ตามที่เคยเขียนบทความเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยี 2017 ของ Gartner เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีหลายอย่างอาจแตกต่างกับบ้านเราค่อนข้างมาก และคงเป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างในบ้านเราต้องเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังก้าวเข้ามา แต่ถ้าเรามามองถึงแนวโน้มเทคโนโลยีสารสนเทศ 2017 ในบ้านเรา เราจะเห็นว่าหลายๆเรื่องแม้เป็นกระแสหลักในต่างประเทศเมื่อ 3-5 ปีก่อน แต่ก็ยังเป็นแนวโน้มในปีหน้าของบ้านเราที่กำลังเข้ามาเนื่องจากสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรต่างๆ นโยบายของภาครัฐ และความสามารถของบุคลากรไอทีในบ้านเราโดยสามารถที่จะสรุปเทคโนโลยีเด่น 10 อย่างในปี 2017 ของบ้านเราได้ดังนี้

1 ) Cloud Computing

ในปัจจุบันข้อมูลต่างๆ และแนวโน้มของอุตสาหกรรมไอทีได้บ่งชี้ให้เห็นแล้วว่า Cloud Computing กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมจริงๆ โดยเฉพาะแนวโน้มของตลาดโลกที่น่าจะต้องมีผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมไอทีไทย โดยตลาด Tradition IT ด้าน IT Infrastructure จะลดลงไปเรื่อยๆ และตลาด Public Cloud จะโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดย IDC คาดการณ์ว่าตลาด Tradition IT จะเหลือเพียงแค่ 55% ในปี 2019 นอกจากนี้ ตลาด Cloud Computing ทำให้ผู้เล่นในตลาดเปลี่ยนไป อาทิเช่น ผู้นำตลาด IaaS กลับเป็นบริษัทที่ไม่เคยเป็นผู้ผลิต Hardware มาก่อนเช่น Amazon Web Services หรือ Microsoft

ในปัจจุบันบริษัทต่างๆในประเทศไทยก็หันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็น SaaS มากขึ้น แม้แต่หน่วยงานภาคการเงินการธนาคารหลายแห่งมีการใช้ซอฟต์แวร์ต่างประเทศอย่าง Salesforce, Google Apps และ Microsoft Office 365 นอกจากนี้ยังมีบริษัทซอฟต์แวร์รวมถึงกลุ่ม Tech- Start up จำนวนมากที่มาใช้ IaaS หรือ PaaS อย่าง Amazon Web Services หรือ Microsoft Azure ทั้งนี้ก็เริ่มมีชุมชนด้านนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศต่างๆที่ให้ความสำคัญกับการใช้ Cloud Platform อาทิเช่น AWS User Group ที่มีการจัดสัมมนาอย่างต่อเนือง หรือกลุ่มของ Microsoft Azure หรือ IBM Bluemix ที่มีการจัดกิจกรรมด้านนี้อย่างต่อเนื่อง กระแสการใช้ Cloud Computing ในอนาคตจะยิ่งมีมากขึ้นกว่าเดิม และก็อาจกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ทุกคนมาใช้งาน มากกว่ารูปแบบไอที On-Premise แบบเดิม

2) Big Data Analytics

กระแสของ Big Data ในประเทศไทยได้เริ่มพูดกันอย่างจริงจังในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและสถาบันการเงิน เริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนี้มากขึ้น มีการจัดหาเทคโนโลยี Hadoop เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลที่เป็น Semi-structure/Unstructure ได้มากขึ้น และเริ่มมีการคิดที่จะนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการทำธุรกิจใหม่ ให้ได้ข้อมูลการตลาดและลูกค้ามากขึ้น ตลอดจนภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Open Data และมีนโยบายในการที่จะพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ในภาครัฐ ซึ่งก็มีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) ที่ได้ทำงานในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง มีการจัดกิจกรรมและความร่วมมือต่างๆ ในกลุ่มนักพัฒนาและสถาบันการศึกษาต่างๆก็เริ่มให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) มากขึ้น มีการเปิดหลักสูตรใหม่ๆทางด้านนี้อาทืเช่นหลักสูตรปริญญาตรีด้าน Data Science ของสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือการจัดสัมมนาของ Data Science User Group

ในปีหน้าคาดว่าความตื่นตัวทางด้านนี้จะมีมากยิ่งขึ้น องค์กรจะเริ่มให้ความสนใจกับการนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปวิเคราะห์ โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคาร การตลาด โทรคมนาคม และค้าปลีก การแข่งขันทางด้านนี้จะมีมากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆก็จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น และก็เริ่มจะหาเครื่องมือที่สามารถจะวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆทั้งจาก RDBMS, Data Warehouse, NoSQL และ Hadoop มากขึ้น หน่วยงานจะเน้นความสำคัญกับการทำ Data Visualisation มากขึ้น และก็จะเริ่มมีการทำ Predictive Analytics มากขึ้น พร้อมทั้งจะมีความต้องการหานักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมากขึ้น

3) Internet of Things

IoT (Internet of Things) เป็นหนึ่งในแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก และมีผลต่อเรื่องของอุตสาหกรรม 4.0 อย่างมากเพราะต่อไปเราจะเห็นอุปกรณ์ต่างๆเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่างมากมายและธุรกิจต่างๆจำเป็นต้องจะนำอุปกรณ์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเกิดมูลค่าเพิ่ม บ้านเรากำลังเน้นคำว่า Thailand 4.0 (โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย) ซึ่งก็หนีไม่พ้นกับเรื่องของอุตสาหกรรม 4.0และก็กำลังเน้นเรื่องของ Digital Economy มีการวางแผนเรื่องของ Smart City ซึ่งจะต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคงหนีไม่พ้นที่ต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT
ชุมชนนักพัฒนาบ้านเราก็ให้ความสนใจกับด้าน IoT อย่างมากมีการตั้ง Maker Club หลายแห่ง มีการจัดตั้งกลุ่ม Thailand IoT Consortium และมีกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเราเห็นคนไทยเข้าไปเป็นประธาน South East Asia Makerspace Network หน่วยงานภาครัฐอย่าง NECTEC ก็มีการส่งเสริม IoT Platform อย่าง NETPIE และมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่เริ่มทำเรื่อง IoT ร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อผลักดันออกไปสู่ระดับโลกอย่าง บอร์ด Nano32 ซึ่งคนไทยเป็นผู้พัฒนาเป็นบอร์ด ESP32 บอร์ดเดียวในโลกที่มีจำหน่าย

4) Webscale IT

การใช้อินเตอร์เน็ตในบ้านเราเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลซึ่งหมายถึงมีการใช้บริการออนไลน์ต่างๆมากขึ้นเช่นการใช้ดูข้อมูล รับบริการต่างๆ รวมถึงการใช้ E-Commerce ที่เพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้การออกแบบระบบบริการออนไลน์จำเป็นต้องรองรับผู้ใช้จำนวนมากที่เข้ามาทำงานพร้อมกันให้ได้ ซึ่งหมายถึงการเตรียมสถาปัตยกรรมไอทีใหม่ การเตรียมเครื่อง Server จำนวนมาก การออกแบบซอฟต์แวร์โดยใช้ Framework ใหม่ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เราคงเห็นองค์กรต่างๆจะต้องปรับเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบล่มอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวอย่าง ระบบการจองตั๋วหรือระบบลงทะเบียนต่างๆ

5) FinTech

Financial Technology เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินบ้านเรากล่าวถึงกันอย่างมาก ธนาคารในบ้านเราหลายๆแห่งมีการตั้งหน่วย FinTech เพื่อพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆที่จะเข้ามาแทนที่รูปแบบการเงินแบบเดิมๆ และก็มีผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและกลุ่ม Start-up ที่สนใจเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานด้านธุรกรรมการเงิน จนเริ่มมีการพูดกันว่าในอนาคตผู้คนจะใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นและอาจทำให้จำนวนสาขาแบงค์น้อยลง ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าในปัจจุปันเรามีบัญชี Mobile Banking มากกว่า 10 ล้านบัญชี และ Internet Banking มากกว่า 12 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้เรายังมีนวัตกรรมด้านการเงินใหม่ๆอีกมากที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้อย่างเช่นการลงทุนที่นำเทคโนโลยีไอทีมาใช้ในการวิเคราะห์ตลาดหุ้น หรือกองทุนรวมอย่าง Jitta, WealthMagik หรือ Finnomena การเปรียบเทียบบริการด้านการเงินอย่าง Gobear, Rabbit Finance ตลอดจนช่องทางการชำระเงินแบบใหม่ๆอย่าง 2C2P, Omise, Paysbuy เป็นต้น สถาบันการเงินเองก็การแข่งขันกันหานวัตกรรมใหม่ๆจากผู้เล่นที่เป็น Start-up โดยการเข้าไปลงทุนหรือจัดประกวดต่างๆ รวมถึงการศึกษาและหาช่องทางในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง Blockchain เข้ามาใช้งาน และล่าสุดมีการจัดตั้ง Thailand FinTech Club ที่จะผลักดันในเรื่องนี้โดยมีคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

6) PromptPay

“พร้อมเพย์” (AnyID) คือเรื่องที่กล่าวขานกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนวัตกรรมการเงินของประเทศ จะเป็นการลดการทำธุรกรรมการเงินโดยการใช้เงินสด แล้วหันไปใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ แทนเลขที่บัญชีธนาคาร ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง โมบายแบงก์กิ้ง เครื่องเอทีเอ็ม แม้โครงการจะถูกเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสแรกในปีหน้า แต่ด้วยการผลักดันของรัฐบาลและกลุ่มธนาคารต่างๆก็คงยังจะทำให้พร้อมเพย์เป็นเเรื่องที่น่าสนใจและจะมีการลงทุนกันอย่างมากในเรื่องนี้ ทั้งในการปรับโครงสร้างด้านไอทีของกลุ่มธนาคาร การรองรับการชำระเงินแบบใหม่ของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการคำนึงถึงระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง

7) IT Security

แนวโน้มของการใช้ไอทีมากขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆจำเป็นต้องมีความตื่นตัวด้านความปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ในปีนี่เราจะเห็นได้ว่ามีข่าวเรื่องของการโจรกรรมข้อมูล การโจมตีเว็บ การปล่อยมัลแวร์ หรือล่าสุดจะเห็นข่าวการโจรกรรมเงินในตู้เอทีเอ็มของธนาคารในประเทศ ตลอดจนความต้องการการใช้บริการออนไลน์มากขึ้นทำให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการลงทุนและสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ใช้งานมากขึ้น ด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง IoT จะทำให้องค์กรต่างๆต้องพิจารณาปรับปรุงระบบความปลอดภัยไอทีให้มีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

8) Digital Transformation

การเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างมาก เกิดธุรกิจใหม่ๆมากมายเช่น Airbnb, Uber หรือ Agoda การเข้ามาของธุรกิจเหล่านี้ทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจเดิมๆที่เคยทำอาทิเช่น eBook มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์ หรือ Streaming Content อย่าง NetFlix, Hollywood HD ก็มีผลกระทบต่อธุรกิจด้านทีวีในบ้านเรา องค์กรต่างๆก็เริ่มที่จะต้องปรับตัวเองมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ทั้งในการบริหารงาน การบริการลูกค้า หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เรื่องของ Digital Transformation ก็จะเป็นหัวข้อหนึ่งที่มีการพูดกันอย่างมากในช่วงสองสามปีข้างหน้า

9) Mobility

แม้ตัวเลขการใช้เทคโนโลยี Smartphone, Tablet หรือ 4G ในบ้านเราจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่การใช้งานส่วนใหญ่ยังมุ่งไปเพื่อความบันเทิงมากกว่าการใช้เพื่อทำงานหรือสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงธุรกิจ แต่เนื่องจากพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมีความเป็น Mobile มากขึ้นคือการทำงานในทุกที่ ทุกอุปกรณ์ ประกอบกับปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ต่างๆของบ้านเรา จะทำให้หน่วยงานจะต้องเตรียมปรับเทคโนโลยี และรูปแบบการทำงานให้รองรับ Mobility มากขึ้น เช่นการประชุมออนไลน์ การทำงานแบบร่วมกัน การแชร์ข้อมูลผ่าน Share Drive หรือ การทำเอกสารแบบออนไลน์โดยใช้เครื่องมืออย่าง Google Docs หรือ Office 365 หน่วยงานในบ้านเราจะมีการปรับวัฒนธรรมในองค์กรให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นครั้งใหญ่

10) Business Value Dashboard

แม้เรื่อง Big Data จะเป็นแนวโน้มเทคโนโลยีด้านหนี่งมี่สำคัญในปีหน้า แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานบ้านเราจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องของข้อมูลการรวบรวมข้อมูล การทำ Data Visualization จากข้อมูลพื้นฐานในองค์กร หน่วยงานจำนวนมากก็ยังจัดทำเรื่องของ Data Warehouse และ Business Intelligence เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในการทำงานได้ ดังนั้นเรื่องของการทำ Business Dashboard ก็ยังเป็นแนวโน้มเทคโนโลยีที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งสำหรับองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลในองค์กรให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้บริหารตัดสินใจได้ เราจะเห็นการลงทุนของหน่วยงานต่างๆที่จะซื้อเครื่องมือเหล่านี้ในการประมวลผล และมีการจัดทำโครงการต่างๆด้าน Business Intelliegence ที่มากขึ้น

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

screenshot-2016-10-24-11-52-46

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s