เทคโนโลยีเอไอและบิ๊กดาต้ากับวิกฤติไวรัสโคโรนา

83659568_1621204618026872_7301630267909734400_o

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ไวรัสโคโรนา( 2019-nCoV) ได้ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วขึ้นก็เพราะทุกวันนี้โลกเชื่อมต่อกันมากขึ้น คนเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับในปี 2003 ที่มีการระบาดของโรคซาร์สที่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะกระจายไปในหลายสิบประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ในปัจจุบันผู้คนก็ยังมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันอย่างแพร่หลายทำให้ได้ข้อมูลต่างๆมาอย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับในปี 2003 กว่าที่ทางองค์การอนามัยโลกจะทราบจำนวนผู้ติดเชื่อก็จะมีระยะเวลาในการส่งข้อมูลที่นานกว่านี้ และไม่มีข้อมูลที่สามารถเห็นการแพร่ระบาดได้เท่ากับในปัจจุบัน

ไวรัสโคโรนามีการระบาดอย่างหนักในประเทศจีน ซึ่งปกติจะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่มีการเก็บข้อมูลของประชากรอยู่จำนวนมาก และเป็นประเทศที่มีนักวิจัยและคนวงการไอทีที่มีดวามสามารถในด้านเอไออยู่มาก จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะทางด้าน บิ๊กดาต้า และเอไอมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้

ข้อมูลการเดินทางของประชาชนในประเทศจีนถูกเก็บไว้หมด จึงทำให้รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเดินทางไปไหนโดยเฉพาะเมืองที่เป็นแหล่งแพร่กระจายของโรค มีข่าวว่าประชาชนบางคนที่เดินทางไปยังอู่ฮั่น ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัสโคโรนาในช่วงแรกๆ แล้วกลับมายังถิ่นฐานเดิมของตัวเองจะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐมาหาถึงที่บ้านแล้วขอตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ทั้งๆที่หลายคนก็ไม่ได้แจ้งคนอื่นเลยเกี่ยวกับการเดินทางไปอู่ฮั่น แต่ทางรัฐบาลก็สามารถทราบได้จากข้อมูลบิ๊กดาต้า

how-to-track-the-coronavirus-dashboard-d-5e31b17040e6150001e37e08-1-jan-31-2020-13-40-40-poster

นอกจากนี้ในการระบาดของไวรัสครั้งนี้ บริษัทเทคโนโลยีในประเทศจีนหลายบริษัทก็ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาในการแสดงข้อมูลต่างๆให้กับประชาชน เช่น Wechat ได้จัดทำแผนที่การระบาดแบบเรียลไทม์ รวมถึงข้อมูลของโรงพยาบาลและคลีนิคสุขภาพให้กับประชาชน หรือบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่าง China Mobile และ China Unicom ก็ช่วยส่งข้อความมากกว่า 4 พันล้านข้อความให้กับประชาชนเพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลการแพร่ระบาดที่ถูกต้องและช่วยควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่หลายของข่าวลือ หรือข่าวลวงโดยเฉพาะจากสื่อสังคมออนไลน์ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจข้อมูลที่คาดเคลื่อนหรือตื่นตระหนกจนเกินเหตุ มีการเปิดบริการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้กับประชาชนที่มีเหตุฉุกเฉินหรือต้องการคำปรึกษาใช้ฟรี และมีหลายบริษัทที่ทำแอปพลิเคชั่นให้คนตรวจสอบได้ว่าเดินทางมาทางเที่ยวบินหรือรถไฟขบวนเดียวกับคนไข้ที่ติดไวรัสหรือไม่

บริษัทหลายแห่งในจีนมีการนำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส อาทิเช่น Baidu ได้พัฒนาระบบเอไอที่ตรวจสอบอุณหภูมิโดยใช้ระบบอินฟาเรดและระบบจดจำใบหน้าที่นำไปใช้บริเวณสถานีรถไฟเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิและจดจำใบหน้าของผู้โดยสารที่มีอุณหูมิสูงกว่า 37.3 องศา หรือบริษัท Megvii ที่เป็นบริษัท Start-up ที่มีความเชียวชาญด้านระบบจดจำใบหน้าก็ได้พัฒนาระบบเอไอที่จะคัดกรองผู้ที่มีอุณหภูมิสูงจากฝูงชนแม้คนนั้นจะสวมหน้ากากก็ตาม หรือที่เมืองกว่างโจวมีหุ่นยนต์ในห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่สามารถตรวจสอบคนที่ไม่สวมหน้ากากเดินผ่านไปมาได้

นอกจากนี้บริษัท Baidu และ Alibaba ยังได้พัฒนาระบบเอไอที่จัดเก็บข้อมูลของประชาชนที่มาโทรศัพท์มาติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆเกี่ยวไวรัสนี้เพื่อจะนำไปพัฒนาและปรับปรุงการเฝ้าระวังให้ดีขึ้น ที่สำคัญสุดคือระบบเอไอยังถูกนำไปใช้ในการแพทย์เพื่อช่วยวิเคราะห์ จีโนม (Genome) ของไวรัสโคโรนา เพื่อที่จะหาแนวทางในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส ซึ่งเทคโนโลยีก็จะทำให้สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งบริษัท Alibaba ได้ให้หน่วยงานวิจัยต่างๆสามารถใช้ระบบเอไอขนาดใหญ่ของบริษัทเพื่อการวิจัยวัคซีนและยาตัวใหม่นี้ได้

บริษัทเทคโนโลยีของจีนหลายบริษัทต่างบริจาคเงินมาช่วยสนับสนุนทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันการระบาด และการวิจัยเพื่อแก้วิกฤติไวรัสโคโรนา เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น Alibaba บริจาค 1 พันล้านหยวนและให้การสนับสนุนทั้งระบบออนไลน์หรือการช่วยด้านอาหารและการอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริษัท Tencent บริจาค 300 ล้านหยวนในการจัดตั้งกองทุนป้องกันและควบคุมโรคระบาด หรือบริษัท Baidu บริจาค 300 ล้านหยวนในการจัดตั้งกองทุนวิจัยด้านยา นอกจากนี้บริษัททางด้านโทรคมนาคมอย่าง China Mobile, China Telecom, China Unicom และ Huawei ต่างก็จัดหาอุปกรณ์ 5G มาให้กับโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นในเมืองฮูอั่น รวมถึง Lenovo ที่บริจาคอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับโรงพยาบาล

ความร่วมมือร่วมใจของบริษัทเทคโนโลยีในจีน นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือประชาชน และรัฐบาลจีนในการป้องกันการระบาดของไวรัสแล้ว ยังทำให้เห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในจีน โดยเฉพาะด้านเอไอ อาจมีส่วนที่ทำให้วิกฤติไวรัสครั้งนี้สามารถแก้ไขได้เร็วขึ้นก็เป็นได้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

สร้างภูมิคุ้มกัน สกัด Fake News

84015187_1620190491461618_2111547772598484992_o

สมัยผมเป็นเด็กยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตการรับข้อมูลข่าวสาร ยังมีช่องทางในวงจำกัด สื่อมีเพียงไม่กี่ประเภท เช่น หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ โดยไม่สามารถเลือกได้ตามชอบใจ แต่สิ่งสำคัญ คือ ข่าวต่างๆ จะถูกกลั่นกรองมาจากคนทำหน้าที่สื่อมวลชน มีจรรยาบรรณและมีความรับผิดชอบในวิชาชีพ บางครั้งเมื่อการลงข่าวผิดพลาดแม้แต่พิมพ์ชื่อคนผิดเราก็อาจเห็นการตีพิมพ์ข้อความขออภัย หรือหากเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรงก็อาจเห็นนักข่าวถูกปลดออกหรือถูกทำโทษ

ข้อมูลที่เผยแพร่ในวงจำกัด ต้องอ่านในหนังสือ ต้องเข้าห้องสมุดไปค้น และบางครั้งก็อาจไม่สามารถหาข้อมูลได้หากไม่มีหนังสือหรือเอกสารใดๆ ที่ตีพิมพ์ออกมา แม้ข้อมูลจะมีจำกัดแต่หนังสือเหล่านั้นส่วนใหญ่มีคุณภาพ มีกองบรรณาธิการทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูล มีสำนักพิมพ์รับผิดชอบในการตีพิมพ์ เราจึงมักได้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่

ต่างจากปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต เราบอกว่าถ้าไม่รู้อะไรก็แค่กดถามอากู๋ (Google) เพียงเท่านั้นข้อมูลข่าวสารก็จะหลั่งไหลเข้ามามหาศาล เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลล้นทะลัก มีให้เลือกอ่าน เลือกดู เลือกฟัง ได้มากมาย ใครๆ ก็สามารถสร้างข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตได้ ยุคแรกๆ ก็อาจเป็นแค่การสร้างเว็บไซต์ หรือเขียนบล็อกต่างๆ แต่ในปัจจุบันเป็นโลกของโซเชียลมีเดียยุคของ เฟซบุ๊ค, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และยูทูบ ใครๆ ต่างก็มีช่องทางสื่อสารของตัวเอง จนทุกคนสามารถที่จะเป็นผู้สื่อข่าวหรือนักเขียนเองได้

ถ้าคนทุกคนมีความคิดดี มีความเป็นนักวิชาการ มีความเป็นสื่อมวลชนที่ดี เนื้อหาและข่าวสารที่ถูกสร้างขึ้นย่อมมีความถูกต้องแม่นยำ และมีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว แต่ละวิชาชีพจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีจรรยาบรรณ และต้องมีความรับผิดชอบ การสื่อสารและสร้างข่าวผิดพลาด แม้แต่เนื้อหาวิชาการที่ผิดพลาด หากทำขึ้นมาโดยขาดความรู้ที่ถูกต้องก็จะทำให้สังคมเข้าใจผิด และสุดท้ายก็อาจเกิดความเสียหายในสังคม

image

ยิ่งการที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างข่าวลวง ซึ่งอาจเป็นเพราะความสนุก คึกคะนอง ความเกลียดชัง หรือหวังผลทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้น ทุกวันนี้เราเห็นข่าวสารต่างๆ ถูกแชร์ออกมามากมายผ่านทางโซเชียลมีเดียล บ้างก็เป็นภาพที่บรรจงแต่งขึ้นมา บ้างก็เป็นข้อความ และเนื้อหาแนะนำเรื่องราวต่างๆ มากมายไปจนถึงทางด้านการแพทย์ ซึ่งส่วนมากไม่มีการระบุแหล่งที่มา หรืออ้างแหล่งที่ผิดๆ จนหลายคนไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่

ยิ่งล่าสุดในสถานการณ์ของการระบาดไข้หวัดโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เราจะเห็นข้อความถูกแชร์มาสารพัด บ้างก็ให้ความรู้ที่ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ บ้างก็สร้างข่าวให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ บ้างก็เจตนาหวังผลทางการเมือง จนรัฐบาลในหลายๆ ประเทศเริ่มมีความกังวลต่อการสร้างข่าวลวงเหล่านี้

เราอยู่ในสังคมของการ Click, Like และ Share ผู้คนจำนวนมากเลือกคลิกข้อมูลต่างๆ ขึ้นมาอ่านอย่างผิวเผิน มีการกด Like ด้วยความชื่นชม และบางครั้งก็ส่งข้อมูลที่อ่านคร่าวๆ เหล่านั้นแชร์ให้กระจายออกไป ในโลกออนไลน์การสร้างเนื้อหาต่างๆ เป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ผู้คนที่จะใช้โลกออนไลน์ได้มีประโยชน์ต้องมีภูมิคุ้มกันในการรับข้อมูลข่าวสารที่ดี และเลือกรับให้เป็น ถ้าสังคมมีความอ่อนแอขาดภุมิคุ้มกัน การมีข้อมูลมหาศาลจะกลายเป็นผลร้ายต่อสังคม ผู้คนเลือกบริโภคข้อมูลผิดๆ เกิดความผิดพลาด บางครั้งอาจทำให้ความเข้าใจองค์ความรู้บางอย่างผิดเพี้ยนไป

ดังนั้นหนึ่งในทักษะเชิงดิจิทัลที่ผู้คนควรมี คือทักษะด้านความสามารถการค้นหาและใช้ข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การค้นข้อมูลจาก กูเกิล หรือ เสิร์ช เอ็นจิ้น ต่างๆ เท่านั้น แต่ควรจะรวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินจากข้อมูลที่มีคุณภาพในโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึงทักษะในการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ และเข้าใจถึงลิขสิทธิ์ของข้อมูลและการนำไปใช้

ยิ่งในโลกปัจจุบันที่มีข้อมูลอยู่มากมาย เราจะสอนผู้คนให้ทราบได้อย่างไรว่า ข้อมูลใดถูกต้อง ดังนั้นทักษะเหล่านี้จะต้องถูกปูพื้นฐานตั้งแต่เด็กให้เข้าใจในเชิงเปรียบเทียบ วิเคราะห์แหล่งที่มาของข้อมูล หาแหล่งข้อมูลอ้างอิง การเรียนการสอนตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาจึงจำเป็นต้องสอนให้เด็กสืบค้นข้อมูลออนไลน์อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่สอนแค่ให้ค้นได้แล้วเอามาตัดปะมาส่ง แต่จะต้องฝึกเด็กให้คิดเชิงวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลที่ถูกผิดได้ ซึ่งถ้าเราสามารถสอนคนให้รู้จักใช้ข้อมูลได้อย่างมีคุณภาพ ความกังวลเรื่องข่าวลวงต่างๆ ก็จะน้อยลงไป และสังคมออนไลน์ที่กด Click, Like และ Share ก็จะมีข้อมูลที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

(บทความนี้ปรับปรุงจากคอลัมน์ประจำทุกวันศุกร์ที่ผมเขียนในกรุงเทพธุรกิจhttps://tinyurl.com/bkk-biznews)