“อาจารย์ครับ ได้เห็น พรบ.ดิจิทัลหรือยัง ผมว่ามีหลายเรื่องไม่เหมาะสม” เพื่อนในวงการไอทีอีกท่านหนึ่งโทรมาสอบถามผม ปลายสัปดาห์ที่ผ่าน จริงๆก็เป็นรายที่สองแล้วที่มาปรึกษาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะหมวด 4 เรื่องกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

ตอนแรกผมได้ยินเรื่องนี้ก็คิดว่าเขาทักท้วงแบบไม่เข้าใจ และเข้าใจไปว่ากองทุนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนวัตกรรมใหม่ การทำเป็นแหล่ง Venture Capital ให้กับกลุ่ม Start-up  แต่เมื่อถูกถามหนักๆว่าแล้วอาจารย์ได้ดูร่างพรบ.หรือยัง มีหลายๆข้อที่มันเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนออกมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ผมก็เลยต้องรีบไปหาร่างพรบ.มาดู ประกอบกับได้บทความของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เรื่อง กองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล: ไม่จำเป็น เปิดช่องทางหากิน และสร้างบรรทัดฐานที่ผิด เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทำให้เริ่มเข้าใจถึงความไม่ปรกติของร่างพรบ.ฉบับนี้

ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าผมสนับสนุนการที่ภาครัฐจะมาช่วยส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ สนับสนุนบริษัท  Start-up หรือจะมีการตั้งกองทุน Venture Capital ที่มีทุนประเดิมมา แต่ก็ควรจะเป็นพรบ.ที่ชัดเจนมีรูปแบบการบริหารงานที่ชัดเจน และต้องมีรูปแบบการสนับสนุนการลงทุนกับบริษัทต่างๆที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้  แต่ในพรบ.นี้ได้กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุน ตาม ม.25 แบบกว้างมาก จะเอาไปลงทุนใดๆก็ได้ ในภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ได้ แถมในมาตรา25(1) เขียนไว้ด้วยว่าจะให้เงินแก่ภาครัฐเอกชนหรือบุคคลทั่วไปไปเปล่าๆก็ได้ และจะมีรายได้จากเงินภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละ 4-5 พันล้านบาทตามมาตรา 22 ข้อสำคัญรายได้หรือทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามมาตรา24 

ในปัจจุบันกสทช.มีกองทุนสนับสนุนบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (กทปส.)ที่มีเงินอยู่เกือบ 34,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและการใช้งานด้านโทรคมนาคม แต่เงินกองทุนนี้ถูกนำมาใช้น้อยมาก และกสทช.ก็มีข้อครหาเรื่องการใช้เงินที่ขาดความรอบคอบ ทำให้หลายๆภาคส่วนขาดความไว้ว่าใจการใช้งานของกสทช. การออกร่างพรบ.นี้จึงมีการระบุในมาตรา 22 เป็นการดึงเงินส่วนหนึ่งของ กสทช. อันเป็นรายได้ถึงร้อยละ 25 มาเพื่อให้คนกลุ่มใหม่ภายใต้หน่วยงานใหม่มีอำนาจใช้จ่าย ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าจะช่วยแก้ปัญหาการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไรเพราะร่างพรบ.นี้กลับไม่มีมีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนที่เหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้

ผมเข้าใจว่า ร่างพรบ.นี้อาจเขียนมาด้วยเจตนาอันนี้ มองว่าผู้บริหารภาครัฐจะมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยบางทีอาจลืมไปว่ารัฐบาลคสช.ที่มีรัฐมนตรีหลายๆท่านที่มีคุณสมบัติดังกล่าวคงไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่ในอนาคตกำลังจะมีนักการเมืองมาบริหารงานกองทุนนี้ต่อไป ทำไมเราไม่เขียนพรบ.นี้ให้รัดกุมกว่านี้ ทำให้ตรวจสอบได้ ผมสนับสนุนความคิดของดร.สมเกียรติ บางประการที่ว่า

  • ร่างพรบ.นี้กำลังเปิดช่องให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่โปร่งใส  จากดุลพินิจของรัฐบาล โดยไม่มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้าน
  • การกำหนดให้มีกองทุนขนาดใหญ่มีเงินตั้งต้นกว่าหมื่นล้านบาท ที่สามารถใช้จ่ายได้เฉพาะในโครงการด้านเศรษฐกิจดิจิตัล จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้เงินจากกระบวนการงบประมาณ

และก็อยากเพิ่มเติมให้ภาคเอกชนเห็นว่า ร่างพรบ.นี้ไม่ได้ระบุในมาตราใดเลยเพื่อไม่ให้กองทุนนี้ มาแข่งขันกับเอกชน พรบ.มาตรา 25 (1) ระบุให้สามารถนำไปใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้เปล่า หรือให้กู้ยืมโดยมีหรือไม่มีดอกเบี้ยก็ได้ กรณีเช่นนี้อาจทำให้การให้ผู้บริหารกองทุนเลือกให้เงินสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีการจำกัดวงเงิน หรือสามารถเข้าไปถือหุ้น ทำธุรกิจ หารายได้ เข้าร่วมทุนกับบุคคลอื่น รวมทั้งอาจให้บริการแข่งขันกับเอกชนได้ เพราะไม่ได้มีกำหนดข้อห้ามไว้

ข้อสำคัญอีกประการคือการกำหนดว่า ทรัพย์สิน ดอกผล ผลประโยชน์ หรือรายได้อื่นที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ไม่ถือว่าต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้ของแผ่นดิน ทั้งๆที่ประเทศชาติก็ยังภาระหนี้สิ้นมากมาย รายได้ทั้งหมดจึงไม่ควรนำเข้ากองทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้เป็นรายได้ของแผ่นดินที่จะนำไปพัฒนาประเทศ

เรากำลังปล่อยให้ร่างพรบ.ที่จะอนุญาตให้คณะกรรมการที่มีรองนายกรัฐมนตรีในอนาคตหนึ่งท่านเป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนนี้ร่วมกับคณะกรรมการจำนวนหนึ่ง สามารถนำเงินเป็นหมื่นๆล้านบาทต่อปีไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ ตาม ม.25 แต่กระบวนการตรวจสอบกลับน้อยมากและอาจทำไห้เกิดความไม่โปร่งใส ผมคิดว่าแทนที่เราจะแก้ปัญหาการใช้่จ่ายเงินทีไม่เหมาะสมของกสทช.โดยการออกกฎระเบียบที่มีการควบคุมที่ดีขึ้น แต่เรากลับโอนเงินไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อไปจะเป็นนักการเมืองเข้ามาบริหารเงินแทนโดยมีระเบียบทีหละหลวมขึ้นไปอีก

ผมว่าถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวน ร่างพรบ.นี้ในส่วนที่เกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่าออกพรบ.เพื่อตีเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจ เผลอๆจะเป็นความเสียหายต่อชาติในอนาคตมากกว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ธนชาติ นุ่มนนท์

images (1)

ใส่ความเห็น