Screenshot 2015-12-02 12.36.54

เมื่อช่วงวันที่ 18-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาผมได้ไปตัดสินการประกวดผลงานด้านไอซีทีของประเทศในกลุ่มเอเซียหรือที่เรียกว่า APICTA (Asia Pacific ICT Awards) ที่ประเทศศรีลังกา ปีนี้จัดมาเป็นปีที่ 15 และผมเองก็ได้เป็นกรรมการมาต่อเนื่องสิบปีแล้ว ปีนี้เขาจัดผมเป็นกรรมการในหมวด Start-Up

หลายคนพอได้ยินว่าเป็นหมวดนี้ก็คงคิดว่าเป็นคนรุ่นใหม่เพิ่งเรียนจบมาประกวด เปล่าเลยครับความหมายของหมวด Start-Up ที่ทาง APICTA กำหนดคือต้องเป็นบริษัทเปิดมาไม่เกินสามปี ซึ่งผมเองเคยตัดสินหมวดนี้มาสองครั้งในปี 2009 ที่ประเทศออสเตรเลียและปี 2011 ทีพัทยา ซึ่งสองครั้งนั้นคนชนะเลิศเป็นผู้มีประสบการณ์มาก ในปี 2011 ผู้ชนะมาจากมาเลเซียเคยเปิดบริษัทมาแล้วหลายบริษัทและเคยบริษัทออกไปทำรายได้ให้เป็นจำนวนมาก พูดง่ายๆมีอาชีพเป็น Start-Up ส่วนในปี 2009 ผู้ชนะเลิศเป็นคนอายุสามสิบต้นๆมาจาก Singapore และเสนอผลงาน X-Mini Speaker มาแข่ง

ตอนแรกผมคิดว่าบรรยากาศของ Start-Up ปีนี้น่าจะเปลี่ยนไปจากเมื่อครั่งสุดท้ายที่ผมมาตัดสินในหมวดนี้ ตัวแทนจากประเทศต่างๆที่ชนะเลิศการประกวดในหมวดนี้ของบ้านตัวเองอาจเป็นคนหนุ่มสาวจบมาใหม่ๆ แต่เมื่อพบว่า 18 ทีมที่เข้าประกวดเกือบอายุทุกคนเกิน 30 ปีครับบางคนน่าจะเกือบ 50 จะมีเด็กสุดก็อาจเป็นตัวแทนประเทศไทยที่อายุเพียง 25 และน่าจะเป็นทีมเดียวที่อายุต่ำกว่าสามสิบ ที่น่าสนใจคือแทบทุกคนเต็มไปด้วยประสบการณ์ หลายทีมมีคนจบปริญญาเอกมาเพราะมอง Start-Up ว่าต้องมีนวัตกรรมของตัวเอง หลายทีมเลยต้องจดสิทธิบัตรและบางครั้งไปจดในสหรัฐอเมริกา และสิ่งสำคัญบริษัทที่มาแข่งเหล่านี้ 5-6 ทีมเขาระดมเงินทุนจาก Venture Capital มาแล้วเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทีมที่ชนะเลิศในหมวดนี้คือบริษัท Ingrain จากปากีสถานเขาทำโซลูชั่นในการใส่ภาพโฆษณาลงใน Video และขายไปให้กับบริษัทภาพยนตร์หลายแห่ง ทีมงานมีคนจบปริญญาเอกจำนวนมาก มีออฟฟิตย่อยในอเมริกาและจดสิทธิบัตรที่นั้น บางคนอาจนึกถึงโซลูชั่น Groopic ในการตัดต่อเซลฟีรูปก็เป็นของบริษัทนี่ละครับ คนที่ได้รางวัล Merit ทีมแรกมาจากฮ่องกงที่ทำโซลูชั่น Teamnote และอีกทีมบริษัท Neeuro จาก Singapore ชื่อโซลูชั่น Memorie

Screenshot 2015-12-05 07.20.31

รูปที่  1 ผลงานของบริษัท Ingrain

Screenshot 2015-12-05 07.31.26

รูปที่  2  Teamnote

Screenshot 2015-12-05 07.33.36

รูปที่  3 ผลงานของบริษัท Neeuro

ยังมีผู้เข้าประกวดอีกหลายรายที่มีผลงานดีแต่ไม่ได้รับรางวัลในหมวดนี้  เนื่องจากหมวดนี้แข่งกันเข้มข้นมาก และบางรายไปได้รางวัลในหมวดอื่นเช่น Eco2 Green Data Centers จาก Malaysia ไปชนะเลิศในหมวด Sustainability & Environment Technology   รายนี้นำเสนอได้ดีมากผู้เข้าแข่งอายุ40 กว่าและมีลูกค้าแล้วจำนวนมาก; DF Automated Guided Vehicle จาก Malaysia ไปได้รางวัล Merit ในหมวด Industry Application เขาทำหุ่นยนต์ให้โรงงานอุตสาหกรรมมีลูกค้าทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์และจีน พร้อมทั้งมี สิทธิบัตรหลายใบ ยังมีโซลูชั่นเด่นๆจากออสเตรเลียที่  Raise Fund มาได้แล้ว $2M ทำเรื่องของการดูป้ายทะเบียนรถยนต์แล้วสามารถชำระเงินการเติมน้ำมันโดยอัตโนมัติ เพื่อลดเวลาการชำระเงินและให้ลูกค้าเข้าร้านสะดวกซื้อที่ปั้มได้ไวขึ้น โดยโซลูชั่นนี้ขายไปหลายแห่งแล้วทั่วออสเตรเลีย

จากการตัดสิน Start-Up ครั้งนี้สิ่งที่ผมติดว่าน่าจะเป็นข้อคิดที่ดีทื่ให้บ้านเรานำมาพัฒนากลุ่ม Start-Up บ้านเรามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • ผู้ที่มาทำ  Start-Up  ส่วนใหญ่ผ่านประสบการณ์มาเยอะมาก จำนวนมากจบปริญญาเอกหรือโท ส่วนใหญ่อายุสามสิบปลายๆ หลายคนมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทข้ามชาตินับสิบปี
  • บริษัท Start-Up เน้นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา บริษัทที่มาประกวดส่วนใหญ่จะมีนวัตกรรมของตัวเอง ประสบการณ์ทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจทำให้พวกเขาสามารถที่จะค้นคิดนวัตกรรมดีๆได้ และเขาเน้นที่จะจดสิทธิบัตร ถ้าเป็นไปได้เขาไปจดในสหรัฐอเมริกาเลย
  • ทีมงานมีความสามารถทางเทคนิคดีมาก บริษัทเหล่านี้มีทีมงานที่เก่งด้านเทคนิคจริงๆ การใช้ Cloud Computing อย่าง  Amazon Web Services  หรือ Azure  เป็นเรื่องที่เขาคุยกันปกติ การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ  Agile การใช้เขียนซอฟต์แวร์ด้วยภาษาหรือ Framework ใหม่คือสิ่งจำเป็น เขาเน้นพัฒนาโปรแกรมเพื่อให้  Scale ได้จริงๆคร้บ ไม่ใช่เขียนโปรแกรมแบบเด็กๆทำโครงการส่ง
  • บริษัทมีโอกาสในการระดมแหล่งเงินทุนได้ง่าย หลายบริษัทมีความสามารถในการนำเสนอ มีนวัตกรรมที่ดี และมีลูกค้าอยู่แล้วจำนวนมากจึงทำให้บางบริษัทสามารถ Raise Fund ได้นับล้านเหรียญ
  • บริษัทมีฐานลูกค้าที่ดีพอและตั้งเป้าบุกตลาดโลก บริษัทเหล่านี้มีประสบการณ์ในการทำตลาดต่างประเทศ มีฐานลูกค้าในประเทศของเขาอยู่แล้ว ข้อสำคัญภาษาอังกฤษเขาดีมากครับ

จากที่เล่ามาทั้งหมดนี่ ผมคิดว่าถ้าเราจะสร้าง Start-Up ในบ้านเรา ต้องเร่งพัฒนาในเด็กด้านไอทีเรามีความสามารถด้านเทคนิคดีกว่าปัจจุบันอีกมาก และฝึกให้เขาไปหาประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเสียก่อน แล้วค่อยมาหนุนให้ทำ Start-Up   เราคงต้องสร้าง Start-Up จากผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ใส่ความเห็น