ผมจำได้ว่าสมัยก่อนทำงานในมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เราต้องมีหน่วยงานอย่าง งานโทรศัพท์ งานประปา งานไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานเหล่านั้นนอกจากทำหน้าที่บำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ บางครั้งก็ต้องเป็นผู้ผลิตเอง เช่นต้องติดตั้งดูแลตู้ชุมสายโทรศัพท์เอง มีระบบผลิตน้ำประปาเอง หรืออาจมีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าเอง แต่พอระบบการบริการโทรศัพท์ ไฟฟ้า น้ำประปาดีขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานหรือบุคลากรเหล่านี้ก็น้อยลง เพราะเราสามารถที่จะใช้บริการจากหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญกว่าได
ทุกวันนี้หน่วยงานส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่ต้องผลิตน้ำประปาเอง สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกิจในองค์กร แต่ก็อดมีคำถามไม่ได้ว่าแล้วทำไมเราต้องมีหน่วยงานไอทีในหน่วยงาน ทำไมเราต้องผลิตไอทีมาใช้เองละ ทำไมไม่ใช้บริการจากผู้ให้บริการ เหมือนอย่างที่เราใช้น้ำจากการประปานครหลวง ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า หรือใช้โทรศัพท์จาก TOT หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
ในอดีตบทบาทของแผนกไอทีในองค์กรก็จะมาช่วยบริหารไอทีในองคกร ไล่มาตั้งแต่ด้าน Front end แผนกไอทีจะทำหน้าที่เป็น Help Desk ให้กับบุคลากรในหน่วยงาน จัดหาคอมพิวเตอร์ให้ใช้ ติดตั้งโปรแกรม ทำการซ่อมบำรุงเครื่องหรือแก้ปัญาด้านโปรแกรมที่ติดตั้งบนเครื่อง แต่พอพูดถึงเทคโนโลยียุคปัจจุบัน Smartphone Tablet เริ่มเข้ามา องค์กรก็เริ่มจะมีการเน้นการทำ BYOD มากขึ้น โปรแกรมก็ติดตั้งง่ายขึ้น มี Application Store ที่ผู้ใช้จะทำการติดตั้ง ลบ หรือ update โดยง่าย มีโปรแกรมที่อยู่บน Cloud ทำให้การติดตั้งโปรแกรมทำได้ง่ายขึ้น เครื่องก็เสียน้อยลง ความจำเป็นที่ต้องการ help desk สำหรับงานในองค์กรก็เริ่มน้อยลง เว้นเสียแต่เป็นองค์กรใหญ่มากหรือหน่วยงานเราเน้นระบบความปลอดภัยด้านไอทีอย่างมาก
แล้วแผนกไอทีต้องทำอะไรอีกละ ในอดีตอาจเป็นคนดูเครื่อง Server ดูแล Data Center แล้วถ้า Application ส่วนใหญ่มาใช้ Public Cloud ละ ความจำเป็นที่จะต้องมี Server ในองค์กรก็จะน้อยลง และถ้าองค์กรมาใช้ Virtual Server บน IaaS Cloud ก็จะยิ่งทำให้ความจำเป็นของแผนกไอทีในการดูแล Data Center ยิ่งน้อยลง
บางท่านอาจจะนึกได้ว่าแผนกไอทีก็เป็นคนพัฒนาระบบ Application ให้กับฝั่งธุรกิจใช้นี่ แผนกไอทีเคยเป็นคนติดตั้งระบบ E-mail โดยการจัดหา Server ติดตั้งซอฟต์แวร์และดูแลระบบอีเมล์ให้ แต่พอวันนี้มีระบบ SaaS Cloud ฝ่ายธุรกิจสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการ Cloud โดยตรง และสามารถจัดหาระบบอีเมล์มาใช้ได้โดยง่าย โดยไม่ต้องผ่านแผนกไอที เช่นเดียวกันสมัยก่อนแผนกไอทีอาจเป็นคนพัฒนา Application หรือจัดหาซอฟต์แวร์และติดตั้งซอฟต์แวร์บนเครื่อง Server ให้กับฝั่งธุรกิจ แต่พอวันนี้มีหลาย Application สามารถใช้งานจาก Public SaaS ฝั่งธุรกิจก็สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการโดยตรง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ดูเหมือนว่าแผนไอทีขององค์กรจะมีความสำคัญน้อยลงในยุคของ Cloud Computing หรือว่าแผนกไอทีกำลังจะหายออกไปจากองค์กรที่ไม่ใช่ธุรกิจไอที จริงๆคำกล่าวนี้อาจจะเป็นจริงสำหรับองค์กรขนาดเล็กอย่างกลุ่ม SME เพราะการลงทุนที่จะต้องมาจัดหาไอทีเอง จัดตั้งแผนกไอที หาคนมาทำงานด้านไอที ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการใช้ไอทีจากผู้ให้บริการ Cloud ขององค์กรแบบนี้จะช่วยทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวขึ้น และจะได้มุ่งเน้นงานในธุรกิจของตัวเองและปล่อยให้งานไอทีเป็นของผู้ให้บริการทีืมีคุณภาพซึ่งอยู่นอกองค์กร แต่คำกล่าวนี้อาจจะไม่เป็นจริงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบไอทีอยู่มาก แต่แผนกไอทีต้องไม่ได้ละเลยกับเทคโนโลยี Cloud Computing และเราอาจเห็นระบบ Hybrid Cloud ในองค์กรที่การทำงานแผนกไอทีที่อาจเป็นการพัฒนาระบบ On-Premise หรือ Private Cloud ไปควบคู่กับการใช้ Public Cloud. ภายนอก
แผนกไอทีจะต้องให้ความสนใจกับเทคโนโลยี Cloud Computing ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างฝั่งธุรกิจและผู้ให้บริการ Cloud เป็นคนที่จะช่วยในการคัดเลือกผู้ให้บริการ Cloud เป็นผู้ที่จะประมาณการค่าใช้จ่าย Cloud ช่วยในการต่อรองเรื่อง Service Level Agremment (SLA) และอาจช่วยเป็น Monitor และดูแลการใช้ Cloud. ของฝั่งธุรกิจ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าแม้บริการ Public Cloud จะเข้ามาแทนที่งานของแผนกไอทีเดิมเป็นจำนวนมาก แต่บทบาทความสำคัญของคนไอทียังไม่หายไปจากองค์กร ถ้าคนไอทีมีความเข้าใจเรื่อง Cloud และมีทักษะใหม่ๆในการบริหารและใช้งาน Cloud
แต่ในทางตรงข้ามถ้าคนไอทีไม่ใส่ใจและละเลยกับเทคโนโลยี Cloud computing ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ฝั่งธุรกิจก็จะละเลยแผนกไอทีแล้วก็จะไปติดต่อใช้งานกับผู้ให้บริการ Cloud โดยตรง ซึ่งผมก็เห็นตัวอย่างมาในบางองค์กรที่ฝั่งธุรกิจจัดหาซอฟต์แวร์บน Cloud อย่างระบบอีเมล์ ระบบบริหารงานลูกค้า หรือแม้แต่ระบบ Business Inteligence มาใช้งานโดยผ่านผู้ให้บริการ Cloud โดยตรง และไม่ปรึกษาแผนกไอที ก็ด้วยเหตุผลว่าไม่เห็นคุณค่าของแผนกไอทีในเรื่องนี้ และคิดว่าแผนกไอทีล่าช้าไม่สามารถพัฒนา Application ที่ตรงใจเหมือนกับ Application ของผู้ให้บริการ Cloud
ครับวันนี้คนไอทีต้องใส่ใจ Cloud ก่อนที่ฝั่งธุรกิจจะไม่ใส่ใจคนไอที
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute
2 thoughts on “คนไอทีต้องใส่ใจ Cloud ก่อนที่ฝั่งธุรกิจจะไม่ใส่ใจคนไอที”