Screenshot 2018-01-31 09.46.44

ช่วงวันที่ 16-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางสถาบันไอเอ็มซีได้จัดทริปไปดูงาน China Hi-Tech Fair 2017 ที่เมืองเซินเจิ้น  (Shenzhen)  ประเทศจีน ตอนจะจัดไปครั้งแรกมีบางคนถามว่า Hi Tech Fair ที่เซินเจิ้นจะมีนวัตกรรมอะไรหรือ เพราะภาพของเซินเจิ้นคือเมืองที่เป็นแหล่งก๊อบปี้สินค้าแบรนด์เนมต่างๆ และเป็นศูนย์กลางการผลิตที่เป็น Tech copycat แต่เมื่อไปถึงงานจริงๆทุกคนพบว่า งานจัดใหญ่โตมากจำนวนบูธที่ออกมามีมากมาย ตั้งแต่สินค้าไอทีเล็กๆ เทคโนโลยีโทรคมนาคม ไปจนถึงอุปกรณ์นวัตกรรมในโรงงาน ตลอดไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับและการแสดงสินค้าอย่างรถไฟฟ้า

DSC08612

ผู้ประกอบการ ICT (supply side) ของจีนไม่มีภาพของการเป็นนักก๊อปอีกต่อไป เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดง เต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆจำนวนมาก บริษัทต่างๆมีนวัตกรรมทั้งหุ่นยนต์ ระบบอัจฉริยะต่างๆจำนวนมาก จนพวกเราที่เดินชมนิทรรศการบางคนถึงกับออกปากมาว่า นวัตกรรมอะไรก็ตามที่คนไทยกำลังเริ่มต้นคิดอยู่ของจีนเขาทำมาเป็นสินค้าพร้อมที่จะขายแล้ว แม้แต่สินค้าอย่าง Drone ที่ดูเหมือนกันทุกบูธ แต่สิ่งที่พบก็คือมี “Application” ที่แตกต่างกันและนำไปใช้งานคนละประเภท หรือระบบ Face Recognition ที่มีถึง 3 บูธ แต่ก็ทำ Data Analytic ไม่เหมือนกัน มีนวัตกรรมที่แตกต่างกัน

งานที่จัดดูอลังการมากสมกับเป็น Fair ระดับนานาชาติและมีหลาย Hall มาก แต่ละ Hall ก็จะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ 5G, Smart City, Smart Healthcare, Hi-Tech Industry, New electronic technology หรือ Aerospace และก็มี Brand ใหญ่ๆของจีนมาแสดงนวัตกรรมมากมาย นับว่าเป็นงานที่น่าสนใจมาก และดูแตกต่างจากงานอย่าง CommunicAsia ที่จัดประจำทุกปีที่สิงคโปร์ซึ่งจะเน้นเฉพาะด้าน Telecom โดยเป็นสินค้าที่มาจากทั่วโลกมากกว่าผู้ผลิตในเอเซีย แต่งาน Hi Tech Fair นี้เป็นผลิดภัณฑ์ของผู้ประกอบการจีนโดยตรงและมีนวัตกรรมที่หลากหลายในทุกด้านที่ดูเหมือนมากกว่างาน CommunicAsia ด้วยซ้ำไป

หากย้อนหลังไปเมื่อ 40 ปีก่อนเมืองเซินเจิ้นมีประชากรน้อยกว่า 300,000 คน และเมืองที่ทำการประมง แต่เมื่ออดีตประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิงได้ประกาศให้เมืองนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 1980 โดยกำหนดมาตรการต่างๆในการจูงใจนักลงทุนทั้งด้านภาษีและกฎระเบียบการค้าต่างๆ ทำให้เซินเจิ้นเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากที่มีมูลค่า GDP น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 1979 กลายเป็น  1.25 ล้านล้านบาทในปี 2016  และทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 11.37 ล้านคนในปี 2016

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือเมืองเซินเจิ้นได้เปลี่ยนจากแหล่งอุตสาหกรรมที่เป็น Tech copy ให้กลายเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม จนอาจกล่าวได้ว่าเมืองเซินเจิ้นคือ The Silicon Valley of Hardware นอกจากนี้ก็ยังเป็นศูนย์กลางของ Hardware Startup ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆมากมายทั้ง หุ่นยนต์ Drone อุปกรณ์ Wearable, Internet of Things และอุปกรณ์ Hi Tech Electronic ต่างๆ

เมืองเซินเจิ้นเป็นสังคมที่ใช้เงินสดน้อยมาก ทุกอย่างสามารถจ่ายผ่าน Mobile Payment ของ Alipay หรือ Wechat ซึ่งมีตั้งแต่การเช่าจักรยาน การซื้อของตามร้านค้า ร้านขายของข้างทาง อาหารข้างถนน หรือแม้แต่ นักดนตรีที่มาเล่นขอเงิน ก็ยังต้องจ่ายเงินให้ผ่าน QR Payment และหากเราต้องใช้เงินสดในร้านเล็กๆเขาก็จะปฎิเสธการรับเงินเพราะเขาไม่มีเงินสดมาทอน จนเราอาจกล่าวได้ว่า เซินเจิ้นเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเกือบ 100%

เมืองเซินเจิ้นดูมีความเป็นตะวันตกกว่าเมืองจีนทั่วๆไป มีความสะอาด และมีค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง คนชั้นกลางมีฐานะที่ดีสามารถส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนดังๆในจีนและต่างประเทศ เมืองเซินเจิ้นมีท่าเรือที่มีความหนาแน่นอันดับที่ห้าของโลก มีตึกสูงและโรงแรมดีๆจำนวนมาก และหากพิจารณาถึงจำนวนตึกสูงกว่า 200 เมตรที่สร้างขึ้นทั่วโลกในปั 2016 จะพบว่ามีถึง 11 ที่สร้างขึ้นใหม่ในเซินเจิ้นมากกว่าที่ใดๆในโลก แต่อย่างไรก็ตามเมืองเซินเจิ้นก็ยังมีปัญหาเรื่องของการสื่อสารที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาจีน ทำให้อาจยากต่อการติดต่อสื่อสารและเดินทาง และก็ยังมีการบล็อกอินเตอร์เน็ตในหลายๆเว็บเซ็ต์อาทิเช่น Google และ Line

แต่หากพิจารณาภาพรวมแล้วเมืองเซินเจิ้นก็ยังเป็นเมืองที่เราควรทำธุรกิจด้วย เป็นแหล่งนวัตกรรมที่เราควรเข้าไปศึกษาและร่วมทำงาน สุดท้ายคงถึงเวลาที่บ้านเราจะต้องให้ความสำคัญกับเมืองนี้ และประเทศจีนมากขึ้นในด้านไอทีและเทคโนโลยี ด้วยความที่ระยะทางไม่อยู่ไกลจากบ้านเรานักและก็มีความเป็นวัฒนธรรมเอเซียอยู่มาก ข้อสำคัญสุดเซินเจิ้นกำลังมีภาพลักษณ์ที่กำลังกลายเป็น The factory of the world

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

[แหล่งข้อมูลจาก http://www.bbc.com/capital ]

ใส่ความเห็น