กระแสการปฎิรูปประเทศไทยมีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกปปส.จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารของคสช.และกำลังจะมีการตั้งสภาปฎิรูปขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะปฎิรูปไว้ 11 ด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะเน้นถึงปัญหาที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเราที่เป็นรากฐานของปัญหาต่างๆ หลายๆคนมองว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ในแง่ของคนไอทีเรามองว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการทำงานจะมีส่วนช่วยในการสร้างธรรมภิบาลในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของ  “Open Data” แต่เมื่อไปพิจารณาโครงสร้างการปฎิรูปที่วางแผนไว้ทั้ง 11  ด้านจะเห็นได้ว่าเราไม่มีการพูดถึงเรื่องไอทีเลยทั้งๆที่เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ

UN E-Government Index

หากเราได้ศึกษาการสำรวจด้าน E-Government ขององค์การสหประชาชาติที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001  จากรายงาน United Nation E-Government Survey ที่ออกมาทุกสองปี เราจะเห็นได้ว่าบริบทของการสำรวจ เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและการสร้างธรรมาบิบาล รวมถึงพิจารณาการมีส่วนรวมของภาคประชาชนดังแสดงในรูปที่ 1  ที่เราจะเห็นได้ว่าในครั้งแรกปี 2001  E-Government อาจจะเน้นเรื่องของการพัฒนาเว็บไซต์ของภาครัฐ แล้วเปลี่ยนมาเน้นในเรื่องของการใช้  Social Media ของภาครัฐในปี 2004/2006 และกลายมาเป็นเรื่องของ Cloud Computing/Smartphone ในปี 2010 และรายงานล่าสุดการสำรวจจะเน้นเรื่องของ Open Government Data/Linked Data

e-GovSurvey

รูปที่  1 การสำรวจ UN E-Government Survey

ผลการสำรวจด้าน E-Government ขององค์การสหประชาชาติก็จะสอดคล้องกับดัชนีความโปร่งใสของประเทศ ซึ่งเราจะพบว่าประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชั่นน้อยก็จะมีอันดับ E-Government ที่สูง ซึ่งการสำรวจล่าสุดในปี 2014 ก็จะเน้นเรื่อง Big Data และ  Open Government Data และพบว่าประเทศที่มีการเปิดข้อมูลในภาครัฐก็จะมีคะแนนค่อนข้างสูง โดยประเทศเกาหลีใต้ก็มีอันดับที่หนึ่งอย่างต่อเนื่องมาสามสมัยทั้งนี้เพราะประเทศเขาได้ปรับระบบ E-Government มาตลอดเพื่อเน้นให้เกิดการทำงานภาครัฐที่รวดเร็วและโปร่งใส ส่วนประเทศไทยเราจะพบว่าอันดับด้าน E-Government ของเราตกลงมาตลอด ส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐ แต่เป็นเพราะดัชนีการคอร์รัปชั่นของประเทศสูงขึ้น ก็ทำให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นไปได้ยาก เพราะผู้บริหารประเทศก็ย่อมไม่อยากให้เกิดการตรวจสอบโดยง่า เราจะเห็นได้ในรูปที่ 2  ว่าประเทศไทยมีอันดับด้าน E-Government ตกลงมาในอันดับที่ 102 และมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและภูมิภาคเอเซีย

Thailand-Index

รูปที่  2 E-Government Index ของประเทศไทย

Open Government Data

Open Government Data (OGD) คือการความพยายามของทั่วโลกที่จะเปิดข้อมูล (และ Information) ของรัฐบาลและองค์กรสาธารณะต่างๆซึ่งไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาขน ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเปิด (Open Format) ไม่ใช่มาตรฐานเฉพาะ (Proprietary format)  เพื่อคนหรือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ แล้วนำไปใช้หรือต่อยอดในการพัฒนาข้อมูลอื่นๆต่อไปได้  การเปิดข้อมูลจะเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชนและยังช่วยทำให้เกิดการนำไปใช้ในด้านอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อไป

UNData

รูปที่  3 เว็บไซต์ data.un.org

ในปัจจุบันมีหลายๆประเทศและองค์กรที่พยายามสร้าง Open Data  อาทิเช่นองค์การสหประชาชาติได้สร้าง Portal ที่ชื่อ data.un.org หรือทางสหราชอาณาจักรก็มีเว็บไซต์อย่าง data.gov.uk ที่มีข้อมูลของภาครัฐด้านต่างๆรวมถึงข้อมูลการใช้จ่ายของภาครัฐ และก็มีการนำข้อมูลไปพัฒนา Application ต่างๆถึง  300 กว่า  App ประเทศในเอเซียหลายๆประเทศทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ต่างก็พัฒนา Portal สำหรับ  Open Data  หลายประเทศก็ได้ออกกฎหมายให้มีการเปิดข้อมูลภาครัฐให้เป็นมาตรฐานที่คนอื่นๆอ่านได้ ทางสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ประกาศนโยบาย Open Data เมื่อเดือนพฤษภาคม  2013 และมีการประกาศเรื่อง  Data Act  ในเดือนพฤษภาคม  2014

UKData

รูปที่  4 เว็บไซต์ data.gov.uk

หลักการของ OGD จะมี 8 ด้านดังนี้

  • Completeness ข้อมูลภาครัฐทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลหรือความมั่นคงจะต้องถูกเปิด
  • Primacy ข้อมูลที่จะถูกเปิดจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่ถูกเก็บไว้ โดยไม่มีการปรับปรุงและแก้ไขก่อนเปิด
  • Timeliness ข้อมูลจะถูกเปิดโดยทันทีทันใด
  • Ease of Physical and Electronic Access ข้อมูลถูกเปิดเพื่อให้ผู้ใช้ที่หลากหลายและมีจุดประสงค์ต่างกัน
  • Machine readability  ข้อมูลจะต้องอยู่ในรูปแบบที่นำไปประมวลผลได้โดยอัตโนมัติ
  • Non-discrimination ทุกคนสามารถนำข้อมูลไปใช่้ได้ โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้
  • Open formats ข้อมูลต้องเป็นมาตรฐานที่เปิด
  • Licensing  ข้อมูลจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้งาน

ประโยชน์ของ Open Government Data

การทำ OGD นอกเหนือจากการสร้างความโปร่งใสและทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อมูลของภาครัฐในด้านต่างๆเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกดังแสดงในรูปที่ 5  คือการช่วยทำให้บริการของรัฐดีขึ้นอาทิเช่น การเปิดเผยข้อมูลจราจรทำให้เกิดบริการสาธารณะที่ดีขึ้น การเปิดเผยข้อมูลอาชญกรรมก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ดังแสดงตัวอย่างของการสร้าง Mobile App ที่เป็นประโยชน์จากการเปิดข้อมูลในประเทศอังกฤษดังแสดงในรูปที่ 6

OpenDataBenefit

รูปที่  5 ประโยชน์ของการทำ Open Government Data

UKApp

รูปที่  6 ตัวอย่างการบริการภาครัฐที่ดีขึ้นจาก OGD ของสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ OGD ยังทำเกิดธุรกิจต่างๆขึ้นมากมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีรายงานระบุว่าการทำ  OGD ในกลุ่มประเทศยุโรปทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 4 หมื่นล้านยูโรต่อปี การเปิดข้อมูลพยากรณ์อากาศในสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดบริษัทใหม่ๆถึง 400 บริษัทและมีการว่าจ้างงานใหม่ถึง  4,000  ตำแหน่ง สำหรับประเทศสเปนการเปิดข้อมูลทำให้เกิดธุรกิจถึง 600 ล้านยูโรและตำแหน่งงานใหม่มากกว่า 500 ตำแหน่ง

ล่าสุดการเลือกตั้งประธาธิบดีในประเทศอินโดนีเซีย ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของเขาได้เปิดข้อมูลการนับคะแนน ทำให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใสยิ่งขึ้นและเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า  Crowdsourcing ที่ภาคประชาชนจากที่ต่างๆมาร่วมกันตรวจสอบและนับคะแนนการเลือกตั้ง

บทสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ถ้าเราจะปฎิรูปประเทศไทย และให้เกิดความโปร่งใส แล้วยังได้บริการภาครัฐที่ดีขึ้น รวมถึงประโยชน์เชิงธุรกิจ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องผลักดันให้เกิดกฎหมาย Open Government Data   ที่สอดคล้องกับหลักการทั้ง  8 ข้อของการเปิดข้อมูลภาครัฐ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

สิงหาคม 2557

One thought on “Open Government Data กับการปฎิรูปประเทศไทย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s