนาดใหญ่แบบนี้และต้องมา config ระบบจำนวนมากอย่างนี้ โดยได้ปฎิบัติจริงในห้องเรียนแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราต้องหาระบบ Hardware จำนวนมากมาทดลอง และต้องมาทำงานจริงๆใน Data Center ที่ต้องมีเครื่องนับสิบเครื่อง แต่ AWS ได้เปลี่ยนโลกของไอที ในหลักสูตรสี่วันที่ผมไปเรียนทำให้ผมสามารถสร้างระบบแบบนี้ได้ ข้อสำคัญระบบที่สร้างขึ้นเป็นระบบที่ใช้งานได้จริงๆ

AWS มีบริการสำหรับ  IaaS ที่หลากหลายมาก เพื่อให้เห็นบริการบางอย่างผมขอยกตัวอย่าง บริการที่ใช้ทำ Web Application Hosting Architecture ในรูปที่ 4 มาดังนี้

  • Amazon S3 (Simple Storage Service) เป็น strorage ที่ใช่ในการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ โดยมีค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลเพียง  $0.03/GB โดยออกแบบมาให้มี Availability 99.99% สำหรับ Object  ที่เก็บอยู่ และมี 99.999999999% สำหรับ Durability
  • Amazon EC2 (Elastic Compute Cloud) ที่ทำหน้าที่เป็น  Server ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนเครื่องใหญ่มากๆ ในรูปที่  4 คือเครื่องที่ทำเป็น Web Servers และ App Servers หลายๆเครื่อง
  • Amazon RDS (Relational Database Service) คือเครื่องที่จะทำหน้าที่เป็น Database Server ที่ทาง AWS  เตรียมมาให้เลือกได้หลาย Database เช่น  Microsoft SQL, Oracle DB, PostgreSQL หรือ MySQL
  • Amazon VPC (Virtual Private Cloud) คือบริการที่จะช่วยทำให้เราสร้างระบบบน AWS ใน Virtual Network   ที่เรากำหนดให้มีความปลอดภัยดีขึ้น
  • Amazon IAM (Identity and Access Management ) คือระบบที่จะช่วยในการทำ Authentication และทำ Access Control ผู้เข้าถึงระบบ Server ต่างๆ
  • Amazon ELB (Elastic Load Balance) คือตัว  Load Balance ที่จะช่วยกระจาย Traffic ให้กับ  Server  ต่างๆ
  • Autoscaling  คือระบบที่จะช่วยเพิ่มหรือลดจำนวน EC2  ให้เราอัตโนมัติ ตามเกณฑ์ที่เราตั้งไว้
  • Amazon Route 53 คือ ตัวที่จะช่วยเป็น Domain Name System (DNS) ในการที่ route taffic มายังระบบของเรา
  • Amazon CloudFront คือระบบที่ช่วยทำหน้าที่เป็น Content Delivery Network

นอกจากบริการที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว  AWS ยังมีบริการอื่นๆอีกมาที่ช่วยทำให้เราสร้างระบบไอทีขนาดใหญ่และมีเสถียรภาพได้ ดีกว่าที่จะต้องมาจัดหาเครื่อง  Hardware และลงทุน Infrastructure อื่นๆเอง พอเห็นอย่างนี้แล้ว ปีหน้าผมตั้งใจจะให้การอบรมของ IMC Institute ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Application ต่างๆรวมถึงการทำ  Big Data มารันบน Infrastructure  จริงๆใหญ่ๆของ AWS ผู้เรียนจะได้เห็นกันไปเลยว่า  Large Scale Application เป็นอย่างไรจากของจริง

สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณทาง  AWS โดยเฉพาะคุณชลตะวัน สวัสดีที่ให้โอกาสทีมของ IMC Institute เข้าเรียนหลักสูตรนี้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute