Top 10 Strategic Technology Trends 2014 ของ Gartner

Image

เป็นประจำทุกปีที่ทาง Gartners จะออกรายงานระบุถึง10 เทคโนโลยีไอทีเด่นในแต่ละปี ซึ่งเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาทาง Gartner ก็ได้ระบุถึง 10 เทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเด่นในปี  2014 ดังนี้

  • Mobile Device Diversity and Management: Gartner ได้ให้ความสำคัญกับ  Mobile Devices อย่างต่อเนื่องมา 2-3 ปี และพยายามเน้นให้เห็นว่ายุคของพีซีได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ผู้ใช้ไอทีจะมาเน้นใช้อุปกรณ์โมบายอย่าง  smartphone และ Tablet มากขึ้น และเมื่อองค์กรต่างๆมีนโยบายอนุญาตให้นำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้งาน (BYOD) ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้องค์กรมีจำนวนอุปกรณ์โมบายเพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่าของจำนวนพนักงาน  เรื่องของการบริหารการใช้อุปกรณ์โมบายเหล่านี่้จึงมีความสำคัญมาก  องค์กรจึงต้องมีการกำหนดนโยบายและสถาปัตยกรรมไอทีที่ดีขององค์กรเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลองค์กร
  • Mobile Apps and Applications: Gartner คาดการณ์ว่า HTML5 จะกลายเป็น Platform หลักสำหรับ Mobile App เพราะประสิทธิภาพของ Javascript  จะดียิ่งขึ้น บริษัทต่างๆควรเน้นที่จะทำ Mobile Apps ที่จะเป็น User Interface ซึ่งสามารถใช้ฟังก์ชั่นเสริมเช่นเสียงหรือวิดีโอที่จะทำให้มีลูกเล่นมากขึ้นควบคู่ไปกับการทำ Enterprise Application แต่แนวโน้มของการทำ Application จะเริ่มมีน้อยลงขณะที่ Mobile Apps จะเพิ่มขึ้น
  • The Internet of Everything: Gartner เคยใช้คำว่าThe Internet of things มาหลายปีและเน้นให้เห็นว่าอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตขยายไปมากกว่าเครื่องพีซีและอุปกรณ์โมบาย โดยมีอุปกรณ์อื่นๆที่สามารถเชื่อมอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นเช่น ทีวี นาฬิกา หรือ รถยนต์ แต่อย่างไรก็ตามบริษทต่างๆและผู้ผลิตเทคโนโลยีก็ยังไม่ได้ขยายการนำอินเตอร์เน็ตเข้ามาใช้ในอุปกรณ์ใหม่ๆเหล่านี้มากนัก บริษัทต่างๆะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่จะต้องไม่จำกัดขอบเขตของตัวเองเป็นเพียงแค่ The Internet of things (กล่าวคือเน้นเฉพาะอุปกรณ์) แต่ควรขยายขอบเขตไปเป็น The Internet of Everything (กล่าวคือครอบคลุมทั้งอุปกรณ์ คน  ข้อมูล และสถานที่)
  • Hybrid Cloud and IT as Service Broker: องค์กรต่างๆจะต้องออกแบบ Private Cloud ของตัวเองให้สามารถที่จะปรับเป็น Hybrid Cloud ในอนาคตได้ ซึ่งจะต้องพร้อมที่จะเชื่อมต่อและสามารถทำ interoperability กับระบบอื่นๆได้ ทั้งนี้การพัฒนา Hybrid Cloud  อาจมีรูปแบบที่หลากหลายทั้งที่เป็นแบบ static (กล่าวคือการทำให้ระบบ Internal Private Cloud เขื่อมต่อกับ Public Cloud สำหรับงานบางด้านหรือข้อมูลบางส่วน) หรือแบบ  dynamic ซึ่งการทำระบบเหล่านี้องค์กรจะต้องปรับบทบาทตัวเองเป็น cloud service broker (CSB)
  • Cloud/Client Architecture: สถาปัตยกรรมไอทีกำลังเข้าสู่ยุคของ Cloud/Client กล่าวคือฝั่ง Client จะเป็น  Rich Application ที่ทำงานบนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตเช่นอุปกรณ์พีซี  smartphone หรือ Tablet ส่วนฝั่งของ Server ก็จะเป็น Applications หลากหลายที่ทำงานอบู่บนระบบ Cloud Computing  ที่ยืดหยุ่น (Elastic) และพร้อมที่จะรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้ (Scability) นอกจากนี้ความต้องการการใช้งานฝั่ง Client ผ่านอุปกรณ์โมบายจะยิ่งทำให้ระบบ Server และ Storage มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
  • The Era of Personal Cloud: ผู้ใช้ไอทีจะมีการใช้อุปกรณ์ไอทีที่หลากหลายโดยไม่ได้มีอุปกรณ์ใดเป็นอุปกรณ์หลักอีกต้่อไป ผู้ใช้จะมีความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวต่างๆที่แชร์มาผ่านบริการบน Cloud  ที่ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลอย่างปลอดภัย ยุคของ Personal Cloud  กำลังเปลี่ยนความสำคัญจาก  devices สู่ services
  • Software Defined Anything: ในอดีตเราอาจเคยได้ยินเทอมว่า  “Software Defined Networking” และ  “Software Defined Data Center” เพื่อที่จะกำหนดมาตรฐานสำหรับการทำ interoperability แต่ในยุคของ Cloud ผู้ผลิตเทคโนโลยีรายต่างๆจะพยายามที่ใช้เทคโนโลยีของตัวเองเพื่อปกป้องธุรกิจของตนเองและจะกลายเป็นเทอมว่า “Software Defined Anything”
  • Web-Scale IT: การให้บริการไอทีกำลังเปลี่ยนไปเพราะมีผู้ใช้จำนวนมหาศาล ระบบอย่าง Facebook, Amazon และ  Google  ทำให้ Enterprise Data Center ต่างๆต้องออกแบบระบบที่จะรองรับผู้ใช้จำนวนมากที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องยากที่องค์กรส่วนใหญ่จะทำระบบแบบนั้นได้ ดังนั้นในอนาคตเราอาจจะเห็นองค์กรต่างๆมาใช้ระบบ  Cloud มากขึ้น
  • Smart Machines: ภายในปี 2020 เครื่อง smart machine ที่เป็นระบบที่สามารถเรียนรู้เองได้  (เช่น IBM Watson) จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการทำงานของเรา ซึ่งยุคของ smart machine ที่จะมาถึงนี้ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไอที
  •  3-D Printing: ตลาดการพิมพ์สามมิติในปี 2014 จะโตขึ้นถึง 75% และคาดการณ์ว่าจำนวนเครื่องพิมพ์สามมิติจะถูกจำหน่ายเพิ่มเป็นสองเท่าในปี  2015 โดยราคาเครื่องก็เรื่มมีหลากหลายขึ้นตั้งแต่ช่วง $500 จนถึง $50,000

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลายท่านก็อาจเห็นว่าแนวโน้มเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ หลายๆอย่างอาจยังไม่ใช่แนวโน้มในปีหน้าของบ้านเรา ซึ่งผมเองได้เขียนบล็อกสรุป Technology Trends 2014 ของบ้านเราวไว้ในอีกบทความหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน (สามารถดูได้ที่ >> IT Trends 2014) นอกจากนี้หากท่านสนใจเรื่องของแนวโน้มเทคโนโลยีไอทีของบ้านเราในปีหน้า ทาง IMC Institute กำลังจะจัดงานสัมมนา IT Technology Trends 2014 ในวันที่ 20-21 พฤศจิกายนนี้ โดยได้เชิญผู้เชียวชาญด้านไอทีของประเทศไทย  19 ท่านมาบรรยายให้เห็นแนวโน้มและวิเคราะห์ตลาดในปีหน้า  (สามารถดูรายละเอียดของงานได้ที่ >>  IT Technology Trends 2014 )

Image

Cloud Computing in Thailand

แม้หัวข้อผมจะขึ้นว่า Cloud Computing in Thailand  แต่เรื่องนี้ผมคงต้องขออนุญาตเขียนถึงเรื่องตัวเองซักหน่อย เพราะเมื่อเดือนที่แล้วทางวุฒิสภาได้มอบใบประกาศเกียรติคุณในโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศให้กับผม จากผลงาน “Cloud Computing in Thailand”  จริงๆแล้วตอนที่ทางคณะกรรมการติดต่อผมมาขอให้ผมเขียนผลงานของโครงการ ผมก็ตอบปฎิเสธไปว่าไม่ทราบว่าผมจะเขียนอะไรเพราะผมไม่ได้ทำโครงการนี้ เพียงแต่มีกิจกรรมที่ผมทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะผลักดันเรื่องของ  Cloud Computing และไม่ได้เขียนผลงานอะไรไปให้แต่สุดท้ายก็คงต้องขอบคุณคณะกรรมการที่อาจไปค้นหาเอกสารมาให้และยังพิจารณามอบประกาศเกียรติคุณมาให้ วันนี้จึงขอมาเขียนเรื่องของตัวเองบ้างว่าผมได้ทำกิจกรรมอะไรบ้างในเรื่องของ Cloud Computing

Certificate

การบรรยายและจัดสัมมนา

ผมจำได้ดีว่าวันแรกที่ผมไปบรรยายเรื่อง  Cloud Computing ให้กับหน่วยงานต่างๆก็คือวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผมไปบรรยายให้กับการบินไทยครึ่งวันเช้า ก่อนออกไปวันนั้นตอนตีสี่ผมได้ข่าวจากทาง Twitter  ว่าจะมีการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ทำให้ผมรีบออกมาแต่เช้าและถึงที่สำนักงานใหญ่การบินไทยถนนวิภาวดีก่อนหกโมงเช้า ตอนแรกคิดว่าคงจะไม่มีการบรรยายแต่ที่ไหนได้คนยังเต็มห้องประชุมบนตึกของการบินไทย บรรยากาศบนท้องฟ้าที่เราเห็นการบรรยายเรื่อง  Cloud Computing ในวันนั้นก็คือท้องฟ้าที่ปกคลุมไปด้วยเมฆและควันสีดำจากเพลิงไหม้ของอาคารต่างๆ แต่การบรรยายก็จบลงด้วยดีหลังเวลาเที่ยงและทุกคนก็ต้องรีบกลับบ้าน

หลังจากที่ผมเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ผมก็พยายามที่จะผลักดันและสร้างความตระหนักเรื่อง Cloud Computing ว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมไอทีอย่างไร โดยไปบรรยายและจัดสัมมนาหลายๆครั้ง อาทิเช่นการจัด Cloud Computing Seminar  ที่ Software Park ในวันที่ 1  กุมภาพันธ์ 2554; Seminar on Surviving Software Business with Cloud Model ในวันที่ 23 สิงหาคม 2554 และ Public Cloud Day ในวันที่ 23 สิงหาคม 2554

นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง  Cloud Computing ให้กับหน่วยงานและงานสัมมนาต่างๆทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 30  ครั้ง ทั้งงานของ Software Park เอง งานของ SIPA, Vendor ต่างๆ สมาคมไอที หรืองาน Cloud Computing  ในต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ รวมถึงงานของ สสว. หรืออบต.ที่ไปตามต่างจังหวัด

282789_1811137409461_4938026_n

การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้าน Cloud Computing

กิจกรรมหนึ่งที่ได้ทำตอนเป็นผู้แำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยคือการรวมกลุ่มของผู้ให้บริการ  Cloud ในประเทศไทยทางด้าน IaaS มาเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรม Cloud Computing ในประเทศ โดยจัดตั้งเป็น  Cloud Thailand Alliance เมื่อกลางปี 2555  (ดูข้อมูลการแถลงข่าวที่  >> Thailand forms alliance to boost cloud development) ซึ่งในช่วงนันก็มีการจัดประชุมสัมมนา และทำ  Business Matching ระหว่างผู้ให้บริการซอฟต์แวร์กับผู้ให้บริการ IaaS

CTS_web

DSC05665

ล่าสุดทางผมเองก็ได้ไปคุยกับกลุ่มผู้ให้บริการ  Cloud  และทางสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทยที่จัดตั้ง Cloud Computing Chapter เพื่อจะยกระดับอุตสาหกรรม  Cloud Computing ผ่านกิจกรรมต่างๆของสมาคม และร่วมมือกับ  Asia Cloud Computing Association  จะทำกิจกรรมต่างๆในภูมิภาคนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากกว่า 20 รายและจะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะจัดให้มีการประชุม  Chapter ครั้งแรกในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 โดยรายละเอียดของ Cloud Computing Chapter สามารถดูได้ที่ >> ATCI’s Cloud Computing Chapter

งานวิจัยทางด้าน Cloud Computing

นอกจากนี้ผมได้ทำหน้่าที่เป็นผู้จัดการงานวิจัยให้กับสวทช.ที่รับงานมาจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT) เมื่อต้นปีนี้ เพื่อทำโครงการศึกษาวิจัยด้านการส่งเสริมการใช้  Cloud Computing ในประเทศไทย โดยได้ร่วมทำการสำรวจข้อมูลตลาดของอุตสาหกรรม  Cloud Computing ในประเทศและศึกษาตลาดรวมถึงนโยบายด้าน  Cloud Computing ของต่างประเทศ เพื่อนำมาเสนอข้อมูลหามาตรการการส่งเสริมการใช้ Cloud Computing ในประเทศไทย และได้นำเสนอให้กับคณะกรรมการส่่งเสริมอุตสาหกรรมไอทีของ MICT ที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

การวิจัยอีกด้านที่กำลังดำเนินอยู่คือการเป็นทีปรึกษาให้กับ NECTEC ในการทำ Open Service Platform ที่จะเป็น PaaS ของประเทศไทย โดยขั้นต้นได้ข้อสรุปจากผู้วิจัยในเรื่องของข้อกำหนดของ Platform ที่จะทำการพัฒนาต่อไป

การสอนด้าน Cloud Computing

แม้จะทำงานบริหารแต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังทำคือ   Hand-on และผมได้สอนการพัฒนาโปรแกรมบน Cloud Computing  ครั้งแรกให้กับกับหลักสูตร Mini Master of Java Technology ของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในปี  2552  โดยเป็นการพัฒนาโปรแกรมบน Public PaaS โดยใช้ Google App Engine และก็สอนต่อเนื่องมาอีกหลายรุ่น

พอมาเปิดสถาบันไอเอ็มซีผมยังเน้นที่จะให้ทีมงานสอนการพัฒนาโปรแกรมบน Cloud Computing อย่างต่อเนื่องทั้งบนแพลตฟอร์มของ Google App Engine, Microsoft Azure, Amazon Web Services, Force.com และ Heroku โดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่หลากหลายทั้ง Java, .NET และ PhP เพราะผมเชื่อว่าแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะขึ้นอยู่กับ Cloud Computing เราจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางด้าน ซึ่งแม้แต่การพัฒนาโปรแกรมสำหรับ  BIg Data ทางผมเองก็ผลักดันให้มีหลักสูตร Big Data using Public Cloud  โดยการใช้  Elastic Map Reduce ของ Amazon Web Services ซึ่งทาง AWS ก็ให้ความสนใจกับหลักสูตรนี้และมาสนับสนุนในการเครดิตในการใช้งาน AWS ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีนี้ เราได้เปิดหลักสูตรนี้ไปแล้วสามรุ่น

Screenshot 2013-10-20 18.35.58

นอกจากนี้ทางสถาบันไอเอ็มซีก็มีแผนที่จะพัฒนาบุคลากรไทยทางด้าน  Cloud Computing ให้ได้ประกาศนียบัตรสากล โดยได้ร่วมมือกับ  Cloud Credential Council และ IT Preneurs  ในการที่จะฝึกอบรมและจัดสอบบุคลากรไทยให้ได้  CCC Cretification  โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มอบรมในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และคาดว่าจนถึงสิ้นปีหน้าจะอบรมบุคลากรมากกว่า 100 คน โดย  CCC Certification จะแบ่งออกเป็นหลายระดับทั้ง Associate และ Prefessional โดยในระยะแรกทางสถาบันไอเอ็มซีจะเน้นในระดับ Associate Level  และ  Architect Professional Level

Screenshot 2013-10-20 18.11.54

สำหรับในแง่ของหลักสูตรการสอนเรื่อง Cloud Computing  ทางสถาบันไอเอ็มซีได้ร่วมมือกับทั้ง IEEE และ IT Preneurs  ในการเปิดหลักสูตรต่างๆดังนี้

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือกิจกรรมทางด้าน  Cloud Computing  ที่ผมได้ทำไปและแผนงานบางส่วนในอนาคต ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผมคงได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วยดีเช่นที่ผ่านๆมาในการพัฒนา  Cloud Computing ในประเทศต่อไป

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Global 100 Software Leader และแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทาง PwC ได้ออกผลวิจัยเรื่อง Global 100 Software Leaders 2013   (ดูรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://tinyurl.com/nhdx5hl)   ซึ่งเป็นการจัดอันดับบริษัทซอฟต์แวร์ของโลกที่ทาง PwC ทำต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดย PwC ได้นำข้อมูลจากการสำรวจรายได้ของบริษัทซอฟต์แวร์ทั่วโลกเมื่อปี 2011 มาจัดอันดับและมีการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทซอฟต์แวร์ประกอบกับการนำข้อมูลอื่นๆมาวิเคราะห์เพื่อดูแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

Top 100 Global Software Companies

ซึ่งจากข้อมูลการจัดอันดับรายได้ของบริษัทซอฟต์แวร์ทั่วโลก (รายได้ไม่รวม Services และ IT Outsourcing) จะพบว่าบริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่สุดคือ Microsoft  ซึ่งมีรายได้จากซอฟต์แวร์ในปี 2011 ถึง $57,668.40 ล้าน ตามด้วยบริษัท IBM, Oracle และ SAP ที่น่าสนใจคือบริษัทซอฟต์แวร์ที่ติด Top 100 ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีรายได้จากซอฟต์แวร์ของบริษัทเหล่านี้รวมกันถึง  $190,816 ล้าน ส่วนประเทศอื่นๆที่มีบริษัทซอฟต์แวร์ติดอันดับก็จะมีอย่าง เยอรมัน ญี่ปุ่น สวีเดน อังกฤษ และมีบริษัทในประเทศกลุ่มที่เกิดใหม่ทางอุตสาหกรรมนี้ (Emerging Country) ที่ติดอันดับโลกอยู่บ้างบางบริษัทเช่น TOTVS ของบราซิล  Kaspersky Lab ของรัสเซีย และ Neusoft ของจีน ทั้งนี้ข้อมูลนี้ระบุถึงรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายซอฟต์แวร์ไม่ใช่รายได้รวมทั้งหมดจึ่งทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google มีรายได้ในปี 2011เพียง $575.62 ล้าน จากรายได้รวม $37,905.00 ล้าน

ทั้งนี้ข้อมูลของ Top 100 Software Companies ของโลกเป็นไปดังตารางนี้ (ข้อมูลจาก Global Software Business Strategies Group ของ IDC)

Screenshot 2013-10-12 09.35.26

Screenshot 2013-10-12 09.35.43

และถ้าพิจารณาแยกตามประเทศจะพบว่าบริษัทซอฟต์แวร์ Top 100 ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีรายได้รวมกัน $190,816  ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศที่มีรายได้รวมของซอฟต์แวร์ในอันดับสองคือ Germany ที่มีรายได้รวม  $190,816  ล้านเหรียญสหรัฐจากโดยมีบริษัทใหญ่ๆอย่าง SAP, Siemens และ Software AG ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ๆหลายบริษัทเช่น Fujitsu,  Hitachi และ NEC  เราสามารถสรุปจำนวนบริษัท Top 100 แยกมาจากประเทศต่างๆ ได้ดังนี้ และมีรายได้รวมของประเทศต่างๆในบริษัท Top 100 ดังรูป

  • USA 73  บริษัท
  • Germany  7 บริษัท
  • Japan  4  บริษัท
  • Sweden, France, Canada, Netherlands, Belgium, Israel ประเทศละ  2  บริษัท
  • Norway, Brazil, Russia, China ประเทศละ  1  บริษัท

Screen Shot 2556-09-19 at 10.10.46 PM

แนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

นอกจากนี้ทาง PwC ยังวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างน่าสนใจในหลายๆด้าน โดยระบุว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คือเรื่องของ  Cloud, Software as a Service (SaaS), อุปกรณ์โมบาย และ  Consumerization of IT โดยอุตสาหกรรมจะต้องปรับเปลี่ยนในหลายๆด้่านเช่น

  • อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอนาคตจะไม่ใช่ Standalone Industry อีกต่อไป แต่อาจต้องผสมผสานกับอุตสาหกรรมและประสบการณ์ด้านอื่นเช่น บริการ หรือ Community  เป็นต้น
  • การคิดราคาซอฟต์แวร์จะเริ่มเปลี่ยนจาก License Model  มาเป็น SaaS  หรือ  Subscription model
  • มีการพัฒนา  Mobile Apps ที่ราคาไม่สูงนักมากขึ้น โดย App  เหล่านั้นจะเชื่อมต่อกับ Enterprise Software  ที่รันอยู่บน Data Center ขององค์กรหรือ  Public Cloud
  • การพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องคำนึงถึงลูกค้าที่เป็นผู้ใช้จริงๆในองค์กรมากขึ้น การตัดสินใจการใช้ซอฟต์แวร์ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับแค่ CIO หรือผู้บริหารไอทีขององค์กรอีกต่อไป
  • เรื่องของ  Customer loyalty จะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆเพราะเทคโนโลยีใหม่อย่าง  Cloud  หรือ  Mobile ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนการใช้ซอฟต์แวร์ได้ง่าย
  • ตลาดซอฟต์แวร์กำลังเปลี่ยนจาก B2B  ที่ Vendor เคยขายผ่านตัวแทนเป็น การขายไปยังลูกค้าโดยตรง

ในแง่ของ  SaaS ทาง PwC  ได้แสดงข้อมูลของ 10 อันดับแรกของบริษัทซอฟต์แวร์โลกที่มีรายได้จาก SaaS  สูงสุด ซึ่งอันดับหนึ่งคือ Salesforce ที่มีรายได้ $1,848 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังพบในปัจจุบันสัดส่วนรายได้ซอฟต์แวร์ที่มาจาก SaaS ยังมีเพียง  5% จากรายได้ทั้งหมด แต่คาดการณ์ว่าจำนวนสัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 25% ในปี  2016  นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทซอฟต์แวร์ที่เกิดใหม่ในปี 2012 ร้อยละ 82  จะจำหน่ายซอฟต์แวร์ในแบบ  SaaS มากกว่าแบบ Packaging Software

Screen Shot 2556-09-20 at 11.27.48 AMนอกจากนี้ก็ยังจะเห็นว่าเริ่มมีหลายๆบริษัทที่รายได้ของซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มาจาก SaaS  โดย 10 อันดับแรกของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้มาจาก SaaS สูงสุดมีดังนี้

Screenshot 2013-10-12 10.19.27

Top 100 Software Companies in Emerging Markets

ทาง PwC ยังจัดอันดับบริษัทซอฟต์แวร์ในตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เช่น ประเทศจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย หรือประเทศอื่นๆ จะเห็นว่าบริษัทที่ติดอันดับ Top 100  จะอยู่ในประเทศจีนส่วนใหญ่โดยจะมีรายได้ของบริษัทที่ติด Top 100 รวมกัน $2,738 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยบริษัทจากอิสราเอลที่มีรายได้รวมกัน $1,174 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีรายชื่อของบริษัท Top 100 ดังนี้

Screenshot 2013-10-12 10.33.52

Screenshot 2013-10-12 10.34.13

ซึ่งเราสามารถสรุปจำนวนบริษัท Top 100 ของในกลุ่ม Emerging Markets แยกมาจากประเทศต่างๆ ได้ดังนี้ และมีรายได้รวมของประเทศต่างๆในบริษัท Top 100 ดังรูป

  • China 28 บริษัท
  • India  16  บริษัท
  • Korea 16 บริษัท
  • Brazil  9  บริษัท
  • Russia  6 บริษัท
  • Israel 5 บริษัท
  • Romania  3 บริษัท
  • Taiwan, Czech Republic, Poland, Argentina, Mexico, Turkey  ประเทศละ  2  บริษัท
  • Malaysia, Hong Kong, Saudi Arabia, Columbia, Slovakia  ประเทศละ  1  บริษัท

emerging

แนวโน้มการพัฒนา Emerging Technology ของบริษัทไอทีไทย

เมื่อเร็วๆนี้ทาง IMC Institute เปิดแถลงข่าวเรื่องผลสำรวจ “Emerging Technology: Thai Professional Readiness Survey” และก็มีสื่อหลายๆฉบับนำไปลงข่าวให้ รวมถึงบทบรรณาธิการของกรุงเทพธุรกิจที่เขียนในหัวข้อ “แรงงานฝีมือไอทีขาด ดับฝันผู้นำอาเซียน” ในฉบับวันที่ 19 กันยายน  (เนื้อหาของบทความสามารถอ่านได้ที่ http://tinyurl.com/mzq7xgv )และเพื่อให้เข้าใจรายละเอียดของการสำรวจครั้งนี้ผมจึงขอนำรายงานการสำรวจมาสรุปสั้นๆดังนี้

Screen Shot 2556-10-06 at 9.23.03 PM

การสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงสภาวการณ์โดยรวมของประเทศในปัจจุบัน และเพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาบุคลากรและวงการไอทีของไทยต่อไปในอนาคตโดยเน้นในกลุ่มของบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology โดยเฉพาะเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ทั้งในเชิงความร่วมมือและการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในปี พ.ศ.2558

การสำรวจข้อมูลดังกล่าวได้ถูกดำเนินการขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ.2556 โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ และวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ทั้งนี้ ากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 165 ราย ทางทีมผู้วิจัยได้คัดเลือกตัวอย่างที่สมบูรณ์และมีความสามารถในการสะท้อนภาพรวมที่แท้จริงของวงการบุคลากรไอทีไทยออกมาได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 89 ราย แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มบริษัท/หน่วยงานที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีเป็นหลัก จำนวน 51 ราย ซึ่งโดยมากจะเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน แต่ก็มีบางบริษัทที่มัพนักงานซอฟต์แวร์อยู่ระหว่าง 101-500 คน ส่วนกลุ่มที่สองที่ทำการสำรวจคือบริษัท/หน่วยงานที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีแผนกไอทีภายในองค์กร อาทิ กลุ่มการเงินการธนาคาร, กลุ่มโทรคมนาคม, กลุ่มพลังงาน เป็นต้น จำนวน 38 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้โดยมากจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทและโดยเฉลี่ยจะมีพนักงานไอทีอยู่ประมาณช่วง 11-100 คน โดยสามารถที่จะสรุปจำนวนพนักงานในกลุ่มบริษัทและหน่วยงานได้ดังรูป

Image

รูปที่   1) จำนวนของพนักงานไอทีและพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ภายในองค์กร ของบริษัท/หน่วยงานในอุตสาหกรรมไอที

Image

รูปที่ 2) จำนวนของพนักงานไอทีและพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ภายในองค์กร ของบริษัท/หน่วยงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ

ผลการสำรวจความพร้อมด้าน Emerging Technology

การสำรวจครั้งนี้ได้ศึกษาความพร้อมของบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ของหน่วยงานต่างๆในประเด็นต่างที่น่าสนใจ อันได้แก่ ทักษะของบุคลากรในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม, ด้านการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น, ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์เทคโนโลยี และด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerginf Technology อื่นๆ รวมถึง ศึกษาทัศนคติที่มีต่อระดับความสำคัญของเทคโนโลยีต่างๆ, ปัญหาและอุปสรรค, ทัศนคติที่มีต่อแหล่งการจัดหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีก่อกำเนิด และข้อเสนอแนะอื่นๆ

ทักษะในด้านภาษาคอมพิวเตอร์

ผลการสำรวจในหัวข้อด้านทักษะของบุคลากรไอทีไทยที่เกี่ยวข้องกับภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม (Computer Programming Language) เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วพบว่า ปัจจุบันองค์กรต่างๆมีบุคลากรในการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยหลักสามภาษาคือ PHP, Java และ .NET โดยทั้งสามภาษาทั้งสามมีองค์กรที่มีบุคลากรในการพัฒนาจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนั้น ได้แก่ PHP (65.17%), Java (62.92%) และ .NET (61.80%) อีกทั้ง และยังมีแนวโน้มความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านภาษาเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย แต่เมื่อพิจารณาจำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแต่ละองค์กรจะพบว่าองค์กรโดยมากจะมีบุคลากรที่สามารถพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ที่ระบุน้อยกว่า 10 คน และมีเพียงไม่กี่องค์กรที่ระบุว่ามีนักพัฒนามากกว่า 20 คนกล่าวคือ มีเพียง 5 องค์กรที่ระบุว่ามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน PHP มากกว่า 20 คน และมีองค์การที่ระบุว่ามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน Java และ .NET มากกว่า 20 คนอย่างละ 10 องค์กร นอกจากนี้ยังพบว่าเริ่มมีหลายองค์กรที่ให้ความสนใจกับภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ อย่าง Python และ Ruby มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาษาคอมพิวเตอร์อื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการขององค์กรอาทิ C++, COBOL, Delphi เป็นต้น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดแผนงานในการขยายบุคลากรในกลุ่มภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ๆอย่างชัดเจนนัก

Image

รูปที่ 3) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรพัฒนาโปรแกรมสำหรับภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน

Image

รูปที่ 4)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนาโปรแกรมสำหรับภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆ

ทักษะในด้านการพัฒนา Mobile Application

สำหรับทักษะของบุคลากรไอทีไทยในหัวข้อการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application Development) นั้นพบว่า ในปัจจุบันองค์กรไอทีของไทยให้ความสนใจกับการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นโดยใช้ Native Application บนระบบปฎิบัติการ iOS และ Android ในจำนวนที่เท่าเทียมกัน คือ 51.69% ตามมาด้วย Windows (24.72%) นอกจากนี้ยังพบว่าหลายๆองค์กรเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นแบบ Cross Platform โดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ HTML5 ในจำนวนถึง 50.56% อีกทั้งองค์กรส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มวางแผนเพิ่มบุคลากรในการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นอย่างชัดเจนมากกว่าการเพิ่มบุคลากรการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน Emerging Technology อื่นๆ โดยมีความสนใจที่จะเพิ่มบุคลากรในการพัฒนาแพลตฟอร์มทางด้าน iOS มากที่สุด

สำหรับในแง่ของจำนวนบุคลากรผลการสำรวจจะออกมาในทำนองเดียวกับจำนวนบุคลากรทางด้านภาษาคอมพิวเตอร์ กล่าวคือองค์กรส่วนใหญ่จะมีบุคลากรในการพัฒนาด้านโมบายแอพพลิเคชั่นน้อยกว่า 10 คนในปัจจุบัน และมีเพียงอย่างละ1 องค์กรที่มีบุคลากรมากกว่า 20 คนในการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น ด้าน iOS, Android และ HTML5

mobile

รูปที่ 5) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรพัฒนาด้าน Mobile Application จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน

mobiletrends

รูปที่ 6)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนา Mobile Application จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆ

ทักษะในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเทคโนโลยี Cloud Computing

ในปัจจุบันเทคโนโลยี Cloud Computing ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางนักในกลุ่มบริษัท / หน่วยงานต่างๆในไทย แต่เมื่อมีการสำรวจแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Platform ก็ยังจัดว่ามีสัดส่วนที่ค้อนข้างน้อย โดยแพลตฟอร์มที่องค์กรต่างๆมีบุคลากรที่มีทักษะในการพัฒนามากที่สุดคือ Google App Engine แต่ก็ยังคิดเป็นเพียง 22.47% ตามมาด้วย Microsoft Azure จำนวน 19.10%  Amazon Web Services (13.48%) และ Heroku (5.62%)  โดยยังพบว่าองค์กรต่างๆจะมีบุคลากรที่พัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Computing น้อยกว่า 10 คน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดแผนงานในการขยายบุคลากรในการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเทคโนโลยี Cloud Computing อย่างชัดเจนนัก โดยพบว่าองค์กรต่างๆมีความต้องการที่จะเพิ่มบุคลากรด้านนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับความด้องการเพิ่มบุคลากรในการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน Emerging Technology อื่นๆ

cloud

รูปที่ 7) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรซอฟต์แวร์ในการพัฒนา Cloud Technology จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

cloudtrends

รูปที่ 8)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Technology จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆ

ทักษะในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerging Technology  อื่นๆ

นอกจากนี้ทาง IMC Institute ยังทำการสำรวจทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerging Technology อื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของบริษัท / หน่วยงานไทย  โดยผลการสำรวจพบว่าองค์กรจะมีบุคลากรที่พัฒนาทางด้าน Business Intelligence (BI) มากที่สุด โดยในปัจจุบันมีองค์กรที่มีบุคลากรทางด้านนี้อยู่ถึง 58.42% ตามมาด้วย Facebook Application Development (33.71%), noSQL (21.35%) และ Big Data (17.98%) ทั้งนี้องค์กรต่างๆยังมีความต้องการเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะด้าน Emerging Technology เหล่านี้ในอนาคตอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดแผนงานในหัวข้อนี้อย่างชัดเจนนัก

other

รูปที่ 9) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรซอฟต์แวร์ในการพัฒนา Emerging Technology อื่นๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

Othertrends

รูปที่ 10)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerging Technology  อื่นๆ

ทัศนคติที่มีต่อความสำคัญของ Emerging Technology ขององค์กรต่างๆ

IMC Institute ยังได้สำรวจทางด้านการให้ความสำคัญของ Emerging Technology ของหน่วยงาน/บริษัทต่างๆ จากผลการสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ยของทัศนคติที่กลุ่มตัวอย่างโดยรวมที่มีต่อความสำคัญของ Emerging Technology ต่างๆ ด้วยการวัดค่าจากมาตรวัดคะแนน 5 ระดับ (5-Point Rating Scale) นั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นความสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์เทคโนโลยีด้าน Mobile Application (3.80 คะแนน) สูงที่สุด ตามมาด้วย Business Intelligence / Big Data (3.58 คะแนน) Cloud Computing (3.57 คะแนน) และ Social Media  (2.97 คะแนน) ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมไอที และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ พบว่าแผนกไอทีในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆจะให้ความสำคัญในเทคโนโลยีด้าน Business Intelligence / Big Data และ Social Media มากกว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมไอที

emerging

รูปที่ 11)  ทัศนคติที่มีต่อความสำคัญของ Emerging Technology จากคะแนนเต็ม  5.00

ทั้งนี้เหตุผลหลักที่กลุ่มตัวอย่างต้องการพัฒนา Emerging Technology ต่างๆ ภายในองค์กรนั้น พบว่ามีสาเหตุเนื่องจากต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และต้องการก้าวให้ทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ โดยมีผู้ตอบเป็นจำนวนเท่ากันคือ 78.65% ตามมาด้วยความต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (60.67%) และมีความพร้อมของบุคลากรอยู่แล้ว (28.09%) นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้เหตุผลอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ต้องการลดต้นทุนการบริหารงาน, ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ, ดำเนินการตามข้อกำหนดของลูกค้า เป็นต้น

reason

รูปที่ 12)  เหตุผลที่องค์กรต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology

ปัญหาสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นเอาไว้เป็นจำนวนมากที่สุดอย่างโดดเด่นคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเกี่ยวกับ Emergin Technology ซึ่งมีจำนวนผู้ตอบถึง 76.40% ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนแหล่งความรู้ / การฝึกอบรม (49.44%) ขาดงบประมาณ (42.70%), เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถก้าวตามได้ทัน (31.46%) ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ (25.84%) ยังมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาด (16.85%) ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างยังได้มีการระบุถึงปัญหาอื่นๆ อีกบ้าง อาทิ ผู้บริหารไม่เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีจึงไม่ได้รับการสนับสนุน หรือลูกค้าไม่ได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยี เป็นต้น

problem

รูปที่ 13)  ปัญหาที่องค์กรพบในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology

ในด้านการจัดหาหรือพัฒนาบุคลากรด้าน Emerging Technology นั้น จากผลการสำรวจด้วยวิธีการวัดค่าจากมาตรวัดคะแนน 5 ระดับ (5-Point Rating Scale) พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการพัฒนาบุคลากรไอทีที่มีอยู่เดิมในองค์กรให้มีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้นนั้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุด (3.31 คะแนน) ตามมาด้วยการจัดหาบุคลากรใหม่ด้วยตนเอง (3.22 คะแนน), การรับสมัครบุคลากรผ่านทางมหาวิทยาลัย (2.72 คะแนน) และการใช้บริการตัวแทนจัดหาบุคลากร (2.07 คะแนน) ตามลำดับ

resource

รูปที่ 14)  ทัศนคติที่มีต่อแหล่งการจัดหาและพัฒนาบุคลากรด้าน Emerging Technology จากคะแนนเต็ม  5.00

ในการสำรวจครั้งนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้าน Emerging Technology ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเสนอแนะไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ต้องการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Emerging Technology ของบุคลากรไทยยังมีความคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เป็นจริงอยู่มาก ดังนั้น จึงควรจะมีการปูพื้นฐานอย่างจริงจังตั้งแต่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และภาครัฐควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความสนับสนุนผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การกำหนดมาตรฐาน หรือการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการค้นคว้าวิจัย เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังควรจะมีการจัดตั้งกลุ่มหรือชุมชนเพื่อเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างบุคลากรไอทีของไทยในด้านเทคโนโลยีก่อกำเนิดโดยตรงอีกด้วย

Big Data และเทคโนโลยี Hadoop กับการพัฒนาองค์กรด้านการวิเคราะห์ข้อมูล

แนะนำ Big Data

Big Data เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เริ่มมีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งถ้าเราดูจาก Google Trends ก็จะเห็นได้ว่าทั่วโลกก็เริ่มให้ความสนใจในการค้นคำว่า  Big Data ตีคู่มากับคำว่า  Cloud Computing  แล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าข้อมูลในโลกของอินเตอร์เน็ตเรื่มมีเยอะขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลจาก Social Network ที่ผู้คนต่างเข้ามาอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา นอกจากนี้ราคาของ Storage ก็ถูกลงทำให้คนเริ่มที่จะเก็บข้อมูลเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทาง EMC/IDC ได้ทำตาดการณ์ว่าในปี 2015 จะมีข้อมูลดิจิตอลรวมกันประมาณ 7,910 ExaBytes

Image

หลายๆคนยังเข้าใจว่า Big Data คือการที่มีข้อมูลดิจิตอลขนาดมหาศาล แต่จริงๆแล้วเรามักจะนิยามความหมายของ Big Data ด้วยคำย่อว่า 3V คือ Volume, Velocity และ Variety

  • Volume: คือมืจำนวนข้อมูลมากเกินกว่าระบบฐานข้อมูลแบบเดิมๆจะสามารถที่จะจัดการได้
  • Velocity: คือข้อมูลจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นข้อมูลจาก Social Media ข้อมูลการซื้อขาย ข้อมูล Transaction การเงินหรือการใช้โทรศัพท์  หรือข้อมูลจาก Sensor
  • Variety: คือข้อมูลจะมีหลากหลายรูปแบบทั้ง Structure และ Unstructure ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปทั้ง RDBMS, text, XML, JSON หรือ Image

ดังนั้นการจัดการ Big Data จึงจำเป็นต้องใช้ระบบการเก็บข้อมูลหรือการประมวลในรูปแบบอื่นๆที่อาจไม่ใช้เพียงแค่ฐานข้อมูล RDBMS แบบเดิมๆ ซึ่งหากเราพิจารณา Ecosystems ของ  Big Data เราจะสามารถจะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานไอทีหลายๆด้านดังรูป

Image

เทคโนโลยี Hadoop

ซอฟต์แวร์ที่สำคัญตัวหนึ่งที่มีการนำมาใช้กันมาในระบบ Big Data คือ Hadoop เพราะ Hadoop เป็น Open Source Technology ที่จะทำหน้าที่เป็น Distributed Storage ที่สามารถเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็น Unstructure และนำมาประมวลผลได้ โดยองค์ประกอบหลักๆของ Hadoop จะประกอบด้วย Hadoop Dustributed File System (HDFS) ที่ทำหน้่าที่เป็น Storage และ MapReduce ที่ใช้ในการพัฒนาโปรแกรมประมวลผล ทั้งนี้โครงสร้างด้าน Hardware ของ  Hadoop  จะใช้เครื่อง  Commodity Server  จำนวนมากต่อเป็น Cluster กัน

Image

ในปัจจุบันหลายๆองค์กรจะใช้ Hadoop Technology ในการพัฒนา Big Data อาทิเช่น Facebook, Yahoo และ Twitter โดยจะมีเครื่อง Server  9yh’c9j 5  -1,000  เครื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดข้อมูล นอกจากนี้ Technology Vendor ต่างๆอาทิเช่น Oracle, IBM, EMC หรือแม้แต่ Microsoft  ต่างก็นำ Hadoop  มาใช้ในเทคโนโลยีของตัวเองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้าน Big Data

ทั้งนี้ Hadoop จะไม่ได้นำมาแทนที่ระบบฐานข้อมูลเดิมแต่เป็นการใช้งานร่วมกันทั้ง Database แบบเดิมที่เป็น  Structure Data และการนำ Unstructure Data ขององค์กรที่อาจเก็บไว้ในระบบอย่าง Hadoop เข้ามาพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นๆภายนอกเช่น Facebook แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เครื่องมืออย่าง Business Intelligence ดังรูป

Image

ซึ่งจากการสำรวจของ Unisphere Research  เมื่อพฤษภาคม 2013 พบว่าอุตสาหกรรมที่มีความสนใจจะพัฒนาเรื่อง  Big Data เป็นอันดับต้นๆคือ อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมธนาคารและประกันภัย อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์ลูกค้าและข้อมูลการตลาด นอกจากนี้หลายหน่วยงานก็มีการนำข้อมูลด้าน Social Media มาทำการวิเคราะห์เพื่อหาข้อมูลต่างๆ

การพัฒนา Big Data ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือการปรับปรุงโครงสร้างระบบไอทีขององค์กรด้านข้อมูล (Information Infrastucture) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจถึงเทคโนโลยีด้าน Big Data ใหม่ๆอย่าง Hadoop หรือ in-Momery Database และต้องมีการวางแผนในการนำข้อมูลทั้ง Structure และ  Unstructure จากภายในและภายนอกองค์กรมาใช้งาน รวมถึงการที่จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลที่เป็น Data Scientist  มาร่วมทำงาน

การพัฒนาองค์ความรู้ด้าน Big Data ของสถาบัน IMC

IMC Institute ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี Big Data  โดยที่ผ่านมาได้เปิดหลักสูตรอบรมในหลายหลักสูตรจำนวนผู้เรียนรวมกันมากกว่า 100  โดยมีหลักสูตรที่น่าสนใจคือ

โดยในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ทางสถาบัน IMC จะเปิดหลักสูตร Big Data on Public Cloud Computing ซึ่งเป็นการสอนหลักการของ Big Data ที่สามารถใช้งานได้จริงกับ Public Cloud อย่าง Amazon Web Services ซึ่งผู้เรียนจะได้ศึกษาการพัฒนา Big Data  ทั้งส่วนที่เป็น  Map/Reduce, Hive, Pig และ HBase  รวมถึงการนำข้อมูลขนาดใหญ่เข้า Amazon S3

อนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ทางสถาบัน IMC ได้จัดสัมมนาหัวข้อ  Business Intelligence in a Big Data World  ร่วมกับ Oracle และ PwC โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจหลายๆเรื่อง ซึ่งสามารถที่จะดู  Slide  งานสัมมนานี้ได้ดังนี้

 

ธนชาติ นุ่มมนท์

IMC Institute

ตุลาคม 2556