เมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ทางชมรมไอทีประกันภัยของกลุ่มบริษัทประกันภัยต่างๆได้เชิญผมให้ไปบรรยายหัวข้อ RESTful Web Services & Web APIs ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ API (The API Economy) ขึ้นมา เพราะสัปดาห์ก่อนหน้านั้นผมเพิ่งเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ถ้าเป็นสมัยเมื่อ 6-7 ปีก่อนทุกครั้งที่ผมไปสิงคโปร์ผมจะถือโอกาสไปเดินห้าง Funan Digital IT Mall เพื่อจะไปร้าน Computer Book Center ที่เป็นร้านหนังสือคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ แต่ระยะหลังๆร้านเล็กลงเรื่อยๆ ผมเองก็ไม่ได้ไปมา 2-3 ปีแล้ว และล่าสุดเปิดดูในเว็บไซต์ของ Funan Digital IT Mall ก็ไม่เห็นร้านนี้แล้วนอกจากที่ขายผ่าน e-commerce บนเว็บไซต์ http://www.compbook.com.sg/ เลยไม่แน่ใจว่าร้านนี้ยังอยู่ไหม ร้านหนังสือหลายๆร้านก็คงประสบปัญหาคล้ายๆกัน หลายคนก็คงทราบเหตุผลว่าส่วนหนึ่งมาจากการทำ e-Book และ e-commerce อย่าง Amazon.com ทำให้ร้านหนังสือที่เป็น Physical Bookstore อยู่รอดยากขึ้น
รูปที่ 1 Amazon Marketplace Web Services สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์
แต่หลายคนอาจจะแปลกใจว่าเว็บไซต์ที่ทำ e-commerce ก็มีมากมาย หลายเว็บไซต์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทำไม Amazon ถึงได้ประสบความสำเร็จมากมายเริ่มจากขายหนังสือจนในปัจจุบันขายสินค้าทุกอย่างหลายสิบล้านรายการ ต่างกับ e-commerce รายอื่นๆอย่างไรที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่า ผมว่าที่ร้านหนังสือหลายแห่งที่เป็น Physical Bookstore ต้องปิดตัวเองไป ไม่ใช่เพึยงแต่ต้องสู้กับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เป็นดิจิทัล แต่ต้องมาสู้กับโมเดลธุรกิจแบบใหม่ของ Amazon ด้วย เพราะ Amazon ไม่ได้โตขึ้นมาเพราะสร้างนวัตกรรมและหาคู่ค้าด้วยตนเอง พูดง่ายๆ Amazon ไม่ได้เป็นผู้หาคู่ค้า (Partner) แต่คู่ค้าเป็นคนวิ่งมาหา Amazon เอง ผ่าน Amazon Marketplace Web Services หรือ APIs อื่นๆ คู่ค้าและนักพัฒนาโปรแกรมเป็นคนเลือก Amazon ทำให้ Amazon สามารถขยายตลาดได้ออกไปอย่างมากมายผ่านเว็บไซต์อื่นๆ และคู่ค้าก็ช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆให้กับ Amazon โดย Amazon ไม่ต้องทำเอง
รูปที่ 2 โมเดลธุรกิจของ Amazon [ภาพจาก Understanding the API Economy: How Your Business Can Benefit From APIs: Forrester]
รูปที่ 3 การขยายช่องทางธุรกิจของ Amazon ผ่าน APIs[ภาพจาก Winning in the API Economy]
เมื่อพูดถึง Web API หรือ API นั้นจะย่อมาจากคำว่า Application Programming Interface ที่หมายถึง การที่ทำให้ software component ที่อยู่ห่างกันเชื่อมต่อกันได้โดยผ่านเว็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบมีมาตรฐานเช่นใช้ XML หรือ JSON วิธีการทำ Web APIs ที่เป็นมาตราฐานก็คือการทำ Web Services โดยใช้ SOAP หรือ REST
Amazon ไม่ได้เป็นตัวอย่างธุรกิจเดียวที่ประสบความสำเร็จโดยใช้ APIs ธุรกิจบนโลกดิจิทัลจำนวนมากต่างก็ประสบความสำเร็จโดยใช้ APIs เพราะธุรกิจที่รันโดยใช้ซอฟต์แวร์จะโตได้ต้องมีนักพัฒนาโปรแกรมจำนวนมากและต้องการนวัตกรรมใหม่ๆตลอดเวลา การเปิด APIs ทำบริษัทมีการขยายตัวจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่อยู่นอกบริษัทและคู่ค้า ตัวอย่างของบริษัทที่เปิด APIs และประสบความสำเร็จอย่างมากก็มีอาทิเช่น Google, Facebook, Paypal, Netflix, Twitter หรือ BestBuy
- Twitter หลายๆคนอาจจะนึกว่าเป็น Application หรือ ซอฟต์แวร์ แต่จริงๆแล้ว Twitter เป็น Platform ที่มี APIs ให้คนอื่นๆนำไปพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจัดการกับข้อมูลบน Twitter ได้ เราจะพบว่าผู้ใช้ Twitter น้อยคนที่จะเคยเข้าเว็บ twitter.com แต่โดยมากจะใช้ผ่าน App ที่พัฒนามากจาก Twitter APIs เช่น Tweet Deck
รูปที่ 4 Twitter Platform
- Best Buy ร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในอเมริกาก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เปิด APIs คู่ค้าของ Best Buy สามารถที่จะใช้ Best Buy APIs เพื่อมาดูข้อมูลสินค้า หรือสั่งซื้อสินค้าได้ คู่ค้าก็สามารถที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจาก Best Buy ผ่านเว็บไซต์ของตัวเองได้
รูปที่ 5 BBYOpen เว็บไซต์สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาใช้ Best Buy APIs
- Netflix เป็นผู้ให้บริการ Movie Online ซึ่งผู้ใช้บริการจำนวนมากในปัจจุบันอาจไม่ได้ดูภาพยนตร์จากเว็บ Netflix แต่เลือกที่จะดูผ่านอุปกรณ์ต่างๆเช่น smart TV, Apple TV, smartphone หรือ Tablet ซึ่งในปัจจุบันมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่จำนวนมากและเพิ่มใหม่เรื่อยๆตลอดเวลา ถ้าจะหวังพึ่งให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของ Netflix ต้องมาพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เล่น Netflix ได้กับทุกอุปกรณ์คงเป็นไปไม่ได้ ทาง Netflix ก็ใช้วิธีเปิด APIs เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเข้าถึงระบบของ Netflix ได้ ทำให้ในปัจจุบันมีอุปกรณ์มากกว่า 800 ชนิดที่สามารถเล่น Netflix ได้ โดยไม่ต้องพัฒนาเอง
รูปที่ 6 Netflix Platform ที่ปัจจุบันมีอุปกรณ์ต่างเลือกได้กว่า 800 ชนิด [ภาพจาก Daniel Jacobson, Netflix Engineering Blog, July 9, 2012]
- Dropbox เป็นอีกตัวอย่างของคู่ค้า Amazon ที่ใช้ Infrastructure ของ Amazon ที่เป็น storageในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ โดยไม่ได้ลงทุน infrastructure ของตัวเอง แต่เรียกใช้ Amazon APIs ในการจัดการข้อมูลใน Amazon S3 Storage และบริษัท Dropbox เองก็เปิด APIs ต่อเพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเขียนโปรแกรมไปติดต่อกับ Dropbox ได้โดยไม่ต้องผ่านเว็บไซต์หรือ Application ของ Dropbox เราจึงเห็นตัวอย่าง App บนมือถือของ Samsung ที่เมื่อเราถ่ายรูปแล้วขึ้นไปยัง Dropbox ได้โดยอัตโนมัติ
รูปที่ 7 เว็บไซต์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องการใช้ Dropbox APIs
- การทำ APIs ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่วงการซอฟต์แวร์ แม้แต่ Nike ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่าง Nike FuelBand หรือ Nike Sportwatch ก็ต้องสร้าง Nike+ Platform ที่มี APIs ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ สามารถเขียนโปรแกรมมาเรียกใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับ Samsung ที่มีนาฬิกา Samsung Gear หรือ Google ทีีออก Google Glass ต่างก็เปิด APIs ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้เขียนโปรแกรมได้
รูปที่ 8 เว็บไซต์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องการใช้ Nike+ APIs
ในปัจจุบันมี APIs จำนวนมากที่เปิดให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาใช้ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆหรือการมาเป็นคู่ค้าของบางธุรกิจที่ต้องการทำ B2B เราสามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ชื่อ Programmableweb ที่รวบรวม APIs จากที่ต่างๆกว่า 12,720 แห่ง ซึ่งในปัจจุบันซอฟต์แวร์ใหม่ๆแทบทุกตัวเน้นที่จะเปิด APIs แม้แต่โปรแกรม Office 365 ที่เราใช้ทำเอกสารยังมี APIs ที่ให้เราสามารถเรียกดู สร้าง และเก็บเอกสารเช่น Word, Excel ได้โดยไม่ต้องผ่านเว็บไซต์หรือโปรแกรม Office ของ Microsoft
รูปที่ 9 เว็บไซต์ Programmableweb
ที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่อที่จะบอกว่าโลกของซอฟต์แวร์ และธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป ถ้าเราจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) มันไม่ใช่แค่ทำซอฟต์แวร์ แต่มันคือการทำ APIs ยุคของดิจิทัลกำลังเข้าสู่ API Economy ที่กำลังเป็น Digital Revolution รอบที่สอง คราวหน้าจะมาเขียนตอนที่สองให้เห็นว่าการทำ APIs มีประโยชน์และกลยุทธ์อย่างไร
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute