Chief Technology Officer (CTO) กับการสร้าง Thailand 4.0 และ Thai Start-up

Screenshot 2017-07-08 15.05.19

ช่วงนี้เวลาที่ผมไปบรรยายตามที่ต่างๆ ผมมักจะแสดง  Slide ตามรูปข้างล่างที่กล่าวว่า “In an era of the Internet of Things, companies that have the right IT architecture and infrastructure, and the right talent, capable of both handling fast-moving technologies and finding meaning in big data, will be able to leapfrog their competitors.” ใช่ครับในโลกของยุคปัจจุบัน ถ้าเราจะแข่งขันได้เราต้องมี โครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมไอทีที่ดี มีทีมที่มีความสามารถที่ไล่ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

screenshot-2017-02-19-17-10-56

บริษัทด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Oracle, Uber หรือ Alibaba จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในบริษัทเป็นพันๆคน และจำนวนมากมีตำแหน่งเป็น Chief Technology Officer (CTO) ที่มีความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีไอทีเป็นอย่างดี ทั้งด้าน Infrastructure, Architecture หรือ  core Technology อย่าง Cloud Computing, Big Data หรือ Web Programmming Framework แบบใหม่ๆ ผมจำได้ว่าเคยเจอบริษัทอย่าง  Lazada ที่จ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data Analytics นับสิบคน

บ้านเราฝันว่าจะเป็น Thailand 4.0 พยายามจะผลักดัน Start-up กัน และพยายามจินตนาการราวกับว่าคนไอทีไทยเก่งด้านเทคโนโลยีอย่างมากมาย ทั้งๆที่เราเองเล่นเทคโนโลยีแบบพื้นฐาน พัฒนาโปรแกรมเว็บอย่างง่ายๆ แม้เราอาจจะบอกว่าเรามีคนเก่งบ้าง แต่ก็น้อยมากๆอาจจะนับจำนวนได้ไม่กี่ร้อยคน ที่จะพอเข้าใจ Fast Moving Technologies เรามีคนอยู่แค่หยิบมีเดียวที่จะเข้าใจเรื่อง Microservices, Web Framework ใหม่, ภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ เรานับคนที่จะทำ  DevOp, Container, Machine Learning และยิ่งหาคนที่จะเข้าใจ Large/Enterprise IT Architecture ก็ยิ่งยากกว่าหาเข็มในมหาสมุทร ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าจะบอกว่า เราอาจหาคนทำโปรแกรมเล็กๆที่พอรันให้ผู้ใช้จำนวนมากได้ แต่พอจะต้องขยายเพิ่มจำนวนมหาศาล ต้องการทีมงานจำนวนมาก ต้องการ  IT Architecture ที่เหมาะสม เราก็อาจไปรอด และก็คงจะขยายไปเป็น Unicorn ไม่ง่าย เพราะในบ้านเราอย่าว่าแต่หา CTO เก่งๆเลย แม้แต่จะหา IT Programmer เก่งๆซักคนยังหายาก ดังนั้นที่ฝันก็คงไปได้ยากถ้าไม่เร่งสร้างคนในอีก  5-10 ปีข้างหน้า แล้วเราต้องการคนที่รู้เรื่องอะไรบ้างละครับ

ผมจะขอยกตัวอย่างอาชีพต่างๆที่ต้องเร่งสร้างดังนี้

IT Architect:  บ้านเราแทบจะมีบุคลากรนับคนได้ที่เห็นภาพโครงสร้างไอทีขนาดใหญ่ว่าระบบต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง จะทำให้ Scale  ได้อย่างไร คนที่เข้าใจระบบ  Cloud, Framework, Container, IT Security แต่ที่เรามีก็เพียง Programmer จำนวนหนึ่งที่เขียนโปรแกรมเว็บพื้นฐาน ถ้าเราไม่พัฒนาคนเหล่านี้ (ซึ่งก็พัฒนาค่อนข้างยาก) ผมเองก็ยังนึกไม่ออกว่า ระบบไอทีเราจะไปรอดได้อย่างไร นอกจากต้องซื้อโซลูชั่นและเซอร์วิสจากต่างประเทศ

Big Data: บุคลากรด้านนี้เรายังมีน้อยอยู่มาก จำนวนมากยังแทบไม่เข้าใจว่า Big Data  คืออะไร และยังเล่นกับ Structure Data  เพียงอย่างเดียว เราก็ยังเล่นกับโจทย์ BI และ Data Warehouse แบบเดิมเป็นส่วนใหญ่

Data Scientist: อนาคตของซอฟต์แวร์คือการทำ Amalytics และ Predictive เราต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่สามารถเขียนโปรแกรม เข้าใจเรื่อง Machine Learning และมีความรู้ในธุรกิจเฉพาะ แต่ทุกวันนี้แม้แต่โปรแกรมเมอร์ง่ายๆเรายังหายังหาแทบไม่ได้ แล้วตำำแหน่งนี้คงไม่ต้องพูดถึง

Developer ขั้นเทพ: โลกของการพัฒนาซอฟต์แวร์ปรับเปลี่ยนไปมาก ทั้งเรื่องของภาษา, Framework, Software Methodology และ Tools ใหม่ๆที่เข้ามา แต่ทีมงานเราจำนวนมากก็ยังพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบเดิมๆ การจะประยุกต์ใช้  Cloud PaaS หรือระบบใหม่ๆน้อยมาก

IT Security: เรายังหาคนที่รู้เรื่องระบบความปลอดภัยด้านไอทีเราน้อยมาก โปรแกรมเมอร์บ้านเราสนใจเรื่องความปลอดภัยไอทีน้อยมาก การพัฒนาโปรแกรมเราจำนวนมากละเลยเรื่องนี้ หลายโปรแกรมถ้ามีการใช้งานจริงจังก็คงมีช่องโหว่มหาศาล

IT Specialist: คนที่รู้เรื่อง Emerging Technology  อย่างจริงจังเช่น คนเข้าใจเรื่อง Cloud Computing, Internet of Things, Blockchain, DevOp หรือ Container

จริงๆมีอีกหลายด้านที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่แค่ตำแหน่งที่ยกมาก็แทบจะหาคนในตลาดได้น้อยมาก คนจบใหม่ก็ไม่ค่อยมี แต่เราก็ยังวนสอนกันแบบเดิมๆ และก็ฝันว่าอยากเป็นโน่นเป็นนี้ จะสร้าง  Thailand  4.0  จะสร้าง Start-up  เน้นคนมา Pitch ไอเดีย พัฒนาโซลูชั่นง่ายๆ ไม่มองเรื่องโครงสร้างขนาดใหญ่ เราเน้นการตลาดไม่ได้หวังเรื่องจะเกิดขึ้นจริงโดยไม่ดูความพร้อมของบุคลากรไอทีไทย ผมยังมองไม่ออกเลยว่าบริษัทเใหม่ๆหล่านี้จะโตขึ้นได้อย่างไร จะหาคนทำงานจำนวนมากได้อย่างไร จะหาใครมาเป็น CTO แต่ถ้าจะเน้นเอาแค่การตลาดลงข่าวผมว่าอันนี้เราไปได้ครับ ถึงเวลาหรือยังครับที่เราจะสร้างคนอย่างจริงจัง ลดการ PR ลง ปรับหลักสูตรในมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี หันมาสร้างคนอย่างจริงจังกันเถอะครับ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

นิยามคนไทย 4.0 คงไม่ใช่แค่คนเล่นเทคโนโลยี

screenshot-2017-02-13-17-22-36

ช่วงนี้ทุกภาคส่วนต่างพูดถึงคำว่า  Thailand 4.0  และก็อาจเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงว่าแล้วเราเป็น  Thailand 3.0 เมื่อไร แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็พยายามบอกว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาประเทศให้แข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวสู่เศรษฐกิจในยุคใหม่และอุตสาหกรรม4.0  ให้ได้ เราจำเป็นจะต้องสร้าง คนไทย  4.0 แต่ความหมายของคำว่าคนไทย 4.0 อาจยังเป็นที่สงสัยของคนหลายๆคนว่าคืออะไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทยว่า “ถ้าท่านมีโทรศัพท์ แต่ยังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐาน ท่านยังคงเป็น”คนไทย 1.0” ถ้าหากท่านใช้มือถือ ในการส่ง e-mail ส่งไฟล์เอกสาร หรือใช้ประโยชน์ในการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน ท่านน่าจะยกระดับตนเองเป็น “คนไทย 2.0” ได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากท่านสามารถใช้ “สมาร์ทโฟน” ได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อ “อินเตอร์เน็ต” ในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ท่านอาจได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 3.0” ยิ่งกว่านั้น  หากท่านสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วท่านรู้สึกว่า “ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น” เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้ท่านได้ชื่อว่าเป็น คนไทย 4.0”

ผมก็เองก็เห็นด้วยกับรัฐบาลในเรื่องนี้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่มี “พลวัต” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และคนไทยเองจำเป็นต้องปรับตัวเองอย่างมากเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และคำว่าคนไทย 4.0 มีความสำคัญอย่างยิ่งแต่ไม่ใช้เพียงแค่เป็นคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น แต่คิดว่าน่าจะมีความหมายมากกว่านั้น ข้อสำคัญคนไทย 4.0 จะต้องมี Digital Mindset  และ Digital Culture  ประกอบกับต้องเป็นคนที่มีจิตสาธารณะเพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่ เศรษฐกิจยุคแห่งการแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งถ้าให้ผมนิยามคำว่า คนไทย 4.0 ในความเห็นส่วนตัวก็น่าจะเป็นดังนี้

 

screenshot-2017-02-13-17-25-09

รูปที่ 1  Digital Skill  ที่จำเป็นสำหรับคนในยุคปัจจุบัน 

  1. เป็นคนที่มีทักษะเชิงดิจิทัล ที่มีทักษะหกด้านที่จำเป็นต้องมีคือ Tools & Technologies, Find & Use, Teach & Learn, Communication & Collaborate, Create & Innovate และ Identity & Wellbeing  ดังที่ผมเคยเขียนในบทความเรื่อง “Digital Skill ที่คนไทยควรมีถ้าจะต้องก้าวไปสู่ Thailand 4.0” ตามรูปที่  1
  2. เป็นคนที่เข้าใจการโลกยุคโลกาภิวัฒน์  เข้าใจเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และโลกยุคไร้พรมแดนที่มีความเป็นสากล สามารถทำงานกับผู้ร่วมมือที่อาจอยู่ที่ใดๆในโลกนี้ แบบทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ได้
  3. เป็นคนที่เข้าใจบริบทของสังคมไทย เข้าใจในประเพณีและวัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์ไทย เข้าใจสังคมในชนบท และช่องว่างของสังคมไทยได้
  4. เป็นคนที่มี จิตสาธารณะเกื้อกูล แบ่งปัน มีจริยธรรม คุณธรรมและ รับผิดชอบต่อส่วนรวม พร้อมที่จะก้าวสู่การทำงานในยุค Sharing Economy ไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อเอาเปรียบสังคม สร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง โดยละเลยช่องว่างทางสังคมไทย 

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

 

Big Data School: การอบรม On the Job Training สำหรับนักศึกษารุ่นที่สอง

 

ปีที่ผ่านมาทาง  IMC Institute  ได้เปิดอบรมหลักสูตรทางด้าน Emerging Technology ต่างๆเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด้าน Big Data  ได้เปิดหลักสูตรต่างๆทั้งทางด้าน Hadoop, Apache Spark, Business Intellegence, Data Science, Data Visualisation, R Programming และ Machine Learning โดยอบรมคนไปร่วม 1,600  คน นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการต่างๆทั้ง การจัดฟรีสัมมนา Big Data User Group การจัดงาน Big Data Challenge ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และการจัดอบรม Train the trainer : Big Data Analytics & Machine Learning ให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆจำนวน  30 คนในช่วงเดือนกรกฎาคม

โครงการหนึ่งที่จัดให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยคือ Big Data School  โดยทาง IMC Institute จัดร่วมกับ ICE Solution และได้รับนักศึกษา 15 คนมาฝึกงานสองเดือนแบบ On the job training ในช่วงปิดเทอมในช่วงเดือน มิถุนายน จนถึง กรกฎาคม ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มีนักศึกษามาร่วมโครงการจากหลากหลายสถาบันทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลาดกระบัง พระนครเหนือ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ ธุรกิจบัณฑิต หรือมาไกลๆจาก มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี หรือนักศึกษาไทยในต่างประเทศอย่าง Wesleyan University

จริงๆโครงการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรุ่นน้องคนหนึ่งที่เอารายการทีวีรื่อง “โรงเรียนฝึกคนหัวใจเพชร” ให้ดู ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกเด็กช่างไม้ในญี่ปุ่น สอนเด็กให้แกร่ง อดทน มีวินัยและใช้สมอง เห็นความยากลำบากในการเรียนกว่าจะออกมาเป็นช่างไม้ที่เก่งและมีคุณภาพ น้องเลยถามผมว่าเราทำโรงเรียนพัฒนาโปรแกรมเมอร์อย่างนี้ในเมืองไทยไหม  ผมก็เลยเริ่มคิดถึงการฝึกคน ผมอาจจะยังไม่สามารถทำโรงเรียนฝึกโปรแกรมเมอร์หัวใจเพชรได้ทันที แต่ก็นึกขึ้นมาว่าวันนี้อุตสาหกรรมไอทีในบ้านเราหาโปรแกรมเมอร์เก่งๆได้ยากโดยเฉพาะคนที่ซื่อสัตย์และตั้งใจทำงานให้กับหน่วยงาน ไม่ใช่แค่คิดหวังจะร่ำรวย นอกเหนือจากมีความรู้ ก็ต้องอดทนและมีจริยธรรมที่ดี เรามาฝึกงานเขาไหม? อาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ 2-3 เดือน พอฝึกงานเสร็จมาเขาจะกลับไปเรียนต่อหรือไปทำงานที่ไหนก็ตามอย่างน้อยเราก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง พอคิดได้อย่างนี้ก็เริ่มคุยกับเพื่อนและอาจารย์บางคนแล้วบอกว่า กลางเดือนปีที่ผ่านมาผมก็เริ่มทำ Big Data Intern School ฝึกงานนักศึกษา 15 คนให้ทำ Big Data แล้วก็กำหนดเป้าหมายสิ่งที่จะฝึกเขาดังนี้

  • ให้เรียนรู้หลักการของ Big Data และเทคโนโลยีต่างๆ
  • สามารถติดตั้งระบบ Big Data ได้ไม่ว่าจะเป็น Apache Hadoop, Cloudera, Hortonworks, Amazon EMR และ Microsoft Azure HDInsight
  • ให้ใช้ระบบ Cloud Computing อย่าง Amazon AWS และ Microsoft Azure ใที่ทางสถาบันจัดให้
  • สามารถติดตั้งระบบ NoSQL ต่างๆอย่าง Cassandra, NoSQL, MongoDB
  • เรียนรู้การประมวลข้อมูลขนาดใหญ่โดยใช้ Hive, Impala, Spark
  • สามารถที่จะดึงข้อมูลเข้าโดยใช้เทคโนโลยีอย่าง Sqoop, Flume, Kafka
  • เรียนรู้การทำ  Machine Learning โดยใช้ภาษา R, Spark MLLib หรือเครื่องมืออย่าง Azure Machine Learning
  • ทำโปรเจ็คด้าน Big Data กับบริษัท

13895023_683716961775647_7601004528023796116_n

ผมเองก็ได้อาจารย์ประจำสถาบันไอเอ็มซีหลายท่านเข้ามาช่วยอบรมนักศึกษาทั้ง 15 คน อาทิเช่น อ.โกเมษ จันทวิมล,อ.ธีรชัย หลาวทอง, อ.ชินวิทย์ ชลิดาพงศ์, อ. อารยา ฟลอเรนซ์และตัวผมเอง เข้ามาสอน  รวมถึงคุณดนุพล สยามวาลา และก็มีรุ่นพี่จาก Ice Solution สองคนเข้าช่วยเป็นพี่เลี่ยงตลอดทั้งสองเดือน นักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้จากที่ทางอาจารย์สอนและฝึกหัดทำเรื่องต่างๆด้วยตัวเอง โดยการฝึกงานในช่วงต้นจะฝึกเน้นให้นักศึกษามีความเข้าใจเรื่องของ Big Data Technology  ต่างๆ และ Big Data Architecure จากนั้นก็จะเป็นการเน้นการใช้เทคโนโลยี Hadoop โดยให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มกันติดตั้ง Hadoop Distribution ต่างๆทั้ง Cloudera, Hortoworks, MapR และ Pure Apache Hadoop แล้วทำการเปรียบเทียบกัน ซึ่งนักศึกษาก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี โดยได้ลงมือติดตั้งบน Server cluster บน Cloud สุดท้ายก็ให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำ  Big Data Analytics และ Machine Learning Techniques  โดยใช้เครื่องมือต่างๆอย่าง  Apache Spark, Spark MLlib และ Azure Machine Learning

ตลอดเวลาสองเดือนนักศึกษาได้ฝึกทักษะด้าน Big Data เป็นอย่างดี ซึ่งนักศึกษาที่มาฝึกงานมีทั้งปี 2 ปี 3 รวมถึงนักศึกษาปีที่ 4  จบแล้ว 3-4 คนซึ่งยอมมาฝึกงานก่อนออกไปทำงาน ผลของการฝึกงานก็ทำให้นักศึกษาเหล่านี้สามารถลงมือทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่โดยใช้ Hadoop และเทคโนโลยีต่างๆได้ และทุกคนก็ได้ใช้ผลของการฝึกงานเข้าไปทำงานในบริษัทต่างๆได้ นักศึกษาที่ฝึกงานในโครงการนี้ก็ยังสามารถแสดงความสามารถไปชนะการประกวดด้าน Big Data Analytics ต่างๆ ทั้งงาน Big Data Challenge ของ IMC Institute เองที่ต้องแข่งกับผู้ใหญ่และนักพัฒนาที่ทำงานแล้ว และก็ไปได้รางวัลการประกวด  Data Science Contest ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งผลของการฝึกงานทางสถาบันไอเอ็มซีก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่เราได้ทำเพื่อพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

สำหรับในปีนี้ทางสถาบันไอเอ็มซีตั้งใจจะรับนักศึกษามาฝึกงานในโครงการ Big Data School รุ่นที่สอง โดยในปีนี้เน้นจะรับนักศึกษาปีที่ 4 ที่จบการศึกษาแล้วแต่ต้องการฝึกงานเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมอีกสองเดือนก่อนเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม โดยทางสถาบันเองจะร่วมมือกับบริษัท  NetBay  และบริษัทสยามวาลา เพื่อร่วมกันพัฒนา Big Data Platform และให้นักศึกษาได้ทดลองฝึกงานกับโจทย์จริงในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนเพื่อที่จะสอบประกาศนียบัตรระดับสากลอย่าง CCA Spark and Hadoop Developer Exam (CCA175)  โดยทางสถาบันจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งให้กับนักศึกษาที่คาดว่าน่าจะสอบผ่าน

สำหรับกำหนดการ การฝึกงานในปีนี้จะมีโปรแกรมคร่าวๆดังนี้

29 พฤษภาคม วันแรกแรกการฝึกงาน จัดปฐมเทศ อบรมระเบียบวินัย ศึกษาแนวโน้มของเทคโนโลยี

30พฤษภาคม – 3 มิถุนายน เรียนรู้ระบบ Public Cloud ของค่ายต่างอาทิเช่น Google Cloud, Amazon Web Services, Microsoft Azure การใช้บริการต่างๆ อาทิเช่น Virtual Server, Cloud Storage, Auto-Scaling Servers, Application Development Servers รวมถึงศึกษาเรื่อง Docker

5 – 10 มิถุนายน เรียนรู้หลักการของ Big Data Architecture  การติดตั้ง Apache Hadoop การติดตั้ง Hadoop Cluster และการติดตั้ง Cloudera/Hortonworks Cluster รียนรู้ NoSQL และติดตั้งระบบต่างๆทั้ง Cassandra, MongoDB และ HBase ร่วมถึงระบบอย่าง ElasticSearch และ Solr

12-17 มิถุนายน  เรียนรู้บริการต่างๆของ Hadoop ต่อ การใช้บริการต่างๆทั้ง  Hive, Impala, Flume, Sqoop, Kafka, Cloudera Manager, Amabari และให้เขียนข้อสรุปเปรียบเทียบ Big Data ต่างๆ

19-24 มิถุนายน เรียนรู้ Apache Spark และการทำ Big Data Analytics โดยใช้ Spark Python, Spark Scala, Spark SQL และ Spark Streaming

26 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม  เรียนรู้ Machine Learning การใช้เครื่องมือและภาษาต่างๆอาทิเช่น , MLLib และ Azure Machine Learning และติวการสอบ CCA Spark and Hadoop Developer Exam

3-27 กรกฎาคม ทำ Mini-Project

28 กรกฎาคม นำเสนอ Mini-Project และปิดการฝึกงาน

ทั้งนี้การอบรมเชิงฝึกงานครั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งทางสถาบันคาดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะเป็นผู้ที่เข้าใจหลักการและเทคโนโลยีด้าน Big Data  พร้อมทั้งสามารถทำด้าน Data Science ได้ โดยทางสถาบันจะมีการสอบและวัดผลสัมฤทธิ์ของการฝึกงาน และทางสถาบันจะออกใบรับรองว่าผ่านการฝึกงาน และผู้ที่ผ่านหากต้องการไปฝึกงานหรือทำสหกิจศึกษา การทำโครงการเพิ่มเติมระหว่างเรียน ทางสถาบันจะติดต่อและให้การรับรองให้ พร้อมกันนี้นักศึกษาที่ทำคะแนนสอบจากการทดลองสอบ CCA Spark and Hadoop Developer Exam สูงสุดสามอันดับแรกทางสถาบันจะออกค่าใช้จ่ายการสอบจริงให้มูลค่ารายละ $295 เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร ทั้งนี้ผู้เข้าอบรมไม่มีอะไรต้องผูกมัดกับทางสถาบัน และทางสถาบันยินดีประสานติดต่อกับบริษัทอื่นๆเพื่อไปทำงานด้าน Big Data ต่อไป

สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับการอบรมนี้มีดังนี้

  • กำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยากรคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ [ถ้าเป็นนักศึกษาปี  4 ที่กำลังจบการศึกษาจะได้รับการพิจารณาก่อน]
  • มีความตั้งใจจะเข้าฝึกงานจริงจัง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาหรือไม่ก็ได้
  • สามารถเข้าฝึกงานได้ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา เวลา 8.30 – 17.30 น.
  • ต้องเข้ามาฝึกงานทุกวันตามข้อตกลงและต้องมีเวลาเข้าฝึกงานไม่น้อยกว่า 95%

ผู้ที่มีความสนใจการอบรมนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.imcinstitute.com/bigdataschool พร้อมทั้งส่งใบสมัครออนไลย์และติดต่อที่สถาบันไอเอ็มซี ก่อนวันที่  31 มีนาคม 2560

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

กุมภาพันธ์ 2560