92830119_1694949837319016_112408627100254208_n

ผมเป็นคนที่ซื้อของออนไลน์ ใช้บริการ Food delivery และบริการชำระเงินออนไลน์ผ่าน Mobile wallet มาตลอด ใช้เป็นประจำและแทบทุกแพลตฟอร์มเป็นเวลามานานแล้ว ซึ่งวิกฤติโควิด-19 ทำให้การซื้อออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะผู้บริโภคถูกบังคับให้จำเป็นต้องมาใช้บริการออนไลน์เหล่านี้ ดังนั้นพอผมต้องทำงานจากที่บ้าน และอยู่บ้านต่อเนื่องเป็นเวลานานๆก็เลยไม่ค่อยมีปัญหากับการปรับตัวใช้เทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้

นอกจากนี้วิกฤติครั้งนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะมาทำลาย (disrupt) รูปแบบธุรกิจเดิมๆหรือที่เราเรียกว่า Digital disruption มาถึงเร็วขึ้นกว่าที่คิดมาก ซึ่งจะมีผลทำใหเกิดการลดคนงานจำนวนมากและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และธุรกิจจำนวนมากจะล้มหายตายจากไป โดยอาจถูกแทนที่ด้วยธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆแบบ Grab, Alibaba หรือ Lazada

ในทฤษฎีของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง จะมีแนวคิดที่ว่า Winner take all กล่าวคือรายใหญ่จะเป็นผู้ครองตลาดเกือบหมด ด้วยความที่มีข้อมูลของลูกค้าและพาร์ทเนอร์จำนวนมาก จึงมีความสามารถในการทำ Data analytics และมีระบบเทคโนโลยีต่างๆที่อยู่เหนือคู่แข่ง ดังนั้นในธุรกิจแบบนี้เรามักจะเห็นการเข้าสู่ตลาดของแพลตฟอร์มต่างๆด้วยการทุ่มเงินมหาศาลในการซื้อลูกค้าหรือซื้อพาร์ทเนอร์ ทั้งใช้วิธีลดแลกแจกแถม ยอมขาดทุน แล้วทำให้รายเล็กอื่นๆ ตลอดจนธุรกิจในรูปแบบเดิมๆล่มสลายไป จากนั้นเมื่อตัวเองเป็นผู้ชนะแล้ว ก๋อาจจะใช้การผูกขาดทางการค้ามาเอาเปรียบพาร์ทเนอร์หรือลูกค้าได้ในอนาคต

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นบริษัทใหญ่หลายๆรายที่มีเงินทุนจำนวนมากจะเข้ามาทำธุรกิจแพลตฟอร์ม จะแสดงงบการเงินที่รายงานไปย้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เป็นตัวเลขขาดทุนอย่างต่อเนื่องกันมาหลายปี บางรายปีละเป็นพันล้านบาท การทำธุรกิจไม่ได้สร้างเงินภาษีให้กับประเทศไทย บางรายก็แทบไม่ได้สร้างงานอะไรให้กับสังคมไทย แถมยังไปเอาเปรียบรายย่อยเมื่อแพลตฟอร์มตัวเองเริ่มผูกขาด หลักการของแพลตฟอร์มต่างก็เน้นที่การผูกขาดทางการค้า คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่จะร่ำรวยขึ้นมา แต่ร้านค้าและบริษัทเล็กๆจำนวนมากก็อาจล่มสลาย และเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ดังจะเห็นได้ว่าช่วงนี้แพลตฟอร์มส่งอาหารหลายรายก็เริ่มขึ้นราคากับคู่ค้า และเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจโตขึ้น แม้ทางบริษัทยังจะบ่นว่าขาดทุนต่อ แต่คนที่น่าสงสารก็คือร้านค้าที่อาจต้องปิดไปเพราะอยู่ไม่ได้จากต้นทุนที่ถูกสูงขึ้นเพราะแพลตฟอร์มขึ้นราคาค่าบริการ และลูกจ้างอีกจำนวนมากที่อาจต้องตกงาน  รวมถึงผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อแพลตฟอร์มผูกขาดตลาดสามารถขึ้นราคาตามใจชอบได้

ผมอยู่ในอนุกรรมาธิการการพาณิชย์วุฒิสภาซึ่งได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ เรื่องการผูกขาดและการเอาเปรียบทางการค้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ใช่แค่ร้านค้าเริ่มอยู่ไม่ได้ แต่ยังมีผลมาถึงธุรกิจ logistic ในประเทศที่ถูกเอาเปรียบ จึงจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไข ซึ่งผมได้เรียนคณะกรรมาธิการว่าเราควรเริ่มศึกษาแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงนี้คือเรื่องของตลาดชุมชนออนไลน์ (Community E-commerce) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภตในอนาคต

Screenshot 2020-04-26 13.26.12

Screenshot 2020-04-26 13.25.38

เราเริ่มต้นเห็นจากศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งมาทำตลาดออนไลน์ทั้ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ด้วยการสร้างกลุ่ม Facebookให้ฝากประชาสัมพันธ์สินค้าตัวเอง  ซึ่งก็เริ่มขยายผลไปอีกหลายแห่ง ผมเองก๋ร่วมกลุ่มย่อยอย่างศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ ตลาดออนไลน์ชาวกันเกราของม.อุบลราชธานี และก็เห็นเพื่อนๆหลายคนก็ไปสั่งสินค้าเช่นมังคุดมาจากศิษย์เก่าที่ส่งมาทาง EMS จนผู้ขายสามารถขาได้หมดด้วยเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ก็ยังมี อบจ. และเทศบาลอีกหลายๆแห่งที่ทำ Facebook หรือ Line แบบง่ายๆในการซื้อขายสินค้า ซึ่งเรากำลังเริ่มเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังจะเชื่อมให้ผู้ผลิตต้นทางสามารถติดต่อได้โดยตรงกับผู้ซื้อปลายทาง โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหรือใช้แพลตฟอร์มใหญ่ๆในรูปแบบเดิมๆ

ตัวอย่างสินค้าที่ขายในตลาดออนไลน์ชุมชนในต่างจังหวัด

94841920_224351672336274_5512710731960680448_n

Line กลุ่มตลาดออนไลน์์ในหมู่บ้าน

ตัวผมเองช่วงนี้ก็เน้นใช้ Line กลุ่มของหมู่บ้านและบริเวณใกล้ๆ 3-4 กลุ่มในการสั่งอาหารและสินค้า ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีสมาชิกกันประมาณไม่เกิน 500 คนเราสามารถสั่งอาหารจากร้านในชุมชน บางทีตามบ้านก็ทำขายเป็นรายได้เสริม บางคนก็ไปสั่งสินค้าอื่นๆและผลไม้มาขาย บ้างก็รับไปซื้ออาหารอร่อยๆมาให้ทานโดยขอเพิ่มค่ารถเล็กน้อย มันคือระบบอีคอมเมิร์ซชุมชน ทำกันง่ายๆ ผู้ขายก็มาโพสต์ข้อความสั้นๆทุกวัน พวกเราในชุมชนก็มาซื้อในราคาที่ย่อมเยา ไม่ต้องไปเสียค่าบริการมากมายให้กับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ไม่ต้องมีการทำ Data analytics มากมายเพราะมันเป็นเพียงตลาดชุมชนเล็กๆของแต่ละชุมชม สุดท้ายก็กลับมาเป็นวัฒนธรรมแบบเดิมของสังคมชุมชนในที่ต่างๆ

การเกิดของตลาดชุมชนออนไลน์เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดมาจากการที่ชุมชนและสังคมต้องการจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สุดท้ายถ้าเราให้การสนับสนุนเรื่องนี้ดีพอ เราอาจเห็นตลาดชุมชนออนไลน์ต่างๆมากมายเป็นหมื่นๆเป็นแสนๆแห่ง เป็นเสมือนตลาดนัดตลาดสดแบบเดิมที่เราเคยทำแบบ Physical  แม้จะไม่ใช่แฟลตฟอร์มใหญ่โต แม้จะไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน และอาจไม่เกิดหลักการ Winner take all แต่สำคัญที่สุดทุกๆคนอยู่ได้ ธุรกิจไม่เกิดการล่มสลาย หลายๆคนยังมีงานมีรายได้ จากการเกื้อกูลกันของคนในสังคม

ใช่ครับวันนี้มาช่วยๆกันสนับสนุนตลาดชุมชนออนไลน์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ทุกคนในสังคมไทยอยู่ได้

ธนชาติ นุ่มมนท์

IMC institute

 

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s