การลดช่องว่างเชิงดิจิทัลคือก้าวแรกที่สำคัญสู่ Thailand 4.0

Screenshot 2017-09-18 10.59.49

ผมคิดว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการที่จะก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ก็คือช่องว่างเชิงวิกฤตเชิงดิจิทัล (Digital Divide) ของภาคประชาชนและหน่วยราชการเอง ผมเองมีโอกาสได้สัมผัสกับการทำงานทั้งภาคเอกชนและภาคราชการ และยังมีโอกาสได้สอนอบรมผู้คนจำนวนมากทั้งในด้านเทคนิคองค์ความรู้ดิจิทัลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ผมยังเห็นช่องว่างของการใช้เทคโนโลยีอีกมาก ระหว่างประชาชนในเมืองกับชนบท ระหว่างภาคราชการกับภาคเอกชน กับองค์กรขนาดใหญ่และ SME  แม้เราจะบอกว่า คนไทยทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่โดยมากก็เพื่อความบันเทิงเช่น เล่น Facebook เล่นไลน์ เล่น Youtube แต่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานของข้าราชการและประชาชนจำนวนมากยังมีน้อยอยู่

ผมคิดว่าองค์กรของเราส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคราชการยังขาดวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล (Digital Culture) ซึ่งมันมีความหมายมากกว่าการใช้เทคโนโลยี องค์กรที่มีวัฒนธรรมเชิงดิจิทัลไม่ได้หมายความว่าจะต้องลงทุนกับการซื้อเทคโนโลยีมากมาย ไม่ได้หมายความว่าผู้คนในองค์กรจะต้องเก่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งสำคัญคือองค์กรจะต้องมีความโปร่งใส ต้องมีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ต้องฝึกการใช้เทคโนโลยีในการทำงานร่วมกัน ต้องมีความคล่องตัวในการทำงาน และต้องรู้จักการแชร์ข้อมูล

แต่ทุกวันนี้หน่วยงานในประเทศหลายหน่วยงานยังใช้เอกสารจำนวนมาก ราชการยังยึดติดกับเอกสาร เรายังส่งแฟกซ์ เซ็นชื่อเข้าประชุม เรายังทำเอกสารโดยใช้กระดาษ เรามีการแชร์ข้อมูลน้อยมาก บุคลากรเองก็ขาดทักษะเชิงดิจิทัล หากเราไม่สามารถพัฒนาบุคลากรรู้จักใช้เครื่องมือใหม่ๆเหล่านี้ ยังขาดวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล ผมเชื่อว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 คงไปไม่ถึงไหน

digital-divide-and-development-communication-3-638

หากเรามองแต่กลุ่มของ SME เราก็จะพบว่า SME จำนวนมากยังใช้ digital ในขั้นพื้นฐาน เราอาจจะเก็นการขายของออนไลน์ เอามาทำ marketing บ้าง แต่ SME ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล จำนวนมากก็ยังใช้ free email การลงทุนด้าน digital ก็ค่อนข้างต่ำ เราแทบไม่ค่อยเห็น SME ลงทุนกับซอฟต์แวร์ เห็นการลงทุนการใช้ cloud technology ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของ big data การทำ data analytics ที่ SME บ้านเรายังห่างไกลกับอีกมาก ผมแทบไม่ค่อยห็น SME บ้านเรามาใช้ colllaboration tool เช่น Google doc หรือ Office 365 online ในการทำเอกสารร่วมกัน แม้เราอาจเห็น SME จำนวนมากนำเทคโนโลยี่มาใช้ในการสื่อสารเช่นการใช้ facebook การใช้ line แต่ถ้ามองในแง่ของประสิทธิภาพการทำงานก็ยังถือว่าไม่สูงมาก

ในกลุ่มของคนพัฒนาเทคโนโลยีเราอาจดีใจที่เห็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ กลุ่ม Start up หลายๆแห่งหันมาพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ถ้าเรามองลึกไปจริงๆก็ยังหนีไม่พ้นในเรื่องของการพัฒนาเว็บ การขายของออนไลน์ การเล่นกับ social media แต่พอมองนวัตกรรมในเชิงลึกเหมือนที่นักพัฒนาต่างประเทศกำลังให้ความสนใจอย่างหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ เรื่องของหุ่นยนต์ เรื่องของ big data เราจะพบว่าคนของเรายังห่างไกลกับเรื่องเหล่านี้อีกมาก

ผมคิดว่านอกเหนือจากการจะพัฒนาคนให้ลดช่องว่างเชิงดิจิทัลในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆให้เราทันกับต่างชาติแล้ว เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างภาคราชการกับเอกชนระหว่างองค์กรใหญ่ๆกับ SME ระหว่างผู้คนในเมืองกับสังคมต่างจังหวัด หากยังปล่อยทิ้งไว้ผมคิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะยิ่งสร้างปัญหาให้กับสังคมจะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นมีมากยิ่งขึ้น

เป็นไปไม่ได้ที่เราจะให้คนกำหนดนโยบายหรือผู้ปฏิบัติงานหรือผู้เชี่ยวชาญไปมองเทคโนโลยีของต่างประเทศ โดยการเน้นเดินทางไปดูงานเอา Best Practice ของประเทศต่างๆมาใช้ โดยคนเหล่านี้สัมผัสกับชนบทไทยสัมผัสกับต่างจังหวัดน้อยมากๆเ ราต้องกำหนดให้เขาเหล่านั้นต้องเข้าใจสังคมไทยมากขึ้นโดยเฉพาะช่องว่างของสังคมต่างจังหวัดกับสังคมในเมือง อย่ามองว่ากรุงเทพฯคือประเทศไทย ต้องคิดเพื่อช่วยทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนต่างจังหวัดเพื่อลดช่องว่างเชิงชนชั้น ดังนั้นสิ่งแรกสุดที่เราควรจะทำเพื่อ คือการกำหนดนโยบายที่เป็นการลดช่องว่างเชิงดิจิทัลและต้องสร้างวัฒนธรรมดิจิทัลให้กับองค์กรทั้งภาคราชการและ SME

 

ธนชาติ นุ่มมนท์

IMC Institute

เอกสารและลายเซ็น คืออุปสรรคของการก้าวสู่ Thailand 4.0

Screenshot 2017-10-06 17.30.17

รัฐบาลพยายามพูดถึง Thailand 4.0 พูดถึงรัฐบาลดิจิทัลแต่ก็ดูเหมือนว่าขับเคลื่อนช้าไม่ไปไหนเสียที เอกสารต่างๆก็เยอะไปหมด แม้จะมีคำสั่งออกมาให้เลิกสำเนาเอกสารที่ออกจากหน่วยราชการเช่นบัตรประจำตัวประชาชนหากประชาชนต้องไปติดต่อราชการ ต่อหน่วยราชการส่วนใหญ่ก็ยังขอสำเนาอยู่ดีพร้อมให้เราต้องลงนามว่าสำเนาถูกต้อง

ผมมีโอกาสได้สัมผัสกับงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เวลาทำงานกับหน่วยงานรัฐหนังสือราชการจะเยอะไปหมด จะเข้าประชุมทีเอกสารหนาเป็นร้อยๆหน้าและเอกสารจำนวนมากที่แจกมาก็ไม่ได้อ่านหรือไม่จำเป็น จะไปประชุมจะไปบรรยายราชการแต่ละครั้งหนังสือเชิญเต็มไปหมด จะบรรยายทีก็มาขอเอกสารการบรรยายจะแจกคนเข้าฟังทั้งๆที่ควรอยู่ในรูปดิจิทัลได้แล้ว บางที่ก็ต้องลงเวลาเข้าออกขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มีเอกสารที่ต้องลงนาม หรือที่มีบุคคลต่างๆลงนามเยอะไปหมด จนทำให้คิดไปว่าถ้าราชการไม่มีเอกสาร ไม่มีการลงนาม คือไม่ได้ทำงานหรอ ทั้งๆที่การส่งเอกสารลงลายเซ็นไม่ไดเป็นเครื่องวัดอะไรเลยว่าได้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

เราจะไปเป็น Thailand 4.0 ได้อย่างไร ถ้าเรายังยึดติดกับวัฒนธรรมเดิม ยึดติดกับเอกสารและลายเซ็น ผมว่าเอกสารและลายเซ็นเป็นตัวถ่วงทำให้ Thailand 4.0 เกิดขึ้นอยาก เราต้องทำลายความคิดเดิมๆที่ว่าต้องมีเอกสารและลายเซ็นออกไปให้ไปได้ มิฉะนั้นแล้วเราก็ไม่สามารถทำงานในโลกดิจิทัล ที่จะทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้ทุกที่ ทุกเวลา

ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันลายเซ็นไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนอะไรได้เลย เมื่อปีที่ผ่านมาผมมีประสบการณ์อันเลวร้ายที่ถูกคนบางคนเอาลายเซ็นผมไปสแกนออกจดหมายเชิญ จดหมายไปทำเอกสารต่างๆเป็นจำนวนมาก ต่างกรรมต่างวาระ แม้กระทั่งหนังสือถึงรัฐมนตรีโดยที่ผมไม่ได้รับทราบทั้งก่อนและหลังออกหนังสือ ซึ่งผมเองไปพบด้วยด้วยตนเองจากข้อมูลของผู้ที่ได้รับหนังสือที่สแกนลายเซ็นผม ผมคงไม่กล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์นั้น แต่ประเด็นก็คือลายเซ็นที่ถูกสแกนไม่มีใครทราบว่าผมไม่ได้รับลงนาม และราชการเองก็สำเนาจดหมายผมไปเรื่อยๆทั้งๆที่ไม่มีร่องรอยของเอกสารจริงเลย คำถามก็คือแล้วเราทำไมจะต้องสนใจเอกสารหรือลายเซ็นอีกในเมื่อมันปลอมกันง่ายๆแบบนี้ ทำไมไม่ส่งเอกสารทางอีเมล ส่ง Line ส่ง SMS กัน แล้วให้เจ้าตัวเองเป็นคนส่ง

Screenshot 2017-09-02 09.30.35

ถ้าเราเลิกวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องเอกสารและลายเซ็นได้แล้วพยายามสร้างวัฒนธรรมดิจิทัลในหน่วยราชการผมว่าก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาคราชการที่จะก้าวสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเราจะไปถึงจุดนั้นได้มันไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้เครื่องมืออย่าง Office Tools ต่างๆแต่มันมีอะไรมากกว่านั้นอาทิเช่น

  1. ผุ้นำองค์กรต้องเป็นแบบอย่างการสร้างวัฒนธรรมดิจิทัล เลิกการออกหนังสือ เซ็นหนังสือ ต้องสั่งให้การประชุมเป็นแบบไร้เอกสาร ต้องใช้การสื่อสารแบบออนไลน์และเน้น Paperless มากขึ้น
  2. ราชการต้องออกกฎหมายยกเลิกการลงนามเอกสารที่ไม่จำเป็น เช่นหนังสือเชิญประชุม การเซ็นชื่อเข้าออก การลงนามรับเรื่องต่างๆแล้วหันมาใช้ Digital Identity ที่จะบอกตัวตนได้ดีกว่า ที่พูดถึงลายเซ็นที่ปลอมกันได้ง่าย
  3. ต้องลดใช้เอกสารต่างๆทั้งหมด ในการประชุม ในการทำงานต่างๆ สร้างรูปแบบเอกสารในการเก็บดิจิทัล ที่เป็นมาตรฐานเช่น PDF และรับรองการส่งข้อมูลแบบดิจิทัลผ่านอีเมล หรือ Tool ต่างๆมากขึ้น
  4. หันมาใช้ share storage เลิกใช้ Thumb drive ส่งกันไปมา เก็บเอกสารต่างๆเพื่อให้แบ่งปันได้แล้วจัดลำดับชั้นความลับ
  5. สร้างนิสัยการทำงานร่วมกัน ใช้ collaboration tool ในการจัดทำเอกสารต่างๆไม่ใช่ใช้ word, excel, PowerPoint ส่งเอกสารทางอีเมลไปมา
  6. เน้นให้องค์กรเป็น Data driven ทุกอย่างใช้ข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ มันก็จะทำให้ราชการเห็นความสำคัญของดิจิทัล
  7. หน่วยงานต้องมีความโปร่งใส จะเป็นองค์กรดิจิทัลได้ต้องมีธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการบริหารงาน ข้อมูล เอกสารจะถูกแชร์กันอย่างเป็นระบบ ชั้นความลับเมื่อพูดถึง Thailand 4.0 หรือ Industry 4.0 ผมไม่ค่อยเป็นห่วงภาคเอกชนละครับ ที่กลัวก็คือภาคราชการ ไม่ต้องบอกภาคเอกชนว่า 4.0 หรือ 5.0 เขาก็ไปกันได้เองละครับ แต่ที่เป็นตัวถ่วงทำให้เขาเดินกันไม่ได้ก็ภาคราชการนี่ละครับ เราเริ่มกันเรื่องนี้ก่อนไหมครับ ลดเอกสารและลายเซ็น

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ระดับการวัดความสามารถในการนำ Big Data ไปใช้ในองค์กร

 

ผมเห็นว่าวันนี้ทุกคนต่างก็พูดเรื่อง Big Data ตั้งแต่คนไอทีไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ต่างก็บอกว่าจะเอา Big Data  มาใช้ในองค์กร บ้างก็บอกว่าทำแล้วบ้างก็บอกว่ากำลังทำ บางคนทำรายงานอะไรเล็กน้อยก็บอกว่าทำ Big Data อยู่ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าแต่ละคนเข้าใจความหมายของ Big Data แค่ไหน แต่ไม่ว่าจะมองนิยาม  Big Data อย่างไรก็ตามผมมองว่า Big Data มีเป้าหมายสำหรับองค์กรในสามประเด็นดังนี้

  1. การนำข้อมูลขนาดใหญ่มาช่วยในการตัดสินใจได้ดีขึ้น เช่นสามารถตอบได้ว่าเราควรจะทำอะไร นำสินค้าใดมาขาย ลูกค้าเราอยู่ที่ใด จะใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร
  2. การนำข้อมูลขนาดใหญ่มาช่วยให้การทำงานดีขึ้น เช่นทราบข้อมูลโดยทันทีว่าลูกค้าต้องการอะไร ทราบตำแหน่งของลูกค้าเป้าหมาย หรือช่วยเพิ่มยอดขาย จะใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพอย่างไร
  3. การทำให้ข้อมูลเป็นทรัพย์สินขององค์กร และทำให้เกิด Business Transformation เช่นการนำข้อมูลที่มีอยู่ไปต่อยอดร่วมกับคู่ค้ารายอื่นๆเพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ

การทำ  Big Data ไม่ใข่แค่เรื่องของการทำ  Data Cleansing, Data Warehouse, Business Intelligence หรื่อเรื่องของเทคโนโลยี องค์กรที่จะทำ Big Data อาจต้องเปลี่ยนทัศนคติในรูปแบบเดิมๆอยู่หลายเรื่อง ซึ่งผมมักจะยกคำพูดสั้นมา 3-4  ประโยคเกี่ยวกับ Big Data  ดังนี้

  • Don’t think technology, think business transformation.
  • Don’t think data warehouse, think data lake.
  • Don’t think business intelligence, think data science.
  • Don’t think “what happened”, think “what will happen”.

สุดท้ายต้องทำความเข้าใจเรื่องระดับความสามารถของการนำ Big Data ไปใช้ในองค์กร (Big Data Matuarity Model)  ว่ามีอยู่ 5 ระดับดังรูปนี้ ซึ่งจะบอกได้ว่าองค์กรของเราอยู่ในระดับใด

Screenshot 2017-09-01 11.46.57

รูปที่ 1 Big Data Business Model Maturity Index, จาก Big Data MBA, Bernard Marr

  1. Business Monitoring ในขั้นตอนนี้องค์กรยังเพียงแค่ทำ Business Intelligence หรือยังทำ Data Warehouse ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราจะแสดงข้อมูลหรือทำรายงานต่างๆขององค์กรในลักษณะของ Descriptive Analytic ที่เราจะดูข้อมูลในอดีตเพื่อให้ทราบว่า What happened?
  2. Business Insights  ในขั้นตอนนี้จะเป็นการเริ่มต้นทำ Big Data Project ที่มีการทำ  Data Lake เพื่อรวบรวมข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรทั้งข้อมูลที่เป็น structure, unstructure  หรือ semi-structure เพื่อทำ Predictive Analytic  เพื่อให้ทราบว่า What will happen?
  3. Business Optimization ในขั้นตอนนี้จะเริ่มเห็นความคุ้มค่าของการลงทุนทำ Big Data Project โดยจะเป็นการทำ Prescriptive Analytic เพื่อให้ทราบว่า How should we make in happen?
  4. Data Monetization ในขั้นตอนนี้จะเป็นการขยายผลเพื่อนำ Data ที่จะเป็นทรัพยากรขององค์กรไปใช้เป็นสินทรัพย์ในการทำงานร่วมกับคู่ค้าหรือองค์กรอื่นๆ
  5. Business Metamorphosis ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นสูงสุดของการทำ Big Data ที่จะเห็นเรื่องของ Business Transformation  ในองค์กรซึ่งอาจเห็นรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ หรื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขององค์กร

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การทำ Big Data Project  ไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างที่เข้าใจ จำเป็นต้องปรับวิธีคิดในองค์กรอย่างมาก และต้องเข้าใจเป้าหมายและระดับขั้นของการทำ Big Data ในองค์กร

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

พฤศจิกายน 2560