edm_Nov_jayedit

ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานในวงการไอทีด้วยการเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และมีโอกาสได้สัมผัสสอนและอบรมนักศึกษาหลายๆสถาบันในประเทศทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ม.ขอนแก่น  ม.เชียงใหม่ ม.สงขลา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมถึงมีโอกาสสอนอาจารย์ในหลักสูตร Train the trainer ให้แก่อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทั่วไปร่วม 10 หลักสูตรสอนตั้งแต่ Java Programming, Web Services, SOA, Cloud Computing หรือ Big Data

1488765_10154138174858254_3064923486844069024_n

หลังจากออกจากอาชีพอาจารย์ผมมาทำงานภาคเอกชนทั้งในบริษัทไอทีต่างประเทศอย่าง Sun Microsystems หรือหน่วยงานภาครัฐอย่างเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) และสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ที่ทำทางด้านการอบรมและการให้คำปรึกษาด้านไอที แม้ผมจะไม่ได้มีอาชีพเป็นอาจารย์แต่ก็ยังรักที่จะสอนและเป็นวิทยากรอยู่ต่อเนื่องในช่วงสิบปีท่ีผ่านมา ทำให้ต้องค้นคว้าศึกษาและลงมือปฎิบัติทำงานจริงกับเทคโนโลยีใหม่ๆเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Mobile programming, Cloud Computing, Big Data, AI และ Digital Transformation และก็ยังเป็นวิทยากรอบรมให้เองในหลายๆหัวข้อ ดังนั้นจึงอาจไม่ต้องแปลกใจถ้าจะบอกว่าผมในฐานะของผุ้บริหารที่ดูแลทั้งหน่วยงานตัวเองอย่าง IMC Institute และเป็นกรรมการอิสระในบริษัทมหาชนหลายแห่ง แต่ก็ยังลงมือปฎิบัติเองอยู่เสมอตั้งแต่ config เครื่อง Server, ใช้คำสั่ง Linux, เขียนโปรแกรมบน Cloud หรือแม้แต่ติดตั้ง Hadoop Cluster

แม้จะไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็ยังมีบทบาทในฐานะของตำแหน่งกรรมการในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งตั้งแต่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาหลักสูตรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศในหลายๆมหาวิทยาลัย ใช่ครับแม้จะไม่ได้สอนนักศึกษาโดยตรงแต่ก็ยังสัมผัสกับอาจารย์ หลักสูตร และข้อสำคัญยังมีโอกาสเป็นวิทยากรสอนคนทำงานในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ

จากประสบการณ์ที่เล่ามาก็เพื่อที่จะบอกให้คนอ่านได้เข้าใจว่า ผมพอเข้าใจวงการการศึกษาและภาคเอกชนด้านไอทีอยู่้าง ผมมีโอกาสสัมผัสบุคลากรด้านทั้งอาจารย์ นักศึกษา และบัณฑิตใหม่ที่จบมาก็มักจะเจอโจทย์ว่าบัณฑิตหางานทำไม่ได้ ยิ่งระยะหลังเจอปัญหาว่ามหาวิทยาลัยหาคนเรียนได้ไม่ตามเป้าหมาย พอมาดูในมุมมองของภาคเอกชนก็จะบ่นเสมอว่าหาคนทำงานไม่ได้ บัณฑิตไม่ได้คุณภาพไม่สู้งาน หลักสูตรไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน จริงๆถ้าไปดูหลักสูตรก็จะเห็นว่าหลักสูตรหลายแห่งเราทันสมัยเพราะทางสกอ.ก็จะเน้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่าง ACM จำนวนบัณฑิตและอาจารย์ก็มีมากพอ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไรทำไมทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมถึงมีมุมมองบางอย่างที่ต่างกัน ผมอยากสรุปประเด็นปัญหาที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาและเราคงต้องหาทางแก้ไข มิฉะนั้นแล้วอุตสาหกรรมการผลิตด้านไอที, อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการทำงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ เราคงแข่งขันลำบากโดยมีประเด็นต่างๆดังนี้

1) นักศึกษารุ่นใหม่จำนวนมากมีทัศนคติต่อการศึกษาที่ไม่ดี ในปัจจุบันนักศึกษามุ่งเรียนเพียงเพื่อเอาใบปริญญาเป็นใบเบิกทาง มองสถาบันการศึกษาเป็นเพียงแค่ทางผ่านใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างฟุ้งเฟ้อ ขาดความอดทน มุ่งเน้นเรียนอย่างสบายๆ มองอนาคตเพียงเพื่อหวังร่ำรวย น้อยคนที่จะมีจิตสำนึกสาธารณะ ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ดังนั้นงานในมหาวิทยาลัยทุกอย่างต้องมาวัดที่คะแนนหมด หากไม่มีคะแนนก็ไม่ยอมทำ ไอดอลของคนบางกลุ่มกลายเป็นแค่คนที่มีเงินมุ่งทำงานเพื่อความร่ำรวย ข้อสำคัญคือการขาดคุณธรรมจริยธรรมในวงการการศึกษา การลอกงานต่างๆจึงกลายเป็นวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย และนักศึกษาบางส่วนก็มีทัศนะคติที่จะเรียนอะไรที่ง่ายๆที่จบมาแล้วได้เงินดีๆรวยเร็วๆ

2) กระทรวงมีกฎเกณฑ์ในระบบการศึกษาที่ไม่เหมาะสม สำนักงานการอุดมศึกษา(สกอ.) ก็เป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งของระบบการศึกษาที่พิกลพิการในปัจจุบัน เรามีกฎเกณฑ์แปลกๆมากเกินไป การกำหนดวิชาที่จำเป็นต้องเรียน การตั้งชื่อหลักสูตร การประเมินหลักสูตร การประเมินผู้สอน จนทำให้ผู้สอนหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะแก้ไขปรับปรุงคุณภาพการศึกษาได้ยาก แม้แต่การจะให้นักศึกษาสอบตกจำนวนมากตามผลคะแนนที่เป็นจริงก็เป็นไปได้ยาก เพราะผู้สอนต้องทำบันทึกชี้แจงหากมีคนตกมาก การวัดคุณภาพการศึกษาของสกอ.ก็จะเน้นที่เอกสารมากกว่าสะท้อนความเป็นจริง ผู้สอนเองก็ต้องเสียเวลากับการกรอกข้อมูลต่างๆที่บางครั้งแทบจะไม่มีประโยชน์หรือนำมาใช้งานจริง

3) สถาบันการศึกษามุ่งเน้นหารายได้มากไป เมื่อการศึกษากลายเป็นธุรกิจมหาวิทยาลัยก็ต้องการรับนักศึกษาจำนวนมากเพื่อให้คุ้มค่ากับการเปิดของแต่ละหลักสูตร หลักสูตรบางอย่างก็เปิดเพียงอิงกับตลาดมากเกินไปทั้งๆที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดผู้สอน มหาวิทยาลัยก็ไม่กล้าที่จะประเมินผลตามความเป็นจริงกลัวนักศึกษาตกออกเยอะหรือบางครั้งกลัวนักศึกษาจะร้องเรียนหรือไม่เข้ามาเรียน ถ้ามหาวิทยาลัยไหนจบยากนักศึกษาก็จะเข้ามาเรียนน้อยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนบวกกับทัศนคติของนักศึกษาที่ต้องการจบง่ายๆไวๆ จึงไม่แปลกใจที่เห็นเด็กจบออกมาไม่มีคุณภาพ

4) เราเน้นจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนด้านไอทีมากกว่าคุณภาพ ปัจจุบันในแต่ละปีเรารับคนเข้ามาเรียนทางด้านนี้นับหมื่นคนและจำนวนมากไม่น่าที่จะเรียนหลักสูตรด้านนี้ได้ หลายๆแห่งก็เลยใช้วิธีว่าปรับให้หลักสูตรง่ายขึ้นหรือปล่อยให้นักศึกษาจบได้โดยง่าย จริงๆประเทศเราก็มีนักศึกษาด้านนี้ที่เก่งๆในระดับโลกแต่มีจำนวนไม่มากนักและถ้ามองถึงนักศึกษาที่มีคุณภาพที่จะจบออกมาทำงานด้านไอทีได้จริงๆเผลอๆปีหนึ่งไม่เกินสองพันคนจึงไม่แปลกใจว่าทำไมเอกชนถึงบอกว่าหาคนมีคุณภาพเข้าทำงานไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะมีเสียงบ่นจากภาคการศึกษาว่าบัณฑิตจำนวนมากหางานทำไม่ได้ ก็เล่นผลิตคนไม่มีคุณภาพออกมาล้นตลาดนี่ครับ

5) อาจารย์จำนวนมากขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ สาขาด้านไอทีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอาจารย์จำเป็นต้องศึกษาและลงมือปฎิบัติจริงในเรื่องใหม่ๆ แต่เนื่องจากอาชีพอาจารย์เป็นงานที่ไม่ได้มีการแข่งขันมากนัก อาจารย์บางท่านสามารถที่จะนำเนื้อหาเก่าๆมาสอนซ้ำได้เป็นเวลาหลายปีแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป คำพูดหนึ่งที่มักจะได้ยินจากอาจารย์ก็คือมหาวิทยาลัยจะเน้นสอนภาคทฤษฎีการลงมือปฎิบัติต้องได้ทำงานจริงในภาคเอกชน ทั้งๆที่โดยแท้จริงแล้วเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมากทฤษฎีกบางอย่างก็ย่อมเปลี่ยนตาม แต่ในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งก็แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงการสอนแต่อย่างใด จนบางครั้งทำให้คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องส่งอาจารย์มาฝึกงานกับภาคเอกชนแทนที่จะแค่ส่งนักศึกษามาฝึกงาน

6) ขาดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษา ความร่วมมือของบ้านเรายังน้อยอยู่ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัย การผลิตบัณฑิต ยังถือว่าน้อยมากแม้บางแห่งจะมีการทำสหกิจศึกษากับภาคเอกชนแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนน้อย และขาดการนำปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรมมาศึกษาหรือทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย

7) ชนชั้นกลางบ้านเราฐานะดีขึ้น ความดิ้นรนที่จะต้องแสวงหารอาชีพหรือรายได้ที่ดัขึ้นจะน้อยลงทำให้ต่างกับบางประเทศอย่างพม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย ที่การเข้าสู่อาชีพบางอาชีพเช่นการทำงานด้านไอที หรือแพทย์สามารถเปลี่ยนอนาคตของพวกเขาไปในทางที่ดีขึ้น พอชนชั้นกลางบ้านเราฐานะดีความกระตือรือร้นก็จะน้อยลง ผู้ปกครองก็อยากให้ลูกสบายจริงมาปกป้องลูกหลานตัวเองในการเรียนและการทำงาน เช่นการออกมาตำหนิอาจารย์ที่สอนยากหรือตัดเกรดโหดทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง

8) การลงทุนด้านงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเรามีน้อยมาก เมื่อไม่มีการทำงานวิจัย ความต้องการนวัตกรรมใหม่ๆก็น้อย บัณฑิตที่มีคุณภาพเก่งๆมีนวัตกรรมก็ไม่สามารถจะหางานที่ท้าทายได้ ก็ได้สร้างวัฒนธรรมที่จะไปบอกรุ่นน้องให้เห็นว่าไม่ต้องเรียนอะไรมากไม่ต้องรู้อะไรมาก ทำงานง่ายๆซ้ำเดิม หรือบางครั้งก็คิดว่าที่เรียนมาไม่ได้ใช้อะไร เพราะบริษัทบ้านเราจำนวนมากเลือกที่จะทำงานง่ายๆไม่ซับซ้อนอะไรไม่ได้ใช้อะไรยากเกินไป

ปัญหาการศึกษาด้านไอทีกำลังเป็นวิกฤติใหญ่ที่ก็เห็นทุกฝ่ายพยายามที่จะแก้ไข แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วคงใช้วิธีเดิมๆระบบเดิมๆมาแก้ไขไม่ได้ แต่ก็อาจต้องปล่อยให้แก้โดยการเกิด Digital Disruption ในวงการศึกษาทางด้านนี้ขึ้นมาเอง ในยุคที่ผู้เรียนสามารถจะเรียนผ่านเทคโนโลยีจากที่ไหน วิชาใด อุปกรณ์ใดก็ได้ ตามที่ผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาปั่นป่วน มหาวิทยาลัยไทย

ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute

ใส่ความเห็น