กลยุทธ์ห้าด้านสำหรับการทำ Digital Transformation

 

หลายๆภาคส่วนเริ่มพูดกันถึงเรื่องของ Digital Transformation กันเยอะมาก บางครั้งก็เอาเทคโนโลยีเป็นตัวนำโดยเฉพาะเรื่อง Emerging Digital Technologies อย่าง Internet of things, AI (Artificial Intelligence), Big Data, Social Media หรือ Cloud Computing และพยายามที่จะให้ทีมงานด้านไอที หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเป็นคนขับเคลื่อนเรื่องนี้

แต่โดยแท้จริงแล้ว “Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่มันเป็นเรื่องของกลยุทธ์ ภาวะการเป็นผู้นำ และแนวทางในการคิดสิ่งใหม่ๆ” ผมเองได้อ่านหนังสือเรื่อง The Digital Transformation Playbook: Rethink Your Business for the Digital Age ของ Divid L. Rogers และได้ดู YouTube ที่ผู้เขียนบรรยายในหัวข้อ Digital Transformation: Driving Change in Your Organization  เขาได้นำเสนอโดเมน 5 ด้านที่เป็นหลักสำคัญของ Digital Transformation คือ Customers, Competition, Data, Innovation และ Value ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆดังนี้

  • ลูกค้า (Customer) กำลังกลายเป็นเครือข่ายแบบพลวัต (Dynamic network) มีการสื่อสารแบบสองทาง ซึ่งมีพลังในการชักจูงและตัดสินใจกันเองมากกว่าการตลาดวิธีการเดิมๆ
  • การแข่งขัน (Competition) ที่คู่แข่งอาจมาจากต่างอุตสาหกรรม และเส้นแบ่งระหว่างความเป็นคู่แข่งกับคู่ค้าเริ่มไม่ชัดเจน จึงต้องสร้างความร่วมมือกับคู่แข่งมากขึ้น
  • ข้อมูล (Data) จะถูกสร้างสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์กร จึงจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลให้เกิดคุณค่า
  • นวัตกรรม (Innovation) เป็นความท้าทายที่องค์กรต้องมี และต้องเรียนรู้ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำ
  • คุณค่า (Value) ที่ส่งมอบให้ลูกค้าจะถูกกำหนดด้วยความต้องการของลูกค้ามากกว่ากำหนดโดยกลไกของอุตสาหกรรมในอดีต จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาสินค้าและบริการอยู่ตลอดเวลา

Screenshot 2018-01-31 11.13.47

ซึ่งในหนังสือผู้เขียนได้พูดถึงกลยุทธ์จะทำ Digital Transformation จาก 5 ด้านนี้คือ

  • Customer:  ใช้พลังจากเครือข่ายลูกค้า
  • Competition: สร้าง Platform ไม่ใช่สร้าง Product
  • Data: เปลี่ยนข้อมูลเป็นทรัพย์สิน
  • Innovation: สร้างนวัตกรรมด้วยการทดลองอย่างรวดเร็ว
  • Value: ปรับเปลี่ยนคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า

ผู้สนใจสามารถเข้าไปดู YouTube ตามที่ผมแนะนำหรืออาจหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม ซึ่งในหนังสือก็จะมีเครื่องมือต่างๆที่ช่วยทำให้เราพัฒนากลยุทธ์ใน 5 ด้านนี้ได้ดีขึ้น

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มกราคม 2561

 

Mini Project ในหลักสูตร Big data certification

Screenshot 2018-04-02 08.54.14

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มกราคม ทาง IMC Institute ได้จัดให้ผู้เรียนหลักสูตร Big Data Certification รุ่นที่ 6 ที่เรียนกันมาสี่เดือนตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว รวม 120 ชั่วโมง ได้มานำเสนอ Mini-project ของตัวเองโดยมีผู้นำเสนอสามกลุ่มคือ

  • กลุ่ม Anime Recommendation ที่มีการนำข้อมูลการดูการ์ตูนจำนวน 7.8 ล้านเรคอร์ดจากหนังการ์ตูน 12,294 เรื่องจาก Kaggle มาทำ Recommendation โดยใช้ ALS algorithm, ทำ Clustering โดยใช้ K-Means algorithm และมีการวิเคราะห์จำนวนการดูหนังแบบ Real-time โดยใช่ KafKa และ Spark streaming (Slide การนำเสนอสามารถดูได้ที่ >> Anime slide)
  • กลุ่ม Telecom churn analysis ที่มีการวิเคราะห์การย้ายค่ายโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดูลักษณะของการย้ายค่าย ทำ Visualisation แสดงผลการวิเคราะห์ต่างๆและมีการทำ  Predictive analytic โดยใช้ Decision Tree Algorithm (Slide การนำเสนอสามารถดูได้ที่ >> Telecom churn slide)
  • กลุ่ม Crime Analysis เป็นการนำข้อมูลอาชญากรรมในเมือง Chicago จำนวน 6 ล้านเรคอร์ด มาทำ Classification โดยใช้ Decision Tree Algorithm เพื่อจะวิเคราะห์ว่าอาชญกรรมกรณีไหน ในสถานการณ์และวันอย่างไร ที่มีโอกาสที่จะจับผู้ร้ายได้สูง   (Slide การนำเสนอสามารถดูได้ที่ >> Crime analysis slide)

Screenshot 2018-01-21 13.22.52

ผมพบกว่านำเสนอของทั้งสามกลุ่ม เข้าใจหลักการของการทำ Big data ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ การทำความเข้าใจปัญหา การเตรียมข้อมูล การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ และรวมถึงการใช้ Algorithm ในการวิเคราะห์ แต่ผัญหาที่เรามักจะเห็นมนบ้านเรากลับเป็นเรื่องของข้อมูลที่ยังมีไม่มากทำให้ขาดโอกาสที่จะใช้ความรู้ในการวิเคราะห์ข้อมูลของบ้านเรามากกว่า ซึ่งหากมีข้อมูลคนที่ผ่านหลักสูตร Big data certification เหล่านี้จำนวน 6 รุ่นแล้ว ก็น่าจะเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในบ้านเราได้ในอนาคต

สำหรับ IMC Institute เราก็จะจัดงานเพื่อให้ผู้ทีผ่านการอบรมหรือบุคคลทั่วไปได้ลองมาแข่งกันทำ Mini project ในลักษณะนี้ ในโครงการที่ชื่อว่า Big data hackathon โดยตั้งใจจะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการสามารถดูรายละเอียดการสมัครได้ที่ www.imcinstitute.com/hackathon ภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มกราคม 2561

ความยากของ Digital Transformation อยู่ที่การทำ Culture disruption

Screenshot 2019-09-29 14.55.10

เมื่อวานนี้ผมเดินไปที่ Supermarket แห่งหนึ่ง เห็นธนาคารหนึ่งพยายามเอาเครื่อง self checkout มาให้คนจ่ายเงินเองผ่านระบบ QR code หรือบัตรเครดิต แต่ผู้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะใช้แม้จะมีส่วนลดก็ตาม วันเดียวกันเพื่อนไปเดินตลาดก็มาบอกว่าเห็นการใช้ QR payment น้อยมาก เหมือนที่ผมบอกว่าแทบไม่เห็นการใช้งานในโรงอาหารศูนย์ราชการ

เรากำลังนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ด้วยความคิดว่าจะมาทำ Business disruption แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการทำ Culture disruption นักเทคโนโลยีจะเก่งแค่ไหนก็ตามแต่ถ้าขาดความเข้าใจวัฒนธรรมและสังคม แทบไม่เคยออกต่างจังหวัดไม่เข้าใจสภาพสังคมที่แท้จริงก็ยากที่จะมาทำ Digital Transformation โดยเพียงแค่คิดว่าเทคโนโลยีจะมาสร้างระบบออโตเมชั่นเข้ามาทำงานแทนคน

ประเทศเรามีบัตรประชาชนแบบ smartcard มาสิบกว่าปี แต่ทุกวันนี้เรายังต้องสำเนาบัตร ข้อมูลดิจิทัลที่จะอยู่ในบัตรมีน้อยมาก การจะขอใช้ก็ยากต้องทำความร่วมมือกับกรมการปกครอง แม้เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหาแต่สิ่งสำคัญคืออำนาจ เพราะการปล่อยให้ใครก็ตามมาทำธุรกรรมโดยผ่านบัตรได้ง่าย หน่วยงานเดิมจะสูญเสียอำนาจ การมีอำนาจการลงนามในหนังสือคือวัฒนธรรมในสังคมไทย

แม้ระบบเอกสารดิจิทัลจะมีมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้เรายังเน้นการใช้กระดาษการส่งเอกสาร เพราะมันเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆที่เราต้องการลงนามในเอกสาร วัฒนธรรมที่เห็นเอกสารมีความสำคัญต้องจับต้องได้ ดังนั้นการลดใช้เอกสาร การให้ใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์จึงเกิดขึ้นยากเพราะเป็นวัฒนธรรมของการทำงานของผู้ใหญ่ที่ต้องการมีอำนาจ

digital-strategy-part-2

เราคุยกันเรื่อง Big Data และ Artificial Intelligence แต่เราแทบจะไม่เห็นข้อมูลที่เป็น Transactional ที่ถูกแชร์ออกไป หรือให้หน่วยงานอื่นๆใช้ เราจะเห็นว่าคนไทยจะบอกว่าข้อมูลเป็นความลับ เพราะวัฒนธรรมของเราคือการหวงข้อมูล เราคิดว่าการเก็บข้อมูลไว้กับตัวมากที่สุดคือการสร้างความสำคัญกับตัวเองและข้อมูลคืออำนาจ

การทำงานแบบ Collobaration มีมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นหน่วยงานต่างๆนั่งประชุมกัน เน้นการประชุมแบบเห็นหน้า ไม่มีการทำ conference call การทำเอกสารก็แบบส่งไปส่งมา ไม่มีการใช้ collaboration tool ใดๆ ยังเรียกคนมาประชุมมาในที่ต่างๆ และมีการเดินทางอย่างไร้ประสิทธิภาพ เพราะการประชุมคือวัฒนธรรมของบ้านเรา เราคิดว่าการนั่งประชุมร่วมกันและการส่งเอกสารคือการทำงาน

แม้เราจะมี Digital payment หรือ Mobile Banking มากมาย แต่ผู้จำนวนมากก็ยังยินดีที่ใช้เงินสดยังอยากไปที่สาขา เพราะการถือเงินสดจำนวนมากคือวัฒนธรรมในการแสดงฐานะและหน้าตาของสังคมไทย การได้ทำธุรกรรมต่อหน้าต่อตาคือความเชื่อถือในสังคมไทยมากกว่าการทำ ออนไลน์

เราอยากที่จะนำดิจิทัลเข้าใช้ในองค์กร แต่การจะนำมาใช้ได้นั้นเราจะต้องมีวัฒนาธรรมดิจิทัล  (Digital culture) ที่ต้องเน้นเรื่อง ความโปร่งใส, การทำงานร่วมกัน, การใช้ข้อมูล, ความคล่องตัว สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจขัดกับวัฒนธรรมของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสที่เรายังไม่อยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลกันมากนัก

นี่ยังไม่พูดถึงเรื่อง Digital literacy ที่คนบ้านเรายังต้องฝึกอีกมากมาย ยังไม่กล่าวถึงช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างคนในเมืองกับคนชนบท ผมยังมองไม่ออกว่า เราจะก้าวสู่ Digital Economy ได้โดยเร็วได้อย่างไร ยากสุดคือการทำ Culture disruption และหน่วยงานที่มีปัญหาาในเรื่องวัฒนธรรมมากที่สุดที่เป็นอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงก็คือภาคราชการนั้นเอง

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มกราคม 2561

ดูบทความเพิ่มเติม

  1. องค์กรต้องมี Digital Culture ก่อนเราถึงจะเป็น Thailand 4.0 ได้สำเร็จ
  2. Digital Skill ที่คนไทยควรมีถ้าจะต้องก้าวไปสู่ Thailand 4.0

การพัฒนา Digital strategy เพื่อการทำ Digital Transformation ขององค์กร

 

ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาเปลี่ยนแปลงธุรกิจต่างๆทั้งด้านการค้าปลีก ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ด้านการเงินการธนาคาร และอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วก็เริ่มพูดถึงการทำ Digital Transformation ในองค์กร ผมเองมีโอกาสได้ดู Webinar ของ MIT ซีรีย์ Innovation@work ในหัวข้อ Digital disruption: transforming your company for the digital economy ได้พูดเรื่องนี้ไว้น่าสนใจดังนี้

เทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังทำให้เกิด Business disruption ที่สำคัญคือ SMACIT ซึ่งได้แก่ Social, Mobile, Analytics, Cloud และ Internet of Things ซึ่งฝ่ายไอทีหลายๆองค์กรต่างก็ไปทำกลยุทธ์ไอทีในเรื่องเหล่านี้เช่นการทำ Social media strategy, Mobile strategy, Big data & analytics strategy, Cloud strategy หรือ BYOD strategy ดังแสดงในรูปที่ 1

Screenshot 2018-01-19 11.41.42

รูปที่ 1 กลยุทธไอทีขององค์กร

แต่สิ่งสำคัญที่ธุรกิจควรเข้าใจคือความหมายของ Digital disruption ที่มันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในธุรกิจที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ หรือสามารถมีช่องทางในการตลาดได้ดีกว่าเดิม ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องมี Digital strategy มากกว่าการพัฒนา IT strategy และต้องเห็นว่าแผนกไอทีคือแกนหลักของธุรกิจไม่ใช่แผนกสนับสนุนอีกต่อไป

Digital strategy คือการทำ Business strategy ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล SMACIT เข้ามาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด ผลิตภัณฑ์ และบริการ โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญอยู่สองด้านคือ การเข้าถึงลูกค้า (customer engagement) และการทำ Digitized solutions

Digital strategy จะมุ่งเป้าไปที่กลยุทธ์ด้านใดด้านหนึ่งในสองด้านนี้ ถ้าต้องการจะเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงช่องทางการตลาดก็จะเป็นการมุ่งเป้าไปที่การทำกลยุทธ์  Customer engagement โดยยกตัวอย่างของห้างสรรพสินค้าอย่าง Nordstrom ที่ปรับช่องทางตลาดจากห้าง ไปสู่ Online channel, Multi-channel จนเป็น Seamless experience ที่ทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการและสร้างความประทับใจได้หลากหลายช่องทางดังรูปที่ 2 แต่ถ้ากลยุทธ์เน้นที่การเปลี่ยนแปลงโมเดลเชิงธุรกิจก็อาจมุ่งเป้าไปที่การทำกลยุทธ์ Digitized solutionsโดยยกตัวอย่างของบริษัท Schindler ที่ขายสินค้าอย่างลิฟท์และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเก็บข้อมูลต่างๆของลิฟท์ในการบำรุงรักษา เพื่อที่จะเปลี่ยนธุรกิจมาสู่ด้านบริการให้สามารถที่จะเข้าบำรุงรักษาได้อย่างรวดเร็วก่อนที่ผู้ใช้จะเรียกใช้บริการเมื่อประสบปัญหาต่างๆดังรูปที่ 3

Screenshot 2018-01-19 11.42.50

รูปที่ 2 กลยุทธ์  Customer engagement ของ Nordstrom

Screenshot 2018-01-19 11.43.11

รูปที่ 3 กลยุทธ์  Digitized solutions ของ Schindler

แต่ทั้งนี้การทำ Digital transformation ได้โดยใช้กลยุทธ์ด้านใดด้านหนึ่งในสองด้านนั้น องค์กรจะต้องมี Opeartional backbone กล่าวคือมีระบบ ERP, CRM หรือ HR ที่ดีและมีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ หากขาดส่วนนี้ไปก็จะทำการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลลำบาก และเมื่อต้องการทำ Digital transformation แล้วจะต้องเพิ่ม Backbone รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Digital business backbone ดังรูปที่ 4

Screenshot 2018-01-19 11.42.24

รูปที่ 4  Digital strategy

Operational backbone คือรูปแบบที่ต้องมีก่อนจะทำ Digital transformation ซึ่งจะเป็นการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กร แต่ Digital business backbone จะเน้นในการทำ Digital business strategy ทำระบบดิจิทัลให้เกิดความคล่องตัว (Agile) และสร้างความร่วมมือ (collaboration) และเชื่อมต่อกับคู่ค้าหรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ได้ ทั้งนี้หัวใจสำคัญของ Digital business backbone คือการทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) ที่จะต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ต้องมี Micro-services ที่จะทำให้คู่ค้าเข้าถึงระบบและสร้างความร่วมมือได้อย่างรวดเร็วและเกิดความคล่องตัว สุดท้ายก็ต้องสามารถเชื่อมต่อ (Connectivity) กับคู่ค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

จากที่กล่าวมาการทำความเข้าใจนิยามของ Digital strategy อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่การที่จะทำกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นได้จึงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะกับองค์กรจำนวนมากในบ้านเราที่แม้แต่ Operational backbone ยังไม่มีความพร้อมอยู่เลย

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มกราคม 2561

Big data ต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ Transactional data ไม่ใช่เล่นกับ summary data

ผมเคยเข้าไปหลายหน่วยงานที่มีความต้องการทำ Big Data Analytics แต่พอไปถามหาข้อมูลที่มีอยู่และจะให้หน่วยงานย่อยต่างๆรวบรวมมาก็มักจะมองเรื่องข้อมูลสรุป (Summary data) แต่หน่วยงานกลับคาดหวังว่าจะนำข้อมูลสรุปเหล่านี้มาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆเช่นพฤติกรรมลูกค้าหรือทำความเข้าใจกับปัญหาต่างๆอย่างละเอียด ซึ่งผมก็มักจะตอบไปว่าทำได้ยาก

การจะทำ Big Data Analytics ที่ดีได้ต้องมีข้อมูลที่เป็นรายละเอียดย่อยมากที่สุดเท่าที่ทำได้ อาทิเช่น Transactional data ที่อาจมองถึงการทำธุรกรรมทุกรายการ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ผมขอเปรียบเทียบรูปที่ 1 ซึ่งเป็นข้อมูลสรุปที่บอกถึงการใช้บัตร Startbucks ของลูกค้ารายหนึ่ง กับข้อมูลที่เป็น Transaction ของลูกค้ารายเดียวกันในรูปที่ 2  จากข้อมูลสรุปของลูกค้าเราอาจเห็นเพียงว่าลูกค้ามีบัตรสามใบและเป็นลูกค้าบัตรทองที่มีวงเงินอยู่ 1,871.25 บาท แต่ถ้าจะถามและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆอาทิเช่น

  • ลูกค้ามาทาน Starbucks บ่อยแค่ไหน?
  • ลูกค้าจะมาร้านเวลาไหน และคาดการณ์ว่าเขาจะมาอีกเมื่อไร?
  • ลูกค้ามาทานกาแฟปกติคนเดียวหรือหลายคน?

ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ ที่เราต้องการทำ Big Data Analytics ในลักษณะการคาดการณ์จะไม่สามารถที่จะหามาได้จากการใช้  Summary data  แต่ถ้าเรามีข้อมูลรายละเอียดอย่าง Transaction data ในรูปที่ 2 เราจะเห็นได้ว่าเราอาจพอคาดการณ์ได้ว่า ลูกค้ารายนี้มักจะมาทานกาแฟตอนเช้าและอาจมาคนเดียวโดยดูจากเวลาที่มาและอาจดูยอดเงินที่ใช้จ่าย และหาก Transaction data มีรายละเอียดมากกว่านี้เช่น รายการอาหารที่สั่ง หรือสาขาที่ไปทาน เราก็จะยิ่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ละเอียดยิ่งขึ้น

Screenshot 2018-01-18 12.59.10

รูปที่ 1 Summary data บัตร Starbucks ของลูกค้ารายหนึ่ง

Screenshot 2018-01-18 12.59.29

รูปที่ 2 Transactional data ของลูกค้ารายเดียวกัน

ดังนั้นหลักการสำคัญของ Big Data Analytics ก็คือการที่เราสามารถเก็บข้อมูล Transactional data ให้มากที่สุดและมีรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมมักจะถามคนเสมอว่าหน่วยงานในประเทศหน่วยงานมีข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และเหมาะกับการทำ Big Data อย่างมาก หลายครั้งผมมักจะได้ยินคำตอบว่าเป็นข้อมูลของกรมการปกครองที่เก็บข้อมูลประชาชน ซึ่งโดยแท้จริงแล้วกรมฯจะมีเพียงข้อมูลสรุปและข้อมูลเคลื่อนไหวในลักษณะ Transactional data จะมีน้อยมาก (จึงไม่แปลกใจที่บางครั้งที่อยู่ในบัตรก็ยังไม่ถูกต้องเมื่อเทียบกับที่อยู่จริงๆ) แต่จริงๆหน่วยงานที่มีข้อมูลเยอะจริงๆในประเทศไทยคือกลุ่ม Telecom ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะมีข้อมูลการใช้มือถือตลอดเวลาที่ป้อนเข้ามาอย่างเช่น CDR ที่มีปริมาณข้อมูลต่อวันเป็นหมื่นหรือแสนล้านเรคอร์ด ด้วยข้อมูลมหาศาลขนาดนี้ก็ทำให้ผู้ให้บริการมือถือสามารถวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพราะทราบตำแหน่ง รูปแบบการใช้งาน เวลาในการโทร โทรศัพท์ที่ใช้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ

นอกเหนือจากกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วธุรกิจกลุ่มไหนอีกละที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ในลักษณะ Transactional data

  • ธนาคารจะมีข้อมูล Transaction  จากการที่ลูกค้ามาทำธุรกรรมที่สาขา, Intenet banking หรือ mobile banking และหากมีข้อมูลจาก QR payment ในอนาคตก็จะมีข้อมูลลูกค้าละเอียดยิ่งขึ้น
  • หลักทรัพย์ก็จะมีธุรกรรมการซื้อขายแต่ละรายการอย่างละเอียด ทำให้ทราบว่าใครซื้อขาย หุ้นตัวไหน เวลาใด
  • ค้าปลีกจะมีข้อมูลรายการซื้อ ขายและสั่งสินค้ามาอย่างละเอียด และถ้าสามารถเก็บข้อมูลลูกค้าได้ ก็จะยิ่งทำให้เข้าใจได้ว่าลูกค้าคือใคร ยิ่งมีจำนวนธุรกรรมมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งสามารถวิเคราะห์ได้ละเอียดยิ่งขึ้น
  • โรงพยายบาลก็จะมีข้อมูลการเข้ามาตรวจรักษาของลูกค้า การสั่งยา
  • Smart home จะมีข้อมูล Log การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าถ้าเราจะทำ Big Data Analytics ได้ดีเราต้องพยายามหา Transactional data มาเก็บให้มากที่สุด อาทิเช่น

  • หากภาครัฐมีข้อมูลรายละเอียดการจ่ายภาษี VAT ของผู้เสียภาษีแบบปลีกย่อยมาที่สุดลงเป็นรายการ รายวัน หรือมีข้อมูลรายรับของประชาชนเป็นรายการย่อยมากที่สุดก็จะทำให้วิเคราะห์และประมาณการภาษีได้อย่างถูกต้อง
  • หากเราต้องการทราบข้อมูลคนจนที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เราอาจต้องเก็บข้อมูลการใช้บัตรคนจนตามร้านธงฟ้าหรือบริการต่างๆของภาครัฐเป็นรายการย่อยๆทั้งหมด เราก็อาจวิเคราะห์พฤติกรรมและตอบได้ว่าคนเหล่านี้จนจริงหรือไม่
  • หากกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลรายละเอียดการใช้บริการการแพทย์ของประชาขน อย่างละเอียดมากที่สุด เราก็จะสามารถบริหารงานด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้นการเริ่มทำ Big Data จำเป็นต้องคำนึงถึง Transactional data ที่มีในองค์กรและต้องเอามาเก็บให้ได้เสียก่อน ถึงจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการเล่นกับ Summary data โดยเราอาจต้องตั้งคำถามว่าเรามีข้อมูลลูกค้าแต่ละรายหรือข้อมูลสินค้าแต่ละรายการมากพอที่จะมาทำการวิเคราะห์หรือไม่ ถ้ามีข้อมูลลูกค้าเพื่อเดือนละรายการมันเพียงพอไหม หรือควรจะต้องเห็นทุกวัน หรือต้องเห็นทุกชั่วโมง  หรือบางอย่างอาจมีข้อมูลทุกนาที ขึ้นอยู่กับธุรกิจและลักษณะงานแล้วเราถึงจะวิเคราะห์ข้อมูลได้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มกราคม 2561

 

การอบรม Big Data และกิจกรรมด้านนี้ของ IMC Institute ในปี 2018

Screenshot 2018-03-24 14.05.42

IMC Institute เปิดการอบรมด้าน Emerging Technology ต่างๆทั้ง Cloud computing, Big data, Internet of things และ Blockchain มาเป็นเวลา 5 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา IMC Institute ได้มีโอกาสอบรมคนทั้งหมด 14,882 คน/ครั้ง*(ผู้เข้าอบรมบางท่านอาจเข้าอบรมมากกว่าหนึ่งครั้ง) โดยแบ่งเป็นการอบรมที่เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนทั่วไปจำนวน 308 ครั้งมีผู้เข้าอบรม 5,628  คน/ครั้ง หลักสูตรที่เป็น In-House ที่จัดให้หน่วยงานต่างๆจำนวน 195 ครั้งมีผู้เข้าอบรม 6,233  คน/ครั้ง และการอบรมแบบฟรีสัมมนาหรืองานฟรีต่างๆจำนวน 43 ครั้งมีผู้เข้าอบรม 3,021 คน/ครั้ง

ในการอบรมด้านเทคโนโลยี Big Data ทาง IMC Institute ได้เริ่มสอนหลักสูตรด้าน Hadoop ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2013 และในปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรออกมาในหลายๆหลักสูตรสำหรับหลายๆกลุ่ม ทั้งในระดับผู้บริหารอย่างหลักสูตร Big data for senior management หรือหลักสูตรสำหรับ Developer หรือ  Big Data Engineer อย่าง Big Data Architecture and Analytics Platform และ Big Data Analytics as a Service for Developer หรือ หลักสูตรสำหรับ Business Analyst อย่าง Business Intelligence Design and Process หรือ Data Visualisation Workshop รวมถึงหลักสูตรด้าน Data Science อย่าง Machine Learning for Data Science รงมถึงมีหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 120 ชั่วโมงอย่าง Big Data Certification Course ที่สอนไปแล้ว 6  รุ่นรวม 180 คน ซึ่งหลักสูตรด้าน Big Data ทั้งหมดของ IMC Institute แสเงไว้ดังรูป

Screenshot 2018-01-16 11.13.32

หากมองถึงจำนวนผู้เข้าอบรมหลักสูตรด้าน Big Data ทาง IMC Institute ได้จัดการอบรมไปทั้งสิ้น 182 ครั้ง แบ่งเป็นการอบรมทั่วไป 91 ครั้ง, การอบรม In-house 66 ครั้ง และงานฟรีสัมมนา/Hackaton 25 ครั้ง โดยมีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้นรวม 5,943 คน/ครั้ง เป็นการอบรมทั่วไป 1,860 คน/ครั้ง, การอบรม In-house 2,045 คน/ครั้ง และงานฟรีสัมมนา/Hackaton 2,038 คน/ครั้ง

Screenshot 2018-01-16 11.33.35

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทาง IMC Institute ยังมีการอบรมให้กับอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาลักษณะ Train the trainer หลักสูตรด้าน Big Data และ Machine Learning ปีละหนึ่งรุ่นๆละประมาณ 30 คน เพื่อให้อาจารย์นำเอาเนื้อหาและเอกสารต่างๆไปสอนกับนักศึกษาในสถาบัน โดยอบรมมาแล้ว 5 รุ่นจำนวนอาจารย์ที่มาเรียนกว่า 150 คน และเมื่อสองปีก่อนทาง IMC Institute ก็ได้จัดการอบรมในลักษณะ On the job training ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปี 3 และ 4 เป็นเวลาสองเดือนโดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆกับนักศึกษาผู้เข้าอบรม ทาง IMC Institute ได้จัดไปแล้วสองรุ่นมีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 26 คน ซึ่งนักศึกษาปีสี่ที่ผ่านการอบรมก็เข้าไปทำงานต่อด้าน Big Data กับบริษัทต่างๆจำนวนมากอาทิเช่น G-Able, Humanica หรือ PTG Energy

นอกจากนี้ทาง IMC Institute ก็ยังมีโครงการฟรีสัมมนาทางด้านนี้เป็นประจำทุกเดือนให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าฟัง โดยมีหัวข้อต่างๆอาทิเช่น Big Data on Public Cloud หรือ AI Trend to Realistic cases รวมถึงการจัด Big Data Hackatonในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ทำมาแล้ว 5 ครั้ง

สำหรับในปี 2018 ทาง IMC Institute ก็ยังเปิดหลักสูตรด้าน Big Data ต่างๆอยู่เป็นจำนวนมากและมีการปรับเนื้อหาให้ผู้เข้าอบรมสามารถเข้าไปทำงานได้จริงโดยใช้ Public cloud computing service และ Big data as a service ที่เป็นบริการบน public cloud ที่ทำให้องค์กรต่างๆสามารถเรื่มทำโครงการ Big Data ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้สนใจสามารถมาดูข้อมูลหลักสูตรต่างๆด้าน Big Data ได้ที่ >> Big Data Track

นอกจากนี้ยังมีโครงการอบรมต่างๆที่น่าสนใจดังนี้

  • Big Data Certification Course รุ่นที่ 7 ที่เป็นหลักสูตร 120 ชั่วโมง เรียนทุกวันพฤหัสบดีเย็นและวันเสาร์ โดยจะเปิดเรียนวันที่ 15 มีนาคม 2018
  • Big Data Hackathon  ครั้งที่ 6 โครงการฟรีให้กับบุคคลที่เคยผ่านหลักสูตรการอบรมแบบ Hands-on ของ IMC Institute โดยจะจัดเพื่อให้ผู้สนใจได้ฝึกการแก้ปัญหากับข้อมูลขนาดใหญ่โดยมีรางวัลเป็น Google Home Mini สำหรับทีมที่ชนะแกสมาชิกในทีมท่านละหนึ่ง โดยจะจัดขึ้นวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2018
  • Big Data School: On the job training รุ่นที่  3 เป็นโครงกาiฝึกงานนี้มีเป้าหมายเพื่อจะอบรมและสอนให้ผู้เข้าฝึกงานได้เรียนรู้เรื่อง Big Data Technology อย่างเข้มข้น จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่จะเป็น Data Engineer, Data Analyst และสามารถต่อยอดเป็น Data Scientist ได้ ในการทำโครงการ Big Data จากการติดตั้ง Big Data Infrastructure จริง ๆ บนระบบ Cloud โดยเป็นโครงการอบรมฟรีจำนวนสองเดือนให้กับนักศึกษาปีที่ 4 หรือ 3 โดยจัดตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม – 26 กรกฎาคม 2018

หากท่านใดสนใจโครงการอบรมต่างๆเหล่านี้ก็สามารถติดต่อได้ที่ contact@imcinstitute.com หรือเบอร์มือถือ  088-192-7975, 087-593-7974

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มกราคม 2561

เทคโนโลยีกำลังเข้ามาเปลี่ยนทักษะการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่

Screenshot 2018-01-15 11.58.07

“Hey Google, play Madagascar from Netflix on my TV.”

“OK Google,  play mr. Bean video.”

“Hey Google, Turn the fan on.”

นี่คือตัวอย่างของคำสั่งที่ลูกชายคนเล็กวัย 4 ขวบครึ่งของผมสั่งงานเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยเสียง  ตัวเขาเองยังไม่สามารถที่จะใช้รีโมทคอนโทรลได้ และยังไม่เข้าใจปุ่มในการเปิดปิดพัดลม แต่ก็สามารถที่จะใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยเสียงตามตวามต้องการของเขาได้  นอกจากนี้ในบางครั้งหากสงสัยคำศัพท์ใดเขาก็จะถาม Google Home ด้วยคำสั่งอาทิเช่น

“Hey Google how to spell cat?”

เด็กวัยนี้เกิดมาในยุคดิจิทัล (Digital native)  ไม่รู้จักอะไรหลายๆอย่างแบบที่พวกเราเคยใช้อาทิเช่นแผนที่ที่เป็นกระดาษ, เทป, CD, หรือแม้กระทั่งกรอบรูป ผมจำได้ว่าวันหนึ่งเขาไปบ้านย่าแล้วเขาเห็นกรอบรูปของย่า เขาก็เลยหยิบมันลงมาแล้วก็พยายามใช้นิ้วสไลด์เพื่อที่จะดูรูปต่อไปเพราะเขาเข้าใจว่ามันคือ iPad

เรื่องราวที่เล่าให้ฟังก็เพื่อที่จะสื่อให้เห็นว่าได้เด็กยุคใหม่หลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป ต่อไปเราคงไม่ต้องสอนให้เขาใช้คอมพิวเตอร์แบบเดิมๆ ไม่ต้องสอนเขาใช้ เมาส์ สอนการใช้คีย์บอร์ด อย่าว่าแต่เด็กในยุคใหม่เลยแม้แต่ตัวผมเองการพิมพ์เอกสารต่างๆผมก็เขียนน้อยลง รวมถึงเบทความที่ผมเขียนอยู่นี้ผมก็ใช้ Google doc พิมพ์ด้วยเสียงแล้วค่อยกลับมาปรับเอกสารอีกทีนึง ทุกวันนี้ผมใช้กระดาษน้อยมากแล้วก็พยายามที่จะใช้เงินสดให้น้อย ลงเน้นมาใช้ mobile payment มาใช้บัตรเครดิต การสั่งของก็ผ่านออนไลน์ ผมคิดว่าโลกมันกำลังเปลี่ยนไปมาก และอนาคตใหม่ของโลกดิจิทัลมาถึงเรียบร้อยแล้ว (The Future is now)

Screenshot 2018-01-15 08.24.26

โลกมันกำลังเปลี่ยนไปมาก สิ่งที่เราจะเห็นในอนาคตสำหรับเด็กยุคนี้อาจมีหลายอย่างอาทิเช่น

  • เราคงเห็นรถยนต์ทิ้ไร้คนขับ คำถามก็คือว่าแล้วเด็กจะต้องเรียนขับรถไหมหรือจะต้องซื้อรถไหม
  • เราคงเห็นการสั่งงานด้วยเสียงกับอุปกรณ์ต่างๆมากมาย คำถามก็คือว่าแล้วเด็กจะต้องหัดใช้ Keyboard ต้องหัดเขียนหนังสือหรือเรียนวิชาคัดไทยแบบเดิมเพื่อให้ลายมือสวยๆไหม
  • เราคงเห็นระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำถามก็คือว่าแล้วเด็กจะต้องเรียนภาษาต่างชาติในรูปแบบเดิมหรอ
  • เราอาจเห็นสังคมไร้เงินสด คำถามก็คือว่าแล้วเด็กจะต้องเข้าใจธุรกรรมการเงินด้วยวิธีเดิมๆอยู่หรอ
  • เราอาจเห็นระบบอัจฉริยะเข้ามาทำงานแทนที่คนต่างๆอย่างมากมาย คำถามก็คือว่าแล้วเด็กจะไปประกอบอาชีพแบบเดิมๆได้หรอ

ผมว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปมาก ทักษะของเด็กที่ต้องการเรียนรู้สำหรับการทำงานและการดำรงชีวิตในอนาคตก็กำลังเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ผมเห็นในบ้านเราก็คือวิธีคิดแบบเดิมๆ เรายังสอนให้ท่องจำ เรียนรู้แบบเดิมๆ ผู้ใหญ่บางครั้งก็กลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แล้วก็ใช้วิธีสอนแบบเดิมๆด้วยความกลัวเทคโนโลยี ทั้งๆที่วันนี้เทคโนโลยีบางอย่างอาจฉลาดกว่าผู้สอน และอาจเปลี่ยนวิชาเดิมๆที่ต้องเรียน แต่เราก็มักจะบอกว่าเด็กต้องมีพื้นฐานบางอย่างแบบเดิมๆ ทั้งๆที่วันนี้เราควรจะต้องสอนการเรียนรู้โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ สอนวิธีคิดแบบใหม่ๆ สอนการตั้งคำถาม และผู้ใหญ่ก็ต้องพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลง

การศึกษาบ้านเราในวันนี้ ถูกกำหนดโดยคนในยุค Analog แม้จะโชคดีอยู่บ้างที่มีผู้สอนบางกลุ่มเป็นคนในกลุ่ม Digital Immigrant แต่เรากำลังสอนคนในยุค Digital Native ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนแปลงต่อไปประเทศเราคงแข่งขันลำบาก คงอาจต้องถึง้วลาที่เราจะวางนโยบายการศึกษาโดยวิธีคิดแบบ Digital Native  ปรับทักษะในหลายๆวิชา และอาจต้องถึงเวลาปฎิรูปการศึกษาครั้งใหญ่โดยมองตั้งแต่ระดับอนุบาล ถ้ากล้าที่จะคิดนอกกรอบอาจต้องเริ่มต้นด้วยกล้าที่จะลดเอกสารและหนังสือเรียนจำนวนมากออกไป แล้วหันมาใช้ในรูปดิจิทัลแทน ผมว่าเราก็อาจเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างไม่มากก็น้อย ครับปัญหาเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่คนที่กลัวไม่ใช่เด็กรุ่นนี้ที่จะโตขึ้นไปใช้หรอกครับ แต่คนกลัวก็คือคนสอนคนกำหนดนโยบายเขากลัวเทคโนโลยีจะมาแย่งงานเขาเห็นพวกเขาหมดความสำคัญไป

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute