บริษัทเทคโนโลยีมีการดักฟังข้อมูลการสนทนาเราหรือไม่

84015187_1620190491461618_2111547772598484992_o

ผมเคยสนทนากันในบ้านว่าสนใจสินค้ายี่ห้อหนึ่ง หลังจากนั้นอีกวันหนึ่งก็พบเห็นโฆษณาของสินค้านั้นในโซเชียลมีเดียที่ใช้อยู่เป็นประจำ ทั้งๆ ที่ผมเองไม่เคยค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับสินค้านั้นเลย เคยได้พูดคุยกับเพื่อนบางคนก็บอกว่าเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน และเมื่อค้นบทความต่างๆ ก็จะพบหลายๆ เรื่องที่เขียนออกมาในทำนองนี้แล้วตั้งคำถามว่า โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ในบ้านของเราแอบดักฟังเราเพื่อการโฆษณาจริงหรือไม่

ในโลกยุคปัจจุบันมีการนำระบบเอไอมาทำการโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่การที่ระบบเอไอ จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละบุคคลได้จำเป็นต้องมีการสะสมข้อมูลพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น ข้อมูลการเล่นอินเทอร์เน็ต ข้อมูลการเลือกสินค้า ข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งจะไม่แปลกใจหากข้อมูลเหล่านั้นได้มาจากการที่คนๆ นั้นใช้อินเทอร์เน็ตโดยตรง แต่หากเป็นการสนทนากันเองหรือการพูดคุยโทรศัพท์ก็อาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ปัจจุบันอุปกรณ์ส่วนบุคคลจำนวนมากเชื่อมต่ออยู่กับอินเทอร์เน็ตและสามารถส่งข้อมูลไปเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่อาจอยู่ต่างประเทศ ดังเช่น

  • Wearable Device หรือนาฬิกาอัจฉริยะ อาจส่งข้อมูลการออกกำลังกาย การเต้นของชีพจร การหลับนอนของเรา
  • กล้องอัจฉริยะ อาจส่งข้อมูลภาพต่างๆ ที่ตรวจจับอยู่
  • อุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน อาจส่งข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์ เช่น การเปิดการปิดประตูบ้าน หรือความเคลื่อนไหวต่างๆ ในบ้าน

ซึ่งบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะมีข้อมูลเหล่านั้นจำนวนมากเก็บอยู่ และหากไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีพอบริษัทเหล่านั้นก็สามารถจะนำข้อมูลของเราไปวิเคราะห์เพื่อประโยชน์อื่นๆ ได้

และยิ่งเมื่อมาพิจารณาถึงอุปกรณ์ IoT ใหม่ๆ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ อย่าง Google Home หรือ Amazon Echo ที่เราสามารถสั่งงานด้วยเสียงได้ ก็จะรู้สึกเสมือนว่าอุปกรณ์เหล่านี้รอฟังคำสั่งเราที่เป็น Trigger Voice เช่น OK Google หรือ Hey Alexa ตลอดเวลา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าบริษัทเหล่านี้เก็บข้อมูลมหาศาลไว้เพื่อวิเคราะห์หรือไม่ เช่นกันกับทีวีอัจฉริยะหรือกล้องอัจฉริยะที่อาจเก็บภาพเคลื่อนไหวของเราตลอดเวลา และสามารถนำไปวิเคราะห์ได้ หรือแม้แต่ App ที่ติดตั้งลงในมือถือก็สามารถที่จะแอบเก็บข้อมูลการสนทนาเราไปวิเคราะห์ได้เช่นกัน

are-you-being-listened-to-0001-alt-416x416

แม้บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Facebook หรือ Google ต่างออกมายืนยันว่า ไม่เคยใช้วิธีการฟังเสียงจากโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นแล้วนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้วิเคราะห์เพื่อการโฆษณาก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏจากโฆษณาเกิดจากการใช้อัลกอริทึมที่นำข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของเรา เช่น การโพสต์ การค้นหาข้อมูล ตำแหน่งของเรา รูปภาพ ตลอดจนข้อมูลเพื่อนๆ ของเรามาวิเคราะห์พฤติกรรม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทเหล่านี้ติดตามข้อมูลของเราตลอดเวลาจนทำให้มีข้อมูลจำนวนมาก

ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า เราถูกติดตามมากขึ้น และความเป็นส่วนตัวหายไป บริษัทผู้ให้บริการเริ่มทราบว่า เราอยู่ที่ใด เคลื่อนไหวอย่างไร พักผ่อนมากหรือไม่ ที่บ้านมีใครอยู่หรือไม่ ตลอดจนอาจทราบว่ามีการสนทนาเรื่องใด ดังนั้นการใช้อุปกรณ์เหล่านี้แม้จะสร้างความสะดวกสบาย สร้างบ้านอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ อาจได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวที่สูญหายไป 

ดังนั้นแนวโน้มเทคโนโลยีเรื่องอุปกรณ์อัจฉริยะที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็เริ่มมีการกล่าวถึงการนำข้อมูลมาประมวลผลโดยตรงที่อุปกรณ์โดยไม่ต้องส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ เช่น อุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถจดจำใบหน้าจะเก็บข้อมูลใบหน้าผู้คนต่างๆ ไว้ที่อุปกรณ์โดยตรง หรือลำโพงอัจฉริยะไม่ควรมีการส่งเสียงสนทนากลับไป ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

 ในปัจจุบันเรื่องการใช้ข้อมูลกำลังเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการที่องค์กรต่างๆ นำข้อมูลของลูกค้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้ทุกคนมีความกังวลต่อความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการถูกใช้ข้อมูลเหล่านี้ จึงต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นโดยต้องมีความโปร่งใสในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และต้องมีจริยธรรมดิจิทัล (Digital Ethics) 

นอกจากนี้ก็ยังมีความกังวลในเรื่องการพัฒนาระบบเอไอที่ต้องสามารถอธิบายได้ โดยจะต้องบอกได้ว่านำข้อมูลใดมาใช้ มีการพัฒนาและสอนระบบเอไออย่างไร ระบบเอไอที่ได้มาต้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้ว่ามีการใช้งานอย่างไร ซึ่งหากเรายังไม่สามารถอธิบายเรื่องความโปร่งใสของการใช้ข้อมูลหรือการทำระบบเอไอดีพอ สุดท้ายทุกคนคงอาจหนีออกจากการใช้ระบบอัจฉริยะต่างๆ เหล่านี้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

(บทความนี้ปรับปรุงจากคอลัมน์ประจำทุกวันศุกร์ที่ผมเขียนในกรุงเทพธุรกิจhttps://tinyurl.com/bkk-biznews)