AI, Scalability และ Security คือความท้าทายของการพัฒนาระบบไอทีในปัจจุบัน

edm_Nov_jayedit

วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปบรรยายที่ Software Park ในงานสัมมนา  Developers for Disruptive Era ในหัวข้อ Trend of Technology Skill for Developers โดยผมมีสไลด์ในการบรรยายดังนี้ >> Slide การบรรยาย Software ParkScreenshot 2018-09-01 10.41.19

สิ่งหนึ่งที่กล่าวในการบรรยายคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ในวันนี้ไม่ใช่เน้นที่ Mobile First อีกต่อไป แต่เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI First ซอฟต์แวร์ในยุคต่อไปจะต้องมีระบบปัญญาประดิษฐ์ฝั่งอยู่ เราคงไม่ได้เน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ CRM, ERP, ระบบ Enterprise, ระบบบริการ หรือ  Mobile application ต่างๆเพียงอย่างเดียว แต่ซอฟต์แวร์ในอนาคตต้องชาญฉลาด ต้องสามารถบอกผู้ใช้ได้ว่าจะต้องทำอะไร ดังนั้นซอฟต์แวร์ที่จะแข่งขันได้ในอนาคตต้องเน้นปัญญาประดิษฐ์ และต้องมีทีมงานเข้าใจด้าน Machine Learning หรือ  AI ในการร่วมพัฒนา

นอกจากนี้ผมยังเน้นให้เห็นว่าในปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลคนเข้ามาใช้ไอทีกันมากขึ้น มีอุปกรณ์ต่างๆเข้ามาใช้งานมากขึ้น ระบบก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ตวามท้าทายในวันนี้ก็คือการทำให้ระบบมีเสถียรภาพ สามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้ (สามารถ Scale ได้) และต้องมีระบบความปลอดภัยที่ดี เทคโนโลยีและทักษะการพัฒนาระบบไอทีวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก การพัฒนาระบบใหญ่ๆไม่ใช่เรื่องง่าย คนไอทีจำนวนมากอาจสามารถที่จะสร้างระบบเล็กๆที่เปรียบเสมือนบ้านสองชั้นได้ แต่พอเจอระบบใหญ่ที่เราอาจเปรียบกับการต้องสร้างตึกสูง มันย่อมจะมีความซับซ้อนมากมาย ต้องการคนออกแบบที่เป็น ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบ้านเรายังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจระบบและเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบที่เปลี่ยนไป

ผมพูดในที่บรรยายแล้วยกตัวอย่างให้เห็นว่า เราเริ่มเห็นระบบไอทีใหญ่ต่างๆในบ้านเราที่มีผู้ใช้จำนวนมากล่มบ่อยๆเวลามีผู้ใช้งานจำนวนมากอาทิเช่น ระบบการจองตํ๋ว ระบบลงทะเบียนการศึกษา หรือแม้แต่ระบบธนาคารต่างๆ ปัญหาไม่เพียงแต่เกิดจากด้านฮาร์ดแวร์ที่อาจรองรับไม่ได้ แต่ยังรวมไปถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมไอทีทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ดี เรามักจะคิดว่าคนไอทีที่ทำระบบเล็กๆนำเสนอ Application หรือไอเดียที่ดีแล้วสามารถจะ Scale มาทำระบบขนาดใหญ่ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วอาจต้องปรับทักษะและวิธีการอย่างมาก

แนวคิดในการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคตอยู่ที่การทำงานแบบร่วมมือกัน (Collaboration)  จะต้องเน้นเรื่องของ  Cloud, Agile, DevSecOp, Containerและ Microservices  เราต้องเน้นการพัฒนา API มากขึ้น และต้องสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็น Hyper-Agile ระบบไอทีขนาดใหญ่มันแตกต่างกับระบบเล็กมากเราต้องการผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องเร่งลงทุนกับระบบไอทีเพิ้ม และต้องพัฒนาคน ก่อนที่เราจะสายไป แล้วทำให้ระบบในประเทศเราพยุกขะงักบ่อยๆแล้วเกิดความเสียหายในอนาคตเมื่อเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ที่มีผู้ใช้ไอทีจำนวนมากอย่างแท้จริง โดยทักษะด้านไอทีที่เราอาจต้องการในอนาคตอาจมีดังนี้

  • Experience With AI & Machine Learning
  • Data Science Talent
  • Mobile Application Development
  • Ability To Adapt To New Tech.
  • Talent For PaaS In The Cloud
  • Coding And Engineering Experience .. DEvSecOp
  • Any Skills Related To Analytics
  • Blockchain
  • Cyber security
  • Digital Transformation

ธนชาติ นุ่มมนท์

IMC Institute

Big Data กับการใช้งานในภาครัฐและอุตสาหกรรมอื่นๆ

การนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปใช้งานจริงๆ ยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีและจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งทางสมาคม PIKOM ของมาเลเซียได้ทำรายงานเรื่อง Global Business Services Outlook Report 2015 ชี้ให้เห็นผลกระทบของเทคโนโลยีด้าน Big Data ในประเทศกลุ่ม APAC และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยสรุปมาเป็นตารางดังนี้

ตารางที่ 1 ระดับผลกระทบของเทคโนโลยี Big Data [แหล่งข้อมูลจาก PIKOM]

Screenshot 2016-06-11 08.24.00

ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Big Data อย่างมากคือ อุตสาหกรรมด้านการเงินการธนาคาร (BFSI) ด้านโทรคมนาคม ด้านค้าปลีกรวมถึงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และด้านสุขภาพ ส่วนกลุ่มภาครัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตมีผลกระทบปานกลาง สำหรับประเทศที่มีการประยุกต์ใช้ Big Data อย่างมากคือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร โดยประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรเลียมีผลกระทบการประยุกต์ใช้งานปานกลาง ส่วนประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่เหลือที่ยังมีการประยุกต์ใช้งานน้อย

สำหรับตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Big Data มาใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีดังนี้

  • อุตสาหกรรมค้าปลีก อาจนำมาเพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า เพื่อทำให้เห็นข้อมูลของลูกค้ารอบด้าน (Customer 360) หรือการแบ่งกลุ่มลูกค้า (Customer Segmentation)  นำมาจัดแผนการตลาด สร้างแคมเปญตอบสนองต่อพฤติกรรมการอุปโภค บริโภค ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ให้ดึงดูดลูกค้าเข้ามาจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด ในสภาพการแข่งขันที่สูง และมีช่องทางอื่นๆ ใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกมากขึ้น
  • อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อาจนำเพื่อใช้ในการวิเคราะห์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ วิเคราะห์การใช้งานของลูกค้า การวิเคราะห์แนวโน้มการย้ายค่ายของลูกค้า (Customer Churn) และนำเอาข้อมูลไปต่อยอดเพิ่มการให้บริการอีกมากมาย อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เรื่องความมั่นคงปลอดภัย ให้เป็นประโยชน์กับลูกค้าและเพื่อสาธารณะได้อีกด้วย
  • อุตสาหกรรมการเงิน อาจนำมาเพื่อวิเคราะห์การฉ้อโกงเงิน การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า การแบ่งกลุ่มลูกค้า และการวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้า
  • ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่น การพยากรณ์อากาศ การคาดการณ์ข้อมูลน้ำ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ การใช้งานพลังงาน
  • งานด้านการตลาด อาจนำมาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) การวิเคราะห์ข้อมูลที่พูดถึงสินค้าหรือแบรนด์ของหน่วยงาน (Sentiment Analysis) การค้นหาลูกค้าใหม่ๆ บนโลกออนไลน์
  • งานด้านบันเทิง หรือการท่องเที่ยว เป็นการวิเคราะห์กระแส ความนิยม talk of the town ในแต่ละกลุ่มบริการซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับ ข้อมูล ความคิดเห็น ในโซเชียลมีเดีย เป็นส่วนใหญ่ เพื่อจัดโปรแกรมหรืองาน ที่สร้างความสนใจให้ได้ตรงกับความสนใจของตลาด ในแต่ละช่วง แต่ละเวลา กับกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันไป

การประยุกต์ใช้งาน Big Data ในภาครัฐ

สำหรับตัวอย่างการใช้ประยุกต์ใช้งาน Big Data ในภาครัฐสามารถนำมาใช้งานได้ในหลายๆ หน่วยงานเช่น ด้านสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านความมั่นคง ด้านการเงิน ด้านการบริการประชาชน ด้านเกษตรกรรม ด้านสาธารณูปโภค หรือด้านคมนาคม อาทิเช่น

  • การใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในการพยากรณ์อากาศ
  • การใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร
  • การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อลดปัญหาและป้องกันการเกิดอาชญากรรม
  • การวิเคราะห์ข้อมูลด้านสาธารณสุข เช่น แนวโน้มของผู้ป่วย การรักษาพยาบาล หรือการเกิดโรคระบาด
  • การวิเคราะห์ข้อมูลด้านน้ำ แหล่งน้ำ ปริมาณฝน และการใช้น้ำ
  • การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ค่าการใช้พลังงาน
  • การวิเคราะห์ข้อมูลการทหารและความมั่นคงต่างๆ
  • การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีของประชาชนหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ

ข้อดีของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Big Data ในภาครัฐสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การใช้เงินงบประมาณและเงินรายได้ต่างๆ ของภาครัฐจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะ Big Data จะช่วยคาดการณ์และวิเคราะห์ได้แม่นยำมากขึ้น
  2. ภาครัฐสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณได้ดียิ่งขึ้น
  3. ภาครัฐจะมีรายได้มากขึ้นหากมีการนำ Big Data มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการเสียภาษีด้านต่างๆ ว่ามีความถูกต้องเพียงใด
  4. ประชาชนจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น เช่นการนำมาแก้ปัญหาจราจร  การให้บริการสาธารณสุข การให้บริการสาธารณูปโภค
  5. ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นเพิ่มความปลอดภัยโดยการวิเคราะห์แนวโน้มอาชญากรรม การมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลสาธารณสุข
  6. เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น จากการนำข้อมูลไปใช้
  7. จะมีข้อมูลใหม่ๆ มากขึ้นจากประชาชน (Crowdsourcing) หรือข้อมูลจากอุปกรณ์  Internet of Things
  8. เป็นการสร้างทักษะและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมากขึ้น

อย่างไรก็ตามความท้าทายของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Big Data ยังอยู่ที่ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ โดยอาจสรุปปัญหาต่างๆ ที่ควรแก้ไขดังนี้

  1. วัฒนธรรมของหน่วยงานจำนวนมากที่จะรู้สึกหรือคิดว่าข้อมูลเป็นของหน่วยงานตนเอง โดยไม่มีการแชร์ข้อมูลให้กับหน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานอื่นในองค์กรเดียวกัน
  2. คุณภาพของข้อมูลที่อาจไม่สมบูรณ์หรือขาดความถูกต้อง
  3. ปัญหาเรื่องข้อมูลที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล หรือความเท่าเทียมกันของการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชน
  4. การขาดบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี Big Data

ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรจะต้องเร่งทำเพื่อให้มีการประยุกต์ใช้ Big Data ในองค์กรคือ

  1. พัฒนาความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Big Data  และสร้างวัฒนธรรมการร่วมมือการแชร์ข้อมูล
  2. ออกกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้เกิดการเปิดข้อมูลของภาครัฐ (Open Data)
  3. พัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี Big Data  
  4. มีหน่วยงานกลางที่ให้บริการเทคโนโลยี Big Data เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน และไม่ควรให้ทุกหน่วยงานลงทุนซื้อเทคโนโลยีมากเกินไป

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มิถุนายน 2559

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: อย่าออกพรบ.ตีเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจ

“อาจารย์ครับ ได้เห็น พรบ.ดิจิทัลหรือยัง ผมว่ามีหลายเรื่องไม่เหมาะสม” เพื่อนในวงการไอทีอีกท่านหนึ่งโทรมาสอบถามผม ปลายสัปดาห์ที่ผ่าน จริงๆก็เป็นรายที่สองแล้วที่มาปรึกษาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะหมวด 4 เรื่องกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

ตอนแรกผมได้ยินเรื่องนี้ก็คิดว่าเขาทักท้วงแบบไม่เข้าใจ และเข้าใจไปว่ากองทุนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนวัตกรรมใหม่ การทำเป็นแหล่ง Venture Capital ให้กับกลุ่ม Start-up  แต่เมื่อถูกถามหนักๆว่าแล้วอาจารย์ได้ดูร่างพรบ.หรือยัง มีหลายๆข้อที่มันเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนออกมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ผมก็เลยต้องรีบไปหาร่างพรบ.มาดู ประกอบกับได้บทความของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เรื่อง กองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล: ไม่จำเป็น เปิดช่องทางหากิน และสร้างบรรทัดฐานที่ผิด เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทำให้เริ่มเข้าใจถึงความไม่ปรกติของร่างพรบ.ฉบับนี้

ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าผมสนับสนุนการที่ภาครัฐจะมาช่วยส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ สนับสนุนบริษัท  Start-up หรือจะมีการตั้งกองทุน Venture Capital ที่มีทุนประเดิมมา แต่ก็ควรจะเป็นพรบ.ที่ชัดเจนมีรูปแบบการบริหารงานที่ชัดเจน และต้องมีรูปแบบการสนับสนุนการลงทุนกับบริษัทต่างๆที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้  แต่ในพรบ.นี้ได้กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุน ตาม ม.25 แบบกว้างมาก จะเอาไปลงทุนใดๆก็ได้ ในภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ได้ แถมในมาตรา25(1) เขียนไว้ด้วยว่าจะให้เงินแก่ภาครัฐเอกชนหรือบุคคลทั่วไปไปเปล่าๆก็ได้ และจะมีรายได้จากเงินภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละ 4-5 พันล้านบาทตามมาตรา 22 ข้อสำคัญรายได้หรือทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามมาตรา24 

ในปัจจุบันกสทช.มีกองทุนสนับสนุนบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (กทปส.)ที่มีเงินอยู่เกือบ 34,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและการใช้งานด้านโทรคมนาคม แต่เงินกองทุนนี้ถูกนำมาใช้น้อยมาก และกสทช.ก็มีข้อครหาเรื่องการใช้เงินที่ขาดความรอบคอบ ทำให้หลายๆภาคส่วนขาดความไว้ว่าใจการใช้งานของกสทช. การออกร่างพรบ.นี้จึงมีการระบุในมาตรา 22 เป็นการดึงเงินส่วนหนึ่งของ กสทช. อันเป็นรายได้ถึงร้อยละ 25 มาเพื่อให้คนกลุ่มใหม่ภายใต้หน่วยงานใหม่มีอำนาจใช้จ่าย ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าจะช่วยแก้ปัญหาการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไรเพราะร่างพรบ.นี้กลับไม่มีมีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนที่เหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้

ผมเข้าใจว่า ร่างพรบ.นี้อาจเขียนมาด้วยเจตนาอันนี้ มองว่าผู้บริหารภาครัฐจะมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยบางทีอาจลืมไปว่ารัฐบาลคสช.ที่มีรัฐมนตรีหลายๆท่านที่มีคุณสมบัติดังกล่าวคงไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่ในอนาคตกำลังจะมีนักการเมืองมาบริหารงานกองทุนนี้ต่อไป ทำไมเราไม่เขียนพรบ.นี้ให้รัดกุมกว่านี้ ทำให้ตรวจสอบได้ ผมสนับสนุนความคิดของดร.สมเกียรติ บางประการที่ว่า

  • ร่างพรบ.นี้กำลังเปิดช่องให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่โปร่งใส  จากดุลพินิจของรัฐบาล โดยไม่มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้าน
  • การกำหนดให้มีกองทุนขนาดใหญ่มีเงินตั้งต้นกว่าหมื่นล้านบาท ที่สามารถใช้จ่ายได้เฉพาะในโครงการด้านเศรษฐกิจดิจิตัล จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้เงินจากกระบวนการงบประมาณ

และก็อยากเพิ่มเติมให้ภาคเอกชนเห็นว่า ร่างพรบ.นี้ไม่ได้ระบุในมาตราใดเลยเพื่อไม่ให้กองทุนนี้ มาแข่งขันกับเอกชน พรบ.มาตรา 25 (1) ระบุให้สามารถนำไปใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้เปล่า หรือให้กู้ยืมโดยมีหรือไม่มีดอกเบี้ยก็ได้ กรณีเช่นนี้อาจทำให้การให้ผู้บริหารกองทุนเลือกให้เงินสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีการจำกัดวงเงิน หรือสามารถเข้าไปถือหุ้น ทำธุรกิจ หารายได้ เข้าร่วมทุนกับบุคคลอื่น รวมทั้งอาจให้บริการแข่งขันกับเอกชนได้ เพราะไม่ได้มีกำหนดข้อห้ามไว้

ข้อสำคัญอีกประการคือการกำหนดว่า ทรัพย์สิน ดอกผล ผลประโยชน์ หรือรายได้อื่นที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ไม่ถือว่าต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้ของแผ่นดิน ทั้งๆที่ประเทศชาติก็ยังภาระหนี้สิ้นมากมาย รายได้ทั้งหมดจึงไม่ควรนำเข้ากองทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้เป็นรายได้ของแผ่นดินที่จะนำไปพัฒนาประเทศ

เรากำลังปล่อยให้ร่างพรบ.ที่จะอนุญาตให้คณะกรรมการที่มีรองนายกรัฐมนตรีในอนาคตหนึ่งท่านเป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนนี้ร่วมกับคณะกรรมการจำนวนหนึ่ง สามารถนำเงินเป็นหมื่นๆล้านบาทต่อปีไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ ตาม ม.25 แต่กระบวนการตรวจสอบกลับน้อยมากและอาจทำไห้เกิดความไม่โปร่งใส ผมคิดว่าแทนที่เราจะแก้ปัญหาการใช้่จ่ายเงินทีไม่เหมาะสมของกสทช.โดยการออกกฎระเบียบที่มีการควบคุมที่ดีขึ้น แต่เรากลับโอนเงินไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อไปจะเป็นนักการเมืองเข้ามาบริหารเงินแทนโดยมีระเบียบทีหละหลวมขึ้นไปอีก

ผมว่าถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวน ร่างพรบ.นี้ในส่วนที่เกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่าออกพรบ.เพื่อตีเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจ เผลอๆจะเป็นความเสียหายต่อชาติในอนาคตมากกว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ธนชาติ นุ่มนนท์

images (1)

เมื่ออุตสาหกรรมขาดบุคลากรด้านดิจิทัล แต่ทำไมมหาวิทยาลัยถึงผลิตบัณฑิตด้านนี้ที่มีคุณภาพได้น้อย

edm_Nov_jayedit

ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานในวงการไอทีด้วยการเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และมีโอกาสได้สัมผัสสอนและอบรมนักศึกษาหลายๆสถาบันในประเทศทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ม.ขอนแก่น  ม.เชียงใหม่ ม.สงขลา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมถึงมีโอกาสสอนอาจารย์ในหลักสูตร Train the trainer ให้แก่อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทั่วไปร่วม 10 หลักสูตรสอนตั้งแต่ Java Programming, Web Services, SOA, Cloud Computing หรือ Big Data

1488765_10154138174858254_3064923486844069024_n

หลังจากออกจากอาชีพอาจารย์ผมมาทำงานภาคเอกชนทั้งในบริษัทไอทีต่างประเทศอย่าง Sun Microsystems หรือหน่วยงานภาครัฐอย่างเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) และสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ที่ทำทางด้านการอบรมและการให้คำปรึกษาด้านไอที แม้ผมจะไม่ได้มีอาชีพเป็นอาจารย์แต่ก็ยังรักที่จะสอนและเป็นวิทยากรอยู่ต่อเนื่องในช่วงสิบปีท่ีผ่านมา ทำให้ต้องค้นคว้าศึกษาและลงมือปฎิบัติทำงานจริงกับเทคโนโลยีใหม่ๆเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Mobile programming, Cloud Computing, Big Data, AI และ Digital Transformation และก็ยังเป็นวิทยากรอบรมให้เองในหลายๆหัวข้อ ดังนั้นจึงอาจไม่ต้องแปลกใจถ้าจะบอกว่าผมในฐานะของผุ้บริหารที่ดูแลทั้งหน่วยงานตัวเองอย่าง IMC Institute และเป็นกรรมการอิสระในบริษัทมหาชนหลายแห่ง แต่ก็ยังลงมือปฎิบัติเองอยู่เสมอตั้งแต่ config เครื่อง Server, ใช้คำสั่ง Linux, เขียนโปรแกรมบน Cloud หรือแม้แต่ติดตั้ง Hadoop Cluster

แม้จะไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็ยังมีบทบาทในฐานะของตำแหน่งกรรมการในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งตั้งแต่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาหลักสูตรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศในหลายๆมหาวิทยาลัย ใช่ครับแม้จะไม่ได้สอนนักศึกษาโดยตรงแต่ก็ยังสัมผัสกับอาจารย์ หลักสูตร และข้อสำคัญยังมีโอกาสเป็นวิทยากรสอนคนทำงานในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ

จากประสบการณ์ที่เล่ามาก็เพื่อที่จะบอกให้คนอ่านได้เข้าใจว่า ผมพอเข้าใจวงการการศึกษาและภาคเอกชนด้านไอทีอยู่้าง ผมมีโอกาสสัมผัสบุคลากรด้านทั้งอาจารย์ นักศึกษา และบัณฑิตใหม่ที่จบมาก็มักจะเจอโจทย์ว่าบัณฑิตหางานทำไม่ได้ ยิ่งระยะหลังเจอปัญหาว่ามหาวิทยาลัยหาคนเรียนได้ไม่ตามเป้าหมาย พอมาดูในมุมมองของภาคเอกชนก็จะบ่นเสมอว่าหาคนทำงานไม่ได้ บัณฑิตไม่ได้คุณภาพไม่สู้งาน หลักสูตรไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน จริงๆถ้าไปดูหลักสูตรก็จะเห็นว่าหลักสูตรหลายแห่งเราทันสมัยเพราะทางสกอ.ก็จะเน้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่าง ACM จำนวนบัณฑิตและอาจารย์ก็มีมากพอ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไรทำไมทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมถึงมีมุมมองบางอย่างที่ต่างกัน ผมอยากสรุปประเด็นปัญหาที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาและเราคงต้องหาทางแก้ไข มิฉะนั้นแล้วอุตสาหกรรมการผลิตด้านไอที, อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการทำงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ เราคงแข่งขันลำบากโดยมีประเด็นต่างๆดังนี้

1) นักศึกษารุ่นใหม่จำนวนมากมีทัศนคติต่อการศึกษาที่ไม่ดี ในปัจจุบันนักศึกษามุ่งเรียนเพียงเพื่อเอาใบปริญญาเป็นใบเบิกทาง มองสถาบันการศึกษาเป็นเพียงแค่ทางผ่านใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างฟุ้งเฟ้อ ขาดความอดทน มุ่งเน้นเรียนอย่างสบายๆ มองอนาคตเพียงเพื่อหวังร่ำรวย น้อยคนที่จะมีจิตสำนึกสาธารณะ ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ดังนั้นงานในมหาวิทยาลัยทุกอย่างต้องมาวัดที่คะแนนหมด หากไม่มีคะแนนก็ไม่ยอมทำ ไอดอลของคนบางกลุ่มกลายเป็นแค่คนที่มีเงินมุ่งทำงานเพื่อความร่ำรวย ข้อสำคัญคือการขาดคุณธรรมจริยธรรมในวงการการศึกษา การลอกงานต่างๆจึงกลายเป็นวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย และนักศึกษาบางส่วนก็มีทัศนะคติที่จะเรียนอะไรที่ง่ายๆที่จบมาแล้วได้เงินดีๆรวยเร็วๆ

2) กระทรวงมีกฎเกณฑ์ในระบบการศึกษาที่ไม่เหมาะสม สำนักงานการอุดมศึกษา(สกอ.) ก็เป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งของระบบการศึกษาที่พิกลพิการในปัจจุบัน เรามีกฎเกณฑ์แปลกๆมากเกินไป การกำหนดวิชาที่จำเป็นต้องเรียน การตั้งชื่อหลักสูตร การประเมินหลักสูตร การประเมินผู้สอน จนทำให้ผู้สอนหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะแก้ไขปรับปรุงคุณภาพการศึกษาได้ยาก แม้แต่การจะให้นักศึกษาสอบตกจำนวนมากตามผลคะแนนที่เป็นจริงก็เป็นไปได้ยาก เพราะผู้สอนต้องทำบันทึกชี้แจงหากมีคนตกมาก การวัดคุณภาพการศึกษาของสกอ.ก็จะเน้นที่เอกสารมากกว่าสะท้อนความเป็นจริง ผู้สอนเองก็ต้องเสียเวลากับการกรอกข้อมูลต่างๆที่บางครั้งแทบจะไม่มีประโยชน์หรือนำมาใช้งานจริง

3) สถาบันการศึกษามุ่งเน้นหารายได้มากไป เมื่อการศึกษากลายเป็นธุรกิจมหาวิทยาลัยก็ต้องการรับนักศึกษาจำนวนมากเพื่อให้คุ้มค่ากับการเปิดของแต่ละหลักสูตร หลักสูตรบางอย่างก็เปิดเพียงอิงกับตลาดมากเกินไปทั้งๆที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดผู้สอน มหาวิทยาลัยก็ไม่กล้าที่จะประเมินผลตามความเป็นจริงกลัวนักศึกษาตกออกเยอะหรือบางครั้งกลัวนักศึกษาจะร้องเรียนหรือไม่เข้ามาเรียน ถ้ามหาวิทยาลัยไหนจบยากนักศึกษาก็จะเข้ามาเรียนน้อยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนบวกกับทัศนคติของนักศึกษาที่ต้องการจบง่ายๆไวๆ จึงไม่แปลกใจที่เห็นเด็กจบออกมาไม่มีคุณภาพ

4) เราเน้นจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนด้านไอทีมากกว่าคุณภาพ ปัจจุบันในแต่ละปีเรารับคนเข้ามาเรียนทางด้านนี้นับหมื่นคนและจำนวนมากไม่น่าที่จะเรียนหลักสูตรด้านนี้ได้ หลายๆแห่งก็เลยใช้วิธีว่าปรับให้หลักสูตรง่ายขึ้นหรือปล่อยให้นักศึกษาจบได้โดยง่าย จริงๆประเทศเราก็มีนักศึกษาด้านนี้ที่เก่งๆในระดับโลกแต่มีจำนวนไม่มากนักและถ้ามองถึงนักศึกษาที่มีคุณภาพที่จะจบออกมาทำงานด้านไอทีได้จริงๆเผลอๆปีหนึ่งไม่เกินสองพันคนจึงไม่แปลกใจว่าทำไมเอกชนถึงบอกว่าหาคนมีคุณภาพเข้าทำงานไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะมีเสียงบ่นจากภาคการศึกษาว่าบัณฑิตจำนวนมากหางานทำไม่ได้ ก็เล่นผลิตคนไม่มีคุณภาพออกมาล้นตลาดนี่ครับ

5) อาจารย์จำนวนมากขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ สาขาด้านไอทีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอาจารย์จำเป็นต้องศึกษาและลงมือปฎิบัติจริงในเรื่องใหม่ๆ แต่เนื่องจากอาชีพอาจารย์เป็นงานที่ไม่ได้มีการแข่งขันมากนัก อาจารย์บางท่านสามารถที่จะนำเนื้อหาเก่าๆมาสอนซ้ำได้เป็นเวลาหลายปีแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป คำพูดหนึ่งที่มักจะได้ยินจากอาจารย์ก็คือมหาวิทยาลัยจะเน้นสอนภาคทฤษฎีการลงมือปฎิบัติต้องได้ทำงานจริงในภาคเอกชน ทั้งๆที่โดยแท้จริงแล้วเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมากทฤษฎีกบางอย่างก็ย่อมเปลี่ยนตาม แต่ในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งก็แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงการสอนแต่อย่างใด จนบางครั้งทำให้คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องส่งอาจารย์มาฝึกงานกับภาคเอกชนแทนที่จะแค่ส่งนักศึกษามาฝึกงาน

6) ขาดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษา ความร่วมมือของบ้านเรายังน้อยอยู่ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัย การผลิตบัณฑิต ยังถือว่าน้อยมากแม้บางแห่งจะมีการทำสหกิจศึกษากับภาคเอกชนแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนน้อย และขาดการนำปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรมมาศึกษาหรือทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย

7) ชนชั้นกลางบ้านเราฐานะดีขึ้น ความดิ้นรนที่จะต้องแสวงหารอาชีพหรือรายได้ที่ดัขึ้นจะน้อยลงทำให้ต่างกับบางประเทศอย่างพม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย ที่การเข้าสู่อาชีพบางอาชีพเช่นการทำงานด้านไอที หรือแพทย์สามารถเปลี่ยนอนาคตของพวกเขาไปในทางที่ดีขึ้น พอชนชั้นกลางบ้านเราฐานะดีความกระตือรือร้นก็จะน้อยลง ผู้ปกครองก็อยากให้ลูกสบายจริงมาปกป้องลูกหลานตัวเองในการเรียนและการทำงาน เช่นการออกมาตำหนิอาจารย์ที่สอนยากหรือตัดเกรดโหดทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง

8) การลงทุนด้านงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเรามีน้อยมาก เมื่อไม่มีการทำงานวิจัย ความต้องการนวัตกรรมใหม่ๆก็น้อย บัณฑิตที่มีคุณภาพเก่งๆมีนวัตกรรมก็ไม่สามารถจะหางานที่ท้าทายได้ ก็ได้สร้างวัฒนธรรมที่จะไปบอกรุ่นน้องให้เห็นว่าไม่ต้องเรียนอะไรมากไม่ต้องรู้อะไรมาก ทำงานง่ายๆซ้ำเดิม หรือบางครั้งก็คิดว่าที่เรียนมาไม่ได้ใช้อะไร เพราะบริษัทบ้านเราจำนวนมากเลือกที่จะทำงานง่ายๆไม่ซับซ้อนอะไรไม่ได้ใช้อะไรยากเกินไป

ปัญหาการศึกษาด้านไอทีกำลังเป็นวิกฤติใหญ่ที่ก็เห็นทุกฝ่ายพยายามที่จะแก้ไข แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วคงใช้วิธีเดิมๆระบบเดิมๆมาแก้ไขไม่ได้ แต่ก็อาจต้องปล่อยให้แก้โดยการเกิด Digital Disruption ในวงการศึกษาทางด้านนี้ขึ้นมาเอง ในยุคที่ผู้เรียนสามารถจะเรียนผ่านเทคโนโลยีจากที่ไหน วิชาใด อุปกรณ์ใดก็ได้ ตามที่ผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาปั่นป่วน มหาวิทยาลัยไทย

ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute

อาชีพโปรแกรมเมอร์ งานที่ท้าทาย รายได้ดี และมีอนาคตที่ดี จริงหรือไม่

เราต้องยอมรับครับว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์บ้านเราโตได้ยาก จะไปแข่งกับประเทศอื่นๆคงลำบากเพราะเราขาดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เก่งๆมากพอ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) หรือโปรแกรมเมอร์ (Programmer) เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ถ้าเรามีจำนวนไม่มากพอก็เหมือนขาดวัตถุดิบในการผลิตก็จะแข่งขันลำบาก ที่น่าตกใจกว่านั้นเด็กรุ่นใหม่ที่มาเรียนสายคอมพิวเตอร์บอกว่าไม่อยากเขียนโปรแกรม ส่วมมากเขียนโปรแกรมไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ไม่เก่งพอ แต่ที่แปลกใจคือจำนวนหนึ่งบอกว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์ไม่ก้าวหน้า รายได้ไม่ดี

Screenshot 2015-01-05 22.25.16

ผมค่อนข้างงงกับที่คนเข้าใจว่าอาชีพนี้ไม่มีเส้นทางอาชีพที่ดี มีรายได้ไม่ดี เพราะผมเองก็ยังคิดอยู่เสมอว่าตัวเองคือโปรแกรมเมอร์ คนที่ผมรู้จักมากมายทั้งไทยและต่างชาติที่ทำงานด้านการพัฒนาโปรแกรม ผมก็เห็นเขามีอนาคตที่ดี หลายคนมีรายได้เป็นแสนบาทต่อเดือน หลายคนก้าวขึ้นสู่การเป็น  CTO (Chief Technology Officer) มีเงินเดือนหลายแสนบาท แม้แต่เด็กจบใหม่ 4-5 ปีที่มีทักษะการพัฒนาโปรแกรมที่ดี มองเป็น  Architect Programmer เข้าใจการพัฒนาโปรแกรมแบบ Enterprise Application ก็มีเงินเดือน 7-8  หมื่นบาท

ใช่ครับอนาคตของอาชีพโปรแกรมเมอร์ไม่ใช่เป็นแค่คนเขียน Code ไปตลอดชีวิต เส้นทางของอาชีพนี้มีสิ่งใหม่ที่จะต้องเรียนรู้ตลอด เราไม่ได้พูดถึงคนที่เขียนแค่โปรแกรมง่ายๆอย่างมาทำหน้าเว็บ ใช้ Tool เขียน script ง่ายๆ หรือเขียนโปรแกรมบนมือถือแค่บางภาษา แต่อาชีพโปรแกรมเมอร์คือเส้นทางสู่ความเป็น IT Architecture และ Chief Technology Officer มันมีความท้าทาย และความยากของการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตลอด อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สนุกและรายได้ดี แต่แน่นอนถ้าตัวเองเป็นแค่ coder  จมปลักอยู่กับแค่การเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่ง เขียนโปรแกรมซ้ำซากๆ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เราก็อาจขาดความก้าวหน้า

แม้ผมจะทำงานบริหารแต่ผมนิยามตัวเองเสมอว่าผมยังเป็นโปรแกรมเมอร์ ทุกวันนี้ผมยังเขียนโปรแกรม แต่เปลี่ยนตามเทคโนโลยี และเป็น IT Architecture สมัยผมเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยผมเรียนโปรแกรมเพียงภาษาเดียวครับคือ Fortran IV สมัยนั้นผมไม่มีคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนหรอกครับ เราเรียนแบบแห้งแต่เวลาทำการบ้านเราต้องมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบเจาะบัตร  วิชา Computer Programming  ตัวนี้ละครับที่เปลี่ยนชีวิตผม เพราะผมเรียนภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าก่อนลงทะเบียนวิชานี้ เกรดผมย่ำแย่มาตลอดส่วนหนึ่งอาจเพราะบ้ากิจกรรมและสอบเทียบมาเลยเรียนไม่ทันเพื่อน แต่เพราะวิชานี้ละครับทำให้ผมค้นพบตัวเอง สนุกกับการเรียนและรู้ว่าการเขียนโปรแกรมคือทักษะของผม ผมได้ A วิชานี้วิชาแรกในการเรียนมหาวิทยาลัย และเป็นกำลังใจให้ผมได้เกรด A อีกหลายๆวิชาและเรียนจบมหาวิทยาลัยด้วย GPA ที่ดีขึ้น

ที่ผมชอบวิชา Computer Programming เพราะมันเป็นความท้าทายที่อยากจะเขียน ดีบัก และดูผลรันโปรแกรม มันคือความภูมิใจที่เราแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยการเขียนโปรแกรม พอตอนผมขึ้นชั้นปีที่  3 พ่อผมซื้อเครื่องคิดเลข Casio ที่สามารถโปรแกรมภาษา Basic ได้มาให้ผม ผมสนุกกับมันมากและก็ได้เขียนโปรแกรมรถถังยิงปืนใหญ่ในเครื่องนั้น แม้จะไม่มีรางวัลหรือการประกวดอะไรจากโปรแกรมที่ผมเขียน แต่คิดว่ามันได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมรักที่จะเขียนโปรแกรมมากขึ้น และตอนปีสามผมยังได้เลือกเรียนวิชาภาษา  Assembly ทำให้เข้าใจหลักการพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมมากขึ้น

จบปริญญาตรีมาใหม่ๆ ผมก็เริ่มศึกษาภาษา Pascal นั่งเขียนโปรแกรมหมากรุกความยาวเป็นหมื่นบรรทัด แต่ก็ไม่เห็นมันคำนวณหรือชาญฉลาดอะไรมากมาย เพราะความรู้เรื่อง Algorithm  ของผมมีไม่มากพอ สุดท้ายผมอยากให้มันมีเรื่องของ Artifical Intelligence ก็เลยไปศึกษาภาษา Prolog ช่วงก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท-เอกเมืองนอกแล้ว ผมเริ่มเป็นอาจารย์เด็กๆเขามอบหมายให้สอนวิชา Computer Programming รู้สึกเป็นวิชาที่สนุกและสอนง่าย เพราะเรามีทักษะการเขียนโปรแกรมแล้ว

ทักษะด้านการเขียนโปรแกรมนี่ละครับ ทำให้ผมจบปริญญาเอกได้ มีรายได้เสริมจากงานวิจัยที่ให้เราไปเขียนโปรแกรม ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้งาน ผมกลับไปนั่งเขียนโปรแกรมภาษา  C ซักสองชั่วโมงแล้วเดินกลับมาบอกอาจารย์ว่าเสร็จแล้ว ที่เสร็จเร็วเพราะว่ามันสนุกและท้าทาย แต่อาจารย์ที่ปรึกษาตกใจเพราะคิดว่าน่าจะใช้เวลาทำซักสองอาทิตย์ ตอนเรียนปริญญาเอกต้องทำเรื่อง Parallel Genetic Algorithm ต้องเขียนโปรแกรม MPI บนเครื่องคอมพิวเตอร์ MASPAR มันยิ่งท้าทายเข้าไปอีก และทำให้เข้าใจหลักการทำงานของ Parrallel Computer

จบกลับมาก็ยังสอนหนังสือด้านการเขียนโปรแกรม มาหัดเขียนภาษา C++ และมาเริ่มเรียนภาษา Java ภาษานี้ละครับทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปอีก ผมยอมจ่ายเงินเองหลายหมื่นบาทเพื่อไปเรียนและสอบเป็น Certified Java Programmer ซึ่งตอนนั้นอาจเป็นคนแรกของประเทศไทยด้วยซ้ำไป ความเป็นอาจารย์และเป็นนักพัฒนาโปรแกรมภาษาใหม่ๆในตอนนั้นได้ ทำให้งานการสอนการเขียนโปรแกรม Java  เข้ามาอย่างมากมาย ยังจำได้เลยว่าตอน Nokia  จะออกโทรศัพท์ Java Phone รุ่นแรก (Nokia 7650) มีตัวแทนของ Nokia ต้องบินมาหาผมเพื่อช่วยให้มาสอนและตั้งทีมพัฒนา Java ME ทั่วประเทศ

ความท้าทายของการพัฒนาโปรแกรมทำให้ ผมก็ต้องไปเรียนรู้สิ่งต่างๆอีกมาก พอมันเป็นยุคของ Enterprise Application ผมก็ต้องมาหัดเรียน Java Web Programming อย่าง Java Servlet หรือ JSP แล้วก็ก้าวข้ามมาเขียน EJB และเรียน Web Framework ต่างๆทั้ง Struts, JSF หรือ Hibernate การเรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นทำให้ผมเข้าใจ  IT Architecture ได้ดีขึ้น เข้าใจการออกแบบ Larger Scale Enterprise Application และเข้าใจเรื่อง Web Server ต่างๆ ทั้ง Tomcat, JBoss หรือ WebLogic นี่ครับเส้นทางของคนมีอาชีพโปรแกรมเมอร์ พอจับเรื่องยากๆขึ้นก็เป็นข้อดีเพราะน้อยคนที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้

พอเรื่องของ Web Services เข้ามามันก็ยิ่งเป็นความท้าทายให้เราเขียนโปรแกรมแบบ APIs มาทำเรื่องของ Application Integration แล้วพอเป็นยุคของ SOA ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องของ Architecture แต่คนที่มีพื้นฐานมาจากการเขียนโปรแกรมจะได้เปรียบ ที่จะเข้าใจ IT Architecture ได้ดีกว่า แม้ผมจะจับ Backend ข้างล่าง แต่การพัฒนาโปรแกรม Front ข้างหน้าอย่างการเขียน Web หรือ Smartphome App อย่างภาษาจาวาบน Android ก็อยู่ในความสนใจผม ตอนหลังมีเรื่องของ Wearable Devices ก็เริ่มไปหาข้อมูลการเขียนโปรแกรมบน  Smartwatch

พอมายุคของ Cloud  ในฐานะของคนพัฒนาโปรแกรมเราก็ต้องศึกษาด้านนี้โดยผมเริ่มพัฒนาและสอยการเขียรโปรแกรมบน Platform as a Service (PaaS)  ตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน โดยเริ่มพัฒนาโปรแกรมบน  Google App Engine ตอนหลังก็หันมาดู Platform อื่นอย่าง Heroku,  Force.com และก็มาใช้ IaaS อย่าง Amazon Web Services (AWS) ความเป็นโปรแกรมเมอร์ทำให้เข้าใจ Architecture ได้ดี ก็เลยเรียนรู้ Cloud Architecture อย่าง AWS ได้ง่ายขึ้น

สุดท้ายวันนี้เทคโนโลยีอย่าง Big Data เข้ามา คนเริ่มพูดถึง Hadoop มากขึ้น ก็เพราะความเป็นโปรแกรมเอร์อีกนั้นละ ทำให้เราพัฒนา Application บน Hadoop อย่าง Map/Reduce และเข้าใจเทคโนโลยีอื่นๆของ Hadoop  ได้ดีขึ้น มาวันนี้เรากำลังพูดถึง Data Science ความเป็นโปรแกรมเมอร์ทำให้เราเข้าใจการพัฒนาโปรแกรมโดยใช้  Mahout และพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ทำให้เข้าใจเรื่อง Data Science และผมก็เริ่มสังเกตุว่าเพื่อนๆต่างชาตืที่เป็นโปรแกรมเมอร์วันนี้เขาก็เริ่มมาใช้ Hadoop อย่างจริงจัง ใช่คร้บอาชีพโปรแกรมเมอร์นี่ละครับทำให้เรามีเส้นทางสู่ Architecture และ  CTO

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่ออยากบอกทุกคนที่กำลังจะเรียนหรือสนใจเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ว่า ต้องเรียนเขียนโปรแกรมครับ อาชีพโปรแกรมเมอร์ไม่ใช่เป็นแค่  Coder  แต่เป็นงานที่ท้าทายและสนุก มีรายได้ดีและมีเส้นทางสู่  CTO แต่ถ้าคนที่ขาดพื้นฐานที่ดีเขียนแค่เว็บหรือ  Script บางอย่าง ไม่เข้าใจ Architecture  อันนั้นไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ครับ เขาเลยคิดว่าอาชีพน่าเบื่อรายได้ไม่ดี แต่อาชีพโปรแกรมเมอร์ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด พยายามทำสิ่งใหม่ๆที่คนยังไม่ทำกันหรือเป็นคนกลุ่มแรกๆครับอนาคตจะดีมาก มาเรียนโปรแกรมกันครับหัวใจของงานด้านไอทีคือ Programming  ครับ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Screenshot 2015-01-05 22.42.27

เศรษฐกิจใหม่ว่าด้วยเรื่องดิจิทัล

ตอนผมเด็กๆกิจกรรมหนึ่งที่ผมชอบเล่นกับพี่ชายในช่วงวันปีใหม่ของทุกๆปีคือการติดสคส.ปีใหม่จำนวนมากที่แม่และพ่อได้รับติดโชว์รอบบ้าน มาวันนี้คุณแม่ผมจะบ่นว่าหาซื้อการ์ดปีใหม่ยากและไม่ค่อยได้รับเท่าไรแล้วแล้วคนที่เขาเคยมีอาชีพเหล่านี้ไม่ว่าคนทำสคส. คนส่งจดหมายต่อไปเขาไม่แย่หรอ

สมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อมีน้องใหม่เข้ามารายงานตัว เราจะเห็นร้านถ่ายรูปมารอรับถ่ายรูปนักศึกษาใหม่เต็มไปหมด รายได้ดีมากร้านถ่ายรูปร้านรับอัดภาพคนเนื่องแน่นอยู่เสมอ เราต้องขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปในเมืองรอรับรูป รอคิวเป็นเวลานานกว่าจะได้ เป็นธุรกิจที่น่าอิจฉาและน่าทำมาก แต่เมื่อวันก่อนผมกลับไปบริเวณเดิมที่เคยมีร้านถ่ายรูปหลายร้านในจังหวัด เหลือเพียงรายเดียวและไม่มีคนมากนัก

ยังไม่ต้องพูดถึงกิจการอื่นๆอีกมากมายที่กำลังเปลี่ยนไป ร้านขายหนังสือที่เคยเป็นเอเยนต์หนังสือรายใหญ่วันนี้เงียบเหงามาก ร้าน Travel Agent ร้าน Xerox แถวมหาวิทยาลัยที่เคยเฟื่องฟู พวกนี้หายไปหมดเพราะการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีดิจิทัล

โลกกำลังเปลี่ยนไปก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ เราหนีไม่พ้นเพราะดิจิทัลกำลังเข้ามา เราจะต้องมาคิดว่าเราจะอยู่รอดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเห็นข่าวตัวแทนจากธนาคารโลกในประเทศไทยกล่าวถึงตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศว่าประเทศไทยเราบ๊วยสุดในอาเซียน บางท่านก็อาจมองไปว่าเป็นเพราะปัญหาทางการเมืองเรา ผมคิดว่านั้นก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมคิดว่าอีกส่วนหนึ่งที่เรากำลังลำบากในการที่จะเห็นเศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตแบบเดิมๆลำบากก็เพราะเราติดกับดักดิจิทัล เรากำลังตามเศรษฐกิจใหม่ที่เราอาจใช้คำพูดว่า Digital Economy ไม่ทัน

Screenshot 2014-10-13 23.52.54

โลกกำลังเปลี่ยนแปลง แต่เรากำลังเดินอยู่ในวิถีเศรษฐกิจแบบเดิม เราเห็นการค้า E-Commerce กำลังเข้ามาแต่เราคิดว่าคนไทยไม่พร้อม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของ Internet Banking แต่เรากลับคิดว่าการทำธุรกรรมออนไลน์มีความเสี่ยง เราเห็นการทำ Booking Online แต่เรากลับคิดว่าเป็นเรื่องของคนต่างชาติหรือมองเป็นเรื่องไฮเทค เราเห็นหนังสือพิมพ์แบบอีบุ๊คเข้ามาแต่เราคิดว่าคนยังชอบอ่านแบบกระดาษ ก็เพราะเราคิดช้าเราคิดแบบเดิม ทำให้หลายๆอาชีพกำลังลำบากกำลังแข่งขันในอนาคตลำบาก

ทันทีที่ผมเห็นข่าวว่ารัฐบาลกำลังทำ Digital Economy ผมดีใจมากครับคิดว่าประเทศเรากำลังก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ นึกถึงโครงการใหญ่ๆอย่าง Eastern Sea Board สมัยพลเอกเปรมเป็นนายกฯที่ลงทุนเป็นหมื่นล้านแล้วช่วยทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงความเจริญที่เข้ามายังจังหวัดแถวนั้น ทำให้เราเห็นแถวชลบุรี ระยอง โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

การทำ Digital Economy คือการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้แบบก้าวกระโดด ผมอยากเห็นว่าถ้าเปลี่ยนตรงนี้มันจะต่างจากเศรษฐกิจแบบเก่าอย่างไร เราจะมีงานใหม่เกิดขึ้นในประเทศกี่ล้านตำแหน่ง คนในภาคเกษตรกรรม ภาคท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรมอื่นๆจะได้ประโยชน์อย่างไร ตัวชี้วัดก็ควรจะเป็นว่า GDP โดยรวมของประเทศจะโตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปี เช่นขึ้นไปถึง 20-30% ไหม มันจะโตแบบก้าวกระโดดอย่างไร แต่ไม่ใช่ตัวชี้วัดของกระทรวงไอซีทีครับต้องเป็นตัวชีวัดของรัฐบาล

ดังนั้นเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่แค่เรื่องของไอที ไม่ใช่มาดูว่าเราจะทำอะไรกับอุตสาหกรรมไอทีหรือจะกระตุ้นอุตสาหกรรมไอทีของประเทศอย่างไร ตอนนี้เปรียบเสมือนว่าประเทศคือบริษัทแห่งหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาว่าอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจไม่ดีพอ เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอาจต้องหาสินค้าหรือบริการใหม่ หรือข้อมูลสำหรับวิธีการขายแบบใหม่ๆ บริษัทนี้คงไม่ใช่แค่มามองว่าจะปฎิรูปแผนกไอทีอย่างไร ไม่ได้มาวัดว่าจะลงทุนด้านไอทีเป็นอัตราส่วนเท่าไร แต่มันควรเป็นการที่ฝ่ายต่างๆในบริษัทจะมาแนวทางร่วมกันว่าจะใช้ไอทีอย่างไรเพื่อให้บริษัทเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เช่นเดียวกันครับ บริบทของภาครัฐในการทำ Digital Economy ต้องไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงไอซีที ไม่ใช่แค่เรื่องของการปรับโครงสร้างกระทรวงไอซีที แต่มันควรเป็นเรื่องของทุกกระทรวงโดยเฉพาะกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจว่าเราจะทำอย่างไรโดยใช้ไอทีเพื่อให้เศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดด อะไรคือยุทธศาสตร์สำคัญในอนาคต ท่องเที่ยวหรือเกษตร ไอซีทีจะเข้ามาช่วยได้อย่างไร คิดอย่างไรถึงจะต่าง ตอนนี้ประเทศเรากำลังไล่ตามเขาเรื่องดิจิทัล ทำตามเขาเรื่อง E-Service อย่างมากก็ไล่เขาทัน ถ้าจะชนะเขาต้องหาวิธีคิดต่าง ข้อสำคัญเรากำลังทำ New Economy ต้องช่วยกันทุกฝ่ายว่าจะปฎิรูปประเทศให้เศรษฐกิจเราโตขึ้นอย่างไร ไม่ใช่มาคิดว่าอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศจะโตขึ้นกี่เปอร์เซนต์ อันนั้นมันเป็นผลพลอยได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจของประเทศโตจากการใช้ไอซีที ยังไงอุตสาหกรรมไอซีทีก็ต้องโตขึ้นอย่างมาก

ธนชาติ นุ่มนนท์

สรุปผลสำรวจ “ความพร้อมด้าน Cloud Computing ของหน่วยงานในประเทศไทย”

cloudmgmt

ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนที่ผ่านมาทางทีมวิจัยของ IMC Institute ได้ทำโครงการวิจัยเชิงสำรวจในหัวข้อ การสำรวจความพร้อมด้าน Cloud Computing ของหน่วยงานในประเทศไทย หรือ Cloud Computing in Thailand Readiness Survey 2014 ขึ้น ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ (Benchmarking) ความพร้อมของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทั้งนี้การสำรวจจะทำการสำรวจทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งที่เป็นขนาดใหญ่และขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเพื่อเป็นแนวทางและข้อมูลในการเตรียมความพร้อมบุคลากรและองค์กรในประเทศไทยต่อไป

บทความนี้จึงขอนำผลการสำรวจบางส่วนมาเผยแพร่ สำหรับผู้ต้องการอ่านผลการสำรวจฉบับเต็มสามารถรอหาอ่านได้จากยนิตยสาร e-Leader  ฉบับเดือนพฤศจิกายน การสำรวจนี้ทีมวิจัยได้จำนวนตัวอย่าง 177 ราย โดยจำแนกตามขนาดองค์กรเป็น หน่วยงาน/บริษัทขนาดใหญ่ (Large Enterprises) ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 61 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ของกลุ่มตัวอย่าง และองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีพนักงานน้อยกว่า 1,000 คน จำนวน 116 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66 ของกลุ่มตัวอย่าง

โดยมีผลการสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

  • การสำรวจข้อมูลการใช้ IT และแผนงานการใช้บริการด้าน Private Cloud
  • การสำรวจแผนงานและการใช้บริการด้าน Public Cloud
  • การสำรวจความพึงพอใจในภาพรวม เหตุผลและปัญหาอุปสรรคในการใช้บริการ Cloud Computing

โดยสามารถแจกแจงรายละเอียดผลการสำรวจได้ดังต่อไปนี้

ผลการสำรวจแผนงานด้าน Private Cloud ของหน่วยงานในประเทศไทย

จากการสำรวจเกี่ยวกับแผนด้านการใช้งาน Private Cloud ในภาพรวมจากกลุ่มตัวอย่าง 167 ราย ที่ตอบว่ามี Servers ใช้งานในองค์กรนั้น พบว่าจำนวน 47 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 28 มีการใช้งาน Private Cloud อยู่แล้วในปัจจุบัน จำนวน 48 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 29 มีแผนการใช้ติดตั้งในอนาคต แต่ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 43 หรือ 72 ราย ยังไม่มีแผนงานด้าน Private Cloud แต่อย่างใด

Screenshot 2014-10-08 07.51.16

รูปที่ 1 แผนงานด้าน Private Cloud

ผลการสำรวจแผนงานด้าน Public Cloud ของหน่วยงานในประเทศไทย

ในปัจจุบันการใช้บริการ Cloud Computing ในประเทศไทย เริ่มแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการบริการ Infrastructure as a Services (IaaS) และ Software as a Service (SaaS) ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนผู้ให้บริการ (Service Providers) ในประเทศจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนรูปแบบการบริการ Platform as a Service (PaaS) ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ให้บริการภายในประเทศ

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีหน่วยงานกว่า 81 หน่วยงาน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.76 มีแผนงานใช้บริการ Public Cloud โดยสามารถจำแนกรายละเอียดความต้องการใช้งานตามรูปแบบการให้บริการ Cloud Computing หรือ Cloud Service Models โดยสามารถสรุปผลสำรวจเกี่ยวกับความต้องการของหน่วยงานที่มีแผนการใช้บริการ Public Cloud ดังนี้

  • มีความต้องการใช้บริการรูปแบบ IaaS มากเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.67

  • มีความต้องการใช้บริการรูปแบบ SaaS มากเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.49

  • มีความต้องการใช้บริการรูปแบบ PaaS น้อยที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 39.51

Screenshot 2014-10-08 07.54.08

รูปที่ 2 แผนงานด้าน Public Cloud

เมื่อสอบถามถึงประเภทของ Software ที่ต้องการใช้บริการ SaaS Public Cloud ทีมงานวิจัยพบว่า 5 อันดับแรกของ SaaS applications ที่หน่วยงานกลุ่มตัวอย่างต้องการใช้ มีดังนี้ โดยมีรายละเอียดแสดงในรูปที่ 3

อันดับที่ 1 ระบบ E-mail มีความต้องการใช้ร้อยละ 63.39

อันดับที่ 2 Desktop/Office อาทิเช่น Office 365 มีความต้องการใช้ร้อยละ 56.06

อันดับที่ 3 Storage อาทิเช่น Dropbox มีความต้องการใช้ร้อยละ 46.94

อันดับที่ 4 CRM มีความต้องการใช้ร้อยละ 30.61

อันดับที่ 5 ERP มีความต้องการใช้ร้อยละ 24.49

Screenshot 2014-10-08 07.56.49

รูปที่ 3 ประเภท Software ที่ต้องการใช้บริการ SaaS Public Cloud

ภาพรวมความพึงพอใจ เหตุผลการเลือกใช้ และปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการใช้บริการ Cloud Computing ในประเทศไทย

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดถึงระดับความพึงพอใจในการใช้บริการ Cloud Computing ในภาพรวม โดยมีระดับความพึงพอใจตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 (1 ไม่พึงพอใจที่สุด ถึง 5 พึงพอใจมากที่สุด) พบว่าระดับความพึงพอใจเฉลี่ยในการให้บริการ Cloud Computing ของหน่วยงานใประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.72 ซึ่งถือว่าหน่วยงานส่วนใหญ่มีความพึงพอในต่อการใช้บริการ

โดยเมื่อสำรวจถึงปัจจัยในการเลือกใช้บริการ Public Cloud ของหน่วยงานต่างๆ พบว่า เหตุผลหลักในการเลือกใช้บริการ Cloud Computing ที่มีสัดส่วนสูงที่สุด คือ พิจารณาจากข้อมูลด้านเทคนิคของผู้ให้บริการ อาทิเช่น ข้อมูล Data Center และ Bandwidth เป็นต้น ทั้งนี้ราคา รวมถึงรูปแบบราคาที่ยึดหยุ่นสอดคล้องกับขนาดธุรกิจ และ การพิจารณาจาก SLA ของผู้ให้บริการ ถือเป็นเหตุผลสำคัญอันดับที่สองในสัดส่วนที่เท่ากันในการพิจารณาเลือกใช้บริการ Cloud Computing โดยปัจจัยเลือกใช้อันดับที่ 3 คือ พิจารณาจากชื่อเสียงของผู้ให้บริการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ในส่วนของการพิจารณาเลือกใช้บริการ Cloud Computing จากการมีตัวแทนของผู้ให้บริการในประเทศไทย และจากคำแนะนำของที่ปรึกษาหรือแหล่งอ้างอิงอื่น ถือว่ามีความสำคัญแต่อยู่ในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก

Screenshot 2014-10-08 07.59.07

รูปที่ 4 เหตุผลของหน่วยงานในการเลือกใช้บริการ Public Cloud

แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานหรือใช้บริการ Cloud Computing ในประเทศไทยยังคงต้องก้าวข้ามอุปสรรคที่เผชิญอยู่หลายประการด้วยกัน ซึ่งจากผลการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างในประเด็นที่เกี่ยวกับอุปสรรคในการใช้ Cloud Computing พบว่า กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 70.62 เห็นว่าการใช้งาน Cloud Computing ยังมีความเสี่ยงด้านระบบความปลอดภัยต่างๆ อาทิเช่นเรื่องข้อมูล ร้อยละ 49.15 เห็นว่าการขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Cloud Computing ที่ดีพอ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยร้อยละ 45.20 เห็นว่ากฎระเบียบของหน่วยงานและภาครัฐยังไม่เอื้อต่อการใช้งาน Cloud Computing ร้อยละ 33.90 เห็นว่ายังขาดความตระหนักและยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน ร้อยละ 31.64 ยังไม่มีงบประมาณในด้านดังกล่าว อีกทั้งร้อยละ 23.10 เห็นว่าการใช้งาน Cloud ในประเทศไทยยังขาดมาตรฐานอีกหลายๆด้าน และอีกร้อยละ 19.77 พบว่ายังไม่มีผู้ให้บริการที่สามารถให้บริการสอดคล้องกับความต้องการ

Screenshot 2014-10-08 08.01.47

รูปที่ 5 อุปสรรคของการใช้ Cloud Computing

นั้นคือบทสรุปคร่าวๆของผลสำรวจครั้งนี้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อมาได้ที่ contact@imcinstitute.com

Digital Economy กับการปฎิรูปประเทศไทย

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่บางท่านและเพื่อนในวงการไอทีถามถึงแนวคิดของผมในเรื่องของการปฎิรูปประเทศไทยว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรโดยเฉพาะเรืองของไอที และยิ่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้รัฐบาลโดยการแถลงของนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯมรว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาจุดกระแสเรื่องของ Digital Economy ก็ทำให้กระแสการปฎิรูปด้านไอซีทีที่จะมีผลต่อการผลักดันการปฎิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีความร้อนแรงยิ่งขึ้น

แม้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าแผนงาน  Digtal Economy จะมีอะไรบ้าง แต่ภาพที่เริ่มเห็นคือการปรับโครงสร้างกระทวงไอซีทีและเปลี่ยนชื่อให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล และก็มีภาพกราฟฟิกของนสพ. Post Today ที่ลงตีิพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาระบุโครงการต่างๆดังรูป

DigitalEconomy

รูปที่ 1 ยุทธศาสตร์ Digital Economy [ภาพจากหนังสือพิมพ์ Post Today]

ยุทธศาสตร์  Digital Economy เป็นเรื่องทีดีมาก และถ้ารัฐบาลผลักดัันอย่างจริงจัง ไม่ใช่สร้างมาเป็น Propaganda เหมือนรัฐบาลยุคเลือกตั้งที่ผ่านๆมาซึ่งจะสรรหาคำสวยงามมาประกอบนโยบายเช่น Naional Broadband หรือ  Smart Thailand  แต่ก็ไม่ได้ดำเนินงานและจัดสรรงบประมาณอย่างจริงจัง ยังจำได้ว่าเมื่อมีการปฎิรูประบบราชการครั้งใหญ่รัฐบาลทักษิณได้จัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แต่เมื่อมีการโยกย้ายหน่วยงานต่างๆและเห็นภาระกิจที่แท้จริงแล้ว การจัดตั้งกระทรวงไอซีทีในตอนนั้นก็เป็นแค่การทำภาระกิจชั่วคราวเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ความไม่จริงจังในตอนนั้นจึงทำให้กระทรวงไอซีทีในวันนี้ไม่สามารถดำเนินงานต่างๆได้อย่างที่ควรจะเป็นทั้งนี้เพราะขาดบุคลากร อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างที่เหมาะสม

ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีเพราะเรากำลังพูดถึงการปฎิรูปประเทศ และรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ผมจำได้ว่าตั้งแต่เด็กมาจนปัจจุบัน เคยเห็นโครงการใหญ่ๆเพียงโครงการเดียวที่ผลักดันจนประสบความสำเร็จคือโครงการ  Eastern Seaboard  ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ายุคนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเกรงใจนักการเมืองมากนัก และอีกอย่างผู้นำสมัยนั้นมีความเด็ดขาด

สถานการณ์ในวันนี้คล้ายๆกับยุคนั้นแม้รัฐบาลจะตั้งเป้าที่จะปฎิรูปประเทศในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี แต่การปฎิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจเชิงดิิจิทัลอาจต้องทำหลายประการดังนี้ ซึ่งบางเรื่องก็น่าจะอยู่ในแผนของทีมงานแล้ว แต่ผมขอนำเสนอความคิดดังนี้

1) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเชิงดิจิทัล

การปฎิรูปอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากการสร้างถนนและทางคมนาคมครั้งใหญ่ของประเทศเขาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เมื่อพูดถึง  Digital Economy เรากำลังขนส่งข้อมูลจำนวนมากโดยสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เราจึงจำเป็นต้องมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีเชื่อมต่อกันทุกพื้นที่ High Speed Broadband ก็เปรียบเสมือนถนน Highway ที่จำเป็นต้องเข้าถึง ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ถ้าเราไม่มีถนนแล้วอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆที่เปรียบเสมือนยานพาหนะจะเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็วได้อย่างไร อีกเรื่องที่สำคัญคือการขยายการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ 4G ที่ควรจะต้องเร่งให้สัมปทานและอาจต้องรีบเตรียมการให้รองรับเทคโนโลยีที่จะเกิดใหม่อย่าง  5G ด้วยความรวดเร็ว ไม่ใช่รอให้ล้าหลังประเทศอื่นๆอย่างการให้สัมปทาน  3G หรือ  4G เหมือนที่ผ่านมา

การตั้งหน่วยงาน  Broadband  แห่งชาติ อาจจะยังไม่สำคัญเท่ากับการวาง  Blueprint ด้านเครือข่าย  Broadband รวมถึงการผลักดันให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมของภาคเอกชนในการให้บริการ  Highspeed Broadband กับภาคประชาชนอย่างทั่วถึง การให้บริการของภาครัฐเพื่อเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึง Highspeed Broadband  ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างเชิงดิจิทัล และการลดความซ้ำซ้อนของการสร้างเครือข่ายของหน่วยภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้เราได้เครื่อข่ายที่มีคุณภาพและประหยัดการลงทุน

2)  การสร้าง  Digital Mindset  ให้กับสังคม

ในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งการเล่น Facebook, Smartphone  และ Tablet แต่สิ่งที่พบคือส่วนมากใช้เพื่อความบันเทิง ไม่ได้ถูกนำใช้ในด้านการทำงานมากนัก การทำธุรกิจโดยมากยังอยู่บนพื้นฐานแบบเดิม ยังขาดความตระหนักการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เรายังพบว่าธุรกิจด้านต่างๆจำนวนมากไม่สามารถแข่งขันบนโลกออกไลน์ได้ คนไทยจำนวนมากยังไม่กล้าที่จะทำธุรกรรมออนไลน์ ยังขาดความสามารถในการติดต่อสื่อสารเชิงดิจิทัล ทักษะการค้นคว้าและกลั่นกรองข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตยังไม่ดีพอ ทำให้เราจะแข่งขันเชิงธุรกิจไร้พรมแดนผ่านโลกดิจิทัลลำบาก

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับภาคส่วนต่างๆทั้งภาคธุรกิจ ราชการ  รวมทังอุตสาหกรรมต่างๆทั้ง เกษตรกรรม การท่องเที่ยว การขนส่ง เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ Digital Economy เมืื่อผู้คนในสังคมมีความตระหนักด้านดิจิทัลเราก็จะเห็นการใช้ข้อมูลออนไลน์ต่างๆมากขึ้น สังคมและธรกิจก็จะเข้าสู่การเป็น Digital Economy มากขึ้น และเราอาจจะเห็นเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่ Real-Time Economy ซึ่งเป็นคำที่ทันสมัยกว่าและสอดคล้องกับปัจจุบันมากกว่าคำว่า  Digital Economy

3) การพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยด้านไอซีที

การพัฒนา Digital Economy ที่ดีจะต้องมีพื้นฐานของงานวิจัยและพัฒนาทางด้านไอซีืีที ที่ผ่านมาเรามีงานวิจัยทางด้านนี้น้อยมาก เรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศทั้งทางด้าน Hardware, Communication  และ  Software อยู่มาก ตัวอย่างเช่นเราขาดบุคลากรทางการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ การผลิตบุคลากรก็ไม่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เราคงไม่ต้องไปคาดหวังว่าอุตสาหกรรมทางด้านนี้เราจะไปแข่งในระดับโลก เพราะยังไงเสียก็ตามเราคงแข่งขันในระยะสั้น 5-10 ปีลำบากเพราะเราขาดบุคลากร แต่สิ่งที่เราต้องทำในระยะสั้นคิอต้องพัฒนาให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตภายในประเทศได้บ้างรวมถึงอาจต้องทำให้การนำเข้านักพัฒนาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกที่จะเข้ามาทำงาน และระยะยาวก็คงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ โดยเฉพาะเน้นการปฎิรูปการศึกษาให้เยาวชนไทยมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

4) การปฎิรูปกฎหมายด้านดิจิทัล

กฎระเบียบหลายๆอย่างของบ้านเรายังไม่เอื้อต่อการเป็น Digtial Economy การติดต่อราชการหลายๆเรื่องเราต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ถึงแม้ว่าบ้านเราเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ใช้บัตรประชาชนที่เป็น smartcard แต่การทำธุรกรรมในหน่วยงานต่างๆยังต้องมีการทำสำเนาบัตรประชาชน ในแง่การจัดซื้อจัดจ้างหรือการทำนิติกรรมต่างๆยังมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างล้าหลังอ้างอิงกับรูปแบบเดิมๆที่ต้องใช้หลักฐานจำนวนมากในรูปแบบที่เป็นกระดาษและสำเนาซึ่งไม่เอื้อต่อการทำธุรกรรมออนไลน์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านดิจิทัลจำนวนมากยังไม่ผ่านสภาฯไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านลายเซ็นดิจิทัล กฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย กฎหมายคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันเรามีกฎหมายเหล่านี้หลายร้อยฉบับที่จะต้องทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง  นอกจากนี้ถ้าเราต้องการเข้าสู่  Real Time Economy อย่างเต็มรูปแบบเราอาจต้องแก้แม้กระทั่งกฎหมายแรงงานที่ครอบคลุมให้ลูกจ้าง สามารถทำงานแบบออนไลน์ หรือทำงานที่บ้านได้ โดยได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง

5) การผลักดันให้เกิดกฎหมาย Open Data

อีกประเด็นที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิดเรื่อง Open Data ทีเป็นการเปิดข้อมูล (และ Information) ของรัฐบาล องค์กรสาธารณะต่างๆ และหน่วยงานเอกชนที่ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาขน ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเปิด (Open Format) ไม่ใช่มาตรฐานเฉพาะ (Proprietary format) เพื่อคนหรือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ แล้วนำไปใช้หรือต่อยอดในการพัฒนาข้อมูลอื่นๆต่อไปได้ การเปิดข้อมูลจะเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชนและยังช่วยทำให้เกิดการนำไปใช้ในด้านอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อไป

การมี Open Data โดยเฉพาะในภาครัฐบาลนอกเหนือจากการสร้างความโปร่งใสและทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อมูลของภาครัฐในด้านต่างๆเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกเช่นการช่วยทำให้บริการของรัฐดีขึ้นอาทิเช่น การเปิดเผยข้อมูลจราจรทำให้เกิดบริการสาธารณะที่ดีขึ้นรวมถึงทำเกิดธุรกิจต่างๆขึ้นมากมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นเรื่องสำคัญในการปฎิรูปประเทศให้สู่เศรษฐกิจเชิงดิจิทัลก็คือ การผลักดันกฎหมาย  Open Data โดยการอิงหลัก 8 ประการตามที่ผมเคยเสนอไว้ในบทความ Open Government Data กับการปฎิรูปประเทศไทย

6)  การปฎิรูปหน่วยงานภาครัฐด้านไอซีที

หน่วยงานทางด้านไอซีทีของภาครัฐยังขาดความพร้อมทั้งในแง่ของบุคลากรและอำนาจหน้าที่ที่จะมากำกับหน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ยังขาดความชัดเจนของบทบาทหน้าที่ และบางหน่วยงานก็มีหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน เรามีทั้งองค์กรอิสระที่เป็นผู้ดูแลกำกับโครงสร้างด้านอินเตอร์เน็ตและโทรคมนาคมอย่าง กสทช แต่ขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีก็มีบางภารกิจบางอย่างที่ใกล้เคียงหรือซ้ำซ้อนกัน เรามีหน่วยงานในกำกับที่เป็นองค์กรมหาชนภายใต้กระทรวงไอซีทีหลายหน่วยงานอย่าง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) แต่บางครั้งหน่วยงานเหล่านี้เช่น  EGA กลับไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่เข้าไปกำกับดูแล e-Service ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ทำให้การบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐยังขาดทิศทางที่สอดคล้องกัน หรือบางหน่วยงานอย่าง  SIPA ก็มีปัญหาภายในที่ไม่รู้จบทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถคาดหวังอะไรได้

หน่วยงานด้านไอซีทีก็ย้งอยู่ข้ามกระทรวงต่างๆเช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีหน่วยงานอย่าง NECTEC ที่น่าจะมีการบูรณาการบางภารกิจมาอยู่ใต้กระทรวงใหม่ หรือแม้แต่หน่วยงานอย่าง Software  Park ซึ่งไม่มีงบประมาณจัดสรรมาดำเนินงานใดๆโดยตรงก็ควรจะมีการทบทวนบทบาทบทบาทและหน้าที่ว่าควรจะจัดสรรงบประมาณให้โดยตรงหรือไม่ หรือควรจะอยู่ในสังกัดใด  ยังไม่รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่จะมีผลต่อการปฎิรูปเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สสว. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากที่อาจจะต้องมีการจัดภารกิจใหม่ให้สอดคล้องกัน หรืออาจต้องมีการตั้งหน่วยงานภายใต้กระทรวงที่จะเกิดมาใหม่

บทสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคือแนวคิดบางประเด็นของผมต่อการปฎิรูปประเทศ และเป็นสิ่งที่ควรจะทำได้ภายในหนึ่งปี โอกาสนี้เป็นโอกาสดีของประเทศที่จะทำให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการดำรงไว้ซึ่งหลักการและแนวคิดของ Digital Economy ถ้ารัฐบาลตั้งเป้่าไว้ว่าจะอยู่เพียงหนึ่งปีคงจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นหลังปฎิรูปเสร็จรัฐบาลควรที่จะรักษาอำนาจและทำงานต่ออีกซักพัก เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายมิฉะนั้นแล้วการปฎิรูปจะสูญเปล่า เราอาจเห็นแค่การตั้งกระทรวง  Digital Economy  ขึ้นมาแค่นามธรรมแต่สุดท้ายการปฎิบัติก็จะไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์

สุดท้ายคำว่า Digital Economy  หรือคำว่า Real-time Economy มันก็คือ  New Economy เรากำลังปฎิรูปเศรษฐกิจใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมมากที่สุดในการปฎิรูปครั้งนี้  เราอย่าลืมนะครับว่าประเทศ สิงคโปร์ที่ปฎิรูปประเทศมาได้ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีลีกวนยูมีอายุไม่ถึง 40  ปี ตอนเราปฎิวัติ 2475  ผู้นำในคณะราษฎร์ส่วนใหญ่คือคนอายุต่ำกว่า  40 ปี ถ้าเราจะปฎิรูป  Digtial Economy  แล้วเราจะเอาแต่คนรุ่นเก่ามาปฎิรูปแล้วพยายามจะมาบอกว่าอนาคตของเศรษฐกิจหรือวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่จะเป็นไปได้อย่างไร ยิ่งคนคิดปฎิรูปหลายๆคนอาจมีความเข้าใจเรื่องดิจิทัลน้อยกว่าคนรุ่นใหม่บางทีก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก อย่าว่าแต่คนอายุมากกว่า 60  ปีเลยครับแม้แต่คนรุ่นอย่างผมบางทีก็อาจอายุมากเกินไปแล้วในการจะมาคิดเรื่องปฎิรูปให้พวกเขาตามลำพัง เราควรต้องมีสัดส่วนของเด็กรุ่นใหม่ๆจำนวนมากในการปฎิรูปสังคมสู่    Digital Economy มันเป็นเรื่องของ New Generation  สู่  New Economy ไม่ใช่แค่กลุ่มของผู้ใหญ่มาคุยกันแล้วจะบอกอนาคตให้คนรุ่นใหม่ที่เขาต้องอยู่กับอนาคตของเขาอีกหลายสิบปี ครับให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของเขาด้วยครับ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Open Government Data กับการปฎิรูปประเทศไทย

กระแสการปฎิรูปประเทศไทยมีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกปปส.จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารของคสช.และกำลังจะมีการตั้งสภาปฎิรูปขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะปฎิรูปไว้ 11 ด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะเน้นถึงปัญหาที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเราที่เป็นรากฐานของปัญหาต่างๆ หลายๆคนมองว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ในแง่ของคนไอทีเรามองว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการทำงานจะมีส่วนช่วยในการสร้างธรรมภิบาลในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของ  “Open Data” แต่เมื่อไปพิจารณาโครงสร้างการปฎิรูปที่วางแผนไว้ทั้ง 11  ด้านจะเห็นได้ว่าเราไม่มีการพูดถึงเรื่องไอทีเลยทั้งๆที่เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ

UN E-Government Index

หากเราได้ศึกษาการสำรวจด้าน E-Government ขององค์การสหประชาชาติที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001  จากรายงาน United Nation E-Government Survey ที่ออกมาทุกสองปี เราจะเห็นได้ว่าบริบทของการสำรวจ เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและการสร้างธรรมาบิบาล รวมถึงพิจารณาการมีส่วนรวมของภาคประชาชนดังแสดงในรูปที่ 1  ที่เราจะเห็นได้ว่าในครั้งแรกปี 2001  E-Government อาจจะเน้นเรื่องของการพัฒนาเว็บไซต์ของภาครัฐ แล้วเปลี่ยนมาเน้นในเรื่องของการใช้  Social Media ของภาครัฐในปี 2004/2006 และกลายมาเป็นเรื่องของ Cloud Computing/Smartphone ในปี 2010 และรายงานล่าสุดการสำรวจจะเน้นเรื่องของ Open Government Data/Linked Data

e-GovSurvey

รูปที่  1 การสำรวจ UN E-Government Survey

ผลการสำรวจด้าน E-Government ขององค์การสหประชาชาติก็จะสอดคล้องกับดัชนีความโปร่งใสของประเทศ ซึ่งเราจะพบว่าประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชั่นน้อยก็จะมีอันดับ E-Government ที่สูง ซึ่งการสำรวจล่าสุดในปี 2014 ก็จะเน้นเรื่อง Big Data และ  Open Government Data และพบว่าประเทศที่มีการเปิดข้อมูลในภาครัฐก็จะมีคะแนนค่อนข้างสูง โดยประเทศเกาหลีใต้ก็มีอันดับที่หนึ่งอย่างต่อเนื่องมาสามสมัยทั้งนี้เพราะประเทศเขาได้ปรับระบบ E-Government มาตลอดเพื่อเน้นให้เกิดการทำงานภาครัฐที่รวดเร็วและโปร่งใส ส่วนประเทศไทยเราจะพบว่าอันดับด้าน E-Government ของเราตกลงมาตลอด ส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐ แต่เป็นเพราะดัชนีการคอร์รัปชั่นของประเทศสูงขึ้น ก็ทำให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นไปได้ยาก เพราะผู้บริหารประเทศก็ย่อมไม่อยากให้เกิดการตรวจสอบโดยง่า เราจะเห็นได้ในรูปที่ 2  ว่าประเทศไทยมีอันดับด้าน E-Government ตกลงมาในอันดับที่ 102 และมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและภูมิภาคเอเซีย

Thailand-Index

รูปที่  2 E-Government Index ของประเทศไทย

Open Government Data

Open Government Data (OGD) คือการความพยายามของทั่วโลกที่จะเปิดข้อมูล (และ Information) ของรัฐบาลและองค์กรสาธารณะต่างๆซึ่งไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาขน ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเปิด (Open Format) ไม่ใช่มาตรฐานเฉพาะ (Proprietary format)  เพื่อคนหรือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ แล้วนำไปใช้หรือต่อยอดในการพัฒนาข้อมูลอื่นๆต่อไปได้  การเปิดข้อมูลจะเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชนและยังช่วยทำให้เกิดการนำไปใช้ในด้านอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อไป

UNData

รูปที่  3 เว็บไซต์ data.un.org

ในปัจจุบันมีหลายๆประเทศและองค์กรที่พยายามสร้าง Open Data  อาทิเช่นองค์การสหประชาชาติได้สร้าง Portal ที่ชื่อ data.un.org หรือทางสหราชอาณาจักรก็มีเว็บไซต์อย่าง data.gov.uk ที่มีข้อมูลของภาครัฐด้านต่างๆรวมถึงข้อมูลการใช้จ่ายของภาครัฐ และก็มีการนำข้อมูลไปพัฒนา Application ต่างๆถึง  300 กว่า  App ประเทศในเอเซียหลายๆประเทศทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ต่างก็พัฒนา Portal สำหรับ  Open Data  หลายประเทศก็ได้ออกกฎหมายให้มีการเปิดข้อมูลภาครัฐให้เป็นมาตรฐานที่คนอื่นๆอ่านได้ ทางสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ประกาศนโยบาย Open Data เมื่อเดือนพฤษภาคม  2013 และมีการประกาศเรื่อง  Data Act  ในเดือนพฤษภาคม  2014

UKData

รูปที่  4 เว็บไซต์ data.gov.uk

หลักการของ OGD จะมี 8 ด้านดังนี้

  • Completeness ข้อมูลภาครัฐทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลหรือความมั่นคงจะต้องถูกเปิด
  • Primacy ข้อมูลที่จะถูกเปิดจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่ถูกเก็บไว้ โดยไม่มีการปรับปรุงและแก้ไขก่อนเปิด
  • Timeliness ข้อมูลจะถูกเปิดโดยทันทีทันใด
  • Ease of Physical and Electronic Access ข้อมูลถูกเปิดเพื่อให้ผู้ใช้ที่หลากหลายและมีจุดประสงค์ต่างกัน
  • Machine readability  ข้อมูลจะต้องอยู่ในรูปแบบที่นำไปประมวลผลได้โดยอัตโนมัติ
  • Non-discrimination ทุกคนสามารถนำข้อมูลไปใช่้ได้ โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้
  • Open formats ข้อมูลต้องเป็นมาตรฐานที่เปิด
  • Licensing  ข้อมูลจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้งาน

ประโยชน์ของ Open Government Data

การทำ OGD นอกเหนือจากการสร้างความโปร่งใสและทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อมูลของภาครัฐในด้านต่างๆเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกดังแสดงในรูปที่ 5  คือการช่วยทำให้บริการของรัฐดีขึ้นอาทิเช่น การเปิดเผยข้อมูลจราจรทำให้เกิดบริการสาธารณะที่ดีขึ้น การเปิดเผยข้อมูลอาชญกรรมก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ดังแสดงตัวอย่างของการสร้าง Mobile App ที่เป็นประโยชน์จากการเปิดข้อมูลในประเทศอังกฤษดังแสดงในรูปที่ 6

OpenDataBenefit

รูปที่  5 ประโยชน์ของการทำ Open Government Data

UKApp

รูปที่  6 ตัวอย่างการบริการภาครัฐที่ดีขึ้นจาก OGD ของสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ OGD ยังทำเกิดธุรกิจต่างๆขึ้นมากมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีรายงานระบุว่าการทำ  OGD ในกลุ่มประเทศยุโรปทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 4 หมื่นล้านยูโรต่อปี การเปิดข้อมูลพยากรณ์อากาศในสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดบริษัทใหม่ๆถึง 400 บริษัทและมีการว่าจ้างงานใหม่ถึง  4,000  ตำแหน่ง สำหรับประเทศสเปนการเปิดข้อมูลทำให้เกิดธุรกิจถึง 600 ล้านยูโรและตำแหน่งงานใหม่มากกว่า 500 ตำแหน่ง

ล่าสุดการเลือกตั้งประธาธิบดีในประเทศอินโดนีเซีย ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของเขาได้เปิดข้อมูลการนับคะแนน ทำให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใสยิ่งขึ้นและเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า  Crowdsourcing ที่ภาคประชาชนจากที่ต่างๆมาร่วมกันตรวจสอบและนับคะแนนการเลือกตั้ง

บทสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ถ้าเราจะปฎิรูปประเทศไทย และให้เกิดความโปร่งใส แล้วยังได้บริการภาครัฐที่ดีขึ้น รวมถึงประโยชน์เชิงธุรกิจ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องผลักดันให้เกิดกฎหมาย Open Government Data   ที่สอดคล้องกับหลักการทั้ง  8 ข้อของการเปิดข้อมูลภาครัฐ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

สิงหาคม 2557

บุคลากรไทยกับความพร้อมสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

ต้องยอมรับว่าไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก อาจเพราะนอกจากวุ่นกับงานและสถานการณ์บ้านเมืองทำให้ไม่มีเวลาจะมาเขียนบล็อกหรือบทความแม้จะถูกทวงถามมาหลายครั้งแล้วก็ตาม มาช่วงนี้เริ่มว่างขึ้นและก็มีโอกาสเข้าไปบรรยายพูดคุยกับสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากขึ้น ตลอดจนได้อ่านความเห็นต่างๆทาง Social Media เกี่ยวกับบุคลากรทางด้านไอที ก็มักจะได้ยินปัญหาเดิมว่า “สถาบันการศึกษาผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม” “บริษัทหาคนเข้าทำงานได้ยากมาก” แต่ขณะเดียวกันก็กลับได้ข่าวมาอีกด้านว่าหนึ่งในสาขาที่มีบัณทึตตกงานมากที่สุดก็คือทางด้านคอมพิวเตอร์

ดูข้อมูลอย่างนี้แล้วมันเหมือนกับว่า Demand และ Supply ไม่สอดคล้องกัน อุตสาหกรรมก็บ่นว่าหาคนไม่ได้ เด็กที่จบมาก็บ่นว่าหางานทำไม่ได้ สถาบันการศึกษาก็ตั้งหน้าผลิตบัณฑิตออกมา บังเอิญสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสร่วมวงเสวนากับคณาจารย์ด้านวิศวกรรมและวิทยาการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยชั้นนำ และเอกชนที่ต้องการบัณฑิต มาถกปัญหากันเรื่องนี้ ผมฟังแล้วเลยสรุปเองว่า จริงๆหลักสูตรของสถาบันการศึกษาดีๆส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ผิดอะไร เราทำตามมาตรฐานสากล แต่เราผิดที่ไปตั้งความคาดหวังสูงเกินไป เราทำตัวเป็นนักการตลาดพยายามจะสร้างภาพว่า เราจะก้าวเป็นผู้นำอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โลกโดยไม่ดูความจริง เลยรับนักศึกษามามากไปบนความไม่พร้อม

คุณภาพของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

ผมจบมหาวิทยาลัยสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 2529 สมัยนั้นมีคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่เพียงแค่ 8 สถาบันรวมบัณฑิตทางด้านทั้งหมดไม่เกิน 2 พันคน ผมเองจบมาก็ไม่ได้มีความพร้อมหรือมีทักษะตรงกับที่อุตสาหกรรมต้องการทันที จบไปก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมครับ และถ้าพูดถึงทางด้านคอมพิวเตอร์ผมก็เรียนมาแค่วิชาเดียวคือ การเขียนโปรแกรมภาษา  Fortran IV  สมัยนั้นยังเจาะบัตรอยู่เลยครับ เครื่องเป็นแบบในรูปนั้นละครับ มาปีสุดท้ายถึงจะเริ่มเห็นเครื่องพีซีเครื่องแรก แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรคือวิขาคณิตศาสตร์ ที่เรียนมา 8-9 วิชา และก็ผมถูกสอนให้เรียนรู้เพิ่มเติมครับ คือ Learn to Learn ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ แม้ผมจะเรียน Programming มาตัวเดียว แต่เพราะพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดีืทำให้ผมสามารถเขียนโปรแกรมภาษาใหม่ เรียนรู้วิชาตามเทคโนโลยีใหม่ๆได้ดี มาวันนี้พอพูดถึงการเขียนโปรแกรมบน  Cloud Computing   หรือ Hadoop Big Data ผมก็ยังเขียนได้อยู่

NEAC220

 รูปที่ 1 เดรื่องคอมพิวเตอร์ NEAC 2200 / 200 

ผมสอนนักศึกษามาเกือบ 30 ปีและวิชาหนึ่งที่สมัยก่อนสอนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เป็นประจำก็คือวิชา Basic Programming ที่เราเปลี่ยนภาษามาสอนตลอดจาก Fortran เป็น Pascal  เป็น  C เป็น C++ เป็น  Java แต่ไม่ว่าจะสอนภาษาอะไรก็ตาม พอตัดเกรดนักศึกษาที่ไรก็ตกเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่ตอนนั้นนักศึกษาเราเมื่อเทียบกับสถาบันอื่นๆใก้ลเคียงกันจัดอยู่ในกลุ่มค่อนข้างเก่ง แต่เมื่อตอนหลังๆพอเราเริ่มมีการรับนักศึกษามากเข้า สถาบันการศึกษาหลายๆแห่งที่มีคะแนนสูงกว่าเพิ่มจำนวนรับนักศึกษา จำนวนนักศึกษาวิศวฯที่ตกวิชา Basic Programming ก็เพิ่มขึ้นตาม บางครั้งเกือบ 50% บางทีเราก็ต้องชี้แจงให้ฟังว่า ทีมที่สอนไม่ได้โหด ข้อสอบก็เหมือนเดิมเผลอๆง่ายกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำไป แต่เรารับนักศึกษามาเยอะไปและนักศึกษาอ่อนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเขียนโปรแกรม ดังนั้นไม่แปลกใจข้อสอบที่ออกให้หาค่าเฉลี่ยหรือผลรวมข้อมูลบางอย่างนักศึกษาจะทำไม่ได้ ก็เพราะนักศึกษาไม่เข้าใจเรื่อง ตรรกะศาสตร์ อนุกรม ดีพอ แล้วจะเขียนโปรแกรมได้อย่างไร

ยิ่งเมือเห็นคะแนนคณิตศาสตร์ของเด็กไทยที่ตกยกชั้น ก็ยิ่งไม่แปลกใจหรอกครับว่าทำไมเด็กเราถึงมาเป็น Programmer ไม่ได้ ก็คณิตศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาโปรแกรม แต่ทางแก้ของเรากลับเป็นว่า นักศึกษาเรียนไม่ไหวก็ลดวิชาทางคณิตศาสตร์ไป จัดหลักสูตรให้ง่ายขึ้นเอาคนนอกวงการศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาซอฟต์แวร์มาพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาซอฟต์แวร์ อ้างว่าต้องการให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งๆที่หลักสูตรพื้นฐานเป็นเรื่องจำเป็น เราไม่สามารถที่จะสอนเพียงเพื่อให้รู้อะไรเพียงผิวเผิน หรือฝึกทำตาม Tool บางอย่างได้ พอเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเราจะพบว่าคนเหล่านั้นก็จะทำงานไม่ได้เพราะขาดพื้นฐานการเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ดีพอ

ins01

 รูปที่ 2 จำนวนวิชาคณิตศาสตร์ที่มาตรฐานหลักสูตร ACM ให้ศึกษา

อีกประเด็นที่สำคัญคือปัจจุบันอุดมศึกษามีตัวชีวัดที่จำนวน ตอนหลังเราตั้งเกณฑ์มาว่าสถาบันการศึกษาจะต้องไม่ตกออกเยอะ จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาต้องมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่รับเข้ามา ดังนั้นอาจารย์ยิ่งไม่กล้าที่จะทำให้นักศึกษาสอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นจำนวนมากๆ เพราะกลัวจะตกคะแนนตัวชี้วัด ซึ่งต่างกับสมัยก่อนที่หลายๆวิชามีนักศึกษาตกเกือบยกชั้นทั้งๆที่คุณภาพนักศึกษาเก่งกว่าปัจจุบัน ยิ่งในช่วงหลังเมื่อสาขาไอทีได้รับความสนใจมากขึ้น สถาบันการศึกษาต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็เปิดหลักสูตรทางด้านไอทีและเพิ่มจำนวนรับ มีทั้งสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ สารสนเทศ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เกม แอนนิเมชั่น สารพัดชื่อที่คิดมาได้ แต่พอมาดูเนื้อหาและผู้สอนแล้วก็ไม่แน่ใจว่ามีคุณภาพดีพอที่จะเปิดไหม

จำนวนบัณฑิตและสถาบันอุดมศึกษาด้านไอที

ปัจจุบันเรามีสถาบันอุดมศึกษาร้อยกว่าแห่งที่เปิดรับนักศึกษาทางด้านไอที รับนักศึกษาต่อปีมากกว่า 20,000 คน คำถามจึงมีว่าเรารับคนมาเยอะเกินไปหรือเปล่า? เรากำลังคิดว่าคนทุกคนสามารถจบมาทำงานด้านไอทีได้ สามารถจบมาเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ได้ เราคิดว่าคนทุกคนเขียนโปรแกรมได้ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง คนทุกคนไม่สามารถเป็นหมอได้ ไม่สามารถเป็นนักดนตรีหรือนักกีฬา แต่ละอาชีพต้องการคนที่มีทักษะและพื้นฐานความรู้ที่ต่างกัน  ถ้าเรารับนักศึกษามาเยอะๆแล้วตั้งตัวชี้วัดว่าจะต้องมีเปอร์เซ็นต์จบออกไปจำนวนมากๆ ก็ไม่แปลกใจหรอกครับที่เราจะเห็นบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพจบออกไปจำนวนมาก สมัยที่ผมยังสอนหนังสือในสถาบันอุดมศึกษาอยู่และเราเริ่มรับนักศึกษามาเยอะไป ผมยังจำคำพูดของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกไว้ว่า “ผมไม่สามารถสอนลิงชิมแปนซีให้เป็นวิศวกรได้” ก็เพราะตอนนั้นท่านบอกว่าเรารับคนมาง่ายไป คะแนนแค่ 20-30%  ก็เข้าได้แล้ว โดยไม่ดูคะแนนวิชาพื้นฐานต่างๆ

ในปัจจุบันถ้าเราแบ่งกลุ่มของอุดมศึกษาด้านไอทีออกมาตามคุณภาพของนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ เราอาจแบ่งได้สามกลุ่ม

  • กลุ่ม  Top คือสถาบันที่มีภาควิชาที่มีนักศึกษาพร้อมที่จะเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์กลุ่มนี้มีไม่เกิน 10 แห่ง กลุ่มนี้นักศึกษาส่วนมากเก่งจำนวนรวมกันอาจประมาณไม่เกิน  1.000 คน แต่พบว่าจำนวนมากเมื่อจบออกมาก็ไม่ได้ทำงานด้านไอที และหลายๆคนไปศึกษาต่อสาขาอื่น
  • กลุ่มระดับกลางอาจมีประมาณ 20  แห่ง ซึ่งจะได้นักศึกษาที่มีคุณภาพพอใช้ได้ในห้องประมาณ  20-30%ซึ่งจำนวนคนเหล่านี้มีประมาณรวมกันซัก  1,000 คน แต่ที่เหลือก็ไม่เก่งพอและขาดพื้นฐานที่ดี
  • กลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นสถาบันส่วนใหญ่ที่เปิดสอน จะมีนักศึกษาที่มีคุณภาพน้อยมาก บางทีทั้งห้องหานักศึกษาที่พร้อมจะทำงานและเรียนทางด้านไอทีไม่เกิน 3-5  คนในชั้นเรียน

จากจำนวนที่กล่าวมาจะเห็นว่ารวมๆต่อปีเรามีบัณฑิตที่พร้อมจะเข้าสู่วิชาชีพประมาณ 2  พันคนแต่เราเล่นผลิตบัณฑิตด้านนี้ออกมาเป็นหมื่น ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหรอกครับว่าทำไม บัณฑิตจำนวนมากไม่มีคุณภาพ ไม่เก่ง และบางทีเราก็ได้ยินบ่อยๆว่าจบไอทีเขียนโปรแกรมไม่เป็น บางครั้งก็เป็นแค่  Superuser หลักสูตรของสถาบันในกลุ่ม Top ก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกครับ บัณฑิตอาจไม่ได้พร้อมทำงานทันทีแต่พอเขามีพื้นฐานที่ดี เขาก็พร้อมจะปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเด็กเก่งคือแนวคิดที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนงานง่าย ความซื่อสัตย์และจริยธรรมที่น้อยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะสังคมที่เปลี่ยนไปและเขาเห็นแบบอย่างที่ไม่ดี

ความต้องการบัณฑิตของภาคเอกชน

ผมมีโอกาสสอนคนมาเป็นจำนวนมาก หลังๆเปิดสอนหลายหลักสูตร มีโอกาสไปบรรยายให้กับสถาบันต่างๆจำนวนมาก เคยสอนทั้งอาจารย์ บัณฑิต คนทำงานและนักศึกษา ยอมรับครับว่าคุณภาพของบุคลากรด้่นไอทีเราน่าเป็นห่วง แต่จะโทษสถาบันอุดมศึกษาฝ่ายเดียวไม่ได้หรอกครับ ภาคเอกชน อุตสาหกรรมเองเราก็มีความต้องการที่ไม่ถูกต้องหนัก เราจะพบว่าอุตสาหกรรมไอทีเราเป็น Follower  ที่ค่อนข้างช้ามาก

เราตามแนวโน้มของเทคโนโลยีไม่ทันในด้านการวิจัยและพัฒนา เราต้องการบัณฑิตที่ไม่ได้   Hi-Tech  อะไรมากมายหรอกครับ จึงไม่แปลกที่บัณฑิตเก่งๆในสถาบัน  Top   จบออกมาเมื่อได้งานทำไม่ตรงกับความถนัดของตัวเอง เขาก็ต้องออกมาเป็น Freelance ทำงานเอง เปิด  Start-up เอง แม้จะมีบริษัทชั้นนำที่ทำซอฟต์แวร์บางแห่งก็ใช้เทคโนโลยีชั้นนำแต่กลุ่มเหล่านี้ก็มีจำนวนจำกัด ซึ่งบัณฑิตเก่งๆเข้าไปทำงานเมื่อได้เรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ บางทีก็จะย้ายงานเพื่อให้ได้รายได้และโอกาสที่ดีกว่า

แต่บริษัทจำนวนมากยังไม่ได้ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จึงต้องหาคนเข้าทำงานจากบัณฑิตในสถาบันกลุ่มที่สองหรือสามและเมื่อถามว่าต้องการบัณฑิตไปทำอะไรก็จะพบว่าไปเขียน  Web Programming ที่ไม่ซับซ้อนนักเป็น  Java, PHP ที่อาจไม่ท้าทายกับกลุ่มแรกนัก แต่กลุ่มที่สองก็พอทำได้บ้างแต่ต้องเรียนรู้อีกมาก เราจึงเจอโจทย์บ่อยว่าหาคนไม่ได้ และเมื่อคนเหล่านี้เริ่มเก่งขึ้นก็อยากทำงานที่ท้าทายกว่าเดิม

TDRI-SWEng

รูปที่ 3 ข้อมูลจาก TDRI ประมาณการจำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการในประเทศไทย ในปี 2556

ข้อมูลจาก TDRI  เมื่อเร็วๆนี้ระบุว่าประเทศไทยมีพนักงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไม่เกิน  40,000  คน ซึ่งถ้าดูจำนวนบัณฑิตที่จบมาในสาขานี้จะไม่แปลกใจที่พบว่า จำนวนมากไม่เข้าสู่อุตสาหกรรม ทั้งนี้ก็เพราะว่าแต่ละปีมีเพียงแค่ไม่กี่พันคนที่จะทำงานได้

แนวทางการแก้ปัญหา

จากที่กล่าวมาทังหมดนี้ ปัญหาอยู่ที่เราไม่อยู่กับความจริง ไม่อยู่กับข้อมูลและตัวเลข เราไปสร้างภาพและการตลาดว่าเราจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ มันจะเป็นไปได้ยังไงละครับในเมื่อเด็กเราอ่อนคณิตศาสตร์ บัณฑิตเราเขียนโปรแกรมไม่เป็น มีบัณฑิตที่มีคุณภาพจำนวนไม่เกิน  2 พันคนต่อปี ทางแก้ก็คือยอมรับความจริงและวางแผนสร้างคนในอนาคต

  • เราต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านนี้ตามแนวทางทีถูกต้อง ถ้าต้องการโปรแกรมเมอร์มากๆในระยะนี้เราอาจต้องไปทำในต่างประเทศหรือต้องออกกฎหมายให้เอื้อต่อโปรแกรมเมอร์ต่างชาติ มาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้นและจะต้องจ่ายเงินสูงๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยาก
  • เรามีกลุ่มเด็กเก่งๆจำนวนหนึ่งที่กำลังจะสร้างธุรกิจตัวเอง พัฒนาโปรแกรม เราต้องส่งเสริมคนเหล่านี้ให้เขาไปสู้บนเวทีโลก แต่เมื่อเขาต้องการขยายบริษัทต้องการโปรแกรมเมอร์จำนวนมากๆเราอาจต้องหนุนให้ไปทำที่อื่นครับ จนกว่าเราจะพร้อม
  • เราต้องลดการรับนักศึกษาเข้าเรียน ปีหนึ่งรวมกันไม่ควรเกิน  4-5 พันคน และต้องปิดหลักสูตรทางด้านนี้ในหลายๆสถาบันครับ เพื่อลดปัญหาการมีบัณฑิตจบออกมามากอย่างขาดคุณภาพ
  • หากเราต้องการสร้างบุคลากรทางด้านนี้ต้องวางแผนในระยะยาว ส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์  วิทยาศาสคร์ ตั้งแต่เด็กๆครับ ต้องใช้เวลา  15  ปีเป็นอย่างน้อยในการสร้างคนรุ่นใหม่ออกมา