ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบไปธนาคาร อาจเป็นเพราะว่าไม่ชอบการรอคอยหรือเสียเวลาในการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ และในเมื่อธุรกรรมเกือบทุกอย่างผมสามารถทำได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและตู้เอทีเอ็ม แล้วทำไมผมจะต้องเสียเวลาไปธนาคารละครับ เมื่อเร็วๆนี้ผมได้ดูข่าวทีวีช่อง CNN และพูดถึง Bank of the Future ที่ระบุว่าในปัจจุบันคนทำธุรกรรมออนไลน์หมดแล้วสาขาแบงค์จะเป็นอย่างไร พร้อมกับแสดงตัวอย่างให้เห็นสาขาธนาคารบางแห่งที่ได้แนวคิดจาก Apple Store มาใช้ สาขาธนาคารบางแห่งกลายเป็นร้านขายของ บางแห่งมีที่ให้นั่งทานกาแฟ บางแห่งมีห้องประชุมให้เช่าใช้ และบริการกับลูกค้าทุกรายแม้จะไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารก็ตาม (Link ข่าว CNN เรื่อง Apple Store inspires ‘bank of the future)

Screenshot 2015-01-27 09.06.55

รูปที่ 1  ภาพสาขาธนาคารจากรายงานข่าว Bank of the Future  ของ CNN

ผู้คนหลายๆประเทศทั่วโลกหันมาใช้ Internet Banking และ Mobile Banking มากขึ้น เพราะสะดวกสบายกว่า และสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา ข้อมูลจากสำนักวิจัย Capgemini เมื่อปี 2012 คาดการณ์ว่าในปี 2015 จำนวนผู้ใช้ Internet Banking ทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 91.7% และจำนวนผู้ใช้ Mobile Banking จะเพิ่มเป็น 62.3% ทั้งที่ในปี 2011 ยังมีผู้ใช้ Mobile Banking เพียง 39.9%  ซึ่งทาง Juniper Research ก็คาดว่าจำนวนผู้ใช้  Mobile Banking จะมีถึงหนึ่งพันล้านคนสิ้นปี2017 นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของบริษัทวิจัย  Nielsen ที่ระบุว่าในปัจจุบันผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกากว่า 82% ใช้ Online Banking อย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือเคยมีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าคนในประเทศสวีเดนกว่า 96% นิยมทำธุรกรรมด้วยตัวเองและกว่า 88% ไม่เคยไปธนาคารเลยในรอบ 12 เดือน

Screenshot 2015-01-27 14.40.46

รูปที่  2  แนวโน้มการใช้ Online Banking และ Internet Banking ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยมีตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยทีออกมาเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วระบุว่ามีบัญชีธนาคารที่เป็น Internet Account ในประเทศ 8,943,950 บัญชี โดยมีวงเงินการทำธุรกรรมถึง 1,705 พันล้านบาท และเป็น Mobile Internetอีก 3,711,382 บัญชี โดยมีวงเงินการทำธุรกรรมผ่านโมบาย 129 ล้านบาท นอกจากนี้ยังผลการสำรวจของของบริษัท Bain ในปี 2012 ที่สำรวจผู้ใช้บริการจากธนาคารจำนวน 150,100 คนจาก 14  ประเทศทั่วโลกพบว่าหลายประเทศในเอเซียมีอัตราการใช้บริการ Mobile Banking ที่สูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเองมีอัตราการใช้ 24% (ข้อมูลจากการสำรวจผู้ใช้ 1,300 คน) และมีการใช้  Online Banking สูงถึง 73%

Screenshot 2015-01-27 14.16.47

รูปที่ 3 ผลสำรวจอัตราการเข้าใช้บริการ  Mobile Banking ใน 14 ประเทศทั่วโลก

Screenshot 2015-01-27 13.58.26

รูปที่ 4 ผลสำรวจอัตราการเข้าใช้บริการของลูกค้าธนาคารในประเทศไทยจากกลุ่มตัวอย่าง 1,300 ค

ในปัจจุบันผมใช้ Internet Banking อยู่ประมาณ 5 ธนาคาร สมุดบัญชีเงินฝากของธนาคารเหล่านั้นผมแทบไม่เคยอัพเดท บางบัญชีสมุดอยู่ไหนแล้วผมไม่เคยทราบ การทำธุรกรรมเกือบ 100% ผมเลือกที่จะทำออนไลน์ แม้แต่การถอนเงินสดออกมาผมก็เลือกที่จะทำผ่านตู้ ATM ผมมีบัญชีธนาคารสองแห่งที่ใช้ประจำเลยเลือกที่จะมี Mobile Banking เพราะมันสะดวกกว่าที่จะต้องมาเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อมาทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็เลือกใช้งาน Mobile Banking ในเฉพาะบางธุรกรรมที่เหมาะสม ผมเองใช้บัตรเครดิตอยู่และข้อมูลการทำธุรกรรม การเรียกเก็บเงินต่างๆของบัตรเครดิตทุกใบผมจะใช้ระบบออนไลน์ ทำให้เราทราบการใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรอให้บริษัทบัตรเครดิตส่ง Statement มาในตอนปลายเดือน (ซึ่งทุกวันนี้ก็เลือกที่จะให้ส่งมาทางอีเมล์ ไม่ใช่ในรูปของกระดาษหรือจดหมายแล้ว) สุดท้ายแม้แต่การทำธุรกรรมเงินกองทุนของธนาคารต่างๆที่ผมใช้บริการไม่ว่าการซื้อขายกองทุนรวม กองทุน LTF และ RMF ผมก็เลือกใช้บริการออนไลน์รวมถึงการใช้บริการของ WealthMagik ที่ช่วยให้ผมเห็นภาพรวมของกองทุนทั้งหมดของทุกธนาคาร

Screenshot 2015-01-27 15.06.39

รูปที่ 5 เว็บไซต์ WealthMagik

ผมมักจะเจอคำถามว่าใช้ Internet Banking ไม่เสี่ยงหรือ จริงๆผมใช้มาสิบกว่าปีแล้ว ถามว่าเคยผิดพลาดไหมก็ยอมรับว่าเคย แต่ถ้าถามต่อว่าเพราะอะไรก็ต้องตอบว่าเกิดจากการทำธุรกรรมที่ผิดพลาดของตัวเองเช่น ชำระค่าบริการผิดที่,โอนเงินไปผิด หรือซื้อกองทุนผิด โดยมากก็เพราะเราไม่รอบคอบ แต่การทำผิดพลาด 2-3 ครั้งนี้ธนาคารก็ให้บริการแก้ปัญหาให้อย่างดี ทำธุรกรรมเป็นพันๆครั้งอาจมีความผิดพลาดบ้างแต่มันก็เป็นบทเรียนให้เรารอบคอบยิ่งขึ้น วันนี้ถ้าเราไม่ใช้ Online Banking เราก็คงเริ่มตกยุคเพราะธนาคารทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป มันก็เหมือนกับสมัยก่อนที่เราอาจเคยเก็บเงินไว้ในบ้าน พอยุคต่อมาเราก็ต้องนำฝากธนาคารเชื่อครับคนยุคนั้นก็กลัวว่าเงินไม่ได้เก็บไว้กับเราจะปลอดภัยไหม การใช้ Online Banking ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของ user, password การใช้ Public WIFI หรือขั้นตอนการทำธุรกรรมต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องตระหนักและป้องกันไว้ ซึ่งการทำธุรกรรมทุกอย่างแม้แต่ไม่ใช่ออนไลน์ถ้าเราไม่ระมัดระวังก็มีความเสี่ยง เผลอๆบางอย่างที่ทำบนโลกออนไลน์อาจช่วยให้เราลดความเสี่ยงด้วยซ้ำ ช่วงนี้ผมมักจะตอบกลับอย่างขำๆเวลาคนมาถามเรื่องความเสี่ยงบน online Banking ว่า “ที่สถาบันการศึกษาบางแห่งมีเงินหายเป็นพันล้านนี่มันเกิดจากการทำ Online Banking ไหมครับ ในทางกลับกันถ้าเขาใช้ Online Banking ในการดูยอดเงินฝาก แทนที่จะดูจากสมุดเงินฝาก เผลอๆอาจเห็นความผิดปกติตั้งนานแล้ว

การเข้ามาของ Digital Banking คงไม่ได้ทำให้สาขาธนาคารหายไป แต่อาจมีจำนวนน้อยลงและคงต้องปรับรูปแบบ สาขาธนาคารคงไม่ใช่มีไว้แค่ทำธุรกรรมง่ายๆอย่างแค่ ฝาก ถอน โอนเงิน หรือชำระเงินค่าบริการสินค้า แต่พนักงานของสาขาธนาคารคงต้องเข้าใจลูกค้าดีขึ้น ลูกค้าเหล่านั้นคงใช้งาน online Banking เป็นประจำ แต่เขาจะมาสาขาเพื่อขอคำแนะนำการบริการด้านการเงินต่างๆ ขอความรู้การซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของธนาคารเช่นกองทุน มาขอสินเชื่อบางอย่างที่อาจไม่ทำในโลกออนไลน์ได้ ธนาคารในอนาคตต้องมีข้อมูล CRM ลูกค้าอย่างดี ต้องมีความสามารถในทำ customer segmentation หรือการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าจากข้อมูลต่างๆทั้งภายในและภายนอกธนาคาร เผลอๆสาขาธนาคารอาจกลายเป็นร้านกาแฟให้ผมมานั่งดื่มกับเพื่อนฝูง และคุยกับเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลการเงินกางทุนก็เป็นไปได้

เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนธนาคาร ทาง Capgemini และก็ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆก็ระบุแนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีของธนาคารอยู่ 4 เรื่องคือ

  • การใช้ Mobile Banking จะเพิ่มขึ้นอย่างมากโดย Internet Banking จะเป็นเรื่องปกติ
  • การใช้จ่ายผ่าน Mobile  Payment จะมีมากขึ้น รวมถึงจะมีการใช้ Mobile Remote Deposite Capture ทำให้ลดการใช้ Cheque ที่เป็นกระดาศ
  • Social Media และ Analytic Tools จะถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ลูกค้ามากขึ้น
  • ช่องทางการบริการธุรกรรมธนาคารจะมีความหลากหลายมากขึ้นผ่านอุปกรณ์ต่างๆและเชื่อมโยงกันหมดทั้ง  Mobile, Tablet รวมไปถึง Internet of Things อย่าง smart TV

ทั้งหมดนี้ผมก็เขียนมาจากมุมมองของผมที่เป็นลูกค้าและผู้ใช้บริการของธนาคาร ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้แต่อย่างไร

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

Screenshot 2015-01-27 15.22.09

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s