สัปดาห์ที่ผ่านมาผมไปนั่งเรียนหนังสือสองหลักสูตรของ Amazon Web Services คือ AWS Essentials และ Architecturing on AWS รวมสี่วัน แต่ก็มีเข้าๆออกๆไปประชุมบ้าง ไปบรรยายบ้าง ผู้เรียนโดยมากก็เป็น System Admin จากที่ต่างๆ แถมยังมีต่างชาติมาเรียนอีก 2-3 ท่าน ดูลักษณะผมค่อนข้างจะแปลกแยกกับผู้เรียนท่านอื่นๆ เพราะบางวันต้องผูกไทร์ใส่สูทไปเรียน

Screenshot 2014-11-08 10.43.08

รูปที่ 1 การประมาณการรายได้ของบริษัท Amazon Web Services

AWS เป็นบริษัทลูกของ Amazon เป็นผู้ให้บริการ Cloud ที่เป็น Infrastructure as a Service. (IaaS) ที่มีรายได้ต่อปีหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2013 มีรายได้ประมาณ 3.800 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่าถ้ารวมมูลค่าการบริการ Cloud ให้กับภายในบริษัทแม่ (Amazon) อาจสูงถึง 19 -30 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้จะโตขึ้นเป็น 6.2พันล้านเหรียญสหรัฐดังแสดงในรูปที่  1 แต่เมื่อรายได้เทียบกับบริษัทแม่ Amazon ที่มีสูงถึง 74.4 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้วนั้น AWS ถือว่ายังเล็กกว่ามาก ถ้ากล่าวถึงการจัดอันดับผู้ให้บริการ Cloud IaaS ทาง Gartner ได้จัดให้ AWS เป็นผู้ให้บริการที่อยู่ใน Top Quadrant ดังแสดงในรูปที่ 2 นำหน้ารายอื่นๆพอสมควร เพราะมี Service ต่างๆที่หลากหลายกว่า และ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมาก

Screenshot 2014-11-08 10.50.17

รูปที่ 2 Magic Quadrant ของ Gartner ด้าน Cloud IaaS

AWS มีจำนวนเครื่อง Server จำนวนมาก ทั้งนี้เคยมีรายงานจาก United Nations เรื่อง Information Economy Report 2013  ประมาณการว่า Amazon น่าจะมี Server ประมาณ 250,000 เครื่องในปี  2012 และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีนักวิจัยจาก Accenture คาดการว่า AWS น่าจะมี Server ประมาณ 454,000 เครื่อง จากช้อมูลของ AWS ระบุว่ามี Region ที่ตั้ง Data Center อยู่ 11 แห่งทั่วโลก โดย 4 แห่งอยู่ในสหรัฐอเมริการ ทั้งนี้มีแห่งหนึ่งให้ใช้เฉพาะรัฐบาลอเมริกา มีในยุโรป 2 แห่ง โดยเมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งประกาศ Region แห่งใหม่ในประเทศเยอรมัน ในอเมริกาใต้มี 1 แห่งในบราซิล และมีอีก 4 แห่งในเอเซีย-แปซิฟิก ที่รวมทั้งในประเทศจีน ซึ่งกำหนดการใช้งานโดยรัฐบาลจีน  Region ที่ใกล้บ้านเรามากที่สุดคืออยู่ในประเทศสิงคโปร์ AWS กำหนดให้ในแต่ละ Region ต้องมี Availability Zone (AZ) อย่างน้อยสองแห่ง  ซึ่งแต่ละ AZ เป็น Cluster ของ Data Center อยู่กันคนละที่ตั้ง ใช้ Power Supply ต่างกัน การเดินสาย Network ที่ต่างกัน ดังนั้นแม้จะเกิดภัยวิบัติในAZ แห่งหนึ่ง ก็อาจจะไม่กระทบ AZ อีกแห่งหนึ่ง ทำให้ระบบของ AWS มีความเสถียรมากพอควร นอกจากนี้ AWS. ยังมี Edge Location สำหรับที่ช่วยลด  Latency และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงระบบอีก 52 แห่ง

Screenshot 2014-11-08 11.00.32

รูปที่ 3 ตำแหน่งที่ตั้ง Regionและ  Edge Location ของ AWS [ยังไม่รวมที่ประเทศเยอรมัน]

AWS ได้เปลี่ยนแปลงการทำงานของคนไอทีอย่างมากมาย และกำลังทำให้โลกของการพัฒนาระบบไอทีเปลี่ยนไป ถ้าเราแค่ว่าจะหา Server มาใช้งานซักตัว การใช้ผู้ให้บริการ Cloud อย่าง AWS กับผู้ให้บริการรายอื่นๆหรือแค่การทำ Virtualization ย่อมไม่ต่างกันมากนัก บางทีอาจแทบจะไม่ต่างกับแบบ on premise ที่จัดหา Server มาใช้งานเองด้วยซ้ำไป แต่ถ้าคำนึงถึงระบบความปลอดภัย ความเสถียรของระบบ การทำAuto-Scability หรือสถาป้ตยกรรมที่ดีสำหรับระบบ Server แล้วระบบ  Cloud IaaS ของ AWS ต่างกับผู้ให้บริการ Cloud รายเล็กอย่างมาก และยิ่งเห็นความแตกต่างเมื่อผู้ให้บริการ Cloud อย่าง AWS มีระบบ  Portal ที่เป็น self service ที่ช่วยให้เรา config ระบบต่างๆได้เอง โดยไม่ใช่เป็นเพียงผู้ให้บริการ Cloud ที่เพียงจัดหา Server ให้เราใช้แล้วต้องผ่าน Call Center ที่คอยมา config เครื่อง Server ให้เราบางเครื่อง แล้วเราไม่สามารถบริหารจัดการได้เอง

Screenshot 2014-11-08 11.13.56

รูปที่ 4 ตัวอย่างของ  Web Application Hosting Architecture โดยใช้  AWS

การเรียนหลักสูตร  Architecturing on AWS  ทำให้เราสามารถสร้างระบบ Server ที่มีสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ดังตัวอย่างของ Web Application Hosting Architecture ในรูปที่ 4 นี้ได้ ซึ่งถ้าเป็นแต่เดิมผมบอกได้เลยว่าการเรียนเพื่อที่จะสร้างระบบ Server ขนาดใหญ่แบบนี้และต้องมา config ระบบจำนวนมากอย่างนี้ โดยได้ปฎิบัติจริงในห้องเรียนแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราต้องหาระบบ Hardware จำนวนมากมาทดลอง และต้องมาทำงานจริงๆใน Data Center ที่ต้องมีเครื่องนับสิบเครื่อง แต่ AWS ได้เปลี่ยนโลกของไอที ในหลักสูตรสี่วันที่ผมไปเรียนทำให้ผมสามารถสร้างระบบแบบนี้ได้ ข้อสำคัญระบบที่สร้างขึ้นเป็นระบบที่ใช้งานได้จริงๆ

AWS มีบริการสำหรับ  IaaS ที่หลากหลายมาก เพื่อให้เห็นบริการบางอย่างผมขอยกตัวอย่าง บริการที่ใช้ทำ Web Application Hosting Architecture ในรูปที่ 4 มาดังนี้

  • Amazon S3 (Simple Storage Service) เป็น strorage ที่ใช่ในการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ โดยมีค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลเพียง  $0.03/GB โดยออกแบบมาให้มี Availability 99.99% สำหรับ Object  ที่เก็บอยู่ และมี 99.999999999% สำหรับ Durability
  • Amazon EC2 (Elastic Compute Cloud) ที่ทำหน้าที่เป็น  Server ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนเครื่องใหญ่มากๆ ในรูปที่  4 คือเครื่องที่ทำเป็น Web Servers และ App Servers หลายๆเครื่อง
  • Amazon RDS (Relational Database Service) คือเครื่องที่จะทำหน้าที่เป็น Database Server ที่ทาง AWS  เตรียมมาให้เลือกได้หลาย Database เช่น  Microsoft SQL, Oracle DB, PostgreSQL หรือ MySQL
  • Amazon VPC (Virtual Private Cloud) คือบริการที่จะช่วยทำให้เราสร้างระบบบน AWS ใน Virtual Network   ที่เรากำหนดให้มีความปลอดภัยดีขึ้น
  • Amazon IAM (Identity and Access Management ) คือระบบที่จะช่วยในการทำ Authentication และทำ Access Control ผู้เข้าถึงระบบ Server ต่างๆ
  • Amazon ELB (Elastic Load Balance) คือตัว  Load Balance ที่จะช่วยกระจาย Traffic ให้กับ  Server  ต่างๆ
  • Autoscaling  คือระบบที่จะช่วยเพิ่มหรือลดจำนวน EC2  ให้เราอัตโนมัติ ตามเกณฑ์ที่เราตั้งไว้
  • Amazon Route 53 คือ ตัวที่จะช่วยเป็น Domain Name System (DNS) ในการที่ route taffic มายังระบบของเรา
  • Amazon CloudFront คือระบบที่ช่วยทำหน้าที่เป็น Content Delivery Network

นอกจากบริการที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว  AWS ยังมีบริการอื่นๆอีกมาที่ช่วยทำให้เราสร้างระบบไอทีขนาดใหญ่และมีเสถียรภาพได้ ดีกว่าที่จะต้องมาจัดหาเครื่อง  Hardware และลงทุน Infrastructure อื่นๆเอง พอเห็นอย่างนี้แล้ว ปีหน้าผมตั้งใจจะให้การอบรมของ IMC Institute ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Application ต่างๆรวมถึงการทำ  Big Data มารันบน Infrastructure  จริงๆใหญ่ๆของ AWS ผู้เรียนจะได้เห็นกันไปเลยว่า  Large Scale Application เป็นอย่างไรจากของจริง

สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณทาง  AWS โดยเฉพาะคุณชลตะวัน สวัสดีที่ให้โอกาสทีมของ IMC Institute เข้าเรียนหลักสูตรนี้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

2 thoughts on “เมื่อ Amazon Web Services (AWS) เปลี่ยนโลกไอที

ใส่ความเห็น