การลงทุนด้าน IT ของประเทศต่างๆในกลุ่ม ASEAN

เมื่อเร็วๆนี้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งใน ATCI โทรมาถามผมว่า ผมมีตัวเลข IT Spending ของประเทศในกลุ่ม ASEAN หรือไม่ เพราะท่านต้องการจะเปรียบเทียบการใช้จ่ายทางด้านไอทีกับการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีในประเทศว่ามีความสัมพันธ์อย่างไร ผมเลยไปค้นหาข้อมูลตัวเลขดังกล่าวโดยได้ข้อมูลของ Business Monitor International (BMI) ที่พอสรุปได้ดังนี้

Screen Shot 2556-05-13 at 7.51.56 AM

ประเทศสิงคโปร์

BMI คาดการณ์การใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศสิงคโปร์ในปี 2012 คือ  6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ 944 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายด้านบริการไอที (IT Service) 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาครัฐบาลเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนทางด้านไอทีมากที่สุด โดยมีมูลค่างานทางด้่านไอทีสูงถึง 890 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะการลงทุนทางด้าน Public และ Private Cloud ของภาครัฐในหลายๆหน่้วยงานอาทิเช่น กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และสนามบินสิงคโปร์ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีการขยายตัวการลงทุนทางด้านซอฟต์แวร์ในกลุ่ม SME โดยเฉพาะโปรแกรมทางด้าน ERP และ CRM นอกจากนี้ทาง  BMI คาดการณ์ว่าตัวเลขประมาณการใช้จ่ายด้านไอทีของสิงคโปร์จะโตขึ้นเป็น 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016

ประเทศมาเลเซีย

BMI คาดการณ์การใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศมาเลเซียในปี 2012  คือ  5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยเป็นการใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ 873 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายด้านบริการไอที  1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยตัวเลขการใช้จ่ายไอทีปี 2012 เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเที่ยบกับปี  2011 ก็เนื่องมาจากการโตขึ้นของการใช้ Cloud Computing  ของหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะในกลุ่ม SME โดยมีผู้ให้บริการในประเทศหลายรายเช่น Maxis Cloud นอกจากนี้ทางรัฐบาลมาเลเซียยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ภายในประเทศเพื่อขึ้นอยู่บนระบบ Cloud Computing  ส่วนตัวเลขทางด้านฮาร์ดแวร์ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการเพิ่มการเข้าถึงของ Broadband ของรัฐบาลทำให้มียอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีมากขึ้น

 ประเทศอินโดนีเซีย

BMI คาดการณ์ว่ายอดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศอินโดนีเซียในปี  2012  จะเพิ่มขึ้นถึง 11% คือ  5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยเป็นการใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ 687 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายด้านบริการไอที  989 ล้านเหรียญสหรัฐ  จะเห็นได้ว่ายอดการใช้จ่ายด้านไอทีเกือบ  70% จะอยู่ทางด้านฮาร์ดแวร์ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ในประเทศอินโดนีเซียยังมีเพียง 20% จึงยังมีความต้องการทางด้านฮาร์ดแวร์อีกมาก โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มาจากประเทศจีน  Cloud Computing ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่บริษัทต่างๆให้ความสนใจตลาดในประเทศอินดีเซีย อาทิเช่นทางบริษัท  Microsoft  มีแผนงานที่จะลงทุนระบบ Cloud Computing ร่วมกับบริษัทด้านโทรคมนาคม Telekom เป็นจำนวนเงินถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ทางทาง  BMI คาดการณ์ว่าตัวเลขประมาณการใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์ของอินโดนีเซียจะโตขึ้นเป็น 11.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 เมื่อมีการเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น

 ประเทศฟิลิปปินส์

BMI คาดการณ์ว่ายอดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศฟิลิปปินส์ในปี  2012  จะเพิ่มขึ้นถึง 19% คือ  3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยเป็นการใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ 401 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายด้านบริการไอที  996 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเทคโนโลยีด้าน Cloud Computing เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีการลงทุนจากบริษัทต่างๆที่ให้ความสำคัญทางด้านนี้หลายรายอาทิเช่น บริษัท  Microsoft  ที่ร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมในประเทศอย่าง PLDT และบริษัท Datacraft ทั้งนี้ภาครัฐเองก็มีการลงทุนทางด้านไอทีค่อนข้างมากจากส่วนของศุกลากร สาธารณสุข คณะกรรมการการเลือกตั้ง และภาคการศึกษา นอกจากนี้ทาง  BMI คาดการณ์ว่าตัวเลขประมาณการใช้จ่ายด้านไอทีของฟิลิปปินส์จะโตขึ้นเป็น 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016

 ประเทศเวียดนาม

BMI คาดการณ์ว่ายอดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศเวียดนามในปี  2012  จะเพิ่มขึ้นถึง 15% คือ  2.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยเป็นการใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ 222 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายด้านบริการไอที  474 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ทางภาครัฐมีแผนนโยบายไอซีที ระหว่างปี  2010-2020 และทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนทางไอทีของภาครัฐสูงถึง  17 พันล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ปีข้างหน้าโดยเป็นทางด้านฮาร์ดแวร์สูงถึง  1.2  พันล้านเหรียญสหรัฐ  นอกจากนี้ทาง BMI ยังระบุว่าองค์กรต่างๆในประเทศเวียดนามมีความต้องการโซลูชั่นทางด้่าน ERP อยู่มาก และตลาดทางด้าน  Cloud Computing จะโดขึ้นถึง 300% ในห้าปีข้างหน้า  นอกจากนี้ทาง  BMI คาดการณ์ว่าตัวเลขประมาณการใช้จ่ายด้านไอทีของเวียดนามจะโตขึ้นเป็น 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016

 ประเทศไทย

BMI ระบุว่าตลาดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยมีมูลค่าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยคาดการณ์การใช้จ่ายด้านไอทีในปี 2012 ไว้ที่  6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ 893 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายด้านบริการไอที (IT Service) 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดฮาร์ดแวร์ในประเทศไทยโตขึ้นจากความต้องการใช้เทคโนโลยีโมบาย และนโยบายของภาครัฐบาลในการแจกเครื่องแทปเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา  นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่านโยบายทางด้าน Cloud Computing ของภาครัฐจะทำให้ตลาดทางด้านนี้โตขึ้นถึง 200-300% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ทาง  BMI คาดการณ์ว่าตัวเลขประมาณการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยจะโตขึ้นเป็น 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016

นอกจากนี้ผมยังค้นไปเจอข้อมูลของ IDC ที่เป็นภาพกราฟฟิกประมาณการ IT Spending ของ ASEAN  ในปี 2015 ดังรูปนี้

Image

ธนชาติ นุ่มนนท์

ผอ. IMC Institute