Screenshot 2015-05-01 21.53.22

โปรแกรม Facebook, Line, Dropbox หรือ Chrome Browser ไม่ใช่แต่ซอฟต์แวร์ธรรมดา แต่เป็นแพลตฟอร์ม (Platform) คำว่าแพลตฟอร์มหมายถึงโปรแกรมจะสามารถขยายขีดความสามารถอย่างไม่จำกัด มีคนพัฒนาฟังก์ชั่นหรือโมดูลใหม่ๆมาต่อยอดอยู่ตลอดเวลา เกิดนวัตกรรมใหม่ๆเสมอ และสามารถนำไปต่อเชื่อมกับระบบอื่นๆได้ เราเห็น Facebook จะมี Application ใหม่ๆที่มาเชื่อมต่อเสมอ Line ก็จะมี add-on application ต่างๆ หรือแม้แต่ Chrome ที่น่าจะเป็นแค่ Browser มันก็คือ Platform ที่มี plugin หรือ add-on module ใหม่ๆให้เราเพิ่มได้เสมอ

คำว่าแพลตฟอร์มคงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ซอฟต์แวร์ แต่ยังรวมไปถึงเว็บไซต์ Product หรือ บริการต่างๆ อาทิเช่น Amazon.com ไม่ใช่เป็นแค่ E-commerce website แต่เป็นแพลตฟอร์มในการซื้อขายสินค้า ที่คนอื่นสามารถเขียนโปรแกรมต่างๆเข้ามาต่อเชื่อมหรือดึงข้อมูลได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องเข้าไปที่เว็บ http://www.amazon.com ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่าง Jawbone Up, Apple Watch ไม่ใช่เป็นแค่อุปกรณ์ Hi-tech แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนอื่นเขียนโปรแกรมมาเพิ่มหรือดึงข้อมูลได้ หรือแม้แต่บริการชำระเงินออนไลน์อย่าง Paypal ก็เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้มีการพัฒนา application ต่างๆมาเรียกใช้เพื่อทำธุรกรรมการเงินได้

ความสำเร็จของแพลตฟอร์มคือ ทำให้เกิดการใช้กันอย่างมาก ทำให้กลายเป็น Large scale web/application มี applicationใหม่ๆมาต่อยอดมากมาย มีรายได้เกิดขึ้นมามากมาย ทุกวันนี้เราอาจเห็นซอฟต์แวร์มากมายแต่ซอฟต์แวร์ดังๆที่เติบโตอย่างรวดเร็วมันไม่ใช่ซอฟต์แวร์แต่มันคือแพลตฟอร์ม เราเห็นโปรแกรมอย่าง Dropbox สามารถเข้าไปเชื่อมต่อกับโปรแกรมต่างๆหรือเว็บไซต์ได้โดยง่าย ดังนั้นผู้ใช้อินเตอร์เน๊ตหรือ  smartphone ก็จะเลือกเก็บข้อมูลลงใน Dropbox แม้แต่รูปที่ถ่ายผ่านมือถือ Android ก็ถูก sync ขึ้น Dropbox อัตโนมัติ หรือเว็บไซต์อย่าง Amazon.com ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ซื้อผู้ขายสามารถทำธุรกรรมจากนอกเว็บไซต์ จริงๆเว็บไซต์ทำ E-commerce มีมากมาย แต่น้อยรายที่ประสบความสำเร็จ เว็บที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นแพลตฟอร์มที่คนอื่นๆสามารถมาเชื่อมต่อ ขยายตลาดให้อัตโนมัติ และบางครั้งสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ๆ

องค์ประกอบของแพลตฟอร์มคือมีระบบ back-end ที่เป็นระบบ Cloud ที่พร้อมจะรองรับการใช้งานจำนวนมากได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมีซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเป็น API (Application Programming Interface) เพื่อให้คนภายนอกสามารถเข้าถึงบริการหรือดึงข้อมูลได้ และเพื่อให้สามารถพัฒนา application ต่างๆมาต่อยอดได้ การเปิด API ทำให้มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์อื่นๆที่อยู่นอกองค์กรมาช่วยกันทำงาน มาช่วยกันขยายการใช้งานโปรแกรมที่ควรเป็นแค่ซอฟต์แวร์ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ขยายการใช้งานอย่างมากมาย ซึ่งการเปิด API จะต้อง Business model ที่ดีเพื่อทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือคู่ค้ารายใหม่ๆมาเรียกใช้ โดยมากแพลตฟอร์มต่างๆมักจะมีตลาดกลางให้ผู้ใช้มาซื้อหรือโหลด application ใหม่ๆเหล่านี้ได้ เหมือนอย่าง Apple มี App Store, Line มี Line shop หรือ Salesforce มี App Exchange

การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นแพลตฟอร์มต้องการทักษะใหม่ๆทั้งเรื่องของ Service Oriented Architecture, การพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud, การพัฒนา Web Services และการพัฒนาโปรแกรมฝั่ง Client ที่จะเป็น devices ที่หลากหลาย งานด้านไอทีกำลังเปลี่ยนไปแน่เพราะสถาปัตยกรรมของไอทีกำลังเปลี่ยนถ่ายจาก Web Architecture เข้าสู่ Cloud/client architecture ที่เปลี่ยนซอฟต์แวร์สู่แพลตฟอร์ม ถ้าคนไอทีไม่ปรับตัวในอนาคตคงหางานทำลำบาก ถามว่าจริงเท็จแค่ไหนก็ลองถามตัวเองดูซิครับว่าวันนี้คนที่อยู่ในยุค Mainframe ยังทำงานได้มากน้อยเพียงใด

API ทำให้เกิด API Economy และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการทำเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ธุรกิจจะแข่งกันในโลกของดิจิทัลได้ด้วย API ผมเชื่อครับว่าในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะไม่มีซอฟต์แวร์หรือแม้แต่เว็บไซต์ใดที่ไม่มี APIs แล้วจะสามารถแข่งในตลาดที่กลายเป็นโลกของแพลตฟอร์มได้

ผมในฐานะของผู้ใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Salesforce.com อยากจะบอกว่าที่เลือกใช้ Salesforce ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะว่าถูก ไม่ใช่เพราะมันอยู่บน Cloud แต่สิ่งที่สำคัญสุดคือมันคือแพลตฟอร์มที่ผมสามารถต่อยอดหาโปรแกรมใหม่ๆมา add-on ได้ สามารถเรียกดึงข้อมูลได้ และสามารถปรับเปลี่ยนได้เอง มันเลยทำให้ผมสามารถนำไปสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ๆได้ สามารถนำไปต่อกับโปรแกรมในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้ และเขียนโปรแกรมมาเรียกใช้มันได้ด้วยตัวเอง

เรากำลังทำ Digital Economy และส่งเสริมให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ ให้เอกชนพัฒนาซอฟต์แวร์ แนวทางที่ถูกต้องไม่เน้นให้เป็นเพียงแค่พัฒนาซอฟต์แวร์อย่างระบบ บัญชี CRM, HR, ERP ขึ้น Cloud แค่นั้นครับ เพราะซอฟต์แวร์ขึ้น Cloud มันก็เป็นเพียงแค่ซอฟต์แวร์ แต่การแข่งขันในโลก Digital Economy วันนี้คือการพัฒนาแพลตฟอร์มบน Cloud ที่ผู้ใช้สามารถต่อยอดมาสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ได้อย่าง Grab Taxi, Line หรือ Amazon.com

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ใส่ความเห็น