ระบบไอทีภาครัฐ ต้องคิดใหม่เปิดทางเลือกในการพัฒนา

Screenshot 2015-06-29 10.29.09

ทุกครั้งที่ผมเห็นระบบไอทีต่างๆของภาครัฐหลายๆแห่งแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด ตั้งแต่เว็บไซต์ที่เห็นที่ส่วนมากจะออกแบบมาสำหรับเครื่องพีซี ไม่เหมาะกับการใช้อุปกรณ์อื่นๆดู  อีเมลที่ส่งมาก็มักจะเป็น  @gmail, @yahoo หรือถ้าเป็นอีเมลของหน่วยงานก็จะมีข้อจำกัดในขนาดของไฟล์ เอกสารก็ส่งมาให้เป็น  Word, Excel ที่ไม่มีการใช้ Office Document ซึ่งเป็น Collloboration Tools ราชการหลายๆหน่วยงานก็ยังถ่ายเอกสารไปมา มาขอให้ผมส่ง FAX ถ้าพูดถึงเครื่อง Server หรือ  Data Center ก็จะไม่มีระบบอะไรที่เป็นมาตรฐาน บางแห่งก็วางเครื่องไว้อย่างไม่ใส่ใจ ขาดระบบสำรองข้อมูล หรือการทำแผนการทำงานต่อเนื่อง

พอถามว่าทำไมยังมีระบบแบบนี้ คำตอบที่มักจะได้รับคือไม่มีงบประมาณ หรือไม่ก็ระเบียบไม่ให้ แต่ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากที่มีงบประมาณเพียงน้อยนิด สามารถนำระบบไอทีมาใช้งานในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ต่างๆที่มีราคาถูกเข้ามาใช้งาน และยิ่งเมื่อผมไปเจอหน่วยงานราชการบางแห่งอย่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ใช้งบประมาณไอทีไม่มากนัก เลือกใช้ซอฟต์แวร์ Open Source ราคาถูก ระบบบน Cloud ที่มีอยู่มาทำระบบไอทีในการบริหารงานแล้ว ทำให้ผมเริ่มคิดแล้วครับว่าปัญหาของระบบไอทีภาครัฐที่ไม่ทันสมัย ล่าช้า ไม่ได้อยู่ที่งบประมาณหรอกครับ แต่น่าจะอยู่ที่ MindSet อยู่ที่ความกล้าที่จะเปลี่ยน

ถ้าเราจะเข้าสู่ Digital Government ผมคิดว่าเราจะต้องไม่ฝากความหวังไว้เพียงกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเช่นกระทรวงไอซีทีว่า จะต้องทำ  National Data Center ทำระบบอีเมลกลาง หรือทำระบบซอฟต์แวร์กลาง แต่สิ่งที่ควรเป็นคือเราต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆเหมือนอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำระบบจากไหนก็ได้ที่มีความเสถียร มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้มาพัฒนาระบบ อย่าหวังพึ่งเพียงหน่วยงานกลางใดๆมาทำ อย่าต้องรอให้เกิด National Data Center  หรือระบบซอฟต์แวร์กลางมีความพร้อมเสียก่อน แล้วค่อยทำระบบไอทีในหน่วยงาน ผมว่าตอนนั้นจะสายเกินไป

การทำระบบไอทีภาครัฐให้รวดเร็ว จะต้องคิดใหม่และเปิดทางเลือกในการพัฒนา โดยปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จน่าจะมีเรื่องต่างๆดังนี้

1)  ผู้นำสูงสุดองค์กรต้องเป็นแบบอย่าง ใช่ครับผู้นำในองค์กรจะต้องนำในการใช้ไอที อย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านอธิการบดีลงมาเล่นเองทำเอกสารโดยใช้ Google Docs ให้ผู้บริหารในระดับต่างๆใช้งานตาม ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ในการใช้ไอทีในการบริหารงาน ไม่ใช่แค่เล่น Line, Facebook หรือ YouTube อย่าวัดความสำเร็จการใช้ไอทีของหน่วยงานเพียงแค่การกรอกผลประเมินตาม KPI  ที่สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะทำให้ผ่าน KPI ที่ไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง

2) ราชการต้องเปลี่ยนความคิดว่าข้อมูลหรือเอกสารของหน่วยงานว่าเป็นความลับสุดยอด เรากำลังปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเป็น Sharing Economy แต่บ่อยครั้งที่เราจะเห็นหน่วยงานรัฐมักคิดว่าข้อมูลของหน่วยงานตัวเองเป็นความลับ เอกสาร อีเมลของหน่วยงานสำคัญ ต้องทำเอง ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่ดูแลระบบไอทีอาจไม่ได้มีความสามารถพอที่จะป้องกันข้อมูลได้ดีเท่ากับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญจากภายนอก ทุกๆองค์กรมีลำดับชั้นความสำคัญของข้อมูล บางเรื่องอาจลับมาก บางเรื่องอาจเปิดเผยได้ เราต้องจัดลำดับชั้นความลับ แล้วจัดระบบไอทีให้สอดคล้องกัน หน่วยงานรัฐในต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย ก็ให้เอกชนมาบริหารไอที บางระบบก็ฝากไว้กับ  Amazon, Google  หรือ Microsoft  แล้วทำไมเอกสารบ้านเรามันลับมากกว่าเขาหรือครับถึงเอาไปฝากไว้ระบบอื่นๆไม่ได้ ทั้งๆที่โดยความจริงทุกวันนี้ผมก็เห็นผู้บริหารรัฐจำนวนมากส่งอีเมลโดยใช้ public mail หรือบางครั้งก็เจอถุงกระดาษที่ใช้เอกสารราชการมาทำ

3) ราชการต้องปรับระเบียบ โลกไอทีได้เปลี่ยนแปลงไป แต่วิธีจัดซื้อจัดจ้างในระบบราชการยังเหมือนเดิม เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระเบียบต่างๆจำนวนมาก อาทิเช่นมติที่ห้ามใช้ Public Mail ที่ขัดกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน การเปลี่ยนระเบียบการจัดทำระบบที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆสามารถทำซอฟต์แวร์ให้ภาครัฐได้ โดยประเมินจากความสามารถ ระบบงานที่สามารถทำงานได้ มากกว่าการตรวจรับตามเอกสารแบบเดิมๆ หรือการปรับระเบียบเพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดหาระบบซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์มีอยู่บน Cloud ได้ การปรับระเบียบเพื่อให้นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้งานได้

4) ต้องเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานมีทางเลือกในการพัฒนาระบบ อย่าให้ทุกอย่างต้องรวมศูนย์อยู่ที่ใดที่หนึ่งเช่นการใช้ National Data Center หรือ National E-Mail  แต่เราควรจะมีหน่วยงานกลางกำหนดมาตรฐานและเปิดโอกาสให้หน่วยงานสามารถใช้ระบบจากที่ใดก็ได้เช่น อาจใช้ระบบอีเมลบน Cloud ของ Google หรือ Microsoft  การใช้ Cloud Server จากบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่อยากใช้  YouTube ในการทำระบบ Video ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม อย่าว่าคิดทุกอย่างรัฐต้องทำเอง

ใช่ครับถึงเวลาที่ต้องทำ ไม่ต้องรออะไรหรอกครับ มันทำได้เลย ไม่ต้องรอ Data Center หรือระบบอะไร ในโลกไอทีมีอะไรมากมาย  Just Do It แล้วก็เริ่มทำเลย มันอยู่ที่ความกล้าและ Mindset ของผู้บริหารสูงสุดขององค์กร

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

นายกสมาคมอุตสาหกรรมสารสนเทศไทย

Screenshot 2015-06-29 10.24.10

ข้อสังเกตร่าง พรบ.การพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ว่าด้วยเรื่องกองทุนฯและหน่วยงานใหม่

ผมได้มีโอกาสได้ดูร่าง พระราชบัญญติการพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และกำลังนำเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาในเร็วนี้ๆ พรบ.นี้เป็นหนึ่งในหลายๆพรบ.ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้าน Digital Economy ซึ่งกำลังพิจารณาออกมาจากรัฐบาลและสนช.

พรบ.การพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมมีสาระสำคัญคือการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม การตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม และการตั้งสำนักงานส่งเสริมดิจิทัล ซึ่งเมื่อดูจากร่างพรบ.คิดว่าทางรัฐบาลมีความตั้งใจที่ดีในการที่จะพัฒนา Digital Economy แต่ก็มีข้อสังเกตบางประการที่คิดว่า ควรมีการปรับปรุงร่างพรบ.ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. เพื่อให้งานด้าน Digital Economy ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น

ข้อสังเกตทั่วไปและโครงสร้างคณะกรรมการ

พรบ.ในมาตราที่ 3 มีการให้คำนิยามของศัพท์ใหม่เช่น ดิจิทัล หรือ ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่อ่านแล้วอาจแปลกๆและดูไม่เหมาะสมเช่นระบุว่า “ดิจิทัลเป็นสัญลักษณ์ศูนย์และหนึ่งหรือสัญลักษณ์อื่นแทนค่าสิ่งทั้งปวง” หรือแม้แต่นิยามคำว่า ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตาม มาตรา 3 วรรค 2 ใตามที่ระบุไว้ก็ดูไม่เหมาะสม เพราะวันนี้ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช้เทคโนโลยีข้อมูลอีกแล้ว

11707661_871689442884193_8362799084558328214_n

ในแง่ของเป้าหมายและนโยบายตามมาตราที่ 6 ก็ดูเหมือนว่าจะเน้นฝั่งด้าน Demand  มากกว่าฝั่งด้าน Supply และมีโครงสร้างคณะกรรมการย่อยหลายๆชุดในมาตราที่ 14 ที่มาจากฝั่ง Demand เสียส่วนใหญ่

นอกจากนี้โครงสร้างคณะกรรมการที่กำหนดไว้ 5 ชุดก็น่าจะมีเพิ่มคณะกรรมการหนึ่งชุด ที่จะปรับพันธกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นผู้พัฒนาและรับผิดชอบความสามารถและผลงานของการใช้เทคโนโลยีทางด้านข้อมูลให้แก่ทุกกระทรวง เพื่อเพิ่มผลงานและลดงบประมาณของทุกกระทรวง ที่ต้องรวมกันเป็นประสิทธิภาพและศักยภาพของรัฐทั้งหมด

ข้อสังเกตเรื่องกองทุนพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม

การจัดกองทุนฯในหมวดที่ 4 ของพรบ.นี้ มีความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้เงินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการให้อำนาจกับผู้บริหารประเทศมากเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งผมเคยได้เคยบทความท้วงติงไว้ในเรื่อง กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: อย่าออกพรบ.ตีเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจ  และ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ก็เขียนออกมาแสดงความเห็นว่า กองทุนฯนี้ไม่มีความจำเป็น เปิดช่องทางหากิน และสร้างบรรทัดฐานที่ผิด มันเปรียบเสมือนการจัดตั้งงบกลางของกระทรวงฯที่จะไม่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา ทั้งๆที่สามารถจะตั้งงบประมาณปกติในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้โดยตรง ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนและมีประโยชน์มากกว่า การนำเงินมาไว้ที่กองทุน โดยยังไม่ทราบว่าจะเอาไปทำอะไร เป็นการให้อำนาจกับผู้บริหารในอนาคตที่อาจเป็นนักการเมืองมาตัดสินใจโดยขาดความโปร่งใส

แต่หากมีความจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนนี้ ก็ควรจะมีการทบทวนในประเด็นต่างๆดังนี้

  • มาตรา 21 กำหนดขอบเขตการใช้เงินกองทุนที่กว้างเกินไป จะให้เงินเปล่าแก่หน่วยงานเอกชนใด บุคคลใดก็ได้  ซึ่งการทำแบบนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคต
  • มาตรา 22 ที่มาของเงินกองทุนมาจากหลายๆแหล่งทั้งงบประมาณประจำปี และเงินรายได้ของกสทช. ที่เป็นเงินของผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม ซึ่งควรนำไปใช้ในด้านนั้น และทำให้เกิดการลดความเหลื่อมล่ำด้านดิจิทัลเช่น  โครงการการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) การนำเงินของผู้บริโภคโทรคมนาคมมาใช้ด้านไอทีด้วยจึงอาจทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมสูงเกินไป

ข้อสำคัญเงินกองทุนนี้ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยไม่มีการกำหนดวงเงินสูงสุดที่เก็บได้ เราอาจจะเจอกรณีเดียวกับของกสทช.ที่มีเงินเก็บในกองทุนถึง 34,000 ล้านบาทโดยไม่ได้นำไปใช้อะไร ทั้งๆที่ประเทศยังต้องการเงินพัฒนาประเทศอีกมากในด้านอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการตั้งบรรทัดฐานผิดๆให้กับทุกกระทรวงที่จะตั้งกองทุนมาใช้เงินโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา

  • มาตรา  25  คณะกรรมการบริหารกองทุนจะมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมืองซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งพวกพ้องมาบริหาร และเมื่อดูการตรวจสอบการใช้เงินแล้ว ไม่มีขั้นตอนใดใน หมวดที่ 4 ส่วนที่ 2 (มาตรา  25-30) ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบต่อรัฐสภา แม้แต่การเสนอผลการใช้เงินกองทุนประจำปี

ข้อสังเกตเรื่องการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

พรบ.ในหมวดที่ 5  จะมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA เดิม ตามที่หลายๆคนเข้าใจผิด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็มีบางประเด็นที่สมควรแก้ไขอาทิเช่น

  • แม้ในบทเฉพาะกาลจะมีมาตรา  58  ยุบ SIPA ทิ้งแลัวโอนหนี้สิ้นทรัพย์สินไปยังหน่วยงานใหม่ แต่ก็ยังมีมาตรา 59 ที่ให้โอนพนักงาน SIPA ไปเป็นการชั่วควารแล้วสำนักงานใหม่จะดำเนินการคัดพนักงานใหม่ภายในเวลา 270 วันซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ไม่ใช่พนักงาน SIPA ที่ทำงานอยู่เป็นการชั่วควาร การพิจารณาเช่นนี้ทำให้เสียเวลาของการทำงานเปล่า เราควรท่ีจะให้มีการคัดพนักงานตั้งแต่เรื่มจัดตั้งองค์กร และคัดเลือกบุคคลที่มีคุณภาพและมีความสามารถเข้าทำงาน งานจะได้เกิดความรวดเร็ว ไม่ใช่นำวัฒนธรรมของบุคลากรองค์กรเก่าๆอย่าง SIPA  ทั้งหมดเข้ามา แล้วค่อยมาคัดกรองภายหลัง  ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 59 วรรค 4 ก็ระบุดีแล้วว่า ควรจ่ายเงินชดเชยตามสัญญาจ้างให้กับพนักงาน SIPA ทั้งหมดที่ไม่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งควรทำโดยทันทีทันใดไม่ใช่รอ 270 วัน
  • นอกจากนี้ควรมีการเพิ่มข้อความในบทเฉพาะกาลที่จะให้สำนักงานใหม่ สามารถที่จะยืมตัวบุคลากรที่มีความสามารถจากหน่วยงานใดๆมาทำงานในระยะเริ่มต้นภายใน 270 วัน  เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ธนชาติ นุ่มนนท์

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: อย่าออกพรบ.ตีเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจ

“อาจารย์ครับ ได้เห็น พรบ.ดิจิทัลหรือยัง ผมว่ามีหลายเรื่องไม่เหมาะสม” เพื่อนในวงการไอทีอีกท่านหนึ่งโทรมาสอบถามผม ปลายสัปดาห์ที่ผ่าน จริงๆก็เป็นรายที่สองแล้วที่มาปรึกษาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะหมวด 4 เรื่องกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

ตอนแรกผมได้ยินเรื่องนี้ก็คิดว่าเขาทักท้วงแบบไม่เข้าใจ และเข้าใจไปว่ากองทุนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนวัตกรรมใหม่ การทำเป็นแหล่ง Venture Capital ให้กับกลุ่ม Start-up  แต่เมื่อถูกถามหนักๆว่าแล้วอาจารย์ได้ดูร่างพรบ.หรือยัง มีหลายๆข้อที่มันเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนออกมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ผมก็เลยต้องรีบไปหาร่างพรบ.มาดู ประกอบกับได้บทความของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เรื่อง กองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล: ไม่จำเป็น เปิดช่องทางหากิน และสร้างบรรทัดฐานที่ผิด เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทำให้เริ่มเข้าใจถึงความไม่ปรกติของร่างพรบ.ฉบับนี้

ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าผมสนับสนุนการที่ภาครัฐจะมาช่วยส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ สนับสนุนบริษัท  Start-up หรือจะมีการตั้งกองทุน Venture Capital ที่มีทุนประเดิมมา แต่ก็ควรจะเป็นพรบ.ที่ชัดเจนมีรูปแบบการบริหารงานที่ชัดเจน และต้องมีรูปแบบการสนับสนุนการลงทุนกับบริษัทต่างๆที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้  แต่ในพรบ.นี้ได้กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุน ตาม ม.25 แบบกว้างมาก จะเอาไปลงทุนใดๆก็ได้ ในภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ได้ แถมในมาตรา25(1) เขียนไว้ด้วยว่าจะให้เงินแก่ภาครัฐเอกชนหรือบุคคลทั่วไปไปเปล่าๆก็ได้ และจะมีรายได้จากเงินภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละ 4-5 พันล้านบาทตามมาตรา 22 ข้อสำคัญรายได้หรือทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามมาตรา24 

ในปัจจุบันกสทช.มีกองทุนสนับสนุนบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (กทปส.)ที่มีเงินอยู่เกือบ 34,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและการใช้งานด้านโทรคมนาคม แต่เงินกองทุนนี้ถูกนำมาใช้น้อยมาก และกสทช.ก็มีข้อครหาเรื่องการใช้เงินที่ขาดความรอบคอบ ทำให้หลายๆภาคส่วนขาดความไว้ว่าใจการใช้งานของกสทช. การออกร่างพรบ.นี้จึงมีการระบุในมาตรา 22 เป็นการดึงเงินส่วนหนึ่งของ กสทช. อันเป็นรายได้ถึงร้อยละ 25 มาเพื่อให้คนกลุ่มใหม่ภายใต้หน่วยงานใหม่มีอำนาจใช้จ่าย ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าจะช่วยแก้ปัญหาการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไรเพราะร่างพรบ.นี้กลับไม่มีมีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนที่เหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้

ผมเข้าใจว่า ร่างพรบ.นี้อาจเขียนมาด้วยเจตนาอันนี้ มองว่าผู้บริหารภาครัฐจะมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยบางทีอาจลืมไปว่ารัฐบาลคสช.ที่มีรัฐมนตรีหลายๆท่านที่มีคุณสมบัติดังกล่าวคงไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่ในอนาคตกำลังจะมีนักการเมืองมาบริหารงานกองทุนนี้ต่อไป ทำไมเราไม่เขียนพรบ.นี้ให้รัดกุมกว่านี้ ทำให้ตรวจสอบได้ ผมสนับสนุนความคิดของดร.สมเกียรติ บางประการที่ว่า

  • ร่างพรบ.นี้กำลังเปิดช่องให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่โปร่งใส  จากดุลพินิจของรัฐบาล โดยไม่มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้าน
  • การกำหนดให้มีกองทุนขนาดใหญ่มีเงินตั้งต้นกว่าหมื่นล้านบาท ที่สามารถใช้จ่ายได้เฉพาะในโครงการด้านเศรษฐกิจดิจิตัล จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้เงินจากกระบวนการงบประมาณ

และก็อยากเพิ่มเติมให้ภาคเอกชนเห็นว่า ร่างพรบ.นี้ไม่ได้ระบุในมาตราใดเลยเพื่อไม่ให้กองทุนนี้ มาแข่งขันกับเอกชน พรบ.มาตรา 25 (1) ระบุให้สามารถนำไปใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้เปล่า หรือให้กู้ยืมโดยมีหรือไม่มีดอกเบี้ยก็ได้ กรณีเช่นนี้อาจทำให้การให้ผู้บริหารกองทุนเลือกให้เงินสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีการจำกัดวงเงิน หรือสามารถเข้าไปถือหุ้น ทำธุรกิจ หารายได้ เข้าร่วมทุนกับบุคคลอื่น รวมทั้งอาจให้บริการแข่งขันกับเอกชนได้ เพราะไม่ได้มีกำหนดข้อห้ามไว้

ข้อสำคัญอีกประการคือการกำหนดว่า ทรัพย์สิน ดอกผล ผลประโยชน์ หรือรายได้อื่นที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ไม่ถือว่าต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้ของแผ่นดิน ทั้งๆที่ประเทศชาติก็ยังภาระหนี้สิ้นมากมาย รายได้ทั้งหมดจึงไม่ควรนำเข้ากองทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้เป็นรายได้ของแผ่นดินที่จะนำไปพัฒนาประเทศ

เรากำลังปล่อยให้ร่างพรบ.ที่จะอนุญาตให้คณะกรรมการที่มีรองนายกรัฐมนตรีในอนาคตหนึ่งท่านเป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนนี้ร่วมกับคณะกรรมการจำนวนหนึ่ง สามารถนำเงินเป็นหมื่นๆล้านบาทต่อปีไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ ตาม ม.25 แต่กระบวนการตรวจสอบกลับน้อยมากและอาจทำไห้เกิดความไม่โปร่งใส ผมคิดว่าแทนที่เราจะแก้ปัญหาการใช้่จ่ายเงินทีไม่เหมาะสมของกสทช.โดยการออกกฎระเบียบที่มีการควบคุมที่ดีขึ้น แต่เรากลับโอนเงินไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อไปจะเป็นนักการเมืองเข้ามาบริหารเงินแทนโดยมีระเบียบทีหละหลวมขึ้นไปอีก

ผมว่าถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวน ร่างพรบ.นี้ในส่วนที่เกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่าออกพรบ.เพื่อตีเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจ เผลอๆจะเป็นความเสียหายต่อชาติในอนาคตมากกว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ธนชาติ นุ่มนนท์

images (1)