เมื่ออุตสาหกรรมขาดบุคลากรด้านดิจิทัล แต่ทำไมมหาวิทยาลัยถึงผลิตบัณฑิตด้านนี้ที่มีคุณภาพได้น้อย

edm_Nov_jayedit

ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานในวงการไอทีด้วยการเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และมีโอกาสได้สัมผัสสอนและอบรมนักศึกษาหลายๆสถาบันในประเทศทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ม.ขอนแก่น  ม.เชียงใหม่ ม.สงขลา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมถึงมีโอกาสสอนอาจารย์ในหลักสูตร Train the trainer ให้แก่อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทั่วไปร่วม 10 หลักสูตรสอนตั้งแต่ Java Programming, Web Services, SOA, Cloud Computing หรือ Big Data

1488765_10154138174858254_3064923486844069024_n

หลังจากออกจากอาชีพอาจารย์ผมมาทำงานภาคเอกชนทั้งในบริษัทไอทีต่างประเทศอย่าง Sun Microsystems หรือหน่วยงานภาครัฐอย่างเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) และสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ที่ทำทางด้านการอบรมและการให้คำปรึกษาด้านไอที แม้ผมจะไม่ได้มีอาชีพเป็นอาจารย์แต่ก็ยังรักที่จะสอนและเป็นวิทยากรอยู่ต่อเนื่องในช่วงสิบปีท่ีผ่านมา ทำให้ต้องค้นคว้าศึกษาและลงมือปฎิบัติทำงานจริงกับเทคโนโลยีใหม่ๆเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Mobile programming, Cloud Computing, Big Data, AI และ Digital Transformation และก็ยังเป็นวิทยากรอบรมให้เองในหลายๆหัวข้อ ดังนั้นจึงอาจไม่ต้องแปลกใจถ้าจะบอกว่าผมในฐานะของผุ้บริหารที่ดูแลทั้งหน่วยงานตัวเองอย่าง IMC Institute และเป็นกรรมการอิสระในบริษัทมหาชนหลายแห่ง แต่ก็ยังลงมือปฎิบัติเองอยู่เสมอตั้งแต่ config เครื่อง Server, ใช้คำสั่ง Linux, เขียนโปรแกรมบน Cloud หรือแม้แต่ติดตั้ง Hadoop Cluster

แม้จะไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็ยังมีบทบาทในฐานะของตำแหน่งกรรมการในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งตั้งแต่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาหลักสูตรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศในหลายๆมหาวิทยาลัย ใช่ครับแม้จะไม่ได้สอนนักศึกษาโดยตรงแต่ก็ยังสัมผัสกับอาจารย์ หลักสูตร และข้อสำคัญยังมีโอกาสเป็นวิทยากรสอนคนทำงานในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ

จากประสบการณ์ที่เล่ามาก็เพื่อที่จะบอกให้คนอ่านได้เข้าใจว่า ผมพอเข้าใจวงการการศึกษาและภาคเอกชนด้านไอทีอยู่้าง ผมมีโอกาสสัมผัสบุคลากรด้านทั้งอาจารย์ นักศึกษา และบัณฑิตใหม่ที่จบมาก็มักจะเจอโจทย์ว่าบัณฑิตหางานทำไม่ได้ ยิ่งระยะหลังเจอปัญหาว่ามหาวิทยาลัยหาคนเรียนได้ไม่ตามเป้าหมาย พอมาดูในมุมมองของภาคเอกชนก็จะบ่นเสมอว่าหาคนทำงานไม่ได้ บัณฑิตไม่ได้คุณภาพไม่สู้งาน หลักสูตรไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน จริงๆถ้าไปดูหลักสูตรก็จะเห็นว่าหลักสูตรหลายแห่งเราทันสมัยเพราะทางสกอ.ก็จะเน้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่าง ACM จำนวนบัณฑิตและอาจารย์ก็มีมากพอ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไรทำไมทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมถึงมีมุมมองบางอย่างที่ต่างกัน ผมอยากสรุปประเด็นปัญหาที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาและเราคงต้องหาทางแก้ไข มิฉะนั้นแล้วอุตสาหกรรมการผลิตด้านไอที, อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการทำงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ เราคงแข่งขันลำบากโดยมีประเด็นต่างๆดังนี้

1) นักศึกษารุ่นใหม่จำนวนมากมีทัศนคติต่อการศึกษาที่ไม่ดี ในปัจจุบันนักศึกษามุ่งเรียนเพียงเพื่อเอาใบปริญญาเป็นใบเบิกทาง มองสถาบันการศึกษาเป็นเพียงแค่ทางผ่านใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างฟุ้งเฟ้อ ขาดความอดทน มุ่งเน้นเรียนอย่างสบายๆ มองอนาคตเพียงเพื่อหวังร่ำรวย น้อยคนที่จะมีจิตสำนึกสาธารณะ ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ดังนั้นงานในมหาวิทยาลัยทุกอย่างต้องมาวัดที่คะแนนหมด หากไม่มีคะแนนก็ไม่ยอมทำ ไอดอลของคนบางกลุ่มกลายเป็นแค่คนที่มีเงินมุ่งทำงานเพื่อความร่ำรวย ข้อสำคัญคือการขาดคุณธรรมจริยธรรมในวงการการศึกษา การลอกงานต่างๆจึงกลายเป็นวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย และนักศึกษาบางส่วนก็มีทัศนะคติที่จะเรียนอะไรที่ง่ายๆที่จบมาแล้วได้เงินดีๆรวยเร็วๆ

2) กระทรวงมีกฎเกณฑ์ในระบบการศึกษาที่ไม่เหมาะสม สำนักงานการอุดมศึกษา(สกอ.) ก็เป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งของระบบการศึกษาที่พิกลพิการในปัจจุบัน เรามีกฎเกณฑ์แปลกๆมากเกินไป การกำหนดวิชาที่จำเป็นต้องเรียน การตั้งชื่อหลักสูตร การประเมินหลักสูตร การประเมินผู้สอน จนทำให้ผู้สอนหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะแก้ไขปรับปรุงคุณภาพการศึกษาได้ยาก แม้แต่การจะให้นักศึกษาสอบตกจำนวนมากตามผลคะแนนที่เป็นจริงก็เป็นไปได้ยาก เพราะผู้สอนต้องทำบันทึกชี้แจงหากมีคนตกมาก การวัดคุณภาพการศึกษาของสกอ.ก็จะเน้นที่เอกสารมากกว่าสะท้อนความเป็นจริง ผู้สอนเองก็ต้องเสียเวลากับการกรอกข้อมูลต่างๆที่บางครั้งแทบจะไม่มีประโยชน์หรือนำมาใช้งานจริง

3) สถาบันการศึกษามุ่งเน้นหารายได้มากไป เมื่อการศึกษากลายเป็นธุรกิจมหาวิทยาลัยก็ต้องการรับนักศึกษาจำนวนมากเพื่อให้คุ้มค่ากับการเปิดของแต่ละหลักสูตร หลักสูตรบางอย่างก็เปิดเพียงอิงกับตลาดมากเกินไปทั้งๆที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดผู้สอน มหาวิทยาลัยก็ไม่กล้าที่จะประเมินผลตามความเป็นจริงกลัวนักศึกษาตกออกเยอะหรือบางครั้งกลัวนักศึกษาจะร้องเรียนหรือไม่เข้ามาเรียน ถ้ามหาวิทยาลัยไหนจบยากนักศึกษาก็จะเข้ามาเรียนน้อยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนบวกกับทัศนคติของนักศึกษาที่ต้องการจบง่ายๆไวๆ จึงไม่แปลกใจที่เห็นเด็กจบออกมาไม่มีคุณภาพ

4) เราเน้นจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนด้านไอทีมากกว่าคุณภาพ ปัจจุบันในแต่ละปีเรารับคนเข้ามาเรียนทางด้านนี้นับหมื่นคนและจำนวนมากไม่น่าที่จะเรียนหลักสูตรด้านนี้ได้ หลายๆแห่งก็เลยใช้วิธีว่าปรับให้หลักสูตรง่ายขึ้นหรือปล่อยให้นักศึกษาจบได้โดยง่าย จริงๆประเทศเราก็มีนักศึกษาด้านนี้ที่เก่งๆในระดับโลกแต่มีจำนวนไม่มากนักและถ้ามองถึงนักศึกษาที่มีคุณภาพที่จะจบออกมาทำงานด้านไอทีได้จริงๆเผลอๆปีหนึ่งไม่เกินสองพันคนจึงไม่แปลกใจว่าทำไมเอกชนถึงบอกว่าหาคนมีคุณภาพเข้าทำงานไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะมีเสียงบ่นจากภาคการศึกษาว่าบัณฑิตจำนวนมากหางานทำไม่ได้ ก็เล่นผลิตคนไม่มีคุณภาพออกมาล้นตลาดนี่ครับ

5) อาจารย์จำนวนมากขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ สาขาด้านไอทีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอาจารย์จำเป็นต้องศึกษาและลงมือปฎิบัติจริงในเรื่องใหม่ๆ แต่เนื่องจากอาชีพอาจารย์เป็นงานที่ไม่ได้มีการแข่งขันมากนัก อาจารย์บางท่านสามารถที่จะนำเนื้อหาเก่าๆมาสอนซ้ำได้เป็นเวลาหลายปีแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป คำพูดหนึ่งที่มักจะได้ยินจากอาจารย์ก็คือมหาวิทยาลัยจะเน้นสอนภาคทฤษฎีการลงมือปฎิบัติต้องได้ทำงานจริงในภาคเอกชน ทั้งๆที่โดยแท้จริงแล้วเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมากทฤษฎีกบางอย่างก็ย่อมเปลี่ยนตาม แต่ในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งก็แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงการสอนแต่อย่างใด จนบางครั้งทำให้คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องส่งอาจารย์มาฝึกงานกับภาคเอกชนแทนที่จะแค่ส่งนักศึกษามาฝึกงาน

6) ขาดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษา ความร่วมมือของบ้านเรายังน้อยอยู่ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัย การผลิตบัณฑิต ยังถือว่าน้อยมากแม้บางแห่งจะมีการทำสหกิจศึกษากับภาคเอกชนแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนน้อย และขาดการนำปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรมมาศึกษาหรือทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย

7) ชนชั้นกลางบ้านเราฐานะดีขึ้น ความดิ้นรนที่จะต้องแสวงหารอาชีพหรือรายได้ที่ดัขึ้นจะน้อยลงทำให้ต่างกับบางประเทศอย่างพม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย ที่การเข้าสู่อาชีพบางอาชีพเช่นการทำงานด้านไอที หรือแพทย์สามารถเปลี่ยนอนาคตของพวกเขาไปในทางที่ดีขึ้น พอชนชั้นกลางบ้านเราฐานะดีความกระตือรือร้นก็จะน้อยลง ผู้ปกครองก็อยากให้ลูกสบายจริงมาปกป้องลูกหลานตัวเองในการเรียนและการทำงาน เช่นการออกมาตำหนิอาจารย์ที่สอนยากหรือตัดเกรดโหดทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง

8) การลงทุนด้านงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเรามีน้อยมาก เมื่อไม่มีการทำงานวิจัย ความต้องการนวัตกรรมใหม่ๆก็น้อย บัณฑิตที่มีคุณภาพเก่งๆมีนวัตกรรมก็ไม่สามารถจะหางานที่ท้าทายได้ ก็ได้สร้างวัฒนธรรมที่จะไปบอกรุ่นน้องให้เห็นว่าไม่ต้องเรียนอะไรมากไม่ต้องรู้อะไรมาก ทำงานง่ายๆซ้ำเดิม หรือบางครั้งก็คิดว่าที่เรียนมาไม่ได้ใช้อะไร เพราะบริษัทบ้านเราจำนวนมากเลือกที่จะทำงานง่ายๆไม่ซับซ้อนอะไรไม่ได้ใช้อะไรยากเกินไป

ปัญหาการศึกษาด้านไอทีกำลังเป็นวิกฤติใหญ่ที่ก็เห็นทุกฝ่ายพยายามที่จะแก้ไข แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วคงใช้วิธีเดิมๆระบบเดิมๆมาแก้ไขไม่ได้ แต่ก็อาจต้องปล่อยให้แก้โดยการเกิด Digital Disruption ในวงการศึกษาทางด้านนี้ขึ้นมาเอง ในยุคที่ผู้เรียนสามารถจะเรียนผ่านเทคโนโลยีจากที่ไหน วิชาใด อุปกรณ์ใดก็ได้ ตามที่ผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาปั่นป่วน มหาวิทยาลัยไทย

ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute

การติดตั้งและเปรียบเทียบ Hadoop Distribution ต่างๆ

 

Hadoop เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการทำ Big Data ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากเนื่องจากมีความสามารถในการเก็บข้อมูลนับเป็น PetaByte และนำมาใช้งานในเว็บใหญ่ๆและหน่วยงานต่างๆจำนวนมากอาทิเช่น Yahoo หรือ Facebook  แม้ Hadoop จะเป็น Open Source แต่ก็มีผู้ผลิตหลายรายต่างทำ Distribution ของ Hadoop ออกมาอาทิเช่น IBM, Amazon, Intel, Microsoft, Cloudera และ Hortonworks เป็นต้น โดย Forrester Research ได้เปรียบเทียบ Hadoop Distribution ต่างๆในรูปที่ 1

Screenshot 2015-05-23 08.59.33

รูปที่ 1 การเปรียบ Hadoop Distribution ของ Forrester Research

Hadoop Distribution แบ่งออกเป็น 4  กลุ่ม ดังแสดงในรูปที่ 2

  • Apache Open source: ตัวที่เป็น Open Source Project ของ Apache ที่เราสามารถ Download ได้จากเว็บ hadoop.apache.org
  • Hadoop Software Vendors: กลุ่มนี้คือผู้ผลิตที่ไม่ได้ผูกติดกับ Hardware Vendor โดยสามารถจะติดตั้ง  Hadoop Distribution กับ Server ค่ายใดก็ได้ กลุ่มนี้จะเป็นผู้นำตลาดด้าน Hadoop โดยมีรายหลักสามรายคือ Cloudera, Hortonworks และ MapR
  • Hadoop Distribution ของผู้ผลิต Hardware: ผู้ผลิต Hardware บางรายก็จะทำ Hadoop Distribution ออกมา และมักจะแนะนำให้ผู้ใช้เลือกใช้เครื่อง Server ของตัวเองอาทิเช่น IBM Inforsphere BigInsight, Pivotal HD ของ EMC และ Teradata
  • Hadoop Distribution ของผู้ให้บริการ Cloud: กลุ่มนี้จะเป็น Hadoop ที่รันอยู่บน Cloud เท่านั้นและไม่สามารถติดตั้งบน Server ทั่วไปได้ ตัวอย่างของ Hadoop ในกลุ่มนี้คือ Amazon EMR และ  Microsoft Azure HDInsight

Screenshot 2015-05-23 08.59.41

รูปที่ 2 ประเภทของ Hadoop Distribution

ผมเองเคยทดลองใช้และติดตั้ง Hadoop Cluster สำหรับ Distribution ต่างๆดังนี้ Apache Hadoop, Cloudera, Hortonworks, Amazon EMR, Microsoft Azure และ Google Cloud Platform ซึ่งการติดตั้ง Hadoop Cluster จะมีปัญหาในเรื่องการหา Server ผมจึงเลือกใช้ Virtual Server ที่อยู่บน Cloud ที่เป็น EC2 ของ Amazon Web Services หรือไม่ก็จะเลือกใช้ Hadoop as a Services ที่อยู่บน Cloud ซึ่งง่ายต่อการติดตั้ง สำหรับเอกสารการติดตั้ง Hadoop Distribution ต่างๆที่ผมและทีมงานเคยเขียนไว้หรือจากแหล่งอื่นๆมีดังนี้

จากการทดลองติดตั้งใช้งาน Cluster ต่างๆ ขอเปรียบเทียบดังนี้

  • Apache Hadoop Distribution: มีข้อเด่นคือเป็น Opensource และไม่ต้องห่วงเรื่อง License การใช้งานแต่มีข้อจำกัดคือเราต้องบริหารจัดการ Distribution ต่างๆของ Hadoop เอง ซึ่งบางครั้งอาจจะเจอปัญหาเรื่อง Bug หรือ Conflict ระหว่าง version ตัวอย่างเช่น Flume 1.5 อาจจะต้องปรับบางไฟล์เพื่อให้ทำงานกับ Hadoop 2.7 ได้ นอกจากนี้ขั้นตอนในการติดตั้งต่างๆจะยากกว่า Distribution ต่างๆ
  • Hortonworks สามารถติดตั้งได้โดยง่ายแต่ผู้ใช้ต้องจัดการลง SSH ในแต่ Server เอง ข้อดีอีกอย่างคือมี โปรแกรมบริหาร Cluster ทีเป็น Opensource ที่ชื่อ Ambari ทำให้เพิ่มหรือลด Server  ได้โดยง่าย

Screenshot 2015-05-23 09.13.03

  • Cloudera น่าจะเป็น  Distribution ทีติดตั้งได้ง่ายที่สุดที่ผมได้ทดลองมา ข้อดีอีกอย่างคืมีโปรแกรม  Hue ที่ช่วยทำ Web GUI สำหรับผู้ต้องการใช้งาน Hadoop ส่วนโปรแกรมจัดการ Cluster คือ  Cloudera Manager นั้นอาจผูกติดกับบริษัท Cloudera ไปหน่อย

Screenshot 2015-05-23 09.13.13

  • Hadoop as a Service on Cloud มีข้อดีคือติดตั้งได้โดยอัตโนมัติ เราเพียงแต่บอกขนาดของ Server จำนวนโหนด และซอฟต์แวร์ที่ต้องการจะติดตั้ง จากประสบการณ์ของผมค่อนข้างจะชอบของ  Amazon EMR มากสุด แต่การใช้งาน Hadoop as a Service มีข้อจำกัดตรงต้องใช้ Hadoop และ Ecosystem  ตามที่ผู้ให้บริการ Cloud กำหนดมาเท่านั้น เราไม่สามารถเลือกใช้เองได้

ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ต้องการทดลองทำ Big Data คือทดลองติดตั้ง Hadoop Distribution ใดก็ได้บน Cloud Server แล้วเราจะเข้าใจระบบและการใช้งานได้ดีขึ้น

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

พฤษภาคม 2558

Cloud Computing เมืองไทยตามหลังกระแสโลก เพราะเรื่องทัศนคติ ทักษะ และกฎระเบียบ

Screenshot 2015-05-21 16.28.47

ข้อมูลจากหน่วยงานวิจัยต่างๆอาทิเช่น Gartner, IDC หรือ Forrester reserach ต่างระบุคล้ายกันว่า เทคโนโลยี Cloud Computing กำลังเปลี่ยนโลกไอที และตลาดด้านไอทีก็มุ่งไปสู่การจำหน่ายระบบ Cloud Computing มากขึ้น ทั้ง Public Cloud และ Private Cloud บริษัทที่ทำธุรกิจด้าน Cloudต่างๆ อาทิเช่น Amazon Web Services ก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมาก และบริษัทซอฟต์แวร์บางรายก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการขายมาเน้นที่ตลาด Cloud ไม่ว่าจะเป็น Adobe, Microsoft หรือ Oracle

Screenshot 2015-05-21 16.18.17

ข้อมูลตัวเลขตลาด Cloud ของ Gartner ระบุว่าตลาด Cloud จะโตขึ้นถึง 43.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 โดยแบ่งเป็นสัดส่วนของ Saas 49.2%, PaaS 5.5%และ IaaS 45.3% นอกจากนี้ ก็ระบุว่าสัดส่วนตลาดซอฟต์แวร์ที่เป็น Cloud จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ซึ่งในปี 2018 จะมีสัดส่วนเป็น 32% เมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์ที่เป็น Non-cloud ที่จะมีสัดส่วน 68% บางท่านเห็นข้อมูลต่างๆเหล่านี้แล้วก็เกิดคำถามว่าแล้วทำไมตลาด Cloud สำหรับบ้านเราถึงไม่สอดคล้องกับกระแสโลก เพราะถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนที่มากขึ้นแต่ก็ยังๆม่ได้รับความนิยมมากนัก

Screenshot 2015-05-15 16.10.06ปัจจัยหลายๆประการที่ทำให้ตลาด Cloud ในประเทศเราไม่โตน่าจะมาจากเหตุผลต่างๆดังนี้

1) ขาดความตระหนักและความเข้าใจเรื่อง Cloud ที่แท้จริง ถึงแม้ว่าหลายๆหน่วยงานในบ้านเราจะพยายามจัดสัมมนาสร้างกระแสเรื่องของ cloud Computing แต่สิ่งที่พบคือคนด้านไอทีไทยจำนวนมากยังไม่เข้าใจความหมายของ Cloud ที่แท้จริง บางครั้งเข้าใจว่าเป็นเพียงระบบอินเตอร์เน๊ตหรือเป็บแค่ Web Application โดยไม่เข้าใจถึงเทคโนโลยีของ Cloud และการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจไอทีที่กำลังเปลี่ยนแปงสู่ระบบ Cloud ทั้งนี้เพราะเราเน้นที่จะจัดสัมมนาเอาจำนวนคนมากๆมาฟังฟรีมากกว่าที่จะให้เขาเข้าใจและได้ลงมือปฎิบัติจริง

2) คนไอทีในบ้านเรายังอยากมีความเป็นเจ้าของระบบไอที ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับระบบ Cloud ที่คล้ายเป็นระบบเช่า ผู้ใช้จะไม่ได้เป็นเจ้าของระบบเอง คนจำนวนหนึ่งเลยรู้สึกขัดแย้งในใจที่ไม่ได้เป็นผู้ที่จัดซื้อจัดหาระบบ ไม่ได้เห็นตัวเครื่องจริงๆ และคนไอทีบ้านเรามีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะดูแลระบบได้ดีกว่าคนอื่น

3) คนไอทีบ้านเรายังขาดทักษะทางด้าน Cloud ระบบ cloud ทำให้คนไอทีต้องเรียนรู้ทักษะใหม่หลายๆด้าน อาทิเช่นระบบ IaaS ก็จะทำให้รูปแบบการทำงานของ System Administrator เปลี่ยนไป การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็น SaaS โดยใช้ระบบ PaaS หรือ IaaS ก็ต้องการทักษะใหม่ๆหรือการจะทำ Private Cloud ก็ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ซึ่งคนไอทีไทยได้เรียนเรื่องนี้มาน้อยมาก และยังไม่ค่อยมีการเรียนการสอนในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ที่น่าตกใจคือคนไอทีไทยจำนวนมากไม่เคยเล่นระบบ Public Cloud ไม่ว่าจะเป็นระบบ IaaS อย่าง Amazon Web Services หรือ Microsoft Azure หรือแม้แต่การใช้ SaaS บางตัวอย่าง Google Apps หรือ Office 365

4) บริษัทซอฟต์แวร์ไทยยังไม่ค่อยพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud การใช้ SaaS จะเป็นสัดส่วนของตลาด Cloud ที่มากที่สุด แต่ตลาด SaaS จำเป็นต้องการซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมสำหรับในแต่ละประเทศและต้องใช้ภาษาท้องถิ่น ซอฟต์แวร์ SaaS สำหรับผุ้ใช้ในประเทศไทยยังมีน้อย ถ้ามีก็ยังผลิตมาจากต่างประเทศแล้วมาทำ localization อาทิเช่นระบบ CRM ของ Salesforce ซึ่งฟังก์ชั่นบางอย่างอาจไม่เหมาะกับคนไทยนัก เมื่อมีซอฟต์แวร์น้อยคนก็ใช้งานน้อย ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะบริษัทซอฟต์แวร์ไทยยังไม่พร้อมที่พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud ทั้งนี้อาจเพราะยังขาดทักษะ และข้อสำคัญบริษัทซอฟต์แวร์ไทยจำนวนมากยังพึ่งพอใจทีจะขายซอฟต์แวร์แบบ License model ที่มีราคาสูงๆ มากกว่าที่จะใช้โมเดลของ Cloud ที่เป็น subscription model

5) ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานไทยยังไม่ได้ปรับตามธุรกิจของ Cloud การใช้ระบบ Cloud จะมีค่าใช้จ่ายตามการใช้งานเสมือนการเช่าใช้ ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน รายปี หรือแม้แต่คิดเป็นรายชั่วโมงการใช้งาน แต่หน่วยงานบ้านเรายังมีวิธีการงบประมาณแบบเดิม และหลายๆหน่วยงานการจัดซื้อระบบไอทียังต้องมีการส่งมอบระบบที่เป็น Physical ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้กับระบบ Cloud ได้

6) ผู้ใช้บ้านเรายังมีความกังวลเรื่อง Cloud ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบความปลอดภัยไอทีบ้านเรายังไม่ดีพอ และเรายังมีปัญหาเรื่องความเสถียรของระบบอินเตแร์เน็ต เลยทำให้ผู้ใช้มีความกังวลว่าจะขาดความต่อเนื่องในการใช้งาน จึงทำให้ไม่กล้าที่จะนำระบบ Cloud มาใช้งาน

7) ผู้ใช้บ้านเรายังมีอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายค่อนข้างสูง ระบบ Cloud ที่เป็น Saas จะสามารถตรวจสอบการใช้งานของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องจำนวนผู้ใช้ การแอบใช้งาน และไม่สามารถก็อบปี้ได้ คนไทยซึ่งไม่ชินกับการซื้อซอฟต์แวร์ก็จะไม่กล้าใช้ระบบ Cloud เพราะจะถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

8) ระบบ Cloud เป็บแบบ On demand -self service ที่ผู้ใช้ต้องจัดหามาเองโดยไม่มีคนช่วย support ซึ่งขัดกับการทำงานของบางหน่วยงานที่มักจะหาคนมาช่วยติดตั้งระบบไอที และระบบ Cloud ต้องชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งบางครั้งไม่สามารถออกใบเสร็จได้ ทำให้ผู้ใช้ในหน่วยงานต่างๆไม่สามารถใช้ระบบ Cloud ได้

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าเรายังไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราอาจต้องปรับทั้ง ทัศนคติ ทักษะ กฎระเบียบต่างๆ เราก็อาจตามกระแสโลกไม่ทัน ไม่เพียงแต่จะแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีหรืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่ได้ แต่เราอาจแข่งขันในทุกภาคส่วนลำบากเพราะไอทีการเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผู้ใช้ไอทีเรายังไม่ปรับตามกระแสโลก

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

เอกสารการอบรม Big Data Certification Course (ตอนที่ 1)

1531916_493272750820070_1175909514908117233_n

IMC Institute เปิดหลักสูตร Big Data Certification รุ่นที่หนึ่งตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมนี้ มีผู้เข้าอบรมร่วม 30 ท่านจากหลายๆหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  โดยมีวิทยากรร่วม 7 ท่านโดยมีการสอนทั้งหมด 4 โมดูลคือ

  • Module 1: Big Data Essentials and NoSQL
  • Module 2: Big Data Using Hadoop
  • Module 3: Business Intelligence Design&Process
  • Module 4: Data Scientist Essentials

ซึ่งตอนนี้ได้มีการอบรมเสร็จไปแล้วสองโมดูล ผมจึงขอนำเอกสารการบรรยายทั้งสองโมดูลมาแชร์ให้ดังนี้

Module 1: Big Data Essentials and NoSQL

Module 2: Big Data Using Hadoop

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

พฤษภาคม 2558

สิ่งสำคัญสุดในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลคือต้องเปลี่ยน Mindset ในการบริหารงาน

Screenshot 2015-05-01 21.53.22

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลนี้คือสิ่งที่ต้องทำตามกระแสโลก เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากการเกิดปฎิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) การเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดจากการเข้ามาของ Smartphone ที่ทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆเริ่มตกยุคไป อาทิเช่น กล้องวิดีโอ สมุดจดที่อยู่ walkman วิทยุทรานซิสเตอร์ แผนที่ที่เป็นกระดาษ Travel games นาฬิกาปลุก Yellow pages หรือ เครื่องคิดเลข

การเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ตกยุค แต่มันทำให้ธุรกิจต่างๆต้องเปลี่ยนแปลงหรือล้มหายไปด้วยอาทิเช่น

  • ร้านถ่ายรูป/อัดภาพ ถูกแทนที่ด้วยการแชร์ภาพผ่าน Instagram  หรือ Facebook
  • สาขาธนาคาร เจ้าหน้าที่ Teller หรือเช็ค ถูกแทนที่ด้วย Online Banking, Mobile Banking
  • ธุรกิจการชำระเงิน ถูกแทนที่ด้วย Mobile Payment และการทำธุรกรรมผ่าน Paypal
  • สหกรณ์เรียกแท็กซี่ ถูกแทนที่ด้วย Application อย่าง Grab Taxi หรือแม้แต่แท๊กซี่เองก็ต้องแข่งขันกับ Uber หรือ Lyft
  • ร้านขายหนังสือ ถูกแทนที่ด้วยธุรกิจออนไลน์อย่าง Amazon.com และหนังสือที่เป็นกระดาษก็กำลังถูกคู่แข่งอย่าง Kindle หรือ OokBee เข้ามาแทนที่
  • ร้านเช่าวิดีโอ ถูกแทนที่ด้วย online streaming อย่าง NetFlix หรือ iTune
  • ธุรกิจการจองตั๋ว ที่พัก ถูกแทนที่ด้วยการจองตั๋วออนไลน์ อย่าง ThaiTicketMajor หรือ Agoda แม้แต่ธุรกิจโรงแรมเองก็ต้องมาแข่งขันกับธุรกิจออนไลน์อย่าง  Airbnb ที่มีเครือข่ายที่พักกว่า 800,000 แห่งใน 33,000 เมือง
  • ธุรกิจการขายรถ อาจต้องมาแข่งกับธุรกิจอย่าง Zipcar หรือ Car2Go ซึ่งอาจเกิดคำถามว่าในอนาคตจำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของรถอีกหรือ
  • ธุรกิจ Encyclopedia Britannica ที่อยู่มาถึงปี 2010 ซึ่งมีบทความกว่า 40,000 เรื่อง และบรรณาธิการมากกว่า 100 ราย ก็ไม่สามารถจะแข่งกับ Wikipedia ที่มีบทความกว่า 35 ล้านเรื่องจากบรรณาธิการกว่า 69,000 ราย ใน 288 ภาษา

เรากำลังก้าวเข้าสู่เครษฐกิจใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หากเราปรับตัวไม่ทันเราก็คงแข่งขันไม่ได้และล้มหายไปในที่สุด ต้องยอมรับกันตรงๆว่าแม้ประเทศไทยจะมีอัตราการใช้ดิจิทัลค่อนข้างสูง แต่ร้อยละ 90 เราเน้นเพียงเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่เพื่อการทำงานหรือธุรกิจ จึงไม่แปลกใจที่ระยะหลังอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเราเริ่มจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆไม่ได้ เพราะเราก้าวตามโลกดิจิทัลไม่ทัน เราแข่งขันบทพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลลำบาก จึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีนโยบายด้านนี้ที่ชัดเจนเพื่อการแข่งขันในอนาคต

images (1)

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลต้องเปลี่ยน Mindset ของการบริหารงาน

แม้นโยบาย Digital Economy จะพยายามเน้นให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ Mindset เพราะวันนี้การแข่งขันไม่เหมือนเดิม ลูกค้าหรือผู้รับบริการมีข้อมูลข่าวสารมากขึ้น คู่แข่งมาจากไหนก็ได้ เศรษฐกิจใหม่เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรเน้น นวัตกรรมใหม่และ Marketplace ใหม่ ดังนั้นรูปแบบการทำงานแบบเดิมจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เราต้องรวดเร็วกว่าเดิม ต้องลดขั้นตอนการทำงาน และเน้นให้บุคลากรในองค์กรทำงานร่วมกัน

รูปแบบการทำงานที่มีลำดับชั้น (Hierarchical bureaucracies) ที่เน้นการทำงานแบบ Vertical เริ่มใช้งานไม่ได้ในการแข่งขันยุคปัจจุบัน การทำงานต้องลดขั้นตอนการบังคับบัญชา องค์กรต้องเป็นลักษณะแบนราบ (Horizontal) มากขึ้น มีสายบังคับบัญชาให้น้อยลง การสั่งงานแบบบนลงล่าง Top to Bottom จะต้องน้อยลง เน้นให้พนักงานในองค์กรมีส่วนร่วมในการทำงานมากสุด และเน้นการทำงานร่วมกันโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆที่เป็น Collaboration Tool เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมหรือบริการใหม่ๆได้

ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำงานแบบเดิมที่เน้นการทำงานเป็น Vertical จะแตกต่างกับการทำงานบนเศรษฐกิจดิจิทัลเชิงสร้างสรรที่เน้นการทำงานเป็น Horizontal มาก โดยในอนาคตองค๋กรที่ยังทำงานเป็นแบบ Vertical จะแข่งขันไม่ได้ เราจะเห็นตัวอย่างองค์กรใหม่อย่าง Facebook, Google, Apple, Amazon ล้วนแต่เปลี่ยน Mindset ในการบริหารงานเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่

ที่กล่าวมาทังหมดนี้ อดเป็นห่วงภาคราชการไทยไม่ได้ เพราะยังเชื่องช้ายังไม่ปรับ Mindset ในการบริหารงาน ถ้าตราบใดองค์กรยังบริหารแบบ Top Down ยังต้องทำสำเนาหนังสือ ส่งแฟกซ์ เกษียณหนังสือ ขั้นตอนการทำงานยังล่าช้า และข้าราชการไม่มีส่วนร่วมในการทำงานที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ เราแข่งขันไม่ได้หรอกครับ แม้จะมีนโยบาย Digital Economy ก็ตาม สิ่งสำคัญสุดคือการปรับ Mindset ในการบริหาร ผู้บริหารและคนทำงานต้องทำงานไม่เหมือนเดิม

การจะก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญสุดคือภาคราชการต้องเป็นดิจิทัล เลิกการบริหารงานในรูปแบบเดิมที่เน้นระบบการสั่งงานแบบ Top Down รอการเกษียณหนังสือ ถ้ายังเป็นแบบนี้นวัตกรรมไม่เกิดครับ การทำงานล่าช้า เราก็คงจะเห็นปัญหาต่างๆที่จะตามมาอีกมากมายเช่นเดียวกับ ปัญหาเรื่องการบิน เรื่อง EU จะแบนการประมง ทั้งหมดที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรายังไม่เปลี่ยน Mindset ในการบริหารงาน

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

การใช้ไอทีเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของ SME

Screenshot 2015-05-01 21.53.22

IMC Institute จัดว่าเป็น SME ครับ แนวคิดของเราคือไม่ต้องการมีพนักงานประจำจำนวนมาก และพนักงานต้องสร้าง Productivity ให้มากขึ้น ไม่ได้เน้นต้องมานั่งทำงานหนักๆที่ Office นะครับ แต่สิ่งสำคัญคือการนำระบบไอทีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้แข่งขันได้ บางครั้งผมแปลกใจที่มักจะได้ยิน SME หลายรายว่าบ้านเราไม่มีระบบไอทีในการทำงาน ไม่มีซอฟต์แวร์ราคาถูก ค่าใช้จ่ายไอทีสูง ทั้งๆที่ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ดีๆมากมายที่อยู่บน Cloud และค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ วันนี้ขอลองเอาประสบการณ์การใช้ไอทีใน IMC Institute มาเล่าให้ฟัง

งานด้านหนึ่งของ IMC Instituteคือการจัดอบรม บางครั้งต้องจัดอบรม 4-5 สถานที่ในวันเดียวกัน พนักงานก็เลยอาจต้องออกนอกสถานที่ตลอดเวลา เราเลยต้องใช้ระบบไอทีในการทำงานร่วมกัน ระบบทั้งหมดเราอยู่บน Cloud จริงๆเราไม่ได้สนใจหรอกครับว่าระบบโปรแกรมหรือข้อมูลเราจะอยู่ที่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือขอให้มีความน่าเชื่อถือและข้อสำคัญเราซื้อแพลตฟอร์มนะครับ ไม่ใช่มาเลือกซื้อซอฟต์แวร์ ระบบที่ใช้ต้องทำงานกับอุปกรณ์ใดก็ได้ สามารถพัฒนาต่อยอดเองได้ และเป็นแพลตฟอร์มต่อกับระบบอื่นๆได้

ระบบหลักที่เราใช้ในองค์กรคือ Salesforce.com ที่เราใช้ Force.com พัฒนาโปรแกรมการบริหารงานอบรม ทั้งการบริหารหลักสูตร ระบบผู้ลงทะเบียน ระบบ CRM ระบบบัญชี และยังทำหน้าที่เป็นระบบ BI ใช้ในการทำรายงานนำไปวิเคราะห์และคาดการณ์รายได้ขององค์กรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เรายังสามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมต่างๆของ Salesforce.com ได้โดยง่าย ทำให้สามารถเขียนโมดูลใหม่ๆใส่เข้ามาได้เสมอ

IMC Institute เองยังใช้โปรแกรมสำหรับสำนักงานอีกจำนวนมากทั้งที่เป็นแบบ Freeware และ subcription ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน ทุกตัวจะเป็นแพลตฟอร์มบน Cloud อาทิเช่น Google Apps, Office 365, Dropbox, หรือ Skype เรายังต้องหาโปรแกรมมาช่วยในการประชาสัมพันธ์หลักสูตรต่างๆขององค์กร โดยจะต้องเช่าเว็บไซต์เองและจัดทำเว็บโดยใช้ Freeware อย่าง Joomla และก็เสียค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook และมีระบบการส่ง  EDM  อย่าง  Mailchimp

ในด้านของการอบรม IMC Instituteจะเปิดระบบ Cloud ให้ผู้เรียนสามารถใช้งานได้ในหลักสูตรต่างๆที่ต้องใช้ Server เช่น Big Data, Hadoop Workshop หรือ Cloud Software Development ซึ่งบางวันเรามีการเปิด Server ถึง 90 เครื่อง ดังนั้นเราจึงมีค่าใช้จ่ายในการใช้  Cloud Services ของ Amazon Web Services ที่คิดตามชั่วโมงการใช้งาน และเรายังแชร์สไลด์และเอกสารผ่าน  Slideshae.net ซึ่งในกรณีนี้เรายังใช้ Free Edition อยู่

เพื่อให้เห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายด้านไอทีต่อเดือนผ่านระบบ Cloud ผมขอยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายในเดือนมีนาคมมาให้ดูดังรูปที่ 1 ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 10,849.23 บาท (ไม่ได้รวมค่าอินเตอร์เน็ต) ผมมองว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้สูงมาก เพราะเราใช้โปรแกรมต่างๆมากมายเปิด Server หลายสิบเครื่อง และก็ใช้ในงานประชาสัมพันธ์ มันคือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กร เหมือนที่เราจ่ายค่าเช่าออฟฟืต ค่าน้ำ ค่าไฟ ข้อสำคัญมันถูกกว่าค่าจ้างพนักงานต่อคน ระบบไอทีที่ใช้อาจช่วยลดจำนวนพนักงานไปถึง 4-5  คน

ในปัจจุบันเราเองก็ยังมีแผนที่จะจัดหาโปรแกรมอื่นๆบน Cloud มาใช้ อาทิเช่นโปรแกรมบริหารงานบุคคล (e-HR) หรือโปรแกรมบัญชีที่ใช้ส่งกรมสรรพากรได้ ซึ่งก็มีโปรแกรมของคนไทยบางโปรแกรมที่น่าสนใจ

swspending_ods_-_OpenOffice_Calc

รูปที่  1 ประมาณการค่าใช้จ่ายระบบไอทีของ IMC Institute  เดือนมีนาคม

สิ่งที่เราได้กลับมาจากการใช้ไอทีในการทำงานคือ

เรามีความคล่องตัวในการทำงานขึ้น เพราะระบบที่เราเลือกใช้งานเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ อุปกรณ์ใดก็ได้ ดังจะเห็นในรูปที่ 2 ที่แสดงให้เห็นถึงโปรแกรมใน iPad ต่างๆทีเราใช้ทำงาน ซึ่งเราสามารถดึงข้อมูลมาจากระบบ Cloud ได้

ช่วยลดต้นทุนในการทำงาน ระบบไอทีทำให้เราใช้พนักงานน้อยลงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

มีตัวเลขที่เห็นผลการดำเนินงานขององค์กรอย่างถูกต้อง เพราะเรามีระบบ BI ทำให่เห็นข้อมูลต่างๆได้อย่างชัดเจน เรามีระบบประชาสัมพันธ์อย่าง Facebook, Mailchimp  ทำให้เห็นข้อมูลได้ว่า ข้อมูลที่ส่งออกไปใครได้รับบ้าง

ที่สำคัญอีกเรื่องคือระบบไอที ทำให้เราสามารถสร้างบริการใหม่ๆได้ ระบบ Cloud ทำให้เราเป็นที่แรกๆในภูมิภาคแห่งนี้ที่สอนโดยการเปิดใช้ Server  จริง ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากระบบจริง เราเลยบอกว่าเราสอนในหลักสูตรที่เป็น One Server per Student

ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เห็นว่า SME สามารถใช้ไอทีได้เลย ไม่ต้องรออะไรครับ มันอยู่ที่การปรับ Mindset ของเรา มันมีโปรแกรมมากมายที่ให้เราใช้ ทั้งของไทยและต่างประเทศและก็มีโปรแกรมถูกๆให้เราใช้มากมาย แต่มันไม่มีโปรแกรมไหนหรอกครับที่อาจตรงกับการทำงาน 100% แม้แต่จะจ้างเขาพัฒนา บางครั้งเราก็อาจต้องปรับงานบางอย่างให้สอดล้องกับระบบที่มี ซึ่งผลของการใช้ไอทีจะทำให้เราได้ประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นและพร้อมที่จะแข่งขันได้ครับ

IMG_0928

รูปที่ 2 ตัวอย่างหน้าจอ iPad ที่มีโปรแกรมต่างๆที่ IMC Institute ใช้งานประจำ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

 

การแข่งขันบน Digital economy คือการสร้างแพลตฟอร์ม ไม่ใช่แค่การพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud

Screenshot 2015-05-01 21.53.22

โปรแกรม Facebook, Line, Dropbox หรือ Chrome Browser ไม่ใช่แต่ซอฟต์แวร์ธรรมดา แต่เป็นแพลตฟอร์ม (Platform) คำว่าแพลตฟอร์มหมายถึงโปรแกรมจะสามารถขยายขีดความสามารถอย่างไม่จำกัด มีคนพัฒนาฟังก์ชั่นหรือโมดูลใหม่ๆมาต่อยอดอยู่ตลอดเวลา เกิดนวัตกรรมใหม่ๆเสมอ และสามารถนำไปต่อเชื่อมกับระบบอื่นๆได้ เราเห็น Facebook จะมี Application ใหม่ๆที่มาเชื่อมต่อเสมอ Line ก็จะมี add-on application ต่างๆ หรือแม้แต่ Chrome ที่น่าจะเป็นแค่ Browser มันก็คือ Platform ที่มี plugin หรือ add-on module ใหม่ๆให้เราเพิ่มได้เสมอ

คำว่าแพลตฟอร์มคงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ซอฟต์แวร์ แต่ยังรวมไปถึงเว็บไซต์ Product หรือ บริการต่างๆ อาทิเช่น Amazon.com ไม่ใช่เป็นแค่ E-commerce website แต่เป็นแพลตฟอร์มในการซื้อขายสินค้า ที่คนอื่นสามารถเขียนโปรแกรมต่างๆเข้ามาต่อเชื่อมหรือดึงข้อมูลได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องเข้าไปที่เว็บ http://www.amazon.com ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่าง Jawbone Up, Apple Watch ไม่ใช่เป็นแค่อุปกรณ์ Hi-tech แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนอื่นเขียนโปรแกรมมาเพิ่มหรือดึงข้อมูลได้ หรือแม้แต่บริการชำระเงินออนไลน์อย่าง Paypal ก็เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้มีการพัฒนา application ต่างๆมาเรียกใช้เพื่อทำธุรกรรมการเงินได้

ความสำเร็จของแพลตฟอร์มคือ ทำให้เกิดการใช้กันอย่างมาก ทำให้กลายเป็น Large scale web/application มี applicationใหม่ๆมาต่อยอดมากมาย มีรายได้เกิดขึ้นมามากมาย ทุกวันนี้เราอาจเห็นซอฟต์แวร์มากมายแต่ซอฟต์แวร์ดังๆที่เติบโตอย่างรวดเร็วมันไม่ใช่ซอฟต์แวร์แต่มันคือแพลตฟอร์ม เราเห็นโปรแกรมอย่าง Dropbox สามารถเข้าไปเชื่อมต่อกับโปรแกรมต่างๆหรือเว็บไซต์ได้โดยง่าย ดังนั้นผู้ใช้อินเตอร์เน๊ตหรือ  smartphone ก็จะเลือกเก็บข้อมูลลงใน Dropbox แม้แต่รูปที่ถ่ายผ่านมือถือ Android ก็ถูก sync ขึ้น Dropbox อัตโนมัติ หรือเว็บไซต์อย่าง Amazon.com ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ซื้อผู้ขายสามารถทำธุรกรรมจากนอกเว็บไซต์ จริงๆเว็บไซต์ทำ E-commerce มีมากมาย แต่น้อยรายที่ประสบความสำเร็จ เว็บที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นแพลตฟอร์มที่คนอื่นๆสามารถมาเชื่อมต่อ ขยายตลาดให้อัตโนมัติ และบางครั้งสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ๆ

องค์ประกอบของแพลตฟอร์มคือมีระบบ back-end ที่เป็นระบบ Cloud ที่พร้อมจะรองรับการใช้งานจำนวนมากได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมีซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเป็น API (Application Programming Interface) เพื่อให้คนภายนอกสามารถเข้าถึงบริการหรือดึงข้อมูลได้ และเพื่อให้สามารถพัฒนา application ต่างๆมาต่อยอดได้ การเปิด API ทำให้มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์อื่นๆที่อยู่นอกองค์กรมาช่วยกันทำงาน มาช่วยกันขยายการใช้งานโปรแกรมที่ควรเป็นแค่ซอฟต์แวร์ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ขยายการใช้งานอย่างมากมาย ซึ่งการเปิด API จะต้อง Business model ที่ดีเพื่อทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือคู่ค้ารายใหม่ๆมาเรียกใช้ โดยมากแพลตฟอร์มต่างๆมักจะมีตลาดกลางให้ผู้ใช้มาซื้อหรือโหลด application ใหม่ๆเหล่านี้ได้ เหมือนอย่าง Apple มี App Store, Line มี Line shop หรือ Salesforce มี App Exchange

การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นแพลตฟอร์มต้องการทักษะใหม่ๆทั้งเรื่องของ Service Oriented Architecture, การพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud, การพัฒนา Web Services และการพัฒนาโปรแกรมฝั่ง Client ที่จะเป็น devices ที่หลากหลาย งานด้านไอทีกำลังเปลี่ยนไปแน่เพราะสถาปัตยกรรมของไอทีกำลังเปลี่ยนถ่ายจาก Web Architecture เข้าสู่ Cloud/client architecture ที่เปลี่ยนซอฟต์แวร์สู่แพลตฟอร์ม ถ้าคนไอทีไม่ปรับตัวในอนาคตคงหางานทำลำบาก ถามว่าจริงเท็จแค่ไหนก็ลองถามตัวเองดูซิครับว่าวันนี้คนที่อยู่ในยุค Mainframe ยังทำงานได้มากน้อยเพียงใด

API ทำให้เกิด API Economy และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการทำเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ธุรกิจจะแข่งกันในโลกของดิจิทัลได้ด้วย API ผมเชื่อครับว่าในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะไม่มีซอฟต์แวร์หรือแม้แต่เว็บไซต์ใดที่ไม่มี APIs แล้วจะสามารถแข่งในตลาดที่กลายเป็นโลกของแพลตฟอร์มได้

ผมในฐานะของผู้ใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Salesforce.com อยากจะบอกว่าที่เลือกใช้ Salesforce ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะว่าถูก ไม่ใช่เพราะมันอยู่บน Cloud แต่สิ่งที่สำคัญสุดคือมันคือแพลตฟอร์มที่ผมสามารถต่อยอดหาโปรแกรมใหม่ๆมา add-on ได้ สามารถเรียกดึงข้อมูลได้ และสามารถปรับเปลี่ยนได้เอง มันเลยทำให้ผมสามารถนำไปสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ๆได้ สามารถนำไปต่อกับโปรแกรมในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้ และเขียนโปรแกรมมาเรียกใช้มันได้ด้วยตัวเอง

เรากำลังทำ Digital Economy และส่งเสริมให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ ให้เอกชนพัฒนาซอฟต์แวร์ แนวทางที่ถูกต้องไม่เน้นให้เป็นเพียงแค่พัฒนาซอฟต์แวร์อย่างระบบ บัญชี CRM, HR, ERP ขึ้น Cloud แค่นั้นครับ เพราะซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud มันก็เป็นเพียงแค่ซอฟต์แวร์ แต่การแข่งขันในโลก Digital Economy วันนี้คือการพัฒนาแพลตฟอร์มบน Cloud ที่ผู้ใช้สามารถต่อยอดมาสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ได้อย่าง Grab Taxi, Line หรือ Amazon.com

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute