Cloud Computing เป็นการเปลี่ยนโมเดลของการทำงานไอทีสู่งานบริการ แต่หลายๆครั้งก็ยังพบว่าทั้งผู้ให้บริการ Cloud (ผู้ติดตั้ง private/public cloud) หรือผู้ใช้บริการ Cloud ก็ยังทำงานในรูปแบบเดิมๆเสมือนการจัดหาระบบไอทีที่เป็นแบบ On-premise อาทิเช่น
- หน่วยงานไอทีวางแผนติดตั้ง Private Cloud โดยคิดว่าเป็นการทำ Virtual Server ให้กับหน่วยงานอื่น โดยไม่มีการวางแผนทำ Capacity Mangement โดยคิดว่าคือการจัดซื้อระบบมาแทน Server
- ผู้ให้บริการ Cloud ไม่สามารถตรวจสอบและตัดสินใจได้ว่า Virtual Server ที่จัดสรรไปมีการใช้งานจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้คำนึงว่าจะมี Service Lifecycle
- การบริการ Cloud ขาด Service Catalog และไม่มีระบบการทำ Provisioning เพราะคิดว่า Cloud Service ก็คือการจัดหาระบบมาแทน Server แบบเดิมๆที่ไม่น่าจะมีบริการที่หลากหลาย
- ผู้ใช้บริการ Cloud ขอใช้ระบบเกินความจำเป็น อาทิเช่น ขอ Virtual Server ที่มีขนาดใหญ่สุด หน่วยความจำมากเกินความจำเป็น เพราะผู้ใช้คิดเสมือนว่าซื้อ Hardware แบบเดิมๆ
- ผู้ใช้บริการ Cloud ไม่สามารถบริหารความต้องการการใช้งานได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น เพราะไม้เข้าใขการจัดการ User Demand
แท้ที่จริงแล้วการบริหารจัดการ Cloud Computing คือการบริหารงานบริการที่ต้องใช้หลักการของ ITSM (Information Technology Service Management) และอาจใช้แนวทางอย่าง ITIL (Information Technology Infrastructure Library) มาช่วยในการจัดการ โดยเราอาจพิจารณาขั้นตอนต่างๆดังนี้
1) Service Strategy คือขั้นตอนในการวางแผนเพื่อที่จะใช้หรือให้บริการ Cloud Service ทั้งทางด้านนโยบาย ความต้องการ และ Governance ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น
- Demand Management คือการวางแผนเพื่อที่จะให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้ไม่ได้ขอใช้บริการเกินความจำเป็นและสร้างปัญหาต่างๆในอนาคต
- Service Portfolio Management คือการทำ Service Portfolio เพื่อจัด Cloud Serviceให้สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจ
- Financial Management คือการวางแผนบริหารจัดการการเงิน ทั้งงบประมาณที่จะต้อง รูปแบบของคิดค่าบริการต่างๆ
2) Service Design คือขั้นตอนการทำ Capacity Management ซึ่งเป็นการออกแบบ Cloud Service ให้เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น
- Service Catalog Management คือการจัดการข้อมูลของ Cloud Services ต่างๆที่มีให้บริการ ซึ่งโดยมากผู้ให้บริการมักจะมีหลากหลาย Service และราคาที่หลากหลาย อาทิเช่นบริการ Virtual Server, Storage หรือ Database
- Service Level Management คือการบริหารและต่อรองข้อตกลงการให้บริการ (SLA: Service Level Agreement)
- Supplier Management คือการบริหารจัดการ supplier ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ Cloud อาทิเช่น Supplier ด้าน Software Licensing
- Capacity Management คิอการบริหารความสามารถในการให้บริการเพื่อให้มั่นใจว่า จะมี Cloud Service ที่มีการให้บริการเพียงพอกับความต้องการ อาทิเช่นสามารถสร้าง Virtual Server ได้มากพอ หรือไม่มีจำนวน Server มากเกินความจำเป็น
- Information Security Management คือการบริหารทางด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของการให้บริการ Cloud
3) Service Opeartion คือขั้นตอนการทำการทำงานประจำวันของการให้บริการ Cloud Service ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น
- Request Fulfillment คือขั้นตอนในการขอใช้บริการว่าจะจะต้องมีการบริหารจัดอย่างไร และจะเป็นรูปแบบ Self-service เพียงใด
- Incident Management คือขั้นตอนบริหารจัดการเมื่อเกิด incident ในการใช้บริการ Cloud
- Access Management คือขั้นตอนการกำหนดสิทธิ์ให้ผู้ใช้บริการ สามารถที่จะใช้บริการใดบ้าง ตามนโยบายที่กำหนดไว้
4) Service Transition คือขั้นตอนบริหารการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราอาจมีเรื่องต่างๆที่ต้องพิจารณาอาทิเช่น
- Change Management คือขั้นตอนที่ให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนของ Cloud Service สามารถที่จะควบคุมได้
- Service Asset and Configuration Management คือการบริหารจัดการ Configuration และทรัพยากรที่อยู่ภายใต้ระบบ Cloud ซึ่งเป็นการทำ CMDB (Configuration Management DataBase)
- Knowledge Management คือกระบวนการที่จะรวบรวมองค์ความรู้ใหม่ๆที่เกี่ยวกับ Cloud Computing Services
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการ Cloud Computing ไม่ใช่คือการวางแผนเพื่อจะจัดซื้อระบบ Hardware/Software มา แต่เป็นเรื่องของการบริหาร Service Lifecysle ที่ต้องวางแผนและบริหารจัดการในระยะยาว
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute