สัปดาห์ที่ผ่านมา IMC Institute จัดแถลงข่าวเรื่อง Big Data Trends โดยผมได้ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2-3 ปีนี้เราจะเห็นถึง Mega-Trends ทางด้านไอทีอยู่  3 อย่างคือ

Screenshot 2015-01-25 16.04.17

รูปที่ 1  IT Mega Trends 2015

  • Internet of Things  อุปกรณ์ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจะไม่จำกัดอยู่แค่ เครื่องพีซี Smartphone หรือ  Tablet แต่จะรวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆตั้งแต่นาฬิกา, wearable technology, เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งของต่างๆ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีอุปกรณ์เหล่านี้ถึง 50,000 ล้านชิ้นในปี 2020
  • Cloud Computing ระบบการประมวลผลจะขึ้นบนอินเตอร์เน็ตมาจากที่ใดก็ได้ และข้อมูลจะตามเราไปทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์
  • Big Data เมื่อมีอุปกรณ์ต่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น ข้อมูลก็จะมากขึ้น จะมีหลายรูปแบบ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าจะมีข้อมูลมากถึง 35 ZByte ในปี 2025 ดังนั้นต่อไปใครที่สามารถนำข้อมูลมหาศาลเหล่านี้มาวิเคราะห์ได้ก็จะได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

กระแสเรื่อง Big Data เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ Big Data ไม่ใช่แค่เรื่องของไอที ไม่ใช่แค่มองเรื่องของการเก็บข้อมูล แต่เป็นเรื่องของทางด้านธุรกิจและผู้ใช้ที่จะมองวิธีการในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์ต่างๆเพื่อให้ได้ประโยชน์ จึงไม่แปลกใจที่เห็นบริษัท E-Commerce รายใหญ่ๆในโลกสามารถวิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์นำเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าได้ ธนาคารบางแห่งสามารถใช้ Big Data มาช่วยในการวิเคราะห์เครดิตของลูกค้าที่จะขอสินเชื่อ หรือแม้แต่บริษัทผู้ให้บริการมือถือก็สามารถใช้ Big Data มาช่วยในการแบ่งกลุ่มลูกค้า (Customer Segmentation)

IDC ได้คาดการณ์มูลค่าตลาดของ Big Data ในปี 2014  ว่าสูงถึง 16.1  พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ตลาดของ Big Data ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกโดยไม่รวมประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ไว้ที่  1.61  พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโตกว่าปีที่แล้วถึง 34.7% นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์จากบริษัทวิจัยอย่าง Researchbeam ระบุว่ามูลค่าตลาดของ Hadoop หนึ่งในเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำ Big Data จะโตจาก 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2012 เป็น 50.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

แต่ปัญหาที่หน่วยงานต่างๆจะเจอในเรื่องของ Big Data คือการขาดบุคลากรและขาดข้อมูล Gartner เองระบุว่าในปีนี้จะมีตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ Big Data ทั่วโลกถึง 4.4 ล้านตำแหน่ง แต่คงสามารถที่จะหาคนเข้าทำงานได้เพียง 1 ใน 3 ของตำแหน่งงาน และทาง IDC ก็ระบุถึงตำแหน่งงานทางด้าน Analytics ในสหรัฐอเมริกาว่าจะมีถึงสองแสนตำแหน่งในปี  2018 นอกจากนี้ยังพบว่าในปัจจุบันองค์กรใหญ่ๆเกือบ 70% ต้องซื้อข้อมูลจากภายนอกมาวิเคราะห์และคาดว่าในปี 2019 ทุกองค์กรใหญ่ๆคงต้องซื้อข้อมูล

เรื่อง Big Data ก็เป็นเรื่องที่ประเทศใน  ASEAN ให้ความสำคัญ รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าตั้งแต่ปลายปี  2013 ว่าจะเป็นฮับทางด้านนี้โดยเฉพาะการทำ Big Data Analytics โดยมีการตั้ง Big Data Innovation Center  ส่วนทางนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย Najib Razak  ก็ได้ประกาศนโยบาย Big Data Analytics (BDA)ในปลายปี 2014  โดยวางแผนการทำ Pilot Project ในปีนี้ 4 เรื่อง และวางแผนระยะยาว 7 ปีดังรูป

Screenshot 2015-01-25 17.45.00

รูปที่  2  แผนด้าน Big Data Analytics ของประเทศมาเลเซียเริ่มต้นปี  2014

สำหรับประเทศไทยผมคิดว่าเราคงต้องมีนโยบายอยู่สามด้านตามรูปที่ 3 (ต้องขอขอบคุณ  PostToday  ทีวาดภาพกราฟฟิกนี้สรุปให้)

  1. ภาครัฐและเอกชน
    • Big Data ยังเป็นตลาดใหม่มีการแข่งขันไม่สูงนัก (Blue Ocean) ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องรีบวางกลยุทธ์เรื่องนี้โดยเร็ว มิฉะนั้นแล้วเราจะเสียเปรียบคู่แข่งเชิงธุรกิจ
    • Big Data จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับคู่แข่งในภูมิภาค ต้องเอาเรื่องนี้เดินควบคู่กับนโยบาย Digital Economy
    • เรื่องข้อมูลจะเป็นเรื่องจำเป็น จึงต้องเร่งส่งเสริมให้มีการทำ Open Data เพื่อให้เกิดการต่อ ยอดนำข้อมูลไปใช้งาน
  2. เทคโนโลยี
    • เทคโนโลยีด้านนี้จะมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ภาครัฐเองควรจะส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้าน Hardware/Software
    • การตั้ง Cloud Platform สำหรับ Big Data Technology เช่น  Hadoop as a Service เป็นเรื่องจำเป็น ภาครัฐอาจต้องหาหน่วยงานเช่น สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) มาช่วยดำเนินงาน  หน่วยงานในภาครัฐหรือบริษัทขนาดกลางและเล็กจะได้สามารถใช้งานได้โดยมีค่าบริการที่ถูกลง
  3. การพัฒนาบุคลากร
    • ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ โดยเฉพาะผู้ที่จะมีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล
    • ระยะเริ่มต้นอาจต้องนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาทำ Pilot Project  ในลักษณะ On the job training

Screenshot 2015-01-25 17.51.09รูปที่  3  ข้อเสนอแนะกลยุทธ์ Big Data สำหรับประเทศไทย

Big Data คือเรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องแค่ไอที ตอน Cloud Computing เข้ามาประเทศเราก็ช้าไปและตกขบวนไปแล้ว แม้ Cloud กลายเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้ยังมีอุตสาหกรรมไอทีหรือซอฟต์แวร์ไทยจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่อง Cloud ดีพอ ถ้าเราช้าไปเรื่อง Big Data งวดนี้จะไม่ใช่แค่ตกขบวนไอทีแต่เผลอๆจะตกขบวนทางธุรกิจแข่งกับเขาในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนไปไม่ได้

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

มกราคม 2558

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s