การคัดกรองเงินเยียวยา 5,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ระบบอะไรก็ตาม จะเป็น AI หรือ rule-based ก็ต้องใช้ข้อมูล ถ้าจะทำระบบได้ดีต้องมี Big Data จริง และที่สำคัญยิ่งต้องมีข้อมูลของแต่ละคนที่เป็น Velocity ที่ไหลต่อเนื่องเข้ามา ต้องมีข้อมูลของแต่ละคนที่ update ตลอดเวลา ดังนั้นการพิจารณากลั่นกรองโดยใช้คอมพิวเตอร์สำคัญสุดคือต้องมีข้อมูลของแต่ละรายจำนวนพอควร
ซึ่งระบบคัดกรองก็คงต้องไปเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลกรมสรรพากร ข้อมูลบัตรประชารัฐ ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลประกันสังคม ข้อมูลกยศ. ข้อมูลสถาบันการศึกษา ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลกรมขนส่งทางบก คำถามที่น่าสนใจคือรัฐบาลมีการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้หมดไหม หรือข้อมูลของแต่ละคน update แค่ไหน มี velocity มาบ่อยไหม
ในฐานะที่ผมมีโอกาสทำงานพัฒนาระบบข้อมูลให้หลายหน่วยงาน เคยเห็นข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม ข้อมูลกรมพัฒนาการค้า ข้อมูลทะเบียนพาณิชย์ ข้อมูลประกันสังคม ข้อมูลศุลกากร และอีกหลายอย่าง ต้องยอมรับว่าบ้านเราเชื่อมโยงข้อมูลยาก แต่ก็มี Linkage center อยู่ ที่สำคัญสุดคือข้อมูลส่วนใหญ่ขาด Velocity ไม่ค่อยมีข้อมูลเข้าบ่อยนัก จึงไม่ค่อยแปลกใจเรื่องการจะได้ข้อมูลทีสมบูรณ์จริงๆว่าทำได้ยากพอควร
กรณีที่ผู้ยื่นขอเงินเยียวยาถูกปฏิเสธแล้วระบุว่า มีอาชีพอย่างอื่น ก็อาจต้องไปย้อนคิดดูว่าเขาเคยมีข้อมูลในระบบฐานข้อมูลเหล่านั้นไหม ครอบครัวเคยลงทะเบียนเกษตรกรไหม เคยใช้สวัสดิการอย่างอื่นไหม หรือเคยขอเงินสวัสดิการบัตรประชารัฐแล้วกรอกอาชีพอย่างไร ก็ในเมื่อข้อมูลเก่ายังอยู่ในระบบก็ไม่แปลกที่ถูกปฎิเสธในเบื้องต้น
ระบบคอมพิวเตอร์มันไม่ได้วิเศษอะไรมากมายหรอกครับถ้าไม่มีข้อมูล มันทำงานตามข้อมูลที่มีอยู่ ข้อมูลที่เราไปกรอกหรือข้อมูลที่เราอัพเดท อย่าไปโทษว่าระบบเอไอคัดกรองข้อมูลแย่อย่างเดียว โปรแกรมมันก็ทำงานตามคำสั่งมนุษย์ คนต่างจังหวัดจำนวนมากเมื่อเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทะเบียนก็ยังอยู่ต่างจังหวัดไม่เคยให้ข้อมูลใดๆว่าตอนนี้ทำอะไร บางคนญาติที่ต่างจังหวัดยังไปลงทะเบียนรับสิทธิ์อื่นๆเต็มไปหมด ทั้งเงินช่วยเกษตรกร เงินบัตรสวัสดิการประชารัฐ ทำให้ข้อมูลตัวเองไปอยู่ในฐานข้อมูลระบบอื่นๆ
หลายๆคนอาจประกอบอาชีพอิสระแต่ที่ผ่านมาก็อาจไม่เคยมีข้อมูลใดเข้าสู่ระบบของรัฐ ไม่เคยจดทะเบียนการค้า ไม่ลงทะเบียนพาณิชย์ ไม่เคยใช้ระบบออนไลน์ในการชำระเงิน บ้างก็กลัวเรื่องการจ่ายภาษี บ้างก็อาจติดปัญหาส่วนตัว สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่มีข้อมูลคนเหล่านั้นอยู่ในระบบเลย
ยิ่งถ้าเขาไม่มีข้อมูลอื่นๆในระบบเลย ก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ระบบจะตอบกลับมาว่าไม่มีข้อมูล จะให้พิจารณาเฉพาะเอกสารที่กรอกคงไม่พอ ต้องหาข้อมูลในระบบอื่นมายืนยัน เพื่อความถูกต้อง ต้องเห็นใจระบบของรัฐที่ไม่มีข้อมูลของกลุ่มคนอาชีพอิสระจำนวนมากที่ต้องการเยียวยา หลายคนไม่เคยอยู่ในระบบภาษี ไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการอื่นๆ จึงไม่แปลกใจที่ได้คำตอบว่าไม่มีข้อมูลเพียงพอ
ดังนั้นอย่าโยนความผิดให้เอไอเลยครับ บางครั้งก็เป็นความผิดที่คนละครับ อาจผิดพลาดทั้งภาครัฐและตัวเราเอง ถ้าสังคมโปร่งใส มีข้อมูลทุกอย่างถูกต้องมาตลอด เราเองเข้าระบบเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลภาครัฐก็จะแม่นยำ ภาครัฐเองก็อาจต้องรวบรวมข้อมูลบ่อยๆอย่างต่อเนื่อง
เมื่อไม่มีข้อมูล สุดท้ายแล้วการตรวจสอบที่ถูกต้องก็ต้องเปลี่ยนจากระบบคอมพิวเตอร์มาเป็น manual ใช้คนเข้ามาตรวจสอบ สัมภาษณ์ ดูสถานที่จริง เหมือนเวลาธนาคารที่จะปล่อยสินเชื่อคนบางกลุ่มก็ต้องใช้วิธีนี้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะต้องการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริงๆแค่ไหน สุดท้ายแล้วเราก็สามารถช่วยคนเดือดร้อนจริงที่ถูกปฏิเสธถ้าเปลี่ยนระบบเอไอตามที่เลือกมาใช้คนประเมินแทน
สุดท้ายหลังจากงานนี้ เมื่อเรามีรายได้ กลับเข้าทำงาน ทุกคนก็ต้องควรเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ลงทะเบียนตามอาชีพจริง ชำระภาษีให้กับรัฐบาลให้ครบถ้วน ถ้าเราหวังว่าจะให้ประเทศช่วยเรา เราก็ต้องทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศเช่นกัน อย่าเพียงแต่หวังให้ประเทศช่วยเรายามที่เราเดือดร้อน
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute