ช่วงนี้ทุกภาคส่วนต่างพูดถึงคำว่า Thailand 4.0 และก็อาจเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงว่าแล้วเราเป็น Thailand 3.0 เมื่อไร แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็พยายามบอกว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาประเทศให้แข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวสู่เศรษฐกิจในยุคใหม่และอุตสาหกรรม4.0 ให้ได้ เราจำเป็นจะต้องสร้าง คนไทย 4.0 แต่ความหมายของคำว่าคนไทย 4.0 อาจยังเป็นที่สงสัยของคนหลายๆคนว่าคืออะไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทยว่า “ถ้าท่านมีโทรศัพท์ แต่ยังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐาน ท่านยังคงเป็น”คนไทย 1.0” ถ้าหากท่านใช้มือถือ ในการส่ง e-mail ส่งไฟล์เอกสาร หรือใช้ประโยชน์ในการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน ท่านน่าจะยกระดับตนเองเป็น “คนไทย 2.0” ได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากท่านสามารถใช้ “สมาร์ทโฟน” ได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อ “อินเตอร์เน็ต” ในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ท่านอาจได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 3.0” ยิ่งกว่านั้น หากท่านสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วท่านรู้สึกว่า “ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น” เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้ท่านได้ชื่อว่าเป็น คนไทย 4.0”
ผมก็เองก็เห็นด้วยกับรัฐบาลในเรื่องนี้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่มี “พลวัต” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และคนไทยเองจำเป็นต้องปรับตัวเองอย่างมากเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และคำว่าคนไทย 4.0 มีความสำคัญอย่างยิ่งแต่ไม่ใช้เพียงแค่เป็นคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น แต่คิดว่าน่าจะมีความหมายมากกว่านั้น ข้อสำคัญคนไทย 4.0 จะต้องมี Digital Mindset และ Digital Culture ประกอบกับต้องเป็นคนที่มีจิตสาธารณะเพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่ เศรษฐกิจยุคแห่งการแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งถ้าให้ผมนิยามคำว่า คนไทย 4.0 ในความเห็นส่วนตัวก็น่าจะเป็นดังนี้
รูปที่ 1 Digital Skill ที่จำเป็นสำหรับคนในยุคปัจจุบัน
- เป็นคนที่มีทักษะเชิงดิจิทัล ที่มีทักษะหกด้านที่จำเป็นต้องมีคือ Tools & Technologies, Find & Use, Teach & Learn, Communication & Collaborate, Create & Innovate และ Identity & Wellbeing ดังที่ผมเคยเขียนในบทความเรื่อง “Digital Skill ที่คนไทยควรมีถ้าจะต้องก้าวไปสู่ Thailand 4.0” ตามรูปที่ 1
- เป็นคนที่เข้าใจการโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เข้าใจเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และโลกยุคไร้พรมแดนที่มีความเป็นสากล สามารถทำงานกับผู้ร่วมมือที่อาจอยู่ที่ใดๆในโลกนี้ แบบทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ได้
- เป็นคนที่เข้าใจบริบทของสังคมไทย เข้าใจในประเพณีและวัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์ไทย เข้าใจสังคมในชนบท และช่องว่างของสังคมไทยได้
- เป็นคนที่มี จิตสาธารณะเกื้อกูล แบ่งปัน มีจริยธรรม คุณธรรมและ รับผิดชอบต่อส่วนรวม พร้อมที่จะก้าวสู่การทำงานในยุค Sharing Economy ไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อเอาเปรียบสังคม สร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง โดยละเลยช่องว่างทางสังคมไทย
ธนชาติ นุ่มนนท์
IMC Institute