การดูงาน China IT Expo 2018 ที่เมืองเซินเจิ้น วันที่ 9-11 เมษายน 2018

55661635_1351601811653822_8418504803490988032_o

ช่วงวันที่ 9-11 เมษายนที่ผ่านมา ทางสถาบันไอเอ็มซีได้จัดทริปไปดูงาน ที่เมืองเซินเจิ้น  (Shenzhen)  ประเทศจีน อีกครั้งหนึ่งโดยได้พาไปดูงาน The 6th China Information Technology Expo 2018 ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่ทางสถาบันไอเอ็มซีพาไปดูงานที่เมืองเซินเจิ้น โดยครั้งแรกก็เคยพาผู้เข้าอบรมไปดูงาน China Hi-Tech Fair 2017  เมื่อเดือนพฤศจิกายนปืที่แล้ว (ดูบทความ เซินเจิ้น Silicon Valley ด้าน Hardware)

30516172_1069055216575151_5553812581140922368_n

งานนี้อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับงาน China Hi-Tech Fair แต่ก็มีทั้งหมด 9 Hall และแต่ละฮอลล์ก็มีบูธต่างๆจากผู้ประกอบการและผู้ผลิตมากมาย จำนวนเป็นพันราย ที่น่าสนใจคือสิ่งที่มาแสดงทั้งหมดนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน และโดยมากเป็นโรงงานที่อยู่ในเซินเจิ้นเอง

 

Screenshot 2018-04-16 09.53.22

รูปที่ 1 ผังงาน China IT Expo 2018

ใน Hall 1 จะเป็นฮอลล์หลัก ที่กำหนด Theme เป็น Smart Home และ Intelligent Terminal ที่นำอุปกรณ์จากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านยี่ห้อต่างๆของจีนมาให้ชมอย่าง  SKYWORTH, CHIQ, ZTE หรือ TCL  โดยในฮอลล์นียังจะมีโซลูชั่นที่แสดงระบบอัจฉริยะต่างๆอาทิเช่นระบบ Facial Recognition หรือระบบ Smart classroom และก็มีกลุ่มของที่แสดงอุปกรณ์ด้าน Semiconductor อื่นๆอีกมาก

รูปที่ 2 ตัวอย่างบูธต่างๆที่อยู่ใน Hall 1

Hall 2 จะเป็นส่วนทีนำผู้ผลิต Display ต่างๆของจีนที่ทำ LCD, OLED หรือ LED ที่มีรวมกัน 200 กว่ารายมาแสดง โดยนำเทคโนโลยี Display ล่าสุดมาให้ดู ซึ่งเราจะเห็นถึงความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมการผลิตอุปกรณ์แสดงผลของจีนที่มีโรงงานจำนวนมากอยู่ในเมืองเซินเจิ้น ส่วน Hall 3  และ Hall 4 เป็นทางด้าน Intellient manufacturing และ 3D Printing รวมถึง Industrial Robots และ Intelligent System ที่ได้นำบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในจีนมากกว่า 150 รายมาแสดง ซึ่งที่เห็นจากงานนี้ทำให้ไม่แปลกใจกับนโยบาย Dark Factory  ของจีนที่เน้นจะนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโรงงานของจึน และใช้แรงงานคนน้อยลง

รูปที่ 3 ตัวอย่างบูธต่างๆที่อยู่ใน Hall 2-3

Hall 5 เป็นส่วนที่แสดงโซลูชั่นด้านปัญญาประดิษฐ์​ (Artificial Intelligence) โดยจะเห็นผู้ผลิตระบบหุ่นยนต์ในจีนประมาณ 30 รายมาแสดง ตั้งแต่หุ่นยนต์ในบ้าน ร้านอาหาร หรือหุ่นยนต์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็ก ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์จีนที่คิดว่าน่าจะเป็นอันดับต้นๆของโลกแล้ว  ส่วน Hall 6 เป็นฮอลล์ที่แสดงโซลูชั่น IoT โดยเน้นด้าน Smart city, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้าน IoT รวมถึงด้าน Interactive Entertainment มาแสดงจำนวนมาก

รูปที่ 4 ตัวอย่างบูธต่างๆที่แสดงด้านหุ่นยนต์

Hall 7 และ 8 จะเน้นด้านรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีด้าน Connected car รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ต่างๆจำนวนมาก โดยเราจะเห็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายๆยี่ห้อของจีนนำรถมาแสดง ทั้งนี้เมืองเซินเจิ้นเองก็มีเป็นศูนย์กลางการวิจัยและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ BYD ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่อันดับสองของโลก โดยผลิตส่งออกไปขายในหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งเฉพาะที่ผลิตและส่งมอบในจีนก็มีถึงปีละ 171,000 คัน ซึ่งถ้าเรามาที่เมืองเซินเจิ้นก็จะเห็นรถยนต์ BYD วิ่งกันอยู่จำนวนมากทั้งเป็นรถส่วนตัว รถแท็กซี่ และรถเมล์ สำหรับ Hall 9 ก็เป็นส่วนแสดงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วๆไปที่โรงงานมากกว่า 200 รายในจีนมาแสดง

รูปที่ 5 ตัวอย่างบูธต่างๆที่อยู่ใน Hall 7-8

รูปที่ 6 ตัวอย่างบูธต่างๆที่อยู่ในงาน

การมางาน China IT Expo ครั้งนี้ยิ่งทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า ประเทศจีนกำลังแซงหน้าหลายๆประเทศในโลกด้านเทคโนโลยีไอที และเซินเจิ้นกำลังกลายเป็น Silicon Valley ด้านฮาร์ดแวร์ของโลกอย่างแท้จริง ทางสถาบันไอเอ็มซีก็คงจัดไปดูงานที่เซินเจิ้นอย่างต่อเนื่องโดยครั้งถัดไปตั้งใจจะจัดไปในกลางเดือนพฤศจิกายนปีนี้ สำหรับงาน China Hi-Tech Fair 2018

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

เมษายน 2561

Screenshot 2018-04-16 11.55.45

 

 

Platform Business Model Map เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ Business Platform

 

ผมเขียนเรื่องของ  Business Platform มาสองตอน (Digital Transformation คือการพัฒนา Platform มิใช่แค่การสร้าง Product หรือ Service) คราวนี้เลยอยากนำ Platform Business Model Map ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวิเคราะห์ Business Platform ที่ทาง David L. Roger นำเสนอไว่ในหนังสือ The digital transformation playbook มาอธิบายให้เข้าใจ

Screenshot 2018-04-04 10.12.07

Model map นี้จะประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆดังนี้

  • วงกลม คือ Business Platform
  • รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน คือ ลูกค้าที่นำรายได้มาให้กับ Platform (เรียกว่า payer) ทั้งนี้ลูกค้าประเภทที่เป็นผู้สร้างรายได้หลัก (เรียกว่า primary payer) จะกำหนดไว้ทางขวามือของ Platform
  • รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คือ ลูกค้าที่อาจไม่ได้นำรายได้มาให้กับ Platform แต่เป็นกลุ่มที่ช่วยดึงดูดให้ลูกค้ากลุ่มอื่นเข้ามาใช้ Platform (เรียกว่า sweetener)
  • จำนวน Spike คือ จำนวนประเภทลูกค้าที่ลูกค้ากลุ่มนี้อาจโต้ตอบด้วย (ตัวอย่างในรูปลูกค้าประเภท Users มี 4 Spike เพราะต้องเกี่ยวข้องกับ Advertiser, Publisher, App developer และ  ตัว User ด้วยกันเอง)
  • เส้นขอบสองเส้น คือ  ลูกค้าที่มีความสำคัญที่สุดใน Platform (เรียกว่า Linchpin) ที่จะสร้างให้เกิด Network effect โดยพิจารณาจากประเภทลูกค้าที่มีจำนวน Spike มากสุด
  • ลูกศรในแต่ละทิศทาง จะระบุถึงคุณค่าที่ลูกค้าได้รับหรือให้กับ Platform
    • ข้อความที่เป็นตัวเข้มคือคุณค่าที่เป็นเงิน
    • ข้อความที่อยู่ในวงเล็บหมายความว่าเป็นคุณค่ามีได้รับหรือให้กับ Platform โดยตรง
    • ข้อความที่ไม่ได้อยู่ในวงเล็บหมายความว่าคุณค่านี้ได้รับหรือให้กับลูกค้าประเภทอื่น โดยใช้ Platform เป็นตัวผ่าน

การจะสร้าง Platform Business Model Map  นี้ได้ ควรเริ่มต้นจากการสร้างตารางดังรูปข้างล่างนี้

Screenshot 2018-04-07 15.56.17

โดยเราควรตอบคำตอบต่างๆเหล่านี้

  1. ลูกค้าของ Platform มีประเภทใดบ้าง
  2. ลูกค้าในแต่ละประเภทได้รับประโยชน์หรือคุณค่าจากลูกค้าประเภทอื่นอย่างไรบ้าง  (เขียนตัวเข้มถ้าคุณค่านั้นเป็นรูปของเงิน)
  3. ลูกค้าในแต่ละประเภทได้รับประโยชน์หรือคุณค่าจาก Platform โดยตรงอย่างไรบ้าง  (เขียนตัวเข้มถ้าคุณค่านั้นเป็นรูปของเงิน)
  4. ลูกค้าในแต่ละประเภทได้ให้ประโยชน์หรือคุณค่าจากลูกค้าประเภทอื่นอย่างไรบ้าง  (เขียนตัวเข้มถ้าคุณค่านั้นเป็นรูปของเงิน)
  5. ลูกค้าในแต่ละประเภทได้ให้ประโยชน์หรือคุณค่าจาก Platform โดยตรงอย่างไรบ้าง  (เขียนตัวเข้มถ้าคุณค่านั้นเป็นรูปของเงิน)
  6. ลูกค้าในแต่ละประเภทเกี่ยวพันและติดต่อกับประเภทอื่นรายใดบ้าง
  7. ระบุ  Profile ของลูกค้าในแต่ละประเภทในสี่ชนิดนี้ linchpin, payer, primary payer หรือ sweetener

ดังตัวอย่างของ Facebook ที่ได้คำตอบดังแสดงในรูปข้างล่างนี้

Screenshot 2018-04-07 15.56.27

เมื่อได้ข้อสรุปจากตารางแล้ว เราก็สามารถนำสิ่งที่ได้จากตารางมาวาดใส่  Model Map ต่อไป

การสร้าง Business model map จะช่วยทำให้เราวิเคราะห์ Business platform ได้ดีขึ้น แล้วช่วยตอบคำถามในเชิงกลยุทธฺหลายๆด้านได้อาทิเช่น

  • ลูกค้าประเภทใดที่เราควรดึงเข้าร่วมใน Platform เพื่อทำให้เกิด Network effect?
  • เราสามารถจะสร้างรายได้ให้กับ Platform อย่างไร?
  • ลูกค้าประเภทใดมีความสำคัญต่อ Platform มากที่สุด (primary payer และ  linchpin)?
  • รูปแบบธุรกิจของ Business platform นี้มีความเหมาะสมหรือไม่ ลูกค้าทุกประเภทได้รับประโยชน์หรือคณค่าจาก Platform ด้วยความเหมาะสมหรือไม่?

จากที่กล่างทั้งหมด ก็หวังว่าเครื่องมือจะทำให้เราวิเคราะห์ Business Platform ต่างๆได้ดีขึ้น หลังจากที่ได้อ่านบทความสองตอนก่อนหน้านี้ของผม

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

เมษายน 2561

Digital Transformation คือการพัฒนา Platform มิใช่แค่การสร้าง Product หรือ Service (ตอนที่ 2)

Screenshot 2019-10-01 10.14.45

คราวก่อนผมเขียนบทความเรื่อง “Digital Transformation คือการพัฒนา Platform มิใช่แค่การสร้าง Product หรือ Service (ตอนที่ 1)” แล้วชี้ให้เห็นว่าอะไรคือ Business Platform และทำไมแพลตฟอร์มในโลกยุคดิจิทัลถึงมีสำคัญ ซึ่งผมก็ได้ยกตัวอย่างของแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเราอาจเห็นกันแล้วว่าการสร้าง E-commerce ก็อาจไม่ใช่ Business Platform แต่อาจเป็นเพียงช่องทางการขายผ่านดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่งเท่านั้น

Business Platform นอกจากจะมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจแบบเดิมๆแล้วบางครั้งแพลตฟอร์มต่างๆก็แข่งกันเอง การแข่งขันของแพลตฟอร์มแล้วประสบความสำเร็จจะอยู่ที่หลายๆประเด็นดังนี้

  • คุณค่าที่ได้จากเครือข่าย (Network-added value): คือการที่มีผู้ร่วมใช้แพลตฟอร์ม (ลูกค้า) มากกว่ากัน (Network effects), มีคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ดีจากลูกค้า หรือ มีข้อมูลที่แชร์จากลูกค้ามากกว่า
  • คุณค่าที่ได้จากแพลตฟอร์ม (Platform-added value): คือการที่แพลตฟอร์มมี Feature ที่โดดเด่นและมีประโยชน์มากกว่า หรืออาจมีเนื้อหาที่ให้ฟรี
  • มาตรฐานเปิด (Open standard): คือการที่แพลตฟอร์มมีระบบ API ที่เปิด มีชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ (SDK) ที่ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย
  • เครื่องมือโต้ตอบ (Interactive tools) : แพลตฟอร์มมีเครื่องมือในการหากลุ่มลูกค้า การจับคู่ หรือการทำให้เกิดธุรกรรม เช่น Facebook มือเครื่องมือแนะนำเพื่อน หรือมีเครื่องมือให้ผู้โฆษณาสินค้าได้ลูกค้าตรงกลุ่มเป้าหมาย
  • ระบบสร้างความเชื่อมั่น  (Trust enablers): แพลตฟอร์มอาจมีระบบระบุตัวตน มีระบบการสร้างความน่าเชื่อถือ (Reputation system) หรือระบบป้องกันการเงิน (Financial Safeguards) เช่นการคืนเงินเมื่อไม่ได้รับสินค้า

แม้โลกดิจิทัลจะทำให้เราสร้าง Business Platform ได้ง่าย แต่แพลตฟอร์มจำนวนมากก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ  โดยทาง Harvard Business Review ได้ให้เหตุผล 6 ประการในบทความเรื่อง “6 Reasons Platforms Fail” ซึ่งอาจสรุปได้สั้นๆดังนี้

  • แพลตฟอร์มมีการเปิดกว้าง (openness) ไม่ดีพอ : แพลตฟอร์มอาจไม่ได้เปิดกว้างให้ลูกค้าเช่นผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ใช้ แพลตฟอร์มสามารถเข้ามาได้อย่างเต็มที่ทำให้ไม่สามารถสร้าง Network effect ได้ แต่บางครั้งการเปิดแพลตฟอร์มมากไปก็อาจทำให้เราไม่สามารถควบคุมลูกค้าที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มได้ ก็อาจทำให้ได้คุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ไม่ดีจากลูกค้า เช่นการสร้างเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือมีลูกค้าที่มาขายของไม่มีคุณภาพได้ง่ายโดยไม่มีการกลั่นกรองสินค้าหรือบริการที่ดี
  • ไม่สามารถชักจูงนักพัฒนาโปรแกรมเข้ามาสู่แพลตฟอร์มได้​: แพลตฟอร์มจะเกิด Network effect ได้ต้องมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วยกันขยายแพลตฟอร์มผ่าน APIs โดยใช้เครื่องมือพัฒนาแพลตฟอร์ม (SDK)  แพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอย่าง Facebook, Amazon, eBay ต่างก็มี APIs และคู่มือที่ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์พัฒนาโปรแกรมเชื่อมต่อและเข้าถึงแพลตฟอร์มได้โดยง่าย
  • ไม่สามารถแบ่งปันกำไรหรือคุณค่าที่ได้จากแพลตฟอร์มได้ดีพอ: ลูกค้าของแพลตฟอร์มเช่นผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือผู้ใช้ ต้องเห็นคุณค่าหรือกำไรที่จะได้จากแพลตฟอร์มที่เหมาะสม หากผู้บริหารแพลตฟอร์มไม่ได้แบ่งปันให้ดีพอลูกค้าก็จะไม่เห็นคุณค่าของแพลตฟอร์มและไปเลือกแพลตฟอร์มที่ให้ประโยชน์ดีกว่า
  • โปรโมทหรือขยายลูกค้าของแพลตฟอร์มผิดข้าง: อย่างที่กล่าวไว้ว่า Business Platform จะมีลูกค้ามากกว่าหนึ่งประเภทเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม ดังนั้นผู้บริหารแพลตฟอร์มจำเป็นต้องเข้าใจและเลือกขยายลูกค้าของแพลตฟอร์มให้ถูกกลุ่มและถูกเวลา อาทิเช่นแพลตฟอร์มรถบริการสาธารณะมีแต่ผู้โดยสารมากไปไม่มีรถให้บริการก็ไม่สามารถจะเกิด Network effect ที่ดีได้ ช่วงแรกๆอาจเป็นการโปรโมทให้มีผู้ขับรถจำนวนมากหลังจากนั้นค่อยเน้นกลุ่มผู้โดยสาร
  • ไม่สามารถจะเน้นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดได้อย่างถูกต้อง: การที่ลูกค้าจะเข้ามาใช้แพลตฟอร์มอาจมีสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดที่แตกต่างกัน แพลตฟอร์มในการชำระเงินสิ่งที่เป็นความสำคัญยิ่งยวดอาจเป็น การป้องกันการฉ้อโกง หรือการใช้งานง่าย ขึ้นอยู่กับบริบทของลูกค้าที่ผู้บริหารแพลตฟอร์มต้องเน้นให้ถูกต้อง
  • ไม่สามารถสร้างจินตนาการได้ดีพอ: การทำ Business Platform ใหม่ๆอาจต้องฉีกแนวคิดในการทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ดังนั้นจึงต้องมีแนวคิดที่ดีและเหมาะสมในการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆอย่าง eBay, AirBnB, Uber หรือ Facebook

Screenshot 2018-04-04 10.12.07

ตอนแรกผมตั้งใจจะเขียนเรื่องการทำ The Platform Business Model Map ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์ Platform ต่างๆ ในตอนนี้ แต่เนื่องจากบทความนี้น่าจะจบลงที่เรื่องของปัจจัยที่สร้างความสำเร็จและความล้มเหลวของแพลตฟอร์ม จึงขอต่อในตอนที่ 3  แต่ขอแสดงตัวอย่างรูปของ  Model Map มาให้ดูก่อน และผู้สนใจอาจเข้าไปดู Slide การบรรยายของผมเรื่องนี้ได้ที่ https://tinyurl.com/platformmap

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

เมษายน 2561