การกำหนดกลยุทธ์ดิจิทัล 4 ด้านให้สอดคล้องกับ Gartner Strategic Technology Trends 2021

หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะต้องวางแผนแนวทางด้านเทคโนโลยีขององค์กรเราอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับ Strategic Technology Trends 2021 ของ Gartner ที่ประกาศออกมาเมื่อเร็วๆนี้ โดยได้ระบุถึงเทคโนโลยีต่างๆ 9  ด้านคือ

  • Internet of Behaviours 
  • Total experience
  • Privacy-enhancing computation
  • Distributed cloud 
  • Anywhere operation
  • Cybersecurity mesh
  • Intelligent composable business
  • AI engineering
  • Hyperautomation

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ Gartner Strategic Technology Trends 2021 พูดถึงเรื่องอะไรบ้าง)

แนวโน้มเทคโนโลยีเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลที่มาจากการเกิดวิกฤติโควิดที่ทำให้เกิดเรื่องของการสร้างระยะห่างทางสังคม สังคมเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และการเกิด Digital disruption มาเร็วขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตส่วนตัวและทำงานเป็นแบบรีโมทมากขึ้น ธุรกิจจะต้องมีความคล่องตัวและปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว และมีความจำเป็นจะต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)มาใช่ในองค์กรมากขึ้น

จาก Gartner ทำให้ผู้บริหารองค์กรต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ดิจิทัลอยู่หลายด้านอาทิเช่น

  • การออกแบบสถาปัตยกรรมไอทีแบบกระจาย (Distributed architecture)
  • กำหนดกลยุทธ์ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า
  • การตั้งทีมงานด้านเอไอแภายในองค์กร
  • กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่จะให้บริการลูกค้าและปรับวิธีการทำงานของพนักงานเป็นแบบที่ใดก็ได้ (location independent)

กลยุทธ์สถาปัตยกรรมไอทีแบบกระจาย

เพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนบริการไอทีและดิจิทัลให้รวดเร็วและมีความคล่องตัว ระบบไอทีในองค์กรคงต้องใช้บริการของ public cloud มากขึ้น และอาจต้องเน้นใช้บริการของผู้ให้ที่มี Distributed cloud ขณะเดียวกันการออกแบบระบบไอทีก็จะต้องเน้นเป็น Microservices ที่เป็นmodularity มากขึ้น เพื่อที่จะประกอบแอปพลิเคชั่นหรือบริการใหม่ได้อย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับแนวโน้มในเรื่องของ Intelligent composable business นอกจากนี้ในแง่ของการออกแบบระบบความปลอดภัยคงต้องเน้นว่า การใช้บริการไอทีอาจมาจากภายนอกองค์กรมากขึ้น ดังนั้นรัศมีการควบคุมก็อาจถูกกำหนดตามแนวโน้มของ Cybersecurity mesh

กลยุทธ์ด้าน Big Data

องค์กรจำเป็นจะต้องมีกลยุทธ์ในการเก็บข้อมูลลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมลูกค้า ซึ่งอาจต้องมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ เก็บข้อมูล CRM หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ได้มาซึ่ง Internet of  Behaviours ของลูกค้า จากนั้นต้องมั่นใจว่าการนำข้อมูลต่างไปประมวลผลมีความเป็นส่วนตัวที่เข้ารหัส และกระจายไปพันธมิตรที่เกี่ยวข้องโดยเป็นไปตามแนวโน้มด้าน Privacy-enhancing computation ซึ่งการวิเคระห์ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาซึ่งประสบการณ์โดยรวม (Total experience) ที่ดีขึ้นสำหรับทุกฝ่าย

กลยุทธ์ด้านเอไอ

องค์กรจะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านเอไอ บริการและผลิตภัณฑ์ขององค์กรจะต้องมีระบบเอไอฝังอยู่ กระบวนการทำงานต่างขององค์กรจะต้องถูกปรับให้เป็นแบบอัตโนมัติในลักษณะที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันในแต่ละระบบได้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มด้าน Hyperautomation และการพัฒนาระบบไอทีจะต้องมีแนวปฎิบัติเรื่องของ AI engineering ตั้งแต่การทำ DevOp

กลยุทธ์การให้บริการลูกค้า

องค์กรต้องออกแบบแอปพลิเคชั่นทั้งทางด้านการให้บริการลูกค้า การทำงานของพนักงานให้เป็นแบบ Anywhere Anydevice และ Anytime เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมที่เปลี่ยนไปสู่ Anywhere operation และต้องเน้นการนำเอไอและการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้เพื่อให้เกิด Total experience ด้วย

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยากจะแนะนำให้ผู้บริหารวางแผนในการปรับตัวสู่การทำ Digital transformation ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของ Gartner

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Gartner Strategic Technology Trends 2021 พูดถึงเรื่องอะไรบ้าง

Gartner ได้ประกาศ Strategic Technology Trends 2021 ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งนี้ในปีนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของวิธีการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนจากการที่จะต้องสร้างระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และน่าจะมีผลต่อเนื่องในระยะยาวที่จะทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ Gartnerแบ่งแนวโน้มด้านเทคโนโลยีปีนี้ไว้เป็นสามกลุ่มคือ

  • ด้าน People centricity ซึ่งถึงแม้ว่าโควิด-19 จะทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป แต่คนก็ยังเป็นศูนย์กลางของธุรกิจที่จำเป็นจะต้องทำให้กระบวนการทำงานต่างๆถูกแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
  • ด้าน Location independence โควิด-19 ทำให้เกิดสังคมที่ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่แบบเดิม ทำงาน เรียนหรือใช้ชีวิตประจำวันที่ไหนก็ได้ จึงจำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนพฤติกรรมรูปแบบใหม่ๆ
  • ด้าน Resilient delivery วิกฤติโควิด-19และการถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและมีความคล่องตัว จึงต้องมีการเตรียมเทคโนโลยีที่สามารถมารองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากกระแส Digital disruption

ทั้งนี้ในปีนี้ Gartner ประกาศแนวโน้มเทคโนโลยีออกมาเพียง 9 อย่าง ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆที่ปกติจะมี 10 อย่าง โดยมีเทคโนโลยีดังนี้

ด้าน People centricity

  • Internet of Behaviours เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สามารถเก็บข้อมูลของผู้คนได้มากขึ้น ทั้งข้อมูลของลูกค้าในเชิงธุรกิจและข้อมูลของประชาชนสำหรับภาครัฐ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจมาจากโซเชียลมีเดีย Internet of things หรือมือถือ ทำให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้คนได้มากขึ้น และอาจนำมาใช้งานในด้านต่างๆได้ดีขึ้นทั้งเรื่องของการให้บริการลูกค้า หรือการควบคุมการเกิดโรคระบาด เช่นการตรวจสอบว่ามีการใส่หน้ากากหรือไม่จากกล้องอัจฉริยะ หรือได้ล้างมือหรือยังจากระบบเซ็นเซอร์ของก็อกน้ำ ตลอดจนการมีระบบติดตามผู้คนทำให้ทราบพฤติกรรมของผู้คนได้มากขึ้น
  • Total experience คือการรวบรวมประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งจาก ประสบการณ์ของลูกค้า (customer experience) ประสบการณ์ของพนักงาน (employee experience) และประสบการณ์ของผู้ใช้ (user experience) มาเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่นในช่วงโควิด-19 มีบริษัทด้านโทรคมนาคมแห่งหนึ่งได้ติดตั้งระบบนัดหมายผ่านโมบายแอป และเมื่อลูกค้ามาตามเวลานัดหมายพอใกล้ถึงสถานที่ก็จะสามารถเช็คอินได้อัตโนมัติ และสังข้อความไปแจ้งพนักงานที่อาจใช้แทปเล็ตเพื่อให้บริการและโต้ตอบกับลูกค้าแบบทันทีทันใด ซึ่งจะช่วยลดเรื่อง Social distancing และทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าและพนักงานโดยรวมดีขึ้น
  • Privacy-enhancing computation คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อจะประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัย โดยประกอบไปด้วยเทคโนโลยีสามด้านคือ 1) การทำระบบและสภาพแวดล้อมที่สามารถประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างปลอดภัย 2) การทำให้สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระจายไปหลายที่ได้ และ 3) การเข้ารหัสข้อมูลและอัลกอริทึมก่อนที่นำไปประมวลผลและวิเคราะห์ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปประมวลผลข้ามองค์กรได้ด้วยความปลอดภัย

ด้าน Location independence

  • Distributed cloud คือการที่ผู้ให้บริการ public cloud กระจายการติดตั้งระบบ cloud ไว้ในหลายๆแห่งโดยที่การบริหารจัดการบริการและการควบคุมต่างๆยังเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ public cloud จึงทำให้องค์กรต่างๆได้ Cloud services ที่ทันสมัย และมีระบบที่ตั้งอยู่ตำแหน่งใกล้กับหน่วยงานเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการส่งข้อมูล และตอบโจทย์ขององค์กรที่ต้องการให้ข้อมูลไม่ย้ายออกไปอยู่ในดำแหน่งไกลๆโดยเฉพาะในต่างประเทศ ทั้งนี้มีการกล่าวว่า Distributed cloud คืออนาคตของ Cloud
  • Anywhere operation คือรูปแบบของธุรกิจที่จะให้บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้และพนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องมีแนวคิดที่มองดิจิทัลต้องมาก่อนโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Digital first, location independent) โดยมีโครงสร้างพื้นฐานไอทีและแอปพลิเคชั่นแบบกระจาย
  • Cybersecurity mesh คือสถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed architecture) ที่จะสามารถควบคุมความปลอดภัยทางไซเปอร์ได้อย่างมั่นใจ ยืดหยุ่น และขยายตัวได้ ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรด้านไอทีจำนวนมากอยู่นอกรัศมีการควบคุมความปลอดภัยที่มักจะกำหนดไว้ภายในองค์กร Cybersecurity mesh จะเป็นการอนุญาตให้ผู้ใช้กำหนดรัศมีการควบคุมความปลอดภัยโดยพิจารณาจากการระบุตัวตน หรือตำแหน่งของผู้ใช้ จึงทำให้สามารถใช้ระบบความปลอดภัยในรูปแบบโมดูลาร์และตอบสนองได้ โดยมีนโยบายจากส่วนกลาง

ด้าน Resilient delivery

  • Intelligent composable business องค์กรต่างๆจำเป็นจะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาในโลกที่กำลังเปลี่ยงแปลงไป จึงจำเป็นต้องมีสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ดีขึ้นและสามารถที่จะเสริมข้อมูลเหล่าให้เห็นในเชิงลึกได้ ตลอดจนประกอบข้อมูลในแต่ละส่วนย่อยหรือแอปพลิเคชั่นได้ เพื่อที่จะมาพัฒนาระบบต่างๆที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่นธนาคารอาจจะต้องสามารถที่จะพยากรณ์แนวโน้มและพฤติกรรมของลูกค้าแล้วสามารถสร้างบริการใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นจากระบบเดิมที่มีอยู่จากการจัดเรียงระบบขึ้นมาใหม่แทนที่จะต้องพัฒนาระบบใหม่ทั้งหมด
  • AI engineering คือการแก้ปัญหาโครงการด้านเอไอที่มักจะเจอในแง่ของการบำรุงรักษา การขยายระบบ และด้านธรรมาภิบาล โดยการให้การทำเอไอเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและการทำงานโครงการไอทีต่างๆแทนที่จะมองเป็นโปรเจ็คด้านเอไอโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนเป็นเป็นตามหลักธรรมภิบาล โดยต้องคำนึงในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส จริยธรรม การสามารถอธิบายได้ และเป็นไปตามกฎปฎิบัติต่างๆ
  • Hyperautomation คือ แนวคิดที่จะต้องทำให้กระบวนการทำงานต่างๆทั้งทางด้านธุรกิจและไอทีเป็นระบบอัตโนมัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้เทคโนโลยี Intelligent automationที่หลากหลายแต่สามารถนำมาเชื่อมต่อและประกอบกันได้

ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้องค์กรต่างๆควรจะคำนึงถึงเพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์ในการวางแผน Digital Transformation เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นซึ่งอาจทอดยาวไปถึงอีก 4-5 ปีข้างหน้า

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

การเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจเนื่องจาก Digital Transformation

ผมกับคุณมิค (ศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ) ได้มีโอกาสไปบรรยายและทำ Workshop ในหัวข้อ Digital Transformation ให้กับหลายๆองค์กร สิ่งหนึ่งที่คุณมิคจะนำมาให้ผู้เรียนทำเสมอในตอนท้ายก็คือการเขียน Business Model Canvas (BMC) สำหรับการจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ (Business Transformation) ในยุคของดิจิทัล เพราะการทำ Digital Transformation คือการปรับกลยุทธ์และอาจต้องคิดโมเดลของธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วย มากกว่าที่จะคิดเพียงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กรเพียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่ยังมีโมเดลธุรกิจเดิมๆซึ่งอาจกำลังเกิด Digital Disruption

Business Model Canvas เป็นเครื่องมือที่ช่วยออกแบบโมเดลธุรกิจผ่านปัจจัยทั้ง 9 ด้านที่ครอบคลุมส่วนสำคัญๆ ต่อธุรกิจ BMC ถูกพัฒนาและนำเสนอโดย Alexander Osterwalder และ Yves Pigneur ในหนังสือชื่อ Business Model Generation (ปี พ.ศ. 2552) เพื่อเป็นเทมเพลตที่ช่วยออกแบบแบบจำลองธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจ และทำให้สามารถช่วยประเมินธุรกิจในด้านต่างๆ 9 องค์ประกอบคือ

  1. Value Propositions คุณค่าของธุรกิจ
  2. Customer Segment กลุ่มของลูกค้าเป้าหมายของเรา
  3. Customer Relationships การสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า
  4. Channels ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า
  5. Key Activities กิจกรรมหลักที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ
  6. Key Partners พาร์ทเนอร์หลักของเรา
  7. Key Resource ทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ
  8. Revenue Streams รายได้ของของธุรกิจมาจากแหล่งใด
  9. Cost Structure ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจ

BMC ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจต่างๆอาจต้องกลับมาทบทวน Business Model ที่ดำเนินอยู่ ทั้งนี้รูปแบบธุรกิจแบบเดิมก็อาจเริ่มเปลี่ยนไปในยุคไอทีที่เข้ามาในช่วงก่อนหน้านี้ซึ่งมีเรื่องของอินเตอร์เน็ตและ Smartphone เข้ามา และกำลังเปลี่ยนไปอีกครั้งในยุคของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เราต้องทำ Digital Transformation

ผมเลยอยากเขียนสรุปสั้นๆให้เห็นว่า องค์ประกอบแต่ละด้านของ Business Model Canvas มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในยุคดิจิทัล เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปวางแผนปรับโมเดลธุรกิจในการทำ Digital Transformation ดังนี้

  1. Value Proposition ในรูปแบบเดิมเมื่อกล่าวถึงคุณค่าของธุรกิจหรือจุดเด่น ส่วนใหญ่ก็อาจมองที่สินค้าหรือบริการทีดีกว่า ราคาที่ดีกว่า มีนวัตกรรมใหม่ๆ หรือมีแบรนด์ เมื่อเทคโนโลยีไอทีเข้ามาคุณค่าที่จะต้องพิจารณาขึ้นก็อาจเป็นเรื่องของการเข้าถึงได้ตลอดเวลาผ่านเว็บไซต์ โมบาย หรือสามารถทำ Self-service ได้ แต่ในยุคของดิจิทัลที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 สิ่งที่จะเป็นคุณค่าเพิ่มขึ้นมาจะกลายเป็นเรื่องของ สินค้าและบริการที่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ (Customisation) หรือตรงความต้องการของลูกค่าแต่ละคน (Personalization) หรือมีเรื่องของบริการย่อยๆ (Microservices) หรืออาจมีคุณค่าในแง่ของความปลอดภัยด้านไอทีที่แตกต่างกับธุรกิจอื่นๆ เป็นต้น
  2. Customer Segment ในรูปแบบเดิมกลุ่มของลูกค้าเป้าหมายอาจมองในแง่ของอายุ เพศ อาชีพ หรือพื้นที่ แต่ด้วยยุคของดิจิทัลทำให้เราสามารถทำกลุ่มเป้าหมายย่อยได้ (Micro segmentation) โดยการใช้ Data Analytics และเริ่มมีกลุ่มเป้าหมายๆใหม่ๆเช่น กลุ่ม Digital Native กลุ่ม Gamer กลุ่ม Youtuber กลุ่ม Influencer/Blogger และยังสามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรม (Behavioral segmentation) หรือปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายแบบพลวัต (Dynamic segmentaion) โดยการใช้ real-time sensor เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปตามาสถานการณ์
  3. Customer Relationships ในรูปแบบเดิมการสร้างสายสัมพันธ์เน้นเป็นรายบุคคล ตามโอกาสต่างๆ เน้นการสร้างเครือข่ายและความน่าเชื่อถือ ที่อาจเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว ในยุคของไอทีก็เริ่มมีการนำระบบ CRM (Customer Relationship Management) มาใช้งานมากขึ้น มีการพูดถึงการทราบตัวตนของลูกค้าที่อาจเป็น Digital ID เช่นติดต่อผ่านอีเมล แต่ในยุคดิจิทัลปัจจุบันการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าอาจทำผ่าน Social Media หรือเป็นการสร้างกระแสทางดิจิทัล (Digital Viral) การพูดคุยกับลูกค้าอาจเป็น Dialog ที่กำหนดเงื่อนไขต่างๆตามความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้การระบุตัวตนของลูกค้าก็อาจยากขึ้นเพราะหลายคนอาจเป็นอวตารไม่ใช้บัญชีจริง
  4. Channels ในรูปแบบเดิมช่องทางการเข้าถึงลูกค้าอาจเป็นผ่านการโฆษณา การทำตลาดผ่านสื่อต่างๆ ส่งโปรชัวร์ มีระบบ Call Center พอมาถึงในยุคไอทีก็จะมีการสร้างเว็บ การส่งอีเมล การทำ E-Commerce และระบบออนไลน์ต่างๆ แต่ในปัจจุบันคือยุคของ App ยุคที่ต้องเข้าถึงผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นลำดับแรก (Mobile First) ต้องใช้ช่องทางที่หลากหลาย (Omnichannel) ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเช่น Beacon, Augmented Reality และต้องเน้นประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ที่อาจวัดความพึงพอใจด้วย Net Promoter Score (NPS)
  5. Key Activities ในรูปแบบเดิมก็จะเน้นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การสร้างนวัตกรรม การขาย การทำตลาด การบริหารภายใน แต่ในยุคไอทีก็เริ่มมีการทำ Digitizing แปลงของขัอมูลและกระบวนการต่างๆให้อยู่ในรูปดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการทำตลาดออนไลน์ สำหรับยุคดิจิทัลในปัจจุบันคงต้องเพิ่มกิจกรรมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น เช่นการทำการตลาดแบบอัตโนมัติ การเปลี่ยนระบบขึ้นสู่ Cloud Computing การชำระเงินในรูปแบบใหม่ๆผ่าน Mobile-payment หรือการนำระบบ RPA (Robot Process Automation) เข้ามาใช้ในองค์กร
  6. Key Partners ในรูปแบบเดิมก็จะเน้นหาคู่ค้าช่วยในการขาย การโฆษณา แต่ในปัจจุบันคงต้องเพิ่มความหลากหลายที่อาจมองถึงเรื่องของ คู่ค้าที่เป็นตัวกลาง/แพลตฟอร์ม กลุ่มที่เป็น Startup กลุ่ม Venture Capital กลุ่ม Freelance กลุ่มพันธมิตรในโครงการต่างๆที่ทำด้านเทคโนโลยี หรือโครงการอย่าง Smart City และบางครั้งอาจรวมถึงลูกค้าที่จะมาช่วยในการทำงาน
  7. Key Resource ในรูปแบบเดิมทรัพยากรที่จำเป็นคือเงินทุน บุคลากร อุปกรณ์และสินทรัพย์ต่างๆหรือระบบไอที แต่ในปัจจุบันทรัพยากรที่จำเป็นอาจเน้นเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น เช่นการมีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ระบบ Mobile App อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ระบบหุ่นยนต์ ระบบ AI และ ระบบ Open-API เป็นต้น
  8. Revenue Streams ในรูปแบบเดิมรายได้คงมาจากการขายสินค้าและบริการในรูปแบบเดิม ต้องบริหารกระแสเงินสด ต้องหาเงินลงทุน พอมาในยุคไอทีรูปแบบของรายได้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นเข่น Prepaid, Pay-as-you-go หรือรายได้จากโฆษณา ในปัจจุบันกระแสดิจิทัลเข้ามาเต็มที่ทำให้เริ่มมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิมอีกมากอาทิเช่น Freemium, Fee-in-Free-Out, Pay-to-win, Ownership-to-access หรือ Dynamic pricing เป็นตัน
  9. Cost Structure ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจซึ่งก็คือการประมาณการค่าใช้จ่ายในแบบเดิมที่มีมา และไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีมากนัก

หากองค์กรใดต้องการที่จะทำ Digital Transformation ก็อาจสามารถเริ่มต้นด้วยการทำ Business Model Canvas แล้ววางแผนในบริบทที่ควรจะเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัลตามที่กล่าวมาในที่นี้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ใครคือผู้นำทางด้าน AI จีน สหรัฐอเมริกา หรือ สหภาพยุโรป





ในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 มีการกล่าวกันว่ามหาอำนาจโลกเปลี่ยนจากการแข่งขันไปอวกาศ (Space Race) เป็นการพัฒนา AI แข่งกัน ประเทศใดที่ทำเรื่องของ AI ได้ดีกว่าประเทศนั้นมีโอกาสสร้างความได้เปรียบในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะสามารถ เพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศดีกว่า โดยอาจจะเห็นหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ในบางด้าน และประเทศใดที่ไม่สามารถแข่งขันหรือพัฒนา AI ได้ก็จะล้าหลังและไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรม 4.0 ได้

คำถามที่น่าสนใจคือว่า ในปัจจุบันชาติใดเป็นผู้ที่ได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 มีผลการศึกษาเรื่อง Who is winning the AI race: China, the EU or the United States? ของ Center for Data Innovation ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบศักยภาพการพัฒนา AI ของประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปใน 6 ด้านคือ ด้านทักษะบุคลากร ด้านงานวิจัย ด้านการพัฒนา ด้านการประยุกต์ใช้งาน ด้านข้อมูล และด้านฮาร์ดแวร์

ซึ่งภาพรวมจากการวิจัยพบว่า สหรัฐอเมริกายังนำจีนและสหภาพยุโรปอยู่ใน 4 ด้านคือ ด้านผู้เชี่ยวชาญ ด้านงานวิจัย ด้านการพัฒนา และด้านฮาร์ดแวร์ แต่จีนเองก็นำในด้านข้อมูล และด้านการประยุกต์ใช้งาน โดยภาพรวมจากคะแนนเต็ม 100 สหรัฐอเมริกามีคะแนนนำที่ 44.2 คะแนน จีนได้  32.3 คะแนน และสหภาพยุโรปได้ 23.5 คะแนน ซึ่งผู้นำในแต่ละด้านสรุปได้ดังตารางที่ 1 และผลการศึกษาในแต่ละด้านสามารถสรุปได้ ดังนี้

ตารางที่ 1 ผลการจัดอันดับ AI ในด้านต่างๆ

ด้านจีนสหภาพยุโรปสหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญ321
งานวิจัย321
การพัฒนา321
การประยุกต์ใช้งาน123
ข้อมูล132
ฮาร์ดแวร์231
ผลรวม231

 1 ด้านผู้เชี่ยวชาญ

ทีมงานศึกษาได้วัดจากจำนวนนักวิจัยทางด้าน AI โดยพบว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวนมากถึง 28,536 คน ขณะที่สหภาพยุโรปมีกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ รวม 43,064 คน โดยมีมากสุดในประเทศเยอรมัน 9,441 คน และสหราชอาณาจักร 7,998 คน ส่วนจีนมีอยู่ 18,232 คน อย่างไรก็ตามข้อมูลการศึกษาระบุว่า แม้สหภาพยุโรปจะมีผู้มีทักษะด้าน AI มากสุด แต่ปรากฏว่าจำนวนพนักงานทางด้านนี้ในบริษัทใหญ่ๆ กลับมีน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีเงินทุนสนับสนุนน้อยกว่า และบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก็ยังสามารถที่จะดึงดูดคนเก่งทางด้าน AI ไปทำงานได้ดีกว่าที่อื่นๆ

แต่ทั้งสามกลุ่มประเทศต่างก็มีนโยบายในการที่จะดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI เข้ามาทำงาน และศึกษาต่อระดับปริญญาโท/เอก โดยการให้ทุนการศึกษา และมีงบประมาณการตั้งหน่วยงานวิจัยทางด้าน AI จำนวนมาก เช่น ประเทศจีนมีแผนที่จะตั้งศูนย์วิจัย AI ถึง 50 แห่ง และมีการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ทางด้านนี้ รวมทั้งมีแผน 5 ปี ที่เน้นในการสร้างบุคลากรทางด้าน AI 

2 ด้านงานวิจัย

การวัดขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านงานวิจัย เป็นการเปรียบเทียบจากจำนวนบทความด้าน AI ที่ตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการและวารสารต่างๆ รวมถึงจำนวนแหล่งเงินทุนวิจัย ซึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนบทความด้าน AI เฉพาะปี 2017 จีนมีบทความเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งถึง 15,199 บทความ ตามด้วยสหภาพยุโรป 14,776 บทความ และสหรัฐอเมริกา 10,287 บทความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อดูจำนวนบทความย้อนหลังตั้งแต่ปี 1998 สหภาพยุโรปมีมากสุดถึง 164,000 บทความ ตามด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 135,000 บทความ และจีน 107,000 บทความ

ในด้านทุนวิจัยจีนมีแผนงานที่จะสนับสนุนเงินปีละ 950 ล้านดอลลาร์ ถึงปี 2025 ส่วนสหภาพยุโรปตั้งเป้าที่จะสนับสนุนงานวิจัยด้าน AI ช่วงปี 2018-2020 จำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์ และกำลังทำแผนนำเสนอขอเงินสนับสนุนอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2021-2027 ส่วนสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนงบประมาณวิจัยด้าน AI ตั้งแต่ปี 2015 จำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดเมื่อกันยายน ปี 2018 ก็ประกาศเพิ่มงบประมาณอีก 2,000 ล้านดอลลาร์สำหรับอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้การสำรวจการลงทุนงบวิจัยและพัฒนาของบริษัทขนาดใหญ่ด้านไอทีในแต่ละประเทศที่ติดอันดับ 2,500 บริษัทแรกของโลกพบว่า สหรัฐมีการลงทุนงานวิจัยสูงสุดที่ 77.4 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยจีน 11.8 พันล้านเหรียญ และสหภาพยุโรป 10.5 พันล้านดอลลาร์ 

ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพรวมในด้านนี้สหรัฐอเมริกามีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยสหภาพยุโรปและจีน แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพด้านงานวิจัยของจีนกำลังเร่งขึ้นมาและในอนาคตน่าจะสามารถที่แซงสหภาพยุโรปได้

3. ด้านการพัฒนา

การศึกษาทางด้านนี้คือ การวิเคราะห์ในมุมของจำนวนบริษัททางด้าน AI จำนวนสิทธิบัตร จำนวนบริษัท Startup ด้าน AI ตลอดจนเงินลงทุนของ Venture Capital (VC) ซึ่งพบว่า สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำทางด้านนี้ โดยมีบริษัทด้าน AI ถึง 1,727 บริษัท มีจำนวน Startup 1,393 บริษัท เงินลงทุนจาก VC และหุ้นนอกตลาด (Private Equity) จำนวน 16.9 พันล้านดอลลาร์ และมีสิทธิบัตรที่มีการอ้างอิงด้าน AI จำนวน 28,031 ฉบับ ส่วนสหภาพยุโรปตามมาเป็นอันดับสอง โดยมีบริษัทด้าน AI จำนวน 762 บริษัท มีจำนวน Startup 726 บริษัท เงินลงทุนจาก VC และหุ้นนอกตลาดจำนวน 2.8 พันล้านดอลลาร์ และมีสิทธิบัตรที่มีการอ้างอิงด้าน AI จำนวน 2,985 ฉบับ  

ส่วนจีนแม้จะอยู่อันดับสุดท้ายโดยมีบริษัทด้าน AI จำนวน 224 บริษัท มีจำนวน Startup 383 บริษัท และมีสิทธิบัตรที่มีการอ้างอิงด้าน AI จำนวนเพียง 691 ฉบับ แต่เงินลงทุนจาก VC และหุ้นนอกตลาด (Private Equity) มีจำนวนถึง 13.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ในอนาคตมีโอกาสที่จะแซงสหภาพยุโรปที่มีเงินสนับสนุน Startup น้อยกว่า

4. ด้านการประยุกต์ใช้งาน

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 เทคโนโลยี AI จะสร้าง GDP ของโลกเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญและต่างนำ AI มาประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ เพื่อที่จะสร้างศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า จีนนำหน้าสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ในด้านการนำมาประยุกต์ใช้ โดยข้อมูลในปี 2018 พบว่า บริษัทในจีน 32% ได้ประยุกต์ใช้ AI แล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกามี 22% และ สหภาพยุโรปมีเพียง 18% นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทในจีนถึง 53% ที่กำลังมีการทดลองใช้ AI ขณะที่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีเพียง 29% และ 26% ตามลำดับ

ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าประชากรจีนเห็นผลกระทบของเทคโนโลยี AI มากถึง 76% ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากร 58% ที่เห็นผลกระทบของ AI ส่วนในสหภาพยุโรปเมื่อพิจารณาในเรื่องนี้บางประเทศพบว่า ประชากรเห็นความสำคัญ ดังนี้ ฝรั่งเศส 52% เยอรมัน 57% สหราชอาณาจักร 51% และสเปน 55% ทำให้จีนเป็นผู้นำทางด้านการประยุกต์ใช้งาน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

5. ด้านข้อมูล

เทคโนโลยี AI จำเป็นจะต้องมีข้อมูลจำนวนมากมาสร้างโมเดลในการพยากรณ์ ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้โมเดลมีความแม่นยำมากขึ้น แต่อาจยังไม่มีวิธีการวัดปริมาณข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ทางด้าน AI โดยตรง ดังนั้นการศึกษาของทีมงานนี้จึงใช้ข้อมูลในปี 2018 จากปริมาณการใช้ Broadband การชำระเงินผ่านมือถือ การสร้างข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ข้อมูลใหม่อื่นๆ ที่สร้างขึ้น ข้อมูลด้านการแพทย์ ข้อมูลพันธุกรรม และข้อมูลแผนที่ที่มีความละเอียดสูง โดยสามารถสรุปปริมาณข้อมูลของแต่ละประเทศได้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ปริมาณข้อมูลของประเทศต่างๆ

ประเภทจีนสหภาพยุโรปสหรัฐอเมริกา
จำนวนการใช้ Fixed Broadband (ล้าน)394.2175.7109.8
จำนวนการชำระเงินผ่านมือถือ (ล้าน)525.144.755.0
จำนวนข้อมูลใหม่ด้าน IoT (TB)1525369
ข้อมูลใหม่อื่นๆ (TB)684583966
ข้อมูลด้านการแพทย์ (อันดับ)321
ข้อมูลพันธุกรรม (อันดับ)231
ข้อมูลแผนที่ที่มีความละเอียดสูง (อันดับ)321

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปริมาณข้อมูลโดยรวมแล้ว จีนมีมากกว่าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงกฎระเบียบในการใช้ข้อมูลจะพบว่า สหภาพยุโรปมีกฎระเบียบ GDPR ที่เข้มงวดอย่างมาก การนำข้อมูลบุคคลต่างๆ มาใช้งานจึงเป็นอุปสรรค ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายเฉพาะในบางด้าน เช่น ทางการแพทย์ หรือกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูล ส่วนจีนไม่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้มากนัก ทำให้บริษัทต่างๆ ในจีนสามารถเก็บและใช้ข้อมูลได้ง่ายกว่า

 6. ด้านฮาร์ดแวร์

เทคโนโลยี AI ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ ซึ่งมีการพัฒนาระบบประมวลกราฟิก (GPU) ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อสร้างโมเดลด้าน AI หรือมีการพัฒนา AI Chip เพื่อใช้ประมวลผลเฉพาะด้าน เช่น การทำ Face Recognition หรือการใช้ในโทรศัพท์มือถือ และก็มีการพัฒนา Supercomputer ในการประมวลผลขนาดใหญ่ ซึ่งจากการศึกษาของทีมงานนี้พบว่า สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำทางด้านฮาร์ดแวร์สำหรับ AI โดยมีบริษัทชั้นนำที่ทำทางด้าน Semiconductor ที่ติดอันดับ Top 15 ของโลกจำนวนถึง 6 บริษัท และมีบริษัททำ AI Chip 55 บริษัท และมีจำนวน Supercomputer ที่ติดอันดับ Top 500 ของโลกจำนวน 92 เครื่อง ส่วนจีนตามมาเป็นอันดับสอง มีบริษัท Semiconductor เพียงบริษัทเดียว แต่มีบริษัทที่ทำ AI Chip 26 บริษัท และมีจำนวน Supercomputer มากกว่าประเทศอื่นคือ มีถึง 219 เครื่อง ส่วนสหภาพยุโรปมีบริษัท Semiconductor สองแห่ง มีบริษัทที่ทำ AI Chip 12 บริษัท และมีจำนวน Supercomputer 116 เครื่อง   

จากผลการศึกษาพบว่าสหรัฐอเมริกายังแข่งขันกับจีนอยู่ในเรื่องของการพัฒนา  Supercomputer โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลที่เร็วที่สุดในโลกสองอันดับแรกคือ Summit และ Sierra ก็อยู่ที่กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาและมีจำนวน Supercomputer ที่ติด Top 10 ถึง 6 แห่งที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และอุปกรณ์ Semiconductor ที่อยู่ในเครื่อง Supercomputer ทั่วโลก 98% มาจากบริษัท Nvidia และ Intel แต่ชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจีนก็เริ่มมีการพัฒนา Supercomputer ได้ดีขึ้น โดยในอดีตเมื่อปี 2010 สหรัฐอเมริกาเคยมีจำนวน Supercomputer ติด Top 500 ถึง 282 เครื่อง ก่อนจะถูกจีนแซงหน้าในปัจจุบัน  

จากผลการศึกษาโดยรวมแม้สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำทางด้าน AI แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลจีนที่มุ่งเน้นในด้านนี้ ประกอบกับจำนวนงบประมาณมหาศาล พร้อมกับเริ่มมีการใช้งานแล้วจำนวนมาก ทำให้จีนดูน่ากลัวและอาจสามารถแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นอันดับหนึ่งในอนาคต

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

“ปิดสวิทช์โซเชียลมีเดีล” ทางเลือกหยุดกระบวนการปั่นความคิด

ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องของผลกระทบของ Social Media ที่ได้สร้างผลกระทบทางสังคมลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจอยู่หลายตอนอาทิเช่น

แต่เผอิญบทความอีกเรื่องหนึ่งที่เขียนไว้คือ “ปิดสวิทช์โซเชียลมีเดีล” ทางเลือกหยุดกระบวนการปั่นความคิด ไม่ได้มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ผมเลยอยากนำบทความนี้มาเผยแพร่ในบล็อกนี้ตามนี้ครับ

——————-

เมื่อเร็วๆ นี้ หลังการบรรยาย ผมกำลังเดินทางกลับบ้านเมื่อก้าวเข้าไปในรถก็มีข้อความปรากฎขึ้นบนมือถือและส่งไปยังนาฬิกาอัจฉริยะ เพื่อแสดงพร้อมกันว่า “อีก 50 นาที จะเดินทางกลับถึงบ้าน” แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการส่งข้อความเช่นนี้เข้ามา เพราะอีกหลายครั้งที่จอดรถก็จะมีข้อความส่งมาที่มือถือหลังจากลงจากรถ โดยระบุว่าผมจอดรถที่ใดเช่นกัน หลังจากพิจารณาอยู่พักหนึ่งทำให้ผมคิดได้ว่าเพราะโทรศัพท์มือถือของผมต่อเชื่อมกับระบบบูลทูธของรถยนต์ ทำให้เชื่อมต่อกับโปรแกรมแผนที่ของมือถือ ซึ่งมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คอยจดจำว่าผมเดินทางไปตำแหน่งใดบ่อย และสามารถคาดการณ์พฤติกรรมผมได้ว่าที่ใดเป็นบ้านหรือที่ทำงานของผม

ผมใช้ชีวิตอยู่กับอินเทอร์เน็ตมาเกือบสามสิบปี ใช้โซเชียลมีเดียมากว่าสิบปี และใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอีกมากมาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาอัจฉริยะ แทปเล็ต คอมพิวเตอร์ ทีวี ลำโพงอัจฉริยะ กล้อง เซ็นเซอร์ต่างๆ หลอดไฟ หรือแม้แต่หม้อหุงข้าวก็เชื่อมต่ออินเทอร์ ถ้านับอุปกรณ์เหล่านี้มีมากถึงราว 50 ชิ้น นอกจากนี้การงานยังเกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ต้องค้นข้อมูล ใช้บริการออนไลน์ต่างๆ มากมาย และใช้โซเชียลมีเดียหลายระบบ

การใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์มานานทำให้ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ผมถูกส่งเข้าไปในระบบอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก พฤติกรรมหลายอย่างของผมถูกเก็บข้อมูลไป บริษัทอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลว่า ผมค้นข้อมูลอะไร เดินทางไปที่ใด เลือกดูหนังฟังเพลงออนไลน์อะไร ผมคลิ๊กอะไร ใครบ้างเป็นเพื่อนออนไลน์ของผม ผมคุยกับใคร ชอบอะไร ซื้อสินค้าอะไร ประตูบ้านผมเปิดตอนไหน ใช้โทรศัพท์อะไร ผมรู้กระทั่งว่าผมทำธุรกรรมอะไร ทำให้เชื่อได้ว่าทุกวันนี้ข้อมูลผมจำนวนมหาศาลถูกเก็บไว้ที่บริษัทต่างๆ เหล่านั้น

ช่วงที่ใช้อินเทอร์เน็ตยุคแรกๆ โซเชียลมีเดียยังไม่ได้มีความสามารถมากมายเช่นนี้ ข้อมูลยังมีเพียงเล็กน้อย การประมวลผลไม่ได้รวดเร็วเท่านี้ และที่สำคัญคือ อัลกอริทึกของระบบเอไอยังไม่เก่งเท่านี้ แต่พอเราเล่นโซเชียลมีเดียมากชขึ้น ส่งข้อมูลเข้าอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ระบบเอไอก็จะเก่งมากขึ้น คาดการณ์พฤติกรรมต่างๆ ของเราได้ดีขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่โตแบบก้าวกระโดด ทำให้เริ่มเห็นว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ระบบอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะโซเชีนยลมีเดียมีความน่ากลัวขึ้น เราสูญเสียความเป็นส่วนตัว และเริ่มถูกครอบงำความคิดหลายอย่างจากโซเชียลมีเดียผ่านระบบเอไอ

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความเรื่อง “การโฆษณาชวนเชื่อในยุคใหม่ผ่านโซเชียลมีเดีย” และชี้ให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียกำลังสร้างความแตกแยกให้กับสังคมโดยใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติมาคอยชักใย ซึ่งก็พอดีกับที่ทาง Netflix ได้เผยแพร่สารคดี “Social Dilemma” ที่ตีแผ่โซเซียลมีเดียอย่างล้ำลึก โดยชี้ให้เห็นถึงความน่ากลัวในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ โดยมองว่าผู้ใช้คือ สินค้าที่เจ้าของเทคโนโลยีจะต้องรู้พฤติกรรมทุกอย่าง

เราเคยดูหนังวิทยาศาสตร์ที่พูดถึงหุ่นยนต์จะมาครอบครองโลกและมาบงการชีวิตมนุษย์ ซึ่งดูแล้วเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่แท้จริงแล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นจริงจากการที่โซเชียลมีเดียเริ่มมาครอบงำความคิดเรา มาบงการทางอ้อมให้เรามีพฤติกรรมตามการแนะนำของระบบเอไอ มาแนะนำข้อความต่างๆ ให้เราอ่าน นำเสนอสินค้าให้ แนะนำสถานที่ให้ แนะนำเพื่อนให้เราคุยด้วย รวมทั้งแนะนำหนังหรือเพลงให้เราฟัง

ในสารคดีนี้ได้นำผู้บริหารที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ เหล่านี้มาให้สัมภาษณ์และพูดถึงความน่ากลัวของการทำงานของระบบที่อยากให้คนมาใช้มากๆ และเสพติดที่จะใช้ตลอดเวลา และคอยชักใยการใช้งานของผู้ใช้ผ่านระบบเอไอ หลายคนถามหาจริยธรรมของบริษัทเหล่านี้และพวกเขาเองพยายามที่จะหยุดการเสพการใช้โซเชียลมีเดีย ลดการใช้อินเทอร์เน็ตและมือถือ รวมถึงไม่อยากให้ลูกเล่นจนกว่าอายุ 16 ปี เพราะคนรุ่นใหม่จะเกิดมาในยุคที่มีระบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว อาจมองสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องปกติโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกครอบงำความคิดจากระบบโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคม โดยการปลุกปั่นความคิด ซึ่งหากผู้คนมีความคิดที่แบ่งออกเป็น 2 ข้าง โซเชียลมีเดียก็จะนำเสนอแต่เรื่องที่เรามีความเห็นตรงกันมาให้เราตลอดวลาแบบสุดโต่ง โดยที่ไม่ได้รับข้อมูลที่เห็นต่างกันบ้างเลย ข้อมูลเหล่านี้หลายอย่างเป็นข้อมูลเท็จ และมีผลประโยชน์แอบแฝง นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลเท็จจะสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้รวดเร็วกว่าข้อมูลจริงถึง 6 เท่า ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่อดีตผู้บริหารของเฟซบุ๊กที่ให้สัมภาษณ์ในสารคดีนี้บอกว่า ความแตกแยกทางสังคมนี้มีโอกาสที่จะนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองได้

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราส่วนหนี่งเป็นผลพวงจากการที่เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมานานเกินไป ข้อมูลพฤติกรรมต่างๆ ที่ถูกป้อนเข้าไปทำให้เราเริ่มถูกครอบงำทางความคิด อาจจะต้องถึงเวลาที่ต้องเริ่มคิดใหม่ว่าบางช่วงอาจต้องหยุดใช้อินเทอร์เน็ต หยุดป้อนข้อมูลบางอย่างให้กับระบบและถ้าความแตกแยกทางสังคมหนักสุดจนมีแนวโน้มไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ไม่แน่ว่าเราอาจถึงเวลาต้อง “ปิดสวิทช์โซเชียลมีเดีย” ก็เป็นไปได้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute