มอง 10 เทคโนโลยีเด่นปีหน้า และแนวทางที่องค์กรต่างๆต้องปรับตัว

Screenshot 2019-12-31 14.38.39

ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นองค์กรต่างๆให้ความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น มีการพูดถึง Digital Disruption และการทำ Digital Transformation ในแง่ของเทคโนโลยีถ้าดูผิวเผินก็อาจไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เทคโนโลยีหลักๆก็ยังพูดถึงเรื่องของ Cloud, Mobile, Big Data, AI หรือ IoT แต่จริงๆแล้วเราเริ่มให้การเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจากความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งในแง่ของคว่ามรวดเร็วในการประมวลผล ความปลอดภัยในการใช้งาน และความง่ายต่อการใช้งาน ทำให้มีมุมมองในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีปี 2020 ผมได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆและกล่าวบรรยายในงานสัมมนา Digital Trends 2020 ว่าเราจะเห็นเรื่องหลักๆอยู่ 10 ด้าน และสำหรับในปีหน้าองค์กรควรจะต้องตระหนักถึงเรื่องต่างเหล่านี้ และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ดังนี้

1. การเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีชุดใหม่ DARQ

โลกในปัจจุบันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงจากยุคดิจิทัล (Digital Era) ไปสู่ยุคหลังดิจิทัล (Post-Digital Era) โดยยุคดิจิทัลองค์กรที่จะแข่งขันได้ ต้องลงทุนเน้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เรียกว่า SMAC กล่าวคือ โซเชียล โมบาย อนาไลติกส์ และคลาวด์ เพื่อสร้างความแตกต่าง ขณะที่ยุคหลังดิจิทัลกลุ่มของเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และช่วยผลักดันให้องค์กรเกิดขีดความสามารถใหม่ๆ ในการแข่งขันจะกลายเป็นกลุ่มที่เรียกว่า DARQ ซึ่งย่อมาจากเทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้

  • Distributed ledger technology เทคโนโลยีบัญชีบันทึกข้อมูลอย่าง Blockchain ที่จะช่วยให้องค์กรหรือบุคคลต่างๆ ทำธุรกรรมและเชื่อมโยงกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง
  • Artificial Intelligence (AI) การนำปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาจากข้อมูลมหาศาลมาใช้ในกระบวนการทำงานต่างๆ
  • Extended Reality เทคโนโลยีจำลองภาพบรรยากาศจริง อย่าง Virtual Reality หรือ Augmented Reality
  • Quantum Computing ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ที่จะสามารถเพิ่มความเร็วในการประมวลผลได้มหาศาล

ดังนั้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าสถานการณ์จะไม่เป็นเช่นเดิม องค์กรจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีกลุ่ม DARQ ต้องตระหนักถึงความพร้อมขององค์กร ประเมินศักยภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่ิอรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว และวางแนวทางในการนำเทคโนโลยี DARQ มาใช้เพื่อปรับโฉมอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป

2. 5G Network

เทคโนโลยี 5G ไม่เพียงแต่จะทำให้ความเร็วของการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่ยังจะทำให้มีจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อได้มากขึ้นและจะช่วยลด Latency ในการส่งข้อมูล การเข้ามาของ 5G จะทำให้ธุรกิจต่างๆมีช่องทางการให้บริการที่แตกต่างจากเดิมได้มากขึ้น และจะเปิดโอกาสให้มีการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่นสมัย 4G เข้ามา ก็สามารถสร้างบริการใหม่ๆอย่าง Mobile banking, Mobile commerce หรือ Food delivery ได้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมด้านต่างๆจะเติบโตขึ้น แต่อาจไม่ใช่รูปแบบเดิมๆเช่น สื่อทีวีก็อาจกลายเป็น Streaming TV หรือ ค้าปลีกก็อาจเป็น M-Commerce

ในปัจจุบันมี Telecom Operator กว่า 102 รายทั่วโลกที่ให้บริการ 5G ใน 6,619 เมือง และต้นปีหน้าเราจะเห็นการประมูลสัมปทานคลื่นความถี่ 5G และอาจเรื่มมีการให้บริการ 5G ในบ้านเรา ดังนั้นองค์กรต่างๆควรจะต้องศึกษาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากความเร็วอินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้น หรือการที่จะมีอุปกรณ์อย่าง IoT  ที่มาเชื่อมต่อเครือข่าย 5G ได้มากขึ้น เพื่อหารูปแบบธุรกิจและบริการใหม่ๆเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไป

3. The Empowered Edge

Edge ในที่นี้หมายถึงเทคโนโลยีอย่าง IoT ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีอุปกรณ์แบบนี้จำนวนเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า การทำงานของ IoT Platform จะมีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 4 ส่วนคือ

  • IoT Devices: ตัวอุปกรณ์เชื่อมต่อ
  • Connectivity: ระบบสัญญาณการเชื่อมต่อเช่น WiFi, 5G
  • Data processing: ระบบการประมวลผลข้อมูล
  • User interface: ส่วนของการใช้งานของผู้ใช้ เช่น App ต่างๆ

ปัจจุบันการทำงานของ IoT จะต้องส่งข้อมูลไปประมวลผลบนระบบคลาวด์  ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องความล่าช้า ในการส่งข้อมูลและเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ที่บางครั้งเป็นการส่งข้อมูลส่วนตัวไปเก็บไว้บน Server ของผู้ให้บริการ IoT Platform

Empowered Edge ก็คือ การใช้เทคโนโลยีที่สามารถดึงข้อมูลเข้ามาเก็บไว้ภายในอุปกรณ์ และประมวลผลที่ปลายทางหรือที่อุปกรณ์์เลย เช่น ระบบลำโพงอัจฉริยะสามารถประมวลผลบางส่วนได้ที่ตัวอุปกรณ์ หรือการพัฒนาระบบอย่างเช่น หุ่นยนต์ หรือโดรน ให้มีทรัพยากรในการประมวลผลและเก็บข้อมูลได้มากขึ้นเพื่อที่จะได้เข้าสู่ Edge Computing

ดังนั้นองค์กรต่างๆควรจะต้องเริ่มวางแผนและศึกษาในเรื่องของอุปกรณ์ IoT ที่จะนำมาประยุกต์ใช้และพิจารณาเรื่องของ Edge Computing ซึ่งจะตรงใจกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่นระบบ Smart Home ที่เก็บข้อมูลและประมวลผลอยู่ภายในอุปกรณ์

4. Distributed Cloud

แนวโน้มของ Cloud Computing คือเน้นการใช้บริการใหม่ๆที่ทำให้องค์กรต่างๆสามารถสร้างสินค้า บริการ และนวัตกรรมได้รวดเร็วขึ้น ผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่ๆในยุคปัจจุบันกำลังแข่งขันกันพัฒนาบริการใหม่ๆอย่าง Serverless Computing, Kubernetes, AI / Machine Learning services หรือ
Big data services แต่การใช้บริการ Public cloud ยังมีปัญหาเรื่องของ Latency จากการส่งข้อมูลไปยัง Server ไกลๆ เช่น การส่งข้อมูล IoT เป็นต้น และบางครั้งติดที่กฎระเบียบที่ต้องการให้เก็บข้อมูลอยู่ในประเทศ

Distributed Cloud คือบริการของ Public cloud ที่จะเปลี่ยนระบบคลาวด์จากการรวมศูนย์ข้อมูลอยู่ที่เซิฟเวอร์ภายนอกแต่จะกระจายไปยัง Data Center หลายๆ แห่งเพื่อตอบโจทย์เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องการให้ข้อมูลและการประมวลผลอยู่ในบริเวณที่ต้องการ และจะช่วยทำให้องค์กรต่างๆสามารถพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลอาทิเช่น AI หรือ Big Data ได้รวดเร็วขึ้น

องค์กรต่างๆจะแข่งขันได้จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมอย่างเร็วผ่านบริการ Public Cloud แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงกฎระเบียบต่างๆ ดังนั้นควรจะต้องศึกษาและหาแนวทางพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ผ่าน Distributed Cloud

5. AI Products 

ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ AI ต่างๆที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวันและธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นอาทิเช่น Google Map, Home Assistant, Smart Home, Translator, Chatbot หรือ Product Recommendation ทำให้เริ่มเห็นว่าอุปกรณ์ AI กลายเป็นเรื่องปกติเสียแล้ว

นอกจากนี้อุปกรณ์เอไอก็เริ่มเปลี่ยนจากการทำงานแบบเดี่ยวๆ (Stand alone) มาเป็นการทำงานร่วมกันเช่น อุปกรณ์ Smart Home ก็สามารถสั่งงานผ่านอุปกรณ์ Home Assistant ได้ หรืออุปกรณ์หนึ่งสามารถควบคุมอีกอุปกรณ์หนึ่งได้ หรือเราอาจเคยเห็นตัวอย่างของ Drone Swarms ที่สั่งงานอุปกรณ์ Drone พร้อมกันนับเป็นพันตัว

องค์กรต่างๆจำเป็นจะต้องเร่งศึกษาและนำอุปกรณ์เอไอต่างๆเหล่านี้เข้ามาใช้ในการทำงาน และหาช่องทางในการใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการลูกค้า และสร้างศักยภาพในการแข่งขัน

Screenshot 2019-12-31 14.58.20

6. Hyperautomation

ข้อมูลจาก PwC ระบุว่าในปี 2030 ระบบงาน Automation ต่างๆรวมทั้งหุ่นยนต์และเอไอจะสร้างมูลค่า GDP ของโลกถึง 15 ล้านล้านเหรียญ และงานกว่า 44% ในปัจจุบันจะมีความเสี่ยงที่ถูกแทนที่ด้วยระบบ Automation

การทำ Hyperautomation จะเป็นการผสมผสานกันระหว่าง Machine Learning, Packaged Software และ Automation Tools เพื่อทำให้เกิดระบบงานอัตโนมัติ โดยในปีหน้าจะเห็นเรื่องสำคัญสองด้านคือ

  • การทำระบบอัตโนมัติของงานต่างๆจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • จะมีการทำ AI-based Process Automation โดยจะมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายทั้ง Robot Process Automation (RPA) และเครื่องมืออื่นๆ ผสมกัน

องค์กรต่างๆควรที่จะต้องเริ่มวางแผนการทำ Automation สำหรับงานต่างๆในองค์กรและมีการผสมผสานกับการประบุกต์ใช้ AI มากขึ้น

7. Multi-experience

Multi-experience เป็นหนึ่งในแนวโน้มเทคโนโลยี 2020 ของ Gartner ซึ่งระบุว่าในปัจจุบันเราสามารถใช้ระบบดิจิทัลด้วยอุปกรณ์ใดๆก็ได้ หรือโลกก็คือคอมพิวเตอร์ (The World is your computer) ดังนั้นการที่คนจะโต้ตอบ รับรู้ ควบคุมโลกดิจิทัลและแอปพลิเคชันต่างๆ จึงเปลี่ยนจาก Technology-literate People มาเป็น People-literate Technology กล่าวคือ กำลังเปลี่ยนจากการที่ผู้คนจะโต้ตอบคอมพิวเตอร์ที่จุดสัมผัสบริการจุดใดจุดหนึ่ง (Single Touchpoint) กลายเป็นว่าโลกก็คือคอมพิวเตอร์ที่ผู้คนจะมีจุดสัมผัสบริการที่หลากหลาย (Multi Touchpoint) ที่ระบบอินเตอร์เฟสอาจเป็นทั้งระบบเสียง, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) หรือมีรูปแบบใหม่ๆ

ตัวอย่างเช่น Domino Pizza ได้พัฒนา Customer Experience ที่ใช้แอปในการสั่งอาหาร การสั่งงานด้วยเสียงผ่านลำโพงอัจฉริยะ ระบบติดตามพิซซ่า ระบบ ChatBot รถยนต์ไร้คนขับหรือโดรนในการส่งพิซซ่า ดังนั้นองค์กรต่างๆจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบดิจิทัลให้กับผู้ใช้ในทุกๆช่องทางโดยการสร้าง Multi Touchpoint เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่จะใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่หลากหลาย

8. Democratization of Technology

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานในเรื่องยากๆได้จากระบบอัตโนมัติโดยแทบไม่ต้องเรียนรู้วิธีใช้งานหรือทฤษฎีมากนัก อาทิเช่น คนทั่วไปสามารถเป็นนักลงทุนได้โดยใช้โปรแกรมการลงทุนอัตโนมัติอย่าง RoboTrading  หรือ คนทั่วไปอาจใช้เครื่องมือที่มีระบบ AIในการวิเคราะห์หรือสร้างโมเดลข้อมูล (Data Model) โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมหรือมีทักษะทางด้าน Data Science ซึ่งเรียกว่า Citizen Data Scientist

หลักการของ Democratization of Technology จะช่วยทำให้เกิด Citizen Access คือใครๆก็สามารถจะใช้เทคโนโลยีได้ โดยแบ่งเป็น 4 ด้านคือ

  • การพัฒนาซอฟต์แวร์ได้โดยอัตโนมัติ
  • การวิเคราะห์ข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ
  • การออกแบบได้โดยอัตโนมัติ  
  • การเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยอัตโนมัติ  

ตัวอย่างของแอปพลิเคชั่นแบบ Democratization ตัวหนึ่งที่ผมใช้เมื่อต้นปีนี้คือ Google AutoML Table ที่ช่วยให้ผมสามารถทำ Data Science โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมแม้แต่บรรทัดเดียว ซึ่งเครื่องมือแบบนี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นองค์กรต่างๆอาจต้องศึกษาเรียนรู้การใช้โปรแกรมเหล่านี้ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในอนาคต

9. Human Augmentation

การเชื่อมต่อกับผู้ใช้ในโลกดิจิทัลกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เราเคยเน้นการใช้แค่ Mouse หรือ keyboard กำลังจะกลายเป็นการติตต่อจากร่างกายเราหรือแม้กระทั่งคลื่นสมองไปยังระบบดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Human Augmentation ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เริ่มเห็นอุปกรณ์อย่าง Augmented Reality ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเห็นระบบเสมือนจริงแล้ว

นอกจากนี้ก็เริ่มมีอุปกรณ์์ต่างที่มาเชื่อมโยงรับข้อมูลทางกายภาพ (Physical Experience) ของคนเช่น Wearable Device ที่มาวัดการออกกำลังกาย การพักผ่อนของผู้คน หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่เป็น Cognitive Augmentation ที่มาใช้วัดคลื่นสมองเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive)และความนึกคิดของผู้คน

ดังนั้นองค์กรต่างๆอาจต้องเริ่มใช้ประโยชน์จากทำ Human Augmentation  เพื่อเชื่อมโยงและทำความเข้าใจกับผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น

10. Transparency and Traceability

ในปัจจุบันหลายองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ AI และมีการใช้ข้อมูลทั้งขององค์กรและลูกค้ามาเพื่อพัฒนาระบบและวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ซึ่งการใช้ข้อมูลกำลังเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) และวิธีการที่องค์กรต่างๆ นำข้อมูลของลูกค้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้ทุกคนมีความกังวลต่อความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการถูกใช้ข้อมูลเหล่านี้ จึงต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นโดยต้องมีความโปร่งใสในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และต้องมีจริยธรรมดิจิทัล (Digital Ethics) ที่ดี นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อการพัฒนาระบบ AI ที่ต้องสามารถอธิบายได้ โดยจะต้องบอกได้ว่านำข้อมูลใดมาใช้ มีการพัฒนาและสอน AI อย่างไร ระบบ AI ที่ได้มาต้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้ว่ามีการใช้งานอย่างไร

สำหรับในบ้าน พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลใช้บังคับในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ดังนั้นองค์กรต่างๆควรจะต้องมีการเตรียมการในเรื่องนี้

สุดท้ายผมได้แนบ Slides การบรรยายมาไว้ในบทความนี้ ซึ่งจะมีทั้งบทสรุปสั้นๆในเรื่องเทคโนโลยีเด่นต่างๆ และวิดีโอประกอบที่น่าสนใจ

ธนชาติ นุ่มนนท์

สถาบันไอเอ็มซี