สมัยเรียนชั้นประถมต้นทุกเช้าผมจะตั้งหน้าตั้งตารอรถมอเตอร์ไซค์มาส่งหนังสิอพิมพ์ที่บ้าน และวิ่งไปรับด้วยความดีใจเมื่อหนังสือพิมพ์มาถึง ผมชอบตามข่าวฟุดบอลอังกฤษแต่สมัยนั้นไม่มีการถ่ายทอดกีฬาฟุตบอลสดๆไม่มีอินเตอร์เน็ตและคนไทยก็ยังไม่นิยมดูฟุตบอลต่างประเทศเหมือนในปัจจุบัน เมื่อได้หนังสิอพิมพ์มาผมก็จะต้องรีบเปิดดูข่าวกีฬาในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ที่อยู่หน้าสุดท้ายเป็นอย่างแรก เพื่อจะลุ้นดูผลบอลอังกฤษด้วยความตื่นเต้นว่าเมื่อคืนใครชนะ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นช่องทางหลักที่สำคัญในยุคนั้นที่ทำให้เราทราบและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆในแต่ละวัน มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ได้อ่านในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ บ้านเมือง เดลินิวส์ สยามรัฐ หรือ Bangkok Post
พอผมย้ายมาอยู่นครปฐมตั้งแต่ช้นประถมปลายที่บ้านเปิดร้านขายหนังสือ คุณพ่อและแม่ก็จะมีการบ้านให้เอาหนังสือมาอ่านในแต่ละสัปดาห์และต้องสรุปส่งให้ บางทีก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองต่างๆทำให้เป็นคนชื่นชอบกับการอ่านหนังสือมากขึ้น เมื่อขึ้นสู่ชั้นมัธยมศึกษาความสุขเล็กๆน้อยๆของนักเรียนอย่างผมก็เริ่มต้นจากที่ตามคุณแม่ที่ไปค้นเอกสารที่ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำให้เรามีโอกาสเข้าไปอ่านและค้นหนังสือที่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ตอนหลังก็เริ่มนั่งรถเมล์ไปเองจากนครปฐมเพื่อไปอ่านหนังสือพิมพ์เก่าๆย้อนหลังเป็นสิบๆปี บางทีอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติได้ทั้งวัน หรือบางครั้งก็ไปเดินดูหนังสือที่ ร้านดวงกมล ตรงสยามสแควร์ ไปยืนเลือกดูหนังสือได้เป็นชั่วโมง อุปนิสัยนี้ที่ได้มาก็เพราะพ่อกับแม่ชอบพาไปร้านหนังสือตามที่ต่างๆ
รูปที่ 1 Encyclopedia Britannica ปี 1967
ความสุขอีกอย่างหนึ่งของเด็กนักเรียนอย่างผมก็คือการได้อ่าน Encyclopedia Britannica ที่พ่อซื้อมาชุดใหญ่ตั้งแต่สมัยทำงาน BBC ที่อังกฤษ แม้จะเป็นรุ่นตั้งแต่ปี 1967 แต่มันก็เป็นคลังความรู้ชั้นดีของผม และมันก็ทำให้ผมสนใจดูข้อมูลสถิติต่างๆ อยากเห็นตัวเลขอะไรสารพัดโดยเฉพาะสถิติกีฬาต่างๆในอดีต เวลาเข้าห้องสมุดหรือร้านหนังสือบางทีผมก็จะรีบไปดูหนังสือภาษาอังกฤษที่เป็น World Almanac สรุปสถิติต่างๆ จำได้ว่าแม้แต่พี่ชายตอนกลับมาจากต่างประเทศในสมัยนั้นยังซื้อหนังสือ Sport Almanac มาฝากแทนที่จะซื้ออย่างอื่น
ตอนเข้าเรียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เริ่มสนใจอ่านอ่านนิตยสารวิเคราะห์การเมืองอย่าง อาทิตย์รายสัปดาห์ และหนังสือการเมืองต่างๆ นอกจากนี้ผมก็ยังชอบเข้าไปยืมและหาหนังสืออ่านในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ยุคนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์และการอ่านข่าวก็ต้องพึ่งจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่อยู่ในห้องสมุด และก็ชอบเมื่อมีโอกาสเข้าเมืองก็จะไปดูหนังสือที่ ร้านหนังสืออาเข่ง แถวตลาดโต้รุ่ง ที่สมัยนั้นมีหนังสือให้เลือกมากมาย และเมื่อมีโอกาสกลับเข้ากรุงเทพ สถานที่ซึ่งเลือกจะไปเยี่ยมก็คือร้านหนังสือต่างๆ ไม่ใช่ศูนย์การค้าหรือร้านกาแฟ โดยเฉพาะร้านหนังสือต่างๆบริเวณสยามสแควร์ หรือแม้แต่แว๊บนั่งรถเมล์เข้าไปค้นหนังสือเก่าๆในหอสมุดแห่งชาติ
อุปนิสัยนี้ติดตัวมาจนเข้าทำงานและเรียนต่อประเทศ ผมก็จะเลือกไปดูหนังสือตามห้องสมุด ตามร้านหนังสือ ในต่างประเทศ จำได้ว่าตอนเรียนต่อปริญญาโทและเอกที่ University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ ผมก็ไปห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหาหนังสือพิมพ์ไทยอ่านที่อาจเป็นหนังสือพิมพ์เก่าย้อนหลัง 2-3 สัปดาห์อ่าน เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะทราบข่าวเมืองไทยในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต แม้แต่ตอนไปทำงานในต่างประเทศบางครั้งมีเวลาว่างผมยังเลือกที่จะไปร้านหนังสือมากกว่าทีอื่น จำได้ว่าครั้งหนึ่งมีเวลาแค่วันเดียวในเมือง Toronto ประเทศแคนาดา ผมเลือกที่ไปดูหนังสือที่ร้าน Barnes and Nobles และอยู่ที่นั้น 4-5 ชั่วโมง มากกว่าที่จะไปเที่ยวที่อื่นๆ หรือแม้แต่ตอนทำงาน Sun Microsystems ที่ช่วงหนึ่งต้องไปประชุมที่สิงคโปร์บ่อยๆผมก็จะต้องแวะไปดูหนังสือที่ร้าน Computer Book Center ในห้าง Funan Digital IT Mall ทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งร้านมีหนังสือคอมพิวเตอร์ให้ผมเลือกมากมาย ยืนดูได้เป็นชั่วโมง
แต่ทุกวันนี้ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ได้ตายจากผมไปแล้ว ผมไม่เคยตื่นเต้นต้องมารอคนมาส่งหนังสือพิมพ์เหมือนเดิมแล้ว โลกโซเชียลทำให้ผมทราบข่าวตรงจากผู้สื่อข่าวจากสนามข่าวผ่าน Tweeter หรือออนไลน์ต่างๆ ข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นข่าวที่ทราบมาก่อนแล้ว หนังสือพิมพ์วันนี้ผมเน้นที่จะอ่านบทความ บทวิเคราะห์ ผมยังซื้อหนังสือพิมพ์อยู่แต่ไม่ใช่เป็นกระดาษแบบเดิมแล้ว เลิกรับแบบเดิมมานับสิบปีแล้ว เมื่อสิบปีก่อนผมก็เริ่มซื้อหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ โดยตรงจาก App Store ฉบับที่เป็น e-Book ทุกวัน (แต่จ่ายเป็นรายเดือน) หลังจากนั้นก็มารับหนังสือพิมพ์และนิตยสารแบบบุฟเฟ่ต์ของ OokBee อ่านในรูปแบบของ e-Book อยู่หลายปี จนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่เคยอ่านในนั้นทยอยปิดตัวไปเรื่อยๆ จากที่เคยได้อ่านหนังสือพิมพ์วันละ 4-5 ฉบับทยอยปิดตัวไปเรื่อยๆจนกระทั่งไม่มีหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่ผมอยากอ่านเหลืออยู่เลย จนสุดท้ายก็ต้องหันกลับมารับฉบับออนไลน์โดยตรงกับเจ้าของสำนักพิมพ์คือ กรุงเทพธุรกิจ และล่าสุดก็สมัครเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ Business Today ใช่ครับคนกลางที่เป็นแผงหนังสือหรือคนส่งหนังสือพิมพ์กำลังหายไปแล้ว
ร้านหนังสือที่เคยไปยืนเลือกดูหนังสือเป็นชั่วโมงๆ ก็เริ่มหายไปแล้ว หนังสือดีๆที่น่าอ่านก็มีให้เลือกน้อยลง ไปร้านหนังสือวันนี้แทบไม่มีนิตยสารให้เลือก หนังสือตามชั้นก็เน้นเรื่องธุรกิจ การเล่นหุ้น หรือวิธีการรวยทางลัด นอกนั้นก็อาจเป็นหนังสือท่องเที่ยว ส่วนหนังสือคอมพิวเตอร์ ประวัติศาสตร์ สังคมก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ผมยังไปนั่งทานกาแฟแถวร้านหนังสือที่ Think Space B2S ซึ่งเป็นร้านขนาดใหญ่ตรง Central EastVille และก็ไปทานกาแฟที่ร้านหนังสือบริเวณ Open House ตรง Central Embassy แต่ก็มีหนังสือน้อยเล่มที่ให้เลือกซื้อ
รูปที่ 2 ตัวอย่างหนังสือใน Kindle App ของผม
ร้านหนังสือผมกลายเป็นว่ามาอยู่ในโลกออนไลน์ ถ้าอยากจะได้หนังสือดีๆก็ต้องซื้อตรงจาก Amazon.com อ่านผ่าน Kindle App แถมบางเล่มยังสามารถซื้อไฟล์เสียงได้ แล้วก็สั่งด้วยเสียงของเราเปิดฟังอัตโนมัติผ่าน Amazon Echo ในยามที่ต้องการได้ หนังสือก็มีให้เลือกมากมายไม่จำกัด แถมยังมีเนื้อหายังใหม่ๆตลอดเวลา ส่วนร้านหนังสือคอมพิวเตอร์ของผมก็ย้ายมาอยู่ที่ Safari Book Online มีหนังสือด้านเทคโนโลยีให้ผมเลือกอ่านเป็นพันๆเล่ม ผมจ่ายเป็นรายปีอ่านแบบไม่จำกัด แถมยังมีวิดีโอหลักสูตรคอมพิวเตอร์ต่างๆให้ผมเรียน ที่สำคัญสุดหนังสือเทคโนโลยีเหล่านี้ใหม่มากๆบางทีผู้เขียนยังเขียนเสร็จไม่ครบทุกบทยังไม่ตีพิมพ์เป็นเล่มขายแต่ผมก็ได้อ่าน E-Book ที่เป็น Early Edition หรือ Pre-Print แล้ว
รูปที่ 3 ตัวอย่างหนังสือที่ผมอ่านใน Safari Book Online
Encyclopedia ก็กลายเป็น Wikipedia หรือ Google แม้อินเตอร์เน็ตจะมีข้อมูลมากมาย หลายแหล่งอาจไม่ถูกต้อง แต่ด้วยความโชคดีที่ได้ฝึกทักษะในการอ่าน ในการค้นข้อมูล สรุปย่อความและคิดวิเคราะห์ตั้งแต่เด็ก ก็เลยพอมั่นใจตัวเองได้ในระดับหนึ่งว่ามีหลักการในการหาข้อมูลที่พอเชื่อถือได้ จากทักษะตั้งแต่ในยุคอนาล็อกนั้นละครับ ไม่ใช่ประเภทตามกระแสโซเชียลที่กด Click, Like และ Share
ล่าสุดผมเห็นข่าวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปีนี้ คนเริ่มเงียบเหงาลง มีคำถามว่าหนังสือก็ตายแล้วหรอ สำหรับผมเนื้อหา (Content) ยังไม่มีวันตาย เผลอๆในโลกยุคปัจจุบันผู้คนต้องการบริโภคเนื้อหาทีถูกต้องและแม่นยำกว่าเดิม คนที่ต้องการเนื้อหาดีๆยังต้องจ่ายเงินแต่ช่องทางอาจเปลี่ยนไปแล้ว อาจไม่ใช่เป็นกระดาษเป็นเล่มแบบเดิม แต่อาจเป็นการซื้อบนโลกออนไลน์ แบบทันทีทันใด อ่านจากอุปกรณ์ไหนก็ได้ และเนื้อหาต้องทันสมัย สำคัญสุดวันนี้ถ้าเราอยากให้ลูกหลานเราอ่านเนื้อหาดีๆ ภาษาอังกฤษพวกเขาต้องเก่ง เพราะมีเนื้อหามากมายในโลกออนไลน์ ที่จะรอแปลมาเป็นไทยก็อาจไม่ทันโลกแล้ว และสำคัญสุดในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลเราต้องสอนให้เด็กรุ่นใหม่ ค้นข้อมูล และคิดเชิงวิเคราะห์ให้ได้ว่าข้อมูลไหนถูกต้อง ไม่ใช่แค่สอนการใช้กูเกิ้ล
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute